C-6 Cloister garden

Clairvoie [แกลฺ-วัว] มาจากคำฝรั่งเศส clair ที่แปลว่า โปร่ง ใส  ที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง กับคำว่า voie ที่แปลว่า ทาง รวมกันแล้วใช้เรียกประตูและรั้วเหล็กดัดแบบโปร่งที่ปิดกั้นพื้นที่หรือบอกอาณาเขต. ความโปร่งทำให้มองเห็นภูมิประเทศที่อยู่นอกประตูนั้นออกไป เท่ากับเพิ่มทัศนมิติของสวนที่ขยายออกไปทั้งกว้างและไกล เพิ่มความภูมิฐานแก่สวนนั้น. พื้นที่นอกพรมแดนจึงกลายเป็นองค์ประกอบของสวน เป็นทิวทัศน์ที่ยืมเข้ามาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย. 

สองภาพนี้จากราชอุทยาน Hampton Court (Greater London, UK). มีรั้วเหล็กแบบโปร่ง ลายเรียบง่าย มองข้ามไปไกลสุดสายตา เป็นจุดนั่งเล่นปล่อยอารมณ์ที่วิเศษจุดหนึ่งในพระราชอุทยานแห่งนี้.

รั้วเหล็กแนวนี้ที่พระราชอุทยาน Hampton Court เช่นกัน มีชื่อเสียงเป็นพิเศษ ประดับลวดลายเคลือบสีทอง แน่นอนมีสัญลักษณ์ที่สื่อถึงราชวงศ์
ประตู Vanderbilt ทางเข้าสู่สวน Conservatory Garden ใน Central Park, New York (อยู่ตรงถนนตัดระหว่าง 5th Avenue กับ 105th Street). ที่นั่นระบุว่าเป็นตัวอย่างประตูเหล็กดัดที่สวยงามที่สุดในนครนิวยอร์ค George B.Post สถาปนิกอเมริกันเป็นผู้ออกแบบ และสั่งทำในฝรั่งเศส. ส่วนสวน Conservatory Garden เป็นสวนแบบแผนสวนเดียวใน Central Park (พื้นที่สวน 24,000 ตารางเมตร  ทำเป็นสวนดอกไม้ตามฤดูกาล ตามแบบสวนอังกฤษ สวนฝรั่งเศสและสวนอิตาเลียน). บริเวณนี้ระหว่างปี1898-1934 เคยเป็นที่ตั้งของโรงอภิบาลพืชพรรณ(conservatory) และใช้เป็นชื่อเรียกสวนนี้. เป็นสวนที่ห้ามรถผ่าน ห้ามคนวิ่งออกกำลังในสวนนี้ ทำให้เป็นบริเวณสงบในหมู่ดอกไม้นานาพันธุ์ที่จัดปลูกอย่างสวยงาม ผู้คนเข้าไปนั่งพักผ่อนได้ตามอัธยาสัย. คู่สมรสนิยมไปถ่ายรูปหน้าประตู Vanderbilt Gate นี้ และยังเป็นทางเข้าทางการในงานเลี้ยงประจำปีของคณะกรรมการสตรีเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่รู้จักกันว่า The annual Frederick Law Olmsted luncheon of the Conservancy’s Women’s Committee. จึงเป็นประตู“หน้าตา”ของชาวนิวยอร์คเลยทีเดียว.

สองภาพนี้จากสวน Vrtbovská zahrada กรุงปร้าก (Prague, Czech Republic) สวนนี้เป็นสวนแบบ terraced baroque garden ตั้งบนเนินเขา Petřín Hill ในเขต Malá Strana. พื้นที่แต่ละระดับ มีรั้วเป็นเหล็กดัดเตี้ยๆ บนเนินสูงที่เป็นจุดชมวิวก็เช่นกัน. แนวเหล็กดัดติดไปอย่างเรียบง่ายและเหมาะสม ไม่บดบังตัวอาคารและทำให้ดูโปร่งโล่ง เสริมบรรยากาศของวิญญาณอิสระบนเนินสูงของเมืองปร้าก. ความสะอาดและเรียบง่ายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเดินสวนรู้สึกผ่อนคลายแล้วปิติ. สวนนี้คู่บ่าวสาวหรือหนุ่มๆสาวๆนิยมไปถ่ายรูปเก็บเป็นความทรงจำที่สวยงามในวันสำคัญๆ.

