A-3 Apiary

Angles  ชนชาวเยอเมนิก กลุ่มที่เรียกตนว่า Jutes และ Saxons ได้ไปบุกรุกเกาะอังกฤษในศตวรรษที่ 5 BC. น่าสนใจที่ชื่อเรียกประเทศอังกฤษในภาษาฝรั่งเศสใช้ Angleterre (มาจากคำ Angle + terre คำหลังนี้แปลว่า แผ่นดิน) เพราะฉะนั้นชื่อประเทศอังกฤษที่ชาวฝรั่งเศสเรียกนั้นยังคงเก็บร่องรอยการสร้างชาติของอังกฤษไว้ครบ

Anglo-chinois [อ็องโกล-ชีนัว] เป็นคำฝรั่งเศส ที่ใช้เรียกแบบสวนที่มีลักษณะพื้นที่ลดเลี้ยว (ดูที่คำ the Serpentine style) ในปลายศตวรรษที่ 18 ในความหมายของสวนที่มีรูปแบบชวนชม. การใช้คำนี้เรียกแบบสวนลดเลี้ยวนั้น เข้าใจกันว่า เพราะสวนแบบนี้ ได้แนวคิดสร้างสรรค์จากแบบสวนในประเทศจีน  แต่มีนักวิจัยชาวอังกฤษ (Horace Walpole, 1717-1797) ประท้วงว่าเป็นความเข้าใจผิดๆ. 

Annuals  พืชล้มลุก งอกเงยจากเมล็ด เติบโตขึ้น ให้ดอกไม้ และเมล็ด แล้วตายลง. วงจรชีวิตของพืชประเภทนี้จึงสั้น เพียงหนึ่งฤดู และไม่เกินหนึ่งปี  เช่น ทานตะวัน.

Anther ส่วนของเกสรตัวผู้ที่เก็บกักละอองเกสร.

Apiary
 มาจากคำละติน apis ที่แปลว่า ผึ้ง  หมายถึงที่เลี้ยงผึ้ง. อาจเป็นบริเวณที่จัดเฉพาะเพื่อการเลี้ยงผึ้ง หรือเป็นรังผึ้ง บ้านผึ้ง ในรูปแบบต่างๆก็ใช้คำนี้เรียกเช่นกัน. บ้านผึ้งบางแห่งสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมย่อเล็กที่น่าสนใจและน่าทึ่ง เช่นเป็นเก๋งจีนเล็กๆ. รังผึ้งหรือบ้านผึ้งจึงอาจทำด้วยวัสดุต่างๆกัน. การนำบ้านผึ้งเข้าประดับสวนทำกันมาตั้งแต่ยุคโรมันแล้ว. ประเทศอังกฤษพยายามรณรงค์และเชิญชวนให้ชาวอังกฤษจัดที่เลี้ยงผึ้งภายในสวนของพวกเขาเอง หรือที่ระเบียงหรือดาดฟ้าเป็นต้น ขนาดเล็กๆก็ได้ เนื่องจากพบว่า ผึ้งหลายพันธุ์นับวันจะสูญสิ้นลง. การนำผึ้งเข้าไปในสวนช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศของสวนด้วย เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาสมดุลธรรมชาติของพื้นที่สวนแต่ละแห่ง. พืชพรรณจำนวนหลายหมื่นชนิดได้อาศัยผึ้งช่วยแพร่พันธุ์ และสิ่งมีชีวิตได้อาศัยพืชพรรณเหล่านั้นเพื่อการยังชีพเพื่อการอยู่รอดทั้งทางตรงและทางอ้อม.
   ผึ้งสำคัญสำหรับสวน  ผึ้งเป็นผู้ผสมพันธุ์ของพืชด้วยการผสมละอองเกสรดอกไม้ต่างๆ. น้ำผึ้งเป็นสิ่งที่ให้รสหวาน เป็นองค์ประกอบหนึ่งของอาหารการกินของคน  และจนถึงต้นศตวรรษที่สิบเก้า ขี้ผึ้งมีค่าเหมือนเงินตราและคนใช้ขี้ผึ้งจ่ายภาษีได้ โดยเฉพาะให้แก่วัดผู้จำเป็นต้องมีขี้ผึ้งสำหรับทำเทียนไขไว้ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น. 
ผังสวนในสมัยก่อน พื้นสวนเป็น parterre [ปารฺแตรฺ] เห็นบ้านผึ่งสามหลังเหมือนโถทรงสูง (มีดอกจันสีแดงติด). ในสมัยก่อนบ้านผึ้งที่คนสร้างให้ผึ้งอยู่ มักทำด้วยฟาง นำมาเกลียวเข้าเหมือนเชือกเส้นโตก่อนแล้ววนเป็นรูปกรวยก้นกลม วางคว่ำลง. มีช่องเล็กๆให้ผึ้งเข้าออกทั้งบนยอดและที่ฐาน ผึ้งยังมุดเข้าออกระหว่างเกลียวฟางได้ด้วย. ภาพนี้เป็นเอกสารแผ่นพับจากพิพิธภัณฑ์ประวัติสวนที่กรุงลอนดอน (Museum of Garden History)
บ้านผึ้งทำด้วยฟาง (straw, wicker)  ถักสานกันเป็นเกลียวเหมือนเชือกแล้วมาขดให้เป็นรูปโคน วางคว่ำลง. เป็นแบบบ้านผึ้งในสมัยก่อน เรียกกันว่าแบบ skips of skeps. จากสวนพฤกษศาสตร์ เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge Botanic Garden ประเทศอังกฤษ)


