P-2-Planter hunter

Pebblework คือการใช้กรวดก้อนกลม(ขนาดเล็ก)ปูผนังหรือพื้นตามลวดลายที่ต้องการ. คนนิยมปูผนังและพื้นด้วยกรวด กรวดสีๆด้วยก็ได้ในถ้ำ (grotto). โดยทั่วไปถ้ำมักใช้เปลือกหอยประดับฝาผนังและใช้กรวดปูพื้น. ในกลุ่มประเทศมุสลิมและในประเทศยุโรปทางใต้ที่อารยธรรมมุสลิมเคยแบ่งบาน ใช้กรวดเป็นวัสดุสำคัญในการก่อสร้าง ปูพื้นที่อันกว้างใหญ่ เช่นในพระราชวัง Topkapi ที่เมืองอิสตันบูล. ที่พระราชอุทยานแวร์ซายส์มีสวนมุมหนึ่งเรียกว่าสวนลีลาศ (Bosquet de la Salle de Bal, 1678-1682) ที่ใช้เปลือกหอยและกรวดก้อนเกลี้ยงกลมสร้างสรรค์เป็นสถาปัตยกรรมน้ำตก พร้อมทั้งมีอัฒจันทร์โดยรอบสำหรับนั่งดูการแสดงลีลาศ.
ภาพวาดสวนลานลีลาศที่ติดอยู่ตรงทางเข้า ให้เห็นเจตจำนงของการเนรมิตสวนมุมนั้นตามจินตนาการของ Le Nôtre สถาปนิกสวนคนสำคัญของแวร์ซายส์. ห้องสวนนี้ เป็นสวนที่เขาเนรมิตเป็นสวนสุดท้ายในพระราชอุทยานแวร์ซายส์.  
อัฒจันทร์ตามแบบ amfiteatro อิตาเลียน ปูหญ้าให้นั่งได้. แต่ในความเป็นจริงไม่เปิดให้ใครขึ้นลงหรือไปนั่ง เพื่อรักษาที่นั่งปูหญ้าไว้ให้งามเสมอ. แจกันใหญ่ที่ตั้งประดับในสวนนี้เป็นตะกั่วเคลือบทอง.
สถาปัตยกรรมน้ำตกที่จัดเป็นขั้นๆประดับซีกหนึ่งของอัฒจันทร์. พื้นที่โล่งกลางสวนเคยเป็นที่จัดงานลีลาศในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ (พระองค์ชอบลีลาศ). ชื่อห้องสวนนี้จึงเป็น Bosquet de la Salle de Ball (1678-1682) ที่อาจแปลสั้นๆว่า สวนลานลีลาศ.
บริเวณที่จัดเป็นน้ำตกนั้นใช้กรวด เปลือกหอยชนิดต่างๆติดอย่างแน่นหนา ดังเห็นในภาพ
ลานกว้างครึ่งวงกลมที่ Plaza de España ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุทยาน Parque de María Luisa เมือง Sevilla ประเทศสเปน. พื้นปูกรวดสีขาวและสีดำ สลับกันเป็นลวดลายสวยงาม (จนอาจนับเป็นปาร์แตร์หินได้แบบหนึ่ง) ลานกว้างนี้สร้างขึ้นในปี 1928 ในวาระที่ประเทศสเปนเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการสเปน-อเมริกันแสดงผลงานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของสเปนปี 1929 (the Spanish-American Exhibition) กาลเวลาได้ขัดเกลาพื้นกรวดจนนุ่มเท้า นุ่มสบายเพียงพอสำหรับนอนเล่นด้วย. นักท่องเที่ยวหนุ่มสาวลงนอนพักเหนื่อย ท่าทางหลับสบายจริงๆ. อาคารที่ล้อมรอบก็สร้างเป็นครึ่งวงกลมที่จบลงด้วยหอคอยสูงสองปีก. เป็นบริเวณที่ทั้งใหญ่และกว้าง ยังมีลำคลองล้อมรอบระหว่างตัวอาคารกับลาน (เคยให้ประชาชนพายเรือในลำคลองได้. ปีที่ไปถ่ายรูปนั้น เขาปิดคลองเพื่อบูรณะใหม่ ลำคลองจึงแห้ง). เกือบทุกเมืองในสเปนมีจัตุรัสที่ใช้ชื่อ Plaza de España เหมือนกัน (ความหมายคือ จัตุรัสสเปน) ที่เป็นศูนย์กลางของเมือง. ที่เมือง Sevilla นี้พิเศษกว่าที่อื่นและเป็นแห่งเดียวในสเปน  ที่สร้างเป็นครึ่งวงกลม มีพื้นที่ประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบที่มีภาพจิตรกรรม เสนอเอกลักษณ์ประจำของแต่ละจังหวัดในประเทศสเปน ประดับบนผนังและแอ่งของครึ่งวงกลมใหญ่ ทั้งหมด 50 แบบ. Plaza de España เป็นอาคารสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดของเมืองเซวีญา-Sevilla.
Plaza de España มีอาคารครึ่งวงกลมโอบล้อมลานกว้างใหญ่. ภาพของ Berthold Werner, 23 October 2015. ระบุว่า File:Spain Andalusia Seville BW 2015-10-23 15-35-15.jpg
ภาพมุมกว้างที่ Plaza de España ของ Aconcagua, 8 May 2011. CC BY-SA 3.0 from Wikimedia Commons. ภาพนี้เห็นชัดเจนว่า ระหว่างลานหินกับอาคารครึ่งวงกลม มีคลองเล็กๆคั่นซึ่งก็สร้างเป็นครึ่งวงกลมเช่นกัน. ในยามอากาศดีเคยปล่อยให้ลงไปพายเรือเล่นได้ แต่คิดว่าในปัจจุบันไม่อนุญาตแล้ว เพื่ออนุรักษ์โครงสร้างสถาปัตยกรรมให้นานที่สุด เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ.
ติดผนังกำแพงตอนล่างของอาคารครึ่งวงกลม ทำเป็นแอ่ง เป็นช่องๆกว่าห้าสิบช่อง แต่ละช่องตกแต่งประดับประดาด้วยภาพจิตรกรรมบนแผ่นกระเบื้องเคลือบ. แสดงเอกลักษณ์เด่นๆของแต่ละจังหวัดในประเทศสเปน. แอ่งนี้แสดงฉากเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งของจังหวัด Castellón (อยู่ทางตะวันออกของประเทศสเปน) ภาพจากอินเตอเน็ตตามลิงค์ที่ชื่อจังหวัด.

