B-4 Border

Boathouse  คือโรงเก็บเรือ ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบหรือริมแม่น้ำ. บางแห่งสร้างเป็นอาคารสวยงามทีเดียว และกลายเป็นจุดดึงสายตาไปด้วย เช่นที่คฤหาสน์ Wilton House (เมือง Salisbury ประเทศอังกฤษ). ในฝรั่งเศสไม่มีอาคารสำหรับจอดเรือ (ในญี่ปุ่นอาคารที่พักเรือนับว่าเป็นองค์ประกอบของสวนอย่างหนึ่งเพราะจะอยู่ติดกับเรือนกลางน้ำ ที่เป็นอาคารเด่นของสวนญี่ปุ่น). สวนอังกฤษที่ตั้งริมฝั่งแม่น้ำ มีอาคารจอดเรือด้วยเช่นที่ Blenheim Palace.
จากสวน Wilton House (ใกล้เมือง Salisbury ประเทศอังกฤษ)  ที่นั่นสร้างอาคารจอดเรืออย่างเฉพาะเจาะจง ให้เป็นสิ่งประดับริมลำธาร. 
อาคารเรือในธารน้ำภายในสวน Pazo de Oca คฤหาสน์ตัวอย่างของแถบ Galicia (Galician manor house) ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน (ตำบล Estrada, Pontevedra แคว้น Galicia สเปน). สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่13. สวนที่เห็นในปัจจุบันคือที่บูรณะขึ้นในศตวรรษที่17.  ประกอบด้วยสระน้ำใหญ่ๆ กลางสระน้ำใหญ่ที่สุด มีเกาะเล็กๆเป็นรูปเรือลอยอยู่ในน้ำ ประดับด้วยรูปปั้นกะลาสีอยู่หัวเรือคนท้ายเรือคน มีกระถางต้นไม้บนเรือ เหมือนว่าเรือลำเลียงต้นไม้มาขึ้นสวนที่นี่. ดังภาพข้างล่างนี้
ภาพนี้จากเพจ Turismo Rías Baixas.
สองภาพข้างล่างนี้จากอุทยาน Stourhead (เมือง Stourton ในเทศมณฑล Wiltshire ประเทศอังกฤษ).
ครึ่งวงกลมที่เห็นในภาพ เหมือนถ้ำริมน้ำ เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ คือถ้ำจอดเรือนั่นเอง. วิธีการสร้างที่จอดเรือในภูมิทัศน์อย่างนี้ ทำให้ที่จอดเรือกลายเป็นจุดดึงดูดสายตา. โรงเก็บเรือแทรกเข้าไปในภูมิประเทศได้อย่างเหมาะเจาะ. อาคารแบบโรมันที่เห็นคือ Temple of Flor (วิหารอุทิศให้เทพธิดาแห่งดอกไม้).
ถ้ำจอดเรือที่ Stourhead Landscape Garden (เนรมิตขึ้นระหว่างปี 1741-1765) เป็นตัวอย่างสุดยอดของอุทยานภูมิทัศน์ในอังกฤษ. ผลงานของ Henry Hoare II และ Henry Flitcroft.

Bog garden คำนี้เคยใช้เรียกสวนในบริเวณหนองหรือบึง พื้นที่ชื้นแฉะเสมอและปลูกไม้พันธุ์น้ำ.

Bog plant  คือพืชพรรณที่ขึ้นในดินชื้นแฉะหรือพืชอุ้มน้ำ แต่ไม่ขึ้นในน้ำโดยตรง.

