N-Niche

Naiad [น๊ายแอด] นางพรายที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำ ธารน้ำตกหรือน้ำพุ.

Natural หรือ natural gardening หลักการปลูกสวนตามแนวธรรมชาติ เปลี่ยนแปลงไปตามค่านิยมในแต่ละยุคสมัย. อังกฤษใช้คำนี้เรียกสวนในต้นศตวรรษที่18 ทั้งๆที่สวนยุคนั้นเป็นสวนแบบแผน เป็นเส้นเป็นแนวตามกฎและมีรูปลักษณ์เรขาคณิต. ต่อมาในทศวรรษที่1870 คำเดียวกันนี้ถูกนำไปใช้เรียกแปลงดอกไม้ที่จัดตามแบบแผน. ดังนั้นจำต้องทำความเข้าใจความหมายของคำ “natural” ในบริบทสวนว่าหมายถึง :- 
1) ต้นไม้ที่ปลูกต้องไม่ไปตัด ดัดกิ่ง หรือเล็มให้เป็นพุ่ม เป็นรูปลักษณ์ใดๆ. นั่นคือปล่อยให้ต้นไม้เติบโตแผ่กิ่งก้านออกไปตามธรรมชาติของมัน.
2) ไม่มีกรวดสีๆหรือทรายสี เข้าไปประดับภายในแปลงดอกไม้ ไม่มีส่วนสถาปัตยกรรมใดเข้าไปเป็นองค์ประกอบของสวน.
3) สวนแนวธรรมชาติที่แท้จริง คือสวนภูมิทัศน์แบบอังกฤษ ที่ลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่คือองค์ประกอบที่แท้จริงของสวน.
    ความหมายของคำ nature หรือ ธรรมชาติ ย่อมมีสีสันแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เก็บนัยปลีกย่อยอื่นๆเพิ่มเข้าไป ที่รวมไปถึง“โลกของรูปลักษณ์”หรือ“โลกที่เราเห็นจริงในแต่ละวัน”. ปัจจุบัน การออกแบบสวน ไม่ยึดกฎเหล่านี้นักแล้ว  เป็นไปตาม“ธรรมชาติของผู้ออกแบบ” นั่นคือวิสัยทัศน์ส่วนตัวของเขาที่พัฒนาจากความเข้าใจและการได้สัมผัสหลักต่างๆมา แล้วสังเคราะห์เป็นแบบส่วนตัวของเขามากกว่า. วิวัฒนาการสวนที่แท้จริงจึงเป็นไปตามค่านิยมของยุคสมัย ของผู้เป็นเจ้าของสวน หรือของผู้ออกแบบสวน.
     สวนแบบธรรมชาติหรือสวนภูมิทัศน์ ไม่เหมือนธรรมชาติจริงๆหรอก ได้นำประเด็นความเสี่ยงแบบต่างๆของพื้นที่ออกไปแล้ว พยายามรวมภูมิประเทศแบบต่างๆมาไว้ในอาณาบริเวณสวนเดียวกันให้มากที่สุด สร้างผืนหญ้าขนาดใหญ่ โล่งกว้าง จัดป่าไปไว้แถบหนึ่ง จัดแปลงดอกไม้ไปบนทางเดิน จัดน้ำตกจำลอง สร้างธารน้ำให้ไหลผ่านมุมไหนบ้างฯลฯ. สวนแบบธรรมชาติในที่สุดเสนอธรรมชาติตามอุดมการณ์ความสวยงาม ความน่ารื่นรมณ์และเพื่อประโยชน์ใช้สอยของเจ้าของและของผู้ออกแบบเป็นสำคัญ. สวนธรรมชาติที่แท้จริง อาจเห็นได้ในป่าสงวน แต่ถึงกระนั้น มือคน(การบริหารจัดการพื้นที่) ก็ยังเข้าไปช่วยปรับสภาพพื้นที่ อย่างน้อยก็ปรับเส้นทางเดินให้สะดวกเป็นต้น.

