A-4 Arabian garden

Arabian garden  สวนอาหรับ สืบทอดอุดมการณ์และค่านิยมมาจากสวนเปอเชีย. ชาวอาหรับพัฒนาเทคนิคและแบบสวนขึ้นได้อย่างเด่นชัด ถาวรและมั่นคง. สวนอาหรับสื่อมโนสำนึกอันลึกล้ำทั้งในเชิงศาสนาและในเชิงสังคม. แบบสวนอาหรับยึดตัวเลข 4 เป็นฐาน (เลข 4 ดังที่รู้กันทั่วไปว่าอาจหมายถึงธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ). ในคัมภีร์เก่าของลัทธิ Zoroastrianism (ลัทธิความเชื่อดั้งเดิมในเปอเชียก่อนยุคอิสลาม) ระบุไว้ว่า แม่น้ำสายหนึ่งไหลออกจากสวนสวรรค์อีเด็นเพื่อนำความชุ่มชื้นสู่สวน แม่น้ำนั้นแยกออกเป็นสี่แขนง. ปัจจัยธรรมชาติสี่ประการที่ขาดมิได้คือ ดิน น้ำ ท้องฟ้าและพืชพรรณ รวมกันเป็นภาพลักษณ์ที่เป็นระเบียบและระบบของจักรวาล ดังนั้นในกรณีของการสร้างสรรค์สวนบนพื้นโลก ที่ต้องการให้เป็นภาพสะท้อนของสวนสวรรค์อีเด็น ปัจจัยสี่ประการนี้จึงเป็นฐานสำคัญ. การแบ่งพื้นที่ออกเป็นสี่เหลี่ยมสี่ส่วน ที่เรียกว่า chahar bagh [จาฮา บ๊าก] เชื่อมถึงกันด้วยทางน้ำ และตัดกันตรงกลางที่สายน้ำทั้งสองมาพบกัน. ตรงนั้นเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ เป็นตาน้ำ เป็นที่ตั้งน้ำพุใหญ่กลางพื้นที่นั้น. กลายเป็นแบบสวนมรดกสำคัญจากเปอเชียที่อารยธรรมอื่นๆเช่นเอเชียตะวันตก(โดยเฉพาะอินเดีย), กลุ่มประเทศอาหรับและยุโรปรับไปใช้. Chahar bagh แสดงอัจฉริยภาพของชาวเปอเชีย กลายเป็นรูปลักษณ์พื้นฐานถาวรที่โดดเด่นที่สุดของอารยธรรมเปอเชีย. การสร้างสวนเปอเชียต้องอาศัยความรู้หลายแขนงทั้งเทคโนโลยีนำส่งน้ำเข้าไปในพื้นที่(เราไม่ลืมว่าดินแดนส่วนใหญ่ในอาณาจักรเปอเชียเป็นทะเลทราย), การบริหารจัดการน้ำทั้งเพื่อการเพาะปลูกพืชพรรณ เพื่อศาสนาและเพื่อความงามสุนทรีย์, สถาปัตยกรรม และการปลูก,การจัด,การเลือกและการดูแลต้นไม้อย่างต่อเนื่อง. คนสวนมีบทบาทสำคัญมากในสังคมเปอเชีย. กล่าวกันว่า เมื่อตายคนสวนทุกคนได้ไปสวรรค์แน่นอน ไปอยู่และดูแลสวนสวรรค์ต่อไป. การดูแลสวนถือว่าเป็นการทำความดี เป็นการปฏิบัตธรรมแบบหนึ่ง.
   อุดมการณ์สวน chahar bagh ได้แทรกเข้าในวิถีชีวิตของชาวเปอเชีย(และชาวอิหร่านต่อมา)ทุกชั้นทุกระดับ เป็นแรงบันดาลใจในศิลปวัฒนธรรมทุกแขนง ในวรรณกรรม กวีนิพนธ์ ดนตรี จิตรกรรม สถาปัตยกรรม ปรัชญา ศาสนา อักษรวิจิตรหรือการออกแบบผ้า,พรม. ศิลปะเหล่านี้ได้ย้อนกลับมาดลใจการพัฒนาสวนเปอเชียด้วยเช่นกันในเวลาต่อมา.
แผนผังแบบสวนเปอเชีย ที่เรียกว่า chahar bagh แสดงทางน้ำ น้ำพุตรงกลาง พื้นที่ปลูกต้นไม้พืชพรรณ(สีส้ม)และทางเดิน. ทั้งหมดภายในรั้วสีเขียวที่เป็นแนวต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่.
By Dr. Persi (Own work), 7 February 2011. [<ahref="https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0">CC BY-SA 3.0</a> via Wikimedia Commons.
พรมเปอเชียทอเป็นแบบสวน chahar bagh ลวดลายดอกไม้ใบไม้สวยงาม ทางน้ำเห็นเป็นคลื่นน้อยๆด้วย. ภาพจากเน็ตที่ lebistrotdelarosecroix.com
สวนภายในพระราชวัง Golestan Palace กรุงเทหราน อิหร่าน. ภาพของ  Zereshk, 27 February 2005. [Public domain], via Wikimedia Commons.
จัตุรัส Naghsh-e Jahan Square กลางเมือง Isfahan ประเทศอิหร่าน. สร้างขึ้นระหว่างปี 1598-1629. พื้นที่จากทิศเหนือถึงทิศใต้ยาว500 เมตรและจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกยาว150 เมตร. บางทีก็เรียกว่า Imam Square. เป็นพื้นที่สวนสาธารณะของชาวเมือง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอิหร่าน.
ภาพของ Arad Mojtahedi, (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.5-2.0-1.0), via Wikimedia Commons.
ชมคลิปตัวอย่างสวนเปอเชียได้ที่นี่ (6:36 นาที) >>

