C-5 Chinoiserie

Chinoiserie [ชีนั้วเซอรี] มาจากคำฝรั่งเศส chinois [ชีนัว]ที่ชาวฝรั่งเศสใช้เรียกคนจีนหรืออะไรที่เป็นจีน. ภาษาอื่นรับคำนี้ไปใช้และอ่านตามภาษาฝรั่งเศส. คำนี้ใช้เรียก กระแสจีนนิยม ที่เป็นผลผลิตจากการได้สัมผัสศิลปะและการออกแบบของจีน ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆในเอเชีย โดยทั่วไปแล้วหมาถึงวัฒนธรรมจีนเป็นสำคัญ. เมื่อชาวตะวันตกได้เห็นศิลปวัตถุจากจีน ต่างตื่นตะลึงหลงใหลในวามประณีต เกิดจินนาการอันบรรเจิดเกี่วกับประเทศจีน ดลใจให้ชาวตะวันตกเริ่มสะสมศิลปวัตถุทุกชนิดจากตะวันออกไกล ่อมาศิลปินหรือนายช่างตะวันตกเริ่มลอกเลียน ถ่ายทอดแบบศิลปะจีนและตะวันออกไกลตามที่ได้อ่านได้ฟังเล่าต่อๆกันมา ส่วนใหญ่ไม่เคยไปเมืองจีน. ผลิตผลทั้งหลายที่ทำกัน อยู่ในกลุ่มเนรมิตศิลป์(เช่นเฟอนิเจอร์ เครื่องประดับ ถ้วยโถโอชาม), ส่วนด้านสถาปัตยกรรมนั้น เป็นการสร้างเจดีย์ ศาลา เก๋ง สะพานแบบจีนเพื่อประดับสวน วิลลา คฤหาสน์และพระราวัง. โดยทั่วไปอาคารแบบจีนในยุโรป คืออาคารที่มีมุมหลังคาโค้งงอขึ้น มีระฆังหรือกระดิ่งประดับตามชายคา มีลวดลายมังกรบนยอดหลังคาเป็นต้น.
   ความชื่นชมในศิลปวัฒนธรรมจากจีน ปะทุขึ้นในปลายศตวรรษที่17 เมื่อ Athanasius Kircher (Scholar เยซูอิตชาวเยอรมันและนักเขียน, 1602-1680) ผู้ทุ่มเทีวิตศึกษานิรุกติศาสตร์ วรรณกรรม วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์จีน และได้เรียบเรียงสารานุกรมเกี่ยวกับประเทศจีน ที่มีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของชาวยุโรปยุคนั้นอย่างยิ่ง. ต่อมาในทศวรรษที่1730 Richard Bateman (1705-1773) สร้างบ้านแบบจีนขึ้นหลายหลังในอังกฤษและประดิษฐ์สิ่งประดับตกแต่งสวนแบบจีน. มีเอกสารลายลักษณ์ยืนยันว่าในทศวรรษที่1750, Horace Walpole (นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวอังกฤษ, 1717-1797) ถึงกับโวยวายที่เห็นเจดีย์ สะพาน เก๋งจีน โผล่ขึ้นเป็นดอกเห็ดในอังกฤษ.
   ตั้งแต่นั้น กระแสจีนนิยมได้แพร่กระจายออกไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็วและมากยิ่งขึ้นในศตวรรษที่18 อันเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาธุรกิจการค้ากับประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเช่นอินเดีย. บริษัทเดินเรืออีสต์อินเดียของอังกฤษ ดัตช์ ฝรั่งเศสและสวีเดน (ต่อมาปอร์ตุกัลและสเปนด้วย) ต่างแข่งกันไปขนสรรพสินค้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น อินเดียและประเทศอื่นๆ. กลางศตวรรษที่ 19 บริษัทอังกฤษ the British East India Company โดดเด่นเหนือคู่แข่งจากทุกประเทศ. แสนยานุภาพของอังกฤษได้ขยายออกนอกกรอบของการค้า ไปรวมนโยบายของการแผ่อาณานิคมไปในอินเดีย พม่า มาเลเชีย สิงคโปร์และส่วนหนึ่งของเกาะฮ่องกง. ยุคนั้น หนึ่งในห้าของประชากรโลกตกอยู่ใต้อิทธิพลการค้าของบริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษ.
