Pagoda เจดีย์จีน คำนี้น่าจะมาจากคำ butkada ในภาษาเปอเชียที่แปลว่า วัด(ที่ประดิษฐานของรูปเคารพ). ภาษาปอร์ตุเกสนำไปใช้ ต่อมาใช้ในภาษาอังกฤษด้วย. คำนี้ในความหมายปัจจุบัน คืออาคารศักดิ์สิทธิ์ในขนบจีน และใช้เรียกอาคารแบบจีนๆที่ชาวยุโรปสร้างประดับสวนหรืออุทยานขนาดใหญ่ๆ(แม้จะไม่เหมือนต้นแบบจีนที่แท้จริงก็ตาม). ศตวรรษที่18
เป็นยุคที่ยุโรปหลงใหลคลั่งไคล้ศิลปะจีนและต่อมาศิลปะญี่ปุ่น (ดูที่คำ chinoiserie) เจดีย์จีนที่รู้จักกันดีที่สุดในยุโรปอยู่ในสวนคิว
(Kew Gardens) ที่ Sir William Chambers เป็นผู้ออกแบบ. ลือกันว่า แต่เดิมมีมังกรประดับชายคาทุกมุมทุกเหลี่ยม
ต่อมาถูกปลดออกไปขายทอดตลาดเสียหมด. ในฝรั่งเศสมีเหลือให้เห็นที่ Chanteloup [ฌ็อง-เตอะลู] ชานเมือง Amboise [อ็องบ๊วซ].
ในเยอรมนียังมีเจดีย์จีนและอาคารแบบจีนเหลือให้เห็นอีกหลายแห่ง.
Pavimentum มาจากคำละติน pavire ที่แปลว่า อัดลงให้แน่น. ใช้หมายถึงการปูพื้นผิวหน้าด้วยแผ่นหินหรือแผ่นเซรามิค วางลงบนพื้นแล้วอัดหรือทุบให้แน่นและราบเสมอกันบนดิน.
เจดีย์จีนสิบชั้นจากสวนพฤกษศาสตร์ Kew
Gardens ในอังกฤษ.
เจดีย์จีนที่เหลือเพียงแห่งเดียวในฝรั่งเศส ที่ตำบล Chanteloup ชานเมือง Amboise.
ฝรั่งเศสระบุว่าเป็นเจดีย์หกชั้น(ตามวิธีการนับแบบฝรั่งเศส ไม่นับชั้นพื้น)
มีบันไดเวียน เปิดให้ขึ้นไปได้ถึงชั้นสูงสุด.
เจดีย์จีนนี้จากอุทยานปราสาท Oranienbaum
ใกล้เมือง Wörlitz ในเยอรมนี ทรงกลมๆป้อมๆกว่าเมื่อเทียบกับเจดีย์จีนในประเทศอื่น.
เยอรมนียังรักษาเจดีย์จีนไว้อีกหลายแห่งในประเทศ
เหลือเป็นหลักฐานของยุคสมัยที่คลั่งไคล้ศิลปะจีน
และพยายามทำเลียนแบบโดยนายช่างหรือสถาปนิกชาวยุโรป. ผลงานที่เห็นในเยอรมนี ดูแล้ว จะว่าเป็นแบบจีนก็ไม่ได้
แต่จะว่าเหมือนก็ไม่เชิง.
ในพระราชอุทยาน Sanssouci
เมือง Potsdam ประเทศเยอรมนี มีอาคารที่เรียกว่า Drachenhaus (บ้านมังกร) ที่ปัจจุบันดัดแปลงใช้เป็นมุมบริการชา กาแฟและเครื่องดื่ม
เป็นแบบเรียบง่ายกว่าทุกแบบที่มีในเยอรมนี ใช้เหล็กหรือทองสัมฤทธิ์ดัดเป็นตัวมังกรประดับปลายมุมของหลังคาเป็นต้น
เจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นภายในสวนอังกฤษเมืองมิวนิค (Englischer
Garten, สร้างขึ้นในปี 1789) เคยเปิดให้คนขึ้นไปถึงชั้นบน. ให้เป็นอาคารชมวิว
ขนาดใหญ่กว่ามาตรฐานเจดีย์จีนมากนัก แต่ชาวเยอรมันไม่ถือ ต้องการให้มีประดับอุทยานขนาดใหญ่นี้ที่สร้างเป็นอุทยานภูมิทัศน์
มีพื้นที่กว้างถึง 3.7 ตารางกิโลเมตร.
Palace วัง
คำนี้มาจากคำละติน palatium ที่เป็นชื่อภูเขา Collis Palatium (Palatine Hill) ตั้งอยู่ตรงกลางพื้นที่ของกรุงโรม จากบนเขา มองเห็นปริมณฑลโดยรอบกรุงโรม. เขาลูกนี้เป็นหนึ่งในเจ็ดเขาที่ล้อมรอบกรุงโรม. ตามตำนานมีผู้ไปพบทารกสองคน Romulus และ Remus ดูดนมจากแม่หมาป่าในถ้ำ
Lupercal บนเขาลูกนี้. เมื่อเติบใหญ่ Romulus เป็นผู้สถาปนากรุงโรม. บนเนินเขานี้เช่นกันที่จักรพรรดิ Augustus (63BC.-14AD) ทรงให้สร้างวังของพระองค์และสร้างวัดข้างวังอุทิศแด่เทพอพอลโลด้วย. จักรพรรดิองค์ต่อๆมาก็นิยมไปสร้างวังบนเนินเขานี้. คำนี้จึงกลายความหมายมาใช้ในความหมายสามัญว่า
ที่อยู่ของกษัตริย์ และมาเป็นคำ palazzo ในภาษาอิตาเลียน, คำ palais
ในภาษาฝรั่งเศส, palacio ในภาษาสเปนเป็นต้น. ปัจจุบันคำนี้ใช้เรียกสถานที่ใหญ่ๆเช่น
Palace of Congresses ตามเมืองหลวงหรือเมืองสำคัญทั่วโลก
และยังใช้คำนี้เรียกแหล่งพนันชั้นสูงชั้นหรูทั้งหลายด้วย
ให้คนเคลิ้มๆว่าเข้าไปในวัง ใช้เงินอย่างเศรษฐีและหวังออกมาอย่างเศรษฐี.
Pale, paling, palisade คำแรกใช้เรียกหลักหรือตอไม้สำหรับปักฝังลึกลงในดินเป็นระยะๆ. คำที่สองคือกระบวนการทำรั้วด้วยวิธีดังกล่าว และคำที่สามเป็นคำฝรั่งเศส (สะกดดังนี้ palissade)
ที่ใช้กันแพร่หลายเพื่อเรียกรั้วที่ทำขึ้นด้วยวิธีนี้.
