Obelisk
โอเบลิซก์. เป็นเสาสูงตั้งตรง ขนาดเสมอกันทั้งเสา
หรือเรียวเล็กตอนบน
ปลายบนอาจตัดเป็นมุมแหลม หรือตัดราบ. เสาโอเบลิซก์ทั่วไปเป็นเสาสี่ด้าน แต่ก็มีที่เป็นเสาสามด้าน แปดด้านหรือเสากลม.
คนนิยมหาเสาโอเบลิซก์มาประดับสวนหรือในบริเวณนิวาสถานตั้งแต่ยุคโรมันแล้ว. เป็นที่รู้กันว่าเสาโอเบลิซก์เป็นมรดกวัฒนธรรมของอีจิปต์โบราณ
เมื่อชาวยุโรปได้ค้นพบความมหัศจรรย์และความมเหาฬารของอารยธรรมอีจิปต์โบราณ
ทุกคนอยากรู้ อยากเข้าถึงอารยธรรมอีจิปต์รวมทั้งการอยากมีสมบัติไม่ว่าอะไรก็ตามที่เป็นส่วนหนึ่งของอีจิปต์โบราณ
เพราะฉะนั้นทุกประเทศต่างหาทางขนเสาโอเบลิซก์และสรรพสมบัติจากอีจิปต์ไปประดับที่ประเทศของตน. ยังคงเป็นค่านิยมของสังคมตะวันตกที่มิได้ลดน้อยลงตามกาลเวลา.
อารยธรรมอีจิปต์โบราณเป็นหนึ่งในปริศนาที่คนยุคปัจจุบันยังมิอาจอธิบายได้หมดและนักโบราณคดีศึกษาจากหลายชาติ
ยังคงไปขุดไปค้นไปวิเคราะห์วิจัยอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้.
การมีสิ่งโบราณมาครอบครองหรือมาประดับสวน สื่อการรับและการสืบทอดอารยธรรม. ในแง่จิตวิทยาสังคม เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาผู้เป็นเจ้าของ เหมือนยกระดับผู้เป็นเจ้าของว่ามีเชื้อสายผู้ดีเก่า หรืออย่างน้อยก็บอกเป็นนัยว่าเขาเป็นปัญญาชนผู้มีความรู้เกี่ยวกับโลกโบราณและโลกคลาซสิก เพราะแม้ในยุคปัจจุบัน
สิ่งที่เป็น “โบราณ” หรือ “คลาซสิก” นอกจากยังคงคุณค่าและเป็นความงามสุนทรีย์เหนือกาลเวลา
ยังเป็นกุญแจสู่วิถีชีวิต เทคนิคการก่อสร้างด้วยเครื่องมือไม่กี่ประเภทของคนในยุคโบราณที่มหัศจรรย์เกินจินตนาการได้.
ในสวนแบบแผนของอิตาลีและฝรั่งเศส เสาโอเบลิซก์เป็นองค์ประกอบประดับสวน เป็นเสาขนาดเล็กที่ไม่สูงมาก.
อาจไม่ได้มาจากอีจิปต์โดยตรงแต่เป็นสิ่งที่นายช่างเนรมิตขึ้น.
นอกจากเสาโอเบลิซก์หินที่เนรมิตตามแบบเสาโอเบลิซก์อีจิปต์ ยังมีทางเลือกใหม่ คือตัดเล็มต้นไม้ใหญ่ประเภทใบเขียวตลอดปีให้เป็นรูปเสาโอเบลิซก์.
เสาโอเบลิซก์ตามสวนมีชื่อทั้งหลายในอังกฤษ มักเป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่ง มีแผ่นจารึกข้อความระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์อย่างเฉพาะเจาะจง. ศตวรรษที่18 เป็นยุคที่อังกฤษนิยมเสาโอเบลิซก์กันที่สุด. ปกติเสาโอเบลิซก์ตั้งบนเนินหรือพื้นที่ที่สูงที่สุดในสวน มิฉะนั้นก็ไปตั้งอยู่ตรงใจกลางสี่แยก หรือไปตั้งไว้สุดทางเดิน เพื่อดึงความสนใจให้คนเดินไปดู. เสาโอเบลิซก์อาจเป็นเพียงสิ่งประดับสิ่งหนึ่งของสวนโดยมิได้มีนัยอนุสรณ์อื่นใดก็ได้เช่นกัน. น้ำพุที่พุ่งสูงและตั้งตรงก็ตั้งชื่อให้ฟังขลังเรียกว่าเป็นน้ำพุโอเบลิซก์ด้วย
เช่นน้ำพุที่พระราชอุทยาน Nymphenburg พุ่งเป็นลำสูงลำเดียว.
โอเบลิซก์ที่น่าจะสวยงาม ของจริงของแท้ที่สุด และโดดเด่นที่สุดคือโอเบลิซก์ที่ตั้งอยู่ที่ Place de la Concorde กรุงปารีส เป็นโอเบลิซก์ที่ไปเอามาจากมหาวิหารอีจิปต์เมืองลุกซอร์ (Luxor). เป็นโอเบลิซก์หินแกรนิตสีแดง สูง 22.5 เมตร หนักประมาณ 227 ตัน. เป็นเสาโอเบลิซก์ที่ใหญ่ที่สุดที่สร้างขึ้นในสมัยของ Ramses II ลำเลียงขนส่งจากเมืองลุกซอร์ มาถึงฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ปี 1833. และยกขึ้นตั้งได้สำเร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมปีเดียวกัน โดยมีพระเจ้า Louis-Philippe I เฝ้าดูอย่างใกล้ชิด. ตรงฐานมีจารึกภาพการลำเลียงเสาโอเบลิซก์นี้ แสดงวิธีการลดเสาโอเบลิซก์จากฐานที่ตั้งดั้งเดิมที่เมืองลุกซอร์ และวิธีการยกขึ้นตั้งตรง ณจัตุรัส Place de la Concorde ที่ปารีส. เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งจากอีจิปต์มาถึงฝรั่งเศส รวมทั้งรายละเอียด เครื่องมือเครื่องใช้และกระบวนการติดตั้งทั้งหมด ยังเก็บไว้อย่างดีเป็นข้อมูลศึกษา ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ Musée de la Marine กรุงปารีส.
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhh-fdKaBtw7Vj7GpQLHHiNq8UVLlJqnSGEocXfEUMcZzknsEZfrdaQ19-BwrRS6c0YZzBct5ZVA2rpJR3ywbmnwdUNmn7goO3rg7zUX5GoBso7nuSW0R5kQM94nOB95dclmBYT-Wqhv5pp/s1600/3-Stourhead-Obelisk.JPG)
โอเบลิซก์ที่น่าจะสวยงาม ของจริงของแท้ที่สุด และโดดเด่นที่สุดคือโอเบลิซก์ที่ตั้งอยู่ที่ Place de la Concorde กรุงปารีส เป็นโอเบลิซก์ที่ไปเอามาจากมหาวิหารอีจิปต์เมืองลุกซอร์ (Luxor). เป็นโอเบลิซก์หินแกรนิตสีแดง สูง 22.5 เมตร หนักประมาณ 227 ตัน. เป็นเสาโอเบลิซก์ที่ใหญ่ที่สุดที่สร้างขึ้นในสมัยของ Ramses II ลำเลียงขนส่งจากเมืองลุกซอร์ มาถึงฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ปี 1833. และยกขึ้นตั้งได้สำเร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมปีเดียวกัน โดยมีพระเจ้า Louis-Philippe I เฝ้าดูอย่างใกล้ชิด. ตรงฐานมีจารึกภาพการลำเลียงเสาโอเบลิซก์นี้ แสดงวิธีการลดเสาโอเบลิซก์จากฐานที่ตั้งดั้งเดิมที่เมืองลุกซอร์ และวิธีการยกขึ้นตั้งตรง ณจัตุรัส Place de la Concorde ที่ปารีส. เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งจากอีจิปต์มาถึงฝรั่งเศส รวมทั้งรายละเอียด เครื่องมือเครื่องใช้และกระบวนการติดตั้งทั้งหมด ยังเก็บไว้อย่างดีเป็นข้อมูลศึกษา ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ Musée de la Marine กรุงปารีส.
ภาพจากอุทยานภูมิทัศน์ Stourhead
ในอังกฤษ
ถ่ายจากตรงกลางตำหนักด้านที่หันสู่สวน จุดกลางของตึกใหญ่นี้
ตรงกับจุดที่ตั้งของเสาโอเบลิซก์ที่อยู่ตรงหน้า ไปไกลสุดสนามที่ทั้งกว้างและยาว. มุมมองพาโนรามาที่ไม่มีอะไรมาขวางสายตา. สนามหญ้าเขียวแบบนี้ที่ชาวอังกฤษนิยมเป็นพิเศษ
และคิดจินตนาการว่า สภาพแวดล้อมแบบนี้น่าจะตรงกับคำพรรณนาของสวนสวรรค์ Elysium
(ดูที่คำนี้)
เสาโอเบลิซก์นั้น ยังเด่นชัดเจนเมื่อมองจากจุดอื่นๆในสวน.
