Indian garden
สวนอินเดีย. ศิลปะการปลูกและเนรมิตสวน ดูเหมือนเริ่มขึ้นบนดินแดนเอเชียตะวันตก สวนเป็นส่วนหนึ่งของศาสนสถานของถิ่นนั้น. อาจเรียกว่าสวนวัด.
ปัจจุบันยังมีสวนในวัดอีกมากมายหลายแห่งทั่วไปในทวีปเอเชีย. สวนที่ขึ้นชื่อที่สุดในประเทศอินเดียเป็นสวนที่สร้างขึ้นในยุคราชวงศ์
Mughal (Mughal เป็นคำอินเดียของคำ Mongol
เน้นความหมายของการสืบเชื้อสาย มงโกลเช่นจากเจงกิสข่าน กุบไลข่านเป็นต้น) มีศูนย์การปกครองในตอนเหนือของประเทศอินเดีย. Babur (ชื่อเต็มว่า Zahīr ud-Dīn Muhammad Babur, 1483-1530) สืบเชื้อสายมงโกลจากเจงกิสข่าน (Genghis Khan) ถึงกุบไลข่าน (ชื่อเต็มว่า Timur
Tamerlane ผู้สถาปนาอาณาจักร
Timurid ขึ้นในเปอเชีย. คำ timurid ต่อมาใช้เรียกสวนต่างๆที่รังสรรค์ขึ้นในเมืองหลวงที่กุบไลข่านสถาปนาขึ้น
ที่ชื่อ Samarkand ในประเทศ Uzbekistan ปัจจุบัน) และตรงเรื่อยมาถึงรุ่นของเขา. บาบูร์เป็นผู้สถาปนาราชวงศ์มูกัล-Mughal ขึ้นในอินเดีย. เขามีการศึกษาสูง
รักการเขียนการจดทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต บันทึกของเขารวมเป็นหนังสืออัตชีวประวัติเล่มเยี่ยมที่หาเล่มใดเสมอไม่ได้ในตะวันออก. หนังสือของบาบูร์
สะท้อนให้เห็นความสนใจในธรรมชาติ สังคม การเมืองและเศรษฐศาสตร์. เหตุการณ์ที่เขาบันทึกไว้ชัดเจน
เกี่ยวพันไปถึงประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์สังคม ประเภทสัตว์และพืชพรรณบนดินแดนที่เขาอยู่
รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลที่เขาติดต่อด้วย. หนังสือเล่มนี้แปลออกเป็นภาษาต่างๆไม่ต่ำกว่า 25 ภาษารวมภาษาอังกฤษด้วย.
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือของบาบูร์จากบทวิเคราะห์วิจารณ์ของนักวิจัยตะวันออกศึกษาชาวอังกฤษ
(British
orientalist) ได้ในลิงค์ที่ให้.
ภาพบาบูร์ในสวน.
ภาพนี้ บาบูร์ต้อนรับคณะทูต Uzbeg และ Rauput ในสวนท่ามกลางไม้ต้นไม้ดอกที่เมือง Agra เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 1528 . เห็นกำแพงเมือง Agra สีชมพูๆตอนบนของภาพ. มีข้อความกำกับว่าเป็นภาพประกอบ Wariat-i-Barbari ของ Ram Das ราวปี 1590.
สามภาพนี้ บาบูร์กำกับการจัดแบ่งพื้นที่สวนเพื่อปลูกพันธุ์ไม้ต่างๆ. เจาะจงชื่อสวนนี้ว่า Garden of Fidelity อยู่นอกเมือง Kabul. เห็นม้าหลายตัวนอกกำแพงสวน
บอกให้รู้ว่าบาบูร์ขี่ม้าไปดูพื้นที่.
บาบูร์ในงานเลี้ยงภายในสวน Jahan Ara Garden ที่มือง Herat.
จิตรกรรมน้อยจากหนังสือ Baburnama จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะตะวันออกที่กรุงมอสโคว์. ดูคำอธิบายเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้.
เป็นที่รู้และยืนยันกันเสมอมาว่า
บาบูร์รักการแต่งกาพย์กลอน รักธรรมชาติและสนใจการปลูกสวน ได้เขียนบันทึกไว้ว่า ดินแดนภาคเหนือของอินเดียนั้นไม่เหมาะกับการเนรมิตรสวน
อย่างไรก็ดีกษัตริย์องค์ต่างๆในราชวงศ์
ต่างไม่ท้อถอยและเพียรสร้างสรรค์สวนสวรรค์บนแดนอินเดีย.
สวนที่มีชื่อเสียงที่สุดคือสวนที่ทัชมาฮาล. ทัชมาฮาลเป็นสุเหร่าสุสานที่จักรพรรดิ Shah Jahan ทรงสร้างเป็นอนุสรณ์แด่พระนาง Mumtaz Mahal มเหสีคนโปรด. สวนที่นั่นปลูกต้นไซเปรส (Cypress, สกุล Cupressus) ไว้เป็นจำนวนมาก ตามค่านิยมที่ว่าต้นไม้นี้เป็นสัญลักษณ์ของการคร่ำครวญ
ของความโศกสลด จึงมักปลูกตามสุสานทั้งในโลกมุสลิมและยุโรป. ขนบคลาซสิกยังโยงต้นไซเปรสกับความตายและโลกใต้บาดาล. ข้อมูลทางชีวะวิทยาระบุว่า หากถูกตัดกิ่งไปมากๆ ต้นไซเปรสจะหยุดเติบโต หยุดสร้างตัวมันขึ้นใหม่
นั่นคือมันจะตาย. บนพื้นที่ทัชมาฮาลนั้น อาคารสุเหร่ามิได้เป็นศูนย์กลางของสวน (ซึ่งผิดแปลกไปจากสวนสุสานมูกัลอื่นๆ) แต่ตั้งอยู่ที่ปลายสุดทางทิศเหนือของพื้นที่. ส่วนตรงกลางพื้นที่ทั้งหมด กลับขุดเป็นคลองเล็กๆยาวๆสองคลอง. พื้นคลองปูด้วยหินอ่อนสีขาว. คลองสองสายนี้แบ่งสวนทั้งบริเวณออกเป็นสี่ส่วน ตามแบบแปลนสวนมูกัลที่รู้จักกันและที่เรียกกันว่า chahar-bagh อันหมายถึงการแบ่งพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสประกบกันสี่รูป. (ดูคำ Arabian garden ที่ลิงค์นี้)
เลขสี่เป็นเลขศักดิ์สิทธิ์ในขนบความเชื่ออิสลาม
สวนแบบนี้จึงเป็นแบบสุดยอดของสวนสวรรค์ในคติอิสลาม(และโดยเฉพาะในค่านิยมของชนชาติเปอเชีย). ระยะเวลาที่กษัตริย์องค์ต่างๆในราชวงศ์มูกัลครอบครองอินเดียตอนเหนือนั้น
ได้นำนายช่างฝีมือประเภทต่างๆมาจากแดนเปอเชีย มาเนรมิตสวนสวรรค์บนแผ่นดินอินเดีย. อย่างไรก็ดี ไม่มีพยานหลักฐานด้านโบราณคดีที่ยืนยันการสร้างหรือที่ตั้งของสวนในช่วงระยะเวลาก่อนการสร้างทัชมาฮาล. ในวรรณกรรมฮินดูเช่นในเรื่องรามายณะ หรือในกามสูตร
กลับมีบทเล่าละเอียดเกี่ยวกับสวนในอินเดียยุคโบราณไว้มาก
ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากวัสดุก่อสร้างประการหนึ่ง เพราะวังและสวนมักสร้างจากไม้
โคลนและใบหญ้า (เรียกว่า Kachha
ในขณะที่ศาสนสถานสร้างจากหินและอิฐเผาซึ่งมั่นคงกว่า เรียกว่า pukka) จึงถูกชนชาวมุสลิมผู้เข้ารุกรานทำลายไปได้โดยง่ายอีกประการหนึ่ง. ถึงกระนั้น ศาสถานโดยเฉพาะวัดฮินดูในภาคเหนือของอินเดีย ก็ถูกชนชาวมุสลิมทำลายไปเช่นกัน
ส่วนใหญ่ที่เหลือมาให้เห็นอยู่ในภาคใต้ของอินเดียมากกว่า.
