Art nouveau [อารฺ นูโว] เป็นคำฝรั่งเศสที่ทุกภาษาใช้ทับศัพท์เลยและยังออกเสียงตามคำในภาษาฝรั่งเศสอีกด้วย
หมายถึงศิลปะแนวใหม่ที่เริ่มขึ้นในยุโรประหว่างปี 1885 ถึงปี 1914.
เป็นวิธีการแสดงออกวิธีใหม่ด้วยรูปลักษณ์แนวใหม่ในศิลปะทั้งทางด้านประติมากรรม
สถาปัตยกรรม วาดเขียน จิตรกรรม และโดยเฉพาะการตกแต่งภายใน
ตลอดจนการประดิษฐ์เครื่องเพชรนิลจินดาและเครื่องประดับต่างๆ.
Art nouveau เป็นปฏิกิริยาสวนกระแสนิยมในศิลปะที่ยึดแบบแผนและหลักการที่บัณฑิตยสภาแห่งศิลปะกำหนดไว้(academic art), ด้วยการหันไปยึดรูปลักษณ์ของสรรพอินทรีย์สารในธรรมชาติ
โดยเฉพาะรูปลักษณ์ของพืชพรรณ. นำเส้นไหลเส้นโค้งหรือเส้นคลื่นมาออกแบบ ตกแต่งอาคาร. ศิลปินกระแสนี้ไม่จำกัดการสร้างสรรค์ภายในกรอบของสถาปัตยกรรมเท่านั้น
แต่รวมไปถึงการออกแบบเฟอนิเจอร์และสิ่งของทุกอย่างในชีวิตประจำวัน. ในส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์สวน
กระแสนี้สอดคล้องกับวิวัฒนาการของจิตรกรรมภูมิทัศน์ (landscape painting)
ที่ปูทางสู่ค่านิยมในการสร้างสวนภูมิทัศน์ (landscape garden) ในอังกฤษ.
สวนภูมิทัศน์กลายเป็นมรดกที่อังกฤษมอบแก่โลก เป็นอัตลักษณ์ที่งดงามที่สุด
เด่นที่สุดในศิลปะของประเทศอังกฤษ.
ในประเทศอังกฤษ ศิลปะกระแสนี้
ตรงกับการก่อตั้งร้านสรรพสินค้าของ Arthur
Lasenby Liberty ผู้ตั้งชื่อร้านว่า Liberty
& Co.(1875) บนถนน Regent Street ในนครลอนดอน. เริ่มต้นร้านของเขาขายสิ่งประดับบ้าน
ผ้าและศิลปวัตถุที่ได้นำเข้ามาจากญี่ปุ่นและจากตะวันออก. ธุรกิจของเขาเจริญก้าวหน้ามาก
ทำให้เขาซื้ออาคารติดๆกัน ขยายร้านออกไปอย่างกว้างขวาง. ร้านของเขากลายเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในกรุงลอนดอน. เอกลักษณ์เด่นของ Liberty คือลวดลายพืชพรรณในธรรมชาติ ที่มาเป็นลายพิมพ์ของผ้า ของกระดาษปิดฝาผนัง แทรกเข้าเป็นแบบประดับเครื่องตกแต่งบ้านเช่นตะเกียง
ตะกร้า กล่อง ตู้เสื้อผ้าและสรรพสิ่งอื่นๆในชีวิตประจำวัน. จนถึงทุกวันนี้
ชาวอังกฤษยังคงนิยมผลิตภัณฑ์แนวธรรมชาติเรื่อยมา.
ชมตัวอย่างลายผ้าพิมพ์ของ Liberty ได้ที่นี่ >>
สินค้าของ Liberty ดั้งเดิมมิใช่เพื่อการใช้ชีวิตในสังคมหรูหราฟู่ฟ่าแบบ“ไฮโซ”ตามความหมายที่เข้าใจกันในสังคมไทย
แต่เพื่อการเบนวิถีชีวิตไปใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น.
สื่อนัยของความรู้สึกอิสระจากกฎเกณฑ์สังคม ของเสรีภาพที่ทำตามรสนิยมของตัวเอง
พอใจกับธรรมชาติป่าเขาและท้องทุ่ง รวมกันเป็นค่านิยม
จุดยืนและอุดมการณ์ที่ชาวอังกฤษภาคภูมิใจยิ่งนัก. แต่ในปัจจุบันมีมุมสินค้าเสื้อผ้าหรู
ฟู่ฟ่า ไฮแฟชั่นตามยุคสมัยนี้ เพิ่มเข้าไปด้วย. จากเดิมที่เป็นผ้าฝ้ายพิมพ์ลาย(เนื้อหนาจนถึงเนื้อละเอียดและโดยเฉพาะผ้า cotton Tana
Lawn) มีผ้าไหมเนื้อดี ผ้าป๊อปลิน ผ้าเจอร์ซี ผ้าแพรวิซโคซ(viscose) ผ้าใบเป็นต้น. ร้านในแนวเดียวกันนี้เริ่มขึ้นในสหรัฐฯที่เรียกกันต่อมาว่าเป็นสไตล
Tiffany (ที่ยิ่งทียิ่งหรูหราตามรสนิยมสมัยใหม่ที่ออกนอกอุดมการณ์ดั้งเดิมไปมาก).