แนวการสร้างสวนภูมิทัศน์ ทำให้สิ่งเด่นที่ดึงสายตาปรากฏครั้งแล้วครั้งเล่า
แม้จากมุมที่ไม่คิดว่าจะเห็นเป็นต้น. เสาโอเบลิซก์ที่นั่นเป็นทรงสี่เหลี่ยม
ตัดราบบนยอดเสา และประดับด้วยใบหน้าทองเคร่งขรึมของดวงอาทิตย์ พร้อมรังสีเป็นลำแสงแรงกล้า.
จากบริเวณอุทยานมองไปทางถนนใหญ่ภายในพื้นที่
เห็นโอเบลิซก์ตั้งอย่างเจาะจง
ณตำแหน่งที่เหมาะที่สุด ที่ Castle Howard (York, UK)
Old World โลกเก่า เป็นศัพท์ที่ใช้เพื่อหมายถึงยุโรป
ในฐานะที่เป็นบรรพบุรุษของชาวยุโรปที่เข้าไปอยู่ใน“โลกใหม่- New World” ที่หมายถึงทวีปอเมริกา
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ชาวยุโรปเดินทางไป ค้นพบและไปตั้งถิ่นฐาน.
โลกเก่าในบริบทของหนังสือเล่มนี้ หมายถึงโลกโบราณบนดินแดนตะวันออกไกล
ที่มีอีจิปต์ กานาน ฟินีเซีย ซีเรีย อาเรเบีย เปอเชีย เมโสโปเตเมีย อานาโตเลีย
กรีซ โรมยุคก่อนคริสตกาล และอาณานิคมของชนชาติเหล่านี้. คำนี้โยงความหมายไปถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนด้านการเมือง
เศรษฐกิจและสังคมของชนชาติทั้งหลายนี้.
คำนี้มิได้รวมชนเผ่าต่างๆในภาคเหนือของยุโรป (ชาว Celts, Germans,
Finno-Ugrians เป็นต้น)
Orange ผลส้ม ต้นส้ม. ในสกุล Rutaceae วงศ์ Citroideae เรียกกันสามัญว่า citrus fruits มีทั้งหมดราว150 สายพันธุ์หรือประมาณ1600 ชนิด. ที่รู้จักกันแพร่หลายเช่นส้ม Mandarine, Clementine, Grapefruit,
Pomelo หรือส้มโอ, มะนาวพันธุ์ต่างๆ, มะกรูด, มะงั่วเป็นต้น. การที่เราต้องนำผลไม้ชนิดนี้มาพูดในหนังสือเล่มนี้
เพราะส้มเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการออกแบบสวน เกิดสถาปัตยกรรมเพื่อประดับสวน.
ส้มเป็นผลไม้ที่เพียบด้วยนัยหลายมิติสำหรับชาวตะวันออก.
เป็นผลไม้ที่นิยมมอบให้แก่กันในวาระมงคลเช่นในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ถือเป็นศิริมงคลเหมือนมอบโชคลาภให้แก่กัน (เพราะสีของส้มเหมือนสีทอง). ชาวตะวันตกให้ความสำคัญต่อส้มมาก.
ตำนานในกรีซโบราณกล่าวถึงต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีผลสีทอง คือต้นส้มนั่นเอง. ในสำนวนยุโรป เคยเรียกส้มว่าเป็นผลแอปเปิลทอง.
การเปรียบกับผลแอปเปิลนั้นเพื่อเน้นความสำคัญสูงสุดของผลส้ม
เพราะแอปเปิลคือผลไม้แห่งชีวิตในค่านิยมตะวันตก. นอกจากเป็นอาหารที่กินอร่อยชื่นใจ ดอกส้มมีกลิ่นหอมระรวย. ใบส้มและดอกส้มนำมาสกัดเอาน้ำมันหอม เป็นส่วนผสมของน้ำหอม (แบรนด์ดังไม่ดัง) ทั้งหลาย. ส้มหลายพันธุ์มีสีส้มและสีเหลืองๆสุกปลั่งเหมือนทอง
กระตุ้นความฝันและจินตนาการของคน โยงไปถึงความหวังในความมั่งคั่งเป็นต้น. จนถึงเมื่อราวสามร้อยปีก่อน
ส้มเป็นผลไม้ขึ้นโต๊ะเสวยและสำหรับชนชั้นอภิสิทธิ์ในยุโรปเท่านั้น.
รูปลักษณ์และความหมายนัยต่างๆของส้ม เป็นสิ่งดลบันดาลใจแก่เหล่ากวีและนักเขียนเสมอมา
ดังปรากฏในวรรณกรรมอาหรับหรือเทพปกรณัมกรีกและในบทกวีของ Boccaccio หรือ Goethe เป็นต้น.
ข้อมูลทั่วไประบุว่า พื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกส้ม
อยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่45º เหนือและ35º ใต้
และอยู่เหนือระดับน้ำทะเลไม่เกิน600 เมตร. ส้มเกือบทุกสายพันธุ์ไม่สามารถทนหนาวหรือทนน้ำค้างแข็งได้. เจริญเติบโตได้เต็มที่ต้องมีปริมาณน้ำฝนประมาณ900 มิลลิเมตรต่อปี แต่หากอากาศชื้นมากเกินไปก็ทำให้ต้นส้มป่วยเป็นโรคได้หลายโรค.
พันธุ์ส้มดั้งเดิมเกิดขึ้นเองในธรรมชาติบนดินแดนเอเชียภาคใต้
และส้มได้กลายเป็นพืชพื้นบ้านที่คนเพาะปลูกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4000 ปี. มีเอกสารระบุว่า ชนชาวหุบเขาแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Valley) และโดยเฉพาะตรงพรมแดนตะวันออกเฉียงใต้ของเทือกเขาหิมาลัย
แคว้นอัสสัมและภาคเหนือของประเทศพม่า และบนเนินเขาทิศใต้ของเทือกเขาหิมาลัย
จนถึงแคว้นปัญจาบและในภาคใต้ของคาบสมุทรอินเดีย ชาวบ้านจัดพื้นที่ที่มีระบบชลประทานเพื่อเพาะปลูกข้าวสาลี ข้าวบารเลย์ ถั่ว ต้นงา
มะม่วงและอินทผลัม ส่วนผลไม้ก็มีกล้วย มะนาวหลายพันธุ์ (ทั้งมะงั่วและมะนาว) ส้มและองุ่น (cf.The Food Chronology, p.5). อีกเขตหนึ่งทอดยาวไปตลอดพื้นที่เนินเขาทางภาคใต้ของประเทศจีนเรื่อยลงไปถึงคาบสมุทรอินโดจีน วิธีการเพาะปลูกและเพาะพันธุ์อย่างต่อเนื่องจากโบราณมา
ทำให้การค้นหาพันธุ์ส้มโบราณดั้งเดิมนั้นเป็นไปไม่ได้.
เข้าใจว่าชาวจีนเป็นชนหมู่แรกที่นำพันธุ์ส้มที่ขึ้นในจังหวัดภาคใต้และภาคกลางของประเทศจีนและบนดินแดนอินเดียภาคกลาง
มาปลูกเลี้ยงในหมู่บ้านนานกว่า 4000 ปีแล้ว ถึงกระนั้น ส้มก็ยังเป็นผลไม้ที่สงวนไว้สำหรับองค์จักรพรรดิเท่านั้น. ในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีกระทรวงดูแลเรื่องส้มโดยเฉพาะ
ทำหน้าที่หาส้มมาบริการราชสำนัก. แต่จารึกโบราณเกี่ยวกับส้มที่เก่าที่สุดที่ค้นพบได้
เขียนเป็นภาษาจีนเมื่อราว300 BC.ของ Han Yen-Chih เจ้าหน้าที่ประจำเมือง Wenchou (ภาคเหนือของจีน). ชาวยุโรปรู้จักเล่มนั้นในนามว่า “Chü lu” ซึ่งนอกจากให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ส้ม 28 ชนิด (ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ mandarin ลูกเล็ก เปลือกร่อนสีส้มสด เนื้อและน้ำ หวาน), วิธีการเพาะปลูกส้ม, โรคที่เกิดกับต้นส้ม, การกินการใช้ผลส้มในขนบจีนโบราณ และยังรวมถึงศิลปะการสร้างสรรค์สวนอีกด้วย.