    ตวรรษที่18 เป็นุคบาร็อคในยุโรป ตามด้วยรสนิยมในสไตล์ร็อคโกโก (Rococo) ที่มีองค์ประกอบและลายประดับมากและหรูฟู่, ที่ไม่เน้นความสมดุลของรูปลักษณ์แต่เน้นคุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้ และพลิกแพลงรูปแบบต่างๆจากธรรมชาติ ให้ดูสวยเลิศกว่าธรรมชาติ ให้เร้าใจและตรึงสายตา. กระแสจีนนิยมพุ่งขึ้นสูงสุดในกลางศตวรรษที่18 เมื่อศิลปินหลายคนเช่น François Boucher [ฟร็องซัว บูเช่], Thomas Chippendale [ทอมัส ชิปเพ่นเดล], และ Jean-Baptist Pillement [ฌ็อง-บาติ๊ซ ปีเยอม็อง] โยงศิลปะจีนไปเชื่อมกับสไตล์ร็อคโกโก. เมื่อดูการนำศิลปวัตถุจีนเข้าไปประดับในห้องบาร็อค หรือประกบกับลวดลายร็อคโกโกตามพระราวังในยุโรปแล้ว ดูเหมือนว่าเข้ากันได้ดี (ส่วนจะถูกจริตหรือรสนิยมส่วนตัวของใครหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง).
ห้องหนึ่งในปราสาท Schloss Schleissheim (ชานเมืองมิวนิคประเทศเยอรมนี) เป็นห้องบาร็อ. เฟอนิเจอร์ การประดับผนังห้องด้วยพรมทอ โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่ง ลวดลายล้อมภาพเป็นแบบร็อคโกโก มีแจกันจีนขนาดใหญ่บนโต๊ะ ซึ่งดูกลมกลืนไปในบริบทห้อง.
ให้สังเกตฉากกั้นบังตาประดับภาพวาดดอกไม้และนกตาม่านิมจีนในภาพชื่อ
Les Toilettes, 1742 (กระบวนการแต่งตัว) ของ François Boucher.
ภาพสตรีสูงศักดิ์ในสวนจีนของ François Boucher
(Le Jardin Chinois, 1742)
   ความนิยมศิลปะจีนลดน้อยลงไปมากใอังกฤษเมื่อพระเจ้าจ๊อร์จที่สี่สิ้นพระชนม์ (1830) พระองค์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์สนับสนุนศิลปะจีนอย่างแท้จริง. สงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง (1839-1842) ระหว่างอังกฤษกับจีน ทำให้การค้าขายหยุดชะงักลง จึงยิ่งทำให้ความสนใจจีนน้อยลงๆไปด้วย. ปลายศตวรรษที่19 ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับจีนเริ่มมั่นคงสถาพร กระแสจีนนิยมกลับฟื้นตัวขึ้นอีก เมื่อเจ้าชายอัลเบิร์ตได้สั่งให้ย้ายศิลปวัตถุจีนทั้งหลายของพระเจ้าจ๊อร์จที่สี่จากตำหนักหลวงเมืองไบร้ทตัน (Brighton) ไปยังพระราชวังบัคกิ้งแฮม.(ดูภาพตัวอย่างของอาคาร The Royal Pavilion ต่อไปข้างล่าง).
   เช่นเดียวกับกระแสนิยมจีนที่คลายตัวลง จักรวรรดิอังกฤษ ก็ค่อยๆสลายตัวลงเช่นกันตามกระบวนการทางสังคมและทางการเมือง แต่สหราชอาณาจักรยังต้องแก้ปัญหาที่เป็นผลสืบเนื่องจากการไปยึดไปกอบโกยผลประโยชน์จากดินแดนอาณานิมเหล่านั้นมาจนทุกวันนี้.

    เจดีย์จีนที่ถือกันว่างามเด่นที่สุดในยุโรปที่ยังเหลือให้เห็นในอังกฤษคือ The Pagoda ในสวนพฤกษศาสตร์ Kew Gardens (ลอนดอน).
เจดีย์จีน()แปดเหลี่ยมสูงสิบชั้นในสวนคิว รวมความสูงทั้งหมด 50 เมตร อาคารแคบลงเมื่อสูงขึ้นทุก30 เซ็นติเมตร. Sir William Chambers เป็นผู้ออกแบบและสร้างแล้วเสร็จในปี1762. ในศตวรรษที่18 เจดีย์นี้เป็นจุดชมทัศนียภาพของกรุงลอนดอนแห่งแรกๆ. ดูเหมือนจะมีชื่อเสียงมากกว่าเจดีย์หรืออาคารจีนอื่นใดนอกพรมแดนประเทศจีน. ดั้งเดิมมีมังกรแกะสลักจากไม้และปิดด้วยทองคำเปลวติดชายคาทุกชั้นทั้งหมด 80 ตัว ลือกันว่าทั้งหมดถูกปลดออกไปขายทอดตลาดในปี1784 เพื่อใช้หนี้การพนันของพระเจ้าจอร์จที่สี่.