Art nouveau เป็นสะพานเชื่อมศิลปะ neoclassicism (กระแสที่กลับไปนิยมแบบคลาซสิกกรีก) ในศตวรรษที่สิบเก้า กับศิลปะสมัยใหม่ในศตวรรษที่ยี่สิบที่เป็นยุคของ
modern style หรือ modernism.
กระแส Art nouveau เป็นความเคลื่อนไหวของศิลปินแต่ละคนด้วย
ที่ต่างถ่ายทอดอุดมการณ์ศิลป์แนวใหม่ด้วยกรรมวิธีส่วนตัว. ศิลปินร่วมสมัยในกระแสนี้ เช่น Gustav Klimt (1862-1918, ชาวออสเตรีย), Charles Rennie
Mackintosh (1868-1928, ชาวอังกฤษจากเมือง Glasgow),
Alphonse Mucha (1860-1939, ชาวเช็ก), René Lalique (1860-1945, ชาวฝรั่งเศส), Antoni Gaudí (1852-1926, ชาวสเปนจากเมืองบารเซโลนา) และ Louis Comfort Tiffany
(1848-1933, ชาวอเมริกัน) รวมทั้ง William Morris (1834-1896, ชาวอังกฤษ). ทั้งหมดมีผลงานโดดเด่นในแขนงของพวกเขา.
แน่นอนที่อะไรใหม่อะไรแปลกต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้
จนเป็นที่ยอมรับในที่สุด
เช่นกันศิลปินในกระแสนี้ต่างถูกวิพากษณ์วิจารณ์อย่างรุนแรงมาก่อนแล้วทั้งนั้น
จนถึงวันนี้ก็ยังมีคนชอบและคนไม่ชอบ.
ทางเข้า Glasgow
School of the Art (167 Renfrew Street, Glasgow G3 6RQ) ที่เมือง Glasgow ประเทศอังกฤษ. ผลงานออกแบบของ Charles Rennie Mackintosh (1868-1928). ให้สังเกตรายละเอียดของเหล็กโค้งที่เชื่อมเสาสองข้างบันได
เสาตะเกียง ลวดลายที่ประดับเหนือประตูเป็นต้น.
ถือกันว่าอาคารของสถาบันแห่งนี้เป็นอาคารที่มีชื่อเสียงที่สุดและเป็นผลงานที่คนยกย่องมากที่สุด.
มีโอกาสควรไปชมทั้งภายนอกซึ่งยังมีรายละเอียดอีกมากในแต่ละด้านของตึกและรายละเอียดทุกส่วนภายใน.
เป็นสถาปัตยกรรมที่เขาเนรมิตขึ้นในระหว่างปี 1897-1909 ดูรายละเอียดชีวิตและผลงานของเขาได้ในอินเตอเน็ต เช่นที่ http://www.crmsociety.com/
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ The Willow Tea Room (ตั้งอยู่ที่หมายเลข 217
Sauchiehall Street, Glasgow G2 3EX) เป็นอาคารเดียวที่เขาเป็นผู้ออกแบบทั้งหมดแต่ผู้เดียว ทั้งด้านนอกและด้านใน
รวมเครื่องเรือนทั้งหมดที่ใช้ เช่นโต๊ะ เก้าอี้
ตู้ หรือถ้วย จาน ช้อน ส้อม ตลอดจนเครื่องแบบของผู้บริการในร้าน. ชื่อ Willow เป็นชื่อถนนในภาษาสก็อตเก่า. ต้น willow (ไม้จำพวกต้นสนุ่นหรือตะไคร่บก,
ต้นหลิว)
จึงปรากฏเป็นลายประดับทั่วไปในร้าน.
ภายในห้องอาหารและน้ำชาที่ The Willow Tea Room แม้ใช้ชื่อเจาะจงว่าเป็นห้องน้ำชา
แต่มีอาหารเช้า อาหารกลางวัน และอาหารว่างขายตลอดวัน. แบบเก้าอี้สไตล์ Mackintosh.
แบบประดับ(ใบหลิว) ด้านหน้าชั้นบนของ The Willow Tea Room
แบบประดับติดกำแพงด้านหน้าของร้าน
The Willow Tea Room
มาดูตัวอย่างศิลปะแนวใหม่ล้ำยุคในสเปนบ้าง… Casa Batlló สร้างขึ้นในปี 1875
Antoni Gaudí (1852-1926) เป็นผู้บูรณะตกแต่งและขยายอาคารนี้ในระหว่างปี 1904-1906. อาคารนี้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่น่าทึ่ง
กว้าง สว่าง โรแมนติกและโดนใจคนมากที่สุด. ด้านหน้าของอาคารสะดุดตา ดูเหมือนคลื่นที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบชิ้นเล็กๆ
ที่ดูเหมือนเศษหรือชิ้นส่วนแตกๆมาประดับเข้าด้วยกันได้อย่างเหมาะสม.
