C-11 Curiosity

Curiosity แปลว่า สิ่งแปลกประหลาด, ความอยากรู้อยากเห็น. เป็นที่รู้กันว่า การค้นพบแผ่นดินใหม่ของโคลัมบัสในปี1492 เมื่อเขานำเรือ Santa Maria ไปเทียบฝั่งแผ่นดินใหม่ ที่เขาเชื่อว่าคือทวีปเอเชีย (ในความเป็นจริงเขาไปขึ้นชายฝั่งตะวันออกของประเทศนิคารากัวปัจจุบัน) ได้พลิกผันวิสัยทัศน์ของชาวยุโรปจากหน้ามือเป็นหลังมือ. กล่าวสรุปโดยย่อที่สุดคือ หลังจากนั้นเป็นต้นมา การเดินเรือเพื่อค้นหาแผ่นดินใหม่ ค้นหาเส้นทางเพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนกับมุมอื่นๆของโลก ถูกยกขึ้นเป็นธุรกรรมเร่งด่วนอันดับหนึ่งในยุโรป. ประวัติศาสตร์ยืนยันข้อเท็จจริงว่า การค้า“ของ”เปลี่ยนไปรวมการค้า“คน”, การแลกเปลี่ยนกลายไปเป็นการเข้ายึดครอง แล้วลงเอยด้วยสงครามชิงความเป็นจ้าวทะเลในหมู่ชาวยุโรปกันเอง.
ภาพทวีปอเมริกาในเชิงอุปมาอุปมัย ผลงานปี1666ของ Jan van Kessel the Elder (1626-1679). [Public domain], via Wikimedia Commons. The Continent of America. ปัจจุบันอยู่ที่ Alte Pinakothek (München, Germany). ทวีปอเมริกาเป็นส่วนหนึ่งในภาพชุดสี่ทวีปของเขา. ก่อนหน้านั้น ยุโรปยังคิดว่าโลกมีสามทวีปคือยุโรป เอเชียและแอฟริกา. การเดินเรือทำให้ได้ค้นพบทวีปอเมริกาเป็นทวีปที่สี่. เอกลักษณ์หนึ่งที่แสดงไว้ชัดเจนในภาพใหญ่ตรงกลางเกี่ยวกับทวีปอเมริกา คือชนเผ่าอินเดียนแดงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หญิงและชาย. ภาพสัตว์ประเภทต่างๆในภาพเล็กๆทั้งหมดสิบหกภาพที่ล้อมรอบภาพใหญ่. ภาพจิตรกรรมชุดนี้มิได้เน้นความถูกต้องของเนื้อหา เป็นเพียงภาพนัยสัญลักษณ์ที่แฝงความชื่นชมเกี่ยวกับยุโรปในฐานะที่เดินทางออกไปสำรวจโลกและที่นำไปสู่การสร้างอาณานิคมของชาวยุโรปในทวีปต่างๆ.
ภาพทวีปเอเชียในเชิงอุปมาอุปมัย ผลงานของ Jan van Kessel the Elder, 1666. [Public domain], via Wikimedia Commons. The Continent of Asia. ปัจจุบันอยู่ที่Alte Pinakothek (München, Germany). เช่นกันในภาพเอเชียก็มีภาพเล็กสิบหกภาพล้อมรอบภาพใหญ่ตรงกลางที่รวมรูปลักษณ์ของชาวอาหรับ(ชาวเติร์ก)ไว้ชัดเจน เห็นพรม มีสุเหร่าไกลออกไป. ถ้าดูให้ดี ในภาพตรงกลาง เห็นรูปปั้นของพระอ้วนๆแบบจีน. แต่เราต้องไม่ลืมว่า เอเชียในความเข้าใจของชาวยุโรปยุคนั้นหมายถึงเอเชียตะวันออกกลางเป็นสำคัญ นั่นคือพวกมุสลิมที่ชาวยุโรปคุ้นเคยมากแล้วตั้งแต่สงครามครูเสดในต้นศตวรรษที่12. หนังสือของ Marco Polo (1254-1324) ชื่อ Book of the Marvels of the World หรือ The Travels of Marco Polo ในยุคนั้น ไม่มีคนให้เครดิตเขานักทั้งๆที่เขาเดินทางอยู่ในเอเชียตะวันออกกลางไปถึงจีนอยู่นานถึง 24 ปี  ต้องรออีกหลายร้อยปีกว่าจะมีการพิสูจน์จัดทำแผนที่เส้นทางเดินทางและรายละเอียดต่างๆที่เขาบันทึกไว้ว่ามีความคลาดเคลื่อนน้อยมากแม้หลายร้อยปีผ่านไป(โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับประเทศจีน). อย่างไรก็ดีหนังสือของ Marco Polo ได้สร้างฝันให้หลายๆคนเช่นคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส.