ในจารึกฮินดูโบราณ ระบุทิศทางและแปลนของอาคารไว้อย่างละเอียด. การสร้างศาสนสถานฮินดูนั้น ต้องให้ถูกโฉลกกับทิศทั้งสี่ ทั้งเนินเขา
น้ำและพรรณไม้ที่อยู่ในบริเวณนั้น. ลานกว้างข้างนอกมีรั้วล้อมรอบ
ได้กลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งในสถาปัตยกรรมบ้านเรือนของอินเดีย. อาคารที่พักอาศัยสร้างจากโคลน ตั้งอยู่โดยรอบลานกว้าง. ส่วนวังในยุคนั้นไม่เหลือมาเลย แต่รอยแกะสลักบนหินบอกให้รู้ว่า พระราชวังโบราณนั้นเป็นอาคารสูงโปร่ง
มีเสาไม้ค้ำ น่าจะมีลมเย็นพัดผ่านไปมา
และยืนยันว่าอารยธรรมอินเดียสมัยนั้นได้อิทธิพลจากอารยธรรมเปอเชีย (Achaemenid). พระราชวังที่ Ajanta มีร่องรอยของการปลูกพืชพรรณตรงหน้าและหลังระเบียงวัง. นักโบราณคดีเจาะจงได้อย่างมั่นใจว่า นอกตำหนักที่ประทับเป็นสวนผลไม้
มีสระน้ำที่อาศัยของบรรดานก ปลา และเป็ด.
สวนฮินดู เป็นส่วนหนึ่งของศาสนสถาน. กระบวนการสักการบูชาของชาวฮินดู เริ่มด้วยการชำระล้างร่างกาย
ก่อนเดินเข้าไปยังหน้าแท่นบูชาภายในวัด ดังนั้นบริเวณฮินดูสถานจึงมีสระน้ำที่ทำเป็นขั้นบันไดสำหรับล้างเท้า
สระน้ำล้างตัว หรือหากอยู่ติดแม่น้ำเช่นที่เมืองพาราณสี
ก็ทำเป็นท่าริมแม่น้ำสำหรับชำระล้างตัว. สวนฮินดูในกรณีนี้ ไม่ใช่สวนชาวบ้าน
แต่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในขนบของศาสนาฮินดู.
พระราชวังอินเดียในยุคแรกๆ (เช่นที่ Vajayanagara) มีฐานอาคารเป็นหินและมีห้องโถงใหญ่เสาไม้ค้ำ. ในยุคหลังๆ พระราชวังตั้งอยู่ภายในป้อมปราการ จึงมีพื้นที่ภายในพระราชวังน้อยลง. แบบแปลนของวังคือแบบ mardana นั่นคือมีลานพื้นหินและมีอาคารที่พักโดยรอบลานใหญ่นี้. อิทธิพลสถาปัตยกรรมอิสลามทำให้พระราชวังรุ่นหลังๆ มีบริเวณกว้างใหญ่มากขึ้นและลานเปลี่ยนไปเป็นสวนปิดล้อม. ราชสถานเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของพระราชวังภายในป้อมปราการที่มีสวนด้วย. ราชสถานแต่ละแห่ง เหมือนอาณาจักรอิสระเล็กๆแต่ขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์ของราชวงศ์มูกัล.
พระราชวังฮินดูในยุคหลังสร้างด้วยหิน
ตั้งอยู่บนเนินเขาที่ค่อนข้างแห้งแล้ง มีกำแพงโอบล้อมอย่างแน่นหนา การปลูกสวนจึงลดน้อยลง
เพราะพื้นที่แคบและปริมาณน้ำน้อย. มีการบูรณะหรือสร้างใหม่หลายแห่งตามแนวสถาปัตยกรรมอิสลาม เช่นที่เมือง Gwailor ซึ่งเป็นป้อมเมืองในศตวรรษที่ 8 ถูกสร้างใหม่ระหว่างศตวรรษที่ 13-18. พระราชวังที่ Jodhpur
เป็นป้อมปราการบนเนินเขาสูง มีลานสวน (chowk) เป็นจุดใจกลาง. ส่วนพระราชวัง Golconda
เป็นป้อมบนเนินเขาสูง 130 เมตร เหนือท้องทุ่ง
มีระบบการส่งน้ำเป็นเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ลำเลียงน้ำขึ้นไปใช้ข้างบนได้. พระราชวัง Bidar เป็นทั้งพระราชวังและเมืองป้อมปราการพร้อมกัน
มีลานปูด้วยแผ่นหินภายในพระราชวัง.
ชนกลุ่มอาหรับ ชาวเตอร์กและชาวมงโกล ได้บุกรุกเข้ายึดครองอินเดียจากทิศตะวันตกและทิศเหนือตั้งแต่ศตวรรษที่12 เป็นต้นมา. พวกเขาได้นำลัทธิความเชื่อแนวใหม่เข้าสู่อินเดียด้วย. อิสลามเข้าสู่อินเดียพร้อมๆกับเทคโนโลยีการก่อสร้างและอาวุธยุทโธปกรณ์. กลุ่มชนใหม่เหล่านี้ สร้างประตูอาคด้วยปูน (mortar) เป็นครั้งแรกในอินเดีย. เมื่อชาวมุสลิมมีอำนาจในอินเดีย
จึงจำเป็นต้องสร้างป้อมปราการเพื่อพิทักษ์พระราชวังหินอันสวยงามของชาวอินเดียไว้
เช่นพระราชวังที่ Delhi และที่ Agra. ที่นั่นอาคารต่างๆตลอดจนที่พักอาศัยของเหล่าผู้รับใช้ในวัง ที่สร้างจากโคลนนั้นถูกทำลายไปเสียสิ้น. กษัตริย์ชาวมุสลิมนำสถาปัตยกรรมแบบใหม่เข้าไปในอินเดีย เช่นแบบสถาปัตยกรรมสุสานหลวงของกุบไลข่านที่เมือง
Samarkand.
ความจริงสุสานมิได้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนสถานฮินดู
เพราะชีวิตและความตายเป็นส่วนหนึ่งในวงจรวัฏฏะที่ไม่มีวันสิ้นสุด.
อิสลามอาหรับไม่สนับสนุนให้สร้างสุสานที่มเหาฬารเหมือนเป็นการยกย่องเชิดชูตนเอง
อันแย้งกับคติอิสลามที่ว่า
มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคกันทุกอย่างเบื้องหน้าพระผู้เป็นเจ้า. ชาวมงโกลเองก็ไม่เคยสร้างสุสานอย่างจริงจังเพราะวิถีชีวิตที่ร่อนเร่พเนจร.
