Conservatory
คำนี้ใช้ในความหมายเดียวกับคำ greenhouse, คำ orangery (บางทีนิยมเขียนเป็น
orangerie ตามภาษาฝรั่งเศส), คำ palm house และคำ hothouse ทั้งห้าคำใช้เรียกอาคารเรือนกระจกที่สร้างขึ้นเพื่อการเพาะชำ
อภิบาลและปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะพันธุ์ไม้ที่ไม่อาจทนต่ออากาศหนาวจัดได้. แต่ละแห่งเลือกใช้คำที่เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่และวิสัยทัศน์ของผู้เป็นเจ้าของ
คนอื่นๆก็เรียกตามนั้น.
ในยุโรป เป็นอาคารสำคัญอาคารหนึ่งของสวนหรืออุทยานขนาดใหญ่.
เรือนเพาะชำในสมัยแรกๆนั้นมิได้เป็นเรือนกระจก เป็นอาคารก่ออิฐหรือหิน
หนักและตันเลย(เช่น orangery
ที่พระราชวัง Blenheim [เบล็นเน็ม] หรือที่พระราชวังแวร์ซายส์ ดูภาพข้างล่างต่อไป) และเคยใช้เป็นที่เก็บอาหารระหว่างฤดูหนาว
เช่นผลไม้อย่างแอปเปิล
ต่อมาจึงใช้เพื่อการเพาะชำและอภิบาลพืชพรรณ.
Crystal Palace เป็นอาคารเรือนกระจกขนาดใหญ่ที่เป็นที่กล่าวขวัญกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ Joseph Paxton (1803-1865 ด้วยความร่วมมือของ Charles Fox วิศวกรโครงสร้าง)
อาคาร Orangery ที่พระราชวัง Blenheim (Oxfordshire, UK) ปัจจุบันกลายเป็นภัตตาคารหรู และเป็นที่จัดงานเลี้ยงฉลองทุกประเภทรวมทั้งจัดพิธีสมรสด้วย.
คำ conservatory และคำ greenhouse ไม่เจาะจงพืชพันธุ์ไม้ใด
ส่วนคำ orangerie มาจากคำ orange จึงเป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเพาะและปลูกต้นส้มและต้นมะนาว (ตระกูล citrus fruits เช่น ส้ม มะนาว มะกรูด)
ในเขตหนาว. โดยทั่วไปในยุโรป พืชตระกูลส้มเขาปลูกลงในกระถางขนาดใหญ่
เมื่ออากาศอบอุ่นขึ้น จะย้ายกระถางทั้งหลายออกไปตั้งประดับสวนข้างนอกอาคาร.
อาคารปลูกส้มแบบนี้อาจมีขนาดใหญ่โตมาก เหมือนตำหนักหนึ่งในพระราชวัง.
ต่อมาเมื่อเลิกเพาะปลูกส้มแล้ว (ด้วยเหตุผลใดก็ตาม) ก็ปรับปรุงอาคารมาใช้เป็นตำหนักที่อาศัยหรือเพื่อกิจกรรมอื่น. ตัวอย่างที่ปารีส
อาคาร Orangerie [ออร้องเจอรี] กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ (Musée de l’Orangerie)
แสดงจิตรกรรมอิมเพรสชั่นนิซึมในศตวรรษที่19 ที่นั่นมีภาพชุดสระบัวของจิตรกรเอกโมเนท์
(les Nymphéas [เล แน็งเฟ-อะ]).
ภาพอาคาร Orangerie ที่ปารีส ในพื้นที่สวนสาธารณะ
หนึ่งในนิทรรศการถาวรภายในพิพิธภัณฑ์
คือจิตรกรรมขนาดใหญ่และยาว ชุดบัว Les Nymphéas [เล แน็งเฟ-อะ] ของ Claude Monet ดังตัวอย่างภาพข้างบนนี้. ภาพของ Brady Brenot, 17 September 2017.
[CC BY-SA 4.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)], via Wikimedia
Commons.
คำ palm house ชื่อบอกให้รู้ว่าเป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อปลูกต้นพันธุ์ปาล์ม
ที่เป็นต้นไม้เขตร้อน.