ทั้งสามภาพได้มาจากสวนนามว่า the Lost Garden of Heligan ตั้งอยู่ในมณฑล Cornwall ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษ. ที่นั่นสร้างกำแพงพร้อมแอ่งลึกเข้าไป ในแต่ละแอ่งเป็นที่วางบ้านผึ้งที่ใช้ฟางมาถักเป็นเชือกแล้วขดให้เป็นทรงกลม แบนที่ด้านบนเหมือนชามอ่างที่วางคว่ำลง ที่นั่นเรียกบ้านผึ้งว่Bee Boles (ชามผึ้ง). แต่ละแอ่งเดิมมีประตูไม้ที่อาจยกเปิดขึ้นหรือยกออกได้. ปกติประตูถูกยกออกตลอดฤดูร้อน แล้วถูกปิดกลับดังเดิมตลอดระยะเวลาอื่นๆของปี. ประตูเหล่านี้มิได้ปิดมิดช่องหรือแอ่งแต่ละแห่ง มีส่วนสูงน้อยกว่าเล็กน้อย เพื่อให้มีช่องว่างเหนือประตูและใต้ประตูให้ผึ้งเข้าออกได้. หากรู้ว่าจะมีน้ำค้างแข็ง คนสวนจะนำผ้ากระสอบมาคลุมปิดประตูด้านหน้าอีกชั้นหนึ่งเพื่อปกป้องผึ้งจากความหนาวเย็น. บ้านผึ้งแบบนี้นิยมทำกันในระหว่างปี 1820-40. 

บ้านผึ้งสมัยใหม่ที่เหมือนลังไม้ มีหลังคา. ก้อนอิฐทับหลังคาไว้ เมื่อยกหลังคาออก ภายในจัดเหมือนกล่องแฟ้มเอกสาร มีคานวางพาดบนขอบกล่อง. ภาพจากมุมหนึ่งในอุทยาน Hidcote [ฮิดเขิด] (Hidcote Batrim, Gloucestershire GL55 6LR) ประเทศอังกฤษบ้านผึ้งธรรมชาติยังไม่เคยได้พบในสวนที่ไปมาเลย เพราะคนจัดการทำบ้านให้พวกมันเลย.

Approach คำนี้(ในประเทศอังกฤษโดยเฉพาะ)ใช้เรียกถนนที่ทอดจากประตูใหญ่ตั้งแต่รั้วทางเข้าปราสาทสุดที่ดิน ไปสู่ตัวคฤหาสน์หรือบ้านพัก. ไม่จำเป็นต้องเป็นถนนตัดตรง อาจอ้อมไปมาได้ ให้โอกาสได้เห็นบางส่วนของพื้นที่ก่อนถึงตัวบ้านใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ถนนที่ลดเลี้ยวคดเคี้ยวจนเกินไป. อาณาบริเวณปราสาทจากสุดเขตรั้วถึงตัวอาคารหลังใหญ่นั้น ไกลทีเดียว ปกติคนมิอาจมองเห็นตัวอาคารใหญ่จากรั้วสุดที่ดิน. นอกจากถนนสายนี้ ยังมีถนนวงแหวนภายในที่ดินผืนนั้น ที่ลัดเลาะไปตามจุดชมวิวสำคัญๆของที่ดินผืนนั้น เป็นการเชิญชวนให้อยากแวะชม. ปกติไม่มีสวนใดเปิดให้คนภายนอก ขับรถชมสวน ต้องเดินทั้งนั้น. นั่นคือเมื่อจอดรถเรียบร้อยแล้ว ซื้อตั๋วเข้าชมสวน จึงเริ่มออกเดินไปยังจุดชมวิวต่างๆภายในสวน. หากเห็นมุมสวยจากรถ ก็เห็นเพียงห่างๆเท่านั้น. อย่าลืมว่าสวนสร้างขึ้นให้คนออกเดิน ออกไปค้นหาความงามในธรรมชาติเป็นสำคัญ. ถนนวงแหวนภายในที่ดินส่วนบุคคลนี้เรียกว่า a drive.