การสร้างสุสานจึงอาจมาจากขนบการสร้างสถูปพุทธหรืออาจมาจากขนบธรรมเนียมจีนมากกว่า. ดังที่รู้กันทั่วไปว่า จักรพรรดิจีน สร้างสุสานของพระองค์ไว้ในบริเวณที่มีรั้วรอบขอบชิด.
การสร้างสุสานที่ตกแต่งประดับประดาอย่างงดงามและอยู่ภายในบริเวณที่ได้รับการปกป้องอย่างดีนั้น
พัฒนามากขึ้นตามลำดับในอินเดีย.
ขนบมงโกลแนวใหม่จัดบริเวณกลางแจ้งที่มีรั้วล้อมรอบเป็นสวนประเภทหนึ่ง. คำจารึกเหนือทางเข้าสุสาน Akbar ที่ Sikandra บ่งบอกเหตุผลไว้ว่า “สวนนี้เป็นสวนสวรรค์อีเด็น
ขอเจ้าจงเข้าไปอยู่ในนั้นชั่วกัลปาวสาน”. สวนสุสานในที่สุดกลายเป็นจักรวาลฉบับกระเป๋าบนพื้นโลก.
สวนมูกัล (Mughal gardens) ในอินเดียมีสามแบบดังนี้
1) สวนสุสาน
เช่นทัชมาฮัล
2) พระราชอุทยาน
เช่นที่ Delhi และที่ Agra และ
3) สวนค่ายพักแรม
เป็นสวนแบบ Shalimar Bagh gardens เช่นที่ Srinagar, Lahore และที่ Delhi.
สวนแต่ละแบบจินตนาการขึ้นในบริบทของอิสลาม
นั่นคือเป็นการสร้างสวนสวรรค์บนดิน
ให้เป็นที่สำเริงสำราญชั่วคราวบนพื้นโลกก่อนไปในสวนสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า.
ไปถึงยามเช้าก่อนอรุณรุ่ง
สุเหร่าที่เป็นสุสานหินอ่อนสีงาช้างทั้งหลังที่
Taj Mahal (Taj แปลว่า
มงกุฎ ยอด, mahal แปลว่า คฤหาสน์
วัง) สร้างขึ้นระหว่างปี 1631-1648. ได้ขึ้นทะเบียบมรดกโลกของยูเนสโกตั้งแต่ปี
1983 ในฐานะที่เป็นเพชรน้ำหนึ่งของศิลปะมุสลิมในอินเดีย. สังเกตแนวต้นไซเปรสที่ตัดเหมือนเสาเรียงรายเป็นแถว
ทอดยาวจากประตูทางเข้าสู่ทัชมาฮัล.
สวนแบบ mardana ตั้งอยู่กลางพื้นที่ มีอาคารล้อมรอบ ที่ Agra
Fort
ที่ประทับของกษัตริย์ราชวงศ์มูกัลจนถึงปี 1638. ขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโกในปี1984 เป็นตัวอย่างของเมืองทั้งเมืองภายในกำแพง (walled city). สวนแบบสมบูรณ์ที่สุด แบ่งแปลงดอกไม้เป็นสี่แปลงสี่เหลี่ยมสี่มุม
มีสระน้ำตรงกลาง (chahar-bagh).
แปลงดอกไม้สีแดงสลับสีเขียว เหมือนพรมประดับพื้น ลวดลายเรขาคณิตอย่างสม่ำเสมอ.
สระน้ำพุหินอ่อนสลักเสลาขอบสระเหมือนอาคของสุเหร่า.
ภาพถ่ายจากบนหลังช้างขึ้นสู่ Amber Fort ในยามเช้าตรู่มาก
จากเส้นทางขึ้นไปบนเนินเขาที่
Amber Fort เห็นสวนบนพื้นชั้นล่าง แปลนชัดเจน มั่นคง สบายตา น่าประทับใจไม่น้อยเลย
ในแคว้น Rajasthan อินเดีย. ขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2013.
สวนบนระเบียงต่างระดับนี้ อยู่นอกกำแพงป้อม
สวนสี่เหลี่ยมบนพื้นที่หลายระดับที่ Amber
Fort เป็นสวนที่เรียกว่า
terraced
garden. บนพื้นที่ใหญ่กว่าชั้นที่สาม
แบบแผนถาวรของสวนสี่เหลี่ยมสี่ผืนสี่ทิศ มีสระน้ำตรงจุดใจกลาง
เป็นมรดกจากอารยธรรมเปอเชีย (chahar bagh).
สวนอะชาบัล (Achabal
Mughal Garden) อยู่ห่างจากเมือง
Anantnag ในแคชเมียร์เพียงแปดกิโลเมตร. ลำคลองสายยาวทอดไปบนพื้นที่ทั้งหมด
เป็นสายน้ำจากสระน้ำพุธรรมชาติ ที่ทะลักออกจากภูเขา Sosanwar Hill มาชั่วนาตาปีด้วยปริมาณน้ำที่มิเคยลดลง. เป็นสวนมูกัลที่มีชื่อเสียงที่สุดในเขตแคว้นแคชเมียร์.
อ่างเก็บน้ำพุธรรมชาติที่ทะลักออกจากภูเขา
Sosanwar
Hill ตรงจุดนั้น
คลองยาวที่ขุดขึ้นอย่างเหมาะเจาะสวยงาม ไหลทอดยาวตลอดพื้นที่สวน สร้างทัศนมิติของความไม่สิ้นสุด
เช่นมองจากจุดที่ยืนถ่ายรูปนี้.
Pari Mahal [ปาหริ มาฮัล] เป็นสวนเจ็ดชั้นบนพื้นที่ต่างระดับกันเจ็ดขั้นตอน
ตั้งแต่ขั้นพื้นติดฝั่งทะเลสาบ Dal Lake ที่เมือง
Srinagar (เจาะจงไว้ว่าเป็น
terraced
Mughal garden).
Nishat Mughal Garden ที่เมือง Srinagar ก็เป็นสวนต่างระดับขึ้นไปจากชั้นพื้นริมทะเลสาบ Dal Lake ขึ้นไปบนเนิน (เจาะจงไว้ว่าเป็น
terraced
Mughal garden).
สวนราชบุตร (Rajput gardens)
rajput หมายถึง พระโอรสของกษัตริย์ ตามการแบ่งชั้นวรรณะขนบฮินดู. ราชบุตรจึงอยู่ในวรรณะกษัตริย์ เป็นนักรบและอาจสืบราชย์ต่อไปในอนาคต. วรรณะนี้มีอำนาจมากในยุคราชวงศ์มูกัล
และในยุคที่ยุโรปเข้าไปมีอิทธิพลในอินเดีย.
สวนและพระราชวังของกลุ่มราชบุตรนี้เป็นแบบกึ่งฮินดูกึ่งยุโรป
นั่นคือเป็นแบบสถาปัตยกรรมบ้านชนบทแนวคลาซสิกอินเดีย (haveli). ห้องต่างๆเปิดสู่ลานสวน (chowk) มีกำแพงปิดล้อมทั้งบริเวณ. พระราชวังแบบป้อมปราการนั้นมั่นคงแข็งแรงมาก. ลานสวนยังแบ่งเป็นลานสำหรับผู้หญิงและสำหรับผู้ชาย
สำหรับญาติ สำหรับผู้มาเยือน สำหรับการตระเตรียมอาหาร สำหรับม้าเป็นต้น. เป็นสัดส่วนเฉพาะของแต่ละกลุ่ม.