   Sir William Chambers ได้เดินทางไปจีนและอยู่ที่นั่นหลายเดือนเพื่อสเก็ตช์ภาพสิ่งก่อสร้างแบบต่างๆในจีน. เขาได้เขียนหนังสือชื่อ Designs of Chinese Buildings (1757). ปกติเจดีย์จีนมีห้าหรือเจ็ดชั้น(เป็นเลขคี่)ที่โยงไปถึงบันไดสู่สวรรค์. แต่ตอนที่เขาออกแบบนั้น เขาไม่ได้นำประเด็น“เลขคู่เลขคี่” มาพิจารณา. ในศตวรรษที่18 รอบๆบริเวณเจดีย์จีนนี้ ยังได้จำลองอาคารมัวร์ตามแบบอุทยาน Alhambra และสุเหร่าเติร์กอีกหนึ่งหลังด้วย ดังภาพข้างล่างนี้.
ภาพนี้จากเว็ปเพจของสวนคิว ปัจจุบันเจดีย์จีนที่นั่นยังอยู่ในระหว่างการบูรณะซ่อมแซม(ถึงปี2018).
   ในฝรั่งเศสโดยเฉพาะหลังปฏิวัติในปี1789 รูปลักษณ์แบบจีนถูกทำลายเสียเกือบหมดโดยเฉพาะที่อยู่ในพระราชวังแวร์ซายส์. อาคารแบบจีนที่ยังเหลือให้เห็น คือเจดีย์เจ็ดชั้นที่ Chanteloup [ฌ็องเตอะลู](ใกล้เมือง Amboise) เท่านั้น ดังภาพข้างล่างนี้.
เจดีย์จีนที่ Chanteloup (เมือง Amboise ประเทศฝรั่งเศส) สูง 44 เมตรบนพื้นที่ปราสาทของ Duke of Choiseul รัฐมนตรีคนสำคัญของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่. ในศตวรรษที่18 ปราสาทและสวนทั้งบริเวณนั้นยิ่งใหญ่ไม่น้อย เพราะสร้างเลียนแบบพระราชวังแวร์ซายส์. ปราสาทถูกทำลายเสียสิ้นในปี1823 เหลือเพียงเจดีย์จีนเท่านั้น. ภายในอาคารมีบันไดเวียน เปิดให้ขึ้นไปได้ หยุดแวะแต่ละชั้นได้ทั้งภายในและระเบียงภายนอกจนถึงชั้นบนสุด. เป็นเจดีย์จีนหนึ่งเดียวที่ยังคงเหลือให้เห็นในประเทศฝรั่งเศส.
ห้องจีนในปราสาท Château de Chantilly [ชาโต เดอ ช็องติยี่] (Oise, France) ประดับตกแต่งกลมกลืนไปกับลวดลาร็อคโกโกสีทอง. หลายห้องที่ปราสาท Chantilly [ช็องตียี] ตกแต่งด้วยจิตรกรรมแบบจีน. Antoine Watteau [อ็องตวน วาโต] จิตรกรชั้นครูกับนายช่างฝีมือดีอื่นๆ ได้เนรมิตห้องจีนอย่างสวยงามกลมกลืนกันดี ประดับตกแต่งอย่างหรูตามจินตนาการเฟื่องยุคนั้นแต่ยังดูดี มีสง่าราศี ยิ่งใช้วัสดุราคาแพงเช่นหินอ่อนหรือไม้เนื้อดี ก็ยิ่งทำให้ห้องเหมือนแดนเทพนิยาย.

    ในเยอรมนี สถาปัตยกรรมแนวจีนนิยม ยังคงเหลือให้เห็นอีกหลายแห่งทั้งที่เป็นอาคาร เจดีย์และสิ่งประดับแบบต่างๆรวมถึงถ้วยโถโอชามที่เยอรมนีเนรมิตขึ้นตามแบบเครื่องลายครามของจีน. พระราชวังใหญ่ๆหลายแห่ง มีห้องจีนประดับด้วยสรรพสิ่งแบบจีนทั้งที่นำเข้ามาจากจีนหรือที่ทำเลียนแบบจีนในเวลา่อมา.




