5-Epilogue

คำปรารภ - Epilogue
   สนต้นนี้ ที่อุทยานใน Scone Palace สก็อตแลนด์ เจาะจงไว้ว่า เป็นต้นดั้งเดิม The Original Douglas Fir (Pseudotsuga menziesii) ปลูกจากเมล็ดที่ David Douglas นักพฤกษศาสตร์ชาวสก็อต (1799-1834) ผู้ไปสำรวจพรรณไม้ในทวีปอเมริกาเหนือ เก็บจากแถบลุ่มแม่น้ำ Columbia River แล้วส่งกลับไปสก็อตแลนด์ ทางการสก็อตแลนด์นำไปปลูกในพื้นที่ภายในอุทยานของ Scone Palace เมื่อปี 1826
ในวาระเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบห้าสิบปีของสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่สอง สนต้นนี้ได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในห้าสิบต้นไม้ของชาติ (one of the fifty GREAT BRITISH TREES) เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2002
ปัจจุบันยังมีชีวิต ต้นงาม สูงตระหง่าน
ตัวอย่างที่ยืนยันความมหัศจรรย์
ของชีวิตและธรรมชาติ

***

    คำทั้งหลายที่เลือกมารวมในประมวลศัพท์เกี่ยวกับสวนและอุทยาน เพียงพอสำหรับความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสวน การออกแบบและการสร้างสรรค์สวน. อาจมีคำอื่นที่มิได้ตั้งเป็นศัพท์เฉพาะ เช่น vertical garden หรือสวนในแนวตั้ง แต่ได้โยงถึงชัดเจนพอสมควรพร้อมภาพประกอบในคำอื่นโดยเฉพาะในคำว่า wall.
      การเลือกภาพมาประกอบศัพท์ ได้พยายามหาภาพหลายแบบจากหลายประเทศในยุโรป. นอกจากที่ระบุไว้เท่านั้น ภาพที่เลือกนำมาลง ไปถ่ายมาเองในปีต่างๆ. ภาพจากทศวรรษที่ 2000 นั้น บางทีคุณภาพดีกว่าภาพที่ไปถ่ายใหม่ในปีหลังๆ. แต่ภาพที่ไปถ่ายมา บางทีก็ไม่ชัดเจน หรือไม่ตรงประเด็นที่ต้องการให้เห็น จำต้องเลือกภาพที่ดีกว่าจากอินเตอเน็ตและโดยเฉพาะจากวิกิพีเดีย. ภาพที่เลือกมาลง เน้นนำมาลงให้เห็นเป็นข้อมูลมากกว่าด้านคุณภาพ เพื่อกระตุ้นความคิดต่อยอดในแต่ละเรื่อง ให้เป็นกระดานกระโดดสู่การเรียนรู้ต่อไป หรืออย่างน้อยเพื่อให้เข้าใจศัพท์หรือเนื้อหาให้ถ่องแท้. มิได้เลือกเพราะเป็นภาพสถานที่ที่สวยที่สุด ดีที่สุดหรือที่ข้าพเจ้าชอบที่สุด เป็นภาพที่เลือกมาให้เห็นกว้างๆ เป็นข้อมูลว่า มีแบบนี้ แบบนั้น ดูดี หรือดูรก ดูเลอะ. ข้าพเจ้าหลีกเลี่ยงการตัดสินว่า ดีหรือไม่เข้าท่า เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคล และขึ้นอยู่กับพื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน.
    การเจาะจงข้อมูลภาพ บางทีซ้ำๆกัน เพราะภาพเดียวกันอาจนำไปประกอบศัพท์หลายตัว. อีกประการหนึ่งศัพท์หลายตัว มีที่มาจากภาษาต่างกันแต่ใช้ในความหมายเดียวกัน. การแทรกศัพท์ภาษาอื่นเช่นฝรั่งเศส เพราะเป็นคำที่ใช้กันเข้าใจกันในยุโรป เพราะฝรั่งเศสเป็นผู้เริ่มใช้ หรือเป็นผู้สร้างกระแสขึ้นในบริบทการสร้างสวน. ตัวอย่างเช่น อาคารสถาปัตยกรรมที่สร้างประดับสวนให้เป็นที่นั่งพักหรือเป็นสิ่งดึงความสนใจให้คนเดินไปดู มีหลายคำเช่น pavilion, temple, rotunda, loggia, gazebo, folly แล้วแต่ว่า สวนนั้น เรียกของเขาว่าอย่างไร. แน่นอนแต่ละคำมีนัยพิเศษของมันที่ค่อยๆเลือนไปจากความคิดคำนึง.
   ภาพปาร์แตร์ (parterre) จากพระราชวัง ก็ซ้ำๆกัน เพราะสวนที่ทำปาร์แตร์สวยๆที่เหลือให้เห็นในยุโรปปัจจุบัน มีน้อยแห่ง. ภาพที่นำมาให้ดู เป็นสุดยอดของแบบปาร์แตร์ในยุโรปจากศตวรรษก่อนๆ เพราะยุคหลังๆมา สวนส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นสวนภูมิทัศน์. ภาพประกอบจึงซ้ำๆกันในหลายๆคำ. สวนอินเดียที่โดดเด่นคือสวนแบบอาหรับ ข้อมูลที่ให้จึงซ้ำกับข้อมูลในสวนอาหรับเป็นต้น.
      ความตั้งใจคือ เมื่ออยากรู้ศัพท์คำไหน เปิดอ่านศัพท์นั้นแล้ว เห็นภาพประกอบคำนั้น อย่างน้อยควรจับความหมายเบื้องต้นได้หรือเข้าใจเพียงพอจากคำอธิบายหน้านั้นคำนั้นทันที ได้พยายามหลีกเลี่ยงการส่งให้ไปเปิดดูที่ศัพท์อีกตัวหนึ่งที่ได้เขียนมาก่อนหรือจะมีในหน้าต่อไป แต่บางทีจำเป็นต้องทำเพราะคำที่ส่งให้ไปดูนั้น ละเอียดและกว้างกว่าเป็นต้น. นอกจากนี้ ได้ให้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับคำนั้นต่อออกไปด้วย. คำศัพท์ที่พิมพ์เป็นสีแดง บอกว่า มีคำอธิบายคำนั้น ณ ตำแหน่งและลำดับของคำนั้นในอภิธานศัพท์.

     การทำหนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นข้อมูลในโลกของไอที เป็นเวอชั่นอีบุคแบบนี้ เปิดโอกาสให้แทรกภาพต่างๆเป็นจำนวนมาก ที่ช่วยความเข้าใจ และอาจดลใจอะไรบางอย่างแก่ใคร. การได้เห็น ส่งเป็นคลื่นไปเชื่อมกับหน่วยความจำของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนมองไม่เหมือนกัน และเห็นไม่เท่ากัน. ข้าพเจ้าได้พยายามค้นหาข้อมูลมาให้เป็นฐานความรู้ที่ผู้สนใจติดตามต่อไปได้เอง ในอินเตอเน็ต แทรกประเด็นปลีกย่อยออกไป ที่อาจไม่เกี่ยวกับศัพท์นั้นโดยตรง เพื่อเปิดมุมมองอื่นหรือกระตุ้นความคิดอื่นๆไปด้วย.
     ทุกคนต้องตระหนักว่า ข้อมูลความรู้ ถูกต้องณเวลาหนึ่ง ในอนาคตอาจผิดหรือเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จึงต้องรับรู้ด้วยปัญญาและพินิจพิจารณาต่อไป ในบริบทของวิวัฒนาการของสังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในบริบทของประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน ที่ก็วิวัฒน์ไปตามเวลา ตามวัยและตามความสนใจที่แปรเปลี่ยนตามกระแสสังคม. ปัญญาต้องไม่ปักตรึงอยู่กับจุดๆเดียว แต่ต้องขยายต่อไปพ้นกรอบ พ้นเวลา.

