Alpine garden (สวนอัลไพน) มาจากชื่อเฉพาะ Alps ที่เป็นเทือกเขาสูงและยาว ทอดไปในประเทศสวิสเซอแลนด์
ฝรั่งเศส ออสเตรียและอิตาลี. คำ alpine เป็นคำคุณศัพท์ของคำนาม Alps. ต่อมาคำ alpine ในที่สุดหมายถึงที่เกี่ยวกับเทือกเขาสูงๆ
ไม่จำเป็นต้องเป็นเทือกเขา Alps เท่านั้น.
สวนอัลไพนในเทือกเขา Alps มีพืชพรรณทุกประเภทที่เกิดบนเขาในพื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่
1500 เมตรขึ้นไป (มีหลายชนิดเหมือนกันที่ขึ้นในที่สูงประมาณ 600 เมตร) ที่ราบสูงในสก็อตแลนด์ที่มีภูมิประเทศและภูมิอากาศใกล้เคียงกับระบบนิเวศบนเทือกเขาแอลป์
จึงมีพันธุ์ไม้จากภูเขาสูงในธรรมชาติหลายพันธุ์.
ส่วนสวนอัลไพนที่เนรมิตขึ้นภายในสวน อุทยาน
หรือสวนพฤกษศาสตร์นั้น หมายถึงสวนที่ปลูกพืชพรรณที่นำมาจากเขตเทือกเขา
Alps (ในความเป็นจริง มีพืชพรรณอื่นๆปลูกปะปนอยู่ด้วย) โดยปกติ
มักเน้นนำพืชพันธุ์ดอกมาปลูกเพาะเลี้ยงภายในเรือนกระจก. สวนอัลไพนมักมีหินเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อสร้างระบบนิเวศให้ใกล้เคียงกับลักษณะหินผาในเทือกเขาแอลป์. หินช่วยให้รากกักความชื้นไว้และทำให้ใบแห้ง. ปกติพืชพรรณไม้ดอกจากเทือกเขาแอลป์ เป็นพรรณไม้เปราะบาง
ต้นเล็กๆ เกือบติดดิน
ส่วนต้นไม้ก็เป็นไม้ยืนต้น ใบเขียวตลอดปีเช่นพันธุ์สน. ดอกไม้ที่แลดูเปราะบางจากเทือกเขาสูงเป็นสิ่งที่ประทับจิตประทับใจของชาวตะวันตกมาก
เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้
สามารถปรับตัวยืนยงคงชีพต่อสู้กับความหนาวยะเยือกได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ. นี่เองที่สยบใจคน การนำมาเพาะเลี้ยงในสวนพฤกษศาสตร์มีส่วนกระตุ้นจิตสำนึกของคนให้อนุรักษ์ความงามของเทือกเขาสูงๆไว้.
เทือกเขาทั้งหลายจะเหลืออะไรหากไม่มีดอกไม้เปราะบางพวกนี้ที่โผล่ออกมาในฤดูใบไม้ผลิ
ให้แสงสว่างแก่เนินเขาและโปรยยิ้มแก่โลกเบื้องล่าง. บนเนินดอกไม้ป่าบนเขานั้น ดูเผินๆเหมือนดอกไม้ป่าที่มีในทุ่งระดับพื้นดิน ลักษณะรูปร่างและสีสันก็คล้ายๆกันมาก แต่ต้นที่ขึ้นในทุ่งหญ้าระดับพื้น
ไม่อาจนำขึ้นไปปลูกบนเทือกเขาสูงได้
สภาพชีวเคมีภายในของมันไม่เหมือนกัน
มันต้องการเวลาปรับตัวนานหลายชั่วอายุของมันกว่าจะขึ้นไปงอกเงยบนเขาสูงได้.
ภาพทั้งสอง จาก Alpengarten
(สวนอัลไพน) บนเขา
Schnyge Platte [ฉฺนีเกอ แพล็ตเตอ] ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 1.967 เมตร เป็นส่วนหนึ่งบนเทือกเขาแอลป์ส่วนที่อยู่ในประเทศสวิตเซอแลนด์ ไม่ไกลจากเมือง Interlaken [อิ๊นเทอลาเขิ่น]
ไปเห็นดอก Edelweiss บนภูเขานั้น เลยนำมาลงให้เห็นชัดๆ
ว่ากลีบดอกหนา มีขนเล็กๆปกป้องมันดีมาก
สองภาพนี้จากอุทยาน Harlow Carr [ฮ่ารฺโหลว่ คารฺ] เป็นเรือนกระจกอภิบาลพืชพรรณที่ขึ้นตามเนินเขาสูงหรือจากแถบขั้วโลกที่อาร์คติก.