เมื่อชาวมุสลิมเข้าไปมีอำนาจนั้น
บ้านเมืองเจริญมั่งคั่ง ลานสวนต่างๆพัฒนาขึ้นเหมือนสวรรค์บนดินจริงๆ. เนื่องจากสวนเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในระบบพระราชวังทุกแห่ง การออกแบบแปลนสวนก็พัฒนาความหลากหลายมากขึ้นตามสภาพพื้นที่ของพระราชวัง. ตัวอย่างเช่นที่ Orchha
เป็นเกาะป้อมปราการในแม่น้ำ Betwa. บนเกาะมีพระราชวังหลายแห่ง
บางแห่งมีสวนด้วย. ที่ Chittor
ประกอบด้วยป้อมปราการขนาดใหญ่บนสันเขา พื้นนอกชานวัง มีหลังคา
ระเบียงและเฉลียงก็มองลงไปสู่ทิวทัศน์รอบข้าง. ที่ Udaipur เป็นกลุ่มวังขนาดใหญ่
ภายในมีสวนหลายแห่ง ทะเลสาบ พร้อมเกาะทั้งเกาะที่จัดเป็นสวนทั้งหมด ทั้งมีป่าไม้และอาคารล่าสัตว์อีกหลายหลัง. ที่ Mandu
(ชื่อหมายความว่า“เมืองแสนสำราญ”) มีภูมิทัศน์ที่น่าทึ่งมาก พร้อมพระราชอุทยาน Jahaz Mahal ที่สร้างอยู่ระหว่างทะเลสาบสองแห่ง. ที่ Amber Fort มีสวนเป็นเกาะอยู่ข้างนอกป้อมปราการ. ส่วนภายในป้อม ลานสวนตามแบบ mardana ตั้งประดับตรงใจกลางพื้นที่ อาคารตำหนักต่างๆอยู่รอบๆสวนนั้น. แบบแปลนของพระราชวังที่ Jaipur พระราชวังเป็นส่วนหนึ่งของการวางผังเมืองทั้งเมือง. ที่ Deeg
เป็นพระราชวังที่มีคูและป้อมป้องกันอย่างมั่นคง
อาคารวังตั้งอยู่บนเส้นแกนสี่เหลี่ยมจัตุรัส ในแบบของ chahar bagh.
สวนแบบ mardana สวนอยู่กลางพื้นที่ มีอาคารล้อมรอบ นี่คือ Amber Palace ในแคว้น Rajasthan อินเดีย อาคารที่เห็นคือ Sheesh Mahal Building. พืชที่ปลูกในแต่ละแปลง เป็นพืชสมุนไพร.
ปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดแนวโน้มใหม่ในสถาปัตยกรรมของพระราชฐานในอินเดีย เช่น
1) ในช่วง150 ปีหลังยุคการปกครองของกษัตริย์ราชวงศ์มูกัล บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้น
2)
การเมืองและเศรษฐกิจมั่นคงและร่ำรวยขึ้น อันสืบเนื่องกับการพัฒนาเทคโน
โลยีใหม่ๆ สร้างโอกาสการค้าขายโอกาสใหม่ๆ
ที่ทำให้อินเดียได้ผลประโยชน์มากขึ้น.
3) กฎหมายของมูกัล ระบุว่าเมื่อชายผู้หนึ่งถึงแก่กรรม
สมบัติเงินทองและทรัพย์สินของเขาจะถูกโอนเข้าในพระคลังหลวง. กฎหมายนี้ทำให้คหบดีผู้ร่ำรวยทั้งหลายไม่คิดสร้างวังส่วนตัวของตน.
เหตุผลดังกล่าวมาทำให้บรรดาเจ้าชายอินเดียต้องการ“สร้าง”วังใหม่ตั้งแต่ศตวรรษที่18. เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์มูกัลแล้ว อิทธิพลจากวัฒนธรรมปอร์ตุเกสและฝรั่งเศส เห็นชัดในอินเดียตอนใต้. ส่วนชาวอังกฤษนั้นไม่คาดหวังเข้าไปเป็นเจ้าอาณานิคมอินเดียชั่วกาลนาน
จึงมิได้สร้างอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ๆใช้ส่วนตัวนัก
แม้จะมีสถาปนิกอังกฤษจำนวนมากทำงานอยู่ในอินเดียก็ตาม. พระราชวังใหม่ๆยังคงสร้างขึ้นในแบบผสมสานระหว่างแบบ Mughal กับแบบ Rajput.
ศตวรรษที่19 เห็นแนวโน้มตามแบบยุโรปชัดมากขึ้น. แต่แบบยุโรปที่นั่นก็มิได้เป็นแบบเด่นแบบเดียวที่ครอบงำการก่อสร้างในอินเดีย. อาคารอินเดียและสวนยังคงเป็นแบบอินเดีย
รวมทั้งที่ทำการรัฐบาลทั้งหมดที่กรุงเดลฮี ที่สถาปนิกชาวอังกฤษ Edwin Lutyens เป็นผู้ออกแบบ. ที่เมือง Hyderabad มีบริเวณภายในกำแพงล้อมรอบที่กว้างใหญ่มาก
(Chau Mahalla หรือ
ห้องโถงใหญ่สี่แห่ง) พร้อมอาคารต่างๆที่ประกอบด้วยสวนแบบแผนหลายแห่ง มีแหล่งน้ำพร้อมเพรียง. Lakshmi Villas ที่เมือง Baroda จัดแปลนอาคารที่อยู่รอบๆลานสวนสามแห่ง เพื่อผู้ใช้สวนสามประเภท สำหรับมหาราชาหนึ่ง สำหรับผู้หญิงหนึ่ง
และสำหรับชาวบ้านหนึ่ง ทั้งหมดรวมกันภายในพื้นที่อุทยานภูมิทัศน์. ส่วนพระราชวังที่ Jodhpur
ที่สถาปนิกอังกฤษเป็นผู้เนรมิตขึ้น ห่างจากป้อมเมืองเก่าสามกิโลเมตร ประดับด้วยรูปลักษณ์อินเดีย.
Informal style
หมายถึง
สวนที่ไม่ยึดหลักการสร้างตามกฎหรือขนบแบบแผนที่ยึดปฏิบัติกันมาก่อน เช่นเป็นสวนที่ไม่มีเส้นตัดตรง
ไม่มีเส้นทางเดินภายในสวนที่ตัดกันเป็นมุมฉาก. เทียบได้กับการแต่งตัวตามสบาย casual style ที่ตรงข้ามกับแบบ formal style ที่แต่งสูทผูกเน็คไทอย่างเป็นการเป็นงาน. ประเทศอังกฤษเป็นผู้นำในการสร้างสวนแบบนี้. ฝรั่งเศสใช้คำ jardin
irrégulier ที่แปลตามตัวว่า สวนที่ไม่สม่ำเสมอ บางทีก็ใช้คำ anglo-chinois เรียกสวนอังกฤษที่สร้างในศตวรรษที่18 ยุคที่อังกฤษเริ่มพลิกแพลงการปลูกและรังสรรค์สวน.
Integrated gardening หมายถึงการปลูกพืชสมุนไพร ผักผลไม้
และดอกไม้ปะปนกันเป็นกลุ่ม ไม่ว่าพืชพรรณแบบใด ต่างเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างภาพรวมของโครงการปลูกสวนนั้น.