     แบบสวนเปอเชียได้มาเป็นแม่แบบของสวนอาหรับ. เช่นกัน พื้นที่สวนรูปสี่เหลี่ยมถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วน มีอาคาร น้ำพุหรือสระน้ำตั้งอยู่ตรงจุดกลางของพื้นที่ รวมกันเป็นภาพลักษณ์ที่สื่อชีวิตนิรันดร์และความอุดมสมบูรณ์, สื่อเอกภาพ ความเป็นระเบียบ ความมั่นคงไม่คลอนแคลนของพื้นที่สวนที่ปิดรอบด้าน ทั้งยัง สื่อมโนสำนึกที่มุ่งสู่พระเจ้า โดยมีภาพของน้ำเป็นสัญลักษณ์และตัวแทน. แปลนสวนนี้กลายเป็นแบบถาวรของสวนอาหรับ ไม่ว่าจะเป็นสวนในวังของกาลิฟ ในบ้านสามัญชน ย่านตลาดชุมชน (bazaar) ในสุเหร่าและในสถาบันการเรียนการสอน.
     สวนอาหรับจึงเป็นสวนสี่เหลี่ยมเสมอและมีกำแพงล้อมรอบทุกด้าน. ต้นไม้และพืชพรรณที่ปลูกภายในสวน สูงไม่เกินกำแพงที่ล้อมรอบ ช่วยคลายความแข็งทื่อของเหลี่ยมของมุมลงไปมาก. ชาวอาหรับเช่นเดียวกับชาวกรีกและชาวโรมัน มีอารมณ์อ่อนไหวต่อสภาพบรรยากาศของแต่ละสถานที่อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นจึงพัฒนากลวิธีหลายแบบหลายลักษณะในการสร้างสวนเพื่อให้สมมาตรและกลบความตรงข้ามที่รุนแรงออก. ขนบการทำสวนของชาวอาหรับสร้างชีวิตชีวาแก่สวนยิ่งนัก จนทำให้ทุกชาติที่ถูกผนึกเข้าในศาสนาอิสลาม รับขนบนี้ไปสร้างสรรค์สวนบนดินแดนต่างๆด้วย ไม่ว่าดินแดนนั้นจะอยู่ห่างไกลกันเพียงใดก็ตาม เช่นสวนยุค Mughal ในอินเดีย (1526-1857), สวนอาหรับมัวร์ (Moor) ในตอนเหนือของทวีปแอฟริกาและในสเปน. อินเดียโดยเฉพาะเป็นที่รวมสวนอาหรับที่งามที่สุด หาที่เปรียบยาก. ส่วนในยุโรป ก็ต้องตามไปดูที่เมือง Granada เป็นต้น. ในที่นี้จึงนำภาพสวนจากอินเดียมาลงเป็นตัวอย่าง
 