เสาที่ค้ำกำแพงเรียวเหมือนกิ่งไม้(หรือกระดูก)และประดับด้วยลวดลายจากพืชพรรณ. หน้าต่าง
ระเบียงหรือมุขเล็กที่ประดับด้านหน้าเมื่อมองในยามเย็นถึงค่ำ
เหมือนใบหน้าคนสวมหน้ากาก. แสงส่องผ่านกระจกหน้าต่างหลากสีภายในกรอบหน้าต่างรูปลักษณ์รีๆโค้งๆ.
ลักษณะรีโค้งหรือเป็นคลื่นแบบนี้ยังคงเป็นลายต่อเนื่องภายในอาคารไม่ว่าจะเป็นบันได
ประตู เครื่องเรือน เพดาน ลวดลายเหล็กดัดฯลฯ. ลักษณะความลื่นไหลของลำตัวสัตว์บางชนิดเช่นลำตัวงู
ลำตัวมังกรหรือไดโนเสา ยิ่งเห็นชัดเมื่อขึ้นไปถึงหลังคา.
สิ่งก่อสร้างที่บังทางขึ้นลงเหมือนหลังไดโนเสาตัวน้อย ในขณะที่ภายนอก
ขอบเฉลียงยาวเหยียดเหมือนลำตัวไดโนเสาตัวแม่ที่พาดไปตลอดทุกด้านของอาคารเป็นต้น. สีสันอันสดใสทำให้คนดูเบิกบานใจไปด้วย
พร้อมจะคล้อยตามจินตนาการ อารมณ์ขัน อารมณ์สนุกของสถาปนิก
ที่ล้ำยุคสมัยนั้นและยังคงเป็นที่ตื่นตาตื่นใจในยุคนี้
ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันสนใจชีวิตสัตว์ล้านปีในโลกโบราณ. สรุปกว้างๆได้ว่า
สถาปนิกยึดหลักว่าอาคารหรือสิ่งก่อสร้างควรกลมกลืนเข้ากับสภาพแวดล้อม.
เขานำรูปลักษณ์ของสรรพสิ่งในธรรมชาติ
มาปรับใช้มากที่สุดเพื่อลดความรู้สึกหนาหนักของวัสดุก่อสร้างเช่นหิน
และนำรูปลักษณ์เรขาคณิตต่างๆมาใช้ในการออกแบบด้วยเช่น รูปลักษณ์พาราโบลา
ไฮเปอร์โบลา ลายเกลียว ลายขด หรือรูปกรวยเป็นต้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.casabatllo.es).
ภาพอาคาร Casa Batlló [กาซา บัตฺโละ] (ตั้งอยู่บนถนนเลขที่ 43 Passeig
de Gràcia, 08007 Barcelona) ถ่ายในยามค่ำ
ยิ่งทำให้เห็นลักษณะที่แปลกพิสดารของสถาปัตยกรรม. ระเบียงหรือมุขเล็กที่ประดับด้านหน้าชั้นสูงๆเมื่อมองในยามเย็นถึงค่ำ
(ข้าพเจ้า)เห็นเหมือนใบหน้าคนสวมหน้ากาก. ในยุคที่ศิลปะเบนออกจากแนวกำหนดของราชบัณฑิตยสภา
สถาปนิก Antoni
Gaudí (1852-1926 ชาวสเปนจากบารเซโลนา) กล้าออกแบบแหวกแนวออกไปอย่างสิ้นเชิง. นับได้ว่าเขาเป็นผู้นำสถาปัตยกรรมแบบใหม่ในยุคของ
Art nouveau เข้าในสมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นอย่างมั่นคงในศตวรรษที่ยี่สิบ.
ภาพด้านหน้าชั้นบนของอาคาร ด้านหน้านี้เมื่อเทียบกับความยาวของตึก ดูแคบ ตามลักษณะพื้นที่ทั่วไปสำหรับอาคารที่พักหรืออาคารพาณิชย์ที่สร้างในยุโรปยุคก่อนๆนั้น โดยทั่วไปด้านหน้าไม่กว้างมาก
ความลึกของอาคารมากกว่าความกว้างหลายเท่า.
ภาพนี้ถ่ายจากภายในอาคารชั้นบนออกไปสู่ด้านนอก
เห็นเสาและส่วนโค้งของเสา รวมทั้งวงกลม วงรี ลายลูกคลื่น
รับกับลักษณะของอาคารด้านหน้าข้างนอก
ทั้งยังมีช่องลมเล็กๆเป็นวงกลมๆหรือสี่เหลี่ยมที่ปิดเปิดได้ด้วย(ดูที่ดอกจันสีขาว)
ทั้งเก๋และมีประโยชน์ยิ่ง(โดยไม่ต้องอาศัยพัดลม).
เพดานมิได้เป็นพื้นหน้าราบเรียบ
แต่เป็นเพดานลายเกลียว เข้ากับไฟที่ติดเพดานที่เหมือนจานกลมๆขอบซี่ๆเหมือนกลีบดอกไม้
กระจกสีๆที่ประดับตอนบนของประตูห้องก็สะท้อนนัยของการหมุนเวียนและความคล่องตัว.
