H - Hedge

Ha-ha [ฮะฮา] รั้วหรือกำแพงที่แบ่งหรือกั้นเขตพื้นที่ แต่แทนที่รั้วตั้งสูงขึ้นบนพื้น รั้วนี้ลงจากพื้นไปอยู่ใต้ระดับพื้นดิน. ก่อนจะทำรั้วฮะฮา จำเป็นต้องขุดพื้นดินลงไปเป็นแนวตลอดบริเวณเหมือนจะทำคู แต่ไม่ปล่อยให้น้ำขังในคู. คูแห้งนี้กั้นและแบ่งเขตที่ดินผืนนั้นจากที่ดินผืนติดกัน. การทำรั้วให้อยู่ใต้ระดับพื้น เพื่อมิให้รั้วนั้นบังทิวทัศน์ที่อยู่นอกพื้นที่ผืนนั้น สร้างภาพลวงตาของทิวทัศน์ที่ไม่สิ้นสุด. รั้วหรือกำแพงถ้าตั้งสูง ยิ่งเป็นรั้วทึบด้วยแล้ว เหมือนตัดภูมิทัศน์ลงฉับพลันและเด็ดขาด อาจกระเทือนอารมณ์หรือจินตนาการที่หยุดกึกลง. ชื่อเรียกรั้ว ฮะฮา มาจากคำอุทาน “Aha!” ที่แสดงความแปลกใจเมื่อคนเดินไปถึงสุดผืนดินและเห็นคูกับรั้วอยู่ใต้เท้าที่เขายืน. ความคิดเกี่ยวกับการเนรมิต ฮะฮา ปรากฏเขียนไว้ในงานของ Dezallier d’Argenville แต่ Charles Bridgeman เป็นผู้นำวิธีการไปใช้จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย. คูแห้งแบบนี้ในฝรั่งเศสก็มี แต่ไม่ใช่เป็นคูแบบรั้วรอบที่ดิน เป็นเพียงแนวสั้นๆ เรียกว่า saut de loup แปลตามตัวว่า ที่หมาป่ากระโดด ทำหน้าที่กันหมาป่ามิให้กระโดดเข้าไปในบริเวณสวนหรือเข้าบนพื้นที่นั้น.
    การเนรมิตรั้วฮะฮาเป็นส่วนหนึ่งของแนวการสร้างสวนให้เป็นแบบชนบท (rural garden) ที่ต้องการให้สวนครอบพื้นที่กว้างขยายออกไปเหนือพื้นที่จริงๆของสวน ไม่มีรั้วใดมาขวางกั้น และผนึกภูมิประเทศรอบข้าง(ซึ่งอาจเป็นหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน ทุ่งนาเลี้ยงสัตว์) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสวนนั้นด้วย. รั้วหรือกำแพงแบบฮะฮา กั้นฝูงสัตว์จากทุ่งข้างเคียงมิให้เข้ามาเพ่นพ่านในบริเวณสวนได้อย่างเป็นผล (แต่ดูเหมือนจะกันศัตรูยุคปัจจุบันที่เรียกว่าผู้ก่อการร้ายไม่ได้เลย. ปัจจุบันจึงมีการเดินสายไฟฟ้าแรงสูงป้องกันทั้งสวนทั้งอาคารหรือคฤหาสน์ที่ย่อมมีสมบัติเก่าราคาแพงมากมาย). ในขณะเดียวกันสวนชนบทก็เป็นส่วนหนึ่งของสวนป่าที่ครอบถิ่นนั้นทั้งถิ่น. แนวการบริหารภูมิประเทศแบบนี้เริ่มขึ้นในต้นศตวรรษที่ 18 กับ Stephen Switzer ในอังกฤษ. เป็นยุคที่ในประเทศอื่นๆ ยังคงสร้างสวนแบบแผน สวนเรขาคณิตกันอยู่.

ภาพฮะฮาจากอุทยานภูมิทัศน์ Stowe (Buckinghamshire, UK) เป็นอุทยานแห่งแรกๆของประเทศอังกฤษที่สร้างรั้วฮะฮา. อุทยานนี้มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในอังกฤษและในยุโรป. กำแพงหินฝั่งลึกลงใต้ระดับพื้นของอุทยาน ส่วนพื้นที่ข้างล่างเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ของคนอื่น. กำแพงนี้จึงไม่กั้นทัศนียภาพของอุทยานและรวมเอาพื้นที่ท้องทุ่งเข้าอยู่ในรัศมีของสายตา.
ภาพจากอุทยานปราสาท Castle Howard (Yorkshire, UK) เห็นแนวรั้วฮะฮาสุดพรมแดน กั้นทุ่งกว้างเลี้ยงสัตว์ไว้ โดยไม่ขวางสายตา. ยืดทัศนมิติออกไปไกลถึงสุดขอบฟ้า. แนวฮะฮาเป็นเส้นทางเดินรอบพรมแดนของอุทยานด้วย.