Ionians เป็นชนชาวที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกของกรีซโบราณ ชื่อชนกลุ่มนี้กลายเป็นชื่อ Ionia ที่ใช้เรียกดินแดนฝั่งตะวันตกของอานาโตเลีย (ในประเทศตุรกีปัจจุบัน). เชื่อกันว่าชาวไอโอเนียนอพยพมาจากดินแดน Attica (ในกรีซตะวันออกเฉียงใต้) หลังจากที่ถูกชาวดอเรียน (Dorians) บุกรุกขับไล่ ตั้งแต่ศตวรรษที่5 BC. นักประวัติศาสตร์ถือว่าชนกลุ่มนี้รวมเข้ากับชนพื้นเมืองและเรียกรวมกันว่าชาว Pelasgians. วัฒนธรรมของชนกลุ่มนี้เป็นองค์ประกอบหลักในอารยธรรมกรีกโบราณ.
Ionic
แบบเสาคอลัมน์สถาปัตยกรรมคลาซสิกกรีก.
ดูรายละเอียดและเปรียบเทียบกับแบบอื่นๆที่คำ Architecture orders ที่ลิงค์นี้.
Iris garden
คือสวนหรือบริเวณหนึ่งของสวนที่ปลูกต้นอายริซโดยเฉพาะ. ความนิยมต้นอายริซเพิ่มขึ้นมากในศตวรรษที่19 และ 20 ทำให้มีการเพาะพันธุ์อายริซพันธุ์ใหม่ๆขึ้น เดี๋ยวนี้มีดอกขนาดต่างๆและสีสันแปลกๆออกไป ดลใจให้สร้างสวนอายริซโดยเฉพาะ ในสวนสาธารณะและสวนดอกไม้ทั่วไป.
ตัวอย่างแปลงดอกอายริซ จากสวน Korakuen เมือง Okayama ประเทศญี่ปุ่น. ดอกอายริซเป็นหนึ่งในดอกไม้ยอดนิยมของคนญี่ปุ่น.
ตัวอย่างแปลงดอกอายริซ จากสวน Korakuen เมือง Okayama ประเทศญี่ปุ่น. ดอกอายริซเป็นหนึ่งในดอกไม้ยอดนิยมของคนญี่ปุ่น.
Ironwork
(รวม Wrought iron และ Cast
iron) การเนรมิตเหล็กดัดและนำมาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในสถาปัตยกรรมสวนนั้น
มีมานานหลายศตวรรษแล้วและโดยเฉพาะนำมาเป็นประตูหรือรั้ว เช่นที่ราชอุทยาน Hampton Court ที่เป็นผลงานของ Tijou (c.1690) สวยงามเป็นพิเศษ (ดูที่คำ clairvoie ตามลิงค์นี้).
งานเนรมิตที่ใช้เหล็กดัดยังรวมไปถึงการใช้เหล็กดัดประดิษฐ์เป็นกรงนกขนาดใหญ่
(aviary) หรือเป็นโครงเหล็กซุ้มโค้งที่ต่อกันไปเป็นแนว (pergola). ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา มีการผลิตสรรพสิ่งที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบสำหรับใช้ในสวนเป็นจำนวนมาก
เช่นราวเหล็ก
ท่อน้ำพุจนถึงประติมากรรมน้ำพุ โครงสร้างของอาคารเรือนกระจก ประตู โถทรงสูงแบบคนโท ตลอดจนเครื่องเฟอนิเจอร์ประดับสวนอีกหลากหลายแบบ. ชมภาพตัวอย่างการใช้เหล็กข้างล่างนี้
โครงเหล็กครอบพื้นที่วงกลม
ให้ไม้เลื้อยเกาะ สร้างเป็นมุมนั่งร่มรื่นในฤดูร้อน ริมฝั่งทะเลสาบ ณปราสาท Schwerin ที่ตั้งแยกบนเกาะหนึ่งเกาะ
แยกจากตัวเมือง Schwerin เยอรมนี
ภาพจากอุทยานปราสาท
Linderhof
เยอรมนี โครงเหล็กดัดโค้งปลูกพันธุ์ไม้เลื้อย
โครงที่วางต่อเป็นระยะๆ สร้างเป็นทางเดินยาวเหยียด กลายเป็นอุโมงค์ต้นไม้.
ศิลปะเหล็กดัดเป็นลวดลายโปร่งสวยงามประดับเต็มพื้นที่ครึ่งวงกลม
ตอนบนของประตู
ที่พระราชวัง Frederiksborg Slot, Denmark.
ศิลปะเหล็กดัด
นำไปใช้มากในการสร้างตราสัญลักษณ์หรือตราประจำตระกูล.
ภาพนี้ย่อเหยี่ยวสองหัวตราตระกูลฮับสบูร์ก ติดบนไม้กางเขนที่ปักลงเหนือลูกโลก (นัยศาสนา). ขอบวงกลมกำกับข้อมูลที่ตั้งของพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งคือจุดสูงสุดบนภูเขา Zugspitze ส่วนที่อยู่ในเขตแดนของเมือง Tirol ประเทศออสเตรีย. ระบุรถไฟสายขึ้นลงยอดเขานี้ที่อยู่สูง
2950 เมตร.
ป้ายเหล็กดัดเจาะจงรูปแบบของการค้า
ของบริการ ที่ติดเหนืออาคารที่ตั้งหรือเหนือร้าน
เป็นที่นิยมกันมากในออสเตรียและเยอรมนี.
เป็นแบบส่วนตัวของแต่ละร้านแต่ละอาคาร เป็นการโฆษณาสินค้าหรือบริการ
ที่สวยน่าทึ่งจนเหมือนบทกวีก็ว่าได้. เป็นแบบแรกเริ่มของการสร้างภาพโฆษณา. ภาพนี้จากเมืองเล็กๆชื่อ Appenzell, Switzerland. มองเข้าใจทันทีว่า ร้านนี้ให้บริการอะไรบ้าง. เมื่อเทียบกับปัจจุบัน โปสเตอร์โฆษณากินพื้นที่และปิดมุมมองของเราบนท้องถนนในเมือง.
สัญลักษณ์ของเมือง
Lindau
เยอรมนี คือต้น Linden (Lime tree) นำมาประดับชี้บอกว่า
นี่คือที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ของรัฐ. ชัดเจนเหมือนใบไม้รูปหัวใจของต้น Linden กับปีที่ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์(แม้จะกลับหน้าหลัง) คือปี1930.
ท่อน้ำพุ
และสิ่งประดับปิดปากท่อน้ำ ก็เป็นที่สำแดงฝีมือช่าง
ภาพนี้จากสวนมุมหนึ่งที่เมืองมิวนิค เยอรมนี.
ประติมากรรมเหล็กกล้า
หรือโลหะชนิดอื่นเช่นทองสัมฤทธิ์หรือทองแดง เป็นวัสดุที่นำมาใช้ในการเนรมิตงานศิลป์ได้
และนิยมทำกันมากขึ้นๆโดยเฉพาะประติมากรรมสำหรับตั้งกลางแจ้ง
เพราะความแข็งแรงทนทานต่อสภาพภูมิอากาศแบบต่างๆ. ภาพนี้ประดับสวนริมฝั่ง แม่น้ำมายน์ (Main) แถวหมู่บ้าน Veitshöchheim นอกเมือง Würzburg. เส้นทางล่องเรือจากเมือง
Würzburg
ผ่านพื้นที่เพาะปลูกองุ่นของดินแดนแถบนี้
ที่เป็นถิ่นผลิตไวน์ของเยอรมนีถิ่นหนึ่ง ส่วนสวน Veitshöchheim เป็นสวนร็อคโกโกที่น่าสนใจมากแห่งหนึ่งในยุโรป.