ต้นปาล์มที่ปลูกในเขตอากาศหนาวจึงปลูกอย่างถาวรภายในเรือนกระจกขนาดใหญ่ที่สูงมาก. สถิติระบุว่าต้นปาล์มที่สูงที่สุดคือพันธุ์ปาล์มที่เป็นต้นไม้ประจำชาติของโคลัมเบียในทวีปอเมริกาใต้
ที่สูงถึง60เมตร. ดังตัวอย่างอาคารต้นปาล์มข้างล่างนี้.
อาคาร Palm house ที่สวนคิว (สร้างระหว่างปี1844-1848 ที่ Kew Gardens, London) เจาะจงสร้างสภาพอากาศและอุณหภูมิภายในให้เป็นป่าดิบชื้น(rainforest). อาคารนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เป็นภาพไอคอนของสวนคิว. ในสวนคิว ยังมีอาคารเรือนกระจกอีกหลายหลัง. ภาพนี้จากเว็ปเพจทางการของสวนคิวเอง.
อาคารกระจก Palm house ในบริเวณพระราชวัง Schönbrunn (สร้างระหว่างปี1880-1882 ที่กรุง Vienna, Austria) เป็นหลังสุดท้ายและหลังใหญ่ที่สุดในภาคพื้นทวีปยุโรป
(พื้นที่ 2,500 ตารางเมตร
พื้นที่กระจกทั้งหมด 4,900 ตารางเมตร
อาคารยาว 111 เมตร กว้าง 28 เมตรและสูง25 เมตร).
การสร้างเรือนกระจกเพื่อพืชพรรณนั้น
ถือกันว่า เชิดหน้าชูตาสวนและประเทศ บ่งบอกวิสัยทัศน์กว้างไกลและลุ่มลึกเกี่ยวกับโลกและสังคม
เป็นความตระหนักรู้ในมิติต่างๆของระบบนิเวศที่ต้องดูแลอนุรักษ์เพื่อความอยู่รอดของสรรพชีวิต.
Palm house ไม่หรูหราแต่พอเพียงภายในสวนพฤกศาสตร์
ของมหาวิทยาลัย
Oxford
(UK)
ส่วนคำที่ห้า
hothouse เน้นอุณหภูมิภายในที่อบอุ่นถึงร้อน. สรุปว่า อาคารเรือนกระจกสร้างขึ้นสำหรับต้นไม้ที่มาจากระบบนิเวศอื่น.
การเรียกชื่อนอกจากสี่คำสามัญดังกล่าวมา
บางทีก็เรียกตามประเภทต้นไม้ที่ปลูกอยู่ภายใน (เช่น Palm House, Cactii House, Fern House,
Camellia House). บางทีเน้นบอกอุณหภูมิภายใน (เช่น Temperate House,
Hot House). บางทีจัดสวนในอาคารสำหรับการเยือนชมต้นไม้ในฤดูหนาวในประเทศที่อยู่ใกล้แถบขั้วโลกเช่นฟินแลนด์
ที่มี Winter Garden ที่เมือง Helsinki หรือ Winter Garden ในบริเวณ People’s Palace เมือง Glasgow (Scotland).
ตึกใหญ่สีอิฐในภาพข้างบน
ชื่อ People’s Palace (Glasgow, Scotland) เป็นพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์จนถึงทศวรรษ1940 แล้วเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สังคมของเมืองกลาสโกว
เล่าชีวิตของชาวเมืองและความเป็นมาของเมืองกลาสโกวตั้งแต่ปี1750เป็นต้นมา. บนลานกว้างหน้าตึก
มีประติมากรรมน้ำพุทรงกลมขนาดใหญ่ (เรียกกันที่นั่นว่า
Doulton
Fountain) ทำด้วยดินเผา (terracotta) ทั้งหมด. เป็นประติมากรรมน้ำพุ
terracotta
ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก.