พืชพรรณจากภูเขาสูงมักเติบโตระหว่างหลืบหิน ดินน้อย ทนทานต่อแสงแดดร้อนจัดในฤดูร้อนและอุณหภูมิต่ำในฤดูอื่น. เมื่อหิมะตกปกคลุมพืชพรรณเนินเขา เหมือนผ้าห่มคลุมรักษาอุณหภูมิใต้ดินไว้ทำให้รากไม่ตายไป
อย่างไรก็ดีพืชพรรณหลายชนิดมิอาจทนความชื้นได้.
เรือนอภิบาลแบบนี้ปกป้องพืชจากความชื้นในขณะเดียวกันก็รักษาอุณหภูมิภายในให้หนาวเย็นและมีลมถ่ายเทเสมอ.
พืชพรรณจากภูเขาสูงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับสวนขนาดเล็กเพราะปลูกง่าย
การสร้างสภาพนิเวศที่เหมาะสมกับมันก็ไม่ยากนัก. พืชพรรณที่นำมาแสดงไว้ในเรือนนี้
ปลูกในที่เฉพาะอีกแห่งหนึ่ง แล้วนำออกมาตั้งแสดงเมื่อมันเติบโตสวยที่สุด. เมื่อดอกไม้ร่วงโรยลงก็เปลี่ยนนำกระถางดอกไม้อื่นมาแทนที่ ทำให้ผู้มาชมสวนได้เห็นพืชพรรณสวยงามตลอดทั้งปีที่นี่. กระถางแต่ละกระถางถูกฝังให้จมลึกลงในทรายเพื่อให้รากพืชเย็นอยู่เสมอ. ภายในเรือนกระจกแบบนี้
ผู้ชมมีโอกาสมองเห็นพืชแต่ละชนิดอย่างใกล้ชิด
และชื่นชมความเปราะบางของพืชพรรณเหล่านี้ได้ในทุกฤดูกาล.
ตัวอย่างภาพพันธุ์ไม้ในเนินสูงและวิธีการเลี้ยงดูในเรือนกระจก กระถางฝังลึกลงในทราย เห็นขอบกระถางเท่านั้น. รากต้นไม้ต้องอยู่ในอุณหภูมิหนาวเย็นเสมอ. เห็นชัดว่าต้นไม้เหล่านี้ต้นเล็กๆเปราะบาง
ซึ่งไม่น่าจะเติบโตในที่อุณหภูมิต่ำๆได้.
เมื่อดูใกล้ๆมีความละเอียดทุกแง่ทุกมุม
ความงามมีในสรรพสิ่ง อยู่ที่เราจะรู้จักมองไหมเท่านั้น
ภาพดอกไม้ในแถบภูเขา
แม้หิมะจะปกคลุมพื้นดิน
พออุณหภูมิสูงขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ
ต้นไม้แสนเปราะบางเหล่านี้
ยังสามารถชอนไชทะลุชั้นหิมะขึ้นรับแสงแดดที่อบอุ่นขึ้น. ดอกไม้บนเขาเป็นสิ่งเตือนใจให้คนอุตสาหะวิริยะต่อสู้กับชีวิตด้วยความไม่ประมาทหรือลุ่มหลง
เพราะในที่สุดทุกชีวิตก็เป็นอนิจจัง แต่แม้ชีวิตแสนสั้น ดอกไม้ก็ไม่สิ้นความพยายามที่จะแสดงออกสิ่งที่สวยที่สุดของมันให้โลกรับรู้.