Hedge (close clipped hedge) หมายถึงแนวพุ่มไม้หรือต้นไม้ที่ปลูกติดๆกันอย่างแน่นหนาและที่ตัดเล็มให้เสมอกันโดยตลอด มองด้านข้างตรงเป็นไม้บรรทัด และตอนบนก็ราบเป็นหน้ากระดาน. แนวต้นไม้แบบนี้อาจสูงใหญ่เหมือนกำแพงและทำหน้าที่ของกำแพงได้อย่างสมบูรณ์ด้วย หรือนับเป็นสิ่งประดับสวนหรืออุทยานอย่างหนึ่ง ทั้งนี้แล้วแต่ความสูงของแนวต้นไม้นี้ เช่นประดับสองข้างทางเดินในสวน. ต้นไม้ที่นำมาปลูกเป็นกำแพงพืชแบบต่างๆ มักเป็นต้น Yew [ยู], ต้น Beech [บีช], ต้น Box [บอคซฺ], holly [ฮอลลี่] หรือ Willow [วิลโล]. นิยมสามชนิดแรกมากกว่า.
ภาพจากพระราชอุทยาน Schönbrunn ประเทศออสเตรีย ใช้ต้นไม้ทำเป็นกำแพง แถมยังตัดให้ดูเป็นกำแพงเมือง มีทางเข้าออก ตอนบนยังทำให้ดูเหมือนมีทางให้ทหารเดินตรวจการณ์.
ภาพจากอุทยานปราสาท Blenheim ในอังกฤษ. กำแพงต้นไม้สูงทีเดียว  แทรกด้วยต้นไซเพรสที่ดูปุกปุย บนพื้นใช้พุ่มไม้เตี้ย หนาทึบ ตัดเรียบสม่ำเสมอเหมือนฟุตบาทถนน.
ภาพนี้จากพระราชอุทยานแวรซายส์ ในฝรั่งเศส. ถ่ายจากบริเวณบ่อน้ำมังกร- Bassin du Dragon มองไปสู่ตำหนัก. เห็นแนวต้นไม้สีเขียวทึบ ตัดและเล็มให้เหมือนกำแพง บนเส้นทางเดินไปยังทิศเหนือของพระตำหนักใหญ่.
แนวไม้พุ่มปลูกหนาทึบแบ่งห้องสวนและทำลวดลาย ที่วิลลาลานเตะ
(Villa Lante, Viterbo, Italy)
ขอบแปลงสนามหญ้าเป็นพุ่มไม้เตี้ยๆปลูกหนาทึบ จัดให้ดีมีรูปลักษณ์ เป็นองค์ประกอบสวนที่ทั้งสวยและเรียบร้อย ที่ปราสาท Schloss Ambras ชานเมือง Innsbruck (Austria)

สองภาพข้างบนนี้ ก็เป็นวิธีตัดแต่งไม้พุ่ม(ต้นYew) อีกแบบหนึ่ง
ที่อุทยานปราสาท Fredensborg Slot (Denmark)
แนวพุ่มไม้กั้นขอบแปลงดอกไม้ ที่สวน Leeds Castle (Kent, England)
พุ่มไม้หนาตัดโค้งไปตามเส้นทางถนนที่ Wellington Botanic Garden
Wellington, New Zealand.
หรือตัดเป็นเสากลมๆตันๆ เรียงกันไปเป็นแนวกั้นพื้นที่สวนเป็นห้องสระน้ำยาว เรียบง่ายและสะอาดตายิ่งนัก ที่สวนในป้อมกลางเมืองกอร์โดบา (Alcázar de Córdoba) ประเทศสเปน.
แนวรั้วต้นไม้เตี้ยๆแบบนี้ คู่กับคอลัมภ์ต้นไม้ทรงกลมตันๆ ประดับสวน
Jardines de Sabitini ที่เป็นส่วนหนึ่งบนพื้นที่พระบรมมหาราชวัง
กลางเมืองมาดริด ประเทศสเปน
กำแพงต้นไม้ ทางเข้าสวนมุมหนึ่งพร้อมพุ่มไม้ที่ตัดเป็นหลังคาหน้าจั่ว
ที่ Hidcote (Gloucestershire, UK) 

