Chinese garden
สวนจีนหรืออุทยานจีน. คิดกันว่าชาวจีนมีสวนก่อนชนชาติใดในโลก. สวนแรกๆสร้างขึ้นแถบลุ่มแม่น้ำเหลือง ในสมัยราชวงศ์ Shang (商朝 ราวปี1600-1046
BC).
หลักการสร้างสรรค์สวนจีนนั้นมีสามประการย่อๆดังนี้
๑. สวนต้องเป็นภาพลักษณ์ของโลกธรรมชาติ
เพียงแต่ในขนาดย่อส่วนลง
๒.
ผู้สร้างสวนต้องธำรงความงามสมดุลของธรรมชาติให้คงไว้ และ
๓.
สวนต้องเป็นสถานที่เอื้ออำนวยต่อการคิดตรึกตรองเกี่ยวกับชีวิตและในที่สุดพาคนบรรลุชีวิตนิรันดรด้วยสติปัญญาและคุณธรรมในหัวใจ.
แบบสวนจีนนั้นมีสามแบบคือสวนภูมิทัศน์
สวนภายในลานบ้านและสวนศักดิ์สิทธิ์ แต่ละแบบมีจุดมุ่งหมายการใช้สวนต่างกัน.
สวนภูมิทัศน์น่าจะเหมาะกับการเดินตรึกตรองเกี่ยวกับชีวิตในความสงบและตามลำพัง. สวนในลานบ้านเป็นที่พักผ่อน
พูดคุยหรือสังสันทน์ระหว่างสมาชิกในบ้าน
และสวนศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เงียบสงัดเพื่อการภาวนา ปฏิบัติธรรมและเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษ.
องค์ประกอบสำคัญของอุทยานจีนคือหินและน้ำ
โดยปกติจัดหินให้ตั้งในแนวสูง
ให้ดูแข็งแกร่งตัดกับพื้นราบของน้ำที่เป็นเงาเหมือนกระจก. น้ำส่องสะท้อนท้องฟ้าและให้ความรู้สึกใกล้ชิดจนอาจสัมผัสได้
เหมือนเห็นความฝันความหวังในใจคน.
ความแข็งแกร่งของหินเสริมพลังใจ กระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่นวิริยะ.
โดยทั่วไปสวนหรืออุทยานจีนเนรมิตเพื่อให้คนเดินรู้สึกเหมือนกำลังเดินทางผ่านพื้นที่แบบต่างๆ
แม้ในความเป็นจริง สวนจีนอาจมีพื้นที่แคบกว่าที่คิด แต่ก็ให้ความรู้สึกแบบเดียวกัน.
ความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากลักษณะตรงข้ามขององค์ประกอบสวน
เช่นพื้นที่ต่างระดับ หรือความตรงข้ามของแสงสว่างกับร่มเงา.
สะพานหรือทางเดินที่เชื่อมอาคารหรือมุมต่างๆในสวน เป็นแบบซิกแซกตามคำสอนของขงจื้อ
เส้นทางตรงทำให้เดินเร็วๆได้ แต่เส้นทางซิกแซ็กเท่ากับบังคับคนเดินให้ลดฝีเท้าลง ที่ส่งผลต่อจิตใจ คือทำให้ผ่อนคลายลง
(พูดตามแบบพุทธ)เพราะทำให้คนเดินหันมาระวังการเดินในขณะนั้นตรงหน้า
ปล่อยความหมกมุ่นกังวลใจเรื่องใดออกไปได้ชั่วคราว.
ค่าของต้นไม้ในสวนหรืออุทยานจีน อยู่ที่นัยความหมายสัญลักษณ์ที่ยึดถือสืบต่อมาตามขนบและวัฒนธรรมจีน. กลิ่นของไม้ดอกก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลือกไม้ดอกชนิดนั้นสีนั้นเข้าไปปลูกในสวน. ฤดูกาลที่เปลี่ยนไปเห็นได้จากต้นไม้ใบหญ้าทั้งหลายอย่างชัดเจน
ส่งผลต่อจิตสำนึก อารมณ์ความรู้สึกและอาจกระตุ้นอารมณ์สุนทรีย์.