American garden คำ “สวนอเมริกัน” ดั้งเดิมหมายถึง สวนที่ปลูกพืชพันธุ์พื้นเมืองของทวีปอเมริกา(เหนือ) มักเป็นสวนแบบผสม (Mixed style garden) สวนอเมริกันเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 18. ยุคนั้นมีตระกูล Bartrams ในเพนซิลเวเนีย ที่ค้าขายต้นไม้และพืชพรรณต่างๆ โดยติดต่อส่งให้กับนาย Peter Collinson ผู้อยู่ที่ลอนดอน. เช่นนี้ทำให้อังกฤษได้พันธุ์ไม้จากอเมริกาเป็นจำนวนมาก พร้อมบริการมหาเศรษฐีเจ้าของที่ดินและนักออกแบบบ้านและสวน. พืชพรรณจากอเมริกาเช่นต้นไม้จำพวกสน (conifers), ต้นไม้จำพวก rhododendrons, magnolias, azaleas, ต้นทิวลิปและพันธุ์ liquidambars เป็นต้น. Humphry Repton นักออกแบบสวนชาวอังกฤษ ได้ออกแบบสวนอเมริกันหลายแห่งในประเทศอังกฤษ เช่นที่ Ashridge และที่
Woburn Abbey. ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1840 เป็นต้นมา คำ “สวนอเมริกัน”
มีความหมายขยายไปรวมพื้นที่เพาะปลูกต้นไม้จากแดนต่างๆทั่วโลก เป็นต้นไม้ประเภทที่ชอบดินเปรี้ยว
ไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องไปจากทวีปอเมริกาเหนือ.
จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 สวนในทวีปอเมริกาและโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้น เนรมิตขึ้นตามค่านิยมของชาวยุโรป
เป็นสวนแบบอังกฤษ อิตาเลียนหรือฝรั่งเศส. เมื่อชาวยุโรปรุ่นแรกไปตั้งถิ่นฐานในทวีปอเมริกาเหนือ จึงสร้างสวนตามแบบที่พวกเขาได้เรียนได้เห็นมาในยุโรป. สถาปนิกสวนอเมริกันรุ่นต่อมาก็ศึกษาการออกแบบสวนจากหนังสือยุโรป. จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 เท่านั้น ที่สถาปนิกสวนชาวอเมริกันเริ่มมีความคิดและอุดมการณ์ที่เป็นแบบฉบับของตนเอง. ในตอนนั้นภูมิสถาปัตยกรรมเริ่มขึ้น เป็นแบบสวนโดดเด่น เป็นเอกเทศอย่างถาวรในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งเท่ากับทำให้เกิด “ภูมิสถาปนิก” (landscape
architect) ขึ้น. ตั้งแต่นั้น ภูมิสถาปัตย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการสร้างสรรค์สวนในสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดมากกว่าประเทศอื่นใด
เพราะสวนหรืออุทยานเป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อสาธารณชน. ภูมิสถาปนิกชาวอเมริกันหลายคนเป็นผู้นำด้านการวางผังเมือง. ประธานาธิบดีอเมริกันสองคน (George Washington และ Thomas Jefferson) ก็มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาและการเผยแพร่ค่านิยมเกี่ยวกับสวน
ต้นไม้พืชพรรณในสหรัฐฯ
ในทำนองเดียวกับที่กษัตริย์ยุโรป
มีอิทธิพลต่อการออกแบบและการเนรมิตสวนในยุโรป. คฤหาสน์ที่พำนักของประธานาธิบดีทั้งสองคนนั้นเป็นตัวอย่างของสวนที่เนรมิตขึ้นสวนแรกๆในสหรัฐฯ. Mount Vernon Estate and Gardens ที่เคยเป็นที่อยู่ของประธานาธิบดี George Washington ตั้งอยู่ตอนใต้ของกรุงวอชิงตันดีซี เปิดให้เข้าชมตลอดทั้งปี ดูรายละเอียดได้ที่ www.mountvernon.org (The Estate > Gardens & Landscapes) และ Monticello ที่เคยเป็นที่อยู่ของประธานาธิบดี
Thomas Jefferson ตั้งอยู่ที่เมือง Charlottesville มณรัฐเวอจีเนีย ก็เปิดให้เข้าชมตลอดทั้งปี ดูรายละเอียดได้ที่ www.monticello.org (House & Gardens > Historic Gardens)
ทวีปอเมริกาเหนือมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล
มีแบบภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกันมากจากทิศเหนือถึงทิศใต้ หรือจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก พันธุ์ไม้ของท้องถิ่นจึงมีความหลากหลายที่สุด. นักล่าพืชพรรณชาวยุโรปต่างด้นดั้นไปในทวีปอเมริกาเหนือเพื่อหาพันธุ์ไม้แปลกๆใหม่ๆนำกลับไปปลูกในยุโรป
(ดูที่ plant hunter, plant
explorer).