ห้องจีนในตำหนักใหม่ที่พระราชวัง Altes Schloss Eremitage นอกเมือง Bayreuth ประเทศเยอรมนี ประดับตกแต่งทั้งผนังกำแพงห้องจนถึงเพดาน. ห้องนี้ที่นั่นกำกับว่าเป็นห้องญี่ปุ่นทั้งๆที่ทุกอย่างเป็นแบบจีนหมด คงเป็นเพราะเมื่อ Margrave George Wilhelm ให้ทรงสร้าง Altes Schloss Bayreuth ที่มีห้องจีนนี้(ปี1715) การแยกแยะรูปลักษณ์จีนญี่ปุ่นยังไม่กระจ่างนักในความรู้ของชาวเยอรมันยุคนั้น เขาจึงตั้งชื่อห้องนั้นว่า Japanisches Kabinett (หรือ Chinese Cabinet). 

และตั้งชื่อห้องกระจกจีนว่า Chinesische Spiegelkabinett (หรือ Chinese Mirror Cabinet) ซึ่งก็ประกอบด้วยรูปลักษณ์จีนทั้งหมด.
อ่านรายละเอียดได้ที่ลิงค์นี้ schloesser.bayern.de และมีข้อมูลที่ markgrafenkultur.de (ภาษาเยอรมัน)
ภาพจิตรกรรมของ Johann Friedrich Nagel, 1790. Johann Gottfried Büring เป็นผู้ออกแบบอาคารจีน ในระหว่างปี 1755-1764.
พระเจ้าเฟรเดริคแห่งปรัสเซีย ทรงให้สร้างอาคารจีนภายในพระราชอุทยานไกลกังวล (Sanssouci [ซ็องซูซี]) ที่เมือง Potsdam ประเทศเยอรมนี สถาปนิกสวนชื่อ Johann Gottfried Büring เป็นผู้ออกแบบอาคารจีน. เขาผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนกับรูปประดับแบบร็อคโกโก.
ตำหนักน้ำชาแบบจีนนี้ อาจนับว่าเป็นที่สุดของ“แบบจีนเยอรมัน” ผสมผสานไปกับศิลปะบาร็อค. รูปปั้นที่ประดับโดยรอบเป็นสีทองทั้งหมด ที่อาจต้องการเน้นความสุกปลั่งของทองหรือเครื่องทองในจินตนาการของชาวยุโรปเกี่ยวกับราชสำนักจีน จนทำให้ขาดความงาม“เรียบและสง่า”ไปอย่างน่าเสียดาย. การสร้างสรรค์ของสถาปนิกเยอรมัน มิได้สวยถูกต้องตามศิลปะจีนเสมอไป จึงหยุดอยู่ที่การเป็นข้อมูลของยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์สังคมตะวันตก.
กลุ่มรูปปั้นชุด ดื่มชา ที่ประดับด้านนอกของอาคารจีน
ผลงานของ Johann Gottlieb Heymüller
กระแสจีนนิยมในยุโรป เริ่มขึ้นกับการดื่มชา. การดื่มชาเป็นสิ่งบ่งบอกฐานะและความเป็นผู้ดีของสตรีในยุคนั้น. เมื่อมีชามีการดื่มชา ก็ต้องมีเครื่องใช้ชุดน้ำชาแบบจีนเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศตามวิถีชาของชาวจีน. ใบชา(และน้ำตาล) เป็นสินค้าราคาแพงมากในศตวรรษที่18  ตู้เก็บเครื่องลายครามทุกอย่างที่ใช้ในการดื่มชา ถูกเก็บใส่กุญแจอย่างปลอดภัยกันขโมย เพราะเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งในยุคนั้น.
ห้องจีนที่ปราสาท Schloss Pillnitz (Dresden, Germany ปราสาทบาร็อคต้นศตวรรษที่18) ปราสาทนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวอย่างของยุคหลงใหลศิลปะจีนอย่างไม่มีที่ใดเหมือน (สวยต้องรสนิยมใครหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น)มีอาคารใหญ่สองหลัง (Wasserpalais และ Bergpalais) ที่ประดับตกแต่งทั้งด้านนอกและด้านใน ด้วยรูปลักษณ์จีนจำนวนมาก. เป็นผลงานจากจินตนาการของนายช่างเยอรมันผู้ศึกษาจากเอกสารหนังสือหรือบันทึกเดินทางของผู้ที่เคยไปจีน.