Classical  คำคลาซสิก ใช้เป็นคุณศัพท์อธิบายรูปแบบศิลป์หรือรูปลักษณ์ ลวดลาย แบบสถาปัตยกรรม ดนตรีฯลฯ ที่สืบทอดจากวัฒนธรรมกรีกโรมัน รวมถึงการฟื้นฟูในยุคเรอแนสซ็องส์เป็น Neo-classicism ตั้งแต่กลางศตวรรษที่18. ในบริบทของสวน ส่วนใหญ่เกี่ยวกับแบบสถาปัตยกรรมมากกว่าศิลปะแขนงอื่น เช่นแบบเสาคอลัมภ์ (Architecture orders) อาคารหรือวิหาร (ดูที่ temple) เป็นต้น. ปัจจุบันคำนี้ใช้ในความหมายกว้างมาก ที่รวมไปถึงสิ่งที่มีคุณภาพดีคงที่ไม่ตกยุคหรือมีระดับ.

Cloister garden  มาจากแบบสถาปัตยกรรมวัดหรือโบสถ์คริสต์. คำ cloister จากคำฝรั่งเศส cloître ที่หมายถึงสวนภายในพื้นที่วัดหรือโบสถ์ มีรั้วปิดล้อม โดยทั่วไปต้องเข้าไปในวัด แล้วออกทางประตูทิศใต้ที่เปิดไปสู่บริเวณสวนภายในของวัด. cloister มีทางเดินเหมือนอาร์เขต ล้อมรอบสวนที่อยู่ตรงกลางของพื้นที่. พื้นที่สวนเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส(หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วแต่ที่ตั้งของวัด) ตามแบบสวนเปอเชีย - Chahar Bagh (ดูที่คำนี้). สวนในวัดอยู่ทิศใต้เสมอ เป็นทิศที่รับแสงแดดมากที่สุด เป็นที่ที่นักบวชเดินพักออกกำลัง หรือพบปะญาติสนิทมิตรสหายที่ไปเยี่ยม. ในสมัยกลาง วัดอารามขนาดเล็กที่ไม่มีที่ดินสำหรับเพาะปลูก จะใช้พื้นที่นี้ ปลูกพืชผักบางชนิดเพื่อใช้บริโภค และสมุนไพรแบบต่างๆเพื่อใช้ปรุงยา. หากมีพื้นที่มาก ก็ไม่ทำที่นั่น. สวนจัตุรัสมักเป็นแบบเรียบง่าย มีต้นไม้ใหญ่หนึ่งถึงสองสามต้นเท่านั้น. อารามวัดบางแห่งมีเพียงต้นเดียว ปลูกณมุมหนึ่งของสวนจัตุรัส นิยมให้เป็นต้นไซเพรสซึ่งเติบโตสูงตระหง่านมีอายุยืนยาวหลายชั่วคน. ต้นนั้นจะกลายเป็นดาราเอกของอารามนั้น เช่นที่อาราม Santo Domingo de Silos (ตอนใต้ของเมือง Burgos ประเทศสเปน ดูรูปข้างล่างนี้). บางแห่งตรงกลางสวนมีบ่อน้ำ  น้ำในบ่อมาจากตาน้ำบาดาลใต้ดินตรงนั้น ใช้อุปโภคบริโภคภายในวัด. ในวิถีชีวิตปัจจุบัน บ่อน้ำในสวนจัตุรัสนี้มักถูกปิดหรือมีกระถางดอกไม้เข้าประดับ เพราะเลิกใช้น้ำจากบ่อน้ำนั้นแล้ว.