Bollard  เป็นเสาตรงไม่สูงมาก อาจเป็นเสาทองสัมฤทธิ์ เสาไม้ เสาหินหรือเสาคอนกรีต  มักจัดทำเป็นชุดตั้งวางไว้เป็นแนว บางทีก็มีโซ่เชื่อมต่อกันทุกเสา. จุดมุ่งหมายในการทำเสาพวกนี้เพื่อกันพื้นที่มิให้คนหรือรถผ่านเข้าไปในบริเวณนั้น.
ตัวอย่างของเสากั้นเขตหวงห้าม (bollard) จากอุทยาน Longleat (เมืองWarminster ประเทศอังกฤษ) ที่นั่นเป็นหนึ่งในสวนน้อยแห่งของอังกฤษที่ห้ามคนเข้าไปเดินภายในบริเวณสวนหลายห้องหลายหย่อม ทำให้ไม่อาจชื่นชมภาพรวมของพื้นที่และแบบแปลนของสวนหลายแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของอุทยาน Longleat.  ให้สังเกตการปลูกและตัดพุ่มไม้เตี้ยๆที่ปิดคลุมพื้นดินทั้งผืนในสวมหย่อมนี้ ปิดโคนต้นไม้ ต้นไม้ที่โผล่ขึ้นยังตัดเล็มเป็นทรงกลมๆรีๆ. ต้นไม้จึงกลายเป็นสิ่งประดับพุ่มไม้. ไม่เคยเห็นการปลูกสวนแบบนี้ที่อื่น.
อีกตัวอย่างหนึ่งของเสากั้นวางบนถนนห้ามรถผ่านภายในอุทยาน Duthie Park
(เมือง Aberdeen ในสก็อตแลนด์)

Bolting เรียกปรากฏการณ์ของพืชพรรณที่ให้ดอกและเมล็ดก่อนกำหนด.

Bonsai เป็นคำในภาษาญี่ปุ่น ที่มาจากคำจีน 盆景-penjing หมายถึง สวนในถาด. พืชพรรณที่ปลูกในความจำกัดของพื้นที่(ของถาดๆหนึ่ง) เติบโตสวยงามได้ มีสมรรถภาพทางชีวเคมีและวงจรชีวิตเหมือนพืชพรรณขนาดปกติในธรรมชาติ เพียงแต่มีขนาดย่อส่วนลงเท่านั้น. พืชพรรณที่ปลูกในถาด อาจเป็นไม้ยืนต้น เช่นพันธุ์สน เป็นไม้ผลหรือไม้ดอกเช่น ต้นเชอรี ต้นกุหลาบพันปี. สวนใหญ่ๆในยุโรป สมัยนี้ชอบจัดมุมหนึ่งของสวนเป็นสวนญี่ปุ่นหรือสวนจีน. บางทีก็มีมุมสวนกระถางบ็องไซจำนวนหนึ่งด้วย.
ดูต้นบ็องไซไม้ดอกที่บานสะพรั่งจนดอกเบียดเสียดกันแน่น ตามรสนิยมสมัยใหม่.  
ภาพจากนิทรรศการบ็องไซแห่งหนึ่งที่ไปเห็น (ไม่ปลื้มนักกับแบบนี้ เลยไม่ได้จดที่มา).
ภาพจากอุทยานปราสาท Ludwigsburg ที่มีมุมหนึ่งจัดเป็นสวนญี่ปุ่น และมุมหนึ่งเป็นที่อภิบาลต้นบ็องไซ จัดเรียงเป็นกระถางๆเด่นทุกกระถาง เห็นฝาแนวกั้นพื้นที่ใช้ไม้ไผ่ซี่เล็กๆมัดและตรึงเข้าเป็นผืน ตามแบบที่ทำกันในญี่ปุ่น.
ผู้สนใจหาความรู้เกี่ยวกับ Bonsai อาจติดตามไปอ่านเรื่องราวที่ข้าพเจ้าได้รวบรวมไว้ในหัวข้อว่า “เจาะสามมิติเรื่องบ็องไซ” ที่แยกเป็นสามบทดังนี้
A. กำเนิดและวิวัฒนาการของศิลปะบ็องไซในญี่ปุ่น  พิพิธภัณฑ์บ็องไซที่โอ๊มิยะ
B. บ็องไซคืออะไร ทำไมบ็องไซ ประเภทและรูปลักษณะของต้นบ็องไซ
C. บ็องไซในปรัชญาและสุนทรีย์ของญี่ปุ่น      