มุมหนึ่งในอุทยานอันกว้างใหญ่ที่เมืองPotsdam(ด้านเหนือของพระราชอุทยาน Sanssouci) มีอาคารจีน ตั้งชื่อเรียกไว้ว่า บ้านมังกร (Drachenhaus) เพราะมีมังกรประดับหลังคาสิบหกตัว. พระเจ้า Frederick II (ผู้ครองปรัสเซียระหว่างปี1740-1786)ทรงให้สร้างอาคารนี้ขึ้นตามแบบอย่างของ The Pagoda ในสวนคิว (ดูภาพข้างบน) ที่เป็นผลงานของ William Chambers ในระหว่างปี1770-72.  เป็นอาคารแปดเหลี่ยม สี่ชั้น ที่ใช้งานได้จริง. จากเดิมที่ต้องการให้เป็นที่อาศัยของคนปลูกองุ่น ต่อมาเป็นที่พักของผู้ดูแลตำหนัก Belvedere ที่อยู่ใกล้ๆ และมีการขยับขยายเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเป็นที่อยู่อาศัย. ตั้งแต่ปี1934 บ้านมังกร ถูกปรับปรุงให้เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม.

อาคารจีนสไตล์ร็อคโกโกที่พระราชอุทยาน Drottningholms ประเทศสวีเดน สร้างระหว่างปี1763-1770. ที่นั่นเป็นที่พระราชวังฤดูร้อนส่วนพระองค์ของราชตระกูล (เปิดให้เข้าชมแต่พระราชอุทยานเท่านั้น).
ภาพของ Arild Vågen (Own work), October 2016. [CC BY-SA 4.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)], via Wikimedia Commons.
เป็นอาคารจีนที่งดงามที่สุด เชิดหน้าชูตาและทำให้พระราชวังและพระราชอุทยาน Drottningholm ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกในปี1991. อาคารที่เห็นในปัจจุบันตามภาพข้างบนนี้ เป็นอาคารรุ่นที่สองที่สร้างบูรณะและต่อเติมขึ้นใหม่ในปี1763-69. อาคารแรกนั้นสร้างในปี1753 เป็นของขวัญวันเกิดที่พระเจ้า Adolf Frederick สร้างให้พระมเหสี Lovisa Ulrika. อาคารแรกเป็นไม้ทั้งหมด ปรากฏว่าวัสดุก่อสร้างทนอากาศหนาวจัดของสวีเดนไม่ได้. ไม้ผุพังลงจนต้องให้รื้อสร้างใหม่ด้วยวัสดุที่ทนทานยั่งยืนกว่า สร้างตามแบบเดิมและขยับขยายให้กว้างออกไป. ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับอาคารจีนนี้ในลิงค์นี้.
ห้องจีนในพระราชวัง Schönbrunn (Vienna, Austria). เมื่อดูตัวอย่างของการสร้างสรรค์แบบจีนในบริบทของศิลปะบาร็อค ดูเหมือนว่าทั้งสองกระแสไปด้วยกันได้อย่างดี แต่จะยืนยันว่าเป็นรสนิยมของชาวยุโรปทั้งหมดนั้นคงไม่ได้. แม้ศิลปะบาร็อคแบบยุโรปก็มีผู้ไม่นิยมชมชื่นนัก. ดังสำนวนที่พูดกันในภาษาฝรั่งเศสว่า“เรื่องของรสชาติ เรื่องของสี เป็นความชอบไม่ชอบส่วนตัวของแต่ละคน.
เก๋งจีนหลังเล็ก เทียบกับศาลาทรงกลมแบบคลาซสิกยุโรปในอุทยาน Jardín del Principe (เมือง Aranjuez ประเทศสเปน) เป็นผลงานของนักภูมิสถาปัตย์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Etienne Boutelou ถวายพระเจ้า Carlos III สร้างแล้วเสร็จในปี 1763. เมือง Aranjuez [อะรันฆูเอ๊ธ] เป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับของราชวงศ์สเปนจนถึงปัจจุบัน บางส่วนของวังเปิดให้เข้าชม.

ภายในพระราชวัง มีห้องที่ประดับตกแต่งแบบจีนโดยใช้เครื่องลายครามเนื้อดี ปั้นรูปลักษณ์ต่างๆทั้งรูปคน สัตว์ พืชพรรณเป็นแบบจีนปนไปกับสไตล์ร็อคโกโก ติดนูนบนกำแพงทั้งห้องจนถึงเพดาน ดูเต็มจนเลอะไปหมด. เป็นตัวอย่างศิลปะบาร็อคกับร็อคโกโกศตวรรษที่18 ในสเปน.
    ตัวอย่างความหลงใหลศิลปะจีนที่น่าจะเป็นที่สุดของศตวรรษที่18 ในยุโรป คือกลุ่มสถาปัตยกรรม Royal Pavilion ที่เมือง Brighton ที่ John Nash(1752 - 1835) เป็นผู้ออกแบบสร้าง สำหรับเป็นที่ประทับของ George, Prince of Wales (ผู้ต่อมาได้ขึ้นเป็นเจ้าชายผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี1811). กลุ่มสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่นี้เริ่มสร้างตั้งแต่ปี1787 และมีการสร้างต่อเติมเรื่อยมาจนถึงปี1823.