Pall-mall มาจากคำ pallamaglio ในภาษาอิตาเลียน. คำ palla แปลว่า ลูกบอลล์ และคำ maglio แปลว่า
ไม้ตีลูก (เหมือนไม้ตีลูกในกีฬาโปโล มีหัวเหมือนค้อน) รวมกันหมายถึงเกมส์ตีลูกบอลล์ (เหมือนการเล่น croquet-โครเก็ต). เกมกีฬาเแบบนี้เองที่ต่อมากร่อนเหลือเพียงคำ malls
ที่นำมาใช้ในบริบทของสวนและอุทยานขนาดใหญ่
สื่อการมีสนามโล่งกว้างที่เอื้อให้เล่นเกมลูกบอลล์ แม้ว่าต่อมาไม่มีการเล่นบอลล์แบบนั้นแล้ว
ก็ยังเรียกพื้นสนามที่กว้างยาวเป็น the Mall เช่นกลางกรุงวอชิงตันดีซี (คำ mall
ที่ใช้หมายถึงแหล่งรวมร้านสรรพสินค้าหรือร้านค้าหรูหรา เขียนเหมือนกัน
แต่มีที่มาต่างกัน).
Palladian bridge [เพอเล้เดี้ยน
บริจ]
สะพานที่มีหลังคา. คำ palladian มาจากชื่อ Andrea Palladio สถาปนิกเรอแนสซ็องส์ชาวอิตาเลียน
ผู้มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่16
เขานำแบบสถาปัตยกรรมคลาซสิกกลับมาใช้เป็นพื้นฐานในการออกแบบใหม่ (เรียกว่า กระแสนีโอคลาซสิก-neoclassic). แบบสถาปัตยกรรมของเขายังคงเป็นที่นิยมเรื่อยมาในศตวรรษที่18.
สะพาน Palladian Bridge ในอุทยานภูมิทัศน์ Stowe(Buckinghamshire, UK) เป็นสวนภูมิทัศน์แห่งแรกๆในอังกฤษ. ที่นั่น เจ้าหน้าที่ริเริ่มทำหนังสือแนะนำเส้นทางเดินชมสวนภูมิทัศน์. การออกแบบสวนที่นั่น
ได้กลายเป็นมาตรฐานสวนภูมิทัศน์ในอังกฤษและในประเทศต่างๆทั่วโลกตั้งแต่บัดนั้น.
Palladian Bridge ที่ Wilton House (Wiltshire, UK)
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ Andrea
Palladio
และการจัดรูปแบบสถาปัตยกรรมคลาซสิกได้ตามลิงค์นี้ที่คำ Architecture orders.
Palm house เป็นเรือนกระจกอีกหลังหนึ่งสำหรับปลูกต้นปาล์มและพืชเมืองร้อนโดยเฉพาะ. เรือนต้นปาล์มปกติสูงกว่าเรือนกระจกอื่นๆเพราะต้นปาล์มสูงได้หลายสิบเมตร มักปลูกต้นปาล์มไว้เป็นแถวตรงกลางเรือน
เพื่อให้เข้ากับโครงสร้างเรือนกระจกที่ส่วนสูงที่สุดอยู่ตรงกลางอาคารที่ยาวมากกว่ากว้าง. ความก้าวหน้าทางเทคนิคในยุควิคตอเรียทำให้สามารถสร้างเรือนกระจกเพื่อต้นไม้จากเขตอบอุ่นหรือเขตร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ด้วยการใช้โครงเหล็กและกระจกเป็นวัสดุสำคัญ ทำให้ได้เรือนกระจกที่ทั้งร้อนและชื้น และได้รับแสงอาทิตย์ตามธรรมชาติเพียงพอสำหรับต้นปาล์ม. ตัวอย่างเรือนต้นปาล์มที่มีชื่อเสียงในฐานะสิ่งก่อสร้างที่งดงามและในฐานะที่มีประสิทธิภาพสูงคือ เรือนต้นปาล์มในสวน Kew (สวนคิวในกรุงลอนดอน) เป็นผลงานของ Decimus Burton และ Richard Turner สร้างขึ้นในปี 1848 (ดูต่อที่คำ conservatory ตามลิงค์นี้)
เรือนกระจกอาคารต้นปาล์มจากสวนพฤกษศาสตร์
Kew Gradens (London,
UK)
อาคารรูปแบบใกล้เคียงกัน จากสวนพฤกษศาสตร์ ในพระราชอุทยาน Schönbrunn (Vienna, Austria) ภาพจาก FreeGreatPicture.com
อาคารต้นปาล์มที่สวนพฤกษศาสตร์กรุงแบร์ลิน (Berlin, Germany)
ในอังกฤษ มหาวิทยาลัย Oxford และมหาวิทยาลัย
Cambridge เป็นผู้ริเริ่มสร้างสวนพฤกษศาสตร์
ให้เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยพืชพรรณเชิงวิทยาศาสตร์ที่เก่าที่สุดสองแห่งในโลก.
เรือนต้นปาล์มจากสวนพฤกษศาสตร์เมือง
Oxford (สถาปนาขึ้นในปี 1621)
เรือนต้นปาล์มจากสวนพฤกษศาสตร์เมือง Cambridge (สถาปนาขึ้นในปี1762) สวนนี้ขึ้นอยู่กับแผนกวิจัยวิทยาศาสตร์พืชพรรณ
(Department of Plant Sciences, University of Cambridge, UK)
Pan เป็นเทพในตำนานกรีก
เป็นใหญ่ในหมู่คนเลี้ยงแกะบนดินแดน Arkadia ในกรีซ. คนบวงสรวงเทพ Pan ไปทั่วทั้งกรีซ ในฐานะที่เป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์. ในศิลปะ เทพ Pan ปรากฏในร่างของคนครึ่งแพะ ใบหน้าเป็นคน มีหนวดเครา มีเขาบนหัว
เท้าและหางเหมือนแพะ.
เป็นเทพผู้ดูแลฝูงปศุสัตว์และมักเริงระบำกับเหล่านางพราย ในขณะเดียวกันก็เป่าขลุ่ยแถว
(syrinx). บางครั้งการมาปรากฏตัวอย่างฉับพลันของเทพ Pan ทำให้ผู้คนแตกตื่นหวาดหวั่น. ชื่อ Pan จึงเป็นที่มาของคำ panic
(ความแตกตื่น).
นอกจากนี้ เทพ Pan ยังชอบเรื่องรักๆใคร่ๆ มักไล่กวดตามเหล่านางไม้นางพรายและเด็กหนุ่มๆอยู่เสมอ. ตำราหนึ่งเล่าว่า
Pan เป็นลูกชายของ Hermes (เทพเจ้าแห่งการสื่อสาร ตรงกับเทพโรมันชื่อ Mercury). เมื่อเกิด หน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ จึงถูกมารดาทอดทิ้ง
แต่เทพ Hermes พาไปแนะนำต่อเทพบรรษัท ณ
เขาโอลิมปัส (Olympus) ทวยเทพทั้งหลายต่างหัวเราะขบขันหน้าตาของ Pan. เทพ Dionysos
(เทพแห่งไวน์) รู้สึกสนุกและเอ็นดู จึงรับ Pan เข้าในหมู่สหายร่วมวงกินวงดื่ม. ในยุคต่อมา มีผู้ชี้โยงชื่อ Pan กับคำกรีกที่แปลว่า
“ทั้งมวล” ทำให้คนนึกถึง Pan ในฐานะที่เป็นภาพลักษณ์ของจักรวาล. เทพ Pan เป็นหนึ่งในแบบประติมากรรมยอดนิยมที่ศิลปินเนรมิตขึ้นเพื่อประดับสวน.