ภาพหลังคาของอาคาร Casa Batlló ที่เปิดให้ขึ้นไปชมได้ สิ่งก่อสร้างและปล่องไฟที่เห็นประดับด้วยกระเบื้องเคลือบชิ้นเล็กๆ
สีสดใส สวยงามไม่น้อยเมื่อเข้าไปพิจารณาแต่ละชิ้นใกล้ๆ. น่าจะเป็นหลังคาที่ไม่เหมือนใคร
และไม่มีที่ใดเหมือนในโลกจนถึงทุกวันนี้.
สี่ภาพข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างจาก Casa Milà [กาซา มีละ] (หรืออีกชื่อหนึ่งในภาษากะตาลันท้องถิ่นที่นั่นคือ
La Pedrera ที่แปลว่า แหล่งหินที่คนไปตัดไปสกัดมาใช้, ตั้งอยู่บนถนน Passeig de Gracia ในย่าน Eixample district). เป็นอีกผลงานหนึ่งของ Antoni
Gaudí อาคารหลังนี้ สร้างขึ้นระหว่างปี 1906-1910
เป็นสถาปัตยกรรมพลเรือนแบบห้องชุด เป็นงานชิ้นสุดท้ายและชิ้นใหญ่ที่สุดของ Gaudí. หลังจากงานชิ้นนี้
เขาอุทิศชีวิตทุ่มเทความตั้งใจทั้งหมดเพื่อสร้างโบสถ์ Sagrada Família [สะกร๊าดา ฟามี้เลีย]. ชื่ออาคาร Casa Milà นี้เป็นนามสกุลของคหบดีผู้มั่งคั่ง
(Pedro Milà y Camps).
ความผิดแปลกของสถาปัตยกรรมพลเรือนหลังนี้ คือทั้งอาคารไม่ใช้แนวเส้นตรงเลย
มีเสาและอาร์ค (arches) ค้ำกำแพงไว้ เสาแต่ละเสารวมทั้งความสูงของเพดานก็ไม่เท่ากันทั้งหมด และไม่เหมือนกันทุกชั้น
แต่ปรับให้เหมาะเพื่อให้แสงสว่างส่องเข้าสู่พื้นที่ภายในได้เต็มที่ทุกชั้นทุกมุมตึก. อาคารเสริมด้วยเหล็กกล้า ทำให้สถาปนิกสามารถสร้างพื้นแต่ละชั้นในแบบอื่นๆที่ไม่ใช่พื้นที่สี่เหลี่ยมสม่ำเสมอ. ภายในอาคารมีช่องโล่งเป็นลำ เป็นพื้นที่ว่างและเปิดสูงจากพื้นขึ้นไปถึงดาดฟ้า
เป็นเหมือนกระบอกหรือท่ออากาศที่วิเศษสุดสำหรับการถ่ายเทลมและทำให้อุณหภูมิภายในอาคารเย็นร่มรื่นเสมอ. ด้านนอกอาคารเหมือนหน้าผาที่มีปากถ้ำเป็นระยะๆ.
ส่วนภายในไม่มีพื้นที่ที่เป็นแนวตรง. หลังคาของอาคารเปิดให้เข้าชมได้
เป็นส่วนที่แปลกประหลาดผิดอาคารสถาปัตยกรรมร่วมยุค
เหมือนมีมนุษย์ต่างแดนขึ้นไปอยู่ข้างบน.
แท้จริงเป็นปล่องไฟที่ประดับตกแต่งจนเป็นงานศิลป์แบบหนึ่ง. บ้างเป็นช่องทางขึ้นลงมีประตู
บันไดซ่อนอยู่ภายใน. บางคนอาจเห็นเป็นนักรบ
บางคนเห็นเป็นอาหรับหญิงหรือชายที่โพกผมปิดหน้าเปิดตาเท่านั้นเป็นต้น.
ชั้นใต้หลังคาเป็นพื้นที่แสดงนิทรรศการผลงานสถาปัตยกรรมของ Antoni Gaudí. มีภาพถ่ายและแบบจำลองย่อส่วนของอาคารต่างๆที่เขาเป็นผู้ออกแบบสร้าง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.aviewoncities.com/barcelona/casamila.htm )
ด้านหน้าของอาคาร Casa Milà [กาซา มีละ] (La Pedrera) มองดูเหมือนหน้าผาที่มีปากถ้ำ แนวขอบตึกแต่ละชั้นทอดตัวเป็นคลื่นน้อยๆจากด้านหนึ่งสู่อีกด้านหนึ่ง. งานเหล็กดัดที่ประดับระเบียงเป็นระยะๆ
เป็นผลงงานของ Josep Maria Jujol.
หลังคาของ Casa Milà แปลกประหลาดอย่างเห็นได้ชัด. เปิดให้ประชาชนขึ้นไปชมได้.
หลังคามิได้เป็นแบบพื้นราบโดยตลอด แต่พื้นที่ขึ้นๆลงๆเหมือนคลื่นเช่นกัน. ปล่องไฟจัดเป็นรูปแบบสิ่งก่อสร้างที่ครอบกลบเกลื่อนปล่องไฟ
เหมือนคนยืนติดๆกัน. อาจเห็นเป็นใบหน้าชาวอาหรับที่ปิดหน้าเปิดตาเท่านั้น.