สถาปัตยกรรมของ The Royal Pavilion ที่ Brighton อาคารหลังคาทรงโดมแบบอินเดีย ชัดเจนว่าเป็นผลที่ตามมาจากการเดินเรือค้าขายของบริษัท East India Company ในศตวรรษที่17 จนถึงการแผ่อาณานิคมของอังกฤษไปสู่เอเชีย ที่อินเดีย มาเลเชีย พม่าเป็นต้น ที่สืบต่อมาจนถึงกลางศตวรรษที่20. 
ภาพของ Qmin (Own work), 1 September 2011. [CC BY-SA 3.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons.
   การค้นพบอารยธรรมใหม่ๆ ความอลังการพราวแพรวด้วยเพชรนิลจินดาและแพรไหมของราชสถานต่างๆในอินเดีย หรือความประณีตของวัฒนธรรมจีนโบราณ ทั้งหมดประทับเป็นความกระหาย จากความอยากรู้ อยากเห็นจนอยากได้ จากการสะสมสรรพสิ่งที่ไปเอามาจากแดนไกล มาเป็นการเลียนแบบและการสร้างสรรค์ในที่สุด.
ห้องโถงยาวในพระราชวังที่ Brighton (John Nash เป็นผู้ออกแบบในราวปี1820) เป็นที่แสดงสรรพวัถุทั้งรูปปั้น เครื่องลายคราม ตะเกียงแขวน หรือเก้าอี้จากประเทศจีน.
ห้องเสวยหรือห้องจัดงานเลี้ยงที่นั่น ตามการออกแบบของ John Nashเช่นกัน. ภาพกำกับไว้ว่า Details of artist on Google Art Project [Public domain], via Wikimedia Commons.

    ในบริบทของสวน อาคารจีนหรืออาคารแบบใด ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เป็นองค์ประกอบแบบหนึ่งที่สร้างไกลออกจากอาคารใหญ่ของพื้นที่ ไปอยู่ตามมุมสวนเป็นต้น ให้เป็นจุดดึงดูดสายตา ล่อให้คนออกเดินไปดูใกล้ๆ. Chinoiserie มิได้จำกัดอยู่กับสถาปัตยกรรมเท่านั้น รวมถึงเนรมิตศิลป์อื่นๆ เครื่องเรือน เครื่องใช้ ฉากกั้น เสื้อผ้าแพรไหมและโดยเฉพาะเครื่องลายครามจากจีนที่ชาวยุโรปตื่นเต้นกันมาก และทำให้เกิดการพัฒนาศิลปะเครื่องปั้นดินเผาจนกลายเป็นอุตสาหกรรมในทุกวันนี้.
การสร้างสรรค์สิ่งประดับต่างๆเป็นเครื่องกระเบื้องเคลือบเนื้อละเอียดและบางเบา ได้กลายเป็นเนรมิตศิลป์ราคาแพงอีกแขนงหนึ่ง. ผลผลิตจากเมือง Meissen [ม้ายเสิ่น] ในเยอรมนี มีชื่อไปทั่วโลก. ดังในภาพนี้ รูปปั้นกระเบื้องเคลือบจำนวนมาก ทั้งรูปปั้นคนจีน แขก อาหรับ ชาวแอฟริกัน ช้าง ม้า อูฐ อาคารฯลฯ รวมกันเป็นภาพท้องพระโรงในราชสำนักจีนอันยิ่งใหญ่ ที่จักรพรรดิจีนออกรับคณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ. เครื่องพอร์สเลนจากเมือง Meissen เป็นของมีค่ายิ่งที่เจ้าของรักและหวงแหน.
สตรีผู้ดีและชนชั้นสูง เป็นนักสะสมเครื่องลายครามจากจีน ที่เป็นความปรารถนาสุดยอดในยุโรปยุคนั้น. รูปปั้นเครื่องกระเบื้องเคลือบเนื้อดีแบบนี้ เป็นของสะสมที่นิยมกันมากในหมู่ชนชั้นสูง.
แจกันหัวช้างคู่นี้เป็นเครื่องกระเบื้องเคลือบเนื้อดีจากเมือง Sèvres ฝรั่งเศส. เป็นงานออกแบบและแต่งสีของ Charles Nicolas Dodin (ปี1760) ประดับลายแบบจีนตามกระแส chinoiserie. คิดกันว่าทำขึ้นสำหรับ Madame de Pompadour พระสนมเอกของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้า. เป็นผลิตภัณฑ์แบบจีนที่หาดูยากจากโรงงานเครื่องปั้นดินเผาที่ Sèvres ของฝรั่งเศส. ปัจจุบันอยู่ที่ Walters Art Museum (Baltimore, Maryland, USA).