ภาพสวนจัตุรัส (claustro ในภาษาสเปน) ภายในอารามนักบวช Santo Domingo de Silos [ซันโตะ โดมิ้งโก๊ เด ซี้โลซ(Burgos, สเปน) อารามนี้เป็นอารามที่มีนักบวชอาศัยอยู่และปฏิบัติภาระกิจศาสนาอย่างต่อเนื่องสืบมาตั้งแต่ศตวรรษที่11-12. เคยเป็นศูนย์รวมความรู้ด้านพฤกษศาสตร์และการแพทย์ในยุคกลาง. สวนจัตุรัสที่อารามนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมโรมันเนสก์สเปนที่งามที่สุด. ภายในสวนมีต้นไม้ใหญ่เพียงต้นเดียว เชื่อกันว่านักบวชเบเนดิคตินชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ปลูกต้นไซเพรสนี้เมื่อเขาเดินทางผ่านและมาค้างแรมที่นั่นในราวปี 1882 (เข้าใจว่าเพื่อเดินทางจาริกแสวงบุญต่อไปที่เมือง Santiago de Compostela) ต้นไซเพรสนี้จึงมีอายุร้อยสามสิบหกปีแล้ว. ภาพที่ไปถ่ายมาตอนปลายฤดูหนาว ในยามนั้น นักบวชเพิ่งกลับดินและเตรียมดินเพื่อลงดอกไม้หรือหญ้าสมุนไพร จึงยังไม่มีต้นอะไร. ให้สังเกตสระน้ำหินอ่อนทรงกลมแบบเรียบๆงามตา ตั้งตรงจุดใจกลางของสวนจัตุรัสนี้.
     ปัจจุบันสวนจัตุรัสอาจทำแปลงดอกไม้รอบๆขอบสวน เพราะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปนั่งพักผ่อนได้  เป็นนโยบายการเรียกคนเข้าวัดแบบหนึ่ง บางทีวัดเปิดให้ชุมชนยืมใช้สวนจัตุรัสเพื่อการเฉพาะกิจในวันหยุด หรือเพื่อสาธรณะประโยชน์เช่นจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก จัดนิทรรศการภาพวาดภาพเขียน ประติมากรรมหรืองานสร้างสรรค์อื่นๆ. โดยทั่วไปหากเป็นสวนจัตุรัสในอารามนักบวชที่มีนักบวชอาศัยอยู่ ศึกษาและปฏิบัติภาระกิจศาสนาอย่างสม่ำเสมอ ก็ไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมอื่นใด เพื่อรักษาความสงบของสถานที่. วัดอารามเก่าหลายแห่งขึ้นชื่อในด้านความงามของสถาปัตยกรรมของสวนจัตุรัสนี้ เพราะเสาแต่ละต้นที่เรียงรายโดยรอบสวน มีประติมากรรมจำหลักไว้รอบหัวเสา เป็นหัวบัวที่เล่าเรื่องเป็นฉากเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิลทั้งเก่าและใหม่(chapitaux historiés) หรือเป็นรูปลักษณ์อื่นๆที่เป็นบทเรียนหรือบทเตือนใจ เช่นภาพของบาปเจ็ดชนิดที่คริสต์ศาสนาประณามหรือภาพสัญลักษณ์ของจักรราศี. สวนจัตุรัสจึงเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจของผู้ศึกษาหรือผู้ที่ชื่นชอบศิลปะยุคกลาง. 

สวนในมหาวิหารเมือง Córdoba [ก๊อรโดบา] (แคว้น Andalousia ประเทศสเปน). เดิมเป็นสุเหร่า แล้วแปลงมาเป็นโบสถ์คริสต์ โดยที่ยังรักษาเอกลักษณ์ที่ดีเด่นของศิลปะอาหรับไว้ บริเวณที่เห็นนี้อยู่ด้านหลังของโบสถ์ มีสระน้ำที่ชาวมุสลิมเคยใช้เป็นที่ล้างหน้าล้างมือก่อนเข้าสุเหร่า. รอบๆเป็นสวนจัตุรัส ที่ปลูกต้นส้มไว้ (Patio de los Naranjos). พื้นสวนใช้กรวดก้อนกลมปูปิดทั้งหมด. สถาปัตยกรรมของโบสถ์ที่นั่น ทั้งภายในและภายนอก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 17 เดือนธันวาคม 1984. รอบๆปริมณฑลของเมือง Córdoba ก็เช่นกัน มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว เป็นเมืองที่น่าสนใจที่สุดเมืองหนึ่งของสเปน.
สวนส้มภายในบริเวณโบสถ์เมือง Sevilla [เซบี๊ญา] (แคว้น Andalousia ประเทศสเปน). พื้นสวนส้มปูอิฐปิดทั้งหมด เปิดเป็นร่องเล็กๆลงใต้ระดับพื้นให้น้ำไหลลงสู่ดิน เชื่อมโยงไปทั่วทั้งพื้นสวน. เป็นเทคนิคการสร้างสวนสเปนอาหรับที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในสเปน.
Cloister ที่โบสถ์เมือง Canterbury เป็นที่ฝังศพมาในอดีตด้วย จึงไม่ปลูกดอกไม้หรือต้นไม้ใดๆ ทำสนามราบเรียบให้คนเข้าไปเดินหรือนั่งพักผ่อน. ในประเทศอังกฤษ พื้นที่สวนที่เป็น cloister นั้น บางทีด้านหนึ่งเปิดสู่ถนนชุมชนเลย ทำให้ประชาชนเดินเข้าออกสวนได้ตามอัธยาสัย. หลุมศพที่ฝังไว้กลางสนามหญ้าแบบนี้ ไม่ทำให้ใครหวาดกลัว ผู้คนดูเหมือนจะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา.
สวนในมหาวิหาร Salisbury (UK) ปลูกพืชสมุนไพรรอบขอบสวน