ภาพทวีปแอฟริกาในเชิงอุปมาอุปมัย ผลงานของ Jan van Kessel the Elder, 1672. ภาพจากเว็ปเพจนี้. ระบุว่าจาก Private Collection. มีภาพเล็กๆของสิงสาราสัตว์ และคนผิวดำ. คนหนึ่งถือกล้องยาสูบแบบยาวๆในมือ โยงเป็นข้อมูลไปถึงการปลูกต้นยาสูบ ที่กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของชาวอเมริกัน.
ภาพเปลือกหอยแบบต่างๆที่นำมาร้อย เรียงกันเป็นสิ่งประดับหรือเป็นหน้ากาก ผลงานของ Jan van Kessel the Elder เช่นกัน [Public domain], via Wikimedia Commons. เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความหลงใหลในเปลือกหอยแบบต่างๆของคนยุคศตวรรษที่17. ภาพนี้ปัจจุบันอยู่ที่ Fondation Custodia (Paris, France).
    ปัญญาชนยุโรปตื่นตัวกันมากที่สุด ทุกสิ่งที่กองเรือยุโรปไปขนมาได้จากต่างถิ่นต่างแดน สร้างความพิศวงหลงใหล  ต่างแย่งชิงอยากได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เพียงแต่เครื่องเทศ ผลิตภัณฑ์เกษตร แพรไหมฯลฯ. แย่งกันซื้อมาเก็บ เริ่มการสะสมสิ่งแปลกใหม่. สรรพวัตถุที่ชาวยุโรปนำมาประดับในที่อยู่อาศัย กลายเป็นของมีค่าราคาแพง เป็นความภูมิฐาน เป็นหน้าตา เป็นใบประกาศวิทยฐานะของผู้เป็นเจ้าของ.
    Curiosity ในความหมายของความอยากรู้อยากเห็น มิได้เป็นอัตลักษณ์ของคนเท่านั้น แต่สิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์อื่นๆก็มีได้เช่นกัน. ความอยากรู้เกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อเผชิญอะไรแปลกใหม่ ไม่เข้าใจหรือสงสัย. เป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่การเสาะแสวง การค้นหา การค้นพบและการรับรู้สิ่งใหม่ๆ. เป็นฐานของประสบการณ์ การพัฒนาทักษะ ความคิดและสติปัญญาให้กว้างออกๆ. เป็นกุญแจสำคัญของวิทยาศาสตร์และวิทยาการทั้งหลายทั้งปวงรวมถึงกฏหมาย.
    ตั้งแต่ยุคเรอแนสซ็องส์เป็นต้นมา ความอยากรู้อยากเห็นของชาวยุโรปก้าวข้ามธรณีประตูวัดวาอาราม พุ่งโลดไปพ้นเส้นขอบฟ้าอย่างไม่หวาดหวั่น. เกิดเป็นวัฒนธรรมของความอยากรู้ ที่ครอบคลุมการศึกษาวัตถุโบราณ ธรรมชาติวิทยา มานุษยวิทยา คติชนวิทยา เครื่องกลจักร ทัศนศิลป์เป็นต้น. กลายเป็นเครือข่ายต่อเนื่องไปหลายสาขาวิชา สร้างพื้นที่ความรู้แหล่งใหม่ๆ รวมไปถึงการจัดตั้งห้องแสดงสิ่งแปลกๆใหม่ๆ (cabinet of curiosities) ที่เป็นต้นกำเนิดของพิพิธภัณฑ์ในที่สุด. เจ้านายในราชสำนักต่างๆแข่งกันสะสมสิ่งแปลกๆใหม่ๆเหล่านี้.