Border  คำนี้แปลว่า ขอบ ใช้เรียกพื้นดินแคบที่ขนานตามแนวยาวของกำแพงหรือรั้วแบบใดแบบหนึ่ง  มักปลูกไม้พุ่มไม้ดอกพันธุ์ต่างๆไว้. ส่วนใหญ่นิยมประเภทที่ให้ดอกสีสดสวยหรือมีใบสีสวยหรือลักษณะสะดุดตา. สวนเลียบทางเดินสมัยวิคทอเรีย เรียกว่า ribbon border นิยมปลูกพันธุ์ไม้(หลายพันธุ์)ที่ให้ดอกไม้สีเดียวกันหรือสีใกล้เคียงกันไปโดยตลอด เช่นเป็น Border สีเหลือง สีฟ้า หรือสีม่วง. ในสมัยศตวรรษที่19 และ 20 หันมานิยมให้ขอบสวนรวมพันธุ์ไม้หลากหลายสี หรือสีสดตัดกัน. วิธีการปลูกก็อาจจัดเป็นกลุ่มให้มีความหนาทึบเป็นหย่อมๆต่างกัน. รวมทั้งการจัดระดับความสูงต่ำของต้นไม้จากขอบด้านนอก เข้าด้านในจนชิดกำแพงหรือรั้ว ให้มีระดับต่างๆกันไปด้วย. วิธีการปลูกสวนเลียบทางเดินแบบต่างๆในยุคปัจจุบัน มีผลกระทบต่อภาพรวมของสวนที่โดนใจผู้ชมมากหรือน้อย. 
จากสวนในบริเวณพิพิธภัณฑ์งานศิลป์อเมริกัน (Musée d’Art Américain เมือง Giverny ประเทศฝรั่งเศส) ไม่ไกลจากบ้านและสวนของจิตรกรโมเนท์. แสดงวิธีการสร้างสรรค์สวนดอกไม้บนพื้นที่ยาวมากกว่ากว้าง สวนเลียบทางเดินที่นั่นติดกำแพงหินด้านหนึ่ง ปลูกพันธุ์ไม้เลื้อยปิดตลอดกำแพง และจัดเป็นแปลงดอกไม้บนพื้นชิดกำแพง  กลายเป็นสวนแนวยาวเลียบกำแพงที่สวยงามน่าทึ่งมาก จัดปลูกเป็นสีเด่นๆ เป็นกำแพงดอกไม้สีชมพู สีเหลืองทอง สีฟ้าม่วงเป็นต้น.
จากสวน Pitmedden Garden (เมือง Ellon ในเทศมณฑล Aberdeenshire สก็อตแลนด์) เห็นแนวการเนรมิตแปลงดอกไม้ติดกำแพงที่สวยงามมากเช่นกัน. ติดกำแพงสวนยังปลูกต้นไม้ผลเช่นต้นแอปเปิล ต้นแพร์ และจัดกิ่งให้แผ่ออกไปบนกำแพง เป็นวิธีที่ทำกันมาหลายร้อยปีแล้ว. อาคารหลังเล็กที่เห็นตรงมุมสวน เรียกว่า gazebo เป็นคำที่กร่อนมาจากคำละตินหมายถึง “I shall gaze” นั่นคือจากตรงนั้นจะมองเห็นสวนได้เต็มตา (ดูที่คำ gazebo)
ภาพจากอุทยาน Leeds Castle (Kent ประเทศอังกฤษ) แสดงให้เห็นการจัดขอบแปลงดิน ด้านขวาเป็นสันเนินที่เหมือนกำแพงกั้นทางเดินนั้น ส่วนด้านซ้ายเป็นเนินพื้นหญ้าที่ลาดลงสู่แม่น้ำข้างล่าง. ทางเดินบนไหล่เขาเป็นที่ปลูกดอกไม้ได้สวยเช่นกัน. ขอบทางเดินใช้หินก้อนใหญ่วางเรียงกัน หรือบางทีไม่เห็นขอบชัดเจนเพราะต้นไม้งอกเติบโตล้ำออกมาบนทางเดิน. สวนอังกฤษนิยมให้เป็นแบบนี้. การยื่นล้ำออกไปบ้าง แสดงจิตวิญญาณที่อิสระ หรือโยงไปถึงอุปนิสัยใจคอ อารมณ์คนที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล. 
แปลงดอกไม้เลียบทางเดินที่ Blair Castle, Perthshire, UK.  
ท้องฟ้าพร้อมเมฆครึ้มๆมีส่วนสร้างความประทับใจอย่างมากเมื่อไปชมสวนอังกฤษ.
จากอุทยานที่ Wilton House (Salisbury ประเทศอังกฤษ) แปลงดอกไม้ปลูกติดกำแพง. ทางที่เห็นเป็นเส้นแกนสำคัญของพื้นที่ ขอบทางเดินชัดเจนเป็นแบบแผน เพราะตัดผ่านด้านหน้าของคฤหาสน์ และสุดทางที่เห็นไกลๆ มีสะพานที่เป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่งของอุทยาน. 