Neoclassical กระแสนีโอคลาซสิก (neoclassicism) เกิดขึ้นในครึ่งหลังของศตวรรษที่18 ตรงกับยุคของความกระหายใฝ่รู้ศาสตร์วิชาใหม่ๆ ยุคของการใช้เหตุผลแทนการเชื่อตามที่ลิขิตกันมาในอดีต. นักคิดนักปราชญ์มองย้อนหลังไปในยุครุ่งเรืองของกรีซโบราณและของจักรวรรดิโรมัน ที่ยังคงเป็นแบบฉบับของสถาปัตยกรรมผู้ดี ที่ภูมิฐานและเรียบง่าย ที่พวกเขาเปรียบเทียบว่า เหมือนกับสภาวะของจิตที่สงบ ที่เป็นบ่อเกิดของปัญญาและดุลยพินิจที่แจ่มกระจ่าง.
     ดังที่สถาปนิก Leon Battista Alberti เจาะจงไว้ในศตวรรษที่ 15 เป็นสมการว่า คลาซสิกเท่ากับความงาม. และความงามในสถาปัตยกรรม คือความกลมกลืนสอดคล้องกันของทุกส่วนตามหลักการสถาปัตยกรรมคลาซสิก เกิดเป็นเอกภาพ ไม่มีอะไรเกิน ไม่มีอะไรขาด ไม่มีการต่อเติม ไม่มีการเอาออก ไม่ว่าจะชิ้นเล็กเพียงใด มิฉะนั้นทุกอย่างก็สิ้นงามไปทันที.
     การสร้างสรรค์ในยุคนีโอคลาซสิกสะท้อนคุณสมบัติของปรัชญา วัฒนธรรมและศิลปะของกรีซและโรมันดังกล่าว. คุณสมบัติคลาซสิกนั้นยังคงยืนยงต่อมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และส่งอิทธิพลที่เกือบไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยการเป็นแบบอย่างของระเบียบ ความสมดุล ความพอเหมาะ. ในกรณีของศิลปะ การรับรูปแบบคลาซสิกมาใช้ในยุคนีโอคลาซสิกนั้น ปรับไปตามความเหมาะสมในศิลปะแต่ละประเภท. ศิลปินเลือกคุณสมบัติบางประการจากศิลปะคลาซสิก อาจไม่รับทุกองค์ประกอบหรือลอกเลียนทุกแบบมาทั้งหมด แต่เลือกสิ่งที่โดนใจเช่น เลือกเส้นมากกว่าเลือกสี เลือกเส้นตรงมากกว่าเส้นโค้ง เลือกหน้าตรงและการประกอบที่ปิดจบในตัว แทนการประกอบรูปแบบเส้นทะแยงมุมที่มุ่งให้เห็นมิติความลึกเป็นต้น. นั่นคือศิลปินถ่ายทอดศิลปะโบราณด้วยวิธีของเขา ตามวิสัยทัศน์ส่วนตัวของเขาในยุคของเขา.
     ตั้งแต่ปี 1738 กระแส neoclassicism ได้เป็นแนวนำการสร้างสรรค์ในตะวันตก ที่เห็นได้ชัดเจนในผลงานด้านสถาปัตยกรรมนีโอคลาซสิกของสองพี่น้องชาวสก็อตชื่อ Robert & John Adams, ของ Claude-Nicolas Ledoux ในฝรั่งเศส และผลงานของ Thomas Jefferson ในสหรัฐอเมริกา.