โบสถ์บางแห่งในสหราชอาณาจักร มีพื้นที่สนามรอบด้านเลย เช่นกรณีของโบสถ์ที่เมือง Exeter ในวันอากาศดี เป็นที่พักผ่อนของชาวเมืองอย่างแท้จริง และไม่มีการกั้นพื้นที่เลย พูดได้ว่าสนามรอบๆโบสถ์เป็นส่วนหนึ่งของเมือง มิได้เป็นพื้นที่ในความดูแลของวัดอย่างเฉพาะเจาะจงเช่นสวนจัตุรัสภายในวัด.
มุมหนึ่งใน The Little Cloister ภายในวิหาร Westminster Abbey ปลูกพืชสมุนไพรรอบๆสวนสี่เหลี่ยมจัตุรัส นักบวชผู้เดินไปมาใต้อาร์เขต ได้กลิ่นพืชสมุนไพรที่ช่วยชูกำลัง เจาะจงไว้ว่าเป็นที่สำหรับนักบวชพักผ่อนหลังจากการเจ็บป่วย.
ลานสวนภายในวิหาร Westminster Abbey (ที่เรียกว่า The Garth) นั้นเป็นที่ให้นักบวชเดินออกกำลังและพักสายตา มีพุ่มไม้สี่เหลี่ยม ที่ปลูกพันธุ์ไม้แน่นจนทึบและตัดผิวหน้าเรียบเสมอกัน สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ จึงเอื้อให้นักบวชผู้เดินไปมาในสวนนี้มีจิตสดชื่น.
สวนติดวิหารทางทิศใต้ของ Basilica of St.Castorวัด ที่เมือง Koblenz. ปีที่ไป เขาทำเป็นสวนดอกไม้หลากสีสันพร้อมน้ำพุด้วย. เป็นสวนดอกไม้ที่สวยงามที่สุดที่เคยเห็นในวัดวิหารหรืออารามใด. เดือนที่ไปเป็นช่วงที่เมือง Koblenz เป็นผู้จัดมหกรรมพืชสวนและสวน (BUGA จัดทุกสองปี) ในประเทศเยอรมนี (ปี2011). ติดตามอ่านรายละเอียดได้ที่ลิงค์นี้

Clos  [โกลฺ] เป็นคำฝรั่งเศส  ใช้เรียกสวนปิดเล็กๆภายในสวนใหญ่. คำนี้มาจากคำละตินว่า clausum ความหมาย ที่ปิด บอกให้รู้ว่าเป็นสวนที่ใช้ส่วนตัวเฉพาะผู้เป็นเจ้าของ. ในปัจจุบันบริเวณนี้ ก็ยังเป็นบริเวณที่ปิดสำหรับคนภายนอก (จึงไม่มีโอกาสเข้าไปเดินชม). 

Close walk เป็นทางเดินแคบๆ โดยเฉพาะระหว่างรั้วหรือกำแพงต้นไม้ที่ตัดและขลิบเรียบเป็นแนวยาว (hedge)
ทางเดินที่ขีดสีแดงๆ ระหว่างกำแพงต้นไม้

ตัวอย่างของทางเดินระหว่างกำแพงต้นไม้สองข้างที่แคบพอดีสองคนเท่านั้น. มองไปสุดทางเดินเห็นรูปปั้นสีขาวๆ ตั้งไว้เป็นสิ่งดึงดูดสายตา (eye-catcher) ล่อให้เดินไปดู เป็นนโยบายการกระตุ้นให้เดินไปรอบๆสวนทุกมุม). ภาพจากอุทยาน Sissinghurst Castle Garden (Kent, UK)