Herbal  เป็นหนังสือเกี่ยวกับสมุนไพร พร้อมภาพวาดประกอบ ให้คำอธิบายลักษณะพืชสมุนไพรแต่ละชนิดและคุณสมบัติของมันอย่างละเอียด.
ส่วน Herb garden นั้นคือสวนสมุนไพร. ดั้งเดิมใช้คำว่า Giardino dei Semplici อย่างแพร่หลายในสวนยุโรป. อารามนักบวชต่างๆ เป็นศูนย์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและเป็นศูนย์เพาะปลูกและพัฒนาพืชสมุนไพรมาตั้งแต่ต้นคริสตกาล. ภาษาฝรั่งเศสใช้คำ Jardin des simples ที่ตรงกับคำภาษาอิตาเลียน. ส่วนคำละตินเจาะจงเลยว่า Hortus medicus (สวน+ยา). ทั้งหมดหมายถึงสวนที่ปลูกพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นยา.


ในบริเวณอุทยาน Blenheim (Oxfordshire, UK) มีมุมสวนสมุนไพร เดินผ่านเข้าไป กลิ่นหอมๆโชยมาแตะจมูก(จากกอลาเวนเดอร์) กลิ่นเขียว กลิ่นหญ้าเขามีแผนผังแสดงการปลูกต้นสมุนไพรชนิดต่างๆ แจกแจงอย่างละเอียด (medicial herbs).

สวนสมุนไพรณมุมหนึ่งในบริเวณอุทยานปราสาท Ambras Schloss 
เมือง Innsbruck ออสเตรีย.

Herber  เป็นคำที่ใช้เรียกสวนในสมัยกลาง สวนในสมัยนั้นปลูกพรรณไม้ที่ใช้เป็นยาและพืชพรรณไม้ดอกต่างๆ ที่ส่วนใหญ่มีนัยโยงไปถึงคุณสมบัติหรือคุณธรรมของพระแม่มารี. ต่อมาคำนี้ใช้หมายถึง ซุ้มในสวนที่มีไม้เลื้อยและไม้ดอกพันอยู่โดยรอบ (ในความหมายเดียวกับคำ arbour)
จิตรกรรมน้อยประดับหน้าหนึ่งในหนังสือสวดยุคกลาง. เห็นตัวอย่างชัดเจนของสวนสมัยกลาง ที่นั่งในสวนปลูกหญ้าคลุมทั้งหมด และมีพันธุ์ไม้ดอกปลูกเป็นแนวกั้นห้องสวน  มีแปลงปลูกพืชสมุนไพรบนพื้นดิน(ตรงหน้าภาพ). ภาพนี้อยู่ในงานจารึกเรื่อง Theseide ของ Giovanni Boccaccio. ปัจจุบันเล่มนี้อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเวียนนา (Nationalbibliothek, Wien). ภาพนี้จาก Pinterest.com กลุ่มศิลปะยุคกลาง. Victoria Yeliseyeva อัพโหลดเข้าเก็บเว็ปของ Pinterest.

แนวใหม่ของการเนรมิตที่นั่งปลูกหญ้าจากยุคกลาง มาเป็นแบบปลูกพันธุ์หญ้าที่มีดอกขนาดจิ๋วได้ สร้างเป็นมุมประดับสวนแบบหนึ่ง. ต้นไม้ก็เป็นต้นปลอมด้วยวัสดุสมัยใหม่เช่นลูกแก้วหรือปลาสติค. วิธีทำผนังกำแพงแบ่งหรือคั่นห้องสวน ก็น่าสนใจ. จากนิทรรศการพืชสวนและแบบสวนที่ Venlo เนเธอร์แลนด์.