ด้านหลังตึกสีอิฐ
เป็นเรือนกระจก(ที่นั่นเจาะจงใช้คำ conservatory) สร้างประกบติดเข้ากับตัวตึกพิพิธภัณฑ์เลย. ภายในจัดเป็นสวนเล็กๆเรียกกันว่า Winter Garden. ปลูกต้นปาล์มและพืชเมืองร้อนหลายชนิดที่เติบโตในนั้นเลย
เพราะมันทนความหนาวของอากาศเมืองกลาสโกวไม่ได้.ภาพถ่ายจากด้านหลัง
เห็นโครงสร้างของเรือนกระจกเต็มตา.
ภาพโดย Finlay McWalter, 3 September
2005. จากเว็ปเพจ >>
https://commons.wikimedia.org/wiki/File%3AWfm_peoples_palace_back.jpg
ภายใน
มีต้นปาล์มสูงๆหลายต้น และต้นอื่นๆบ้างเล็กน้อยรวมทั้งไม้ดอกล้มลุกจากเขตร้อน. มีมุมบริการอาหารแบบง่ายๆ ชากาแฟหรือเครื่องดื่มอื่นๆ.
แบบจำลองบริเวณที่ตั้ง
People’s Palace เห็นสระน้ำพุทรงกลมใหญ่
และอาคารพิพิธภัณฑ์กับเรือนกระจกที่ต่อกันเลย.
ตั้งแต่ปี 1568 ในตอนใต้ของเมือง Kassel (Germany) มีการสร้างอาคารเรือนกระจกกันแล้ว แต่ตั้งอยู่ได้ไม่นานก็ล้ม ชำรุดเสียหายไป. ไม่นานต่อมา ชาวเยอรมันสร้างอาคารแบบใหม่ขึ้น
คราวนี้ให้ส่วนที่เป็นหลังคาเท่านั้นที่เคลื่อนย้ายหรือยกออกได้. เรือนกระจก“ฝาครอบ”ที่ยกขึ้นลงได้แห่งแรก อยู่ที่สวน Pilnitz (Dresden) เนรมิตขึ้นอย่างเจาะจงเพื่อต้นกาเมเลียที่ได้จากประเทศญี่ปุ่น และเป็นต้นแบบเรือนกระจกแก่โลก. ถือกันว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ของตระกูลสาย Markgraf (หรือ Margrave ในภาษาอังกฤษ) ผู้ครองเมือง Dresden ในยุคนั้น.
เรือนกระจกแบบเคลื่อนย้ายได้
พออากาศดี อุณหภูมิสูงขึ้น ก็ยกออก เปิดให้ต้นไม้หายใจเต็มที่
พออากาศหนาวก็นำมาครอบลงใหม่.
ตัวเรือนกระจกรุ่นล่าสุด สร้างในปี 1992 ตั้งบนฐานที่มีราง เมื่อต้องการเปิดรับอากาศธรรมชาติ
ก็จะเลื่อนบานกระจกไปข้างๆ. “ฝาครอบ”นี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางและความสูง13.2เมตร มีน้ำหนักถึง54ตัน. ต้นกาเมเลียที่ปราสาท Pilnitz มีอายุราว 230 ปี สูง 8.60 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นราว 11 เมตร
ยังคงออกดอกทุกปีระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน.
ต้นกาเมเลียที่นั่น ดอกชั้นเดียวสีแดง พันธุ์ดั้งเดิมยอดนิยมในญี่ปุ่น
อายุกว่า230ปี ที่ปราสาท Pilnitz (Dresden, Germany)
บางทีในระหว่างฤดูร้อน
มีการนำไปตั้งแยกห่างออกไปและใช้พื้นที่ภายในจัดนิทรรศการเกี่ยวกับต้นไม้ดอกไม้นี้
ทั้งทางจิตรกรรมจากญี่ปุ่นและยุโรป วรรณกรรม (เช่นนวนิยายเรื่อง La Dame aux camelias ของ Alexandre
Dumas ปกหนังสือของเรื่องนี้ที่ชาติต่างๆนำไปแปล
โปสเตอร์ละครเป็นต้น)
และดนตรี (เช่นโอเปร่าเรื่อง La
Traviata ของ Verdi ภาพโปสเตอร์การแสดง).
ในปี1632เยอรมนีเนรมิตอาคารต้นส้ม Orangery ที่ตั้งติดดินอย่างถาวรเป็นอาคารแรก มีระบบทำความร้อนติดตั้งไว้อย่างสมบูรณ์. การปลูกพันธุ์ส้มหลังจากนั้นได้ผลดี.