สองภาพนี้จากอุทยาน Drummond Castle Gardens จากประตูทางเข้า ต้องเดินเข้าไปอีกไกลโขทีเดียว. จากจุดนี้ มองไม่เห็นปราสาทหรืออาคารใดๆเลย. เส้นทางเดินร่มรื่นเพราะมีต้นไม้สูงใหญ่สองข้าง. เดินไปก็สูดอากาศบริสุทธิ์และชมภูมิประเทศสองข้างทางไปด้วย. ที่นั่นเป็นทุ่งกว้างใหญ่ ใช้เวลาเดินแบบสบายๆเกือบครึ่งชั่วโมง จึงไปถึงตัวปราสาท. ความร่มรื่นและอากาศดีทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อย. นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเดินสวนในประเทศอังกฤษ คือเริ่มตั้งแต่ประตูนอกสุดของอาณาบริเวณเลย. หากมีรถส่วนตัวก็อาจขับเข้าไปถึงตัวอาคารปราสาทได้. วันที่ข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้าเดินอยู่คนเดียวตลอดทาง.

Aqueduct เป็นสะพานหรือสิ่งก่อสร้างในรูปลักษณ์ที่คล้ายสะพานกว้างเพียงเล็กน้อยแต่ยาวเป็นเส้นทางไกลหลายกิโลเมตร แล้วแต่ว่าแหล่งน้ำที่ต้องการ อยู่ใกล้ไกลเพียงใด. โดยทั่วไปสร้างขึ้นเป็นทางส่งน้ำจากหุบเขาหรือแม่น้ำนอกเมืองสู่ตัวเมือง. สะพานส่งน้ำนี้เป็นผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นเลิศชิ้นหนึ่งของชาวโรมัน. หากไปปรากฏในพื้นที่สวน อาจมิได้ใช้เพื่อการส่งน้ำก็ได้ อาจเป็นเพียงสะพานประดับสวน ซึ่งมักเนรมิตน้ำตกประกอบอยู่ข้างๆหรือใต้สะพาน.

สะพานส่งน้ำ (acueducto ในภาษาสเปน) มรดกล้ำค่าจากสถาปัตยกรรมโรมัน ที่เมือง Segovia [เซโก๊เวีย] ประเทศสเปน.  เมื่อมองจากกลางเมือง มีรูปปั้นพระแม่มารีอุ้มพระเยซูองค์น้อยประดับชั้นบนตรงกึ่งกลางสะพานน้ำบนถนนสำคัญกลางเมือง.

ใกล้เนินเขาทางลงจากพระราชอุทยาน Alhambra & Generalife [อะลั่มบฺระ อี เฆเนรัลลีเฟ่] ยังมีสวนอีกแห่งหนึ่งชื่อว่า Carmen de los Mártires [ก๊ารเม็น เด โลซ มั้ลติเรส] เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอารามนักบวชผู้ทำสวนผักและสมุนไพรที่นั่น. ปัจจุบันไม่มีนักบวชประจำอยู่ที่นั่นแล้ว แต่สวนผักสวนสมุนไพรนี้ยังคงทำติดต่อกันมา. ที่นั่นมีการทำสะพานส่งน้ำสำหรับใช้ในสวน เป็นสะพานยาวแคบๆตอนบนของกำแพงสูงชั้นเดียวที่เจาะเปิดเป็นช่องประตูโค้งแบบอาร์ค(ด้านซ้ายในภาพ) ขนานไปกับพื้นที่. สองภาพนี้จากสวนผักและสมุนไพรที่นั่น. 