Pedestal ฐานตั้ง สำหรับวางแจกันหินขนาดใหญ่หรือตั้งรูปปั้นหรือประติมากรรมแบบใดแบบหนึ่ง เพื่อยกเชิดให้เด่นสะดุดตามากขึ้น. ฐานนี้อาจเป็นก้อนหินสี่เหลี่ยม(หรือทรงอื่น)แบบเรียบๆ  หรืออาจมีประติมากรรมจำหลัก มีเนื้อหาเจาะจงที่โยงไปได้ถึงวรรณกรรมแบบใดแบบหนึ่ง หรือเป็นภาพดอกไม้ใบไม้. ในกรณีนี้ฐานตั้งก็นับเป็นศิลป์ในตัวเอง (ดูรายละเอียดเพิ่มในคำ herm จากลิงค์นี้
สองภาพนี้จากอุทยาน Anglesey Abbey  (Cambridgeshire, UK). รูปปั้นรูปหนึ่งตั้งบนฐานสี่เหลี่ยม ฐานแบบนี้คือ pedestal ส่วนฐานที่เห็นเป็นขั้นๆเตี้ยๆทั้งสี่ด้าน เหมือนบันไดนั้นเรียกว่า plinth.
ฐานตั้งสี่เหลี่ยม ยังมีอะไรพิเศษ คือเป็นนาฬิกาแดดด้วยทั้งสี่ด้านเลย. ดังกล่าวมาแล้ว ทุกอย่างในอังกฤษสื่อให้เข้าใจว่าชาวอังกฤษผูกพันกับเวลามาก (พอๆกับความผูกพันกับราชวงศ์) บนฐานสี่เหลี่ยมที่นั่นยังจารึกเตือนไว้ว่า Fear God Obey Ye the King (ใจความว่า ให้มีสำนึกยำเกรงในพระผู้เป็นเจ้า ให้เชื่อฟังกษัตริย์). ด้านที่เห็นในภาพนี้ ใต้ดวงดาวมีรูปลักษณ์ของดอกลิลลี่ สิงโต และดอกกุหลาบ. ทั้งสามสิ่งเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษ.
จากอุทยาน Anglesey Abbey เช่นเดียวกัน มีฐานวางรูปปั้นแบบอื่นๆอีก.
ภาพนี้เป็นรูปปั้นของ Titus จักรพรรดิโรมัน ประดิษฐ์ให้ฐานสูงและสวยงามเป็นพิเศษ อาจเพื่อให้ดูเหมือนรูปร่างคนและสูงเท่ารูปปั้นเต็มตัว. (ดูเพิ่มเติมที่คำ herm ตามลิงค์ที่ให้นี้)

Pelouse [เปอลูซ] เป็นคำฝรั่งเศส หมายถึงสนามหญ้าที่ทอดยาว อาจลาดเอียงไปตามพื้นที่. สนามหญ้าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในสวนภูมิทัศน์ ยิ่งมีสนามยาวและกว้าง ยิ่งเสริมความโอ่โถง ยิ่งเพิ่มศักดิ์ศรีแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินนั้น.

Penjing 盆景 คำจีน อักษรจีนตัวแรกแปลว่า อ่าง, กระถาง และตัวที่สองแปลว่า ทิวทัศน์. สองคำรวมกันสื่อนัยของการสร้างทิวทัศน์ในชาม อ่างหรือกระถาง โดยปริยายจึงเป็นทิวทัศน์ย่อส่วนเพื่อให้อยู่ภายในพื้นที่จำกัดของภาชนะที่ใช้. คำนี้ต่อมาคือคำ bonsai [บ้งไซ] 盆栽 (hiragana ぼんさい) ในภาษาญี่ปุ่น ที่รักษาความหมายเดิมของคำจีนไว้. อักษรจีนตัวแรกในสองคำนี้ คือตัวเดียวกัน แต่อ่านไม่เหมือนกันในภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่น (pen = bon) ส่วนคำว่า sai มาจากอักษรจีน ที่แปลว่า ปลูก(คำกริยา) หรือ ต้นอ่อน, หน่อ (คำนาม) เพราะฉะนั้น คำญี่ปุ่นเน้นการปลูกต้นอ่อน ส่วนคำจีนเน้นภาพรวมที่เป็นผลจากการปลูกต้นไม้ในอ่างหรือกระถาง. สนใจใคร่รู้เกี่ยวกับ bonsai ตามลิงค์ที่ให้นี้ไป.

Percée [แป-รเซ่] เป็นคำฝรั่งเศส หมายถึงทางเดินที่ตัดผ่านป่าละเมาะ จึงเป็นทางเดินใต้ร่มไม้ที่นำไปสู่ทุ่งโล่ง ณ สุดทาง.

Perennials หรือ hardy perennials หมายถึงไม้ยืนต้น มีชีวิตยืนอย่างน้อยสองปีขึ้นไป.

Pergola [เพ้อเกอะเหลอะ] คำเดิมเป็นคำละตินมาใช้ในภาษาอิตาเลียน pergula ที่แปลว่า หลังคาสูง. คำนี้มาใช้เรียกหลังคาโครงเหล็ก สูงและเบา โดยมีฐานของโครงเหล็กปักลงบนพื้นดินสองข้าง และเรียงต่อๆกันไปเป็นซุ้มยาวเหมือนอุโมงค์. โครงอุโมงค์แบบนี้ทำขึ้นเพื่อให้กิ่งไม้เลื้อยเกาะและเติบโตกระจายปกคลุมทั้งโครงเหล็ก เป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลม เหมือนอุโมงค์ จึงเป็นอุโมงค์ต้นไม้ (tunnel-arbour). บางทีดัดกิ่งไม้ที่ไม่ใช่พันธุ์ไม้เลื้อยด้วยการผูกกิ่งติดกับโครง เช่นต้นแอปเปิล ต้นกุหลาบ เมื่อกิ่งไม้ขึ้นปิดเต็มซุ้ม ภายในใต้ร่มไม้ เย็นสบายเมื่อเดินผ่านเข้าไป. ถ้าเป็นซุ้มดอกไม้ ก็หอมหวลทีเดียว เช่นซุ้มกุหลาบเป็นต้น.
ร้านที่ทำให้ต้นไม้เกาะ ที่ไม่เป็นลักษณะอุโมงค์ก็มี และเห็นมากในสวนญี่ปุ่นที่นิยมดัดและจัดกิ่งต้นไม้ให้เป็นไปตามแนวสุนทรีย์ของญี่ปุ่น.ร้านทำจากไม้ไผ่ ก่อขึ้นไปอย่างประณีตสำหรับต้นซากุระเป็นต้น.
ภาพนี้จากสวนที่บ้านของจิตรกร Claude Monet [โกล๊ด โมเน่] เมือง Giverny ในฝรั่งเศส  เห็นโครงซุ้มที่เตรียมไว้เพื่อให้พันธุ์ไม้เลื้อยได้เกาะ.