ภาพพิมพ์ของหน้าภาพนำ (frontispiece) ของหนังสือ Musei Wormiani Historia ปี1655 แสดงให้เห็นห้องสะสมสิ่งแปลกประหลาดของ Ole Worm (1588-1654, แพทย์ชาวเดนมาร์ก). ภาพจาก Wikimedia.org [Public domain].
ภาพนี้ถ่ายจากพิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert Museum (London) เป็นหนังสือของนายแพทย์ Ole Worm เอง ภาพห้องสะสมสมบัติอัศจรรย์ของเขาซึ่งคือห้องภายในบ้านของเขาเองที่เดนมาร์ก. เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เข้าใจนำเปลือกหอยหลายชนิดมาวางประกอบข้างๆ.
ก่อนอื่นคำว่า cabinet ในความหมายดั้งเดิมหมายถึง ห้อง (ความหมายของห้อง ยังคงอยู่ในคำเมื่อใช้เรียก คณะรัฐมนตรี ว่า the Cabinet เพราะมีห้องเฉพาะสำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี) ส่วนความหมายของ ตู้ เช่นตู้ยา ตู้เก็บของมีค่า ใช้ทีหลัง. การสะสมสิ่งต่างๆในหมู่ชาวยุโรปนั้นมีมานานแล้วเช่นสะสมภาพจิตรกรรมศาสนา พรมทอ หนังสือสวดมนต์. แน่นอนผู้สะสมคือกษัตริย์ ชนชั้นสูง พ่อค้าคหบดีผู้ร่ำรวยและกลุ่มแพทย์กลุ่มนักคิดนักวิจัยในสังคมยุคนั้น. การจัดห้องรวมสรรพสิ่งสะสมอย่างเป็นกิจจะลักษณะที่เรียกกันทั่วไปในยุโรปว่า cabinet of curiosities เริ่มขึ้นในศตวรรษที่16 เมื่อการสะสมสิ่งแปลกๆใหม่ๆจากต่างแดนต่างทวีป กลายเป็นความลุ่มหลงอยากรู้อยากเห็นอย่างจริงๆจังๆ จนเป็นภาพลักษณ์ของอำนาจ เกียรติยศและสติปัญญา.
    เมื่อดูภาพรวมของห้องที่เก็บวัตถุทั้งหลายเหล่านี้ ในยุคสมัยนั้น สำหรับผู้ที่ไม่เคยท่องเที่ยวออกไปจากเมืองจากแผ่นดินเกิดแล้ว ทั้งหมดจึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ จนเหมือนของขลังไปเลย. ห้องแบบนั้นจึงเป็น Cabinet of Wonder ที่ตรงกับคำในภาษาเยอรมันว่า Kunstkammer มีนัยของความไพศาล (ประหนึ่งจักรวาล) หรือเทียบว่าเป็นโรงละครโลก หรือเวทีความทรงจำ และโดยปริยายโยงไปถึงอำนาจของผู้เป็นเจ้าของว่าประหนึ่งผู้กำโลกไว้ในมือ. การจัดทำห้องสะสมแบบนี้จึงเป็นวิธีโฆษณาชวนเชื่อแบบหนึ่ง. เช่นห้อง Kunstkammer ของจักรพรรดิ Rudolf II (ครองราชย์ระหว่างปี 1576-1612) ที่อยู่ในปราสาท Hradschin กรุงปร้าก เป็นสุดยอดของคลังสะสมที่หาที่ใดเทียบไม่ได้ เป็นที่พักผ่อนที่โปรดปราน เป็นที่ตรึกตรอง ที่ฝันและแน่นอนเป็นที่แสดงอำนาจที่อยู่ในมือของพระองค์ เมื่อพระองค์พาทูตานุทูตและผู้มีอิทธิพลจากต่างชาติ ชมคลังสะสมของพระองค์ที่นั่น. 