 
พื้นที่สวนบนเส้นทางขึ้นไปบนปราสาท Amer Fort (หรือ Amber Fort), Jaipur ประเทศอินเดีย(โดยปกติเขาจัดให้นักท่องเที่ยวนั่งบนหลังช้างขึ้นเนินไปถึงปราสาท). บริเวณที่ขีดเส้นสีแดงไว้ คือทางน้ำ. น่าเสียดายว่า โอกาสจะเห็นน้ำไหล, เห็นแสงสะท้อนระริกๆบนผิวน้ำ น้อยลงๆเพราะปัญหาการขาดน้ำและการดูแลทั้งเครื่องปั่นน้ำสูบน้ำและความสะอาดของเส้นทางน้ำไหล ทั้งหมดรวมกันมีค่าใช้จ่ายสูงมาก.
สวนขั้นบันไดสุดสวยที่นั่นเช่นกัน มองเห็นลางๆในหมอกยามเช้าตรู่ 
จากหลังช้างขณะขึ้นไปบนปราสาท
สวนสมุนไพรภายในระหว่างอาคารพระราชวัง ใน Amer Fort
ภาพมุมกว้างของพื้นที่ทัชมาฮาลกับสวน 
หลายคนชื่นชมว่าทั้งหมดรวมกันเป็นภูมิสถาปัตย์ที่งามสมดุลสมบูรณ์ไม่มีที่ติเลย.

อาคารที่เห็นสุดทางสายน้ำคือประตูเข้าสู่บริเวณทัชมาฮาล
ภาพนี้เมื่อมองจากอาคารสุเหร่า (เมือง Agra ประเทศอินเดีย).
 
 
ชมการจัดพื้นสวนสองข้างทางเดิน. สวนแบบอาหรับเรียกในอินเดียเรียกว่า Mughal garden. เป็นบุญตาแก่ชาวโลกที่อินเดียได้อนุรักษ์สวนอาหรับตามที่ต่างๆไว้อย่างสุดความสามารถ.
 
 

ภาพสุดท้ายข้างบนนี้เป็นของ Nishkamrazdan (Own work) [GFDL (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0-3.0-2.5-2.0-1.0)], via Wikimedia Commons.
สี่ภาพนี้จาก Nishat Bagh Mughal Gardens ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของ Dal Lake ใกล้เมือง Srinagar ในแคว้น Jammu & Kashmir ประเทศอินเดีย. เนื่องจากพื้นที่เป็นทางลาดลงจากเทือกเขา Zabarwan Mountains ที่เป็นฉากหลังของสวนนี้ การจัดสวนจึงไม่เป็นแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสแต่เป็นสวนสองข้างแนวแกนหลักที่ทอดจากบนเนินสูงสุดลงไปถึงพื้นสวนระดับล่างสุดณริมฝั่งทะเลสาบ Dal รวมทั้งหมดสิบสองระดับ ที่ตรงกับสิบสองราศี. ในความเป็นจริงแล้วแบ่งออกเป็นสองเขตหลักๆ เขตที่เปิดเป็นสวนสาธารณะกับเขตส่วนตัวของขุนนางผู้(เคย)เป็นเจ้าของคนหนึ่ง (Zanaga garden).
 
 
 
ภาพสุดท้ายข้างบนนี้เป็นของ Shaurya (Own work) [CC BY-SA 3.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons.
สี่ภาพนี้จาก Mughal Garden ที่ Achabal, เป็นสวน Mughal ที่ขึ้นชื่อว่าสวยสมบูรณ์ที่สุดในแคชเมียร์ ตั้งอยู่ใกล้ตาน้ำพุธรรมชาติที่มีกระแสน้ำพุแรงและเชี่ยว จึงได้นำเข้าไปเป็นองค์ประกอบสุดวิเศษในสวน โดยจัดให้เป็นน้ำตก.
 
สองภาพนี้จาก Verinag Spring ในแคว้น Jammu & Kashmir. จักรพรรดิโมกุล Jahangir ทรงให้สร้างทางเดินเป็นอารเขตล้อมรอบสระน้ำพุไว้ตั้งแต่ปี1620 ต่อมาในสมัยของ Shar Jahan พระราชโอรส ทรงให้จัดพื้นที่สวนต่อออกไปด้วย. Verinag เป็นแหล่งน้ำพุใต้ดินธรรมชาติที่ไหลลงจากเทือกเขาสูงและพุ่งออกมารวมกันเป็นแอ่งที่นี่. เชื่อกันว่าเป็นต้นน้ำของแม่น้ำ Jhelum River. ปริมาณน้ำในแอ่งน้ำนี้ไม่เคยลดลงหรือไหลล้นออกมา. มีการจัดสรรค์เป็นคลองยาว ทอดเป็นเส้นตรงจากแอ่งน้ำพุต่อไปราว274 เมตร สองข้างคลองยาวเป็นพื้นที่สวนเขียวชอุ่ม. น้ำไหลต่อออกไปลงที่แม่น้ำ Bihat. ชาวพื้นเมืองแคชเมียร์เคยเชื่อกันว่า น้ำพุนี้เป็นที่สถิตของพญานาค Nilanaga.

     สวนอาหรับในสเปนเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ ศตวรรษที่แปดเมื่ออิสลามแผ่อำนาจเข้าไปยึดครองดินแดนตอนใต้ของประเทศ และขยายออกไปถึงภาคเหนือของทวีปแอฟริกา ในสมัยของกาลิฟ Abd-al-Rahman III (889-961  ผู้เป็นกาลิฟคนแรกในตะวันตก). เขาเริ่มพัฒนาพื้นที่ที่ Medinat al-Zahra (ใกล้เมือง Córdoba ในสเปน) ให้เป็นสวนขนาดใหญ่.
เขตโบราณสถานที่ Medinat al-Zahra 
ที่เคยเป็นพื้นที่สวนขนาดมหึมาในศตวรรษที่ 9
ชาวอาหรับกลุ่มนี้นอกจากรังสรรค์สวนแล้ว ยังนำความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ที่ชาวอาหรับศึกษาร่ำเรียนและรู้เจนจบมากกว่าชนชาติใดในยุคเดียวกัน เข้าไปในสเปนด้วย. ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณของพืชพรรณไม้ต่างๆนั้น ปรากฏรวบรวมไว้เป็นครั้งแรกในงานของ Dioscorides นายแพทย์ประจำกองทัพกรีกในศตวรรษที่ 1 BC. ชาวอาหรับได้รับความรู้จากเอกสารกรีกก่อนและศึกษาเพิ่มพูนข้อสังเกตทั้งทางด้านการแพทย์และพฤกษศาสตร์อย่างละเอียดลออ จนกลายเป็นผู้เจนจบทั้งสองสาขาวิชาโดยไม่มีชนชาติใดเทียบเคียงได้ในยุคนั้น.  
     ความรู้จากกรีซถ่ายทอดสู่ชาวยุโรปโดยผ่านนักปราชญ์ชาวอาหรับ. เอกสารอาหรับมากมายที่เก็บรักษาไว้ (เช่นในพระราชวังและพิพิธภัณฑ์ท็อบกาปิ เมืองอิสตันบูล) เป็นพยานความรอบรู้เจนจบของปราชญ์ชาวอาหรับ. ความคิด ความช่างสังเกต และวิจารณญาณของปราชญ์อาหรับที่บันทึกวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลความรู้จากกรีซโบราณนั้น คือมรดกอันล้ำค่ายิ่งที่ชาวยุโรปได้ไปฟรีๆ. ปราชญ์อาหรับได้แปลและเก็บรักษางานและความรู้เกี่ยวกับวิทยาการต่างๆในโลกโบราณไว้อย่างดียิ่งเสมอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีหลักฐานระบุว่ากาลิฟฮรุนอัลราชิด (Hārūn al-Rachīd, 766-809) และกาลิฟองค์ต่อๆมา ให้นำพืชพรรณและเมล็ดพันธุ์พืชเข้าไปจากเอเชียและแอฟริกา. ต่อมาการเผชิญหน้าสู้รบกันในสงครามศาสนาระหว่างชาวอาหรับกับชาวคริสต์ ก็เป็นโอกาสให้ชาวยุโรปเห็นความเจริญรุ่งเรืองบนดินแดนอาหรับ. พวกเขาต้องตื่นตะลึงกับความงามของสวนอาหรับและความมีระดับในวิถีการครองชีวิต. ในที่สุดชาวยุโรปเริ่มสนใจและเห็นความสำคัญของการหาความสุขสำราญแบบต่างๆ อาทิการอาบน้ำ การปลูกสวนเพื่อความเจริญตาเจริญใจ. ชาวยุโรปเห็นชาวอาหรับหว่านเมล็ดชนิดต่างๆปนกันบนสนามหญ้า ได้รับเอาวิธีการนี้ไปสร้างทุ่งดอกไม้(prairie). ชาวยุโรปและชาวอาหรับ ต่างชื่นชอบกลิ่นหอมระรวยของสวนและโดยเฉพาะกลิ่นดอกกุหลาบ. ความรอบรู้ของชาวอาหรับไปปลุกกระตุ้นความอยากรู้อยากเรียนแก่ชาวยุโรปด้วย ที่เคยจำกัดตัวเองอยู่ในกรอบของความเชื่อและศรัทธาในศาสนาเท่านั้น.
ชมคลิปตัวอย่างของสวนอาหรับได้ที่นี่ (6:42 นาที) >>
     