สองภาพที่นำมาลง คือภาพส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเวอจีเนีย (Charlottesville
มณรัฐเวอจีเนีย) ที่โทมัส เจฟเฟอสัน(Thomas Jefferson ) ร่วมสถาปนาขึ้น. อาณาบริเวณของมหาวิทยาลัยเวอจีเนียทั้งหมดเป็นสวนอุทยานขนาดมหึมาที่น่าอภิรมย์ยิ่งนัก
ผู้ออกแบบตระหนักถึงอุดมการณ์ของการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการสร้างสวนที่เอื้ออำนวยต่อกันอย่างยิ่ง
ตามขนบของมหาวิทยาลัยใหญ่ๆในประเทศอังกฤษ.
Amphitheatre มาจากคำในภาษาอิตาเลียนว่า amfiteatro คำนี้มีความหมายหลายนัยดังนี้
1. เป็นแบบสวนแบบหนึ่ง
มีพื้นที่หญ้าตัดเรียบเป็นแนวและเป็นขั้นบันได เป็นบันไดตรงยาวเป็นหน้ากระดาน
หรือบันไดแบบโค้งตามลักษณะของอัฒจันทร์กรีก
อาจโค้งเป็นวงกลมหรือครึ่งวงกลม.
2. พื้นที่ลักษณะเว้าบุ๋มลงเป็นแอ่ง ต้นไม้ที่ปลูกจึงอยู่ต่างระดับต่างกัน.
3. ลักษณะการปลูกต้นไม้และพุ่มไม้ให้เป็นวงกลมบนพื้นที่ระดับเดียวกัน
แต่เป็นแถวที่มีความสูงลดหลั่นกัน โดยให้ต้นไม้ที่เติบโตสูงใหญ่ได้มากที่สุดอยู่เป็นวงรอบนอกสุด
และต้นไม้ที่เตี้ยกว่า ปลูกเป็นวงในลดหลั่นลงถึงวงในสุด. เช่นนี้แนวความสูงของต้นไม้ที่ลดหลั่นกัน จึงดูเหมือนสถาปัตยกรรมของอัฒจันทร์.
4. บริเวณเปิดกว้างสำหรับการแสดงกลางแจ้ง รับแนวการสร้างพื้นที่จากอัฒจันทร์กรีกคลาซสิก
แต่ไม่เป็นรูปลักษณ์แบบอัฒจันทร์กรีกก็ได้เช่นกัน.
5. สวนอัฒจันทร์อาจเป็นรูปลักษณ์ของที่ดิน
ที่เนรมิตขึ้นด้วยวิธีการปลูกต้นไม้ เช่นในข้อ 3 ข้างต้น หรือสร้างขึ้นด้วยการนำหินมาเรียงเป็นชั้นๆ ดังในข้อ 4.
Amphitheatre โรงละครแบบกรีกโรมันที่ยังเหลือให้เห็นอย่างสมบูรณ์มีหลายแห่งในโลก. ภาพนี้จากเมือง Efes [เอเฟ้ส] ประเทศตุรกี
โครงสร้างของเวทีละครดังกล่าว ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ. ความต้องการจำลองภาพลักษณ์ดังกล่าวเข้าไว้ในบริบทของสวนและอุทยาน
ทำให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์เวทีละครภายในสวนหรืออุทยานใหญ่ๆ โดยมีแบบแปลนเวทีต่างๆกันไปแล้วแต่พื้นที่จะอำนวย
(ดูภาพต่อไปข้างล่างนี้)
Amphitheatre ในภาพนี้ จากเมือง Fiesole [ฟีเอ้โซเล่] ในประเทศอิตาลี ในแคว้นฟลอเรนซ์. ทุกปียังคงมีการแสดงละครที่นั่น.