Ferdinand II, Archduke of Austria (ลุงของ Rudolf II) ก็มีคลังสะสมที่พิเศษมากภายในปราสาท Schloss Ambras ที่เมือง Innsbruck, Austria. ปราสาทนี้ตั้งขึ้นแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่10 และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปี1880. ตกเป็นสมบัติของประเทศออสเตรียในปี1919 และตั้งแต่ปี1950 อยู่ในการบริหารจัดการของพิพิธภัณฑ์ออสเตรีย Kunsthistorisches Museum มาจนทุกวันนี้.

ตู้เรียงราย ยาวตลอดกำแพงห้องโถงใหญ่ในห้อง Chamber of Art and Curiosities (หรือ Kunst- und Wunderkammer) (เฉพาะกำแพงนี้มีสิบแปดตู้) รวมสรรพสิ่งในคลังสะสมจากที่ต่างๆ. ส่วนใหญ่เป็นของมีค่า เป็นเนรมิตศิลป์ฝีมือช่างทองของยุโรป เช่นงาช้างแกะสลัก หลายชิ้นไปจากจีนและญี่ปุ่น. (ภาพจากเว็ปเพจของปราสาทดูตัวอย่างสมบัติสะสมอื่นๆได้ในลิงค์นี้. 
ห้องสรรพาวุธ (Die Rüstkammern) เป็นคลังอาวุธทุกประเภท รวมชุดเกราะแบบต่างๆ โล่อาวุธและทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการรบการต่อสู้ในยุคนั้น รวมถึงภาพเหมือนของผู้บัญชาการทหารที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์. Ferdinand II ต้องการให้ปราสาท Ambras เป็นภาพสะท้อนของความสำคัญของราชวงศ์ Habsburg ในประวัติศาสตร์ยุโรป. ดูภาพตัวอย่างที่ไปถ่ายมาเองข้างล่างนี้





หัวกวางที่ล่ามาได้ เป็นสิ่งยืนยันความกล้าหาญ ความฉลาดปราดเปรียว
และความเป็นผู้ดีของชนชั้นสูงในค่านิยมของชาวยุโรป


ห้องสเปน Der Spanische Saal (Spanish Hall) สร้างให้เป็นห้องลีลาศและเป็นที่จัดงานเลี้ยงฉลอง ห้องยาว 43 เมตรประดับด้วยจิตรกรรมภาพเหมือนเต็มตัวของเจ้าผู้ครองแคว้น Tirol(ตั้งแต่ Count Albrecht I ถึง Ferdinand II ผู้เป็นนักสะสมศิลปวัตถุทั้งหลายส่วนใหญ่ที่มีที่นั่น) ทั้งหมด 27 ภาพ. ปัจจุบันห้องสเปนนี้ใช้เป็นที่แสดงดนตรีเช่นในเทศกาล Innsbruck Early Music Festival.
ตัวอย่างของมีค่าที่ไปชมได้ที่นั่น

รูปปั้นโครงกระดูกจากไม้ต้นแพร์ในท่าเอียงตัวและน้ำหนักลงที่ขาข้างหนึ่ง(ที่เรียกกันว่า contrapposto ในศัพท์ศิลปะ) เข้าใจว่าเนรมิตขึ้นพร้อมกับอนุสาวรีย์ของจักรพรรดิ Maximilian I. ผลงานของ Hans Leinberger ราวปี1520.
เรือแจวแบบกอนโดลาเนรมิตขึ้นในศตวรรษที่16 เป็นของเล่นกล (automaton) เมื่อไขลาน คนแจวเคลื่อนมือขึ้นๆลงๆ สตรีที่นั่งในเรือก็ทำมือดีดพิณ เกิดเสียงดนตรี.
งาช้างจีนจำหลักจากศตวรรษที่17 เชื่อกันว่ามีแปดรูป 
แทนเทพผู้อนุรักษ์อุปถัมภ์จิตวิญญาณตามความเชื่อในลัทธิเต๋า. 
