A-6 Architecture orders

Architect สถาปนิก คำนี้มาจากคำในภาษากรีก  arkhos + tekhne (หัวหน้า + ศิลปะในการทำอะไรอย่างหนึ่ง)

Architecture orders เป็นแบบสถาปัตยกรรมกรีกและโรมันโบราณ ซึ่งกลายเป็นแบบสถาปัตยกรรมที่เรารู้จักกันว่า แบบคลาซสิก. สามแบบแรกเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากสถาปัตยกรรมกรีกโบราณ สองแบบหลังเป็นแบบที่ชาวโรมันพัฒนาเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมาตามค่านิยมของยุคหลัง. ความแตกต่างของแบบทั้งหมด  ดูได้จากขนาดและสัดส่วนของเสาคอลัมน์ (column) และวิธีการประดับหัวบัวของเสา(capital). แบบสถาปัตยกรรมทั้งห้าแบบนี้ มีเอกลักษณ์ต่างกันดังนี้
1) Doric order เป็นแบบเรียบที่สุด แข็งแรงทนทาน หัวบัวเป็นก้อนหินสี่เหลี่ยมหนา ฐานเสาตั้งติดพื้นเลย ไม่มีหินแบนๆเหมือนแท่นเตี้ยๆ(base)อีกแผ่นรองรับ.  ตัวเสาจำหลักเป็นร่องตรงยาวตลอดความสูงของเสา และเป็นระยะๆรอบทั้งเสา (เรียกว่า flutes). แบบนี้มีแล้วตั้งแต่ราว 1100 ปีก่อนคริสตกาล.
แบบเสาดอริคสมัยศตวรรษที่19. ด้านหน้าของ Northington Grange ที่เป็นคฤหาสน์ส่วนตัวของตระกูล Ashburton (อยู่ที่ Hampshire, England). คฤหาสน์สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมกรีก (Greek revival style แบบเรียบ สง่าและภูมิฐาน). สวนภูมิทัศน์ที่นั่นเปิดให้สาธารณชนเข้าชม.
ภาพของ Mpntod at English Wikipedia [CC BY-SA 2.5 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.5], via Wikimedia Commons.
ด้านหน้าของพระราชวัง Palazzo Chiericati [ปะลัสโซ กีเยริกาติ] ที่ใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง Vicenza (Museo civico) ตั้งแต่ปี 1855. ภาพของ Iron Bishop, via Wikimedia Commons.
ให้สังเกตว่าอาคารนี้เสาทั้งหลายที่อยู่ชั้นล่าง เป็นแบบดอริค และเสาที่อยู่ชั้นสองเป็นแบบไอออนิค เน้นชัดเจนนัยของการพัฒนารูปแบบสถาปัตยกรรมอิตาเลียน. ฐานเป็นรุ่นแรกตามด้วยแบบที่สองเหนือขึ้นไป. ผลงานของ Andrea Palladio. การนำแบบสถาปัตยกรรมมาก่อสร้างปนกัน เป็นไปได้และมีตัวอย่างอาคารหลายแห่งทั่วไปในยุโรป.
   Vicenza อยู่ในภาคเหนือของอิตาลี รวมตัวเป็นเมืองแล้วในศตวรรษที่สองก่อนคริสตกาลและเจริญมั่งคั่งมากโดยเฉพาะตั้งแต่ต้นศตวรรษที่15 ถึงปลายศตวรรษที่18. Andrea Palladio (1508-1580, ผู้เจนจบในสถาปัตยกรรมคลาซสิกโรมัน) เป็นผู้ออกแบบอาคาร วิลลา วางผังเมืองฯลฯ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของเมืองที่กลายเป็นแบบเฉพาะไม่มีที่ใดเหมือนในยุโรป. สถาปนิกผู้นี้ได้เขียนหนังสือรวมความรู้ด้านสถาปัตยกรรมชื่อว่า Quattro Libri dell Architectura (1570 หนังสือสถาปัตยกรรมสี่เล่ม). ประวัติศาสตร์ยกย่องเขาว่าเป็นสถาปนิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่16. ชื่อเสียงของสถาปนิกผู้นี้เป็นที่ยอมรับ เป็นบทอ้างอิงของสถาปนิกอื่นๆตั้งแต่ยุคนั้นติดต่อมาอีก 500 ปี. จนพูดกันว่า ชื่อ Palladio มีนัยเดียวกับคำ สถาปัตยกรรม” เลยทีเดียว และได้มาเป็นคำคุณศัพท์ Palladian ที่ใช้กันแพร่หลายในประวัติศาสตร์ศิลป์. งานสร้างสรรค์ของ Palladio มีอิทธิพลที่ยั่งยืนนานในพัฒนาการสถาปัตยกรรมในยุโรปและอเมริกาเหนือ และเมือง Vicenza ได้ขึ้นเป็นเมืองมรดกโลกของยูเนสโกในปี1994.
