Greenman (แปลตามตัวว่า
คนเขียว) เราเรียกว่า“มนุษย์พืช”.
รูปลักษณ์ของมนุษย์พืช ปรากฏในศิลปะโรมันเนสก์และกอติค
เป็นประติมากรรมจำหลักนูนบนกำแพงหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของโบสถ์ใหญ่ๆในยุโรป
เช่นจำหลักลงบนหินประดับตอนบนสุดของเสา(ตำแหน่งของหัวบัว). เป็นใบหน้าคนหรือสัตว์แฝงตัวในกิ่งไม้ใบไม้(เช่นกิ่งโอ๊ค)
โดยมีกิ่งไม้ใบไม้ทะลุออกจากปาก ตา จมูกหรือหู
(ส่วนใหญ่จะทะลุออกทางปากมากกว่าแบบอื่น) บางทีก็เห็นเพียงตาและจมูก. ในมุมมองหนึ่งอาจถือว่า
มนุษย์พืชเป็นพยานแห่งความเชื่อที่คนเคยมีเกี่ยวกับรุกขเทวดา หรือวิญญาณผู้ตายที่เข้าไปสิงหรือถูกกักไว้ในต้นไม้. ความเชื่อดังกล่าวปรากฏในตำนานของชนหลายเชื้อชาติทั้งตะวันตกและตะวันออก.
ใบหน้าแบบนี้มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ
บันทึกเป็นรูปลักษณ์ตามสักการะสถานและสืบทอดมาเป็นแบบประดับวัดคริสต์ในยุคต่อๆมา.
เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิ. ในเทศกาลฉลองเดือนพฤษภาคม (เรียกกันมาว่า May Day
processions เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่อากาศเริ่มอบอุ่น
ธรรมชาติรอบข้างผลิใหม่อ่อนโยน เป็นเดือนที่อากาศดีและธรรมชาติสวยที่สุด ในจิตสำนึกของชาวอังกฤษและชาวยุโรป)
ในเทศกาลดังกล่าว มีชายคนหนึ่งแต่งตัวชุดเขียวทั้งหมด เรียกว่าเป็น Jack of the
Green เป็นผู้เต้นระบำนำขบวนแห่. อังกฤษสนใจ greenman เป็นพิเศษ ภาพลักษณ์ของมนุษย์พืช
เป็นลวดลายประดับที่ออกนอกบริบทของวัด แพร่สู่ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับสวน.
ธรรมเนียมการจำหลักใบหน้าคนในมวลใบไม้นั้น
นิยมกันมานานแล้วในยุโรปภาคเหนือ ก่อนที่จักรวรรดิโรมันจะแผ่อำนาจไปถึง. ศิลปะโรมันสมัยคริสต์ศตวรรษที่1 มีรูปคนตัวจิ๋วเล่นอยู่ในหมู่กิ่งไม้ใบไม้ หรือรูปครึ่งคนครึ่งใบไม้.
รูปลักษณ์แบบนี้จำหลักประดับเป็นแถบยาวบนกำแพงวัดทั่วจักรวรรดิโรมันตั้งแต่ตุรกีไปถึงแถบลุ่มแม่น้ำไรน
ยังเป็นแบบประดับในศิลปะอินเดียตั้งแต่ศตวรรษที่8. ภาพมนุษย์พืชที่เก่าที่สุดในอังกฤษ
มาจากศตวรรษที่12. ชาวยุโรปสร้างแบบใบไม้ที่ดูเหมือนหน้าคน แล้วต่อมาเปลี่ยนให้ใบไม้พุ่งออกจากปากคนเหมือนหนวดพืช. รูปลักษณ์หลังนี้เริ่มจำหลักเป็นครั้งแรกบนหินสุสานของนักบุญ Abre [อ๊า-เบรอ] ใกล้เมือง Poitiers [ปัว-ติเย่] ในฝรั่งเศส หลังจากนั้นกลายเป็นแบบประดับแบบหนึ่งในศิลปะกอติคของถิ่นนั้น.