ชาวตะวันตกทึ่งหนังสือเล่มนี้มากทั้งในแง่การใช้ภาษาที่สละสลวยและในแง่ความถูกต้องเชิงวิทยาศาสตร์, โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงวิธีการเขียนการบันทึกของชาวยุโรปในยุคเดียวกัน ที่รู้จักเพียงการเขียนบันทึกข้อมูลเหมือนการทำรายการสินค้าเท่านั้น. หนังสือจีนเล่มนี้ Hagerty แปลเป็นภาษาอังกฤษในปี
1923 ให้ความรู้แก่ชาวยุโรปเกี่ยวกับส้มอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก
(cf. Le mele d’oro, p.80) อ่านความรู้ละเอียดประวัติของส้มได้ในเว็ปเพจนี้
แม้เรารู้ว่าส้มมีถิ่นกำเนิดในดินแดนเอเชีย
แต่ขนบกรีกกำหนดที่ตั้งของ“ผลแอปเปิลทองในสวนของนางฟ้า Hesperides” (สวนนี้เข้าใจกันว่าตั้งอยู่ใกล้ภูเขา Atlas ใน Tanger ประเทศมอร็อคโค). ในยุคเรอแนสซ็องส์ ผลแอปเปิลทองในตำนานกรีกนี้ สรุปกันว่าคือผลส้มนั่นเอง
และชาวอาหรับเป็นผู้ส่งส้มจากดินแดนในกลุ่มประเทศมอร็อคโค อัลจีเรียและตูนีเซีย
ออกสู่ประเทศอื่นๆบนฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน. ในยุคกลาง
ชาวอาหรับรู้จักปลูกส้มแล้วสามสายพันธุ์ (citron-มะงั่ว, bitter orange ส้มรสขมที่ใช้ทำแยม, lemon มะนาว) และคงรู้จักสายพันธุ์ grapefruit (Citrus paradisi-ส้มโอลูกเล็ก)แล้วด้วย แต่ยังไม่รู้จักส้มรสหวาน ซึ่งชาวปอรตุเกสเป็นผู้นำเข้าสู่ยุโรป.
Jean-Baptiste Ferrari บาทหลวงเยซูอิตนักพฤกษศาสตร์ชาวอิตาเลียน เป็นคนแรกที่เขียนบรรยายถึงต้นส้ม (ใน Hesperides sive de Malorum Aureorum Cultu Libri IV, 1646 พร้อมภาพวาดประกอบ) และเป็นผู้นำต้นส้มเข้าสู่ประเทศอิตาลีในราวปี
1646. เป็นพันธุ์ส้มที่ปลูกกันในมณฑลยุนนานและเสฉวนประเทศจีน. ชาวอิตาเลียนเรียกส้มพันธุ์นั้นว่า Arancio dolce, Portogallo (แปลว่า ส้มหวานชื่อ ปอรโตกัลโล). ไม่นานต่อมา
พันธุ์ส้มกลายเป็นต้นไม้ประดับสวนในแดนเมดิเตอเรเนียน แม้ในภาคเหนือยุโรป
ก็ยังเพาะเลี้ยงกันอย่างทะนุถนอม. Ferrari
ยังเป็นคนแรกที่เอ่ยถึง อากาศอบอวลหอมหวนไปด้วยกลิ่นหอมของดอกส้ม. จินตนาการดังกล่าวยังคงแทรกอยู่ในงานของนักเขียนชาวยุโรปหลายคนในยุคต่อๆมา. ชาวยุโรปจากภาคเหนือหลั่งไหลสู่ยุโรปภาคใต้โดยเฉพาะอิตาลีและสเปน
เพื่อมาสูดความหอมของดอกส้มในธรรมชาติ มาชื่นชมความงามของผลส้มมะนาว.
เมื่อชาวอิตาเลียนได้เห็นส้ม
เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะพัฒนาพันธุ์ส้มเพื่อปลูกในอิตาลีให้ได้. วิลลาต่างๆทั่วอิตาลี (ในประเทศยุโรปอื่นๆก็เช่นกัน)
เริ่มสะสมและทดลองปลูกส้มพันธุ์ต่างๆ. วิลลาที่ขึ้นชื่อที่สุดคือ Villa Castello [วิลลา กัซเต๊ลโล] ของตระกูล Medici [เมดีชี] ที่เมืองฟลอเรนซ์. ตระกูลนี้ยังใช้ต้นส้มเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำตระกูลตั้งแต่ศตวรรษที่14. ในที่สุด วิลลานี้เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการด้านพฤกษศาสตร์และประวัติการพัฒนาต้นส้มในอิตาลีมากกว่าที่ใดในยุโรป
ทั้งนี้นอกจากรูปลักษณ์อันสวยงามของผลส้มพันธุ์ต่างๆแล้ว
พวกเขายังเข้าถึงคุณสมบัติด้านยาและสมุนไพรของต้นไม้ชนิดนี้
รวมทั้งด้านโภชนาการที่อาจใช้ส้มมะนาวในการปรุงอาหารได้อย่างหลากหลาย. ปัจจุบันสวนส้มที่นั่นมีพันธุ์ส้มมากว่า 500 สายพันธุ์จากแดนต่างๆในโลก (จากการไต่ถามคนสวนที่ประจำที่นั่น
รู้สึกว่าจะยังไม่มีพันธุ์มะนาวลูกเขียวของไทย
เพราะฉะนั้นหากสถานทูตไทยจะมอบพันธุ์ส้มพันธุ์มะนาวของไทยให้แก่วิลลากัสเต๊ลโล
คงจะเป็นของขวัญสุดยอดสำหรับอิตาลี).
ความนิยมส้มมะนาวยังเห็นได้จากจิตรกรรมภาพส้มนะมาวแบบต่างๆทั้งที่เป็นภาพพฤกษศาสตร์และที่เป็นจิตรกรรมชีวิตนิ่ง
(Still Life) หรือผลิตภัณฑ์ศิลปะแขนงย่อยอื่นๆเช่นเครื่องปั้นดินเผา
เซรามิค หรือเครื่องแก้ว ล้วนเลียนแบบส้มมะนาวผลจริงที่เพาะเลี้ยงกันในฟลอเรนซ์ (จากอุทยานบ๊อบ่อหลิ-Boboli หรือจากวิลลากัสเต๊ลโล-Villa Castello).
ความสนใจจัดแยกประเภทส้มมะนาวในยุคนั้น
เกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับการแสดงภูมิทัศน์ของวิลลาและสวน. ความผูกพันกับส้มเห็นได้อย่างชัดเจนในจิตรกรรมเฟรสโก้
ที่ประดับวิลลาในเมืองปอมเปอี หรือในจิตรกรรมโมเสกที่ประดับวิลลาเมือง Monreale [มงเรอั้ลเล] หรือในจิตรกรรมของ Uccello [อุดเช้ลโล่] เรื่อยไปถึงผลงานของ Matisse, Sutherland และโดยเฉพาะในหมู่จิตรกรชาวอิตาเลียนเช่น
Renate Gottuso, Bruno Caruso, Giuseppe Migneco. ศิลปินเหล่านี้เป็นผู้สืบสานและเชิดชูความงามของต้นส้มควบคู่ไปกับความหรูหราของวิลลาอิตาลี. ส่วนผลงานต่อเนื่องของ Pippo Madè เสนอภาพของส้มในบริบทชีวิตประจำวันหรือในหมู่ชาวเขาชาวทะเล ใต้ท้องฟ้าโปร่งใสและทะเลสีคราม
แสดงจิตวิญญาณของชายหนุ่มผู้กระหายอยากรู้อยากเห็น
อยากบันทึกโลกไว้ให้งดงามที่สุด (cf. Le mele d’oro,
p.208).
ชาวสวนส้มหรือผู้ดูแลสวนส้มในอิตาลี
มีมิตรสัมพันธ์ต่อกันอย่างใกล้ชิดมากกว่าชาวนาชาวไร่อื่นๆ. พวกเขายึดเทคนิคการปลูกส้ม วิธีการและอุปกรณ์เครื่องมือแบบเดียวกัน
ที่สืบทอดมาเป็นขนบธรรมเนียมอันยั่งยืนไม่เปลี่ยนแปลงเลยจนถึงปัจจุบัน. ตั้งแต่การเก็บผลส้ม การจำแนกขนาดของผลส้ม การห่อผลส้มด้วยกระดาษไหม
การบรรจุลงลังไม้พร้อมส่งไปยังคลังสินค้นตามเมืองท่าเพื่อจำหน่ายออกไปต่างประเทศ. เป็นเช่นนี้เหมือนกันในทุกถิ่น
รวมทั้งธุรกิจการค้าขายส้มก็เป็นกระบวนการเหมือนกันในทุกแห่ง.