สองภาพนี้จากสวนกุหลาบ-Rose Garden ในอุทยานปราสาท Blenheim ( Oxfordshire, UK) จัดทำโครงเหล็ก ปักลงเป็นระยะๆบนทางเดินวงกลม รอบๆพื้นที่สวน ให้กิ่งกุหลาบเติบโตและเกาะติด ส่วนบนพื้นก็มีแปลงปลูกกุหลาบหลายสีหลายสายพันธุ์.
สวนกุหลาบที่ Rosensteinpark เมือง Stuttgart เยอรมนี. สังเกตเขาปลูกต้นกุหลาบเลื้อยไปบนเสา. Rosensteinpark เป็นสวนแบบอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี. ใช้เวลานานในการรังสรรค์สวนทั้งพื้นที่ตั้งแต่ปี 1824-1840 ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้า William I แห่ง Württemberg.
ต้นซากุระฉัตร (shidare- sakura) ภายในบริเวณโบสถ์เมืองเทนรี (Tenri 天理เขาทำร้านจัดกิ่งให้แผ่ออกไปรอบๆต้นเลย ช่วยพยุงกิ่งไปด้วย เป็นต้นซากุระสูงวัยมากแล้ว.
ต้นซากุระผู้เฒ่าที่วัดไดโกจิ (Daigoji 醍醐寺) เมืองเกียวโต ญี่ปุ่น ก็ต้องทำร้านพยุงกิ่งก้านให้แผ่กระจายออก สังเกตเห็นว่า เขาตัดกิ่งสูงสุดมิให้สูงต่อไป. วัดนี้(กับอาคารสถาปัตยกรรมอื่นๆทั้งหมด) ได้ขึ้นทะเบียนมรดกสำคัญประจำชาติของญี่ปุ่น.
ให้ดูการทำร้านด้วยไม้ไผ่ เพื่อรองรับกิ่งไม้ ทุกอย่างประณีตสวยงาม ตามมาตรฐานสุนทรีย์ญี่ปุ่น ที่อุทยานปราสาท Nijojo เมืองเกียวโต

Peristyle เสานางเรียง เป็นกลุ่มเสาที่ล้อมรอบลานสวน อาคารหรือวัด. ในบริบทสวนหมายถึงสิ่งก่อสร้างขนาดเล็ก มีประโยชน์ใช้สอยจำกัด เช่นเป็นอนุสรณ์สถาน เป็นที่นั่งพักชมวิว. ประเด็นสำคัญของการสร้างอาคารประดับสวนหรืออุทยาน เพื่อเพิ่มภูมิทัศน์ให้หลากหลายลักษณะ. เสานางเรียงในบริบทของสถาปัตยกรรมเมืองนั้น มีขนาดใหญ่โตกว่ามาก โดยทั่วไปแนวเสาทั้งหมดเป็นเสาค้ำช่วยรับน้ำหนักของหลังคาและหรืออาคารนั้น.
สถาปัตยกรรมแบบ peristyle ที่สร้างขึ้นตามที่เห็นจากเมืองปอมเปอี อิตาลี. ภาพของSailko, 22 August 2007. CC BY 2.5. from Wikimedia Commons.
เสาคอลัมภ์ใหญ่ๆเป็นหินแท่งเดียวกัน ที่เรียงรายบนถนนทางเดินเลียบด้านนอกของหอศิลป์ (Galleria degli Uffizi) เมืองฟลอเรนซ์

Persia เป็นชาวอินโดยุโรเปียนที่ไปตั้งรกรากในที่ราบสูงอิหร่านในราวปี 1000 BC. เป็นชนชาติที่สามารถพัฒนาเจริญขึ้นสูงสุดจนกลายเป็นอาณาจักรเปอเชีย ที่ยืนยงคงอยู่ในโลกยุคโบราณ จนเมื่อถูกอเล็กซานเดอร์มหาราชเข้ายึดในศตวรรษที่ 3 BC. Zoroaster (โซโรแอสเทอ  c.628-c.551 BC.) เป็นผู้ปฏิรูปวัฒนธรรมและศาสนาคนสำคัญของเปอเชีย.
     ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ดูเหมือนว่าเปอเชียเป็นแดนสร้างสรรค์สวนที่เก่าที่สุดแห่งหนึ่งในโลก. ขนบการสร้างสวนของเปอเชียรับแบบมาจากสวนในแถบเมโสโปเตเมีย ที่มาแบ่งบานฝังรากมั่นคงบนที่ราบสูงเปอเชีย. น่าเสียดายที่ในปัจจุบันไม่เหลือซากหรือร่องรอยของสวนเปอเชียในยุคโบราณ. สาเหตุประการหนึ่งมาจากการรบพุ่งติดต่อกันบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ของเปอเชีย. อย่างไรก็ดี โครงสร้างสวนที่ Passargadae และที่ Persepolis ที่เหลือมาให้เห็น อาจถือได้ว่าเป็นพยานที่เก่าแก่ที่สุดของอารยธรรมเปอเชีย.
     เมื่อชาวอาหรับมายึดครองดินแดนเปอเชียและแผ่ไปถึงภาคตะวันออกยังเมือง Samakand, แอฟกานิสถานและอินเดีย. สวนแบบ paradise garden (ดูที่คำ Paradise) ของเปอเชียและสวนอิสลามทั้งหมดบนดินแดนดังกล่าว เป็นผลงานของนักออกแบบสวนและนายช่างสวนชาวเปอเชียเกือบทั้งหมด. เราอาจสรุปได้ว่า สวนและสถาปัตยกรรมของเปอเชียเป็นแบบพื้นฐานของการพัฒนาสวนอิสลาม โดยเฉพาะในยุคของราชวงศ์ Abbasid.