ส่วนสิ่งก่อสร้างลักษณะสูงแบบโดม ก็เพื่อซ่อนประตูและบันไดลงสู่ชั้นต่างๆ.
ประตูใหญ่ทางเข้าสู่อาคารจากถนน
Passeig de Gracia. ภาพนี้ถ่ายจากภายในออกสู่ประตู
เพื่อให้เห็นวิธีการออกแบบที่แปลกตาทั้งประตูเหล็กดัดประดับด้วยกระจกสี
และเพดานที่เป็นเหมือนภาพจิตรกรรมสมัยใหม่หลากสีสัน.
ลักษณะเพดานดังกล่าวต่อไปถึงเพดานเหนือบันไดที่นำสู่ชั้นบน
ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในถ้ำที่มีแสงส่องสว่าง ให้เห็นความอัศจรรย์ภายใน.
ภาพจากนิทรรศการผลงานของ Antoni Gaudí เป็นแบบจำลองย่อส่วนของวิหาร Sagrada Família [สะกร๊าดา ฟามี้เลีย] ที่สถาปนิกทุ่มเทชีวิตสร้าง แต่เขาถึงแก่กรรมก่อนที่งานจะเสร็จ.
รัฐบาลสเปนรวมทั้งองค์การมรดกโลกแห่งยูเนสโกได้ร่วมมือกันดำเนินการบูรณะและสร้างต่อเติมตามแบบและหลักการที่สถาปนิกได้วางไว้อย่างละเอียดลออ
จนถึงปัจจุบันยังมิได้แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์.
ภาพถ่ายจากวิหาร Sagrada Família [สะกร๊าดา ฟามี้เลีย] เห็นลักษณะเสาและเพดาน
ลวดลายที่ไม่เหมือนโบสถ์หรือวิหารใดในโลก
ทั้งวิศวกรรมก่อสร้างก็ไม่เหมือนกับวิธีการที่เคยทำกันมาจนถึงยุคนั้น.
มาดูตัวอย่างผลงานด้านการออกแบบสไตล์ Art nouveau ของศิลปินอังกฤษ William Morris (24 March 1834 – 3
October 1896) งานออกแบบลวดลายสำหรับผ้า
กระดาษปิดฝาผนัง แบบเฟอนิเจอร์ กระจกสีและสิ่งประดับตกแต่งต่างๆ ทำให้เขาเป็นผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้นอุดมการณ์อนุรักษ์ศิลปะและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ที่กลายเป็นการปฏิวัติรสนิยมวิคตอเรียในระยะสุดท้ายที่ถูกมองว่าเป็นแบบหรูฟู่
เพียบจนรกรุงรัง) เรียกว่า the British
Arts and Crafts Movement (ดูที่คำนี้).
อาคารด้านทิศเหนือตรงข้ามอาคารยาวที่เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์
มีสนามใหญ่ประกอบด้วยสระน้ำทรงรี เป็นอาคารภัตตาคาร ประกอบด้วยห้องใหญ่ๆสามห้อง (พิพิธภัณฑ์ Victoria &
Albert Museum เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในโลกที่จัดอาคารบริการอาหารและเครื่องดื่ม เจาะจงไว้เลยว่าเป็น the oldest
museum restaurant และได้เป็นตัวอย่างให้พิพิธภัณฑ์อื่นๆในโลกที่เริ่มจัดบริการอาหารเครื่องดื่มในศตวรรษที่20). การตกแต่งภายในอาคารภัตตาคารนี้
ตั้งเป้าให้เป็นสถานที่ที่สะท้อนวิวัฒนาการของดีไซน์ร่วมสมัย ตั้งแต่การกลับไปรับศิลปะยุคเรอแนสซ็องส์
มาจนถึงความหลากหลายในสไตล์นานาชาติ. และที่น่าสนใจคือการนำความพูดจากคัมภีร์จากเล่ม
Ecclesiates มาจารึกลงประดับเป็นแนวในห้องกลางของอาคาร(the Gamble Room) ว่า << There is
nothing better for a man than that he should eat and drink, and make his soul
enjoy the good of his labour >> ในใจความว่า สำหรับทุกคน
ไม่มีอะไรดีไปกว่าการกินกับการดื่ม และการทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบานในสิ่งดีๆที่เขาเองได้ลงทุนลงแรงทำมา.
ห้อง Green Room ทางปีกซ้ายของอาคารภัตตาคารในพิพิธภัณฑ์
V&A (ลอนดอน
ประเทศอังกฤษ). ภาพจากเว็ปเพจของพิพิธภัณฑ์
(ที่ vam.ac.uk). ห้องปีกนี้เป็นส่วนที่
William Morris (1834-1896) และบริษัทของเขา(ตั้งขึ้นในปี1861)
เป็นผู้ตกแต่งทั้งหมด เปิดใช้ตั้งแต่ปี1868. นั่นเป็นผลงานชิ้นใหญ่ชิ้นแรกของเขา
ด้วยความร่วมมือของสถาปนิก Philip Webb และของจิตรกร Edward
Burne-Jones.