2) Ionic order (แบบไอออนิค)  ลำตัวของเสาจำหลักเป็นเส้นตรงยาวตลอดความสูงเหมือนแบบดอริค แต่เสาไอออนิคสูงกว่าเสาดอริค ยิ่งสูงเส้นผ่าศูนย์กลางของเสาจะใหญ่ขึ้น มิฉะนั้นตาเราจะเห็นว่าเสาเรียวเล็กลงในตอนบน เนื่องจากเรามองจากที่ต่ำ. ลำตัวเสาที่ใหญ่ขึ้นเล็กน้อยในตอนบนนั้น จึงช่วยทำให้เราเห็นเสาตรงขนาดเดียวกันจากบนถึงล่าง. หัวบัวจำหลักลายกลมขดเข้าข้างใน ดูเหมือนม้วนกระดาษ และระหว่างลายขดสองข้าง มีลวดลายประดับ ดั้งเดิมเป็นรูปไข่สลับกับเดือย (egg-and-dart) ต่อมามีลวดลายเพิ่มเข้าใต้แนวรูปไข่สลับเดือย(ดังหัวบัวที่อยู่ตอนบนสุดของภาพข้างล่างนี้). บนพื้นมีฐานรองรับเสา (base) จากแบบเรียบง่ายเป็นลวดลายละเอียดมากขึ้น. แบบเสาไอออนิคมีแล้วในราวศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล. 
ภาพแสดงเสาไอออนิคแบบต่างๆที่วิวัฒน์ตามยุคสมัย. 
ภาพพิมพ์ของ en:Julien David Le Roy (1724-1803), ปรากฏพิมพ์ในหนังสือ Les ruines plus beaux des monuments de la Grèce (1758)[Public domain], via Wikimedia Commons. 
ตัวอย่างเสาไอออนิคที่ด้านหน้าของพระราชวัง Palazzo Chiericati 
เมือง Vicenza (Museo civico) 
3) Corinthian order (แบบคอรินเธียน) มีหัวบัวบานออกประดับด้วยแถวใบ acanthus เริ่มมีแบบนี้ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล. 
ใบ Acanthus spinosus (วงศ์ Acanthaceae) ที่เป็นแบบจำหลักในประติมากรรมตั้งแต่ยุคไบแซนไทนเรื่อยมา. รูปลักษณ์จากแบบเรียบง่ายเป็นแบบวิจิตรประณีตมากขึ้นๆ ดังตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไปในประติมากรรมจำหลักนูนสูงในศิลปะ. 