Perspective [เพอซเพ๊กถีฟ] ไทยใช้คำ ทัศนมิติ คำนี้ในศตวรรษที่17 หมายถึงภาพลวงตาในจิตรกรรม เป็นภาพสามมิติ อาจเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ที่ปิดคลุมผนังกำแพงที่ขวางอยู่สุดทางเดิน ที่ทำให้ผู้ดูเห็นว่ายังมีทางต่อออกไปอีกตามทิวทัศน์ที่แสดงไว้บนจิตรกรรมนั้น.
    โดยทั่วไป ทัศนมิติมีบทบาทสำคัญมากในการเนรมิตมุมมองของสวนหนึ่ง. เฉกเช่นศิลปินหรือจิตรกรที่เนรมิตฉากหลังของการแสดงละครแต่ละฉากด้วยความชำนิชำนาญ  สถาปนิกสวนก็สามารถจัดที่ตั้งวางสิ่งประดับสวน เพื่อเป็นจุดตรึงสายตา ให้สิ่งนั้นใกล้เข้ามาหรือถอยห่างออกไปตามกระบวนการของทัศนมิติ ด้วยวิธีเดียวกับการสร้างทิวทัศน์พื้นหลังของฉากบนเวทีละคร. ต้นไม้ที่ปลูกสองข้างทางเดินก็ต้องการให้เห็นมุมมองแบบทัศนมิติ เช่นการเลือกต้นไม้ใบเข้มกว่าหรือสีเข้มขึ้นๆเมื่ออยู่ไกลออกไป หรือปลูกให้แคบเข้าๆเมื่อไกลไปสุดทางเดิน เป็นต้น. ในแง่นี้สวนธรรมชาติที่เนรมิตขึ้นด้วยภูมิปัญญาคน จึงดูสวยงามน่าทึ่งและประทับความรู้สึก เหมือนกำลังดูภาพจิตรกรรมฝีมือเยี่ยม และเพราะอย่างนี้เองที่ ภูมิทัศน์สวนมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิประเทศ มิได้เป็นธรรมชาติดิบแต่เป็น ศิลปะที่มีธรรมชาติเป็นองค์ประกอบ เป็นธรรมชาติที่สถาปนิกสวนเนรมิตขึ้น ดังจิตรกรผู้สร้างภาพของเขา.
ทัศนมิติมองจากชั้นที่หนึ่งของพระตำหนักที่ Hampton Court Palace ออกไปสู่สวน.

ทัศนมิติเมื่อมองจากเส้นแกนของสวน Mirabell (Salzburg, Austria) เส้นแกนนี้เชื่อมต่อออกไปถึงสองหอคอยของมหาวิหารประจำเมือง และตรงต่อไปยังปราสาทบนยอดเขาอีกด้วย. ถือว่าเป็นเส้นที่แสดงทัศนมิติที่สวยงามชัดเจนและมีประสิทธิภาพ.

Pheasantry เป็นกรงใหญ่เพื่อเลี้ยงนกที่มีสีสันสวยงาม ให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้ดู.  คำนี้สร้างขึ้นจากคำศัพท์ pheasant ที่แปลว่าไก่ฟ้าที่มีหางยาว ขนนกสีสวยสดทั้งตัว. ไก่ฟ้าเป็นสัตว์ที่คนชอบล่ามาเป็นอาหารในสมัยก่อน พอๆกับกระต่ายป่า ก่อนที่จะหันกลับมาเลี้ยงไว้ในกรงตั้งแต่ศตวรรษที่18. ในอังกฤษ คนนิยมเลี้ยงนกพันธุ์สวยขนหลากสี มักสร้างกรงเหล็กเป็นซี่ๆ ขนาดใหญ่ที่ผู้ออกแบบเนรมิตตามจินตนาการ. ในที่สุดกรงนกเองก็กลายเป็นนิรมิตศิลป์ประดับสวนอย่างหนึ่งไปด้วย. จนถึงปัจจุบัน กรงนกทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เป็นสิ่งสะสมอย่างหนึ่ง มีทั้งกรงเงินกรงทอง กรงงาช้าง กรงไม้และกรงเหล็ก. ดูเหมือนว่าชาวจีนเป็นเลิศในการเนรมิตกรงนกที่ละเอียดงดงามอย่างมีศิลป์ตั้งแต่ยุคฮ่องเต้. ปัจจุบันคนยังนิยมเลี้ยงนกไว้ดูเล่นและฟังเสียงเพลงของนก.

Phrygia คือแถบภาคกลางทอดไปทางตะวันตกของแคว้นอานาโตเลียประเทศตุรกีปัจจุบัน. ชาวเมืองนี้เคยมีอำนาจมากบนดินแดนเอเชียตะวันออกไกล ในระหว่างศตวรรษที่12-5 BC. ชนชาตินี้ทำการเพาะปลูกและเลี้ยงแกะกับม้า. ขนบธรรมเนียมสำคัญคือการบูชาเทวี Cybele (เป็นเทพมารดา และเทวีแห่งธรรมชาติ). ขนบนี้ชาวกรีกรับเข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งในตำนานเทพปกรณัมกรีกด้วย. เทวี Cybele เป็นหนึ่งในหมู่ทวยเทพกรีกที่ศิลปินเลือกเป็นแบบประดับสวนมากที่สุด เป็นหนึ่งในกลุ่มรูปปั้นที่สื่อกาลเวลา ปกติประทับบนยานพาหนะที่มีสิงโตสองตัวเป็นผู้ลาก. รูปปั้นของเทวีที่สำคัญและรู้จักกันทั่วไป คือกลุ่มรูปปั้นณกลางเมืองมาดริด ประเทศสเปน.

Physic garden  คือสมุนไพรหรือสวนยา. ปลูกพืชพันธุ์ที่สามารถสะกัดไปเป็นยาได้  พัฒนาขึ้นจากความสนใจศึกษาพฤกษศาสตร์. “สวนฟิสิคจึงมีอะไรคล้ายๆกับสวนพฤกษศาสตร์ (Botanic garden) แต่เน้นการปลูกพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติเป็นยาเป็นสำคัญ (คำ physic มีความดั้งเดิมว่า healing หรือการเยียวยา). สวนฟิสิคปัจจุบันคือ Herb garden ที่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสวนพฤกษศาสตร์ แต่ยังมีสวนฟิสิคในอังกฤษที่ยังคงเป็นสวนที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคุณสมบัติ (การรักษาเยียวยาโรค) ของพืชพันธุ์ ที่รู้จักกันดีในกรุงลอนดอนคือ Chelsea Physic Garden ตั้งขึ้นในปี 1673.


สวนปลูกพืชสมุนไพร Medicinal herbs ที่อุทยานปราสาท Blenheim (Oxfordshire, UK) มีแผ่นข้อมูลระบุชื่อพันธุ์ไม้พร้อมสรรพคุณในการเยียวยา.

Piazza, plaza, place, platz ทั้งสี่คำนี้มีความหมายตรงกัน นั่นคือ เป็นพื้นที่เปิดสาธารณะ หรือจัตุรัสกลางเมือง. คำเดิมคือคำอิตาเลียน piazza ส่วนคำที่สองเป็นคำในภาษาสเปน คำที่สามเป็นคำอังกฤษ และคำที่สี่เป็นคำเยอรมัน.

Picturesque มาจากคำ picture. picturesque เป็นคำศัพท์ที่ William Gilpin (1724-1804) ใช้เป็นครั้งแรกในปี 1748 เพื่อพรรณนาทัศนียภาพป่าเขาลำเนาไพร ที่เห็นในหุบเขา Wye Valley และในถิ่น Lake District ในประเทศอังกฤษ ในความหมายว่า มีลักษณะงามเหมาะสมกับการเป็นองค์ประกอบในภาพ. บางคนอธิบายว่าหมายถึง มีคุณลักษณะที่อยู่ระหว่างสิ่งที่สวยงาม (the Beautiful) กับสิ่งที่สุดยอด (the Sublime)” และบางคนก็คิดว่าเป็น สิ่งที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่เหมือนหรือถูกกลืนไปในส่วนรวมหมด จึงมีจุดสะดุดตาหลายจุด. ชาวยุโรปใช้คำ picturesque กันอย่างแพร่หลาย.
    Richard Payne Knight และ Sir Uvedale Price ให้คำจำกัดความของ the Picturesque ว่า เป็นทัศนียภาพเฉพาะแบบหนึ่ง ที่เหมาะสำหรับบันทึกลงเป็นจิตรกรรม มีองค์ประกอบที่หักไม่สม่ำเสมอ ไม่คงที่แบบเดียวกันโดยตลอดจึงตรึงสายตาผู้ชม.  กล่าวสรุปสั้นๆได้ว่า picturesque มีคุณสมบัติที่ตรงข้ามกับค่านิยม the Beautiful ที่ยึดกันมาแต่โบราณ. Knight และ Price มีทัศนคติที่ขัดแย้งกับความคิดสร้างสรรค์เชิงภูมิสถาปัตย์ของ Lancelot Brown และประนามว่าภูมิทัศน์ของคนหลังนี้ดูจืดชืดซบเซา. the Picturesque ในสถาปัตยกรรมสวน คือการเน้น (ลักษณะหลากหลายของพื้นที่ หากมีอยู่แล้ว) หรือเนรมิตฉากทิวทัศน์ที่เด่นสะดุดตา ที่อาจตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงก็ได้ รวมทั้งคำนึงถึงการปลูกสวนว่าต้นไม้พืชพรรณที่ใช้ ควรรักษารูปลักษณ์เนื้อแท้ของพืชพันธุ์นั้นๆไว้ เช่นผักต่างรูปลักษณ์นำมาปลูกใกล้กันเท่ากับเสริมเนื้อหาของผักแต่ละแบบให้เด่นขึ้น หรือการแทรกลักษณะของป่าดิบเข้าในสุมทุมพุ่มไม้ เช่นทิ้งให้ต้นไม้เติบโตแผ่กิ่งก้านตามธรรมชาติของมัน ให้มันเสริมภาพลักษณ์ของความทึบกับความล้นให้กับมุมมองแต่ละมุมเป็นต้น. 
     Humphry Repton พัฒนา villa picturesque ที่อ่อนโยนลงอีกแบบหนึ่ง ด้วยการจัดสวนดอกไม้ให้เข้าไปใกล้อาคารที่อยู่. สวนภูมิสถาปัตย์ขนาดใหญ่ที่เขาเนรมิตขึ้นในอังกฤษ เน้นการจัดปลูกต้นไม้ให้ดูบางลงในบางแห่ง และปลูกให้แน่นทึบในแห่งอื่น.  ที่สำคัญที่สุด ตัวอาคารบ้านที่อาศัยหรืออาคารใหญ่ของพื้นที่ผืนนั้น ต้องดูโดดเด่นเหนือบริบทสวน.

Pièce d’eau [ปีแอ๊ซ โด] เป็นคำฝรั่งเศส หมายถึงสระน้ำหรือห้วงน้ำบริเวณหนึ่ง ปกติมีพื้นสระเป็นหิน.

Pine cone ส่วนยอดหรือหัวจุก (finial) ของเสาหิน โถ กระถางขนาดใหญ่ ผะอบขนาดใหญ่เป็นต้น. หัวจุกแบบนี้นิยมจำหลักเป็นรูปโคนตามแบบผลโคนของต้นสน (บางทีก็เป็นรูปผลสับปะรด)
ตัวอย่างจากภายในบริเวณหนึ่งของวาติกัน เป็นผลโคนสนขนาดมหึมา. วางบนฐานแจกันขนาดใหญ่. แจกันใหญ่ยังจำหลักเรื่องราวเหมือนเล่าเรื่องอะไรไว้ด้วย.

Pinery มาจากคำ pine ที่แปลว่า สนหรือต้นสน. Pinery เป็นสถานเพาะเลี้ยงและอนุรักษ์ไม้พันธุ์สน.

Pinetum  คลังสน หรือแหล่งสะสมรวบรวมพันธุ์ไม้สน (coniferous trees)  เพื่อการศึกษาวิจัยหรือเพื่อนำไปประดับสวนหรืออุทยาน.  สวนขนาดใหญ่มักมีคลังสนในบริเวณ ผู้ไปชมสวนมีโอกาสเห็นสนพันธุ์ต่างๆ. คลังสนมิได้เป็นอาคารปิด แต่เป็นพื้นที่เปิดโล่งบริเวณหนึ่งที่ปลูกสนพันธุ์ต่างๆโดยเฉพาะ ทั้งนี้เพราะไม้สนเป็นพันธุ์ไม้เขียวตลอดปี และเติบโตเร็ว ขึ้นสูงชะลูดได้หลายสิบเมตรหากไม่ถูกโค่นลงเสียก่อน. ไม้จากต้นสนเป็นไม้ที่คนนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุด.

Piscina มาจากคำละติน picis ที่แปลว่า ปลา. คำ piscina หมายถึง อ่างหิน มักใช้เป็นอ่างเลี้ยงปลา หรือเป็นอ่างอาบน้ำ. คำฝรั่งเศส  piscine ที่แปลว่า สระว่ายน้ำ ก็มาจากคำนี้. ในสมัยก่อนอ่างน้ำหินอ่อนเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของผู้เป็นเจ้าของ. ผู้ดีเท่านั้นที่มีเงินซื้อหรือสั่งทำอ่างน้ำส่วนตัวได้. ในบริบทสวน อ่างน้ำหินเป็นสิ่งประดับสวนหรืออุทยานอย่างหนึ่ง. นำมาใช้เป็นองค์ประกอบสวนแบบรวบรัด เพื่อโยงไปถึงสระน้ำในธรรมชาติ เพราะไม่อาจสร้างสระน้ำตรงนั้นได้เป็นต้น.
อ่างน้ำที่เจาะให้น้ำไหล ภาพจากพระราชวัง Sanssouci (Potsdam, Germany) มีเทพธิดา Muse Euterpe ถือขลุ่ยคู่ (aulos หรือ double flute) ในมือ ยืนบนเสาสูง(แทนภูเขา) ในท่าสบายๆเหมือนพร้อมจะเป่าขลุ่ย. เทพธิดาองค์นี้ตามตำนานกรีก เป็นผู้ดลใจ นำทางและช่วยนักดนตรีในเวลาประพันธ์เพลง. เทพเธอเป็นประธานในการแสดงดนตรี. ในยุคคลาซสิก เธอเป็นผู้ดลใจให้เกิดกวีนิพนธ์ที่นำความเบิกบานใจแก่เทพบดี Zeus และเหล่าทวยเทพบนเขาโอลิมปัส. ในศิลปะ เธอมักถือขลุ่ยในมือ(ส่วนใหญ่หนึ่งเลา). อ่างน้ำที่นำมาตั้งทำเป็นสระน้ำพุ คือภาพลักษณ์ฉบับรวบยอดของผืนน้ำ ที่เป็นองค์ประกอบภูมิประเทศที่เทพธิดาคนนี้ชอบอยู่.