Herm (บางแห่งใช้คำ Term) ดั้งเดิมเป็นรูปปั้นครึ่งตัวหรือศีรษะของเทพ Hermes (ชื่อโรมันว่า Mercury) ตั้งประดับบนฐานที่เป็นแท่นหิน เดิมเป็นฐานสี่เหลี่ยม ต่อมาพัฒนาให้เป็นฐานตอนบนใหญ่กว่าและเรียวเล็กลงในตอนล่าง. แต่เดิม นิยมนำรูปปั้นพร้อมฐานไปตั้งใกล้ชายแดนของพื้นที่ (เหมือนให้ทำหน้าที่ของเจ้าที่). ชาวอังกฤษโดยเฉพาะใช้สองคำนี้อย่างไม่แยกแยะ. รูปปั้นบนแท่นหินก็มักจัดตั้งให้อยู่ด้วยกันหรือเรียงกันไปในบริเวณเดียวกันหรือในห้องสวนเดียวกัน และไม่จำเป็นต้องไปตั้งที่ปลายสวนหรือที่ชายแดน. ต่อมา แทนรูปปั้นเทพกรีกหรือโรมัน เป็นรูปปั้นครึ่งตัวของจักรพรรดิคนดังๆในอดีต นอกจากเป็นการยกย่องแล้วยังอาจเป็นแรงบันดาลใจ หรือให้เป็นสัญลักษณ์โยงถึงความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ผู้สร้างสวน ดังเช่นที่พระราชอุทยานแวร์ซายส์ มีรูปปั้นครึ่งตัวแบบนี้จำนวนไม่น้อยเลย และจัดวางในห้องสวนด้วยกันหลายห้องเป็นต้น.
ในห้องสวนที่ชื่อว่า Bosquet de la salle des Marronniers
มีรูปปั้นครึ่งตัวของจักรพรรดิกรีกหรือโรมันเรียงรายสองด้านห้องสวน.
รูปปั้นครึ่งตัวของอเล็กซานเดอร์มหาราช (356-323BC) ในห้องสวนดังกล่าว
รูปปั้นครึ่งตัวของจักรพรรดิโรมัน Marc Aurèle (121-180 AD)
ภาพรูปปั้นครึ่งตัวบนฐานที่ตั้งสี่เหลี่ยมที่เล็กและแคบลง จากสวนมุมหนึ่งในพระราชอุทยาน Charlottenhof, Potsdam เยอรมนี. ตำหนักและอุทยานเป็นผลงานของสถาปนิกผู้นิยมสถาปัตยกรรมโรมันแบบนีโอคลาซสิก ชื่อ Karl Friedrich Schinkel สร้างแล้วเสร็จในปี 1829. อยู่ด้านตะวันตกของพระราชอุทยาน Sanssouci. เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทั้งบริเวณที่ขึ้นทะเบียบมรดกโลกในนามว่า Palace and park of Sanssouci ตั้งแต่ปี 1990.
ตัวอย่างจากสวน Anglesey Abbey (ทางเหนือเมืองแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ) รูปปั้นครึ่งตัวของจักรพรรดิโรมัน Titus (เป็นจักรพรรดิระหว่างปี 79-81AD)
รูปปั้นครึ่งตัวของ Solon (640-558 BC) รัฐบุรุษและนักกฎหมายชาวอาเธนส์. นับถือกันว่าเขาเป็นผู้วางรากฐานประชาธิปไตยในอาเธนส์. ภาพนี้จากสวนที่ปราสาท Schwetzingen (Germany).
รูปปั้นครึ่งตัวแบบบาร็อคของเทพกรีก Pan (ครึ่งบนเป็นคน ครึ่งล่างเป็นแพะ ถือขลุ่ย ภาพขลุ่ยของแพน ดูเหมือนแคนอิสานขนาดเล็ก) ที่พระราชวัง La Granja de San Ilsefonso (จังหวัด Segovia ประเทศสเปน). หากรูปปั้นจักรพรรดิโรมันสื่อนัยของความยิ่งใหญ่รุ่งโรจน์ในอดีตที่อาจทำให้กษัตริย์รุ่นหลังๆเคลิ้มไปได้ว่า พระองค์ก็เก่งเหมือนจักรพรรดิเหล่านั้น รูปปั้นเทพกรีกองค์ใดหรือนางฟ้าแบบใด สื่อนัยโรแมนติกมากกว่า จึงขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของวังว่าอยากให้สื่ออำนาจ(เช่นกรณีแวร์ซายส์) หรือความฝัน(กรณีสวนอื่นๆ).