ไม่นานต่อมาเขากลายเป็นนักออกแบบและนักปรัชญาและทฤษฎีศิลป์คนสำคัญคนหนึ่งในอังกฤษยุคศตวรรษที่19 เป็นหัวหน้าคนสำคัญที่สุดในอังกฤษของกระแสศิลป์ Arts
and Crafts Movement.
ห้องโถงตรงกลางอาคารใต้โดมสูง
มีหน้าต่างกระจกสีบานใหญ่และสูง. ห้องนี้เรียกว่า the Gamble Room (James
Gamble ผู้ออกแบบ). สังเกตความหรูหราของกระเบื้องเซรามิคเคลือบสีสดใส, เพดานเป็นแผ่นเหล็กเคลือบน้ำยาชักเงา(เหมือนแผ่นป้ายโลหะเคลือบที่บอกชื่อสถานที่
เห็นตามสถานีรถไฟในยุโรป),
วัสดุที่เลือกใช้นั้นเพื่อให้ทนไฟ(กรณีเกิดไฟไหม้) ทนไอน้ำร้อนๆและไม่ดูดซับกลิ่นอาหาร
ทั้งยังสะดวกแก่การทำความสะอาดด้วย. ภาพจากเว็ปเพจของพิพิธภัณฑ์
(ที่ vam.ac.uk).
ส่วนห้องทางปีกขวาของอาคารคือห้อง Poynter Room (Edward J.Poynter เป็นผู้ออกแบบภาพทั้งหลายในห้องนี้) เดิมเรียกว่า Grill Room ดังเห็นมุมพร้อมเครื่องมือสำหรับย่างอาหาร(ด้านขวาของภาพ). ใช้กระเบื้องเซรามิคเคลือบสีในโทนของสีน้ำเงินขาวของชาวดัตช์. ภาพจากเว็ปเพจของพิพิธภัณฑ์
(ที่ vam.ac.uk).
สังเกตแผ่นกระเบื้องเคลือบที่มาต่อกันจนเต็ม
เหมือนกรอบภาพ จิตรกรรมบนกระเบื้องเคลือบในแต่ละกรอบเกี่ยวกับเดือนแต่ละเดือน
(ในภาพที่ถ่ายมานั้นเป็นเดือน(จากซ้ายไปขวา)มีนาคม เมษายน พฤษภาคมและมิถุนายน. ยังมีที่เป็นภาพของฤดูกาลด้วย.
จิตรกรรมบนแผ่นกระเบื้องเคลือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กแผ่นเดียวนั้น
นอกจากภาพดอกไม้ใบไม้และผลไม้แล้ว ยังมีภาพเทพเทวีกรีกโรมันด้วยเช่นวีนัส
อันโดรเมดา ซาโฟ. กระเบื้องเหล่านี้เป็นผลงานของนักศึกษาหญิงที่เรียนฝึกฝนด้านเครื่องพอร์สเลนในสถาบัน
National Art Training School ที่อยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์นี้. การว่าจ้างนักศึกษาสตรีมาวาดภาพลงบนแผ่นกระเบื้องเหล่านี้
นับเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง เพราะไม่เคยมีการว่าจ้างนักศึกษาหญิงมาร่วมงานไม่ว่างานแบบไหน
จึงเป็นก้าวสำคัญของสถานภาพว่าด้วยสิทธิสตรีในอังกฤษยุคนั้น.
ภาพนี้ถ่ายมาจากผนังห้องน้ำชาชื่อ
Morris Room ในพิพิธภัณฑ์ Victoria & Albert Museum ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ. ลวดลายกระดาษปิดฝาผนังสีเขียวมะกอกพร้อมกิ่งมะกอกฝรั่งของ Philip
Webb (สีเขียวของกิ่งไม้ที่ประดับเต็มผนังห้อง
ทำให้เรียกห้องนี้ว่า Green room ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น Morris Room), ลวดลายผลไม้ (“Fruit”
wallpaper) ที่ Morris เป็นผู้ออกแบบ, ภาพสตรีจากยุคกลางในอิริยาบถของชีวิตในครัวเรือนประกอบสัญลักษณ์ของจักรราศีเป็นผลงานของ
Burnes-Jones.
เพดานในห้องน้ำชาก็เป็นงานออกแบบของ William Morris
(พิพิธภัณฑ์ Victoria & Albert Museum, ลอนดอน ประเทศอังกฤษ).
ในยุค Art nouveau ลวดลายพืชพรรณเป็นแบบประดับสำคัญ ผ้าพิมพ์ กระดาษปิดฝาผนัง พรม ม่านหรือสิ่งตกแต่งหลายแบบหลายชนิด
รวมทั้งเครื่องใช้ เครื่องเรือน ต่างหันมาใช้ลวดลายดอกไม้
ใบไม้และรูปลักษณ์อื่นๆในธรรมชาติ.