Pit หลุมที่ขุดลงสำหรับปลูกพืชพันธุ์ที่มาจากถิ่นอากาศร้อน เช่นปลูกเมลอนหรือสัปรดเป็นต้น. ให้มีทางระบายน้ำจากพื้นหลุมออกไป และมีพื้นที่รอบข้าง. ในกรณีนี้ ก่อเป็นกำแพงอิฐปกป้องความหนาว มีฝากระจกปิดบนหลุมเมื่ออากาศหนาวจัดเกินไป และเก็บกักความอบอุ่นไว้ให้ได้เพียงพอกับธรรมชาติของพืชพันธุ์ที่ปลูก.
ภาพนี้ถ่ายมาจากสวนพฤกษศาสตร์ The Lost garden of Heligan (Cornwall, UK) เป็นหลุมเก่าที่เคยมีที่นั่นและขุดพบในปี 1991 เป็นหัวข้อศึกษาจนในที่สุดรู้ว่าหลุมนั้นมีไว้ทำอะไร ปลูกอะไรและมีวิธีดูแลเลี้ยงดูอย่างไร. มีการทดลองปลูกตามกรรมวิธีเก่า จนในที่สุดพบว่า มันเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในการเลี้ยงดูพันธุ์ไม้จากเขตอบอุ่นบนดินแดนหนาวและลมแรงอย่าง Cornwall.

Plant  ในความหมายรวมๆว่า ต้นไม้ พืชพรรณ. ลองจินตนาการโลกที่ขาดต้นไม้ โลกก็ขาดสิ่งมีชีวิต. การเลือกต้นไม้พืชพรรณสำหรับสวนหนึ่ง สถาปนิกสวนเลือก จัดตำแหน่งของต้นไม้ และสีของดอกไม้อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อให้ต้นไม้พืชพรรณสื่อและกระตุ้นให้เกิดอารมณ์สุนทรีย์ หรือจินตนาการที่นำไปสู่ภูมิประเทศแบบต่างๆ.

Planter หมายถึง ผู้บริหารจัดการไร่, คนที่เพาะปลูกต้นไม้. ในบริบทสวน หมายถึงภาชนะ กระถาง สิ่งบรรจุทุกรูปแบบที่คนใช้ปลูกต้นไม้.