ประติมากรรมเหล็กกล้าขัดเงา
วางในพื้นที่เหมาะเจาะ เป็นองค์ประกอบสวนในหมู่ต้นไม้ใหญ่ใบเขียว ไม่ขัดตา
ที่เกาะบุปผาชาติ Insel Mainau ในทะเลสาบ
Constanz
นอกฝั่งเมือง Koblenz เยอรมนี ใกล้พรมแดนสวิสเซอแลนด์และออสเตรีย. เกาะนี้ทั้งเกาะรวมสวนพฤกษชาติ สวนรุกขชาติและสวนสัตว์.
ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 2014. เข้าใจว่าแต่ละปีมีนิทรรศการประติมากรรมสมัยใหม่เวียนไปตั้งแสดงที่นั่น เพราะไปสามครั้ง ไม่เหมือนกันเลย. เป็นการดีที่สวนใหญ่ๆเปิดโอกาสให้ใช้พื้นที่อุทยานเป็นที่แสดงงานศิลป์แบบต่างๆ. เป็นวิธีหนึ่งของการนำงานศิลป์สู่ประชาชน สร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่ๆแก่รุ่นเก่าที่กำลังผ่านไปและรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต อีกทั้งยังอาจดลใจการรังสรรค์ใหม่ๆได้อีกด้วย.
ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 2014. เข้าใจว่าแต่ละปีมีนิทรรศการประติมากรรมสมัยใหม่เวียนไปตั้งแสดงที่นั่น เพราะไปสามครั้ง ไม่เหมือนกันเลย. เป็นการดีที่สวนใหญ่ๆเปิดโอกาสให้ใช้พื้นที่อุทยานเป็นที่แสดงงานศิลป์แบบต่างๆ. เป็นวิธีหนึ่งของการนำงานศิลป์สู่ประชาชน สร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่ๆแก่รุ่นเก่าที่กำลังผ่านไปและรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต อีกทั้งยังอาจดลใจการรังสรรค์ใหม่ๆได้อีกด้วย.
เหล็กตัดง่ายดัดสะดวกเป็นรูปสองคนจูงมือกันไป
ประดับมุมตรงทางเข้าสู่พิพิธภัณฑ์บนถนนในเมืองโบราณชื่อ Fulda ที่สถาปนาขึ้นตั้งแต่ปี 744 AD. เมื่อเกิดสำนักสงฆ์และอารามนักบวชคติเบเนดิคติน (วัดเซ็นต์ไมเคิล
เป็นสถาปัตยกรรมโรมันเนสก์ศตวรรษที่ 8 และเป็นที่ฝังศพของนักบุญ Boniface).
ประติมากรรมคนนั่งใต้ต้นไม้นี้ อาจเป็นผลงานของศิลปินคนเดียวกันที่สร้างประติมากรรมแบบนี้
และให้ชื่อว่า“คน(ชอบ)กอดต้นไม้”(Tree
hugger) นำออกแสดงที่ Yorkshire Sculpture Park (UK). ส่วนต้นไม้นี้มีชีวิต พบในซอยเล็กซอยหนึ่งที่เมือง Ansbach เยอรมนี.
ส่วนตัว รูปปั้นนี้ทำให้นึกถึงวรรณกรรมเรื่อง Waiting for Godot ของ Samuel Beckett (นักประพันธ์ นักวิจารณ์และนักแต่งบทละครชาวไอริช 1906-1989 ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาวรรณกรรมปี1969) ที่ทำให้คิดว่า ชีวิตคือการคอย คอยโชคลาภ คอยเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น คอยแสงสว่าง คอยพระเจ้าหรือเปล่า คอยทำไม? ยังคอย ยังคอย ยังคอยเธออยู่…
ส่วนตัว รูปปั้นนี้ทำให้นึกถึงวรรณกรรมเรื่อง Waiting for Godot ของ Samuel Beckett (นักประพันธ์ นักวิจารณ์และนักแต่งบทละครชาวไอริช 1906-1989 ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาวรรณกรรมปี1969) ที่ทำให้คิดว่า ชีวิตคือการคอย คอยโชคลาภ คอยเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น คอยแสงสว่าง คอยพระเจ้าหรือเปล่า คอยทำไม? ยังคอย ยังคอย ยังคอยเธออยู่…
อนุสาวรีย์ Sibelius Monument ที่กรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์. เนรมิตขึ้นด้วยการใช้ท่อเหล็กกลวงๆทั้งสิ้น
600 ชิ้นมาประกอบกันในลักษณะเหมือนคลื่น
มีน้ำหนักรวมกันถึง 24 ตัน. ผลงานของศิลปินชาวฟินนิชชื่อ
Eila
Hiltunen (1967) ที่เจาะจงสร้างงานชิ้นนี้อุทิศแก่นักประพันธุ์ดนตรีชาวฟินนิชชื่อ
Jean
Silelius (1865-1957). มีการถกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับงานชิ้นนี้มากในยุคนั้น
เนื่องจากเป็นศิลปะแบบนามธรรม (abstract art) ที่คนไม่เข้าใจกันนักหรือเข้าไม่ถึงความหมายความตั้งใจของศิลปิน. Sibelius เคยประพันธุ์ดนตรีออแกนไว้บ้าง ท่อเหล็กกลวงๆของงานชิ้นนี้
อาจโยงไปถึงท่อกลวงๆที่ประกอบกันเป็นกล่องเสียงของออแกน. ใครอธิบายอย่างไร ก็ไม่สะใจนักวิจารณ์ยุคนั้น. ศิลปินเนรมิตหัวของ Sibelius ติดบนก้อนหินขนาดใหญ่ข้างๆอนุสาวรีย์นี้(ด้านขวาในภาพ). ความตั้งใจของศิลปินเพื่อกระตุ้นให้เจาะลึก
ถึงสาระสำคัญของดนตรีของ Sibelius.
ต่อมามีการสร้างแบบจำลองประติมากรรมชิ้นนี้ขนาดย่อส่วน ไปตั้งที่อาคารศูนย์กลางยูเนสโกที่กรุงปารีส. ศิลปินคนเดียวกันนี้ ก็ได้สร้างประติมากรรมในลักษณะใกล้เคียงกับแบบนี้ ไปประดับที่หน่วยปฏิบัติงานศูนย์กลางสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ค โดยปริยายเท่ากับว่า ความคิดของศิลปินเป็นที่ยอมรับในที่สุด.
ต่อมามีการสร้างแบบจำลองประติมากรรมชิ้นนี้ขนาดย่อส่วน ไปตั้งที่อาคารศูนย์กลางยูเนสโกที่กรุงปารีส. ศิลปินคนเดียวกันนี้ ก็ได้สร้างประติมากรรมในลักษณะใกล้เคียงกับแบบนี้ ไปประดับที่หน่วยปฏิบัติงานศูนย์กลางสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ค โดยปริยายเท่ากับว่า ความคิดของศิลปินเป็นที่ยอมรับในที่สุด.