ทั้งหมดนี้สวน(ไม่ว่าแบบจีนหรือแบบใด) ดลบันดาลให้อุบัติได้ในใจคน
ถ้าปล่อยใจให้กลมกลืนกับสภาพที่เห็น หลอมตัวไปกับ spirit of place (genius loci) หรือ“เจ้าที่”.
ตัวอย่างสวนจีนที่นำมาลง
เน้นสวนจีนที่อยู่นอกประเทศจีน นอกทวีปเอเชียเป็นสำคัญ
เพื่อให้เห็นว่าชาวตะวันตกสนใจวัฒนธรรมสวนจีนอย่างไร. สวนจีนส่วนใหญ่ในต่างแดน เกิดจากการสร้างสรรค์ของคนจีนที่ประเทศจีนส่งไปบริหารจัดการและสร้างให้ในต่างแดนอย่างเป็นทางการ
เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. บางแห่งมีพื้นที่กว้างขวางมาก. มีสวนแล้ว
สิ่งสำคัญต่อมาคือการดูแลรักษาซึ่งมักไม่เต็มที่นัก(เท่าที่ไปเห็นมา) นอกจากที่เยอรมนีกับญี่ปุ่น, อาจเป็นเพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก และความฮือฮาชื่นชมลดน้อยลงๆไปตามยุคสมัย
ตามรสนิยมของหนุ่มสาวยุคใหม่เป็นต้น.
สวนจีนทุกแห่งที่ประเทศจีนไปสร้างให้
มีรูปแบบการจัดพื้นที่สวนเกือบเหมือนกันทุกแห่ง
ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของสวนจีนที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามค่านิยมในลัทธิเต๋าและตามคำสอนของขงจื้อ
คือ มีน้ำตก ทะเสสาบ พันธุ์ไม้จากแดนจีน อาคารจีนแบบต่างๆเป็นต้น. ประกอบกันอย่างสมดุลระหว่างปัจจัยหยิน-หยัง (Ying-Yang 陰陽) ในทุกสภาวะของธาตุสี่
ควบคู่ไปพร้อมกัน และที่ขาดมิได้คือความตระหนักรู้เกี่ยวกับการหมุนเวียนของอากาศ
ของลมที่คือพลังลมปราณหรือ Qi
(氣) ภายในสวน.
ตัวอย่างสวนจีนที่ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนชาวจีนไปสร้างให้ที่เมือง
Sydney (ประเทศออสเตรเลีย)
และมอบให้เป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพในการเป็นเมืองพี่เมืองน้องระหว่างซิดนีย์กับเมืองกว่างโจว(廣州) และโดยเฉพาะในวาระครบสองร้อยปีแห่งการก่อร่างสร้างเมือง
Sydney และการสถาปนาอาณานิคม New
South Wales ในทวีปออสเตรเลีย (กองเรือสิบเอ็ดลำของ Captain Arther Phillip มาขึ้นฝั่งที่ Sydney Harbour ในปี1788 ถือกันว่าปีนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาออสเตรเลียในเครือสหราชอาณาจักร). ดูคลิปวีดีโอตามลิงค์นี้ที่นี่.
ภาพแปลนสวนจีนที่เมือง Sydney, Australia.
นับว่าเป็นสวนจีนที่สวยสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งนอกพรมแดนประเทศจีน.
กำแพงบังตาตรงกลางภาพ(หมายเลข 5) ลวดลายของมังกรสองตัวโต้คลื่นและโต้ลมด้วยกัน มังกรตัวสีน้ำเงิน(ทางขวาในภาพ)เป็นสัญลักษณ์แทนรัฐ New South Wales ส่วนมังกรตัวสีทองแทนจังหวัดกวางตุ้ง(廣東省).
ประตูวงกลมที่สมบูรณ์ที่สุด.
ศาลากลางน้ำ หินที่ดูเหมือนเต่าในน้ำ.
หินกลางสระน้ำก็ดูเหมือนหัวมังกร.
สะพานที่เชื่อมพื้นที่เป็นแบบซิกแซ็ก.