Clump คือต้นไม้หรือพุ่มไม้พันธุ์เดียวกัน (เช่นต้น beech ถ้าในเอเชียเป็นดงไผ่ก็น่าจะใช้การได้) ที่ปลูกรวมกันเป็นกลุ่มโต เห็นได้ชัดเจนจากที่ไกลๆ โดยเฉพาะบนไหล่เขาหรือบนยอดเนิน  เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นที่หลบลมหลบฝนได้ในยามกระทันหัน. สวนอังกฤษส่วนใหญ่มีทุ่งหรือเนินหญ้ากว้าง ไม่มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่ม แต่หากมีกลุ่มต้นไม้หย่อมหนึ่ง คนและสัตว์ก็อาจเข้าไปนั่งพักผ่อนใต้ร่มของต้นไม้กลุ่มนี้ รวมทั้งไปปิกนิกใต้ร่มเงาของต้นไม้ (ในแบบเดียวกับที่ชาวญี่ปุ่นชอบไปปิกนิกใต้ต้นซากุระ). ในกรณีของสวนสัตว์หรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ กลุ่มต้นไม้เป็นหย่อมใหญ่แบบนี้เป็นที่พักกำบังลมและฝนของฝูงสัตว์ได้เป็นอย่างดี. ในออสเตรเลีย ฝูงวัวและแกะอยู่ในธรรมชาติตลอดทั้งปี ไม่มีคอกวัวหรือคอกแกะให้อย่างเพียงพอกับวัวหรือแกะทุกตัว  วัวหรือแกะจะเข้าพักใต้ร่มไม้แบบนี้. ในศตวรรษที่ 19 มีคำ clumping ใช้อธิบายการแปลงทางเดินสายใหญ่ในสวนโดยจัดกลุ่มต้นไม้เป็นหย่อมๆ.
ต้น Linden Trees ปลูกรวมกันเป็นวงกลม ใต้ร่มไม้เป็นที่นั่งพักที่แสนวิเศษ ได้ออกซิเจนเต็มปอดแน่นอน. ภาพจากพระราชอุทยาน Fredensborg (Denmark).

หากปลูกต้นไม้ติดกันมาก พื้นที่วงกลมภายในน้อยลง แบบนี้เป็นที่หลบฝนของกวางหรือสัตว์เล็ก. สวนป่าศักดิ์สิทธิ์ของชาวเคลต์ ก็ใช้ต้นไม้ปลูกเป็นวงล้อม(กว้างกว่านี้สองสามเท่า) จัดเป็นบริเวณประกอบพิธี แต่อาจไม่ใช้ต้นไม้พันธุ์เดียวกันทั้งหมด เพราะชนเผ่านี้มีความเชื่อในสรรพคุณของต้นไม้ชนิดต่างๆ จึงเลือกต้นไม้ที่มาปลูกเรียงกันอย่างมีนัยสำคัญ จัดเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์. ภาพนี้จากพระราชอุทยาน Fredensborg (Denmark).
หากไม่ปลูกเป็นหย่อมๆ แต่ปลูกเป็นแนวติดๆกันไป เท่ากับสร้างทัศนมิติของสวนไปด้วย ใต้ต้นไม้ตามแนวนี้ ก็เป็นที่หลบแดดหลบฝนจนเป็นที่นอนพักได้อย่างดี. ภาพจากพระราชอุทยาน Hampton Court (London,UK).
ต้นไม้สำคัญเพียงใดนั้น แค่ดูสวนเล็กๆในหมู่บ้านที่จัดพร้อมบริการความสงบสุขใจแก่ทุกคน ก็คงตระหนักถึงบทบาทของต้นไม้ในชีวิตประจำวัน. ภาพจากเมืองเล็กที่ติดใจไม่รู้ลืม Appenzell (สวิตเซอแลนด์)  