    ข้าพเจ้าเป็นหนี้บุญคุณครูบาอาจารย์ นักเขียน นักปราชญ์ ผู้เป็นตัวอย่างของการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใฝ่คิด ใฝ่เขียน ผู้จารึกสิ่งที่พวกเขาคิด ค้นพบ สงสัย วิจารณ์อย่างต่อเนื่องมาในประวัติศาสตร์โลก. คนโบราณโดยเฉพาะปัญญาชนชาวยุโรป(ในกรณีนี้) จดทุกอย่าง บันทึกสถานการณ์ อย่างตั้งอกตั้งใจตามที่พวกเขาเห็น ซึ่งกลายเป็นหลักฐานสำคัญของเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับโลกและสรรพชีวิต.
การตามแกะจารึกโบราณต่างๆของทุกเผ่าพันธุ์ ตามไปทุกๆหน้า เหมือนการขุดโบราณสถานและนำออกมาสู่สายตาคนยุคปัจจุบัน. ตัวอย่างมากมายที่นักสำรวจ นักโบราณคดีและนักชาติพันธุ์วิทยาทำกันมาอย่างไม่ลดละ ได้นำทางให้เข้าใจชีวิตและอัจฉริยภาพของคนยุคโบราณ ที่คนยุคปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ยังเข้าไม่ถึงหรือเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง. วิถีการเรียนรู้ของปัญญาชนชาวยุโรปเป็นครูสอนข้าพเจ้าเรื่อยมา.

     ข้าพเจ้าหวังว่าหนังสือประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์เล่มนี้ จักเป็นประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่งแก่คนอื่นๆ หรือเป็นตัวอย่างของการเรียนการประจักษ์เครือข่ายหัวข้อหรือเนื้อหาที่ดลใจ. ความตั้งใจส่วนตัว คือการบริการสังคมทั้งในเชิงวิชาการและเชิงประสบการณ์ แก่อนุชนรุ่นหลัง. เมื่อความตั้งใจในการทำงาน กลายเป็นความบันเทิง ความสนุกสุขใจของข้าพเจ้าไปด้วย การทำหนังสือเล่มนี้ จึงมีความหมายมากเป็นสองเท่าทวีคูณ.

     เฉกเช่นรุสโซ ข้าพเจ้าออกไปหาธรรมชาติเหมือนไปพบเพื่อนสนิทที่รู้ใจกัน.
บทเรียนจากวอลแตร์ กระตุ้นให้ข้าพเจ้าปลูกและดูแลสวนด้วยความรับผิดชอบ การลงมือทำ ได้เปลี่ยนหน้าที่ของพลเมืองที่พึงมีต่อบ้านเกิดเมืองนอน เป็นความภูมิใจและความพอใจ.
มาร์เซลพรู้สต์ ได้บ่มเลี้ยงฟูมฟักความละเอียดประณีตในจิตสำนึกของข้าพเจ้า นำข้าพเจ้าไปสัมผัสสิ่งที่อยู่เบื้องหลังรูปรสกลิ่นเสียง, ในลมปราณของดิน น้ำ ลม ไฟ พร้อมกับตระหนักถึงระบบระเบียบและเครือข่ายของการอยู่ร่วมกันและการเอื้อเฟื้อแก่กันเบื้องหลังสรรพสิ่ง สรรพชีวิตและความหลากหลายของภูมิประเทศ.
    ทั้งหมดหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ นำความปลื้มปิติมาให้ และกระชับความรู้คุณต่อแผ่นดิน แผ่นฟ้า ผืนน้ำ ต่อโลก.
    หนังสือเล่มนี้ คือสวนของข้าพเจ้า สวนนี้เปิดยี่สิบสี่ชั่วโมง ยินดีต้อนรับทุกคน มีที่ให้ทุกคนได้นั่งพักผ่อน ชื่นชมธรรมชาติในรายละเอียด และหลอมจิตวิญญาณในลมปราณของธรรมชาติ นำไปสู่การใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับคุณธรรม.
   ข้าพเจ้าได้หว่านเมล็ดพันธุ์ลงในสวน ฝังลงบนแผ่นดินไทย หวังให้มันเติบใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา ให้เป็นตัวอย่าง เป็นแรงดลใจแก่ผู้ผ่านไปมา
ยินดีหากมีผู้สนใจนำไปเลี้ยงและเพาะพันธุ์ให้เจริญในสวนอื่นๆต่อไป
ดีใจหากทุกคนช่วยกันปลูกความรักธรรมชาติไปทั่วถิ่นแผ่นดินทอง แดนเกิดของผองเรา.


หนังสือจบลงตรงนี้ 
แต่การศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด
Saint Bernard de Clairvaux (1090-1153)


โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
กรุงเทพมหานคร
๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๑.

---------------------------------------------------------------
กลับไปเมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html

Comments