ตุ๊กตาหยกแบบจีน จำหลักเป็นรูปเด็กผู้หญิงบนหลังสิงโต. 
สนใจดูสิ่งสะสมแปลก สวย พิเศษ ได้ในหน้าเพจนี้. 
   สรรพวัตถุประหลาดที่คนสะสมกันในยุคศตวรรษที่16,17 นอกจากประติมากรรมและจิตรกรรม เหรียญโรมัน (ที่ชนชั้นสูงสะสมกันมาตั้งแต่ยุคกลาง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือวัตถุแปลกๆจากต่างแดนหรืออะไรที่หายากราคาแพง แล้วก็ชิ้นส่วนจากสัตว์ทุกประเภท (ตากแห้งหรือยัดไส้ หรือสต๊าฟไว้) เช่น เขาวัว เขากวาง งาช้าง อุ้งเท้าหมีหรือสิงโต กรามหรือขากรรไกร (เช่นของปลาวาฬ) ขนนก ปะการัง ครีบปลา ก้างปลาทั้งตัว แมลง อาวุธจากชนเผ่า
. ในยุคต่อๆมา เพิ่มเครื่องลายคราม ขวดแบบต่างๆ นาฬิกา ตะเกียง แจกัน ของประดับตั้งโต๊ะ หุ่นกลไขลาน สมุดที่เก็บพืชพันธุ์อัดแห้ง(herbarium) หินแร่ หิน ยางไม้ เครื่องมือเครื่องใช้ของชนเผ่าเช่นจาก Aztec ในเม็กซิโก เสื้อผ้าชนเผ่า(ของอินเดียนแดงเป็นต้น) เครื่องสวมหัวของหัวหน้าเผ่า ฯลฯ. ทั้งหมดนี้นำไปสู่การจัดแยกประเภทสิ่งสะสมในเวลาต่อมา แบ่งตามแขนงวิชาเช่นธรรมชาติวิทยา ธรณีวิทยา ชาติพันธุ์วิทยา โบราณคดีศึกษา ศาสนา(อัฐิธาตุ) ประวัติศาสตร์ ศิลปะ จิตรกรรม วัตถุโบราณ. กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ประเภทต่างๆไปในสมัยใหม่. สิ่งสะสมเหล่านี้มีส่วนอย่างยิ่งในการผลักดันการศึกษาค้นคว้าเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา ปูทางไปสู่ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเป็นต้น. พฤกษศาสตร์เป็นแขนงสำคัญที่เป็นผลมาจากการเก็บพืชพันธุ์จากดินแดนแถบต่างๆของโลก การพัฒนาพันธุ์พืช การขนย้ายการเพาะปลูกพืชข้ามทวีปเป็นต้น.
     The British Museum ก็ตั้งขึ้นมาจากสิ่งสะสมทั้งหลายทั้งปวงที่ส่วนใหญ่มาจากนายแพทย์ Sir Hans Sloane (1660–1753) ผู้รวบรวมตลอดระยะเวลาสิบห้าเดือนที่เขาเป็นแพทย์ประจำกองทัพเรือเวสต์อินดีสของอังกฤษที่เกาะจาไมกา เขารวบรวมตัวอย่างพืชพรรณต่างๆกว่าแปดร้อยชนิดกลับไปอังกฤษในปี1689 และแต่งหนังสือสองเล่มชื่อ Natural History of Jamaica พิมพ์ในปี 1707 และ1725. เขาเป็นผู้จัดตั้ง The British Museum ในปี 1753 และเปิดแก่สาธารณะตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมปี1759 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร. ปัจจุบัน (มีอายุ265ปี) มีศิลปวัตถุที่เก็บในคลังสะสมถาวรราวแปดล้านชิ้น นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่เป็นอันดับห้าในโลก. 