ตัวอย่างใบ acanthus จำหลักเพิ่มเข้าไปใต้รูปลักษณ์แบบไอออนิค
รวมกันอาจเรียกหัวบัวแบบนี้ว่าเป็นแบบผสม (composite order)
ใบ acanthus ประดับเสาในยุคหลังๆ ที่มหาวิหารเมือง Palermo (อิตาลี) ที่รวมสถาปัตยกรรมหลากหลายแบบ พร้อมรูปลักษณ์อื่นๆอีกจำนวนมาก สนองค่านิยมใหม่ที่เน้น “ยิ่งมากคือยิ่งรวย ยิ่งมีอำนาจ”
4) Tuscan order (แบบทัซเกิน) เป็นแบบสถาปัตยกรรมบนดินแดน Tuscany ในอิตาลี ชื่อแคว้นมาเป็นชื่อเรียกแบบเสาโรมันที่มีลักษณะเหมือนเสา Doric แบบกรีก แต่ไม่มีอะไรประดับบนหัวเสา. เป็นแบบเรียบเกลี้ยงๆ ไม่มีการจำหลักเป็นแนวเส้นเล็กยาวตลอดความสูงของเสา. หัวบัวและฐานไม่มีอะไรประดับทั้งสิ้น. เป็นแบบที่เรียบง่ายที่สุด (เสาที่กำกับไว้ว่า Toscana) ในหมู่เสาทั้งห้าแบบของ Andrea Palladio.
ภาพนี้มาจาก Deutsch Fotothek via Wikimedia.org [Public domain]. เป็นภาพวาดของ Giacomo Barozzi da Vignola (1507-1573) จากหนังสือของเขาเรื่อRegola delle cinque ordini d’architectura (1640, เรื่องแบบสถาปัตยกรรมห้าแบบ.พิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอิตาเลียนในปี 1562). Vignola จัดลำดับจากแบบที่เรียบง่ายที่สุดสู่แบบที่ซับซ้อนที่สุดและเรียงตามลำดับความสูงของเสาด้วย.
5) Composite order (เสาแบบผสม) คือรวมลักษณะของเสาแบบ Ionic และแบบ Corinthian เข้าด้วยกัน (ดูภาพเสาทั้งห้าแบบข้างบน ที่กำกับว่า composita).
ภาพนี้มาจาก Deutsch Fotothek จากเว็ปวิกิพีเดีย. หัวเสาหรือหัวบัวที่นำมาลงนี้เป็นเพียงตัวอย่างของประติมากรรมจำหลักนูนรอบหัวเสา รูปลักษณ์อาจเปลี่ยนแปลงไปตามจินตนาการของนายช่าง.

Armillary sphere อาจแปลได้ว่า วงแหวนจักรวาล เป็นเครื่องมือดาราศาสตร์แบบหนึ่ง ประกอบด้วยห่วงวงกลมทองเหลืองหลายห่วงตรึงเข้าด้วยกันห่างๆบนแกนที่แทนแกนโลก. จุดใจกลางของเครื่องมือนี้มีลูกกลมเล็กๆที่แทนตำแหน่งของโลก ตามความเข้าใจมาแต่โบราณว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล (ทฤษฎี geocentric ของ Ptolemy, c90-168AD.). ต่อมาเมื่อความรู้เกี่ยวกับจักรวาลวิวัฒน์ขึ้น ลูกกลมตรงใจกลางวงแหวนทั้งหลายกลายไปเป็นดวงอาทิตย์ (ตามทฤษฎี heliocentric ที่ Nicolaus Copernicus เป็นผู้เริ่มต้นในปี1543). เข้าใจว่าเครื่องมือดาราศาสตร์นี้เนรมิตขึ้นครั้งแรกในราว 190-120 BC. เพื่อศึกษาการหมุนและตำแหน่งของของดวงดาวในท้องฟ้า. เครื่องมือวงแหวนจักรวาลแบบนี้เป็นเครื่องมือดาราศาสตร์เครื่องแรกๆของโลก ใช้กันมาพันเจ็ดร้อยกว่าปีก่อนมีกล้องส่องทางไกลในศตวรรษที่ 17. ห่วงวงกลมแต่ละห่วงที่ประกอบเป็นเครื่องมือวงแหวนนี้แทนเส้นรอบวงสำคัญๆของการโคจรของดวงดาวต่างๆในท้องฟ้า. แบบที่สมบูรณ์ที่สุดอาจมีถึงหกเจ็ดวงแหวน. วงแหวนหนึ่งมีตัวเลขกำหนดยี่สิบสี่ชั่วโมงรอบ 360 องศา, อีกวงหนึ่งแบ่งเป็นสิบสองจักรราศี, อีกวงหนึ่งเป็นวงแหวนของ Tropic of Cancer, อีกวงหนึ่งเป็นวงแหวนของ Arctic Circle,  อีกวงแหวนหนึ่งแตะท้องฟ้าเหนือซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้, อีกวงแหวนหนึ่งผ่านขั้วเหนือและใต้ของท้องฟ้า ในขณะเดียวกันก็เชื่อมกับจุดตัดของเส้น Tropic of Cancer และ Tropic of Capricorn เป็นต้น. ลูกกลมวงแหวนจักรวาลแบบนี้ กลายเป็นสิ่งประดับสวนสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่ง สื่อความอยากรู้อยากเข้าใจท้องฟ้าและจักรวาล. เป็นความหมกมุ่นอย่างหนึ่งในหมู่ปัญญาชนชาวยุโรป การมีเครื่องมือดาราศาสตร์ในครอบครอง สื่อสถานะของผู้ดี ที่คือผู้คงแก่เรียน มีภูมิปัญญาสูง ควบคู่ไปกับความมั่งคั่ง. ปัจจุบันสามัญชนทั่วไปน้อยคนจะอ่านเครื่องมือแบบนี้ได้ เพราะดาราศาสตร์ได้พัฒนาขึ้นอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด และท้องฟ้ามิได้เป็นพรมแดนกั้นความอยากรู้อยากเรียนของคนอีกต่อไป. กล้องส่องทางไกลที่มีกำลังสูงและคมชัดมากขึ้นๆในปัจจุบันทำให้คนสามารถมองไปไกล ออกนอกระบบสุริยะแล้ว (ตัวอย่าง Hubble space telescope. นึกถึง Copernicus ในศตวรรษที่16 ถ้ามีกล้องแบบนี้ เขาจะมีความสุขมากเพียงใดกับการสำรวจพินิจพิเคราะห์จักรวาล).             
ภาพรายละเอียดเกี่ยวกับรูปลักษณะและองค์ประกอบของวงแหวนจักรวาลที่ละเอียดมาก. จากสารานุกรม Encyclopedia Britannica, plate LXXVII, กำกับอายุของภาพไว้ที่ปี 1771 [Public domain] via Wikimedia Commons.

เครื่องมือวงแหวนจักรวาลขนาดเล็กแบบง่ายๆนี้ ตั้งประดับสวนสาธารณะชื่อ Parade Gardens (กลางเมือง Bath ประเทศอังกฤษ) ตั้งบนฐานที่เป็นประติมากรรมแบบหนึ่งประดับด้วยปลาโลมาสี่ตัว. บนฐานของเครื่องมือวงแหวนจักรวาลนี้ มีคำจารึกเจาะจงว่า Horas Non Numero Nisi Serenas ในความหมายว่า ชั่วโมงที่ผ่านไปมีความหมายก็เมื่อเป็นเวลาแห่งความสุข หรือ ฉันนับวันเวลาแห่งความสุขเท่านั้น  
เครื่องมือแบบวงแหวนขนาดใหญ่ ที่ประดับสวนในบริเวณสนามหญ้าใหญ่เบื้องหน้าอาคาร Palacio del Tiempo [ละธีโอ เด็ล ตีเย็มโป](ชื่อแปลว่า พระราชวังแห่งกาลเวลา). เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นาฬิกาที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ที่เมือง Cádiz [ก๊ะดิธ] ในประเทศสเปน. สื่อการต่อเนื่องของกาลเวลาจากรูปแบบวงแหวนจักรวาล ที่เป็นเครื่องมือบอกเวลาแบบแรกๆของมนุษยชาติ (armillary sphere) สู่นาฬิกาแบบต่างๆที่พัฒนาขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัยมาจนถึงยุคปัจจุบัน.
-------------------------------------------
ต่อที่ A-7 คำ Art nouveau.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/01/a-7-art-nouveau.html
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html


Comments