ภาพจากสวนของวิลลาแฮมิลตัน(Villa
Hamilton) ในบริเวณอุทยานเวอลิตส์ (Dessau-Wörlitz
Garden Realm) ที่เป็นอุทยานภูมิทัศน์แบบ “สวนอังกฤษ” แห่งแรกและแห่งที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นทวีปยุโรป
ครอบพื้นที่ประมาณ 142 ตารางกิโลเมตรในประเทศเยอรมนี. อัฒจันทร์ปูด้วยแผ่นหิน
บางตอนปูหญ้าให้ดูแปลกและต่างออกไป. สวนนี้ใช้เป็นที่นั่งพักผ่อนชมวิว
และชมการแสดงดนตรีในแต่ละโอกาส.
สวนวิลลาแฮมิลตันสร้างขึ้นเป็นเกาะกลางแม่น้ำ
เมื่อมองจากที่สูงเห็นทัศนียภาพโดยรอบกว้างและไกล. เป็นหนึ่งในวิลลาน้อยแห่งในเยอรมนีที่มีทัศนียภาพของสวนไกลถึงเพียงนี้. อุทยานเวอลิตส์ รวมอยู่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่มีชื่อเรียกเป็นทางการในภาษาอังกฤษว่า
อาณาจักรสวนแห่งเดสเซา-เวอลิตส์ (The Garden Kingdom of Dessau-Wörlitz) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกในปี
2000 ประเภทภูมิทัศน์เชิงวัฒนธรรม.
สองภาพนี้จากอุทยาน Hidcote [ฮิดเขิด]
(Hidcote Batrim, Gloucestershire GL55 6LR) ประเทศอังกฤษ. มุมหนึ่งของสวน เป็นสนามหญ้าผืนยาวและกว้าง สุดพื้นที่ด้านหนึ่ง
สร้างยกขึ้นให้เหมือนเวทีละครทรงกลม มีกำแพงต้นไม้ล้อมรอบ
คนสามารถเดินอ้อมพื้นที่นี้ได้.
บนเวทีธรรมชาตินี้ ปลูกต้นไม้เป็นกลุ่มอยู่ตรงกลาง. ต้นไม้ที่ปลูกนั้นทำหน้าที่เหมือนผู้แสดง. สุดพื้นที่อีกด้านหนึ่ง
มีม้านั่งให้นั่งพักผ่อนอยู่สี่ห้าตัว
หันสู่เวทีธรรมชาติ.
สนามหญ้าเขียว (lawn) ยิ่งกว้างใหญ่ ยิ่งเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของสวน.
สองภาพนี้จากสวน
Giardino di Boboli [จีอารฺดี๊โน ดี โบ๊โบลี] ในเขตพระราชวัง
Palazzo Pitti [ปาลัสโซ ปิ๊ดตี้] เมืองฟลอเรนซ์
ประเทศอิตาลี.
เป็นที่แสดงละครกลางแจ้งด้านหลังของอาคารพระราชวัง. ในภาพซ้ายเห็นประติมากรรมน้ำพุขนาดใหญ่ประดับบนเทอเรสที่ยื่นออกมาสู่บริเวณ
amfiteatro ของพระราชวัง.
มีที่นั่งหลายชั้นบนอัฒจันทร์ที่โอบรอบบริเวณเป็นครึ่งวงกลม. แถวบนของอัฒจันทร์มีซุ้มหินเป็นแอ่งลึกเข้าเป็นระยะๆ ภายในมีรูปปั้นตั้งประดับอยู่ (ดูที่คำ niche). เวทีคือสนามหญ้าเรียบๆไม่มีอะไรประดับตรงกลาง
มีอ่างหินแบบอ่างอาบน้ำขนาดใหญ่ประดับ พร้อมกับเสาหินโอเบลิซก์สีชมพูๆ. เน้นนัยของการสืบทอดวัฒนธรรมโบราณมาถึงปัจจุบันและสื่ออำนาจของผู้เป็นเจ้าของ. ลักษณะการจัดพื้นที่ตรงกับความคิดเรื่องเวทีตามขนบที่สืบมาจากกรีซโบราณ
นั่นคือการมีพื้นที่เปิดโล่งกว้าง มีที่นั่งเป็นแถวๆ.
-----------------------------------------------
-----------------------------------------------
ต่อ A-3 Apiary, Approach, Aqueduct.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/01/a-3-apiary.html
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/01/a-3-apiary.html
เมนูหนังสือ
ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html
Comments
Post a Comment