จนถึงปัจจุบันชาวอังกฤษยังคงชื่นชอบลวดลายแบบนี้อยู่.
ตัวอย่างผ้าลายสำหรับใช้ตกแต่งเครื่องเรือน.
จากนิทรรศการที่ Castle Howard ปี
2017.
ตลอดชีวิตของ W.Morris เขาหลงใหลการออกแบบ และคิดหาทางให้ลวดลายเกาะเกี่ยวและซ้ำต่อๆกันไปอย่างสม่ำเสมอตามความยาวของผืนผ้าหรือของกระดาษติดฝาผนัง. ลวดลายกระดาษปิดฝาผนังรุ่นแรกๆเริ่มต้นในทศวรรษที่1860 เป็นลวดลายเรขาคณิต ตามด้วยลวดลายที่ลดเลี้ยวไปมามากขึ้นในการออกแบบรุ่นที่สอง และในทศวรรษที่1880 ลวดลายรุ่นที่สามเน้นรูปลักษณ์ในแนวเฉียง
ส่วนลวดลายรุ่นที่สี่ที่เป็นรุ่นสุดท้ายในชีวิตของเขา
กลับสู่รูปลักษณ์ที่ลื่นไหลมากขึ้น. กระดาษปิดฝาผนังของ Morris ทุกรุ่นนั้น Rosalind
Stanley ภรรยาของ George Howard ได้ กว้านซื้อไปทั้งหมด. George เป็นหลานชายของ Admiral Edward
Howard เจ้าของปราสาท Castle Howard (ในเทศมณฑล Yorkshire) และตั้งแต่ปี1889 เขาและภรรยาก็ย้ายเข้าไปอยู่ครองปราสาทที่นั่น. ทั้งสองชอบกระดาษปิดฝาผนังจากการออกแบบของ
Morris มากและคงได้ตกแต่งปิดห้องต่างๆในปราสาทในสมัยนั้น. มาถึงทุกวันนี้
เหลือเพียงห้องเดียวที่ยังคงใช้กระดาษปิดฝาผนังดั้งเดิมที่เป็นผลิตภัณฑ์ของ Morris โดยตรง. ชมตัวอย่างลวดลายกระดาษปิดฝาผนังของ
William Morris ที่จัดแสดงไว้ที่ Castle Howard (ปี2017).
ลาย Scroll (1871) จากแบบดีไซน์รุ่นที่สอง
รูปลักษณ์ที่ลดเลี้ยวอย่างอิสระ.
รูปลักษณ์ที่ลดเลี้ยวอย่างอิสระ.
ลาย Larkspur (1872) เป็นอีกแบบหนึ่งในดีไซน์รุ่นที่สอง
ลวดลายลดเลี้ยวไปมาอย่างอิสระ. มีจารึกการสั่งซื้อกระดาษปิดฝาผนังลายนี้เก้าม้วนในปี1892
เพื่อใช้ในห้องนอนของ Michael Howard ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเด็กน้อย.
ลาย Fritillary (1885) จากดีไซน์รุ่นที่สาม
ศิลปินเน้นเสนอรูปลักษณ์ตามแนวเฉียงที่เขาไม่เคยทำมาก่อน.
ลาย Bachelor’s button (1892) ดีไซน์จากรุ่นที่สี่
ที่ประสมประสานสไตล์ขรึมตามแบบแผนกับสไตล์อิสระแนวธรรมชาติ.
ลาย Blackthorn (1892) เป็นหนึ่งในลายรุ่นสุดท้ายที่ซับซ้อนที่สุด
ลายนี้รวมพืชพรรณห้าชนิดที่พันเกี่ยวกันไป.
ลาย Compton (1896) เป็นลายแบบสุดท้ายในปีสุดท้ายของชีวิต.
กระดาษปิดผนังลายนี้ยังเหลืออีกหลายม้วนมากที่ Castle Howard. เดิมลายนี้เคยไปติดในห้องใดที่ปราสาทนั้น ไม่มีใครรู้.
วัด(chapel) ใน Castle Howard ก็เป็นผลงานของบริษัท Morris
& Co. เช่นกัน. ภาพรวมของวัด สว่าง สีสดใส
ลวดลายตามแบบฉบับของ Morris. ดังตัวอย่างจากภาพข้างล่างนี้
ตัวอย่างลวดลายประดับเสาและผนังภายในวัด.
จิตรกรรมบนฝาผนังตอนบนเหนือหน้าต่าง ภาพเทวทูตกางปีกออกกว้าง
กางแขนออกสองข้างระดับไหล่ มือแต่ละข้างถือกระดาษจารึกข้อความจากคัมภีร์ ด้านซ้ายและด้านขวาเป็นข้อความเดียวกัน
ใจความว่า (ข้า)ขอสดุดีพระผู้เป็นเจ้าในสรวงสวรรค์ และแซ่ซ้องสันติภาพบนพื้นโลก
: ขอความตั้งใจดีๆจงบังเกิดแก่คนเถิด. สังเกตพื้นหลังที่เป็นเหมือนสวนผลไม้
ผลส้มผลมะนาวหรือผลแอปเปิล ยืนยันความอุดมสมบูรณ์ในสวรรค์. มือของเทวทูตที่กางออกกว้างเหมือนพร้อมจะโอบรับผู้คน.