Bosco เป็นคำภาษาอิตาเลียน อ่านว่า [บ๊อซโก้] หมายถึงสวนป่าที่มีทางเดินชัดเจนภายใน. มักเป็นป่าต้นไม้ยืนต้นและใบเขียวตลอดปี เช่นป่าสน ป่าต้นโอ๊ค. เป็นที่ร่มรื่น เป็นแบบสวนอิตาเลียนที่เริ่มขึ้นในยุคเรอแนสซ็องส์ และเป็นแบบของสวนป่าของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา.
ในภาษาอิตาเลียนมีคำ boschetto [บ้อซเก๊ต-โตะ] ใช้หมายถึงป่าขนาดเล็ก ที่ไปเป็นคำ bosquet [บ๊อซเก้] ในภาษาฝรั่งเศส และเทียบได้กับคำ grove ในภาษาอังกฤษ. วิธีการจัดสวนป่า บางทีผู้สร้างต้องการสร้างบรรยากาศแบบขรึมและเล้นลับตามค่านิยมที่สืบทอดมาจากตำนาน หรือต้องการให้เป็นป่าโปร่ง มีบริเวณโล่งสว่างสลับร่มเงาใต้ต้นไม้ใหญ่.
ตัวอย่างสวน Sacro Bosco (Bomarzo ประเทศอิตาลี) สร้างตามแบบป่าศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Grove) ที่สืบทอดจากขนบการสร้างวัดในอีจิปต์โบราณ. สวนนี้แปลกกว่าสวนใดในอิตาลี เจ้าของคือ Pier Francesco Orsini ได้ให้สร้างขึ้นในศตวรรษที่16 เมื่อภรรยาถึงแก่กรรมเหมือนเป็นทางออกของความโศกสลดของเขา. เขาให้เนรมิตประติมากรรมขนาดใหญ่กว่าความจริง แบบแปลกๆทั้งสัตว์ คน เทพเทวี นางไม้ ผลไม้ บ้านเอียงๆเป็นต้น จนคนทั่วไปเรียกว่า เป็น Park of monsters. ไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมสวนจึงออกมาในรูปนั้น ไม่มีใครสัมผัสว่าสวนที่นั่น “ศักดิ์สิทธิ์”ตรงไหน ทำไมต้องเป็นประติมากรรมที่แปลกประหลาดถึงเพียงนั้น. ชัดเจนว่าเจ้าของไม่ประสงค์ให้สวนสวยเป็นที่พอใจผู้คนที่ได้เห็น แต่ต้องการให้คนที่เห็นตื่นตะลึง(นักวิจารณ์ศิลป์มองว่า เป็นศิลปะกระแส Mannerism). มีจารึกบนเสาโอเบลิซก์ในสวนนั้นประโยคหนึ่งว่า sol per sfogare il Core ในความหมายว่า เพื่อปลดปล่อยจิตใจให้อิสระ.
ภาพยักษ์อ้าปากกว้าง พร้อมจะกินคนจากสวน Parco dei Mostri (Park of Monsters) เมือง Bomarzo อิตาลี, ของ Alessio Damato (Own work) ถ่ายไว้เมื่อ สิงหาคม 2008. [GFDL (http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html)], via Wikimedia Commons.