ภาพจากอุทยานในปราสาทเมือง Córdoba ประเทศสเปน (Alcázar de Córdoba) ทำรางส่งน้ำสำหรับต้นไม้ทั้งสวน แบบเดียวกับ aqueduct เพียงแต่สูงระดับน่อง ดูเข้ากลมกลืนกับแบบแปลนสวนเป็นอย่างดี ไม่เกะกะสายตาหรือบังความงามของสวน. น้ำยังสะท้อนแสงแดดระริกๆจากท้องฟ้า เพิ่มความงามและนำความลื่นไหลแก่จินตนาการคนด้วย.   
สะพานส่งน้ำ หนึ่งในสถาปัตยกรรมประดับอุทยานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง. ภาพทั้งห้าข้างล่างนี้ จากราชอุทยาน Wilhelmshöhe [วิลเฮ็มสเฮอเฮ] ที่เมือง Kassel [คะเซิล] ประเทศเยอรมนี. เป็นสะพานที่สร้างขึ้นเพื่อประดับอุทยาน. ทุกวันเมื่อเปิดน้ำ น้ำจำนวนมหาศาลลงจากภูเขา ผ่านสถาปัตยกรรมแบบต่างๆทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของพื้นที่. เมื่อมองจากพระตำหนัก น้ำที่ไหลลงมาทางด้านขวาผ่านไปบนสะพานส่งน้ำ. น้ำไหลบ่าลงเหมือนน้ำตก ผ่านลงบนโขดหิน ไหลตกตามเนินเขาเรื่อยลงมาถึงสระน้ำใหญ่ข้างล่าง. สร้างภาพชุดติดต่อกันของภูมิทัศน์ที่ตื่นตาตื่นใจ ที่จบลงในสระน้ำใหญ่หน้าพระตำหนัก ก่อนจะพุ่งเป็นลำสูง แล้วค่อยๆลดลงคลายตัวกลืนไปกับมวลน้ำในสระน้ำใหญ่. 
เมื่อน้ำไหลบ่าลงจากยอดเขาจะผ่านลงสะพานน้ำนี้  เป็นภาพที่สวยงามตระการตา
เมื่อมองจากป้อมสูงบนภูเขา ลงไปยังระดับพื้นที่เห็นเลือนลางในม่านหมอก (ภาพนี้มิได้ถ่ายจากจุดใจกลางป้อมเพราะปิดบูรณะ). เส้นแกนหลักของสวน ทอดเป็นเส้นตรงจากป้อมสู่กึ่งกลางของอาคารที่เป็นตำหนักใหญ่. ให้ทัศนมิติ ที่ครอบสองด้านของพื้นที่ในหุบเขา (ทั้งยังทอดต่อพ้นพรมแดนสวนสู่ตัวเมือง Kassel). ปัจจุบันพระตำหนักเป็นพิพิธภัณฑ์และเป็นหอนิทรรศการศิลปะตามวาระต่างๆ.
สระน้ำใหญ่บนพื้นระดับล่างสุดเบื้องหน้าพระตำหนัก น้ำพุพุ่งขึ้นจากกลุ่มพุ่มไม้และก้อนหินกลางสระใหญ่. มองไปไกลๆเห็นป้อมและหอคอยสีขาวๆบนยอดเนิน.
ทางขวาของสระน้ำใหญ่  มีอาคารทรงกลมแบบกรีกโรมันประดับสวนอีกหลังหนึ่ง เพิ่มจุดดึงดูดสายตาขึ้นอีกจุดหนึ่ง. อุทยาน Wilhelmshöhe เป็นอุทยานภูมิทัศน์ที่สวยงามมากแห่งหนึ่งในเยอรมนี  แม้ว่าป้อมสูงบนยอดเขาดูทึบๆตันๆ(แบบป้อมทหาร). ภาพของน้ำที่ไหลประดับสวนลงมาจากป้อม บดบังความแข็งกร้าวของอาคารที่แน่นอนสื่อนัยของอำนาจ และเบนความยิ่งใหญ่ หนาและหนักของสถาปัตยกรรมไปอยู่ที่อำนาจของน้ำ ที่สะเทือนอารมณ์ได้ในหลายระดับ. 
------------------------------------
ต่อ A-4 คำ Arabian garden.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/01/a-4-arabian-garden.html
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html

Comments