ภาพจากห้องหนึ่งในพระราชวัง Frederiksborgslot ที่เดนมาร์ก.
ตู้แล็กเกอร์ของจีน ได้เป็นแบบอย่างให้แก่ช่างชาวยุโรปที่เริ่มผลิตเฟอนิเจอร์เลียนแบบของจีน ประดับด้วยรูปลักษณ์จีนแบบต่างๆเช่นเจดีย์ มังกร พวกเขาใช้ไม้อีโบนีสีดำ (ebony) ทำลวดลาย บางทีสลับด้วยงาช้าง. ผู้สร้างสรรค์เครื่องเรือนตามแบบจีนที่มีชื่อเสียงคนสำคัญคือ Thomas Chippendale เขาจึงเป็นผู้เผยแพร่ศิลปะจีนคนสำคัญคนหนึ่งในยุโรป. หนังสือของเขาที่มีชื่อยาวเหยียดว่า The Gentleman and Cabinet-maker’s Director: Being a large Collection of the Most Elegant and Useful Designs of Household Furniture, In the Most Fashionable Taste เป็นหนังสือคู่มือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องเรือนหรือเฟอนิเจอร์จีนแบบต่างๆและให้รายละเอียดของลวดลายประดับที่วิจิตรพิศดารแบบจีนด้วย. 
ฉากกั้นแบบจีนแบบเรียบเช่นเป็นภาพจิตรกรรม หรือแบบฝังมุก งาช้างหรือวัสดุอื่นๆ เป็นสิ่งที่ชาวยุโรปอยากได้ตั้งแต่ศตววรษที่17. ฉากที่เห็นนี้ตั้งอยู่ที่ Villa Ephrussi [เอ-ฟรุสซี] de Rothschild (Saint-Jean-Cap-Ferrat, France).  
ที่นั่นยังมีตู้เสื้อผ้าสตรีเป็นแพรไหมปักสวยงามและรองเท้าเล็กๆของสตรีจีนที่ถูกมัดเท้าตั้งแต่วัยเด็กอีกหลายคู่ ที่เจ้าของเก็บสะสมมาเหมือนสมบัติหายากและเพราะต้องจริตต้องรสนิยมของผู้สะสมด้วย.
    ในเมื่อบริบทแวดล้อมชีวิต เป็นแบบจีนๆไปแล้วในยุโรปศตวรรษที่18 เครื่องแต่งกายของคนยุคนั้นก็พลอยนำแบบจีนมาดัดแปลง โดยเฉพาะความนิยมในการสวมเสื้อคลุมแบบ banyan. นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์แพรไหมของจีนที่สั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก ลวดลายผ้า ทั้งผ้าตัดเสื้อและผ้าสำหรับใช้ในการตกแต่งภายใน ทั้งหมดนี้ก็สร้างกระแสแฟชั่นแนวใหม่ (ตัวอย่างเช่น จุดมุ่งหมายสำคัญเมื่อเริ่มตั้งบริษัท Liberty คือการสั่งแพรไหมมาจากจีน ญี่ปุ่น. ต่อมาชาวอังกฤษเองจึงค่อยๆออกแบบผ้าลวดลายธรรมชาติมากขึ้น).
   ยุคนั้น คหบดีหรือชายผู้สูงศักดิ์ นิยมสวมเสื้อคลุมตัวหลวมหน่อยๆ (ที่มหาราชาหรือชนชั้นสูงของอินเดียใช้ เรียกว่า Banyan (จากเสื้อคลุมตัวหลวมๆแบบจีน มาเป็นเสื้อคลุมสไตล์กิโมโน และเราก็คุ้นเคยกับแบบเสื้อคอเนห์รู) แทนเสื้อสูทแบบยุโรป. เป็นเสื้อคลุมราคาแพง ทำจากผ้าดิ้นเงินดิ้นทอง หรือผ้าไหมทอยกดอกสองหน้า หรือผ้าลินินพิมพ์ลวดลาย. ผู้สวมเลือกเสื้อกั๊กตัวในที่มีสีเข้ากับเสื้อคลุม. บางทีก็สวมหมวกดูคล้ายๆผ้าโพกศีรษะของแขกอินเดียด้วย. พวกเขายังจ้างจิตรกรให้วาดภาพเหมือนในชุดดังกล่าวไว้ ถือเป็นความเก๋ ความมีระดับสูงสุดในยุคนั้น.