เทพแพน (Pan) ในอุทยาน Schwetzingen
(Germany).
มีเขาขึ้นจากหน้าผากเหนือคิ้ว
และขาเป็นกีบเท้าแพะ
Papyrus [เพอพ้ายเริซ]
เป็นพันธุ์ไม้น้ำ (Cyperus papyrus คล้ายต้นกก) ขึ้นหนาแน่นสองฝั่งแม่น้ำไนลตั้งแต่โบราณกาล. ชาวอีจิปต์รู้จักใช้ทั้งต้นเป็นประโยชน์เช่น ลำต้นนำมาปอกเปลือกนอกออกแล้วฉีกเยื่อไม้ตามยาวออกเป็นเส้นๆ
นำมาแช่น้ำเพื่อให้น้ำตาลที่อยู่ในลำต้นละลายออก หลังจากนั้นนำมาทับและอัดแห้ง
แล้วมาวางต่อกันทางขวางแล้วทางยาว ทับและอัดให้แห้งก็ได้เป็นแผ่น. โดยทั่วไปมักมีขนาดไม่เกินกว่า 47 x 22 เซ็นติเมตร กระดาษจากต้นปาปิรุสเป็นกระดาษเขียนแบบแรกของคน. เยื่อไม้ยังนำมาสานทำเป็นเสื่อ
เป็นเสื้อผ้าและเป็นใบเรือ หรือนำมาถักไขว้กันเป็นเชือก หรือขดทำเป็นรองเท้าแตะ
หรือขมวดกันเป็นกลุ่ม ทำหน้าที่ของจุกปิดภาชนะได้ หรือเป็นลูกบอลล์ของเด็กๆ. ลำต้นที่แก่ๆ อาจนำมามัดรวมกันในแนวยาวทำเป็นเรือ
หรือเป็นเชื้อเพลิง.
ดอกที่เป็นพู่กระจาย ออกจากปลายก้านยาวๆ ใช้เป็นแกนประกอบช่อดอกไม้แบบต่างๆได้อย่างวิเศษ
ที่ชาวอีจิปต์นำไปบวงสรวงเทพเจ้าดังที่มีภาพวาดหรือจำหลักไว้ตามวัดและสุสานโบราณในอีจิปต์. นอกจากนี้กระดาษห่อศพที่ใช้ตามกระบวนการทำมัมมีนั้น ก็มีส่วนประกอบของแผ่นปาปิรุส ที่ทาปิดด้วยปูนปลาสเตอร์แล้วทาสีสดๆ.
ลำต้นยังกินได้ด้วยโดยเฉพาะส่วนที่ใกล้โคนต้นประมาณครึ่งเมตร
ชาวอีจิปต์ถือว่าเป็นของอร่อยโดยเฉพาะหลังจากที่เผาใหม่ๆ. นอกจากนี้ยังเคี้ยวก้านปาปิรุสเหมือนเคี้ยวอ้อย ทั้งก้านสดๆหรือที่ต้มหรือเผาแล้ว
เคี้ยวดูดสารอาหารภายในแล้วคายกากทิ้ง. ในระบบการแพทย์ยุคแฟโรห์
ต้นปาปิรุสเป็นองค์ประกอบหนึ่งร่วมกับสมุนไพรอย่างอื่นที่ใช้ทาแล้วพันแผลไว้
เช่นเมื่อกล้ามเนื้อขาแข็ง เป็นตะคริวบ่อย หรือใช้ทาบนหนังตาเมื่อเจ็บตา. ชาวอีจิปต์ค็อปเผาแผ่นปาปิรุสแล้วเอาขี้เถ้าที่ได้ ผสมกับสมุนไพรอื่นทำเป็นยาสีฟัน. น่ารู้ด้วยว่าในการแพทย์แผนโบราณของพวกอาหรับ
ก็ใช้ขี้เถ้าของปาปิรุสทาบนบาดแผลสดๆ ช่วยให้แผลแห้ง. ขี้เถ้าจากปาปิรุสยังใช้ทาเมื่อมีแผลในปาก
และหากผสมกับน้ำส้มสายชูแล้วทา ก็หยุดเลือดกำเดาได้เช่นกัน (cf. An Ancient Egyptian Herbal. p.105-6). คุณสมบัติอันหลากหลายของต้นปาปิรุสทำให้เราเข้าใจว่า
ต้นไม้พันธุ์นี้สำคัญเพียงใด.
ส่วนกระดาษที่ทำจากต้นปาปิรุสตามเทคนิคโบราณของชาวอีจิปต์ก็แข็งแรงทนทานไม่มีกระดาษสมัยใหม่ใดเทียบได้เลย
เพราะจารึกโบราณบนแผ่นปาปิรุสที่เหลือมาให้เห็น
ยังคงอยู่ในสภาพดียิ่ง เมื่อนึกว่าแผ่นปาปิรุสที่เก่าแก่เหล่านั้นอาจมีอายุหลายพันปีแล้ว
ที่เก่าที่คือ 7000 ปี.
ในยุคโบราณนั้นอีจิปต์ส่งออกกระดาษปาปิรุสไปยังประเทศอื่นๆด้วย
แต่ดูเหมือนว่าไม่คงทนเท่ากระดาษปาปิรุสในอีจิปต์เอง อาจเป็นเพราะอีจิปต์มีอากาศแห้งกว่า
ไม่เป็นปัญหาต่อการเก็บรักษา.
ภาพนกขนาดใหญ่ (bird of paradise) บนกิ่งปาปิรุส จากพจนานุกรมธรรมชาติวิทยาและปรากฏการณ์ธรรมชาติ
(Dictionnaire pittoresque d’histoire naturelle et des phénomènes de la nature ของ Guérin-Méneville &
Félix-Edouard พิมพ์ที่กรุงปารีส 1838). ข้อมูลภาพระบุไว้ดังนี้ By
Internet Archive Book Images [No restrictions], via Wikimedia Commons.
ส่วนหนึ่งของปาปิรุสจากหนังสืออีจิปต์ คัมภีร์ผู้ตาย (Book of
the Dead) ที่เขียนบนกระดาษปาปิรุสทั้งเล่ม. เทพ Osiris นั่งเป็นประธาน เบื้องหน้ามีคันชั่ง กำลังชั่งหัวใจผู้ตาย. ภาพของ Hajor, Dec.2002 (released under cc.by.sa and/or GFDL). ปาปิรุสเล่มนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์อีจิปต์ (Egyptian Museum กรุงไคโร).