ในยุโรปส่วนใหญ่นิยมปลูกต้นส้มลงในกระถางขนาดต่างๆ แล้วแต่ความสูงใหญ่ของต้นส้มที่เพาะได้. ในฤดูร้อนกระถางต้นส้มเหล่านั้นถูกนำออกไปประดับสวนข้างนอกอาคาร. ปลายศตวรรษที่17 สวนต่างๆในเยอรมนีต่างมีอาคารต้นส้มกันทั้งนั้น
และตั้งแต่ศตวรรษที่19 ทุกประเทศต่างอยากมีอาคารเรือนกระจกขนาดใหญ่ตามแบบอาคาร
Crystal Palace ในอังกฤษ (ดูต่อไปข้างล่างนี้).
ส่วนหนึ่งของพระราชอุทยานแวร์ซายส์
เห็นพื้นที่ทั้งหมดของบริเวณ Orangerie
มีสระน้ำใหญ่ทรงกลม
พื้นสวนประดับด้วยปาร์แตร์(parterre)
ลวดลายสีเขียวบนพื้นสีทราย. พออากาศอบอุ่นขึ้นเช่นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไป
คนสวนนำกระถางหรือลังต้นไม้ทั้งหมดออกมาตั้งเรียงรายประดับไปรอบๆแปลงปาร์แตร์ทั้งหกแปลง.ภาพจากเว็ปเพจทางการของพระราชวังแวร์ซายส์.
ชมการจัดแปลงสวนปาร์แตร์และทัศนมิติที่ตรึตาตรึงใจ.
ตึกชั้นเดียวที่เห็นในทั้งสองภาพข้างล่างนี้คือ
Orangerie ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระราชวังแวร์ซายส์. อาคาร Orangerie ที่เคยมีณที่นั้น สร้างตั้งแต่ปี1663
ยี่สิบปีต่อมา มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นสองเท่า ทั้งทางยาวและทางกว้าง
ที่เป็นผลงานของสถาปนิก Jules Hardouin-Mansart (1684-86).
เส้นสีแดงตอนบนของภาพบอกตำแหน่งแกลลอรีกลางของอาคาร
Orangerie
เมื่อเดินมาจากพระราชวัง(ที่มองเห็นส่วนของตึกที่สูงไกลออกไปจากระเบียงลูกกรงเหนือแกลลอรีกลาง). อาคาร Orangerie อยู่ระดับต่ำกว่าพื้นที่ตั้งพระราชวังที่อยู่บนเนินสูงกว่า. เส้นสีแดงด้านข้างเป็นทางเดินปีกขวาของอาคาร Orangerie.
ปีกขวาของอาคาร Orangerie เส้นสีแดงบอกเส้นทางเดินบนดาดฟ้าของอาคาร. ตรงดอกจันเป็นบันไดขึ้นลง เรียกว่า “บันไดร้อยขั้น” (Escaliers des Cent Marches) มีบันไดทั้งปีกขวาและปีกซ้าย.
ภาพบันไดร้อยขั้น ของ Copyleft, 15 June 2012. (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0),
via Wikimedia Commons.
กำแพงของอาคาร Orangerie หนา4-5เมตร หน้าต่างกระจกทั้งหมดประกอบด้วยกระจกสองชั้น
เช่นนี้ความหนาของกำแพงและหน้าต่างทำให้รักษาอุณหภูมิภายในอาคารที่ไม่เคยลดลงต่ำกว่า
5°C จึงเป็นที่กำบังและอภิบาลต้นไม้ทั้งสิ้นประมาณ 1200 ต้นระหว่างฤดูหนาว มีต้นส้ม ต้นมะนาว ต้นปาล์ม ต้นยี่โถพันธุ์ดอกชมพู ต้นทับทิมเป็นสำคัญ.
ภายใน Orangerie โล่งกว้างมากเมื่อขนต้นไม้ทั้งหมดออกไปรับแดดรับฝนตามฤดูกาลในธรรมชาติ และเมื่อนำกลับเข้าไป ก็เหลือที่ไม่มากนักดังในภาพข้างบนนี้. ภาพจากเว็ปไซต์ทางการของพระราชวังแวร์ซายส์.