เมื่อพิจารณาดูประวัติการปลูกพันธุ์ส้มในอิตาลี
ที่เริ่มขึ้นราวศตวรรษที่12
เราพูดได้ว่าผลส้มเป็นสิ่งเชื่อมจิตวิญญาณและเป็นสิ่งจรรโลงวัฒนธรรมในหมู่ชนชาวอิตาเลียนแถบทะเลเมดิเตอเรเนียนตะวันตกได้ดียิ่งกว่าสิ่งใด. มณฑล Liguria [ลีกู๊เรีย] (มณฑลริมฝั่งทะเลติดพรมแดนฝรั่งเศส) และเกาะ Sicilia [สิชี้เลีย] (หรือเกาะซิซิลี ที่คนไทยเรียกกัน
เป็นเกาะอยู่ภาคใต้ต่อจากปลายแหลมของคาบสมุทรอิตาลีไปทางตะวันตก)
เป็นศูนย์กลางการผลิตส้มมะนาวตั้งแต่ศตวรรษที่12. จากที่นั่นอิตาลีส่งออกส้มไปขายในประเทศต่างๆเช่นอีจิปต์ สเปนและต่อไปในทวีปอเมริกา. ตลอดเวลาหลายศตวรรษ มีการค้นพบและพัฒนาพันธุ์ส้มใหม่ๆขึ้นอีกมาก จนถึงเมื่อกลางศตวรรษที่20 ส้มเป็นรายได้อันดับหนึ่งของเกาะซิซิลี. สวนส้ม(ไร่ส้ม)กลายเป็นฉากหลังของชีวิตและจิตสำนึกอันลุ่มลึกของชาวอิตาเลียนและโดยเฉพาะชาวเกาะซิซิลี. ส้มเป็นต้นไม้สำคัญในภูมิทัศน์วัฒนธรรมเมดิเตอเรเนียนและของยุโรป
เป็นหลักฐานยืนยันอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมตะวันตกอย่างหนึ่ง.
เมื่อยุโรปเรียนรู้แบบการปลูกสวนอาหรับเปอเชีย (chahar-bagh) ได้รู้จักพันธุ์ส้มกับพันธุ์ทับทิมที่มีนัยความหมายสำคัญมากสำหรับชาวอาหรับ. สวน Agdal ที่เมือง Marrakech [มาราเก็ช] ในประเทศมอร็อคโค
ที่เป็นแบบฉบับของสวนเปอเชีย (สร้างขึ้นในปี 1157) ได้เป็นต้นแบบให้สร้างสวนบนเกาะซิซิลีที่ปราสาท
Maredolce [ม้าเหระ-ดอลเช] (Castello di
Maredolce, Palermo [ปาแลรฺโม]). แต่ในศตวรรษที่ผ่านมา สวนส้มที่เคยสร้างให้เป็นสวนของเหล่านางฟ้า Hesperides ตามขนบกรีก ถูกแปลงให้เป็นไร่ส้มเพื่อธุรกิจการค้า เช่นที่ Villa Giulia [วิลลา จิอูลี้อา] เคยมีต้นส้มประดับสองข้างทางเดินในอุทยานหกพันต้น ต้องแบ่งพื้นที่ให้ต้นไม้พันธุ์อื่นๆจากต่างแดน
และสูญเสียอัตลักษณ์ของสวนแอปเปิลทองของเหล่านางฟ้าไปในที่สุด. เช่นเดียวกันที่จังหวัด Valencia [บาเล้นเธีย] ในประเทศสเปน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตส้มแหล่งใหญ่ที่สุดในยุโรป สูญสิ้นอัตลักษณ์ดั้งเดิมของสวนส้ม
กลายเป็นไร่ส้มสุดลูกหูลูกตาเพื่อการค้าและทำให้ไร่อ้อยถดถอยลงไป.
เราอาจสรุปได้ว่า ส้มเข้าสู่ยุโรปพร้อมๆกับการแผ่ศาสนาและขนบการปลูกสวนของชาวอาหรับ
แล้วพัฒนาขึ้นตามขนบกรีกที่เน้นการปลูกต้นส้มเพื่อความอภิรมย์ในสวนที่ปิดล้อม
ผลส้มจึงเคยเป็นผลไม้อภิสิทธิ์ของชนชั้นสูงเท่านั้น และในปัจจุบัน
ส้มกลายเป็นหนึ่งในต้นไม้เศรษฐกิจสามชนิดแรกของโลกควบคู่กับกล้วยและองุ่น.
บุคคลสำคัญที่มีส่วนผลักดันการปลูกส้มในยุโรปผู้หนึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อ Jean de La
Quintinie (1626-1688) [ฌ็อง เดอ ลา แก็งตินี]. เขาเป็นประธานผู้ดูแลรับผิดชอบสวนหลวงทั้งหมดของฝรั่งเศส. หนังสือเล่มสำคัญของเขาเกี่ยวกับผลไม้และผัก (พิมพ์ในปี 1690) มีบทที่เกี่ยวกับส้มโดยเฉพาะถึงยาว72 หน้า.
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออ้างอิง เป็นต้นตำรับของหนังสือและสิ่งตีพิมพ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับสวนและธรรมชาติพืชพรรณ. La Quintinie
ได้เจาะจงกล่าวถึงการปลูกเลี้ยง การตัดแต่งกิ่งต้นส้ม
รวมถึงการเก็บรักษาผลส้มอย่างละเอียดลออ เพื่อให้ได้ผลส้มที่ทั้งงาม
มีรสดีและกลิ่มหอมตามธรรมชาติ. ข้อมูลเหล่านี้เป็นคู่มือสำคัญของการเพาะปลูกส้มในฝรั่งเศส. สวนส้มในพระราชอุทยาน Sans Souci [ซ็อง ซูซี] (ที่ Potsdam, มณรัฐ Brandenburg ประเทศเยอรมนี) นำหลักการทั้งหมดไปใช้. เยอรมนีสั่งซื้อพันธุ์ส้มมะนาวจากอิตาลีเป็นสำคัญ. ยุคนั้นในอิตาลีมีหนังสือแค็ตตาล็อกเกี่ยวกับพันธุ์ส้มแล้ว ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการค้าส้ม. เยอรมนีเป็นลูกค้าขาประจำรายใหญ่ แม้ในช่วงสงครามสามสิบปี (1618-1648). โรงเพาะพืชพันธุ์ในเยอรมนีเอง
ตั้งขึ้นในราวปี 1700 เท่านั้น.
ในยุโรปยุคกลาง
การผลิตยาและสมุนไพรดั้งเดิมอยู่ภายในวัดวาอาราม
เป็นผลงานของบรรดาบาทหลวงที่เพาะปลูก
เก็บเกี่ยวและสกัดสารดีๆจากพืชพรรณมาใช้เป็นยาบำรุงและยารักษาชนิดต่างๆ. ในเยอรมนี
สิทธิและอำนาจนี้ตกไปอยู่ในมือขององค์กรรัฐบาลผู้มีสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียว
คือในมือของเจ้าชายผู้ครองมณรัฐต่างๆ (Kürfurst หรือในภาษาอังกฤษว่า Prince Elector) และต่อมาในมือของกษัตริย์ปรัสเซีย. อภิสิทธิ์ชนกลุ่มนี้เป็นผู้เริ่มใช้ผลิตผลจากส้มที่เพาะเลี้ยงในประเทศมาเป็นวัสดุพื้นฐานในศูนย์ผลิตยา. ศูนย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือศูนย์ยาของราชสำนักที่กรุงแบร์ลิน (ศูนย์นี้ทำหน้าที่ติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี1598 จนถึงปี1934) และตั้งแต่ปี1608 มีศูนย์สกัดและกลั่นโดยเฉพาะ รวมทั้งร้านขายขนมข้างๆโรงยา. ศูนย์ยาที่แบร์ลินมีคนงานประจำไม่ต่ำกว่า20 คน (cf. Le mele d’oro, p. 121) ในบรรดาผลิตภัณฑ์จากโรงยาหลวงในเยอรมนีนั้น มีน้ำมันสกัดจากดอกส้ม (Oleum Napahae) น้ำมันสกัดจากผิวส้ม เปลือกส้ม เม็ดส้ม และผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการแพทย์อื่นๆ
เช่นสารสกัดต้านพิษ เหล้ากลั่นจากมะนาว และแน่นอนมีน้ำส้ม น้ำมะนาว. ทั้งหมดนี้ได้จากการสกัดจากมะนาว ส้มพันธุ์ต่างๆในสกุล citrus fruits นี้ ผลิตภัณฑ์จากพืชพันธุ์นี้
ยังใช้ในการปรุงรสชาติอาหาร ลดกลิ่นอาหารรุนแรงอื่นๆ กินเพื่อเรียกน้ำย่อย หรือเพื่อช่วยย่อยอาหาร หรือกินเป็นยาฟื้นฟูสุขภาพ หรือเป็นยานอนหลับเป็นต้น.