ดูตัวอย่างของสะสมที่มีในห้องหนึ่งชั้นล่างของ British Museum หลายสิ่งหลายอย่างไม่มีคำอธิบายประกอบ ข้อมูลแต่ละชิ้นคงหายไปด้วย 
ห้องโถงยาวมีตู้กระจกทั้งที่ติดกำแพงและตู้ตั้งเป็นระยะๆ
ตู้เครื่องปั้นดินเผาจากกรีซโบราณ
ตู้เครื่องทองสัมฤทธิ์จากที่ต่างๆ ค้นพบในเกาะอังกฤษบ้าง จากต่างแดนบ้าง. 
กล่อง The William Allen Box จากศตวรรษที่17 เป็นตัวอย่างสิ่งสะสมส่วนตัวของ William Allen (1808-1897) ผู้เก็บชิ้นส่วนเหล่านี้จากดินแดนโรมันบนเกาะอังกฤษ. ในกล่องนี้มีเข็มกลัดเสื้อแบบต่างๆและปิ่นปักผม ทำด้วยทองสัมฤทธิ์.
กล่องยาสมุนไพร(material medica) ของนายแพทย์ Sir Hans Sloane ผู้สถาปนา British Museum. กระดาษโน้ตข้อความในแต่ละช่องเป็นลายมือของเขาเอง อธิบายสรรพคุณของยาในแต่ละช่อง. เช่นเอาเขาวัวมาขูดๆใช้เป็นยาถอนพิษได้.
เปลือกหอยในตู้นี้ Reverend Clayton Mordant Cracherode มอบให้แก่ British Museum ในปี 1799. ได้จากมหาสมุทรแปซิฟิกและทวีปอเมริกาเหนือ. .ให้สังเกตว่าเปลือกหอยสมัยนั้นบางตัวมีไข่มุกหลายเม็ดในนั้น.
เปลือกหอยนี้(Nautilus shell) ได้มาจากมหาสมุทรอินเดีย เป็นสิ่งที่ชาวยุโรปยุคนั้นหลงใหลอย่างยิ่งและยินดีจ่ายเงินไม่อั้นเพื่อเป็นเจ้าของ ได้มาแล้วก็ยังให้ช่างทองชาวยุโรปนำเปลือกหอยไปประดิษฐ์ แถมวาดภาพละเอียดยิบของแมลงชนิดต่างๆประดับ แล้วเนรมิตเป็นเครื่องใช้หรือเครื่องประดับโต๊ะอย่างสวยงาม. ชิ้นนี้ถ่ายภาพมาจาก Victoria & Albert Museum.
ภาชนะรูปลักษณ์แปลกๆจากต่างแดน หนึ่งในสิ่งสะสมของ Sarah Sophia Banks (1744-1818) น้องสาวของ Sir Joseph Banks (นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยา ผู้ได้เดินทางไปกับกองเรือสำรวจของ Captain James Cook, 1768-71, เป็นผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์ที่ Kew Gardens และประธานราชสภา-The Royal Society).
ภาชนะทองสัมฤทธิ์สำหรับเผาเครื่องหอมจากญี่ปุ่น(ศตวรรษที่18) รูปนกกระสา ที่เป็นนกมงคลในค่านิยมของชาวญี่ปุ่น . สมบัติชิ้นนี้จาก Sir Augustus Wollaston Franks (1826-1897) เขาเป็นนักสะสมคนสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันดีในยุคนั้น ได้มอบคลังสะสมของเขารวมทั้งซื้อสิ่งอื่นๆมาให้ British Museum อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตของเขา.
ไม้จันทน์หอมแกะสลัก ฝีมือเยี่ยมจากอินเดีย

ตะเกียงสุเหร่าจากตุรกี เครื่องปั้นดินเผาจากสุสานอ็อตโตมันของ Bayezid II ราวปี 1510 เป็นเครื่องเซรามิคชิ้นแรกที่ Frederick Du Cane Godman ซื้อและได้มอบให้แก่ British Museum ในปี 1897 พร้อมกับเซรามิคชิ้นอื่นๆของเขา.