 ในศตวรรษที่สิบเมือง Córdoba [ก๊อรฺโดบา] มีสวนนับพันๆแห่งและมีระบบการชลประทานที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อการเกษตรแล้ว.  มีเอกสารจารึกบทพรรณนาสวนในมณฑล Andalucía [อันดาลูธี้อา] ว่าเต็มไปด้วยดอกไม้หอม เสียงนกร้องเพลงเพราะเสนาะหู  เสียงน้ำไหลที่นำความชุ่มชื่น เป็นต้น. ที่เมือง Córdoba ในศตวรรษที่สิบเอ็ด การเนรมิตลานสวนส้มนอกมหาวิหารที่นั่น ถือกันว่าเป็นตัวอย่างที่บริสุทธิ์สุดยอดของศิลปะอุมัยยัด (Umayyard, 711-1031). แนวต้นส้มที่ปลูกเป็นแถวอย่างสม่ำเสมอเป็นภาพลักษณ์ที่สะท้อนแนวเสาภายในมหาวิหารที่ค้ำจุนอิสลาม.  อิทธิพลวัฒนธรรมอาหรับมอริชยังคงมีต่อมาในสเปนแม้หลังศตวรรษที่สิบสามเมื่อชาวอาหรับถูกชาวสเปนคริสเตียนขับไล่ออกไปจากดินแดนแล้วก็ตาม.
 
 
ทั้งสามภาพจากสวน Patio de los Naranjos (หรือลานสวนส้ม)ภายในมหาวิหารที่เมือง Córdoba. พื้นสวนปูด้วยกรวดก้อนกลมๆทั้งหมด ให้สังเกตการทำร่องน้ำ ที่เชื่อมต่อไปทั้งสวน. พื้นกรวดทำให้พื้นแห้งไม่เฉอะแฉะและมีส่วนปกป้องน้ำใต้ดินมิให้ระเหยเร็วเกินไป. เวลาเดินชมสวนส้มนี้ ต้องระวังมาก เท้าเหยียบตกร่องแบบนี้ล่ะก็ เจ็บหรือกระดูกหักได้ (เคยเห็นคนเดินพลาดมาแล้วเพราะมัวคุยหรือเซลฟี่กัน). เดินที่นั่น ทุกย่างก้าวจึงต้องมีสติ.
สวนอาหรับในสเปนโดยเฉพาะสวนอุทยาน Alhambra [อะลั่มบฺระ] รวมกับสวนในป้อม el Generalife [เอ็ล เฆเนรัลลิเฟ่] ที่เมือง Granada [กฺราน่าดะ] นับเป็นสวนอุทยานที่สวยที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง  เป็นสมบัติล้ำค่าของยุโรป. สวนนั้นดูเหมือนจะตรงกับวิสัยทัศน์เรื่อง สวรรค์ ของชาวยุโรปอย่างแท้จริง. แม้ในปัจจุบันวันเวลาก็ยังมิได้ทำลายความงามและความยิ่งใหญ่ของสวนนั้น. Alhambra เป็นพยานหลักฐานเดียวของแบบสวนอาหรับในศตวรรษที่ 13-14 ที่เหลืออยู่ในยุโรป. 
    แปลนสวนยืนหยัดยึดอุดมการณ์ของความเป็นระเบียบ ความชุ่มชื่นและรูปทรงมั่นคงแบบเรขาคณิตของชาวเปอเชีย. จุดรวมสายตาในแต่ละสวนคือจุดใจกลางของพื้นที่ตรงที่ทางน้ำไหลมาบรรจบกัน หรือที่ทางเดินย่อยๆในสวนมาพบกัน และตรงนั้นก็เป็นที่ตั้งของสระน้ำพุหรือพลับพลาที่มีแบบก่อสร้างหลายแบบ เช่นสระน้ำพุประดับด้วยสิงโต. ทัศนมิติหนึ่งจบลงตรงแบบสถาปัตยกรรมแบบหนึ่ง เช่นสระน้ำพุ. แม้เส้นทางเดินจะเป็นเส้นตรงเสมอ แต่กลมกลืนไปกับพื้นที่และสวนตลอดทางเดิน ไม่ทำให้รู้สึกว่าเดินทื่อๆ. สวนอาหรับเป็นสวนน้ำ. น้ำอันเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต ของความบริสุทธิ์ ของความสามารถปรากฏในทุกรูปแบบ ทุกสถานที่และทุกกาลเวลา. ไม่ว่าน้ำจะอยู่ในสภาพไหลเชี่ยว ไหลเอื่อยๆ หยุดนิ่งหรือพุพุ่งกระจาย เพียงแค่ได้ยินเสียงน้ำหรือได้เห็นน้ำไหลไปมาในสวน ก็สร้างความรู้สึกสดชื่นได้อย่างวิเศษ.
ชมคลิปตัวอย่างของอุทยาน Alhambra ได้ที่นี่ (13:02) >>