ในศิลปะเคลต์ ลวดลายหลักๆคือรูปลักษณ์สอดเกี่ยวไขว้กันไปอย่างซับซ้อน
เหมือนพุ่มไม้ที่กิ่งแผ่หนาแน่นสอดไปมา. บางทีดูเหมือนหน้าตาของสัตว์หรือคน หรือเป็นหน้าคนในกอใบไม้.
ศิลปะแบบนี้สลายหายไป เมื่อชาวโรมันเข้ารุกรานดินแดนของชนเผ่าโกล. ถึงกระนั้นศิลปินในยุคจักรวรรดิโรมันยังคงชื่นชอบลวดลายใบไม้. ภาพมนุษย์พืชรุ่นแรกๆลอกเลียนจากจิตรกรรมน้อยที่ประดับหนังสือโบราณ. ส่วนใหญ่ใบหน้าหวาดระแวง แอบแฝงกายหลังพุ่มไม้ใบไม้. สรรพสิ่งเหมือนได้สูญเสียอัตลักษณ์ของตนเพราะการปลอมแปลงตัวไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง. ภาพมนุษย์พืชเต็มตัวมีน้อยมาก.
นอกจากใบหน้าคนแล้วยังมีใบหน้าของสัตว์ มองดูเหมือนแมว เสือหรือมังกร. ต่อมาในยุคที่โลกตื่นทอง
ยุคที่สังคมละเลยความเขียวของพืชพรรณ
การเนรมิตรูปลักษณ์ของมนุษย์พืชแบบเดิมยังคงมีอยู่ แต่เคลือบด้วยสีทอง.
ไม่มีใครบอกได้ว่าทำไมจึงเกิดภาพ“มนุษย์พืช”
ตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดยังเห็นได้ตามโบสถ์, อาคารที่อยู่ส่วนตัวที่สร้างในยุคก่อนๆก็เคยมีภาพมนุษย์พืชประดับด้วย
แต่ทรุดโทรมลงหรือถูกบูรณะใหม่ตามแบบสถาปัตยกรรมยุคหลังๆ จนถูกกลบสูญไป. โบสถ์จึงเป็นแห่งเดียวที่ยังยืนหยัดและแบกสมบัติมรดกจากอดีตไว้. โดยทั่วไปอาจกล่าวได้ว่า ภาพมนุษย์พืชนั้นเป็นเสมือนรอยนิ้วมือของนายช่างจำหลักหินที่ทิ้งไว้. ไม่ปรากฏมีภาพมนุษย์พืชในงานเนรมิตศิลป์แบบอื่นๆ เช่นในจิตรกรรมกระจกสี.
ปมเพดาน (clef de voûte หรือ keystone) ในโบสถ์เมือง Exeter (UK)
สามภาพนี้จากวัด Blackfriars Friary ภายใน Bute Park
เมือง Cardiff (UK)
ใบหน้าเล็กๆโผล่จากมวลใบไม้ ประดับในซอกแนวหินบนกำแพง
ถ่ายจากเมือง Oxford
ประเทศอังกฤษ
ปมเพดานจากมหาวิหาร
Canterbury
(Kent, UK)
ภาพนี้จากมหาวิหารที่เมือง
Orvieto
(Italy) ถิ่นปลูกต้นองุ่นถิ่นหนึ่งในอิตาลี
มีกิ่ง ใบและผลองุ่นเต็มบนหัว
หัวร่อร่าเพราะฤทธิ์ไวน์ด้วยกระมัง
อาคารเก่าแห่งหนึ่งที่เมือง
Konstanz
(Germany) ที่เคยเป็นศูนย์ศาสนาโรมันคาทอลิกแห่งสำคัญแห่งหนึ่งบนดินแดนเยอรมนี. แบบหน้าตาคนแก่ ออกจะน่าเกลียด.