ภาพเทวทูตมาบอกข่าวดีต่อแม่นางแมรี มือซ้ายถือช่อดอกลิลลีที่มีหนึ่งดอก. นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือขวายกขึ้นตรงหน้าแม่นางแมรี ในท่าประทานพร. ส่วนแม่นางมารีนั่งอยู่ภายในบ้าน
หน้าตักเธอมีหนังสือที่เปิดอ้าอยู่ เป็นท่าประจำของแม่นางในฉากพระแม่รับสารนี้. ภาพหนังสือ ต้องการบอกว่านางมีความตั้งใจหมั่นเพียรศึกษาคัมภีร์. เมื่อเทวทูตบอกสารแก่แม่นาง
เธอยกมือทั้งสองประสานไขว้กันบนหน้าอก เป็นกิริยารับคำ(รวมความปลื้มปิติด้วย). เบื้องหน้าแม่นางแมรี
มีช่อดอกลิลลีสีขาวหลายดอก ดอกตูมๆก็มี ทั้งช่อโดดเด่นในแจกันทรงสูง. สวนที่มองเห็นไกลออกไปร่มรื่น
มีแม่น้ำไหลผ่านสวน ริมฝั่งมีนกคล้ายนกกระยาง ฝั่งตรงข้ามเป็นป่าไม้เขียวชอุ่ม. ต้นไม้ที่ใกล้รั้วเป็นไม้ผล
เห็นนกสีขาวตัวหนึ่งบินลอยอยู่ในอากาศ. นกนี้ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระจิต. บนพื้นตรงหน้ามีพันธุ์ไม้ดอกสีต่างๆ. เป็นภาพงดงามสดใสมาก เฉพาะสีสันก็สร้างความอิ่มเอิบใจแล้ว. สไตล์ของศิลปินกลุ่ม Morris นี้ เน้นการใช้สีสดๆ
เพื่อกระตุ้นความแจ่มใสเบิกบานใจ. เหนือขึ้นไปบนคาน มีข้อความอธิบายฉากเหตการณ์ว่า เทวทูตกาเบรียลมากล่าวสวัสดีแม่นางแมรีหญิงพรหมจรรย์. ศิลปินผู้เนรมิตภาพเก็บและสื่อนัยสัญลักษณ์ทางศาสนาไว้ครบ ไม่น้อยไปกว่ารายละเอียดของแบบสถาปัตยกรรมและธรรมชาติรอบข้าง.
ฉากเหตุการณ์พระแม่รับสาร ในแบบของจิตรกรรมกระจกสี
ก็มีรายละเอียดไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะได้แทรกภาพของซาตานในร่างของงูที่พันรอบต้นไม้ต้นหนึ่งตรงกึ่งกลางภาพ. ตรงโคนต้นเห็นหัวของซาตานหน้านิ่วคิ้วขมวด
ปากก็ร้องส่งเสียงด้วยความเจ็บปวด(คือปวดร้าวใจที่พระเยซูจะจุติมาเกิดบนโลกมนุษย์เพื่อไถ่บาปให้มนุษย์
เท่ากับซาตานจะมีเหยื่อน้อยลง). การแทรกภาพของซาตานดังกล่าว จึงเท่ากับการโยงเชื่อมเหตุการณ์ในคัมภีร์เก่ากับคัมภีร์ใหม่
เน้นการสืบทอดและความต่อเนื่องของลัทธิศาสนา.
นอกจากหน้าต่างกระจกสีที่เล่าเหตุการณ์ในคัมภีร์แล้ว
ยังมีหน้าต่างกระจกสีลวดลายพืชพรรณในธรรมชาติ
ที่เป็นรูปลักษณ์เฉพาะของศิลปิน Morris.
ยังมีหน้าต่างกระจกสีลวดลายพืชพรรณในธรรมชาติ
ที่เป็นรูปลักษณ์เฉพาะของศิลปิน Morris.
ในหัวข้อนี้ ได้ยกตัวอย่างผลงานในกระแสศิลป์ Art nouveau ในประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่
ในประเทศยุโรปอื่นๆก็มีกระแสนี้ แต่ไม่โดดเด่นเท่า. กระแส Art nouveau ที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดคือในประเทศออสเตรีย
มีศูนย์ศิลป์กระแสนี้ที่หอศิลป์ Secession ในกรุงเวียนนา (ที่ตั้ง > Vienna Secession, Friedrichstraße 12, 1010 Vienna, Austria. Tel.: +43/1/587 53 07)
เนื่องจากเคยเขียนเกี่ยวกับหอศิลป์ที่นั่นแล้ว จึงนำลิงค์มาลงสำหรับผู้สนใจ ติดตามเข้าไปดูตัวอย่างได้ที่นี่ >>
---------------------------------
คำต่อไปที่ A-8 Automata, Avenue, Aviary, Axial.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/01/a-8-aviary-axial.html
เมนูหนังสือ
ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html
Comments
Post a Comment