Niche เป็นซุ้มลึกเข้าไปในกำแพง หรือในรั้วต้นไม้(hedge) ที่ปลูกติดกันจนหนาและทึบเหมือนกำแพง. การทำเป็นแอ่งเข้าไปเพื่อให้เป็นที่ตั้งของรูปปั้นหรือประติมากรรมแบบใดแบบหนึ่ง. หากลึกเข้าไปมากและใหญ่พอจัดเป็นที่นั่งภายใน จะใช้คำ alcove แทน (ดูคำนี้ในบล็อกนี้). 
ซุ้มในกำแพงพระราชวังแวร์ซายส์ด้านสวน รูปปั้นผู้หญิงเต็มตัวตั้งอยู่ภายใน.
ซุ้มแบบกอติคบนกำแพงนอกวัดหนึ่งที่เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี. รูปปั้นนักบุญจอร์จพร้อมโล่ทหาร ในฐานะที่เป็นนายทหารโรมันเชื้อสายกรีก ในกองรักษาการณ์ของจักรพรรดิ Diocletian. แถบประติมากรรมจำหลักที่เป็นฐาน คนขี่ม้ากำลังสู้รบปราบมังกร. การจำหลักเนื้อหานี้ เพื่อเจาะจงว่ารูปปั้นคือนักบุญจอร์จ. เขาถูกฆ่าสังเวยเพราะไม่ยอมละทิ้งความเชื่อในพระคริสต์.
ซุ้มที่สร้างขึ้นประดับระเบียงที่ล้อมรอบแอมฟีเธียเตอร์ในสวนบ๊อบ่อหลิ(Boboli)
บางซุ้มตั้งแจกันทรงสูง มีฝาปิด. บางซุ้มเป็นรูปปั้น.
ซุ้มในกำแพงต้นไม้ เป็นที่ตั้งรูปปั้น ภาพนี้จากอุทยาน Trianon ที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่พระราชวังแวร์ซายส์ (Paris, France). สร้างระหว่างปลายศตวรรษที่17 ต้นศตวรรษที่18. ซุ้มในกำแพงต้นไม้แบบนั้นจากยุคนั้น แคบไปหน่อยและไม่ลึกพอ นึกถึงการตัดเล็มกิ่งก้านภายในซุ้มลำบากมาก จะขยับหรือเลื่อนรูปปั้นออกก็ไม่สะดวก. ซุ้มในต้นไม้แบบนี้จึงไม่นิยมนัก บางทีนำรูปปั้นออกมาตั้งข้างนอกซุ้มเลย.
ดังกล่าวไว้ข้างบนว่า ซุ้มต้นไม้นั้นดูแลลำบากมาก จึงคิดทำซุ้มเป็นโครงเหล็ก ใช้เป็นที่ตั้งรูปปั้นหรือแจกันใหญ่ๆได้เช่นกัน. ซุ้มแบบนี้เห็นในสวนหลวงเยอรมันมาก. ภาพนี้จากอุทยาน Linderhof เยอรมนี. ในซุ้มเป็นรูปปั้นครึ่งตัวของพระเจ้าหลุยส์ที่14 “กษัตริย์สุริยะ”ผู้เป็นไอดอล (idol) ของพระเจ้า Ludwig II แห่งบาวาเรีย ผู้ทรงให้สร้างปราสาท Linderhof.
ช่องๆสวยเหมือนแบบประตูในสถาปัตยกรรมอาหรับ ขนาดเล็กลึกเข้าในกำแพงหินอ่อนเป็นซุ้มๆที่ป้อมอัครา อินเดีย. เป็นที่ตั้งโชว์ชิ้นสมบัติขนาดเล็ก อาจเป็นเครื่องทองหยอง. สวยงามประณีตด้วยฝีมือชาวอินเดีย(Agra).

Nursery เป็นสถานเพาะพันธุ์และอภิบาลต้นไม้พืชพรรณ เป็นส่วนหนึ่งของสวนขนาดใหญ่และของสวนพฤกษศาตร์. สวนแต่ละสวนจำเป็นต้องมีโรงอภิบาลต้นไม้ เพื่อให้มีต้นไม้พืชพันธุ์สำรองสำหรับเข้าปลูกทดแทนหรือปลูกเพิ่มเติมในแต่ละฤดูกาล. หากสวนใดพัฒนาพันธุ์ไม้ได้สำเร็จ ก็อาจแบ่งขายแก่ผู้สนใจด้วย. โรงเพาะพันธุ์แบบนี้ ไม่เปิดให้คนเข้าไปเดินเล่น ไม่ใช่เรือนกระจกในสวนพฤกษศาสตร์. ทุกประเทศโดยเฉพาะอังกฤษและเนเธอแลนด์ มี เนอเซอรี จำนวนมากที่เลี้ยงและเพาะพันธุ์ต้นไม้เพื่อจำหน่ายอย่างเฉพาะเจาะจง เป็นธุรกิจทำเงินเป็นอันดับต้นๆของประเทศ.