ให้สังเกตการจำหลักในตามแนวยาวแถวที่สองมีหัวคนเล็กๆ
รูปปั้นแถวบนเป็นสาวกของพระคริสต์ ภาพจากกำแพงด้านนอกมหาวิหารเมืองบำแบร์ก - Bamberg ประเทศเยอรมนี.
มนุษย์พืชที่มีชื่อเสียงและโดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลป์
คือที่ปรากฏจำหลักไว้บนกำแพงสูงกำแพงหนึ่งภายในมหาวิหารเมืองบำแบร์ก-Bamberg ประเทศเยอรมนี.
ประติมากรรมชุดนี้รู้จักกันในนามว่า อัศวินขี่ม้าแห่งเมืองบำแบร์ก (Der
Bamberger Reiter). ให้สังเกตมนุษย์พืชบนฐานหินที่รองรับรูปปั้น
ตรงใต้ขาหน้าของม้า.
เนรมิตขึ้นในราวปี 1200.
ประติมากรรมนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองบำแบร์ก.เมื่อไปยืนที่นั่น
ตาของมนุษย์พืชนี้เหมือนมองตามเราทุกฝีก้าว.
ไม่ปรากฏมีรูปแบบบังคับสำหรับการเนรมิตมนุษย์พืช
ส่วนใหญ่มักแสดงความหวาดระแวง ความกลัวตายที่อาจสืบเนื่องมาจากความกลัวโรคร้ายที่ชาวยุโรปเรียกว่า
“โรคดำมรณะ” (The Black Death) ที่ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากในยุคกลาง. หากเรานึกถึงสภาพความเป็นอยู่ในยุคกลาง คนที่หลบๆซ่อนๆหลังพุ่มไม้
อาจเป็นโจรหรือขโมยที่คอยหลอกหรือข่มขู่คน
หรือเป็นนางไม้ในป่าที่ลือกันว่าชอบยั่วยวนผู้ชายให้หลงติดกับ. คนก็ยังเชื่ออีกว่ามีวิญญาณถูกกักขังไว้ในต้นไม้
เพราะฉะนั้นความหวาดหวั่นจึงดูเหมือนฝังอยู่ในจิตสำนึกของคนยุคกลาง. ปลายยุคกลางมนุษย์พืชเริ่มมีหน้าตาที่สื่ออารมณ์แบบอื่นๆ น่ายำเกรง หรือน่าหมั่นไส้เป็นต้น. นอกจากนี้ ใบอ่อนๆที่เพิ่งผลิใหม่นำความสุข
ความกระปรี้กระเปร่าแก่ผู้ได้พบเห็น
ทั้งๆที่เหล่าบาทหลวงพยายามเตือนให้ระวังตัว
ว่าฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูยั่วยวนตัณหา แต่น้อยคนนักอยากฟัง. หนุ่มสาวออกเดินเล่นในป่าละเมาะเป็นคู่ๆโดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม. ศิลปะรุ่นหลังจึงมีมนุษย์พืชที่ดูเหมือนหนุ่มเจ้าชู้.
ใบหน้าคนสวมมงกุฎที่มีกิ่งไม้เจริญเติบโตขึ้นไปสูงเหนือหัว
ประดับบนกำแพงภายในโบสถ์เมือง Exeter (UK) มองดูสวยสดใส อาจมองว่าเป็นผู้ชาย(จำหลักเป็นผู้หญิงก็มี) ที่มีเครื่องสวมศีรษะประดับด้วยพรรณไม้ดอกในเทศกาลประจำเมืองก็ได้. นี่ไม่ใช่มนุษย์พืชแบบทั่วไป
แบบนี้ไม่เห็นที่อื่นนอกจากที่อังกฤษ และที่เมือง Exeter
เท่านั้นด้วย.
ฐานรูปปั้นหินอ่อนนี้จำหลักสวยงามซับซ้อน
จากโบสถ์เมือง Ulm เยอรมนี.