Hermitage [เฮ้อมิทิจ] หรืออ่านตามภาษาฝรั่งเศส ซึ่งใกล้เคียงกับเสียงอ่านในอีกหลายภาษาว่า [แอรฺมิต๊าจ]. ความหมายดั้งเดิมแปลว่า “กุฏิฤาษีหรือนักพรต” นำเข้ามาใช้ในบริบทสวนหมายถึง อาคารหลังหนึ่งในสวน ที่มองดูเรียบง่ายแบบกระท่อมของนักพรตในป่า. ตามหลักการต้องการเน้น ความเรียบง่ายของที่พักอาศัยของเหล่านักบวช สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใฝ่หาความสันโดษ.
    คำฝรั่งเศสว่า hermitage มาจากคำ hermite [แอรฺมิต] ในภาษาฝรั่งเศสเก่า แปลว่านักบวชผู้อาศัยตามลำพังในป่า. ภาษาอังกฤษหรือเยอรมัน ใช้คำเดียวกันนี้. ภาษารัสเซียเขียนว่า eremitage ซึ่งโยงไปถึงรากศัพท์เดิมในภาษากรีก. ในภาษาสเปนใช้ ermita.
    ความหมายของความรักสันโดษ ที่รวมถึง การอยู่อย่างเรียบง่ายนั้น  บางทีก็ถูกลบเลือนไป เหลือไว้เพียงความต้องการที่จะอยู่ห่างไกลจากความวุ่นวาย(ทางการเมือง) ที่เมืองหลวง.
    ชื่อ Hermitage คุ้นหูผู้รักศิลปะเพราะเป็นชื่อเรียกกลุ่มพิพิธภัณฑ์หรือ The State Hermitage Museum ที่เมือง St Petersburg ประเทศรัสเซีย ที่ประกอบด้วยหกอาคาร รวมพื้นที่ประมาณ 66,842 ตารางเมตร (รองจากพิพิธภัณฑ์ Le Louvre ที่กรุงปารีส ที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดคือ 72,735 ตารางเมตร). สถาปนาขึ้นในปี 1764 ตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดินีแคธลีนมหาราชผู้เป็นนักสะสมงานศิลป์คนสำคัญที่สุด และทำให้ที่นั่นรวมศิลปวัตถุกว่าสามล้านชิ้น สิ่งที่นำออกให้ชมในนิทรรศการถาวรนั้น เป็นเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น. Hermitage Museum เปิดรับสาธารณชนตั้งแต่ปี 1852. หากนับอายุตั้งแต่ปี 1750 จนถึงปัจจุบัน มีอายุ 263 ปีแล้วทั้งภายนอกและภายในของวัง ไม่มีนัยของความเรียบง่ายหรือสมถะตามชื่อเลยแม้แต่น้อย.
      เช่นเดียวกับพระราชวัง Eremitage ที่เมือง Bayreuth ประเทศเยอรมนี อาคารใหญ่ที่นั่นสร้างและตกแต่งด้วยวัสดุหลากสีจนกลายเป็นความฟุ้งซ่าน. ตำหนักฤดูร้อนของพระราชินี Wilhelmine von Bayreuth ดูภายนอกเรียบกว่า แต่ภายในตกแต่งประดับประดา ตามค่านิยมในครึ่งแรกศตวรรษที่18 ที่ต้องการให้คนเห็นตื่นตะลึง โดยเฉพาะในบริเวณถ้ำที่มีน้ำพุกลอัตโนมัติ เล่นกลให้ฮือฮากัน หาที่ใดเทียบได้ยาก.
    ตัวอย่างกระท่อม Einsiedelei des Gurnemanz (ชื่อในภาษาอังกฤษว่า Hermitage of Gurnemanz) ที่พระเจ้า Ludwig II แห่ง Bavaria (1845-1886) ทรงให้เนรมิตขึ้น. เป็นอาคารไม้สร้างเหมือนวัดเล็กๆ ในอาณาบริเวณพระราชอุทยานอันกว้างใหญ่ที่ Schloss Linderhof (ไม่ไกลจากเมือง München ประเทศเยอรมนี)กระท่อมนี้ค่อยสมชื่อเป็นกุฏิพระ.
กระท่อมหลังนี้สร้างขึ้นตามจินตนาการในบทอุปรากรเรื่อง Parsifal องก์ที่สามของ Wagner. หลังที่เห็นในภาพนี้ เป็นหลังที่บูรณะและสร้างขึ้นใหม่ในปี 1999 / 2000.