Paradise สวรรค์ คำนี้มาจากคำเปอเชีย paradaiza หมายถึงสวนที่มีสัตว์แปลกๆจากต่างแดน และต่อมาโยงไปถึงสวนเปอเชีย (paradise garden) ในโลกยุคโบราณ ซึ่งสร้างสรรค์ตามจินตนาการของสวนสวรรค์ ที่เป็นสวนใหญ่สวยงามร่มรื่น
มีมวลไม้ดอกหลากสีสันที่ไม่มีวันโรย. ชีวิตในสวรรค์คือชีวิตที่สุขสบายไร้ความกังวลใดๆ. ต่อมาชาวกรีกนำคำนี้ไปใช้
คือคำ paradeisos ในภาษากรีก ที่หมายถึงสถานที่สุดวิเศษ. และในที่สุดมาเป็นความหมายของคำว่า สวรรค์
ดังที่เข้าใจกัน.
ความหมายของสวรรค์ในค่านิยมของชนชาติต่างๆไม่เหมือนกัน ในรายละเอียดเสมอ. ในค่านิยมของคนตะวันตก ยังคงเก็บนัยของสถานที่น่าอภิรมย์
สนามหญ้าเขียวชอุ่ม ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ดอกไม้สีสวย น้ำไหลระรื่นหู เป็นต้น.
Park เป็นผืนดินขนาดใหญ่ มีรั้วล้อมโดยรอบ ในสำนวนไทยเราเรียกกันว่าสวนสาธารณะ (ซึ่งตรงกับคำ public park). ในยุโรปเช่นอังกฤษ park อาจเป็นของส่วนบุคคล ที่อาจปิดกั้นมิให้คนอื่นเข้าไปก็ได้เช่นกัน หรือต้องเสียค่าผ่านประตูเมื่ออยากเข้าไป มักเป็นสวนขนาดใหญ่ในอาณาบริเวณที่เคยเป็นพระราชฐานสำคัญๆของเจ้านายมาก่อน และต่อมาเปิดให้คนเข้าชมหรือไปพักผ่อนได้ ตามกำหนดเวลาที่ทางคณะผู้บริหารสวนระบุไว้ เช่นสวนที่ Longleat (Wiltshire, UK). ในสมัยกลาง สวนขนาดใหญ่ดังกล่าวนี้เป็นแดนล่าสัตว์ เพราะมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น และมีการตัดทางเพื่ออำนวยความสะดวกในการท่องทั่วบริเวณ. ยุคนั้นกระบวนการสร้าง ตั้งแต่การจัดทำรั้วล้อมที่ดิน การปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ (สำหรับนำไม้ไปใช้ประโยชน์เช่นในการก่อสร้าง) และการเตรียมพื้นที่ให้เป็นบริเวณล่าสัตว์นั้น เรียกว่า emparking. ความคิดเรื่อง park แปรเปลี่ยนไปในศตวรรษที่18 park กลายเป็นบริเวณที่เสริมสร้างความสุขทางตา (ให้คนมีโอกาสเห็นธรรมชาติและสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาตินั้น) เพราะฉะนั้นอย่างน้อย park
ต้องดูเหมือนธรรมชาติให้มากที่สุด แม้จะเป็นธรรมชาติที่คนสร้างขึ้นก็ตาม เช่นจัดทำสนามหญ้าที่ทอดยาวและกว้าง. ต้นไม้ที่ปลูกใน park ปลูกเป็นที่เป็นทางอย่างเฉพาะเจาะจง ยังขุดทำทะเลสาบ นำกวางและแกะเข้าไปเลี้ยงและปล่อยให้มันเดินไปมาตามสบาย มีคนสวนดูแลตลอดเวลา. กระบวนการพัฒนาสวนใหญ่ๆแบบนี้ เริ่มอย่างจริงจังในประเทศอังกฤษกับสถาปนิกสวนผู้นำคนสำคัญ Lancelot Brown
(1716-1783) เป็นที่รู้จักกันตามสมญานามที่ได้ว่า Capability Brown (สมญานามที่สื่อความสามารถพิเศษของเขา รวมทั้งคำคุณศัพท์ Brownian ที่แปลงมาจากนามสกุลของเขาด้วย). คำ park ที่ใช้ในอังกฤษยังมีแตกแยกเจาะจงลงไปเป็น Royal park และ Public park โดยที่คำแรกหมายถึงสวนบนพื้นที่ที่เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือของราชวงศ์ อาจปิดสำหรับประชาชน หรือเปิดตามวาระหรือตามเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจง ส่วนคำที่สองก็อาจเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ได้ ที่ได้ยกให้เป็นสถานที่เพื่อสาธารณะประโยชน์แล้ว. ปกติ สวนสาธารณะเปิด(เกือบ)ตลอดเวลา ไม่ต้องเสียค่าผ่านประตู.
คำว่า park ในปัจจุบัน นำมาใช้ในความหมายที่กว้างขึ้นอีกมาก ซึ่งรวมไปถึงสวนสนุกประเภทต่างๆ ส่วนใหญ่บนที่ดินผืนใหญ่มาก. นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้หมายถึงสถานที่กว้างที่ใช้จัดกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์โดยที่มิได้ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติเลยก็มี. ในเมืองไทยมี Thailand Knowledge Park ที่เป็นอุทยานการเรียนรู้หรือสวนสนุกทางปัญญา ที่ตั้งอยู่บนอาคารเซ็นทรัลเวิลปลาซา (Central World Plaza) ชั้น๖ เป็นต้น. ในแง่หนึ่งการใช้คำ “สวน หรือ อุทยาน” อาจมีส่วนจูงใจเด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ให้ไป ณ ที่นั้น สื่อและเน้นการเรียนรู้ว่าเป็นของสนุกได้ มิได้น่าเบื่อแบบการอ่านตำราดังในสมัยที่ผ่านมา. การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอาจนำความสุขความอิ่มเอบใจและจุดประกายความคิด
เหมือนความสบายอกสบายใจเมื่อไปเดินเล่นในสวนเขียวชอุ่มและร่มรื่น.