นายช่างอาจจำหลักโดยตรงลงบนหินที่ต้องการเช่นบนหินหัวบัว หรือบนกำแพงด้านนอกของตัวอาคารโบสถ์. แต่ก็มีที่จำหลักบนก้อนหินในโรงงานก่อนแล้วนำไปติดตั้งทีหลัง. ฝีมือจำหลักพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มรายละเอียด แทรกนกตัวเล็กๆ
บางทีเป็นกระรอกหรือสัตว์อื่น. การจำหลักเน้นความเหมือนจริงมากที่สุด
ใบไม้กิ่งไม้ของประติมากรรมโดยรอบก็ดูมีชีวิตชีวาสมจริง. ส่วนใหญ่แล้ว แบบที่สวยที่สุดมักเป็นแบบที่ชั่วร้ายที่สุด
มองดูน่าเกลียดน่ากลัวที่สุด แต่ทำขึ้นอย่างประณีตมีศิลป์. อีกอย่างหนึ่ง เราต้องไม่ลืมด้วยว่าโบสถ์ยุคกลางนั้นดั้งเดิมมีสีทาทับรูปปั้นและประติมากรรมจำหลักทั้งหมด
เป็นสีเขียว สีทองและสีอื่นๆ. คนยุคกลางดูเหมือนจะชอบสีสันสดๆ แต่ดูเหมือนว่าสีเขียวเป็นสีที่เด่นที่สุด เป็นสีที่ชาวตะวันตกชอบด้วยสัญชาตญาณ
เพราะเป็นสีของธรรมชาติ.
Hildegarde of
Bingen (1098-1179) เคยเขียนระบุความหมายของ viriditas ในภาษาละตินว่าเป็น “the greening of the soul” ในความหมายว่า จิตวิญญาณเปลี่ยนคล้อยตามสีธรรมชาติ
หรือเข้าใกล้ชิดและมีพฤติกรรมตามธรรมชาติ และจะมาเป็นความหมายอีกนัยหนึ่งของ “มนุษย์พืช”. ปัจจุบันถือกันแล้วว่าสีเขียวคือสีของธรรมชาติ
และคำ“ธรรมชาติ-nature” กับคำ “สีเขียว- green” สะท้อนกันและกันหรือเป็นสมการที่สมบูรณ์.
ชาวอังกฤษดูจะติดใจคำว่า green ที่สื่อความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติมากกว่าชนชาติใด
และนำคำนี้ไปสร้างคำความหมายใหม่ๆ.
ในวาระหาเสียงเพื่อเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในอังกฤษ (เช่นปี 2007 และในปีต่อๆมา) ผู้สมัครแต่ละคนต่างเน้นนโยบายสิ่งแวดล้อม. นักข่าว BBC จึงล้อว่า ระหว่างคนเหล่านั้น
ใครเป็นผู้ที่สนใจจะช่วยกู้สิ่งแวดล้อมจริงๆ. นักข่าวใช้คำพูดว่า “Mirror, mirror, on the wall! Who is the greenest of them all” (BBC. News on Feb 12, 2007).
ในภาษาอังกฤษ
มีสำนวนที่ใช้คำว่า“green”หลายคำทีเดียว
เช่นคนที่ปลูกพืชพรรณขึ้นงามใช้ว่า “to have green fingers”, คนขี้อิจฉาใช้ว่า “green with envy”, มีการเชิญชวนให้ชาวอังกฤษสำนึกถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการขอให้
“going green”เป็นต้น.
Grotesque
[โกร-เต๊สกฺ] เป็นคำฝรั่งเศส
มาจากศัพท์ภาษาอิตาเลียนคำ grotta
ที่แปลว่า“ถ้ำ” และสร้างคำ grottesca ในความหมายของสิ่งประดับที่พบเห็นในถ้ำหรือตามทรากโบราณสถานในอิตาลี
ที่นักโบราณคดีค้นพบในศตวรรษที่15-16.