ภาพทั้งหมดนี้จากสวนจีนที่ตั้งชื่อไว้ว่า
Chinese
Garden of Friendship
กำกับภาษาจีนไว้ว่า 誼園 อยู่ที่เขต
Chinatown
เมือง Sydney ประเทศออสเตรเลีย. สวนนี้สร้างเลียนแบบสวนคลาซสิกยุคราชวงศ์หมิง.
เป็นของขวัญจากประเทศจีนที่ได้ผูกความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างเมืองกวางโจวในจีนกับเมืองซิดนีย์ในออสเตรเลีย. สวนนี้เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 มกราคม ปี1988. องค์ประกอบสำคัญของสวนจีน
นอกจากน้ำและก้อนหินขนาดใหญ่ๆ รูปลักษณ์“งาม”ตามค่านิยมจีน แน่นอน
อาคารและสิ่งก่อสร้างก็เป็นไปตามแบบสถาปัตยกรรมจีนด้วย แบบสะพาน ประตู
และต้นไม้ที่นำเข้าไปปลูกในสวนจีนนี้.
สวนจีนขนาดย่อมเป็นส่วนหนึ่งในสวนพฤกศาสตร์ของหลายเมืองในประเทศเยอรมนีด้วยเช่นกัน. ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือสวนจีนในอุทยาน Luisenpark เมือง Mannheim [มานไฮม] (พื้นที่ของอุทยานใหญ่กลางเมืองนี้คือ 41 เฮกตาร์หรือราว 410.000 ตารางเมตร). พื้นที่สองในสามของเมือง Mannheim เป็นพื้นที่เขียว และประมาณหนึ่งในสามเป็นพื้นที่อนุรักษ์ (cf.Stadtpark Mannheim GmbH) นับเป็นเมืองตัวอย่างของการรณรงค์อนุรักษ์พื้นที่เขียวและอนุรักษ์ภูมิประเทศได้อย่างเป็นผลสำเร็จ.
สวนจีนนั้นมีพื้นที่ 5000 ตารางเมตร. เขาตั้งชื่อสวนไว้ว่า 多景园 -Duojingyuan [ตัวจิ่งเหวียน] ในความหมายว่า สวนที่มีทัศนียภาพหลากหลาย(แต่คำแปลภาษาอังกฤษที่นั่นบอกว่าสวนที่มีความคิดเห็นหลายแบบ). สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างเมือง Mannheim กับเมืองเฉินเจียง (Zhenjiang) และได้รับทุนสนับสนุนจากหลายองค์กรในเยอรมนี. สวนนี้ได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่างของสวนน้ำชาจีนที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป. เริ่มสร้างเดือนพฤศจิกายนปี2000 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่เดือนกันยายนปี2001.
บริเวณที่จัดเป็นร้านน้ำชา
อาหารที่เสริฟเป็นประเภทติ่มซำกับชาจีนร้อนๆ บางวันบางโอกาสก็จัดพิธิชงชาตามประเพณีจีนโบราณ. (ติ่มซำที่นั่น ต้องบอกว่ายังไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม
สู้ฝีมือกุ๊กเมืองไทยไม่ได้).
ต้นนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
Cercidiphyllum
Japonicum คงเห็นแล้วว่า
เพียงต้นไม้งามๆหนึ่งต้น ส่งผลเพียงใดต่อภาพลักษณ์ของสวน
และโดยเฉพาะต่อจิตสำนึกของผู้ที่ได้เห็น.