Parterre ปาร์แตร์ เป็นคำฝรั่งเศสแปลว่า “บนดิน” อ่านว่า [ปา-รแต-ร]. คำนี้ใช้แพร่หลายในศตวรรษที่17. ประเทศยุโรปรับคำนี้ไปใช้เลย หมายถึงพื้นที่ราบปลูกสนามหญ้าหรือจัดเป็นแปลงดอกไม้ที่ไม่สูงเกินระดับพื้นนัก. การจัดแปลงมีแบบลวดลายที่สม่ำเสมอ แปลงสวนแบบนี้ปกติอยู่ติดบ้านหรือใกล้อาคารใหญ่บนที่ดินผืนนั้น. จุดมุ่งหมายในการเนรมิต ปาร์แตร์ เพื่อให้มองภาพรวมของลวดลายบนพื้นทั้งหมดจากที่สูง เช่นจากหน้าต่างหรือระเบียงบนอาคาร. ลวดลายที่เนรมิตขึ้นอาจเป็นรูปลักษณ์เรขาคณิต หรือแบบลายผ้าลูกไม้ นั่นคือเป็นรูปลักษณ์ของใบไม้ ดอกไม้ เช่นลวดลายของดอกลิลลี. ปาร์แตร์
ที่เป็นลวดลายเรียกกันว่าเป็น parterre de broderie (ดูตัวอย่างปาร์แตร์จากสวนต่างๆได้ที่คำ broderie de parterre ตามลิงค์ที่ให้) คือเป็นเหมือนลายปักบนผ้า สีสันของดอกไม้ภายในแปลงกำหนดไว้อย่างแน่นอน หย่อมไหนใช้ดอกไม้อะไรสีอะไรเป็นต้น. การลงดอกไม้ในปาร์แตร์นั้น ลงไว้ได้นานประมาณสามสี่เดือน เพราะฉะนั้นจึงมีการขุดดอกไม้ออกและลงดอกไม้ประจำฤดูต่างๆแทน เช่นนี้การดูแลรักษาปาร์แตร์ตลอดทั้งปี จึงต้องใช้แรงงานและเวลาตระเตรียมมาก รวมทั้งต้องมีการเพาะเตรียมพืชพันธุ์ไม้ดอกประจำแต่ละฤดูไว้ด้วย เพื่อให้ปาร์แตร์มีดอกไม้แตกต่างกันไปทุกฤดู. ความสิ้นเปลืองแบบนี้ทำให้การเนรมิตแปลงดินปาร์แตร์ซบเซาลงไปในศตวรรษที่18. ต่อมามีการปรับปรุงแนวการประดับแนวใหม่ เช่นแทนการใช้ดอกไม้ ก็ปลูกพื้นหญ้าเหมือนกันไปทุกหย่อม. อุทยานบางแห่ง ใช้กรวดหรือหินสีๆ โรยเกลี่ยภายในแปลงปาร์แตร์ เช่นที่พระราชอุทยาน Nymphenburg (ชานเมืองมิวนิค
ประเทศเยอรมนี). ไม่ว่าพื้นที่ภายในเป็นพื้นหญ้าหรือพื้นกรวด
ทั้งสองแบบเสริมลวดลายพื้นฐานของปาร์แตร์ให้เด่นชัดเจนได้ดีเช่นกัน และทุ่นค่าใช้จ่ายลงไปมากเพราะไม่ต้องเปลี่ยนพื้นในแปลงปาร์แตร์. ชาวฝรั่งเศสเรียกวิธีการของอังกฤษที่ทำปาร์แตร์บนพื้นสนามหญ้าว่า เป็นปาร์แตร์แบบอังกฤษ (parterre à l’anglaise) นั่นคือบนพื้นสนามหญ้าเขียวผืนกว้าง
เมื่อกำหนดลวดลายที่ต้องการเนรมิตแล้ว จะตัด ถางหรือขุดตามลวดลายโดยตรงบนพื้นสนามหญ้านั้นเลย. ในอังกฤษอีกเช่นกันที่ทำขอบลวดลายหรือขอบแปลงเป็นพุ่มไม้เตี้ยๆ ตัดเล็มเสมอกันโดยตลอด และจัดให้เป็นตัวอักษรเรียงรวมกันเข้าเป็นคำขวัญประจำตระกูล หรือคติแง่คิดหนึ่ง (เป็นภาษาละตินก็มี). ปัจจุบันสวน ปาร์แตร์ประดับดอกไม้สีสดใสจริงๆมีน้อยลงมาก. ปาร์แตร์ที่มีชื่อเสียงในฝรั่งเศสที่ครอบพื้นที่กว้างมากที่สุดและสวยงาม คงต้องไปดูที่พระราชอุทยานแวรซายส์ ที่เป็นแบบฉบับการสร้างสรรค์ปาร์แตร์. ในอังกฤษ ปาร์แตร์ที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่อยู่ในสก็อตแลนด์.
ในประเทศยุโรปตอนเหนือหรือที่มีภูมิอากาศอบอุ่นถึงเย็น ยังมีปาร์แตร์ให้ชมหลายแห่ง. ส่วนในประเทศยุโรปตอนใต้ที่มีแดดร้อนจัดตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิและตลอดฤดูร้อน ยังผลให้ดอกไม้เหี่ยวเฉาเร็วกว่ามาก จึงทำแปลงสวนปาร์แตร์น้อย เพราะฉะนั้นเอกลักษณ์สำคัญของสวนในประเทศยุโรปตอนใต้จึงมิใช่การเนรมิตปาร์แตร์ แต่เป็นการเนรมิตสระ น้ำพุหรือน้ำตก ที่มีน้ำเป็นปัจจัยสำคัญและสร้างความเย็นชื่นฉ่ำในสวน สร้างเสียงน้ำไหลที่ชุ่มชื่นใจในความร้อนระอุของกลางวัน เช่นสวนแบบอิตาเลียน สวนแบบสเปนเป็นต้น. เมื่อเข้าใจตามนี้แล้ว
ในที่สุดการเนรมิตปาร์แตร์ เทียบได้กับการสร้าง knot gardens ของสวนอังกฤษ (ดูที่คำ knot garden ตามลิงค์ที่ให้)
Pastel หรือ pastel shades สีอ่อน สีสว่างๆ ดูนวลตา ถ้าเป็นจิตรกรรม ก็เป็นแบบภาพสีน้ำเมื่อเทียบกับภาพสีน้ำมันที่ทึบ หนา เห็นแถบสีที่ป้ายลงมากกว่า.
Pasture เป็นทุ่งหญ้าโล่งกว้างสำหรับเลี้ยงสัตว์ อาจมีต้นไม้ใหญ่ปลูกเป็นหมู่ๆหย่อมๆ หรือเป็นแถวยาว เพื่อให้เป็นที่พักที่กำบังของฝูงสัตว์ด้วย เพราะโดยทั่วไป (ยกเว้นในประเทศหนาวจัด หรือใกล้ขั้วโลก) ฝูงสัตว์เลี้ยงเช่นแกะอยู่ในทุ่งในธรรมชาติตลอดทั้งปี เช่นในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์เป็นต้น.
สองภาพข้างล่างนี้จากทุ่งหญ้าเลี้ยงแกะที่
Perry Green
ที่นั่นเป็นที่ตั้งของ Henry
Moore Foundation เคยเป็นที่อยู่ ที่ทำงานสร้างสรรค์ของ
Henry Moore (1893-1986) ประติมากรชื่อดังของอังกฤษ. ปัจจุบันเปิดเป็นอุทยานประติมากรรมกลางแจ้งสำหรับคนทั่วไป. ผลงานของเขาจัดตั้งวางอยู่ในที่โล่งกลางแจ้ง. เช่นสองภาพนี้
ประติมากรรมกับแกะต่างเป็นองค์ประกอบของภูมิทัศน์.
สนใจตามไปดูประติมากรรมกลางแจ้งที่นั่น ตามลิงค์ที่ให้นี้.