ภาพประดับที่เห็นนั้นเป็นรูปลักษณ์ที่แปลกตามาก ผิดไปจากความเป็นจริง
เช่นภาพหัวคนร่างเป็นต้นไม้หรือสัตว์ หรือภาพสัตว์หรือกิ่งไม้ที่ทำอาการของคน. อาจเปรียบว่าเหมือนภาพล้อ
สมัยนั้นแม้จะสร้างภาพแปลกแหวกแนว ก็ยังมีอะไรที่สวยงามกลมกลืน สีสดใสชวนให้เคลิบเคลิ้ม. เมื่อดูภาพล้อคนในปัจจุบัน
ให้คนหัวโตผิดสัดส่วนในขณะที่ร่างเล็กนิดเดียว
หรือเหมือนรูปลักษณ์ของมนุษย์ต่างดาวที่ยิ่งวันยิ่งน่าเกลียดในภาพยนตร์
จนความน่าเกลียดเกือบกลายเป็นอัตลักษณ์ของโมเดิร์นสไตล์.
ฝรั่งเศสรับคำศัพท์อิตาเลียนมาและเขียนเป็น
grotesque และกลายเป็นคำสามัญที่เข้าใจกันทั่วไปในตะวันตก.
ตั้งแต่นั้นมารูปลักษณ์แปลกๆที่เนรมิตจากการรวมคน สัตว์และพืชพันธุ์ ปรากฎเป็นลวดลายประดับในศิลปะตั้งแต่ศตวรรษที่17.
ความแปลกตาผิดความจริงและชวนขัน (แบบจิตรกรรมน้อยในหนังสือสวดโบราณ) ชวนให้สนุกหรือฝันเฟื่อง.
ชิ้นส่วนหนึ่งของทับหลังตัวอย่าง
grotesque
จากยุคอีจิปต์โบราณ
ราวศตวรรษที่ 4 จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะไบแซนไทนใน
Bode
Museum กรุงแบร์ลิน
เยอรมนี. เล่าเนื้อหา
กำเนิดของเทพวีนัส ด้วยใบหน้าภายในเปลือกหอยใหญ่. เทวดาขนาบสองข้างเปลือกหอย
ยืนยันความเป็นเทพ.
ปลาใหญ่สองตัวขนาบสองข้าง ลำตัวส่วนหลังเหมือนปลาโลมา ตัวซ้ายมีขาหน้าใบหน้าของหมาป่า
ตัวขวาอาจเป็นมังกร.
ภาพจากลานกลางแจ้ง ภายในพระราชวัง Palazzo
Vecchio เมืองฟลอเรนซ์
อิตาลี. ลวดลายและรูปลักษณ์ที่ประดับเพดานโค้งคือลายแบบ
grotesque.