คุณสมบัติพิเศษของน้ำมันสกัดจากส้มเป็นที่รู้จักกันดีมานานแล้ว
แต่การผลิตอย่างจริงจังนั้นเพิ่งเริ่มในศตวรรษที่16 และเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในศตวรรษที่17. สถาบันโรงยาหลวงดังกล่าวมีระบบจัดการดีเยี่ยมสถาบันหนึ่ง. คนจนไปรับการรักษาและเยียวยาได้ที่นั่นโดยไม่เสียค่าบริการใดๆ. เพื่อให้มีพืชสมุนไพรและพันธุ์ส้มอย่างเพียงพอ
สวนหลวงและสวนผักหลวงทุกแห่งจึงปลูกพืชพรรณเพื่อสนองความจำเป็นดังกล่าว
โดยปริยายเท่ากับว่าโรงยาหลวงควบคุมการเพาะและเพิ่มพูนพันธุ์ไม้ต่างประเทศไปด้วย. มีการตั้งสถาบันสาขาเพื่อควบคุมด้านนี้โดยตรง ที่ต่อมากลายเป็นสวนพฤกษศาสตร์ (1640-1688) ที่รวมสวนสมุนไพรไม้หอมและสวนสมุนไพรยา และสร้างอาคารต้นส้ม orangery. สวนพฤกษศาสตร์นี้ต่อมาถูกย้ายไปตั้งที่ Dahlem ชานกรุงแบรลินตั้งแต่ปี 1900 และยังคงอยู่ที่นั่นมาจนทุกวันนี้.
Johann Christoph Volkamer ชาวเยอรมัน(1708) เรียนรู้และเข้าใจคุณสมบัติเฉพาะของผลส้ม. เขารู้ว่าการแพร่พันธุ์ต้นส้มนั้นอาศัยเมล็ดส้มไม่ได้นัก เพราะส้มมีเมล็ดน้อย. เขาพบวิธีที่ง่ายกว่าและเร็วกว่า นั่นคือการชำหรือการทาบกิ่งแบบต่างๆ. นอกจากนี้เขายังสนใจสังเกตการตัดและการจัดกิ่งต้นส้มเพื่อให้ส้มเติบโตได้เต็มที่. เขาศึกษาเกี่ยวกับโรค กาฝาก แมลงศัตรูของต้นส้มและวิธีการปลูกที่เหมาะที่สุด
รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในการปลูกและระบบป้องกันต้นส้มจากความหนาว. เขากล่าวชื่นชม orangery
ว่าเป็นความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีอย่างแท้จริง และยกย่องคนสวนว่า
เพียงมองปราดเดียวคนสวนก็รู้ทันทีว่า ต้นไม้ที่เขาปลูกนั้นมีสุขภาพอย่างไร. Volkamer
สรรเสริญว่า งานของคนสวน สอนให้เรารู้จักเคารพคนอื่น
เคารพสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ว่างานทำสวนเป็นกิจกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ เป็นกิจกรรมที่พระเจ้าทรงเจาะจงให้ทำ
ว่าคนสวนเหมือนอยู่ด้วยน้ำค้างจากสวรรค์และผลผลิตอันหลากหลายจากแผ่นดิน.
ในบริบทตะวันตก
พันธุ์ส้มจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการศึกษาและพัฒนาด้านพฤกษศาสตร์และการออกแบบสถาปัตยกรรม
เพื่อเพาะเลี้ยงดูพันธุ์ไม้นี้ให้สำเร็จจนได้ ห่างไกลจากถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมัน.
ประวัติความเป็นมาของส้ม
ทำให้คำ orange
เป็นคำที่มีนัยลึกและกว้างเป็นเครือข่ายไปในหลายมิติ. เครือข่ายโทรคมนาคมนานาชาติยุคใหม่ของฝรั่งเศสใช้ชื่อ Orange S.A. ที่อ่านว่า [ออ-ร้องจฺ] มีลูกค้าราว 256 ล้านคน.
เครือข่ายบัตรโดยสารสาธารณะทุกแบบในปารีสใช้
Carte Orange. และไม่มีใครลืมราชตระกลู Orange
หรือ Orange-Nassau ที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองของเนเธอแลนด์และยุโรป. รวมกันเป็นเนื้อหาประวัติศาสตร์ยุโรปที่รวมหลากหลายวัฒนธรรม. (ผู้สนใจ อ่านข้อมูลต่อได้ในอินเตอเน็ต ในส่วนที่เกี่ยวกับงานเขียนของเรานี้
ชัดเจนว่าส้มหรือต้นส้มเป็นชื่อและเป็นตราสัญลักษณ์ของตระกูลนี้
และคงมีส่วนอย่างมากในการสร้างฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงของตระกูลนี้ด้วย).
เมือง Oranienbaum ในจังหวัด Wörlitz ประเทศเยอรมนี เป็นที่ตั้งของพระตำหนักนามเดียวกันของราชวงศ์ยุโรปสาย Orange-Naussau (ที่แยกออกมาจากเชื้อสาย Naussau ที่เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 13 ส่วนเชื้อสาย Orange-Naussau เริ่มขึ้นในปี 1544 ที่รวมสายฝรั่งเศส Châlon-Orange เข้ากับสายเยอรมัน Naussau. พระเจ้า William I of Orange เป็นผู้เริ่มต้นตระกูลสาย Orange-Naussau. ปัจจุบันเป็นราชตระกูลที่ปกครองประเทศเนเธอแลนด์ตามระบอบประชาธิปไตย). กลางเมืองนี้ มีประติมากรรมต้นส้มตั้งเด่น ดังในภาพ. อาคารสีส้มๆที่เห็นไกลๆนั้นคือพระตำหนักดังกล่าวที่ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนเข้าชมและยังมีอุทยานอยู่ด้านหลังด้วย.
Orangery
หรือ Orangerie แปลตามศัพท์ว่า ที่เลี้ยงต้นส้ม.
ในตะวันตกนิยมเรียกที่เพาะปลูกและเลี้ยงดูแลต้นส้มตามภาษาฝรั่งเศสว่า [ออร้องเจอรี] มากกว่าออกเสียงตามภาษาอังกฤษ.
กรณีของประเทศอังกฤษนั้น
Sir Francis Carew of Beddington ในแถบ Surrey เป็นผู้นำต้นส้มต้นแรกๆ จากประเทศฝรั่งเศสไปปลูกในอังกฤษในปี 1562. ชาวตะวันตกดูแลเอาใจใส่ต้นส้มเป็นพิเศษ
เพราะเป็นต้นไม้ที่เติบโตในเขตอบอุ่น จึงมีการสร้างอาคารพิเศษสำหรับพักต้นส้มระหว่างฤดูหนาว. พอเข้าฤดูร้อนจึงนำออกไปตั้งกลางแจ้งในสวน.
ปกติต้นส้มในสวนยุโรปตอนบน มักปลูกลงในกระถางขนาดใหญ่.
ในสมัยก่อนนั้นเคยปลูกลงในอ่างแบบอ่างอาบน้ำด้วยซ้ำ (อ่างอาบน้ำเป็นสิ่งประดับเชิดหน้าชูตาของสังคมสมัยศตวรรษที่
17-19 เพราะเจ้านายเท่านั้นที่มีอ่างอาบน้ำส่วนตัว). อาคารส้มเป็นต้นแบบของพัฒนาการสร้างเรือนกระจกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นๆ
(ดูที่ Hothouse,
Greenhouse, Conservatory). ต่อมาต้นไม้พันธุ์เปราะบางชนิดอื่นๆ ที่ทนอากาศหนาวไม่ได้
ก็ถูกนำเข้าไปเลี้ยงในอาคารส้มด้วย.
อาคารส้มยุคแรกเป็นตึกเหมือนตำหนักหลังหนึ่งเพียงแต่ไม่มีการตกแต่งด้วยเครื่องเรือนใดๆ
เพื่อให้มีพื้นที่มากที่สุดสำหรับจัดเรียงและตั้งกระถางต้นไม้จำนวนมาก.