ในพระราชอุทยาน Schönbrunn ประเทศออสเตรีย นอกจากอาคารเรือนกระจกขนาดมหึมาเพื่อเป็นที่ปลูกและที่โชว์ต้นไม้พืชพรรณ ยังมีอาคารเรือนเพาะพันธุ์และเลี้ยงดูต้นไม้ สำหรับใช้ในอุทยานทั้งหมด. สร้างแบบเรียบง่ายและปรับคุณสมบัติของแต่ละหลังให้สอดคล้องกับความต้องการของพืชพรรณประเภทต่างๆ. เนื่องจากเป็นประเทศในเขตหนาว ฤดูหนาวก็ยาวนาน ทำให้ต้องสร้างเรือนเพาะเลี้ยงแบบนี้เป็นจำนวนมาก ดังที่เห็นในสองภาพนี้. เป็นเขตที่ไม่เปิดให้คนภายนอกเข้า.
อาคารต้นปาล์มขนาดใหญ่ในอุทยาน Schönbrunn ประเทศออสเตรีย. เป็นเรือนกระจกที่เปิดให้คนเข้าไปชมต้นไม้ สร้างอย่างสวยงาม โครงสร้างเป็นเหล็กกล้ามั่นคง. เรือนกระจกแบบนี้เป็นหน้าตาของพระราชวังและของผู้เป็นเจ้าของ เป็นสิ่งชี้บอกระดับความรู้ความสนใจของผู้ให้สร้าง.

Nymph [นิ้มฟฺ] นางฟ้าที่สถิตในถ้ำ. ในเทพปกรณัมกรีก มีคำเรียกนางฟ้าหลายคำ ชื่อมักโยงไปถึงที่อยู่ของพวกเธอ เช่นนางฟ้าที่เลือกอยู่ในถ้ำ ในที่ชุ่มชื้นเรียกว่า nymph คำนี้ยังใช้เป็นคำสามัญเรียกนางฟ้าอย่างไม่เจาะจง. นางฟ้าที่สิงสถิตอยู่ในต้นไม้หรือในป่าไม้ ใช้คำว่า dryad [ไดร๊เอิด]  อาจเทียบได้กับคำ“นางไม้”. ในภาษาไทยยังมี “รุกขเทวดาหรือรุกขเทวา” ที่ดูจะเน้นว่าเป็นเพศชาย “รุกขเทวี”ฟังไม่คุ้นหูนัก. ในภาษาอังกฤษยังมี naiad [น๊ายแอด] ที่หมายถึงนางพรายที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำ ธารน้ำตกหรือน้ำพุ. มีผู้แนะว่าอาจเทียบได้กับคำ“อัปสร”. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี ๒๕๔๒  อธิบายคำอัปสร เพียงสั้นๆว่านางฟ้า มิได้เจาะจงที่อยู่ตามขนบและค่านิยมตะวันตก. กล่าวได้ว่ายุโรปมีนิทาน ตำนานเกี่ยวกับนางฟ้ามากกว่าไทยเช่นมีนางฟ้าประจำดอกไม้แต่ละชนิด มีนางฟ้าประจำแต่ละคน มีเทพธิดาประจำศิลปะแต่ละแขนง (muse). ดูเหมือนว่าไทยมีนิทานเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีมากกว่าเทพ และมีความเชื่อศรัทธาเกี่ยวกับอริยบุคคล พ่อครูแม่ครู มากกว่ากระมัง.