Hippodrome มาจากคำภาษากรีก hippo ที่แปลว่า ม้า บวกกับคำ dromos ที่แปลว่า สนามแข่ง. ดั้งเดิมในขนบกรีก หมายถึงบริเวณสนามที่ใช้แข่งม้าศึก (บางทีก็ใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อฉลองในวาระพิเศษ). ต่อมาชาวโรมันนำคำนี้ไปใช้เรียกพื้นที่ภายในวิลลาขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่เหมือนลานสนามแข่งรถม้า แต่ชาวโรมันใช้เป็นที่เดินเล่นมากกว่า.
ภาพจากเว็ป 123RF.com สนามแข่งม้าศึกที่กรุงโรม
ในสมัยจักรพรรดิ Domitian (Domitianus Augustus, 51-96AD) 

สนามกว้างใหญ่เหมือนลานแข่งรถม้าในสมัยโบราณ แต่ใช้เป็นที่พักผ่อนหรือสนามกีฬาในปัจจุบัน. สองภาพนี้จาก Piazza di Siena กรุงโรม อิตาลี.

Historic garden  หมายถึงสวนที่เคยมีบทบาทในประวัติศาสตร์ของสังคมยุคใดยุคหนึ่ง หรือเป็นศูนย์กลางของเหตุการณ์หนึ่งเป็นต้น. พระราชวังแวร์ซายส์เป็นสุดยอดตัวอย่าง เพราะนอกจากเป็นพระราชฐานที่สร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่หาที่เปรียบมิได้ในทุกมิติ(สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม อุทยานศิลป์) ยังเป็นศูนย์บัญชาการปกครองตามระบอบราชาธิปไตยอย่างครบวงจรและศูนย์กลางของสังคมฝรั่งเศส โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่.
    ขนาดย่อส่วนลงมาเช่นที่ปราสาท Cecilienhof เมือง Potsdam ใน เยอรมนี ที่สร้างขึ้นในระหว่างปี 1914-1917 ตามสถาปัตยกรรมอังกฤษยุคทิวเดอร์ (Tudor, ยุคสมัยราชวงศ์ทิวเดอร์ที่ปกครองประเทศอังกฤษระหว่างปี 1485-1603) เป็น Tudor manor house ที่สวยงามมากนอกประเทศอังกฤษ. เป็นพระราชวังสุดท้ายที่สร้างขึ้นในราชวงศ์ Hohenzollern ที่ครองอาณาจักรเยอรมัน-ปรัสเซียจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. พระราชวังนี้มีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นอีกเมื่อ Josef Stalin เลือกใช้ที่นั่นเป็นที่จัดการประชุมปี1945 (โซเวียตเป็นผู้จัดการประดับภายในและปรับพื้นที่ภายนอกเพื่อการนี้เองเพราะเป็นวังที่ถูกกระทบน้อยที่สุดจากสงครามโลกครั้งที่สอง) ที่รวมสามประมุขจากสหภาพโซเวียต(Josef Stalin), สหราชอาณาจักร(Winston Churchill), และสหรัฐอเมริกา(Harry Truman) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง. มติการประชุมที่นั่น ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของยุโรปและเอเชียหลังจากนั้น (เช่นการแบ่งเยอรมนีออกเป็นตะวันออก-ตะวันตก หรือการแบ่งคาบสมุทรเกาหลีเป็นเหนือ-ใต้).
การประชุม Potsdam Conference 1945 ระหว่างประมุขสามชาติ จากซ้ายไปขวา Winston Churchill นายกรัฐมนตรีอังกฤษ, Harry S.Truman ประธานาธิบดีสหรัฐฯและ Josef Stalin ผู้นำโซเวียต, เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 1945. ภาพจาก National Archives and Records Administration. Office of Presential Libraries.  [Public domain], via Wikimedia Commons.

พระตำหนัก Cecilienburg, Potsdam เยอรมนี.
สวนเล็กๆภายในวงล้อมของตัวตำหนัก(สามด้าน) มีสระน้ำประดับด้วยรูปปั้น Narcissus ก้มลงมองดูภาพสะท้อนของตนเองในน้ำ พินิจพิจารณารูปโฉมของตนเอง(และความเป็นตัวตนของเขา). (ไม่ทันดูตอนถ่ายภาพว่า มีคนเด็ดดอกบิีโกเนีย-begonia จากแปลงดอกไม้ในสวน ไปวางไว้บนหัวรูปปั้น)
    พระราชวังนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพระราชวังและอุทยานที่เรียกรวมกันว่า Palaces and Parks of Potsdam and Berlin ตามที่ระบุในทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโกตั้งแต่ปี 1990.