เล่ากันว่าพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่
ทรงให้รวบรวมและจัดหาต้นส้มจากที่ต่างๆทั้งจากวังอื่นๆและส่งคนไปนำมาจากประเทศอิตาลี
สเปนและปอร์ตุกัล. ข้าราชสำนักทั้งหลายต่างก็พยายามหาความดีความชอบด้วยการถวายต้นส้มของพวกเขาเอง
การขนส่งต้นส้มจากที่ต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันพระราชหฤทัย
ทำกันแม้ในฤดูหนาวที่ทำให้ต้นส้มตายลงไปไม่น้อย. ถึงกระนั้น Orangerie ที่แวร์ซายส์ ยังเป็นคลังสะสมต้นส้มที่สำคัญที่สุดในยุโรป.
ภาพจากเว็ปไซต์ทางการของพระราชวังแวร์ซายส์.
ต้นไม้ทั้งหลายอยู่ในกระถางแบบลังไม้สี่เหลี่ยมทาสีเขียวๆ(ที่แวร์ซายส์ใช้แต่สีนี้เท่านั้น). มีชื่อเรียกลังไม้แบบนี้อย่างเฉพาะเจาะจงว่า Versailles case เพราะเริ่มทำขึ้นใช้ที่นั่น. คำทั่วไปคือ planter
box หรือ container แบบต่างๆ. สวนใหญ่ๆ เขาทำตามแบบของพระราชอุทยาน Versailles เลย. ลังต้นไม้ถูกนำออกมาเรียงนอกอาคารรับลมรับแดดในธรรมชาติ. สวน อุทยานหรือสวนพฤกษศาสตร์ในทุกประเทศตอนบนของยุโรปที่มีอากาศหนาวเย็น
เลี้ยงดูพืชพันธุ์ส้มด้วยวิธีเดียวกันนี้. ส่วนภาคใต้ที่มีอากาศอบอุ่นกว่า
พันธุ์ส้มและมะนาวสามารถขึ้นได้ตามธรรมชาติ จึงปลูกลงดินเลย เช่นทางใต้ของสเปน
ปลูกต้นส้มสองข้างถนนไปตลอดแนว. ปัจจุบันมีหน่วยบริการ(ชื่อ Jardins
du Roi Soleil) สร้างลังต้นส้ม ดัดแปลงใหม่ให้รัดกุมดีกว่าเดิม จากแบบที่หัวหน้าคนสวนและสถาปนิก
André Le Nôtre ได้ประดิษฐ์ขึ้นในศตวรรษที่17 และได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ผูกขาดการทำและการขายแต่ผู้เดียวพร้อมกำกับผลิตภัณฑ์ด้วยข้อความว่า
«
Château de Versailles ® » ในเน็ตเจาะจงด้วยว่ามีหลายขนาดให้เลือกซื้อไปใช้
(นอกจากลังปลูกต้นส้มแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกที่เป็นแบบของแวร์ซายส์โดยเฉพาะ).
ตัวอย่างโครงสร้างของลังปลูกต้นส้ม (caisses à orangers)
ตามต้นแบบของพระราชอุทยานแวร์ซายส์ในสมัยก่อน
ลังในสมัยปัจจุบัน ทั้งหมดถอดออกเป็นสี่ชิ้นได้. เห็นชัดว่านอกจากจะสะดวกในการดูแลรากและการเปลี่ยนดินเมื่อจำเป็นเพราะเปิดลังได้ เป็นลังแข็งแรง ทนทาน สวยเรียบและน่าใช้. ดูรายละเอียดได้จากเว็ปเพจทางการของพระราชวังแวร์ซายส์.
Crystal Palace เป็นอาคารเรือนกระจกขนาดใหญ่ที่เป็นที่กล่าวขวัญกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ Joseph Paxton (1803-1865 ด้วยความร่วมมือของ Charles Fox วิศวกรโครงสร้าง)
อาคาร Crystal
Palce มองจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (จากถนน Knightsbridge Road).