กรุงแบร์ลินจัดพื้นที่ผืนใหญ่(43 เฮกตาร์) ชานเมืองให้เป็นพื้นที่สวนของโลก Gärten der Welt. พื้นที่สวนยังเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าในปี2017
เมื่อแบร์ลินจัดมหกรรมสวนนานาชาติ (International Garden Exhibition). จุดประสงค์ของการสร้างพื้นที่ให้เป็นสวนของโลกนั้น คือการรวมสวนจากวัฒนธรรมหลายชาติไว้ด้วยกัน
ให้โอกาสชมสวน เปรียบเทียบสวนแบบต่างๆในยุคต่างๆจากห้าทวีป ยืนยันว่า ทุกวัฒนธรรมในโลกต่างมีจุดยืนที่เหมือนกันข้อหนึ่งคือ
สวนเป็นสถานที่ของความสงบ ของสันติภาพ ความงามและความสุข และในที่สุดสวนแบบใดที่ใดยามใด เป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ. จุดประสงค์ดังกล่าวน่าสรรเสริญและประเทศต่างๆก็ได้ให้ความร่วมมืออย่างดี ไปจำลองแบบสวนเด่นๆไว้ที่นั่น. เช่น สวนอาหรับ(ที่เจาะจงกำกับเป็น Oriental garden), สวนบาหลี, สวนเกาหลี, สวนญี่ปุ่น, สวนจีน, สวนอังกฤษ, สวนอิตาเลียนเรอแนสซ็องส์,
สวนคริสเตียน, สวนแอฟริกัน นอกเหนือไปจากสวนดอกไม้ สวนน้ำ สวนวงกต สวนเทพนิยาย
และยังมีโรงละครสำหรับการแสดงดนตรีเป็นต้น.
การจำลองสวนย่อมมีขนาดเล็กลง
แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับปัจจัยของกาลเวลา นั่นคืออะไรๆดูใหม่ ขาดมิติของกาลเวลาผู้เป็นสถาปนิกคนสำคัญ กาลเวลาประทับรอยนิ้วมือลงเป็นบรรยากาศ“ขลังๆ”ของภูมิประเทศและภูมิอากาศของท้องถิ่นเดิม. อีกหลายสิบปีต่อไปในอนาคต
สวนทั้งหลายที่นั่นจะมีบรรยากาศที่อ่อนโยนมากขึ้น.
สวนจีนที่นั่น
ใหญ่ที่สุดในยุโรป(2.7เฮกตาร์) เป็นความร่วมมือระหว่างกรุงแบร์ลินกับกรุงปักกิ่ง เริ่มต้นสร้างตั้งแต่เดือนตุลาคมปี2000 ตั้งชื่อไว้ว่า Gärten des Wiedergewonnenen Mondes (Garden of the reclaimed moon) สื่อนัยไปถึงกรุงแบร์ลินที่เคยถูกแบ่งแยกออกเป็นโลกต่างอุดมการณ์การเมือง ต่างวิถีความเป็นอยู่ แล้วกลับมารวมกันใหม่.
การก่อสร้างทั้งหมดเป็นผลงานของนายช่างชาวจีนจากปักกิ่งพร้อมด้วยวัสดุก่อสร้างทั้งหลายทั้งปวงที่ส่งทางเรือโดยตรงจากปักกิ่งไปถึงแบร์ลิน
เป็นจำนวนถึงหนึ่งร้อยคอนเทนเนอร์. กลุ่มนายช่างเนรมิตสวนแบบ Chinese scholar garden ใช้สีเด่นๆสามสีคือสีแดง สีขาวและสีเทา. สวนสร้างแล้วเสร็จในปี2007 ตรงตามที่ Jin
Boling ออกแบบไว้ในปี1993.
จุดเด่นที่สุดของสวนจีนที่นั่น
คือทะเลสาบที่เจาะจงว่าเป็น“กระจกส่องสวรรค์”มีพื้นที่ 4,500 ตารางเมตร เป็นจุดศูนย์กลางของสวนและเป็นที่แสดงหินตัวอย่าง Taihu stones (太湖石) ที่เป็นหินปูนขาว จากภูเขา洞庭山 (Dongting Mountain ในซูโจว) มีรูหรือช่องโหว่ที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเลเป็นเวลานาน
นิยมนำมาใช้ประดับสวน. บนฝั่งทะเลสาบ
ยังมีอาคารน้ำชาที่สร้างให้ดูเหมือนเรือและอาคารชมจันทร์
ที่เชื่อมถึงกันด้วยสะพานหินแบบซิกแซ็ก เช่นนี้เท่ากับบังคับให้คนเดินลดฝีเท้าลง
เอื้ออำนวยให้จิตละทิ้งความหมกมุ่นในชีวิตประจำวันลงไปตามคำสอนของปราชญ์ขงจื้อ. (ข้อมูลที่ติดไว้ที่สวนที่นั่น)
ตรงทางเข้าสวนด้านหนึ่ง
มีรูปปั้นเต็มตัวของขงจื้อ จารึกชื่อเป็นอักษรจีน
และกำกับเป็นภาษาเยอรมันว่า Konfuzius. หินที่ตั้งใกล้บันไดก็เป็นหินที่เจาะจงเลือกมาจากประเทศจีน.