Plant hunter (พรานล่าพันธุ์ไม้) และ Plant explorer (นักสำรวจพืชพรรณ).  ตั้งแต่ยุคโบราณ คนออกเดินทางไปค้นหาพันธุ์ไม้จากถิ่นอื่นๆ. การไปสำรวจและเก็บพันธุ์ไม้ที่เก่าแก่ที่สุด ปรากฏจารึกไว้เป็นภาพสีบนกำแพงภายในวัดหรือสุสานของพระราชินี Hatshepsut (ca.1500 BC.) ยืนยันว่า พระนางส่งคณะเดินทางไปยัง Island of Punt (อยู่ตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา) เพื่อแลกเปลี่ยนค้าขาย และนำพืชพรรณไม้จากที่นั่นมาเพาะเลี้ยงในอีจิปต์ด้วย. การค้นพบพืชพรรณใหม่ในแดนอื่นและการนำกลับมาเพาะปลูกในแดนของตนนั้น เป็นผลพลอยได้จากการเดินเรือค้าขาย มากพอๆกับจากการแผ่อำนาจการปกครองออกไปสู่ดินแดนอื่น ดังเช่นในรัชสมัยของพระเจ้าอเล็กซานดรามหาราชหรือของเจ็งกิสข่าน ในยุคการแผ่ศาสนาอิสลามและในยุคสงครามครูเสดเป็นต้น. ตั้งแต่ศตวรรษที่15 เป็นต้นมา การเดินเรือค้าขายถูกยกขึ้นสู่ระดับที่ไม่เคยทำกันมาก่อน ตามด้วยความพยายามหาเส้นทางเดินเรือเพื่อไปให้ถึงโลกซีกตะวันออก ที่ชาวยุโรปรู้ว่าอุดมด้วยเครื่องเทศนานาพันธุ์. เมื่อโคลัมบัสเดินทางไปถึงทวีปอเมริกาที่เป็น โลกใหม่ นอกจากเป็นการค้นพบแผ่นดินใหม่ พบเส้นทางเดินเรือเส้นทางใหม่ ยังเป็นการค้นพบพืชพรรณใหม่ๆด้วย. มีการนำพืชพรรณเหล่านั้นกลับมาสู่ โลกเก่า”. พืชพรรณได้จุดชนวนความสนใจถึงขีดสุด เปิดช่องทางสู่มิติใหม่ๆที่ชาวยุโรปไม่เคยคาดคิดกันมาก่อน ทั้งยังกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ความสนใจในโลกธรรมชาติ ที่นำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ ที่กลายเป็นวิทยาศาสตร์แขนงใหม่แขนงหนึ่งอย่างเต็มศักดิ์ศรี และไม่ขึ้นกับแพทยศาสตร์ดั่งที่เคยเป็น.
    จนถึงทศวรรษที่1560 พืชพรรณที่มีในยุโรป เป็นพันธุ์พื้นเมืองของยุโรปเอง.  การติดต่อกับจักรวรรดิเติร์ก ทำให้ยุโรปได้พันธุ์แปลกใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก รวมพืชพรรณที่ประดับสวนอาหรับมานานหลายร้อยปีแล้ว และพรรณไม้จากดินแดนกรีซอีกหลายพันธุ์. ตั้งแต่ปี1620 เมื่ออังกฤษเข้าสำรวจทวีปอเมริกาเหนือและยึดเป็นอาณานิคมอย่างมั่นคงแล้ว พืชพรรณใหม่ๆจำนวนมากถูกส่งออกจากแคนาดาและรัฐเวอจีเนียกลับเข้าอังกฤษ. ในระยะเวลาเพียงร้อยปี มีพืชพรรณเข้าสู่ยุโรปเป็นจำนวนมากกว่าตลอดสองพันปีก่อนหน้านั้น. ดอกไม้รูปลักษณ์และสีสันต่างๆ เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับชาวยุโรป ที่ได้เบนความสนใจของชาวยุโรปที่เคยแต่ปลูกพืชผักและพืชสมุนไพร ให้มาเพาะเลี้ยงพรรณไม้ประดับสวนด้วย. วิทยาการและเทคนิคการก่อสร้างที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในยุโรปหรือยุคเรอแนสซ็องส์นั้น เอื้ออำนวยต่อการสร้างสวนแนวใหม่เพื่อความอภิรมย์และเพื่อให้เป็นที่รวม ที่แสดงพรรณไม้ใหม่ๆทั้งหลาย. การกระจายพันธุ์นั้น กระทำกันในหมู่นักพฤกษศาสตร์ในยุโรป ในวงการแพทย์, ภายในวงราชนิกูล, ภายในองค์การศาสนาคริสต์และในหมู่พ่อค้าผู้ร่ำรวยก่อน แล้วจึงค่อยๆกระจายออกนอกรั้วปราสาท, คฤหาสน์และวัด. พืชพรรณกลายเป็นสิ่งสะสมที่ชาวยุโรปและโดยเฉพาะชาวอังกฤษหลงใหลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา. เช่นนี้ในศตวรรษที่17 จึงมีผู้รักการทำสวน การปลูกต้นไม้จำนวนมาก. คนเหล่านี้กลายเป็นนักพฤกษศาสตร์ที่เอาจริงเอาจัง ต่างสะสมพืชพรรณในสวนของตนด้วยความหวงแหน. หากมิสามารถเดินทางออกไปเก็บพืชพรรณใหม่ๆเอง ก็ใช้ผู้เชี่ยวชาญออกไปแทน. และตั้งแต่ปลายศตวรรษที่16 เป็นต้นมา ผู้คนในวงการ แยกแยะพืชพรรณออกเป็นไม้ประดับและต้นไม้ธรรมดา. แนวโน้มนี้เหมือนกันทั้งยุโรป. โดยทั่วไป ดอกไม้พันธุ์ใหม่ๆเข้าสู่ภาคพื้นยุโรปและเพาะเลี้ยงกันแล้ว  สำเร็จมากบ้างน้อยบ้าง แต่ยังไม่ข้ามช่องแคบไปถึงเกาะอังกฤษ. ความรักความสนใจในพืชพรรณ ทำให้มีพรานล่าพรรณไม้และนักสำรวจพืชพรรณ เพิ่มเข้าในวงพฤกษศาสตร์. พวกเขาเป็นผู้นำพืชพรรณใหม่ๆแปลกๆจากทั่วโลกมาสู่สวนยุโรปและโดยเฉพาะสวนในอังกฤษ.
    ความหลงใหลพืชพรรณแปลกใหม่จากต่างแดนทวีขึ้นเรื่อยๆ. การเก็บพืชพรรณจากทั่วโลกก็มีระบบรัดกุมขึ้นตามลำดับ. นักเพาะพันธุ์ สวนพฤกษศาสตร์หรือสมาคมที่รวมกลุ่มคนสวน เป็นผู้ร่วมลงทุนและจัดส่งเรือเดินทะเลไปตามส่วนต่างๆของโลก. เพราะฉะนั้นนักพฤกษศาสตร์ในฐานะของนักสำรวจและพราน จึงมีอุปนิสัยใจคอพิเศษผิดคนอื่นๆ และเป็นผู้มีความอดทนอดกลั้นเป็นเลิศ เพราะต้องทนทรมานในการเดินทางไกลที่ใช้เวลายาวนาน ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในสภาพพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยอันตรายสารพัดแบบติดต่อกันนานหลายปี โดยมีความหวังว่า จะพบเห็นพืชต้นแปลกๆดอกสวยๆ จดบันทึกไว้ วาดไว้ แล้วกลับไปเมื่อดอกไม้นั้นให้เมล็ด เก็บเมล็ดมาแล้วส่งตัวอย่างอันเปราะบางนั้นกลับไปยุโรป. เมล็ดพืชพรรณต้องผจญกับสภาพภูมิอากาศแบบต่างๆกว่าจะถึงยุโรป เพราะฉะนั้น การเดินทางจากถิ่นกำเนิดของพืชพันธุ์หนึ่ง สู่อีกมุมหนึ่งของโลก และความสามารถปลูกขึ้นได้ในต่างแดน จึงเป็นเรื่องมหัศจรรย์เหลือเชื่อ ที่ตรึงจินตนาการของชาวยุโรปและโดยเฉพาะชาวอังกฤษตลอดมา.