ภาพนี้ปรากฏในหนังสือของ Dickinson ที่ชื่อว่า Comprehensive Pictures of the
Great Exhibition of 1851 หนังสือนี้พิมพ์ออกมาในปี1854.
ภาพนี้นำมาจาก Read & Co. Engravers & Printers, 12 May 2016. [Public domain], via Wikimedia Commons.
ภาพนี้นำมาจาก Read & Co. Engravers & Printers, 12 May 2016. [Public domain], via Wikimedia Commons.
Crystal Palace สร้างขึ้นภายในอุทยาน Hyde Park กรุงลอนดอน เพื่อใช้เป็นอาคารจัดแสดงมหกรรมวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมนานาชาติ (The Great
Exhibition) ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคมถึงวันที่ 15 ตุลาคม ปี 1851. เป็นอาคารเรือนกระจกทั้งหลัง ยาว 563 เมตร กว้าง 138 เมตร สร้างแล้วเสร็จภายในเวลาเพียงเก้าเดือน.
ภายในประดับด้วยต้นไม้ใหญ่และประติมากรรมขนาดใหญ่
ซึ่งยิ่งเน้นความมเหาฬารของอาคารและยืนยันอัจฉริยภาพของผู้สร้าง ความสำเร็จด้านวิศวกรรม
ความมหัศจรรย์ด้านสถาปัตยกรรมและเทคนิคการก่อสร้าง. ผู้เข้าชมต่างตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก. แทบไม่ต้องพูดถึงสิ่งที่นำไปโชว์อื่นใดเลย ตัวอาคาร Crystal Palace เอง เป็นสิ่งประดิษฐ์สุดยอดชิ้นหนึ่งที่อังกฤษนำออกเสนอและอวดชาวโลก. สถิติระบุว่า
ชาวอังกฤษหกล้านคน ซึ่งเท่ากับหนึ่งในสามของประชากรอังกฤษในยุคนั้น ไปเที่ยวงานมหกรรมอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (พระราชินีวิคตอเรียเสด็จไปสามครั้ง).
ภาพพิมพ์สีเล่าเหตุการณ์
พระราชินีวิคตอเรียเสด็จไปเปิดงานมหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ (เรียกกันติดปากว่า The Great Exhibition) ที่ Crystal Palace ในอุทยาน
Hyde
Park (London) ในปี 1851. ภาพนี้เป็นผลงานของศิลปิน Louis Haghe (1806-1885) ปี 1851. [Public domain],
via Wikimedia Commons. ปัจจุบันอยู่ที่ Victoria and Albert Museum.
รายได้จากงานนี้เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายแล้วยังมีกำไรอีกประมาณ
186,000 ปอนด์ (ค่าของเงินจำนวนนี้ในปี1851 นั้น เทียบเป็นมูลค่าเกือบ 16,190,000 ปอนด์ในปี 2010). เงินรายได้จำนวนนี้เองที่รัฐบาลอังกฤษนำไปใช้สร้าง Victoria and Albert
Museum (พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรม), Science Museum (พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์) และ Natural History Museum (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา) ทั้งยังจัดกองทุนส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านอุตสาหกรรมที่สหราชอาณาจักรสืนสานต่อมาจนถึงทุกวันนี้.
งานมหกรรมปีนั้นยิ่งใหญ่สมดังพระราชประสงค์ของสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียผู้ต้องการให้ชาวโลก(และชาวฝรั่งเศสโดยเฉพาะ)
เห็นความอลังการของทุกอย่างที่อังกฤษจัดขึ้นว่ามหัศจรรย์ยิ่งกว่างานมหกรรมปี 1844 ที่ฝรั่งเศสเป็นผู้จัดในกรุงปารีส. งานมหกรรมนานาชาติปีนั้นได้รวมผลงานอัจฉริยะของชาวอังกฤษในแขนงต่างๆ
ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม
ศิลปะและพืชพรรณไม้แปลกใหม่ที่อังกฤษได้มาจากแดนไกล
ทั้งหมดรวมกันเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งโรจน์ของรัชสมัยวิคตอเรีย
ยืนยันสถานภาพของอังกฤษในเวทีโลก ว่าอังกฤษเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม
(เป็นที่รู้กันว่าประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกที่นำการปฏิวัติอุตสาหกรรม. อุตสาหกรรมในยุคนั้นครอบคลุมไปถึงการเกษตร
การผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรมและโรงงานด้วยเครื่องจักรเครื่องยนต์ขนาดใหญ่
การเหมืองแร่ และการคมนาคม). เมื่องานมหกรรมสิ้นสุดลง มีการย้ายอาคาร Crystal Palace ไปตั้งที่ Sydenham Hill ทางใต้ของกรุงลอนดอนในปี1854. น่าเสียดายที่อาคารทั้งหลังถูกไฟเผาเสียหายหมดในวันที่ 30 พฤศจิกายนปี 1936. Crystal Palace ได้เป็นต้นแบบของอาคารเรือนกระจกขนาดใหญ่ๆทั้งหลายที่สร้างขึ้นต่อๆมาในยุโรป.