และเมื่อคนค้นพบเทคนิคการสร้างอาคารด้วยกระจก
เพื่อให้แสงสว่างเข้าสู่ภายในอาคารได้สำเร็จ อาคารส้มจึงเปลี่ยนไปเป็นเรือนกระจกขนาดใหญ่ขึ้นๆอย่างถาวร (ดูที่คำ Conservatory) อุณหภูมิต่ำสุดภายในอาคารเฉลี่ยอยู่ที่ 19
องศาเซนติเกรดและสำหรับพืชเมืองร้อนอยู่ในระดับเฉลี่ย 26-29 องศาเซนติเกรด. ความสำคัญอันดับแรกคือการรู้จักรักษาอุณหภูมิภายในให้คงที่สม่ำเสมอ. นั่นคือ มีระบบหมุนเวียนอากาศที่มีประสิทธิภาพด้วย.
ในทศวรรษที่1490 Jovanius Pontanus
เขียนสาธยายผนังแบบหนึ่ง
ที่ใช้บังต้นไม้ในยามที่ลมฟ้าอากาศแปรปรวนมาก. โครงสร้างแบบนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการสร้างอาคารต้นส้ม. เมื่อชาวอิตาเลียน(ที่เมืองเวนิส เมืองเจโนวาและเมืองมิลาโน)
เริ่มเพาะปลูกพืชพรรณจากแดนไกลอย่างใจจดใจจ่อ
ชาวเยอรมันในยุโรปภาคเหนือก็เริ่มพัฒนาการเพาะปลูกพืชพรรณต่างแดนด้วยการสั่งซื้อพรรณไม้ต่างๆจากอิตาลี. พรรณไม้ต้องเดินทางไกลและเสี่ยงกับภาวะอากาศอันแปรปรวนได้เสมอ
เพราะฉะนั้นชาวเยอรมันจึงคิดเตรียมหาวิธีป้องกันและคุ้มครองพรรณไม้จากแดนไกลพันธุ์ต่างๆ. จึงไม่น่าแปลกใจว่าตั้งแต่ปี1568 ในตอนใต้ของเมือง Kassel
มีการสร้างอาคารเรือนกระจกขึ้นแล้ว แม้ว่าอาคารนั้นตั้งอยู่ได้ไม่นานก็ล้มเสียหายไป. ไม่นานต่อมา ชาวเยอรมันสร้างอาคารแบบใหม่ขึ้น
คราวนี้ให้ส่วนที่เป็นหลังคาเท่านั้นที่เคลื่อนย้ายหรือยกออกได้ (ยังมีตัวอย่างของเรือนกระจกแบบนี้ในเยอรมนีในสวนที่ Pilnitz ชานเมือง Dresden ที่ใช้ปลูกต้น Camellia ที่ประเทศญี่ปุ่นมอบเป็นของขวัญมิตรภาพแก่เยอรมนี) เพื่อเปิดรับอากาศธรรมชาติเมื่อฤดูหนาวผ่านพ้นไป.
นับได้ว่าเรือนหลังนั้นเป็นต้นแบบเรือนกระจกแบบแรกของโลก. ถือกันว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ของตระกูลสาย Markgraf (หรือ Margrave ในภาษาอังกฤษ) ผู้ครองเมือง Dresden ในยุคนั้น. ตระกูลนี้หลงใหลและส่งเสริมการเพาะปลูกส้มและมะนาวในภาคเหนือของเยอรมนี และพัฒนาเทคนิคการสร้างเรือนกระจกขึ้นเป็นครั้งแรกในยุโรป. แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของจินตนาการที่เอาชนะปัญหาการกักความอบอุ่นไว้ภายในอาคาร เพื่อมิให้ต้นไม้หนาวตาย ในขณะเดียวกันก็ทำให้เคลื่อนยกบางส่วนของโครงสร้างออกได้เมื่ออุณหภูมิพอเหมาะกับพรรณไม้ที่เลี้ยงอยู่ภายใน. ในที่สุดเรือนกระจกแบบนี้กลายเป็นสวนส้มมะนาวได้จริงๆ. ความนิยมพันธุ์ส้มและมะนาวเป็นไปอย่างคงเส้นคงวา ไม่ว่าในยามสงบหรือยามสงคราม (ระหว่างปี 1618-1648 เกิดสงครามสามสิบปีบนดินแดนที่เป็นประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน). มี Orangery ที่ตั้งติดดินอย่างถาวรเป็นอาคารแรกในปี 1632 ที่รวมระบบทำความร้อนติดตั้งไว้อย่างสมบูรณ์. การปลูกส้มหลังจากนั้นจึงได้ผลดี. ส่วนใหญ่ ในยุโรปนิยมปลูกต้นส้มลงในกระถางขนาดต่างๆแล้วแต่ความสูงใหญ่ของต้นส้มที่เพาะขึ้นมาได้. ในฤดูร้อนกระถางต้นส้มมะนาวเหล่านั้นจะนำออกไปประดับสวนข้างนอกอาคาร. ปลายศตวรรษที่17 สวนต่างๆในเยอรมนีต่างมีอาคารต้นส้มกันทั้งนั้น.
ปกติอาคารต้นส้มมักเป็นอาคารครึ่งวงกลม
หรือปรับแบบแปลนตามลักษณะพื้นที่ของแต่ละแห่ง แม้เป็นเนินลาดก็ทำได้เช่นกัน. การสร้าง Orangery มีแบบเด่นๆห้าแบบดังนี้
1) Orangery
ที่สร้างตรงหน้าอาคารหลังใหญ่หรือปราสาทของพื้นที่นั้น
ทั้งปราสาทและอาคารต้นส้มตั้งอยู่บนเส้นแกนหลักของพื้นที่ แบบตั้งเผชิญหน้ากัน
ห่างกันเท่าระยะยาวของเส้นแกนนั้น พื้นที่สองข้างเส้นแกนหลักจัดเป็นสวน.
2) Orangery
ที่สร้างติดอาคารใหญ่หรือเป็นปีกหนึ่งของปราสาท เรียกว่าเป็น atrium แบบหนึ่ง.
3) Orangery
ที่สร้างเป็นอาคารอิสระ บนพื้นที่ที่แยกออกไปจากพื้นที่สวน.
4) Orangery
ที่เป็นส่วนหนึ่งและขึ้นอยู่กับการวางแผนผังโครงสร้างทั้งหมดของพื้น.
5) Orangery ที่เป็นตำหนักในชนบทของชนชั้นสูง.
ระหว่างศตวรรษที่ 18 บรรดาสถาปนิกแนวหน้าแห่งยุค สนใจออกแบบอาคารเพื่อการปลูก เพาะพันธุ์และดูแลทนุถนอมต้นส้มเป็นพิเศษ. อาคารส้มเป็นส่วนหนึ่งของสวนในยุคเรอแนสซ็องส์และสวนบาร็อค
เช่นในพระราชอุทยานแวรซายส์(ฝรั่งเศส). อาคารต้นส้มเป็นตึกสูงใหญ่ตามสถาปัตยกรรมคลาซสิก ภายในโล่งกว้าง. อาคารที่สร้างกันในตอนนั้นยังคงอยู่ในปัจจุบันที่เจ้าของสวนสามารถปรับใช้เป็นที่อยู่ หรือใช้ประโยชน์อื่น เช่นเป็นที่จัดกิจกรรมแบบต่างๆ
การแสดงดนตรี. ตัวอย่างอาคาร Orangerie กลางกรุงปารีส กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ (Musée de l’Orangerie) ที่รวมจิตรกรรมอิมเพรสชั่นนิซึมไว้ เช่นภาพชุดดอกบัว(les Nymphéas) ของ Claude Monet [โกล้ด โมเน] ผลงานบางชิ้นของของ Paul Cézanne, Henri
Matisse, Pablo Picasso, Pierre-Auguste Renoir, Henri Rousseau เป็นต้น.
ในยุควิคตอเรีย เกิดการเนรมิตอาคารเรือนกระจก ซึ่งรับแสงอาทิตย์ได้มากกว่าและเพิ่มความอบอุ่นภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่า (เพราะหากอุณหภูมิสูงไม่เพียงพอ ต้องติดตั้งเครื่องทำความร้อน เครื่องทำความชื้นเพิ่มเข้าไป ทำให้สิ้นเปลืองมาก). อาคารเรือนกระจกจึงกลายเป็นแบบยอดนิยมในโลกตั้งแต่นั้นมา.
ภาพอาคารส้ม-Orangerie
ในวิลลา Pisani ลุ่มแม่น้ำ Brenta (อยู่ชานเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี).