บนถนนที่จัตุรัส Franz Kafka Square กลางกรุงปร้าค (Prague, Czech Republic) มีประติมากรรมสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นด้วยการรวมกุญแจทั้งสิ้น 85,741 ชิ้นมาประกอบกัน จึงเป็นจุดรวมกุญแจจำนวนมากที่สุดในโลก. ประติมากรรมนี้เป็นผลงานปี 2010 ของ Jirí David ศิลปินมีชื่อเสียงชาวเช้ค
ที่สร้างขึ้นเนื่องในวาระครบรอบยี่สิบปีของการระดมพลปฏิวัติต่อต้านรัฐบาลเชโกสโลวาเกีย
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนปี
1989. ศิลปินนำกุญแจทั้งหมดมารวมกัน ประกอบกันเป็นคำ Revoluce (ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Revolution อักษรบางตัวตรงฐานบิดเบี้ยวมากไปหน่อย) อักษร R ตัวแรกอยู่บนสุดและค่อยๆเล็กและบีบตัวจนถึงตัวสุดท้ายที่ฐาน รวมกันสูง 6 เมตร.
ศิลปินต้องการให้เป็นสัญลักษณ์เตือนใจและบอกเล่าเหตุการณ์ ปฎิวัติกำมะหยี่
(Velvet
Revolution) ระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายนถึงวันที่ 29 ธันวาคมปี
1989 เมื่อประชาชนและนักศึกษา ชุมนุมกันเดินขบวนประท้วงรัฐบาลพรรคเดียวตลอดกาลที่คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเชโกสโลวาเกีย. เป็นการปฏิวัติที่นุ่มนวลปราศจากความรุนแรงใดๆ ฝ่ายเดินขบวนยืนหยัดอยู่ในความสงบ เดินเข้าหากองกำลังทหารที่มีทั้งปืนและระเบิดมือ. ชะตาบ้านเมืองคงดี จึงไม่มีการประหัตประหารกันในระหว่างนั้น ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่ง. เรื่องจึงจบลงด้วยการสลายตัวของรัฐบาลพรรคเดียวที่ปกครองเชโกสโลวาเกียมานาน 41 ปี. นาย Vaclav Havel ผู้นำการปฏิวัติได้ใช้เสียงกุญแจที่ดังกรุ๊งกริ๊งเมื่อกระทบกัน
เป็นสัญลักษณ์ของการระดมพลเพื่อประชาธิปไตย. ศิลปินจึงเลือกกุญแจมาเป็นวัสดุสร้างประติมากรรมชิ้นนี้. แต่มีผู้ไม่สบอารมณ์นัก กุญแจที่ใช้ทั้งหมด มาจากชาวเช้คทั่วประเทศที่ส่งต่อไปถึงมือศิลปินก็จริง แต่ต้องส่งผ่านเครือข่ายสาขาของ Vodafone ในสาธารณรัฐเช้ค.
การปล่อยให้บริษัทVodafone ที่เป็นบริษัทการสื่อสารทางไกลนานาชาติ
เป็นตัวกลางรวบรวมกุญแจและเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินเกี่ยวกับการสร้างประติมากรรมชิ้นนี้ ขัดแย้งกับอุดมการณ์ดั้งเดิมของการปฏิวัติที่เป็นเรื่องภายในประเทศ เป็นสัญลักษณ์ของชาติ. คนกลุ่มที่ไม่พอใจ ไม่ต้องการให้ชาติใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในของพวกเขา.
ศิลปินสรุปว่า ประติมากรรมกุญแจ เป็นปฏิกิริยาตอบโต้อัตโนมัติต่อสังคมที่มีอะไรขัดแย้งกันอยู่เสมอ.
ประติมากรรมเหล็กขนาดใหญ่มาก ประดับสวนในเทศกาลสวนและพืชสวน BUGA (ชื่อเต็มๆว่า Bundesgartenschau) ที่เมือง Koblenz เยอรมนี ปี 2011.
ประติมากรรมเหล็กขนาดใหญ่มาก ประดับสวนในเทศกาลสวนและพืชสวน BUGA (ชื่อเต็มๆว่า Bundesgartenschau) ที่เมือง Koblenz เยอรมนี ปี 2011.
Islamic garden
สวนแบบอิสลาม
(หรือที่เราเรียกรวมกันไปว่า สวนอาหรับ
แม้จะรู้ว่าในปัจจุบัน มุสลิมไม่ใช่คนอาหรับเท่านั้น ยังมีมุสลิมเอเชีย มุสลิมแอฟริกัน แต่สวนอาหรับ(ในมุมมองประวัติศาสตร์)
ที่เรานำมาเสนอในที่นี้ เกี่ยวกับหมู่มุสลิมอาหรับเป็นสำคัญ. นอกจากนี้ สวนแบบอาหรับก็กระจายไปตามส่วนต่างๆของโลก เช่นในสเปน ตุรกี แอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลางและในทวีปเอเชีย. สวนอาหรับในเขตต่างๆดังกล่าว
มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ทำให้ไม่เหมือนกันเลยทีเดียว ถึงกระนั้นอุดมการณ์พื้นฐานเหมือนกัน ที่สรุปเป็นประโยคว่า “Green is Happiness, Green is Peace” มีองค์ประกอบบางอย่างที่คงที่ เช่นปัจจัยเรื่องน้ำ รูปลักษณ์แบบเรขาคณิต ร่มและเงาไม้ มุมสงบและสนามหญ้า. เบื้องหลังภาพลักษณ์รวมของสวนแบบอาหรับ ยังมีนัยศาสนาแฝงอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย. สวนอาหรับที่เป็นแบบฉบับแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ตัดกันแบบไม้กางเขน มีคลองเล็กๆหรือทางน้ำเป็นเส้นแบ่งแยกออกจากกัน ตรงจุดที่ตัดกันมักมีประติมากรรมน้ำพุตั้งเด่นเหนือลำคลองหรือทางน้ำสี่สายนั้น. (ดูที่คำ Arabian garden ที่ลิงค์นี้)
Islet
เกาะเล็กๆ. เกาะกลางผืนน้ำ เป็นองค์ประกอบสวนแบบหนึ่งเช่นกัน ที่สื่อนัยของความสันโดษ ต่อไปถึงความรู้สึกอิสระเสรีได้.
เกาะกลางน้ำเล็กๆในรูปของเรือ
มีรูปปั้นตรงหัวเรือ อยู่ในสระน้ำใหญ่และยาว
ที่สวน Pazo de Oca นอกเมือง Santiago de Compostela ประเทศสเปน
บนเกาะปลูกต้นส้มไว้หลายต้น
ยามฤดูใบไม้ผลิ เขาตั้งกระถางดอกไม้ไปรอบๆ
เพิ่มสีสันขึ้นอีก.
ส่วนหนึ่งของอุทยานขนาดใหญ่สร้างขึ้นในปลายศตวรรษที่18 และมีชื่อตามที่จดในทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโกว่า Garden Kingdom of Dessau-Wörlitz (ตั้งแต่ปี 2000) สร้างเกาะสุสานอุทิศให้ รุสโซ (สุสานจริงของเขาอยู่ที่เมือง
Ermenonville
ในประเทศฝรั่งเศส) เพื่อเป็นเกียรติแก่นักเขียนจากเมืองเจนีวา Jean-Jacques Rousseau (1712-1778). อุดมการณ์ของเขา ทั้งด้านปรัชญาการเมือง (เสรีภาพ
ประชาธิปไตย) ด้านการศึกษา สังคมและวิทยาศาสตร์ มีอิทธิพลต่อปัญญาชนในยุคเรืองปัญญาศตวรรษที่18 (Enlightenment period) มาก. กลางเกาะมีโกศโถขนาดใหญ่บนฐานสี่เหลี่ยม โยงไปถึงโกศโถบรรจุอัฐิธาตุจริงของผู้ตายที่ Ermenonville ดังกล่าว. ปลูกต้น poplar ([พ็อพเผลอะ], Populus) ประมาณสิบสองต้น รอบเกาะ. Poplar เป็นต้นไม้ที่รากหยั่งลึกมั่นคงมาก
จึงนำนัยของการยืนหยัด ความมั่งคงปลอดภัยและการฟื้นตัวได้เสมอ เสริมเป็นออร่าให้กับสวนอนุสรณนี้.