Bosquet เป็นคำฝรั่งเศส อ่านว่า [บ๊อซเก้] ในความหมายเดียวกับคำว่า Bosco ข้างบน. ต้นไม้ที่ปลูกมักจัดให้เป็นกลุ่มอยู่ด้วยกันอย่างหนาแน่น ใช้พันธุ์เดียวกันทั้งหมด อาจปลูกล้อมรอบบริเวณป่านั้น โดยเหลือพื้นที่โล่งตรงกลางสำหรับสระน้ำ หรือน้ำพุ หรือประติมากรรมเป็นต้น. บางทีตัดทางเดินภายในผ่านเข้าไปในป่าไม้แบบนี้. ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในการเนรมิตบ๊อซเก้ เห็นภายในพระราชอุทยานแวรซายส์. มีทางเดินตัดผ่านเข้าไปในบ๊อซเก้แต่ละแห่ง เป็นเส้นทางตัดกันเป็นรูปห้าเหลี่ยม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยมเป็นต้น.
ภาพแผนผังพื้นที่สวนในพระราชอุทยานแวรซายส์ เป็นแผนผังเก่า เพราะฉะนั้นจึงไม่เหมือนกับผังในยุคปัจจุบันเลยทีเดียว มีการเปลี่ยนแปลงบูรณะสภาพพื้นที่ภายในห้องสวนที่กระจายออกสองข้างแกนหลักของพื้นที่. โดยทั่วไปที่ตั้งของห้องสวนต่างๆยังคงอยู่ที่เดิมจนถึงทุกวันนี้. ที่นั่นใช้คำบ๊อซเก้-bosquet เรียกแต่ละห้องสวนเพราะเป็นป่าเล็กๆ มีขนาดใหญ่กว่าคำห้องสวน”(ศัพท์ที่ใช้เรียกห้องสวนในภาษาอังกฤษว่า room ดูที่คำนี้). พื้นที่หมายเลข 9 ใช้ชื่อว่า Salle des Marronniers. คำว่า salle [ซาลฺ] อาจเทียบกับคำว่าhallในภาษาอังกฤษ เมื่อดูพื้นที่ของสวนหมายเลข 9 เห็นว่าพื้นที่เป็นแนวยาวมากกว่ากว้างจึงเหมือนห้องโถงใหญ่ในอาคาร. ตัวอย่างของ bosquets ดังที่เห็นในแผนผังนี้
1. Bosquet de l’Arc de Triomphe  2. Bosquet des Trois Fontaines  3. Bosquet des Bains d’Apollon  4. Bosquet des Rocailles  5. Bosquet de la Reine (พื้นที่ส่วนนี้ในปัจจุบันเรียบง่ายกว่าผังที่เห็นมาก)  6. Bosquet de l’Etoile  7. Bosquet des Dômes  8. Bosquet de la Colonnade.    

Bostan / Bustan เป็นคำในภาษาเปอเชีย หมายถึง สวนผลไม้.