อาคารส้มตั้งตรงข้ามกับอาคารปราสาทของวิลลานั้น (จุดที่ยืนถ่ายรูป). มีสระน้ำผืนยาวเชื่อมระหว่างสองอาคารเด่นของวิลลา. สระน้ำเป็นที่สะท้อนแสงแดด
ก้อนเมฆและท้องฟ้าในขณะเดียวกันก็สร้างความชุ่มชื่นแก่พื้นที่และสายตา.
อาคารขนาดใหญ่ที่เป็น orangerie ในวิลลา
Pisani
ดังกล่าว
ส่วนประเทศในเขตอบอุ่นกว่าเช่นสเปน ปอรตุกัล ปลูกต้นส้มลงดินเป็นสวนส้มเลย จึงไม่จำเป็นต้องมี orangerie. สวนส้มนอกจากปลูกส้มพันธุ์ต่างๆ ยังรวมไปถึงมะนาวพันธุ์ต่างๆด้วย. สวนส้มภายในบริเวณมหาวิหารเมือง Córdoba [ก๊อร-โดบา] ที่เรียกกันว่า Patio de los naranjos [ปาติ๊โย เด โลซ นารั้นโฆซ] มีชื่อเสียงมากที่สุด. สวนส้มนี้เป็นลานสี่เหลี่ยม ปูหิน มีแนวขุดลึกลงเป็นร่องน้ำ เชื่อมเป็นทางน้ำใต้ระดับพื้น ที่ทอดตัดกันไปมา เหมือนกระดานหมากรุกตลอดทั้งพื้นลาน. ภายในพื้นที่แต่ละช่องปลูกต้นส้มไว้ มีก้อนกรวดกลมๆรอบโคนต้น. ลำต้นเกลี้ยงๆสูงๆของต้นส้มบนลานสวน รับกับจำนวนเสาสูงเกลี้ยงๆภายในโบสถ์ที่มีถึง 850 เสา จนทำให้ภายในโบสถ์ดูเหมือนป่าไม้ร่มรื่น. สุเหร่าใหญ่ของเมือง Córdoba นี้สร้างขึ้นเมื่อสุลต่าน Umayyad Abd-ur-Rahman เข้ายึดครองเมืองในปี 756 AD. พระองค์ประสงค์ให้สุเหร่าของเมืองนี้ยิ่งใหญ่กว่าสุเหร่า Ummayad Mosque ที่เมือง Damascus ประเทศซีเรีย ที่สร้างแล้วเสร็จในปี 715 และรู้จักกันทั่วไปว่าเป็น สุเหร่าใหญ่แห่งเมืองดามัซกัส (เป็นสุเหร่าที่กว้างที่สุดและเก่าที่สุดในโลก). เมื่อสุเหร่าที่เมือง Córdoba สร้างแล้วเสร็จ เมือง Córdoba จึงกลายเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ก้าวหน้าที่สุดในยุโรปยุคนั้น. Ferdinand III กษัตริย์ชาวคริสต์สามารถเข้ายึดเมืองกลับคืนจากชาวอาหรับได้ในปี 1236. ลานสวนส้มตั้งแต่ยุคที่อาหรับเข้าปกครองนั้นปลูกต้นปาล์ม เพราะต้นปาล์มเป็นเสมือนต้นไม้แห่งชีวิตของชาวอาหรับ (ดังที่รู้กันดีว่า ต้นปาล์มเป็นต้นไม้ที่ขึ้นงามในโอเอซิส บนดินแดนทะเลทราย ให้ผลอินทผาลัมที่เป็นอาหารสุดยอดสำหรับทั้งคนและสัตว์. ต้นปาล์มอินทผาลัมดูเหมือนจะเป็นต้นไม้ต้นแรกๆของโลก เพราะมีแล้วเมื่อประมาณ 50,000 ปีก่อนคริสตกาล). ในศตวรรษที่15 เท่านั้น จึงโค่นต้นปาล์มทิ้งและปลูกต้นส้มแทน สอดคล้องกับค่านิยมและความหลงใหลส้มในหมู่ชาวยุโรปในยุคนั้น.
ภาพลานสวนส้มภายในบริเวณมหาวิหารเมือง Córdoba. พื้นสวนปูด้วยกรวดก่อนกลมเล็กๆ. ภาพนี้จากอินเตอเน็ตที่ http://www.tripadvisor.com
ที่มหาวิหารเมือง Sevilla [เซบี๊ญา] ก็มีลานสวนส้มแบบนี้ (ส่วนโบสถ์สร้างและบูรณะปรับปรุงจากสุเหร่าในระหว่างปี
1401-1507) เป็นลานกว้าง 43 X 81 เมตร. ลานสวนนี้เริ่มสร้างในปี 1172 และแล้วเสร็จในปี 1186. ในยุคอาหรับ Almohade มีสระน้ำพุบนลานนี้เพื่อการชำระล้างร่างกายให้สะอาดตามขนบมุสลิมก่อนเดินเข้าสู่สุเหร่า. ปัจจุบันสระน้ำพุเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวไม่มีแล้ว แต่ยังจัดให้มีสระน้ำพุขนาดเล็กอีกสองสามแห่งบนลานสวนส้ม เตือนให้รำลึกถึงการชำระล้างกายและใจให้สะอาดบริสุทธิ์. เมื่อชาวคริสต์เข้ายึดเมืองได้สำเร็จ ได้ใช้ลานสวนนี้ประกอบกิจกรรมต่างๆ
เช่นงานฉลองประจำปี รวมทั้งเป็นที่ฝังศพด้วย. ในปัจจุบัน ลานสวนส้มเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของโบสถ์
และยุติการใช้ลานสวนส้มเพื่อกิจกรรมศาสนาหรือกิจกรรมอื่นใดแล้ว.
ภาพนี้เป็นของ John
Picken ที่ลงในอินเตอเน็ตที่ http://www.flickr.com/photos/2153247@NOO/295377994 และนำลงเผยแพร่ใน Wikimedia Commons.
ภาพนี้มาจากอินเตอเน็ตที่
www.ianandwendy.com/.../Seville/picture9.htm
ถ่ายจากลานสวนภายในไปที่ประตูทางเข้าทิศเหนือ
เรียกว่าประตูแห่งการให้อภัย (la Puerta del Pardón). เส้นสีดำๆบนพื้นลาน คือร่องน้ำ.
ทั้งสวนและกำแพงโบสถ์กับประตูดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมสุเหร่า (Aljama Mosque) ที่เหลือมาจากยุคที่ชาวอาหรับมัวร์ (Moor) เข้ายึดและปกครองสเปนตั้งแต่ศตวรรษที่ 8. สถาปัตยกรรมที่เห็นในบริเวณนี้ เป็นแบบสถาปัตยกรรม mudejar
ที่งดงามมากแห่งหนึ่งในสเปน. ศิลปะแบบ mudejar นั้นคือการนำองค์ประกอบศิลปะอาหรับ มาปรับประสานกับองค์ประกอบจากสถาปัตยกรรมคริสต์ศาสนา กลายเป็นแบบสถาปัตยกรรมเฉพาะของสเปน. ในแง่นี้ ต้องชมความใจกว้างของสเปนที่มิได้ทำลายมรดกวัฒนธรรมที่ชาวอาหรับมาสถาปนาอย่างมั่นคงบนคาบสมุทรไอบีเรีย
ไปอย่างสิ้นเชิง แต่รู้จักอนุรักษ์และจรรโลงสิ่งดีสิ่งสวยงาม ได้เรียนรู้ สืบทอดและพัฒนาเทคนิคการก่อสร้างขึ้นเป็นแนวใหม่ของสเปน.
อาคาร Orangerie อันยาวเหยียดในพระราชอุทยาน Schönbrunn ระหว่างฤดูร้อน เมื่อนำต้นไม้ออกไปตั้งหายใจในที่โล่งกว้างข้างนอก ภายในก็จัดเป็นที่แสดงดนตรีได้อย่างวิเศษ ดังภาพที่นำมาให้ดูนี้.
อาคารที่เคยเป็น Orangerie ขนาดใหญ่กลางกรุงเวียนนา
เขตพระราชฐาน Hofburg ปัจจุบันรวมพิพิธภัณฑ์สามแห่งในนั้น.
Orchard
คือสวนผลไม้. นักประวัติศาสตร์สวนชาวอังกฤษวิเคราะห์ให้เห็นว่า คำ orchard มาจากรากศัพท์ละตินว่า hortus/ortus. ในภาษาอังกฤษเก่ามีคำ ort-geard/wort-geard ที่มีความหมายว่า ทุ่งสำหรับราก(ผักประเภทหัว) ทำให้คิดว่าเดิมทีเดียวคำนี้ไม่ได้หมายถึงสวนปลูกผลไม้โดยเฉพาะตามที่ใช้กันในปัจจุบัน. คำละตินอีกคำที่ใช้ในยุคกลางเมื่อกล่าวถึงสวนผลไม้คือคำ pomarium แม้ว่าคำนี้จะโยงไปถึงแอปเปิลโดยเฉพาะก็ตาม (จากคำละตินมาเป็นคำ pomme
แอปเปิลในภาษาฝรั่งเศส)
อาจเป็นเพราะผลไม้หลักที่เป็นอาหารในยุคนั้นคือแอปเปิลมากกว่าผลไม้ชนิดอื่น.