ในแง่นี้อาจเป็นข้อเตือนใจว่า อุดมการณ์ที่ดีย่อมไม่มีวันเสื่อมสลาย
ยังคงดลใจชนรุ่นต่อๆมาได้ ไม่รู้จบ.
Israelites เป็นชนเผ่าลูกหลานของชนชาติในคัมภีร์ไบเบิล เอ่ยถึงในยุคระหว่างการเข้ายึดดินแดน Canaan (c.2000 BC.)
จนถึงการเร่ร่อนออกจากแดนบาบีโลนกลับสู่ปาเสสไตนในราวปลายศตวรรษที่
6 BC. หลังจากนั้นมา
ชนเผ่านี้คือชนเผ่าที่เรารู้จักกันในนามว่า“ชาวยิว”.
Italian garden
สวนอิตาเลียนมีเอกลักษณ์ที่สืบเนื่องและพัฒนามาจากสวนในยุคเรอแนสซ็องส์ เป็นสวนแบบแผน มีแปลนพื้นที่ของสนามหญ้าและทางเดินในสวนตามรูปลักษณ์เรขาคณิต มีบันไดหินอ่อน เฉลียงหรือระเบียงประดับด้วยราวลูกกรง มีรูปปั้นประดับเรียงราย มีสระน้ำและน้ำพุหลายแห่งภายในบริเวณ. น้ำเป็นปัจจัยที่สื่ออัจฉริยะของวิศวกรผู้สร้าง. สวนอิตาเลียนบางแห่ง
ดูเหมือนมีแกนการสร้างสรรค์ที่สื่อความนัยเปรียบอันลึกซึ้ง ที่เราในยุคปัจจุบันอาจนึกไม่ถึงในทันที.
โดยปกติสวนตั้งอยู่ในหุบเขาหรือเชิงเขา พื้นที่จึงมิได้ราบระดับเดียวกันโดยตลอด
ทำให้สามารถสร้างน้ำตกขนาดใหญ่ๆได้อย่างมีประสิทธิผล
สื่ออำนาจเงินและอำนาจทางการเมืองของผู้เป็นเจ้าของ.(ดูที่คำ fountains ตามลิงค์นี้) ตัวอย่างสุดยอดของสวนอิตาเลียนในประเทศอิตาลีเอง เช่นที่ Ninfa ทางตอนใต้ของกรุงโรม, ที่ Villa Lante และ Villa d’Este.
มุมหนึ่งภายในอุทยาน Kensington Gardens (London) ด้านตะวันตก เรียกว่า Italian garden แต่เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นราบระดับเดียวกัน จึงมิได้เก็บเอกลักษณ์ของสวนอิตาเลียนที่แท้จริงครบทุกด้าน เน้นเพียงการมีสระน้ำ มีน้ำพุกลางสระ และเสนอมุมมองแบบน้ำตก(ขนาดเล็กมาก) ที่น้ำจากสระไหลตกลงไปรวมกับกระแสน้ำของ The Serpentine ที่เป็นทะเลสาบทอดยาวในอุทยานแห่งนี้.
ผืนน้ำที่เห็นจากน้ำพุตรงนี้ คือส่วนหนึ่งของ The Serpentine ที่เป็นทะเลสาบคนสร้างแห่งแรกๆของประเทศอังกฤษ คั่นพรมแดนระหว่าง Hyde Park และ Kensington Gardens เป็นผลงานของสถาปนิกสวนหลวงชื่อ Charles Bridgeman เขาให้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ River Westbourne เพื่อเนรมิตทะเลสาบแห่งนี้. The Serpentine กลายเป็นต้นแบบของการสร้างทะเลสาบในอุทยานอื่นๆทั่วไปในประเทศอังกฤษ. ในการแข่งขันโอลิมปิคปี 2012 ทะเลสาบนี้เป็นส่วนหนึ่งของสนามแข่งขันกีฬาทางน้ำด้วย.
ชมตัวอย่างสวนอิตาเลียนในสวนพฤกษศาสตร์ (Giardini Botanici Villa Taranto) ที่ Villa Taranto [ต๊ารันโตะ] บนฝั่งตะวันตกของทะเลสาบใหญ่-Lago Maggiore, เมือง Pallaza, Italy.
ผืนน้ำยาวเหยียด เชื่อมระหว่างตำหนักที่อยู่กับอาคาร Orangerie
(ที่เห็นในภาพ) ที่
Villa
Pisani [วิลละ ปิ๊ซาหนิ] (Stra, Veneto, Italy).
สนใจประวัติและวิวัฒนาการของสวนอิตาเลียน เชิญตามไปอ่านได้ในบล็อกนี้http://chotirosk.blogspot.com/2014/10/italian-garden.html
Italianate
คุณศัพท์คำนี้ในบริบทสวนหมายถึง“แบบอิตาเลียน” หรือ “ทำให้เหมือนแบบอิตาเลียน” โดยเฉพาะในยุคเรอแนสซ็องส์
ประเทศอื่นๆนิยมสร้างสรรค์สวนตามแบบอิตาเลียน. ในประเทศอังกฤษ คำนี้เน้นหมายถึงระยะเวลาครึ่งหลังในยุควิคตอเรีย (Victorian era ยุคที่พระราชินีวิคตอเรียครองราชย์ตั้งแต่ปี 1837-1901) ที่มีการสร้างสวนระเบียงทั่วไปในอังกฤษ ด้วยการจัดแบ่งพื้นที่ลาดที่เป็นเนิน ให้เป็นขั้นเป็นระดับ
มีตั้งแต่สามถึงห้าระดับ.
แต่ละระดับก็เนรมิตสวน ให้เป็นสวนระเบียงสวนหนึ่ง. การมีสวนหลายระดับทำให้มีบันไดยาวที่ทอดเชื่อมระดับต่างๆ. บันไดยาวทอดขึ้นลงนี้ก็เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของสวนอิตาเลียน.
ดูภาพตัวอย่างบันไดขึ้นลงวิลลาแห่งหนึ่ง นอกเมืองฟลอเรนซ์ ถ่ายจาก Piazzale Michelangelo.
คนอิตาเลียน กำลังขาดีมาก ขึ้นๆลงๆแบบนี้บ่อยๆ สมควรที่ต้องกินสปาเก็ตตี้ หรือพาสต้า(pasta) เป็นอาหารเรียกน้ำย่อยก่อนอาหารจานหลัก.
ดูภาพตัวอย่างบันไดขึ้นลงวิลลาแห่งหนึ่ง นอกเมืองฟลอเรนซ์ ถ่ายจาก Piazzale Michelangelo.
คนอิตาเลียน กำลังขาดีมาก ขึ้นๆลงๆแบบนี้บ่อยๆ สมควรที่ต้องกินสปาเก็ตตี้ หรือพาสต้า(pasta) เป็นอาหารเรียกน้ำย่อยก่อนอาหารจานหลัก.
-------------------------------------
Letter
J >> Jacobean garden, Japanese garden, Jardim,
Jardin anglais, Jericho.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/05/j-japanese-garden.html
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/05/j-japanese-garden.html
เมนูหนังสือ
ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html
Comments
Post a Comment