Nymphaeum [นิมฟี้เอิม] ตามความหมายคลาซสิก คืออาคารที่สร้างอุทิศให้แก่นางฟ้าที่สถิตอยู่ในถ้ำ โดยสร้างขึ้นในบริเวณที่คิดว่านางฟ้าเหล่านั้นอยากอยู่หรือชอบอยู่. ลักษณะสามประการของอาคาร nymphaeum คือ
) ต้องมีผืนน้ำ อาจเป็นสระน้ำ น้ำพุหรือน้ำตก
) ต้องมีป่าไม้ มีต้นไม้ใหญ่ๆ เช่นต้น plane-trees (สกุล Platanus)
) ต้องมีถ้ำ (grotto) ถ้ำที่คนสร้างขึ้นย่อมมีอะไรที่ผิดธรรมชาติ (มีแบบมีแปลน ใช้วัสดุที่ประดิษฐ์ให้ดูเหมือนธรรมชาติมากที่สุด) โดยปริยายจึงแย้งกับอุปนิสัยของเหล่านางฟ้าที่สรุปกันมาว่า นางฟ้าอยู่อย่างอิสระ.
ศิลปะอิตาเลียนยุคเรอแนสซ็องส์และศิลปะสวนแบบแผนของฝรั่งเศส นำคติเกี่ยวกับนางฟ้าไปสร้างสรรค์ในแนวใหม่ ให้เป็นสวนพร้อมสระน้ำและน้ำตก สร้างป่าที่มีเนินเขาแล้วขุดโพรงใหญ่เป็นถ้ำ.

ตัวอย่างสวนนี้ที่นางฟ้าน่าจะชอบอยู่ ภาพจากสวนอพอลโลในพระราชอุทยานแวร์ซายส์ (Bosquet des bains d’Apollon) ที่ที่เทพอพอลโลไปอาบน้ำโดยมีเหล่านางฟ้า(nymph) คอยปรนนิบัติ.

ปราสาทที่เมืองมิวนิคในเยอรมนี ตั้งชื่อว่า Nymphenburg เน้นนัยของสถานที่ร่มรื่นน่าอยู่ของเหล่านางฟ้า. มีสายน้ำยาวมากและผืนป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ผู้ที่อยู่ที่นั่นเป็นนางฟ้าไปด้วยไหม?
ผังอาณาบริเวณพระราชวัง Nymphenburg ในปัจจุบัน. มีพื้นที่เขียวมาก คลองใหญ่สายยาวเหยียดที่ไหลตั้งแต่ด้านหน้าถึงสุดพรมแดนของพระราชวังด้านหลัง. เริ่มสร้างในปี 1664 และขยายออกอย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่18 และ19 ปรับเปลี่ยนแบบสวนตามยุคสมัยจากสวนแบบฝรั่งเศส เป็นสวนบาร็อค แล้วเป็นสวนภูมิทัศน์แบบอังกฤษ. ภายในพระราชวังยังมีห้องที่ประดับตกแต่งตามแบบบาร็อค และห้องอื่นๆที่ปรับเปลี่ยนไปในสไตล์นีโอคลาซสิกบ้าง สไตล์ร็อคโกโกบ้าง.
ภาพจิตรกรรมน้อยแสดงแผนผังพระราชอุทยาน Nymphenburg เมืองมิวนิค. ภาพผลงานของ Maximilian de Geer, 1730. Public domain จาก Wikimedia.commons.

อาคารพระราชวัง Nymphenburg เมืองมิวนิค เยอรมนี. นางฟ้าทั้งหลาย (nymphs) ไม่น่าจะชอบอยู่ในกรอบอาคารอิฐปูน. ผู้ที่อยู่ที่นั่นคือกษัตริย์ ราชินีและราชนิกูลทั้งหลาย แน่นอนไม่ใช้ชีวิตเยี่ยงนางฟ้าตามตำนานโบราณเกี่ยวกับ nymphs. ความคิดเรื่องนางฟ้าของคนจึงเบนไปจากธรรมชาติของเหล่านางฟ้าในเทพตำนาน.


อาคารที่เรียกว่า nymphaeum ที่ Villa Gamberaia สร้างในศตวรรษที่ 17 (นอกเมืองฟลอเรนซ์ Italy) ในมุมสงบใต้ต้นไซเปรสต้นมหึมาจำนวนมาก. นางฟ้าอาจอยากมาแวะแถวนี้.
------------------------------------- 
Letter O >> Obelisk, Old world, Orange, Orangery, Orchard, Orchard house, Orchid house, Orders of architecture, Overthrow.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/o-orange_6.html
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html

Comments