Coade stone เป็นหินปลอมจากวัสดุเซรามิคที่ Mrs. Eleanor Coade (1733-1821) เป็นผู้ทำขึ้นและนำออกขายระหว่างปี 1769-1833  โดยใช้นามสกุลของนางเอง เรียกหินปลอมที่นางคิดทำขึ้นได้สำเร็จ เป็น Coade Stone. อาคารและคฤหาสน์แบบ Georgian style เป็นแบบสถาปัตยกรรมระหว่างปี 1720-1840 และตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่หนึ่ง, สอง, สามและสี่ผู้ครองราชย์ติดต่อกันมา. วัสดุก่อสร้างคืออิฐหรือหินเป็นสำคัญ และมักเป็นสีแดงๆ, สีน้ำตาลทอง(สีแทน-tan), หรือสีขาว. การก่อสร้างอาคารและบ้านแบบนี้เป็นจำนวนมากในกรุงลอนดอน ทำให้เกิดความต้องการหินเป็นจำนวนมาก. หินปลอมที่ Mrs. Eleanor Coade คิดผสมขึ้นจากวัสดุต่างๆที่นางเก็บเป็นความลับ แต่เชื่อกันว่ามาจากส่วนผสมของเซรามิคกับดินเหนียวโดยผ่านกระบวนการเผาในเตาณอุณหภูมิเฉพาะเจาะจง. การทำนี้ต้องอาศัยความชำนาญในการทำ จนได้วัสดุที่แข็งแรงและทนทาน นำมาใช้แทนหินอ่อน เพราะมองดูเหมือนหินอ่อนและทนแดดทนฝนกว่าด้วย มีสีเทาๆไปจนถึงสีเหลืองอ่อนๆ และผิวหน้าของหินปลอมนี้ก็ไม่เป็นเงา. โรงงานผลิตหินปลอมของนาง Coade ได้ผลิตวัสดุแบบต่างๆสำหรับการใช้ที่สอดคล้องกับการก่อสร้างในแต่ละแบบ  จึงมีแบบต่างๆออกขายให้ช่างเลือกไปใช้ได้เลย. มีผู้นำหินปลอมนี้ไปเนรมิตรูปปั้นหรือประติมากรรมแบบต่างๆประดับสวน. โรงงานผลิตหินปลอมของนางประสบความสำเร็จมาก แต่เมื่อนางถึงแก่กรรมลง กิจกรรมก็เสื่อมลงในที่สุดล้มละลายในปี1833. ความจริงจากการสังเกต เราดูออกได้ไม่ยากว่ารูปปั้นใดเป็นหินอ่อน รูปปั้นใดเป็นหินปลอม. หลังจากนั้น Portland cement จะกลายเป็นหินปลอมแบบใหม่ต่อมา แต่สู้ coade stone ไม่ได้ ในที่สุดไม่เป็นที่นิยมจึงตกรุ่นไปในทศวรรษที่ 1840.

Cobble  เป็นกรวดก้อนกลมที่ถูกน้ำขัดเกลามานาน ถ้าเป็นขนาดใหญ่มากเรียกว่า boulder ที่เป็นหินขนาดใหญ่ผิวกลมเกลี้ยง (ที่ใช้ประดับเช่นในสวนญี่ปุ่น) ถ้าเป็นขนาดเล็กๆ เรียกว่า pebble. นิยมใช้กรวดกลมๆรีๆ ผิวเกลี้ยงปูพื้นทางเดินทั้งในเมือง ในสวนหรืออุทยาน. 
พื้นลานกว้างครึ่งวงกลม ณ Plaza de España [ปล๊าธา เด เอ๊ซปาญา] (Sevilla ประเทศสเปน) ปูด้วยกรวดผิวเกลี้ยงสีขาวสลับกับสีดำ เป็นลวดลาย เหมือนการทำพรมปักลาย หรือการทำพรมสนามหญ้าประดับดอกไม้ (parterre). ผิวพื้นที่นั่น แม้ปูด้วยกรวดหินแต่กลับให้ความรู้สึกนุ่มเท้าเหมือนเดินบนพื้นหินอ่อน. มีนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวผู้เดินชมเมืองมาทั้งวัน ลงนอนพักเหนื่อยบนพื้นนั้นเลย.
ลานสวน Patio principal ลานสวนใหญ่ตรงทางเข้าวัง Palacio de Viana [ปาล๊าธีโอ เด วีอาน่า] (เมือง Córdoba ประเทศสเปน) ใช้กรวดสองสีปูพื้นเป็นลายสี่เหลี่ยม ดูหมือนแผ่นกระเบื้องปูพื้น.
-------------------------------
C-7 >> College garden, Collonade, Column, Compartiment, Compost, Conceit, Concrete, Conservative wall.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/02/c-7-college-garden.html
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html

Comments