ประติมากรรมในภาพนี้ชื่อว่า
Large Reclining Figure
(1984)
ภาพนี้ตั้งชื่อไว้ว่า
Sheep Piece (1971-1972)
Path ทางเดินภายในอุทยานหรือสวน
ดูตัวอย่างการตัดเส้นทางเดินภายใน ทั้งเส้นแกน ทางเดินหลักและทางเดินย่อยๆ
ภายในพระราชอุทยานแวร์ซายส์จากแผนผังข้างล่างนี้
ตามผังพระราชอุทยานแวร์ซายส์ เราเห็นการจัดแบ่งพื้นที่เป็น “ห้องสวน”
แต่ละห้องมีพื้นที่สี่เหลี่ยมมีทางเชื่อมกับห้องอื่นๆในบริเวณใกล้เคียง.
การตัดเส้นทางเดินภายในไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ละห้องมีวิธีการจัดพื้นที่และตกแต่งไม่เหมือนกัน. ผังพระราชอุทยานแวร์ซายส์เป็นแบบแผน
มีสัดมีส่วนแบบรูปลักษณ์เรขาคณิต
กลายเป็นผังสวนต้นแบบสำหรับการสร้างสวนอุทยานในประเทศยุโรปอื่นๆ. เส้นแกนหลักของสวน
คือทางเดินเอกที่ทอดตรงจากห้องพระบรรทมของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ มองทอดเป็นเส้นตรงออกไปจากหมายเลข
1ไปที่
2, 3, 4, 5, 6 ตามลำดับ
แล้วยังต่อเป็นเส้นตรงไกลออกไปอีกจนสุดลูกหูลูกตา เป็นเส้นทางไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร.
Patio [ปาติโย] เป็นคำภาษาสเปน ในภาษาอังกฤษใช้คำ courtyard ส่วนในภาษาฝรั่งเศสใช้คำ cour intérieur. ปาติโยของสเปนเทียบได้กับ Roman atrium หรือ Italian cortile อธิบายได้ว่า ปาติโยเป็นลานสวนภายในบริเวณนิวาสถาน ระหว่างอาคาร หรือเชื่อมอาคารหนึ่งกับอีกอาคารหนึ่ง หรือเป็นสวนจัตุรัสกลางอาคารใหญ่. ลักษณะการจัดแต่งบริเวณลานสวนปาติโยแพร่หลายไปทั่วโลก. ปาติโยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวสเปน เป็นที่นั่งพักผ่อน ที่สังสันทน์ ที่ดื่มน้ำชา กาแฟกับขนม. ปาติโยในคฤหาสน์ใหญ่ๆใช้เป็นที่จัดงานเลี้ยง ที่เต้นรำ ที่แสดงดนตรีด้วย. ที่เมือง Granada [กราน้าดะ] มีอุทยาน Generalife [เฆเนรัลลีเฟ] ที่มีปาติโยเนรมิตต่อๆกันไปเต็มบริเวณที่ราบสูงทั้งหมด จากปาติโยหนึ่งไปอีกปาติโยหนึ่ง แต่ละแห่งสร้างเป็นวิวเฉพาะแบบหนึ่ง แสดงให้เห็นอัจฉริยะการสร้างสรรค์ของชาวอาหรับและสเปน. มีน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญของอุทยาน เป็นสระน้ำ ธารน้ำไหล และบันไดน้ำเป็นต้น. ผู้เดินในสวนได้ยินเสียงน้ำไหลตลอดทุกย่างก้าว ให้ความรู้สึกสดชื่นสบายอกสบายใจ. มีซุ้มดอกไม้และต้นไม้ใหญ่ใบหนาเขียวชะอุ่ม ที่ให้ร่มเงาอยู่ทั่วไปในบริเวณ. ที่นั่นจึงเป็นอุทยานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในสเปนและในโลก.
ผังสวนที่นำมาให้ดูคือ
Palacio de Viana เมือง Córdoba ประเทศสเปน. ภาพนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า
ปาติโยมีอาคารล้อมเกือบโดยรอบ (สีแดงเข้มคืออาคาร สีครีมคือปาติโย
สีเขียวเป็นพื้นสวนหรือต้นไม้). ที่นั่นเคยเป็นตำหนักเก่าแก่
และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนทั่วไปได้เห็น. มีปาติโยทั้งหมด 13 แห่งที่เข้าไปชมได้. ภายในบริเวณซึ่งดูๆไม่กว้างนักแต่ให้ความรู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในเมืองลับแลเพราะเดินไปวนไปออกจากลานสวนหนึ่งไปเข้าลานใหม่เสมอ.
จากปาติโนหนึ่ง เดินลึกเข้าไป ยังมีปาติโยอื่นอีกแห่งสองหนึ่งต่อๆกันไป
ปาติโยในบ้านส่วนตัว เมือง Córdoba สเปน. ชาวสเปนนิยมประดับลานสวนด้วยกระถางต้นไม้ขนาดต่างๆ
ปลูกต้นไม้พันธุ์ต่างๆ เนื่องจากพื้นลานไม่ใช่พื้นดินแต่ปูกระเบื้องและไม่นิยมขุดหลุมลงไป.
อีกประการหนึ่งอาจไม่ต้องการให้ต้นไม้ที่ปลูกเติบโตมากเกินสัดส่วนของบ้านแบบสเปน
และเพื่อให้มีพื้นที่เปิดโล่งสู่ท้องฟ้ามากเท่าพื้นที่ลานนั้น.
ลานสวนอาจมีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็ได้. ในนครใหญ่ๆเช่นนิวยอร์คที่เป็นตัวอย่างนครคอนกรีตที่ดีที่สุด พื้นที่เขียวเกือบไม่เหลือเลย (นอกจาก Central Park ที่เป็นปอดของนครนิวยอร์ค) ตึกสูงระฟ้าข่มคนเดินถนนให้รู้สึกว่าเป็นคนแคระ ไร้ความหมายเสียจริงๆ. การเนรมิตลานสวนภายในอาคารและระหว่างอาคารจึงเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยคลายความเครียดของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในภายในตึกคอนกรีต
ช่วยกระตุ้นจิตสำนึกที่มีต่อสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน. ลานสวนต้องมีต้นไม้ใหญ่ มีหย่อมหญ้าเขียว. ในนิวยอร์คลานสวนแบบนี้ จัดเป็นที่พักผ่อน อ่านหนังสือพิมพ์ ดื่มน้ำชากาแฟหรือรับประทานอาหารว่าง. ลานสวนหรือปาติโยได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในสถาปัตยกรรมยุคปัจจุบันในทุกประเทศ. การประดับลานสวนในแต่ละประเทศ ก็อาจเป็นไปตามค่านิยมของประเทศนั้นๆ เช่นในญี่ปุ่น ลานสวนในอาคารจัดเป็นสวนญี่ปุ่นขนาดย่อส่วน บางทีก็ให้เป็นสวนหินสวนทรายที่ไม่มีต้นไม้ใบเขียวประดับเลย ไม่มีม้านั่งสักตัว. ลานสวนในญี่ปุ่นที่อยู่ในบริเวณแวดล้อมของตึกสูงๆสมัยใหม่
กลายเป็นที่ที่คนออกไปสูบบุหรี่คลายเครียด เพราะภายในอาคารส่วนใหญ่ห้ามสูบบุหรี่กัน. (ดูภาพตัวอย่างอื่นๆได้ที่คำ courtyard ตามลิงค์ที่ให้)
Patte d'oie เป็นคำภาษาฝรั่งเศส แปลตามตัวว่า “ตีนห่าน” (goose foot) เป็นแบบการจัดผังสวนแบบหนึ่งในฝรั่งเศสที่ประเทศอื่นนำไปใช้ด้วย. เหมือนตีนห่านในแง่ที่มีการตัดเส้นทางเดินแยกออกจากจุดกลางจุดเดียวกัน แผ่เป็นรัศมีหลายทาง (หรือเหมือนพัดที่คลี่ออก). จุดกลางนั้นมักเป็นตัวบ้าน หรือกลางพื้นที่สวน. เส้นทางแต่ละสาย ไปสุดลงที่อาคารหลังเล็กหลังหนึ่งหรือสิ่งประดับสวนเด่นๆสิ่งหนึ่ง. ยังอาจมีเส้นทางแบบดาวกระจายที่แผ่ออกไปโดยรอบเป็นวงกลม ไม่ใช่เพียงรูปแบบตีนห่านเท่านั้นโดยเฉพาะในการวางผังเมือง. ตัวอย่างสุดยอดคงต้องยกให้ผังเมืองของกรุงปารีส
ที่มีการสร้างถนนสายสำคัญๆของเมืองแผ่ออกจากจุดกลางที่คือประตูชัย (Arc de Triomphe [อารค เดอ ธรีอ๊มฟ]) สิบสามสาย. เขตดังกล่าวจึงเรียกว่า Etoile [เอตัว-ล] (แปลว่า ดวงดาว)
ภาพสเก็ตช์พระราชอุทยาน
Het Loo (Apeldoorn ประเทศเนเธอแลนด์) ให้สังเกตการปลูกแนวต้นไม้ที่อยู่ไกลออกไปตอนบนของภาพ. ปลูกแยกออกเป็นรูปตีนห่าน.
ที่นั่นปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างบูรณะเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ตามผังพระราชอุทยานที่เคยเป็นมาก่อนในศตวรรษที่17. ทุกวันนี้เปิดให้เข้าชมได้ถึงบริเวณสวนรอบๆอาคารครึ่งวงกลมเท่านั้น.
ภาพจากพระราชอุทยาน Schönbrunn (Vienna, Austria) ตรงที่มีเส้นทางตัดแบ่งแยกออกไปแบบตีนห่าน
มีรั้วต้นไม้หนาทึบคั่นเส้นทางเดินแต่ละสาย.
ชมคลิปวีดีโอ
ปฏิบัติการของ Green Peace ที่ปารีส เพื่อเรียกร้องความสนใจจากรัฐบาลฝรั่งเศสและชาติอื่นๆอีก 190 ประเทศที่ไปร่วมประชุม COP21 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายนถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2015 ที่กรุงปารีส. การประชุมนี้มีชื่อเต็มว่า Conference of the Parties
(COP) to the United Nations Framework Convention on Climate Change
(UNFCC) ด้วยความหวังที่จะหาข้อตกลงร่วมกันทั้งโลก
ในการรณรงค์แก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง. ฝ่าย Greenpeace ได้ฉีดสีเหลืองไปบนเส้นทาง13 สาย สื่อแสงอาทิตย์ที่กระจายออก และที่เป็นพลังงานยั่งยืนที่ควรนำมาใช้แทน
เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ได้ผลมากกว่านี้. คลิปนี้นำลงยูทู้ปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2015. (เราเลยได้อาศัยดูพื้นที่และเส้นทางสิบสามสายที่รวมกันเป็นดวงดาวบนพื้นถนนของปารีส)
Pavilion อาคารในสวน มาจากคำ papilio
ในภาษาละตินที่แปลว่า ผีเสื้อ. ดั้งเดิมใช้หมายถึงเต็นท์ ต่อมาหมายถึงอาคารแบบโปร่งโล่งไม่ปิดทึบ. ตามหลักฐานเก่า
แนวชีวิตเร่ร่อนของสุลต่านเปอเชียศตวรรษที่12 ทำให้มีการสร้างเต๊นต์ที่พับเก็บขนย้ายไปกับขบวนเดินทาง. ในตะวันออกกลาง คำ pavilion ใช้เรียกเต๊นท์ขนาดใหญ่ ที่จัดเป็นทั้งที่กิน ที่นอนและที่ว่าราชการของเหล่าหัวหน้าหรือผู้นำฝูง. ขนบนี้เองที่ทำให้อาคาร“พาวีเลียน”ในสวนอังกฤษยุคศตวรรษที่16 เป็นเต๊นท์ผ้าใบ. พาวีเลียนบางหลังใช้เป็นที่อยู่อาศัยเลย. พาวีเลียนที่มีชื่อเสียงที่สุดในอังกฤษ คงต้องยกให้ Royal Pavilion ที่เมือง Brighton สร้างแล้วเสร็จในปี 1822. พาวีเลียนหลังนี้ห่างไกลจากภาพลักษณ์ของพาวีเลียนแบบเต๊นท์มากนัก. ในศตวรรษที่19 อังกฤษนำคำนี้ไปใช้กับหมู่อาคารวังที่งามหรูหราแบบสถาปัตยกรรมอาหรับกึ่งอินเดีย
ที่พอจะเตือนให้รำลึกถึงชีวิตใต้กระโจมของชาวอาหรับอยู่บ้าง. ดังที่ทราบกัน อาคารแบบจีนในอุทยานขนาดใหญ่ในยุโรป ก็มักเรียกว่า Chinese pavilion. อาคารประดับสวนตามที่ต่างๆในโลก จึงอาจใช้คำ pavilion เรียกด้วย โดยไม่มีนัยโยงไปถึงขนบการสร้างเต๊นต์จากเปอเชียแต่อย่างไร.
สามภาพนี้จาก The Royal Pavilion ที่เมืองไบร้ตัน (Brighton, East Sussex, UK) เริ่มสร้างในปี 1803 เพื่อเป็นที่ประทับของเจ้าชายรัชทายาท
ผู้ต่อมาคือพระเจ้า George IV. ระหว่างปี 1815-1822 นักออกแบบ John Nash ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆแปลงเป็นตำหนักสุดหรูตามแบบสถาปัตยกรรมอาหรับอินเดียในด้านนอก
ภายในก็ตกแต่งตามแบบจีนกับอินเดีย ที่กลายเป็นโฉมหน้าถาวรของตำหนักนี้มาจนถึงทุกวันนี้. มีเสากลมเล็กๆโผล่ขึ้นสี่มุมของอาคาร
ประดับด้วยหอคอยเล็กๆที่เหมือนปล่องไฟ แต่ไม่ใช้เป็นปล่องไฟ เป็นแบบประดับเท่านั้น ลอกเลียนแบบมาจากสถาปัตยกรรมในอินเดียราชสถาน (ดูที่คำ chhatri). สถาปัตยกรรมอันแปลกแหวกแนวของตำหนักนี้ สื่อให้เข้าใจโดยปริยายว่า
เจ้าชายรัชทายาท (ผู้ต่อมาคือ พระเจ้า George IV)
ต้องการให้เป็นตำหนักส่วนตัวเพื่ออยู่กับคนรักของพระองค์
(Mrs Fitzherbert) นอกพระราชวังและนอกกฎมณเฑียรบาล. ตำหนักนี้ยังเป็นที่ประทับพักร้อนของพระเจ้า William IV และพระราชินีวิคตอเรียก็เคยเสด็จไปประทับที่นั่น
แต่ไม่ทรงโปรด จึงทรงอนุมัติให้ขายที่และตำหนักแก่เมือง Brighton ในปี 1850.