ภาพเหมือนของ Nicholas Boyston ฝีมือของ John Singleton Copley, 1767. ภาพจาก John Singleton Copley [Public domain], via Wikimedia Commons.
ตัวอย่างเสื้อคลุม Banyan จากอินเดียที่ชาวยุโรปหลงใหลกันมาก ครึ่งหลังศตวรรษที่18. ภาพจากพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art, New York.

    ในทศวรรษที่1920, 1930 กระแสจีนนิยมกลับรุ่งขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อนักออกแบบเสื้อชั้นนำของฝรั่งเศส นำรูปลักษณ์อันประณีตจากอดีตอันรุ่งโรจน์ของราชสำนักจีนมาปรับใช้และสร้างสรรค์รูปแบบแนวใหม่ที่สะท้อนไปถึงวัฒนธรรมจีน เช่นชุดราตรีไหมของ Lanvin ดังภาพข้างล่างนี้ ประดับด้วยแผ่นวงกลมที่ใช้เส้นใยโลหะปักลวดลาย ประดับด้วยแก้ว เป็นแบบที่ลอกเลียนและแต่งเติมขึ้นจากลายบนเกราะมงโกล นำมาประดับเป็นวงใหญ่ๆ เหมือนลูกไม้ทรงกลมขนาดใหญ่ บนชุดราตรีได้อย่างมีศิลป์.
ชุดราตรี ผลงานสร้างสรรค์ของ Lanvin ปี 1924.
ปัจจุบันอยู่ที่ Metropolitan Museum of Art, New York.
ปีเดียวกัน (1924) Callot Soeurs (นักออกแบบเสื้อชาวฝรั่งเศส) ได้ออกแบบชุดราตรีทรงกระสอบที่ดูเรียบง่าย แต่ประดับลวดลายแปลกละเอียดแทรกสลับไปมา เป็นลวดลายจีนผสมผสานกับสไตล์ยุโรป.
แม้ในสมัยใหม่ นักออกแบบชาวยุโรปมิได้ตัดศิลปะจากแดนอารยธรรมอื่นๆออกทิ้ง แต่นำมาดัดแปลงให้เข้ากับจินตนาการสร้างสรรค์ส่วนตัวตามภูมิหลังและวิสัยทัศน์ยุโรป เช่นนี้จึงสร้างรูปแบบแนวใหม่ที่เขาภูมิใจได้ และต่อยอดศิลปะออกไปในทิศทางใหม่หรือทิศทางอื่น.
   ไม่ใช่ชาวยุโรปทุกคนที่หลงใหลหรือชื่นชมกระแสจีนนิยม นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่า เป็นยุคที่รสนิยมถดถอย ถอยหลังเข้าไปในโลกกำกวมของความลุ่มหลงในกามารมณ์ (ที่ชาวตะวันตกคิดว่าเป็นเช่นนั้นในวัฒนธรรมตะวันออก). บ้างประณามว่าเป็นกระแสที่สอดคล้องกับความอ่อนไหว(เชิงโลเลชั่วแล่น)ของผู้หญิงมากกว่า เหมือนอารมณ์ชั่ววูบและจินตนาการพิลึกพิลั่น ที่ไม่มีกฎไม่มีระเบียบ และเป็นสิ่งที่ทำขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้อัจฉริยะของศิลปิน. (cf.Robert Morris ประติมากรชาวอเมริกันผู้วางรากฐานกระแสศิลป์ Minimalism และร่วมอยู่ในวงศิลปิน Land art, installation art เป็นต้น). ศิลปินยุโรปบางคนจึงมองว่าเป็นกระแสที่ขาดตรรกะ ขาดเหตุผลหนุนหลัง ผิดจากแนวของศิลปะที่สืบทอดมาแต่ยุคโบราณที่ตั้งอยู่บนปรัชญา ความงามสุนทรีย์และความสมดุลของรูปลักษณ์ฯลฯ. บ้างคิดว่า กระแสหลงจีนนี้ แสดงให้เห็นความสับสนทั้งทางปัญญากับทางศิลปะของคนยุคนั้น ที่ต้องเผชิญและสัมผัสกับวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบจากต่างแดนและต่างทวีป ที่พวกเขาไม่เคยจินตนาการล่วงหน้ามาก่อนทั้งเนื้อหาและผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา.
---------------------------------   
C-6 >> Clairvoie, Classical, Cloister garden, Clos, Close walk, Clump, Coade stone, Cobble.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/02/c-6-cloister-garden.html
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html

Comments