ภาพจาก Villa d’Este เพดานห้องต่างๆประดับด้วยศิลปะเรอแนสซ็องส์ยุคนั้น
มีทั้งภาพจิตรกรรมหลักในวงหรือกรอบขนาดใหญ่กว่า เล่าเหตุการณ์หรือสัญลักษณ์ของฤดู
ของคุณธรรม และประดับรอบๆด้วยภาพ grotesque
ในวงกลมเนื้อหาหลักคือ
ภาพฤดูหนาว คนนั่งหน้ากองไฟ
ตรงกลางภาพสีเขียวอ่อนๆนั้น
ภาพฤดูเก็บเกี่ยวมีเคียวในมือ กองฟางสองข้าง
ภาพจากห้องโถงยาวใหญ่ที่เรียกว่า
“ห้องโบราณ – Antiquarium” (ยาวถึง 66 เมตร) ภายในพระราชวัง Residenz, München. สร้างขึ้นระหว่างปี 1568-1571 ตามพระบัญชาของ
Duke
of Albrecht V เพื่อเป็นคลังเก็บสมบัติสะสมที่เป็นประติมากรรมโบราณ
จึงได้ชื่อว่าห้องโบราณ. ต่อมาในระหว่างปี 1581-1600 Duke Wilhelm V และพระโอรส
Maximilian
I ได้ปรับปรุงเปลี่ยนโฉมหน้าห้องนี้ให้เป็นท้องพระโรงเพื่อการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองต่างๆ. การประดับประดาบนเพดานด้วยภาพแบบ grotesque นั้น ทำขึ้นในยุคนี้ สืบทอดจากศิลปะคลาซสิกโบราณ. มีจิตรกรรมขนาดใหญ่ตลอดแนวกลางสูงสุดบนส่วนโค้งของเพดาน เห็นโดดเด่นเหนือศีรษะทั้งหมด16 ภาพ เนื้อหานัยเปรียบหรือเป็นอุปมาอุปมัยของชื่อเสียง
เกียรติยศและคุณธรรมแบบต่างๆ. ภาพ grotesques อยู่ตามแนวโค้งที่ทอดต่ำลงสู่พื้นที่บริเวณหน้าต่าง. รูปปั้นครึ่งตัว ส่วนใหญ่เป็นรูปปั้นของจักรพรรดิโรมันในอดีต ตั้งห่างกันเป็นระยะๆติดผนังห้องโถงนี้ตลอดความยาว. ปัจจุบันห้องโถงนี้ใช้เป็นที่จัดแสดงดนตรีหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง.
ลาย grotesque บริเวณหน้าต่าง
ลวดลาย grotesque ประดับสองข้างภาพหลักตรงกลาง. เทวดาถือโล่ที่มีรูปพระหนุ่ม(ไม่มีเครา)นุ่งห่มชุดดำ
มีแถบสีเหลืองเป็นกากบาทยาวลงถึงปลายชุดดำ แขนเสื้อดำตกลงสองข้าง. แขนทั้งสองสีขาวนวลๆยกขึ้น มือซ้ายถือหนังสือปกแดง (โดยปริยายคือคัมภีร์ศาสนา), มือขวาสองนิ้ว ชี้ออกไปในท่าให้พร. นี่คือตราประจำเมืองมิวนิค (coat of arms).
ทำไมมีรูปนักบวช? เพราะชื่อเมือง münchen แปลว่า monks. ภาพแบบนี้แรกพบในจารึกเก่าปี
1239. ภาพนักบวชเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อยในยุคต่อๆมา
แบบล่าสุดที่เจาะจงใช้ตั้งแต่ปี 1957 เรียกชื่อใหม่ว่า
Münchner
Kindl (หรือ Munich Child) ดังภาพข้างล่างนี้ ไม่เน้นเรื่องศาสนาอีกต่อไป
แต่ให้ความสำคัญแก่เยาวชนแทน.
เครดิตภาพ > MUC - Public Domain. Wikimedia Commons.
http://www.stadtmuseum-online.de/archiv/kindl8g.htm
เพดานประดับแผ่นภาพพร้อม
grotesque สีสันสดใสมากที่ห้องสมุด Piccolomini Library ในมหาวิหารเมือง
Siena. เนื้อหาหลักๆเกี่ยวกับเทพตำนาน
ทำขึ้นในระหว่างปี 1502-1503. ผลงานของ Pinturicchio และทีมผู้ช่วยของเขา. ข้อมูลภาพนี้คือ Gryffindor, 2008.
[CC-BY-SA-3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0/)], via Wikimedia
Commons.
ภาพกร๊าฟฟิกรวมรูปแบบ
Renaissance grotesque หลายแบบ
เครดิตภาพของ Impronta, 21 March 2011. [CC BY-SA 3.0]
from Wikimedia Commons.
------------------------------------
G-3
>> Grotto, Gulistan, Gymnasium.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/05/g-3-grotto.html
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/05/g-3-grotto.html
เมนูหนังสือ
ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html
Comments
Post a Comment