Botanic garden มาจากคำกรีก botanikos คือสวนเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับต้นไม้  เพื่อจัดทำคำอธิบายประกอบ จัดแยกประเภท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิทยาการทางชีววิทยา เรียกสวนแบบนี้ว่าสวนพฤกษศาตร์.   
    ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปลายศตวรรษที่19 พฤกษศาสตร์เป็นแขนงหนึ่งของแพทย์ศาสตร์ เพราะจนถึงศตวรรษที่12 คนแบ่งพืชพรรณตามคุณสมบัติหรือสรรพคุณในการเยียวยารักษา. คนมองพืชพรรณว่าเป็นอาหารหรือยา. สวนที่มีจนถึงยุคนั้นจึงเป็นสวนครัวหรือสวนสมุนไพร. 
     ผลพลอยได้ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนจากการที่ชาวยุโรปเดินทางไปทำสงครามครูเสดในเอเชียตะวันออกกลางในศตวรรษที่12 คือมุมมองใหม่เกี่ยวกับพืชพรรณ ว่าพืชพรรณให้ความร่มเย็น ว่าความงามของดอกไม้เป็นสิ่งที่เพิ่มคุณภาพชีวิต ว่าสวนเอื้อต่อการคิดตรึกตรองและการเรียนรู้. ตั้งแต่นั้นชาวยุโรปตื่นตัวและใฝ่หาความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณ สนใจสังเกตพืชพรรณและเริ่มสะสมพืชพรรณทั้งเพื่อความบันเทิงและเพื่อการเรียนรู้. ตั้งแต่ศตวรรษที่15 เป็นต้นมา การเดินเรือสำรวจและการค้นพบแผ่นดินใหม่ คือการค้นพบพืชพรรณใหม่ๆด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้นำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ที่กลายเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งในที่สุด.  
     สวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกๆของโลก เช่นในอิตาลีที่เมือง Pisa (1544), Padova (1546) และ Bologna (1548). ในฝรั่งเศสที่เมือง Montbéliard (1578), Montpellier (1597) และ Paris (1626). ในอังกฤษเช่นที่เมือง Oxford (1621), Edinburgh (1670), Kew (1840 ชานเมืองลอนดอน) เป็นต้น. สวนพฤกษศาสตร์สมัยปัจจุบันมีขนาดใหญ่และรวมแบบสวนหลายชนิดและหลายสไตล์ นอกจากต้นไม้ใหญ่ๆจำนวนมาก เป็นสถานที่สำหรับครอบครัว สำหรับทุกผู้ทุกนาม เป็นที่พักพิง เป็นปอดวิเศษของชาวเมือง.
แผนผังปัจจุบันของสวนพฤกษศาสตร์ Botanical Garden ที่กรุงแบร์ลิน. ภาพจากพิพิธภัณฑ์ Der Königlische Botanische Garten und das Königliche Botanische Mueum zu Dahlem,1909. [Public domain], via Wikimedia Commons. เป็นสวนที่น่าเดินชมมากที่สุดสวนหนึ่ง.(106.25 เอเคอร์)
สวนอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งคือ Brooklyn Botanic Garden ที่ New York สหรัฐอเมริกา (52 เอเคอร์). ที่นั่นต้นไม้ดอกต้นใหญ่ๆอายุมาก กิ่งก้านสาขาทอดไปไกล ยามฤดูใบไม้ผลิดอกไม้บานสะพรั่งทั้งพื้นที่ เช่นบริเวณสวน Magnolia Plaza, Cherry Esplanade, หรือต้น Camellia (ในอาคาร Warm Temperate Pavilion). พื้นสวนปลูกทิวลิปและพันธุ์ประเภทหัว(bulbs) ทั้งหลายบานเต็มเป็นพรมยาวเหยียด. ลองคลิกไปดูเว็ปเพจที่นั่นได้เลย (https://www.bbg.org/collections/gardens).   