เนินลาดที่เห็นเป็นสวนผลไม้
ไกลออกเป็นสวนเชอรี แอปเปิล แพร์ฯลฯ ใกล้มาทางขอบขวาของภาพเป็นไร่องุ่น. ภาพจากสวนส่วนหนึ่งของคฤหาสน์ Monticello ที่อยู่ของThomas Jefferson อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา.
บนพื้นที่ฝั่งตรงข้าม
เห็นต้นไม้ปลูกห่างๆ แถวละไม่เกินสิบต้น บนฝั่งด้านนี้ก็เช่นกัน. พื้นสนามเขียวผืนใหญ่สองฝั่งบ่อน้ำ ทำเป็นสวนผลไม้. วิธีการปลูกทำให้เข้าใจว่า เขาปลูกสวนผลไม้
แบบสร้างบรรยากาศให้สวน มากกว่าเพื่อการเก็บเกี่ยวผลไม้อย่างจริงจัง
แต่คงมีผลไม้ให้บริโภคเฉพาะภายในหมู่คนสวนและเจ้าหน้าที่ของปราสาท.
เช่นนี้ทำให้สวนดูกว้าง ทำทั้งสวนผลไม้ สวนผัก สวนสมุนไพรและสวนดอกไม้.
ที่นี่คือสวนในบริเวณปราสาท Blair Castle (Perthshire, Scotland).
ที่นี่คือสวนในบริเวณปราสาท Blair Castle (Perthshire, Scotland).
ขอบด้านซ้ายของภาพเรื่อยไปและเลียบกำแพงบน
เป็นแปลงปลูกผัก
ผักสดและสวยมาก บนกำแพงจัดให้กิ่งไม้ผล(จำไม่ได้ว่าผลอะไร)ทอดยาวไปอย่างมีระเบียบ. สวนผักสวนผลไม้ที่นั่นเป็นสวนประดับได้อย่างเต็มศักดิ์ศรี ด้วยฝีมือคนสวน.
สวนมะกอกบนไหล่เขานอกเมืองฟลอเรนซ์ มองจาก Piazzale Michelangelo สังเกตว่าเขาปลูกต้นมะกอกห่างๆกันทีเดียว มีเหตุผลแน่นอน และทำให้นึกว่าเขาสนใจรักษาคุณภาพของผลผลิตมากกว่าปริมาณ.
Orchard house
เป็นเรือนกระจกสำหรับปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ. นิยมสร้างกันในอังกฤษตั้งแต่ต้นศตวรรษที่19. ต้นไม้บางประเภทเช่นต้นองุ่นและต้นพีช(peach) จัดให้ต้นขึ้นอิงแนบกำแพงอาคารไปเลย ส่วนไม้ผลประเภทอื่นๆอาจปลูกในกระถางหรือปลูกลงดินภายในเรือนผลไม้นั้น.
เรือนพีช(peach)ที่สวนชื่อ The
Lost Garden of Heligan ที่เป็นสวนพฤกษศาสตร์มีชื่อเสียงมากในแถบ Cornwall ประเทศอังกฤษ. เห็นความพยายามในการปลูกทั้งไม้ดอกไม้ผลที่นั่น เขาทำได้สำเร็จ.
กรณีต้นพีช ผลยังเป็นลูกเขียวๆ อีกไม่ถึงเดือนก็ได้เห็นผลพีชสีเหลืองๆสวยน่ากิน. ที่นั่นมีเรือนกระจกแบบต่างๆมากกว่าที่ใดที่เคยเห็นมา.
Orchid house
เรือนกล้วยไม้. กล้วยไม้ชอบอากาศอบอุ่นและชื้น. ในประเทศที่อากาศหนาวเย็นจึงจำต้องมีเรือนกล้วยไม้หากรักจะปลูก. ชาวอังกฤษไม่รู้จักกล้วยไม้มาก่อนจนถึงราวปี1800 หลังจากนั้นเกิดความคลั่ง
หลงใหลกล้วยไม้จนขนาดมีการออกล่ากล้วยไม้ตามประเทศในเขตร้อน. อังกฤษเริ่มเรียนรู้วิธีการขยายพันธุ์ตั้งแต่ปี1856 และในปลายศตวรรษเดียวกัน
ในอังกฤษมีกล้วยไม้แล้วหลายพันสายพันธุ์. เรือนกล้วยไม้ปกติเป็นเรือนหนึ่งในหมู่เรือนกระจกที่สร้างเพื่อต้นไม้จากต่างถิ่นต่างอากาศ เป็นเรือนที่ปรับอุณหภูมิและความชื้นให้พอเหมาะกับธรรมชาติของกล้วยไม้
จากต่างแดนต่างเขตอุณหภูมิ.
นักออกแบบสวนนำรูปแบบสถาปัตยกรรมคลาซสิกบางประการไปประดับ เพราะความเป็นคลาซสิกสื่อความมั่นคง
ความงามอย่างสมดุล ที่เอื้ออำนวยต่อการจรรโลงจิตวิญญาณ กระตุ้นความชื่นชม
สร้างความสบายตาสบายใจแก่ผู้ไปเดินสวนได้อย่างหนึ่ง
เหมือนที่ดอกไม้งามสามารถสร้างความอิ่มเอิบใจแก่ผู้ได้พบเห็น.
Overthrow
เป็นลวดลายเหล็กดัดที่ประดับเหนือหลังคาโค้งหรือกรอบประตู
นิยมกันมากตั้งแต่ต้นศตวรรษที่17. คานเหล็กดัดทำให้โครงสร้างประตูทั้งหมดมั่นคงขึ้น
เชื่อมเสาสองข้างที่เป็นสองหลักของช่องประตู ลดการโคลงเคลงของประตูเหล็กที่เปิดเข้าออก คานเชื่อมสองเสานี้อาจก่ออิฐ(ก็จะเป็นเหมือนกรอบประตู)
หรือเป็นโครงเหล็กสวยงามประดับเหนือบานประตูเหล็กดัดที่ปิดเปิด.
รั้วเหล็กดัดที่ปราสาท Castle Howard (York, UK) เห็นชัดว่า ส่วนที่เป็น overthrow ตั้งแต่คานเหนือประตู ลวดลายสวยงามของใบโอ๊ค พร้อมอักษรย่อของตระกูล Howard บนยอดมีมงกุฎประดับด้วย.
รั้วเหล็กดัดสวยงามในวัด สร้างกั้นพื้นที่แทนกำแพงหิน(jubé, rood screen จากสถาปัตยกรรมยุคกลาง)ในโบสถ์ใหญ่ๆของอังกฤษ ที่ทั้งหนาและทึบ บดบังแสงจากทิศตะวันออกที่เป็นหัวโบสถ์เสียหมด. แบบนี้ทำให้ทั้งวัดสว่าง เอื้ออำนวยต่อการสำรวมจิตใจให้ผ่องใส. ภาพจากวัดบนเกาะ Insel Reichenua (Lake Konstanz, Germany).
รั้วทางเข้าอุทยานปราสาท Vaux-Le-Vicomte (Seine-et-Marne, France) ลวดลายประดับเหนือประตูลูกกรงเหล็กซี่ๆ เป็นแบบเรียบ จุดเด่นของรั้วอยู่ที่เสา ที่ประดับด้วยรูปปั้นครึ่งตัวที่มีสองหน้า ใบหน้ามองออกมาข้างนอกก่อนเข้าและอีกหน้าหนึ่งมองตามหลังเมื่อเข้าไปแล้ว.
ประตูทางเข้าภัตตาคารหนึ่งในเขตเมืองเก่า Córdoba
ประเทศสเปน
แบบเรียบ โปร่งแสง ทำให้ทางเดินสว่าง ทางเข้าก็สว่าง.
--------------------------------
Letter
P-1 >> Pagoda, Palace, Pale (paling, palisade), Pall-mall, Palladian
bridge, Palm house, Pan, Papyrus, Paradise, Park, Parterre, Pastel, Pasture,
Path, Patio, Patte d’oie, Pavilion, Pavimentum, Paving, Paysage, Peat.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/p-1-patio.html
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/p-1-patio.html
เมนูหนังสือ
ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html
Comments
Post a Comment