ทางเดินมีหลังคา หักมุมซิกแซ็ก.
ทางเดินภายในเชื่อมต่อกันไปยังส่วนอื่นๆ
สวนหินพร้อมสระน้ำและน้ำพุ
ณมุมหนึ่งในสวนจีน.
อาคารน้ำชาแบบจีน
มีเจดีย์หินตั้งอยู่ในน้ำไม่ไกลจากอาคารน้ำชา.
เจดีย์กลางน้ำ
การจัดวางหินเชื่อมสองฝั่ง มีตะเกียงหินสี่เหลี่ยม
หินที่วางนี้มิใช่ให้เดินข้ามฝั่ง. ผิวหน้าขรุขระตามธรรมชาติ
จัดเป็นองค์ประกอบประดับทัศนียภาพแบบจีน มิได้ตัดหรือขัดให้เรียบเพื่อให้เดิน
จึงไม่เหมือนหินแบบ stepping stones ในสวนญี่ปุ่น.
หินTaihu รูปลักษณ์น่าทึ่งริมฝั่งน้ำ ไกลไปทางด้านหลังเป็นอาคารชมจันทร์
อาคารชมจันทร์สร้างให้เหมือนเรือหรือเก๋งจีนริมฝั่งน้ำ. ใต้หลังคาเป็นหินแกรนิตสีดำ
จำหลักต่ำและราบเสมอกันบนผิวหน้า เป็นลายมังกรสองตัวกำลังโต้คลื่น
ตรงกลางภาพมีวงกลมๆของดวงจันทร์.
ภาพนี้เจาะจงนัยความหมายของชื่อสวนที่ตั้งไว้ (The Reclaimed Moon).
มองทะเลสาบจากฝั่งด้านหนึ่ง. อีกมุมหนึ่งในอาคารน้ำชา.
มุมหนึ่งภายในอาคารน้ำชา
มีแผ่นเขียนคำพูดคำสอนของขงจื้อ
หรือจากลัทธิเต๋า ใส่กรอบติดประดับเตือนใจ.
กำแพงเปิดช่องวงกลมเป็นทางเข้าออกและช่องหน้าต่างทางลม
สังเกตช่องหน้าต่าง
เจาะต่างๆกันบนกำแพง.
ทางเดินในสวน
มีพื้นปูด้วยกรวดก้อนเล็กๆและจัดเป็นรูปลักษณ์ด้วย
เช่นภาพนี้ เป็นรูปพัด.
ศาลาพักร้อน
หินตั้งสูง จารึกชื่อ 得月園 (得(ได้รับ),月(เดือน),園(สวน)
รวมกันตรงตามความหมายที่ต้องการ ที่แปลไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า
Garden
of the Reclaimed Moon)
หินกลุ่มนี้จารึกชื่อลงบนหินเด่นๆ
เป็นอักษรจีน 風(ลม),月(เดือน),
地
(แผ่นดิน),山(ภูเขา). หินอื่นๆก้อนเตี้ยๆจัดเหมือนที่นั่ง.
สะพานหิน.
แนวต้นไผ่สองข้างทางเดิน.
สิงโตหินคู่ตั้งตรงทางเข้าออกสวนอีกด้านหนึ่ง เท้าวางเข้ากันซ้ายขวา
ชมสวนจีนเด่นๆในต่างแดนได้จากเว็ปไซต์เช่นที่ลิงค์นี้.
--------------------------------------------
C-5 >> Chinoiserie
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/02/c-5-chinoiserie_26.html
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/02/c-5-chinoiserie_26.html
เมนูหนังสือ
ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html
Comments
Post a Comment