      สุดยอดของความสนใจในพฤกษศาสตร์ในสมัยใหม่ รวมกันอยู่ในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะเมื่อ Joseph Banks เดินทางกลับจากการสำรวจมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้พร้อมกัปตัน James Cook. เขาได้นำพืชพรรณ สัตว์ และสรรพสิ่งจำนวนมากมายที่พบเห็นจากดินแดนต่างๆบนเส้นทางกลับมาด้วย. Banks ได้ช่วยพระเจ้าจอร์จที่ 3 พัฒนาและบูรณะฟื้นฟูพระราชอุทยานที่ Kew และในที่สุดแปลงพระราชอุทยานแห่งนั้นเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก. จนถึงปัจจุบัน สวน Kew ยังคงเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่สำคัญที่สุด เป็นทั้งผู้นำและแบบอย่างของการศึกษาวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ ของการอนุรักษ์พืชพรรณของโลก และของการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม. สวนคิวยังมีหอศิลป์ (Marianne NorthGallery). ภายในบริเวณยังมีพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงานการวิจัยและออกแบบสวนของนักออกแบบรุ่นใหม่ๆอีกด้วย และเป็นที่ตั้งแสดงประติมากรรมสมัยใหม่ที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในสวนคิว(ที่จัดแสดงตามวาระต่างๆ). การจัดสรรค์พื้นที่อันกว้างใหญ่ในสวนคิวให้น่าอภิรมย์ พร้อมๆกับการให้ความรู้ ทำให้สวนคิวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนของทุกสมาชิกในครอบครัว. สรุปได้ว่า สวนคิวเป็นตัวอย่างของการจัดสวนพฤกษศาสตร์ตามเมืองอื่นๆทั้งในและนอกประเทศอังกฤษตั้งแต่ศตวรรษที่19. กรณีอังกฤษเป็นตัวอย่างสุดยอดจนเกือบพูดได้ว่า พืชพรรณมีส่วนทำให้อังกฤษสถาปนาเป็นจักรวรรดิที่แผ่ออกไปทุกทิศทาง จนมีคนพูดว่า ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกในจักรวรรดิอังกฤษ เพราะมีดินแดนอาณานิคมแผ่ไปทั่วทุกทิศ ไม่ว่าเวลาใดยามใดจะมีดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิที่อยู่ในภาคกลางวัน (“The empire on which the sun never sets” หรือ “the sun never sets on the British Empire”). ความหลากหลายของพืชพรรณที่มีในสหราชอาณาจักร เป็นผลโดยตรงจากการมีดินแดนไปทุกทิศ ทุกเขตภูมิอากาศและทุกแบบภูมิประเทศ.
สี่ภาพข้างล่างนี้จากหอศิลป์ Marianne North Gallery (ที่ Kew Garden ลอนดอน ประเทศอังกฤษ).
อาคารหอศิลป์ ผลงานออกแบบของ James Fergusson  
หอศิลป์นี้เปิดแก่สาธารณชนตั้งแต่วันที่ 9 เดือนมิถุนายน ปี1882.
พื้นที่นิทรรศการภายในหอศิลป์ มีภาพประดับปิดเต็มผนังห้อง เป็นภาพดอกไม้พร้อมอาคารสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละดินแดนในต่างประเทศและต่างทวีป ที่ Miss Marianne North ได้ด้นดั้นเดินทางไปเพื่อเก็บภาพดอกไม้พืชพรรณในบริบทธรรมชาติที่แท้จริงจากสถานที่จริงทั้งหมด (ระหว่างปี 1871-85) รวมผลงานภาพสีน้ำมันทั้งหมด 832 ภาพ.
ภายในหอศิลป์ มีรูปปั้นครึ่งตัวของ Miss Marianne North
                    สตรีสาวยุควิคตอเรียที่น่าทึ่งอย่างเธอ คงมีไม่กี่คน.                     
กลุ่มภาพจิตรกรรมจากเอเชีย ประเทศอินเดีย 
เห็นทัชมาฮัลในภาพจิตรกรรมภาพหนึ่ง.

ผู้สนใจเรื่องพฤกษศาสตร์ อาจตามไปอ่านเรื่อง “วิวัฒนการของพฤกษศาสตร์ในยุโรป ความรักพืชพรรณของชาวอังกฤษ” ได้ที่นี่ >> http://chotirosk.blogspot.com/2014/06/the-british-love-of-plants.html

----------------------------------------------
B-5 >> Boulingrin, Bower, Bract, Bridge, Broderie(Parterre), Brownian, Buffet d’eau, Bust, Buttress.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/01/b-5-bridge.html
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์

Comments