     ในศตวรรษที่ 13 ความต้องการเรียนรู้และเข้าใจพืชพรรณ ทำให้เกิดการสถาปนาสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นที่เมือง Montpellier [มงเปลิเย] ในภาคใต้ของฝรั่งเศส ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยการแพทย์ที่ปราชญ์อาหรับเป็นผู้ตั้งขึ้น. การสถาปนาสวนพฤกษศาสตร์เป็นเหมือนการปฏิวัติครั้งใหญ่ในระบบความคิดอ่านและการเรียนรู้ของประเทศ.  ในยุคเดียวกันนั้น นักพฤกษศาสตร์ Ibn al-Baytar ที่เมือง Málaga [มะหละกะ] ในสเปน ได้จัดจำแนกพืชพรรณที่เขารู้จักกว่าหนึ่งหมื่นสี่พันชนิด บันทึกไว้ในงานเขียนของเขาชื่อว่า Pharmacopeia. ปราชญ์อาหรับจึงเป็นผู้อนุรักษ์ความรู้ จัดจำแนกความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณ และบรรยายลักษณะพืชพรรณไว้อย่างละเอียด เป็นมรดกแก่ชาวโลก.
 
แผนผังและภาพพิมพ์แสดงพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ที่เมือง Padova (ชื่อที่ใช้ในภาษาอังกฤษคือ Padua) ประเทศอิตาลี. พื้นที่สวนยังคงเป็นเช่นนี้มาจนถึงทุกวันนี้. ฉากหลังของภาพคือเมือง Padova และโดดเด่นเหนือเมืองคือมหาวิหารที่สร้างอุทิศให้นักบุญอันโตนีโอ (Basilica di Sant’Antonio หรือเรียกกันสามัญว่า Basilica del Santo) ที่เป็นศูนย์จาริกแสวงบุญสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในคริสต์จักร.
ส่วนภาพพิมพ์โลหะของ A. Tosini - G Agostini "dis. in. pictra" และพิมพ์ออกมา.[Public domain], via Wikimedia Commons.
แปลนพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกในยุโรป ที่เมือง Padova [ป๊าโด่หว่า] ชื่อเต็มในภาษาอิตาเลียนว่า Orto botanico di Padova ตั้งขึ้นในปี1545 และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกในปี1997 ในฐานะที่เป็นแหล่งศึกษาพืชพรรณ วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม. สวนพฤกษศาสตร์เริ่มต้นด้วยการเป็นสวนยาสวนสมุนไพร (จึงเรียกกันในภาษาอิตาลีว่า Giardino dei Semplici ที่หมายถึงสวนของสิ่งง่ายๆพื้นๆที่คือพืชหญ้าสมุนไพรธรรมชาติที่มีคุณประโยชน์มากหลาย). แบบแปลนของสวน มีพื้นที่ตรงกลางเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสสี่ส่วนตามแบบสวนอาหรับ และเพิ่มพื้นที่วงกลมโอบล้อมพื้นที่สี่เหลี่ยม ใช้ประโยชน์ได้เต็มทุกตารางนิ้ว ในการปลูกพืชควบคู่ไปกับการจำแนกประเภทของพืชพรรณ. นับเป็นแบบสถาปัตยกรรมสวนที่ดีเด่น มั่นคงสมดุล และงามสุนทรีย์ยิ่งนัก.

เนื่องจากเคยเขียนเกี่ยวกับ “มรดกล้ำค่าจากอิสลาม” แล้ว จึงนำลิงค์มาลงสำหรับผู้สนใจใคร่รู้ ณ ที่นี้ด้วย >>
----------------------------
ต่อ A-5 คำ Arboretum, Arbour, Arcade, Arcadia, Arch.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/01/a-5.html
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html

Comments