     ศตวรรษที่19 ก็เป็นยุคทองของพฤกษศาสตร์ จำนวนนักสำรวจพืชพรรณไม้ในทุกชาติเพิ่มขึ้น ต่างแยกย้ายไปทั่วทั้งสี่มุมโลกเพื่อสำรวจและเอาตัวอย่างเมล็ดกลับมาทดลองปลูก. ประเทศที่ดึงดูดความสนใจนักพฤกษศาสตร์มากที่สุด คือประเทศจีน. จากบันทึกการเดินทางของมาร์โคโปโล ทำให้รู้ว่า ชาวยุโรปมีโอกาสเข้าถึงอุดมการณ์ด้านภูมิทัศน์และความสามารถในการปลูกสวนของคนจีนที่เริ่มขึ้นเกือบสิบศตวรรษก่อนยุโรป. (จนถึงปัจจุบัน ยังมีการถกเถียงเรื่องมาร์โคโปโลเคยไปเมืองจีนจริงๆหรือไม่). การไปเก็บพืชพรรณในจีนก็ลำบากมากด้วย. เหล่าบาทหลวงเยซูอิตเป็นชาวต่างชาติกลุ่มเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางภายในประเทศจีน เพราะฉะนั้นบาทหลวงจึงเป็นผู้ช่วยนักพฤกษศาสตร์ ด้วยการส่งตัวอย่างพืชพรรณกลับไปยังปารีสหรือลอนดอน.
     สถิติจากราชสมาคมพืชสวนแห่งประเทศอังกฤษระบุว่า ร้อยละ 99 ของจำนวนพืชพรรณที่ปลูกในสวนอังกฤษปัจจุบัน เป็นพืชพรรณจากต่างแดน เป็นผลงานของนักสำรวจและพรานพืชพรรณทั้งหมด. เราจึงเข้าใจอย่างสิ้นสงสัยว่า พืชพรรณต่างๆได้เปลี่ยนสีสันและโฉมหน้าของสวนตะวันตก ของวัฒนธรรมและวิถีการครองชีวิตอย่างไร และนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศเพียงใด.
     ในปัจจุบัน พรานล่าพันธุ์ไม้ก็มีความปรารถนาเหมือนพรานยุคก่อนๆที่ต้องการหาพืชพรรณใหม่ๆที่มีค่าทางวิทยาศาสตร์ ค่าด้านพฤกษศาสตร์ ค่าทางเศรษฐกิจหรือค่าความพอใจส่วนตัว. พวกเขามีเครื่องมือ มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งการเดินทางที่สะดวกกว่ากันมากนัก. ตัวอย่างพืชพรรณที่เก็บมาได้ก็มีวิธีเก็บรักษาได้ดีกว่าเมื่อสองสามร้อยปีก่อน. อย่างไรก็ดี นายพรานก็ยังเสี่ยงอันตรายมากพอๆกับในศตวรรษก่อนๆอยู่นั่นเอง เป็นภัยแบบใหม่ที่โยงไปถึงการเมืองกับความรังเกียจผิวและศาสนาเป็นต้น. พรานยุคปัจจุบันจึงยังคงเสี่ยงชีวิตมากเท่าเดิม บ้างถูกจับ ถูกขโมยหรือลิบทรัพย์ ถูกนำไปปล่อยในป่าลึกเป็นต้น. เพื่อให้ความคุ้มครองทั้งพรานไม้ นักสำรวจและนักสะสมพืชพรรณ และเพื่อปกป้องสิทธิของเจ้าของพื้นดิน ในปี1988 ณการประชุมโลกที่เมืองริโอ ประเทศบราซิล (The Rio Earth Summit) ได้มีมติบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศขึ้น ที่ระบุว่า แต่ละประเทศมีลิขสิทธิ์ทางเศรษฐกิจและภูมิปัญญาเหนือพืชพรรณไม้ที่มีในประเทศของตน. นั่นคือ หากควินิน สำลี น้ำตาล กาแฟหรือชาฯลฯ เพิ่งค้นพบในวันนี้ ประเทศเจ้าของพืชพรรณเหล่านี้ มีสิทธิ์เรียกร้องค่าภาคหลวงหรือค่าลิขสิทธิ์จากการใช้พืชพรรณเหล่านี้ในประเทศอื่นๆทุกประเทศ. นอกจากนี้ยังมีกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอำนาจควบคุมการเก็บสะสมพืชพรรณอย่างเคร่งครัด. มีกฎของสมาคม The Convention on International Trade in Endangered Species (CITES) ที่คอยจับผู้เก็บหรือทำลายพืชพันธุ์ที่หายากหรือพันธุ์ไม้ที่กำลังสูญพันธุ์.  กฎหมายระหว่างประเทศแบบนี้ได้รับด้วยความร่วมมือจากสถาบันพฤกษศาสตร์สำคัญๆของอังกฤษ เช่นสวนKew, สวนที่ Edinburgh และที่ Reading University. สถาบันทั้งสามนี้เป็นผู้อุปถัมภ์การเก็บสะสมพรรณไม้เพื่อจุดมุ่งหมายทางวิทยาศาสตร์ โดยมีรัฐบาลกลางของอังกฤษเป็นผู้ออกใบประกาศนียบัตรอนุมัติได้แต่ผู้เดียว ว่าให้ใครไปเก็บพืชพรรณได้ที่ไหน.
    ปัจจุบัน การออกเก็บพรรณไม้จากถิ่นต่างๆทั่วโลก กลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการอนุรักษ์พืชพรรณให้คงอยู่เป็นสำคัญ เพราะระบบนิเวศที่เสื่อมทรามลง ทำให้ต้นไม้สูญพันธุ์ลงไปเรื่อยๆ. จากสถิติที่มีในประเทศอังกฤษ ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมยืนยันว่า ภายในเวลาเพียงห้าสิบปีข้างหน้า โลกจะสูญเสียพืชพรรณไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ25 ของจำนวนพืชพรรณทั้งหมดที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน. ความจริงนี้กระตุ้นให้หน่วยงานจำนวนมากในอังกฤษร่วมมือกัน สร้างมาตรการป้องกันทุกวิถีทางที่ทำได้. อย่างไรก็ดี ยังมีนักเล่นต้นไม้ที่สะสมพืชพรรณเพื่อชื่นชมความงามของมันในฐานะพืช มิใช่ในฐานะข้อมูลวิทยาศาสตร์. พืชพรรณใหม่ๆก็ยังนำเข้าสู่อังกฤษอยู่เรื่อยๆ. ส่วนใหญ่ไม่ใช่พันธุ์ใหม่พันธุ์แท้เพราะเคยมีผู้บันทึกไว้แล้ว แต่ยังไม่เคยมีผู้ใดได้เห็นต้นแท้ๆของมัน เพราะปลูกไม่เคยขึ้นมาก่อนเป็นต้น. ในยุคศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้ คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าไม่น่าจะมีพืชพันธุ์ใหม่ๆเหลือให้สำรวจแล้ว หรือยังอาจไม่สำนึกว่า มีพืชจำนวนมากที่สูญหายตายจากไปแล้ว ทุ่งหญ้าแพรฺรี (prairie) อันอุดมสมบูรณ์ในภาคเหนือของทวีปอเมริกาที่หายสูญไป ป่าดงดิบหนาทึบในอเมริกาใต้ แอฟริกาและเอเชียเบาบางลง ทุกอย่างชี้ให้เห็นอย่างไร้ข้อสงสัยว่า  นี่กลับเป็นยุคเร่งด่วนของการสำรวจพืชพรรณ มิใช่เพื่อหาพันธุ์ใหม่ๆ แต่ที่สำคัญยิ่งยวดกว่านั้น คือการช่วยชีวิตของพันธุ์เก่าๆไว้ให้ได้มากที่สุด.     
ผู้สนใจอยากรู้ว่ารายละเอียดเกี่ยวกับพรานล่าพันธุ์ไม้หรือนักสำรวจพืชพรรณ ตลอดจนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพืชพรรณไม้ ติดตามไปอ่านได้ในบล็อกนี้ >> http://chotirosk.blogspot.com/2014/06/the-british-love-of-plants.html
---------------------------------- 
P-3 >> Plat, Plate-bande, Plato Academy, Pleaching, Pleasure garden, Pleasure ground, Plinth, Podium, Pollard, Pomarium, Pommel, Pond, Pool, Portico, Potager, Praeneste, Privy garden, Promenade, Prospect, Public park, Pulhamite, Pumice, Pyramid. + Letter Q
Q >> Quarry garden, Quarter, Quincunx.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/p-3q.html
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html

Comments