หนังสือหน้าหนึ่งในสารานุกรมวัตถุโบราณของนายแพทย์ Richard Mead แสดงภาพมือที่ประดับตกแต่งแบบต่างๆ. ชาวโรมันทำรูปปั้นมือทองสัมฤทธิ์และประดับด้วยเต่ากับงูสามหัว บางทีก็มีหัวแกะด้วย (ในศตวรรษที่1-2). มือรูปลักษณ์ทำนองนี้คือสัญลักษณ์ของเทพ Sabazius  มีขนบพิธีการอัญเชิญและแห่แหนรูปปั้นมือนี้ไปประดิษฐานในวิหารเฉพาะที่สร้างอุทิศให้เทพองค์นี้. เป็นตัวอย่างที่แสดงว่าชาวโรมันรับขนบความเชื่อจากดินแดนอื่นมาปนด้วย. เชื่อกันว่าเทพนี้มาจากชนเผ่าโบราณในซีเรียหรืออานาโตเลีย.
ตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ระบุชื่อเจ้าของตั๋ว เมื่อวันพุธที่ 3 มีนาคมปี 1790 เวลาบ่ายโมง แต่ละใบในยุคนั้นมีชื่อกำกับ และยังระบุชื่อเจ้าหน้าที่ผู้เตรียมตั๋วด้วย. แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว การเข้าชม British Museum (หรือ Victoria & Albert Museum เป็นต้น) ไม่เสียเงินใดๆ (แต่มีตู้รับเงินบริจาค).
    จนทุกวันนี้ค่านิยมในการเก็บสิ่งของแปลกๆยังคงมีในหมู่ปัญญาชนชาวยุโรปและแม้ในหมู่สามัญชนทั่วไป. อย่างน้อยมีเปลือกหอยชิ้นสองชิ้นไว้ดู วางบนโต๊ะ บนตู้ บนหิ้งหนังสือ แค่วางเปลือกหอยสองชิ้น มันเปลี่ยนความรู้สึกของคน(ที่มีจิตละเอียดประณีต)ได้ดีพอควรทีเดียว เหมือนสร้างความหวัง กระตุ้นจินตนาการ หรือพาเขาหลุดออกจากความจำเจ ความจำกัดของชีวิตประจำวัน.
    สิ่งสะสมแบบนี้คนไทยมองว่าเป็นสิ่งดักฝุ่น จริงเหมือนกัน แต่อาจมีค่าด้านจิตใจสำหรับผู้เก็บรักษาสิ่งนั้นมา อาจมีความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งนั้นที่คนอื่นไม่รู้ไม่เข้าใจหรือไม่สนใจ อาจเป็นสิ่งเตือนใจเขาและสุดท้ายก็เป็นมรณานุสติได้เช่นกัน.
    กลับมาสู่คำ ความอยากรู้อยากเห็น เราไม่ลืมเช่นกันว่า มันกลายเป็นกุญแจสำคัญในการศึกษาพฤติกรรมของสัตว์และการพัฒนาอุปนิสัยของคนตั้งแต่วัยเยาว์, ในการวิเคราะห์สิ่งกระตุ้นความใคร่รู้และความพร้อมของสมองที่โยงไปถึงความพร้อมในการปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่ๆหรือที่แตกต่างกัน.
    ในสังคมปัจจุบัน หลายคนไม่ชอบให้คนอื่นอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวในชีวิตส่วนตัวของเขา โดยเฉพาะพวกที่หากินกับเรื่องราวชีวิตของคนอื่น. คนจำนวนมากยังขาดจิตสำนึกเรื่องสิทธิของการมีชีวิตส่วนตัว หรือขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับขอบเขตของสิทธิเสรีภาพของพลเมือง.
    สุดท้ายด้านจิตวิทยา คนที่อยากรู้อยากเห็น ก็กลายเป็น “สิ่งน่ารู้น่าสนใจ” ไปด้วย (นั่นคือ a curious individual is himself an object of curiosity) และสำหรับบางคน คนที่ไม่เคยสนใจอะไรจริงจังเลย ก็เป็น “สิ่งน่าศึกษา” เช่นกัน.
-------------------------------- 
D-1 >> Dam, Deciduous, Deer park, Dell, Diary, Dipping well, Doric order, Dovecote, Dreamstone, Drive, Dutch style.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/03/d-1-dutch-style.html
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html

Comments