Horticulture คำนี้มาจากคำ hortus ในภาษาละติน หมายถึง“พื้นที่สวน”  บวกกับคำ culture ที่หมายถึง“การเพาะปลูก” ความหมายรวมว่า“การปลูกพืชสวน”. คำนี้ยังใช้เจาะจงแบบการเพาะปลูกเช่น หมายถึงพื้นที่ปลูกพืชสวน (garden space) เน้นความแตกต่างจากพื้นที่ที่ใช้เพาะปลูกพืชเกษตร (agricultural space). ยังมีคำ hortus conclusus ในภาษาละตินที่ใช้แพร่หลายในตะวันตก ที่หมายถึง สวนที่มีพื้นที่ปิดล้อม ที่กลายมาเป็นคำ enclosed garden ในภาษาอังกฤษ.

Hothouse  ดูที่คำ Conservatory

Hunting lodge กระท่อมล่าสัตว์. ส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ ประดับตกแต่งด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่นท่อนไม้ซุงมาตัดทำโต๊ะ ที่นั่ง เตียงนอน หรือมีผืนหนังเสือหรือหนังหมีเป็นผ้าคลุมเตียง มีเขากวางมาจัดทำเป็นช่อไฟฟ้ากลางห้อง หรือทำเป็นภาชนะใส่เครื่องดื่มเป็นต้น. ไม่มีการตกแต่งประดับประดาด้วยเครื่องเงินเครื่องทองใดๆ. กระท่อมแบบนี้ความจริงแล้ว ผู้มีอำนาจและมีเงินเท่านั้นที่ให้เนรมิตขึ้นเพื่อเป็นที่พักผ่อนส่วนตัวเมื่อยามต้องการหลีกหนีสังคมในวังออกไปในป่า ล่าสัตว์ เดินท่องป่าตามอัธยาสัย.
   ตัวอย่างกระท่อมไม้ล่าสัตว์ (Hundinghütte) ของพระเจ้า Ludwig II ที่ทรงให้สร้างขึ้นภายในพระราชอุทยาน Linderhof (Germany) ดังภาพข้างล่างนี้ ทำให้เราจินตนาการวิถีชีวิตของพระองค์ด้วย. เป็นแบบกระท่อมที่วาดขึ้นประดับฉากองก์ที่หนึ่งในอุปรากรเรื่อง Walkyrie ของ Richard Wagner. กระท่อมที่เห็นในปัจจุบัน ยังเหมือนเดิมเกือบทุกประการ แม้หลังเดิมจะถูกไฟไหม้ไปในปี 1884 ก็ได้สร้างขึ้นใหม่, ถูกวางเพลิงอีกในปี 1945. ระหว่างปี 1989-1990 ทางการ(ผู้ปกป้องมรดกของชาติ) อนุมัติให้สร้างขึ้นใหม่อีกและเก็บรักษาเครื่องเรือนเก่าๆที่เคยมีมาไว้ในนั้น. สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้า Ludwig II แห่งบาวาเรียนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจคือมีหลักฐานเจาะจงและเชื่อมโยงไปถึงเนื้อหาในอุปรากรเรื่องใดเรื่องหนึ่งของ Richard Wagner เสมอ.
กระท่อมไม้ทั้งหลัง
ภายใน จัดตามแบบที่เคยเป็นในสมัยของ Ludwig II
กลางห้องตั้งโต๊ะเป็นที่กินที่ดื่ม
เขากวางเป็นที่ใส่เครื่องดื่ม มีมุมก่อไฟทั้งเพื่อความอบอุ่นภายในห้อง
และใช้ทำซุปหรือตุ๋นอาหาร (เห็นหม้อเหล็กหุงต้มห้อยอยู่)
ที่นอนปูด้วยหนังสัตว์และมีผ้าห่มนอนเป็นหนังสัตว์ที่แขวนอยู่เหนือหัวเตียง.
 ห้องหนึ่งในตำหนักที่วิลลาเด๊สเตะ (Villa d’Este, Italy) มีผนังห้องและเพดาน ประดับตกแต่งด้วยจิตรกรรมหรือภาพวาดเกี่ยวกับการล่าสัตว์และภาพสัตว์ที่ถูกล่ามาได้. เนื้อหาล่าสัตว์เป็นหนึ่งในเนื้อหายอดนิยมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เกือบทุกปราสาทมีศิลปวัตถุที่เกี่ยวกับเนื้อหานี้เสมอ รูปปั้นไดแอนนาก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหานี้.
ตำหนักล่าสัตว์ที่พิเศษกว่าที่ใดคือตำหนัก Amalienburg ภายในบริเวณพระราชอุทยาน Nymphenburg เมืองมิวนิค. เครดิตภาพของ Heribert Pohl from Germering bei München, Bayern, Mai 2007.[CC BY-SA 2.0], via Wikimedia Commons.
เหนือประตูทางเข้า มีกลุ่มประติมากรรมไดแอนนาสะพายกระบอกธนู, ปุ๊ตติ(คนหนึ่งจูงสุนัข อีกคนเป่าแตรให้สัญญาณเริ่มขบวนล่าสัตว์) ใต้ลงไปประดับด้วยร่างแห หัวหมูป่า กวาง หลาวเป็นต้นไดแอนนาเทวีในตำนานเทพโรมัน ผู้รักการล่าสัตว์มากเท่าๆกับการรักษาพรหมจรรย์ มักมีปิ่นปักผมเป็นพระจันทร์เสี้ยวภาพของ Usien.15 July 2008. [CC BY-SA 3.0] via Wikimedia Commons.
ภายในตำหนัก ห้องโถงติดกระจกทุกด้าน มองออกไปเห็นภูมิประเทศเขียวของพื้นที่อุทยาน. โทนสีภายในเป็นสีฟ้าอ่อน ประดับลวดลายศิลปะบาร็อคและร็อคโกโก. มองดูโดยรวม สบายตามากแม้จะมีลวดลายประดับเต็ม แต่เพราะพื้นสีเป็นสีฟ้าอ่อนประดับสีเงิน ดูดีกว่าที่เห็นทั่วไปในเยอรมนี ที่ลวดลายร็อคโกโกที่ประดับผนังหรือเพดาน มักเป็นสีทองอร่าม. ภาพของ Kclb. 24 January 2010. [CC BY-SA 3.0] via Wikimedia Commons.