ดูรายละเอียดได้ในลิงค์ที่ชื่อจิตรกรจากอินเตอเน็ต.
ศตวรรษที่18
ในรัชสมัยของพระเจ้ากุสตาฟที่สาม (Gustav III, 1771-1792) มีการสร้างเต๊นต์ในพระราชอุทยาน Drottningholms ประเทศสวีเดน. ที่นั่นเรียกอาคารนี้ว่า Turkish Pavilion. ดั้งเดิมสร้างขึ้นเพื่อหน่วยรักษาการณ์ของพระราชวัง
ต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์ของมงกุฎเพชรบนพื้นที่พระราชวัง(เพราะสร้างสำหรับพระราชินี)
และในที่สุดเป็นอาคารประดับสวนภูมิทัศน์ที่นั่น.
ภายในจัดนิทรรศการเกี่ยวกับปราสาทและสวน. ตัวอาคารมิได้ใช้ผ้าเต็นท์จริงๆ
ใช้ทองแดง ทาสีขาวสลับสีฟ้า สร้างเป็นอาคารถาวร
ไม่อาจพับหรือเคลื่อนย้ายได้. (ที่นั่นยังมี Chinese
Pavilion ที่พระเจ้า Adolf Fredrik ทรงให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นของกำนัลแด่พระราชินี
Lovisa Ulrika ในปี 1753. ในยุคนั้นยุโรปกำลังคลั่งไคล้ศิลปวัฒนธรรมจีน ดูรายละเอียดต่อไปที่คำ Chinese garden ตามลิงค์ที่ให้นี้)
อาคารสองหลังที่ตั้งตรงหน้ากันและกันที่อุทยาน Rosenstein เมือง Stuttart เยอรมนี. เขาเจาะจงเรียกว่า pavilions อาจต้องการเน้นความเป็นคลาซสิก เพราะด้านหน้าของอาคารสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมโบราณ.
Pavimentum มาจากคำละติน pavire ที่แปลว่า อัดลงให้แน่น. ใช้หมายถึงการปูพื้นผิวหน้าด้วยแผ่นหินหรือแผ่นเซรามิค วางลงบนพื้นแล้วอัดหรือทุบให้แน่นและราบเสมอกันบนดิน.
Paving การปูพื้นทางเดิน(ในสวน) วัสดุที่ใช้อาจเป็นแผ่นอิฐ แผ่นหิน แผ่นเซรามิค แผ่นไม้ แผ่นคอนกรีต
หรือโรยกรวดทั้งหมดตลอดเส้นทาง.
ภาพนี้จากสวน Greys Court ตัวอย่างการปูพื้นสวนเป็นทางเดิน
ใช้ทั้งแผ่นอิฐและก้อนกรวด จัดให้น่าดู.
อีกตัวอย่างหนึ่งของการปูพื้นเป็นตารางหมากรุก
มีช่องที่ปูด้วยแผ่นหินสลับกับช่องที่
ใช้กรวดที่ยังจัดลายเล็กๆแถมให้ด้วย. ภาพจากเขตเมืองเก่า Córdoba ประเทศสเปน.
อิฐหรือหินก้อนเล็กต่างสี ปูพื้นทางเดินในขณะเดียวกันก็สร้างลายไปบนพื้นด้วย ดูเหมือนสายน้ำ ฤาเป็ดสองตัวนี้จะเดินตามไปถึงสายน้ำจริง?
ยืนมองดูอยู่ เป็ดเดินไปถึงสระน้ำจริง.
ภาพจากสวนพฤกษศาสตร์เมืองแบร์ลิน เยอรมนี.
ภาพจากสวนพฤกษศาสตร์เมืองแบร์ลิน เยอรมนี.
Paysage เดิมเป็นคำที่ใช้ในศิลปะแขนงจิตรกรรมในยุโรปตอนบน
(เช่น The Netherlands, Belgium และ Luxemburg). ในศตวรรษที่ 16
หมายถึงภูมิประเทศที่แสดงไว้ในจิตรกรรม. ภาษาฝรั่งเศสรับมาใช้ในความหมายที่เน้น สภาพภูมิประเทศในรัศมีที่ตาคนกวาดมองไปได้
ว่าสวยประหนึ่งภาพวาด ประทับใจและทำให้เกิดอารมณ์สุนทรีย์. เฉกเช่นงานศิลป์แบบหนึ่ง
ในยุคนั้นคำนี้โยงไปถึงผลงานสร้างสรรค์ภาพทิวทัศน์ของ Claude Lorrain และของ Nicolas Poussin เป็นสำคัญ.
ภาพภูมิประเทศของจิตรกรทั้งสอง เป็นภาพตามคำจำกัดความของคำ pittoresque หรือ picturesque ที่ใช้กันต่อมาในความหมายว่า
สวยดั่งภาพวาด (ดูที่คำ picturesque).
Peat ดินพรุที่ส่วนใหญ่มาจากการหมักหมมพืชผักในดิน
ทำให้ดินตรงนั้นมีคุณสมบัติของกรด ชื้นและร่วนซุย. ดินพรุนี้คนนำมาปั้นเป็นก้อนหรือเป็นแผ่นกลมๆ ตากแห้ง แล้วนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง. ในปัจจุบันคนเก็บเศษอาหารมาหมักแล้วนำกลับมาใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ
แทนการใช้ปุ๋ยเคมี (ดูที่คำ compost).
มูลสัตว์บางชนิดก็สามารถนำมาหมักเป็นปุ๋ยได้ หรือมาปั้น ตากแห้ง
แล้วใช้เป็นเชื้อเพลิง.
คนอินเดียนำมูลวัวมูลควายรวมกันเป็นแผ่นกลมๆป้อมๆ ตากจนแห้ง ใช้เป็นเชื้อเพลิงที่ดี. ส่วนมูลช้างก็นำมาทำกระดาษสาได้อย่างวิเศษ.
---------------------------------------
P-2 >> Pebblework, Pedestal, Pelouse, Penjing, Percée, Perennials, Pergola,
Peristyle, Persia, Perspective, Pheasantry, Phrygia, Physic garden, Piazza,
Picturesque, Pièce d’eau, Pine cone, Pinery, Pinetum, Piscina, Pit, Plant,
Planter, Plant hunter.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/p-2-planter-hunter.html
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/p-2-planter-hunter.html
เมนูหนังสือ
ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html
Comments
Post a Comment