ชมตัวอย่างอาคารอภิบาลพืชพรรณจากที่ต่างๆต่อไปนี้
นี่คืออาคาร Temperate
House (Kew Gardens)
สำหรับต้นไม้ที่ต้องการอากาศอบอุ่นพอสมควรแต่ไม่ถึงกับร้อนหรือแห้งมาก.
เรือนกระจกแบบแรกๆ ในพระราชอุทยาน Nymphenburg
(ชานเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี)
อาคารต้นส้มอาคารใหม่ Neue Orangerie
ส่วนหนึ่งในพระราชอุทยาน Sanssouci (Potsdam, Germany)
ภาพมุมสูงที่ตั้งของอาคาร
Neue
Orangerie จากเว็ปไซต์การท่องเที่ยวแห่งกรุงแบร์ลิน. ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์. https:/www.berlin.de/tourismus/fotos/sehenswuerdigkeiten-fotos/1355714-1355138.gallery.html
ด้านหน้าของสถานีรถไฟ
Atocha
[อ่าโต๊-ฉะ] กรุงแมดริด ประเทศสเปน.
สองภาพนี้เป็นห้องโถงใหญ่ของสถานีรถไฟ
Atocha หนึ่งในสถานีสำคัญของกรุงแมดริด ประเทศสเปน เป็นชุมทางรถไฟทั้งรถไฟท้องถิ่น
รถเร็ว รถด่วนหรือรถไฟความเร็วสูง (AVE > tren de alta velocidad). ภายในสถานีรถไฟ จัดเป็นสวนเหมือนอาคารเรือนกระจกเพื่ออภิบาลพืชพรรณเมืองร้อนที่มีพันกว่าสายพันธุ์
รวมทั้งพืชต่างๆอีก 260 สายพันธุ์จากทวีปอเมริกา
เอเชียและออสเตรเลีย และยังมีสระน้ำเลี้ยงเต่าด้วย. ในขณะเดียวกันก็มีที่ตั้งของหน่วยบริการต่างๆของการรถไฟแห่งประเทศสเปน
รวมทั้งมุมอาหารและเครื่องดื่ม ที่นั่งพักของผู้โดยสารระหว่างรอรถไฟ ทั้งยังมีระบบฉีดความชื้นพ่นลงมาจากเพดานตลอดเวลาเพื่อลดความแห้งระอุยามอากาศร้อนจัด. นับเป็นสถานีที่ “เขียว”ที่สุดและที่สดชื่นที่สุดเพราะพืชพรรณที่ปลูกอยู่ภายในมอบออกซิเจนชั้นดีให้แก่คน.
เป็นตัวอย่างสุดยอดของจิตสำนึกและอุดมการณ์การครองชีวิตของชาวสเปน
ที่ยังไม่เคยมีชาติใดทำมาก่อน. การจัดสถานีรถไฟ“เขียวด้วยสวน”ที่นั่น
เริ่มมาตั้งแต่ปี1992.
--------------------------------------
C-9 >> Coppice, Corbeille, Corinthian, Coronary
garden, Cottage garden, Court, Courtyard garden.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/02/c-9-courtyard-garden.html
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/02/c-9-courtyard-garden.html
เมนูหนังสือ
ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html
Comments
Post a Comment