มุมหนึ่งภายในตำหนัก เขาทำช่องๆลึกเข้าไปให้เป็นที่พักสุนัขทรงเลี้ยง ในแบบตู้ประกบติดกำแพง. แผ่นไม้ตู้ประดับด้วยภาพวาดสีฟ้าๆบนพื้นกระดานสีนวล ภาพทั้งหมดเกี่ยวกับสัตว์ที่ล่ากันเช่นหมูป่า กระต่ายป่า นก. ภาพของ Massimop. 30 November 2008. [CC BY-SA 3.0] via Wikimedia Commons.
ในหมู่ชนชั้นผู้ดีสมัยก่อน การล่าสัตว์เป็นกิจกรรม(เวลาว่าง)ที่เสริมทักษะในหลายๆด้าน ทั้งยังเสริมสร้างสุขภาพและอุปนิสัยควบคู่กันไปด้วย.
แถมสองภาพข้างล่างนี้ที่ไม่เกี่ยวกันโดยตรง แต่มีนัยสำคัญ...

ร้านอาหารและเบียร์ร้านหนึ่ง(biergarten) ในเมืองFüssen เยอรมนี ประดับผนังกำแพงด้วยอาวุธยุคกลางเช่นเกราะ โล่ ขวาน มีด ดาบ หลาว ยังมีหนังสัตว์และอุปกรณ์เครื่องมือเช่นเลื่อยสมัยเก่า. โยงไปถึงการล่าสัตว์และการต่อสู้ในชีวิตสมัยก่อน ทั้งหมดสื่อความเป็นลูกผู้ชาย. โต๊ะไม้ยาวๆ เก้าอี้ไม้แบบนี้ เป็นเครื่องเรือนสามัญประจำบ้าน ทำกันเองด้วยมือในสมัยก่อน เครื่องเรือนที่เหมือนผนึกจิตสำนึกเกี่ยวกับบ้านและชุมชนของชาวยุโรปมาแต่ไหนแต่ไร. แขกนั่งรวมๆกัน ที่ตรงไหนว่างก็เข้าไปนั่งได้ รู้จักกันมาก่อนหรือไม่ ไม่เกี่ยงงอน ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก สร้างบรรยากาศของความเป็นเพื่อน(ร่วมโต๊ะร่วมกินร่วมดื่ม) (แบบ camaraderie). เคยไปนั่งร่วมโต๊ะกับคนอื่นๆ ทั้งหญิงและชาย ไม่รู้สึกเคอะเขิน เพราะสีหน้าทุกคนยิ้มแย้ม แบบเอ็นดูหน่อยๆว่าเราไปคนเดียว.
------------------------------------ 
Letter I >> Indian garden, Informal style, Integrated gardening, Ionians, Ionic, Iris garden, Ironwork, Islamic garden, Israelites, Italian garden, Italianate.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/05/i-ironwork.html
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html

Comments