Jacobean garden
สวนจาโคเบียน. ยุคจาโคเบียนตามหลังยุคทิวเดอร์ (Tudor) อยู่ระหว่างปี 1605-1625 ในรัชสมัยของพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งแห่งอังกฤษ. แบบสถาปัตยกรรมจาโคเบียน รวมเอกลักษณ์บางอย่างของสถาปัตยกรรมกอติค กับลักษณะคลาซสิกบางแบบ. เฟอนิเจอร์ในยุคนี้นิยมใช้ไม้โอ๊คสีเข้ม. สวนจาโคเบียนยังคงเป็นสวนแบบแผน มีต้นไม้หรือพุ่มไม้(สูง)ตัดเป็นรูปลักษณ์รูปทรงต่างๆ (ดูที่คำ topiary). แปลงดินสำหรับปลูกต้นไม้
ล้อมรอบด้วยพุ่มไม้เตี้ยๆที่ตัดเป็นลวดลายพันเกี่ยวไปมา (ดูที่คำ knots). มีสวนสมุนไพรและแปลงดอกไม้ที่ปลูกภายในกรอบแบบใดแบบหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง (ที่เรียกว่า ปาร์แตร์ - parterre ดูที่คำ broderie). บางทีก็เพิ่มสิ่งก่อสร้างที่สื่อนัยอำนาจและประสิทธิภาพของน้ำ
เพราะมวลน้ำเป็นพื้นที่สะท้อนแสงที่ดีเยี่ยม. เอกลักษณ์ใหม่ที่เพิ่มเข้าไป
คือการเนรมิตถ้ำภายในบริเวณสวน.
การสร้างถ้ำตามสวนขนาดใหญ่ จึงได้แนวคิดจากสวนยุคจาโคเบียน.
ภาพจากสวนอิซุยเอ็ง
(Isuien 依水園) เมืองนารา
มุมนี้มองเห็นเนินเขาที่ล้อมรอบจังหวัดนารา. เห็นยอดหลังคาของประตูทางเข้าทิศใต้(Nandai-Mon 南大門) ของวัดหลวงพ่อโต (Todaiji 東大寺,เมืองนารา)
เนินเขาและหลังคาวัดเป็นทิวทัศน์ที่“ยืม”เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสวน.
สองภาพนี้เป็นสวนแบบญี่ปุ่นที่บรรจงเนรมิตขึ้นภายในบริเวณของสวนพฤกษศาสตร์ Kew Garden ประเทศอังกฤษ. ให้ภาพรวมของภูมิประเทศแบบญี่ปุ่นในยุคโมโมะยะมะ(Momoyama 桃山)ปลายศตวรรษที่16. จุดใจกลางของสวนนี้อยู่ที่ประตู Chokushi-Mon (直視) พร้อมหลังคาตามสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นในยุคนั้น. ประตูนี้จำลองย่อส่วนลงเป็นหนึ่งในสามของประตู Karamon (唐門) จากวัด Nishi Hongan-ji (西本願寺) ที่เมืองเกียวโต (ประตู Karamon ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติมีค่าของญี่ปุ่น). ประตูจำลองที่สวนคิวนั้น สร้างขึ้นสำหรับนิทรรศการญี่ปุ่น-อังกฤษที่จัดขึ้นเมื่อปี1910 ที่กรุงลอนดอน. หลังนิทรรศการ มีการถอดประตูนี้ลงแล้วนำไปประกอบขึ้นใหม่ ตั้งประดับในสวนคิวตั้งแต่นั้นมา.
ชมสวนตัวอย่างที่เป็นแบบฉบับสวนจาโคเบียนที่น่าสนใจมากที่
Hatfield House
Garden ตามลิงค์นี้. เมื่ออ่านความเห็นของผู้ไปชมสวนเมื่อสิบปีก่อน
ต่างผิดหวังเพราะอะไรๆที่เคยงามไม่มีที่ติ
กลายเป็นความรุ่งเรืองในอดีตที่จบลงแล้วว่างั้น. ยิ่งตอกย้ำความจริงว่า การดูแลสวนให้งามตลอดทั้งปีนั้น
ใช้กำลังเงินกำลังคนมากมาย น่าเห็นใจที่สุด. เพียงสวนหน้าบ้าน
ก็ต้องทุ่มกายทุ่มใจให้ทุกวัน. คนสมัยใหม่ที่ทำงานหาเงินทุกวัน ไม่มีเวลาแบบนั้นแล้ว
สวนหน้าบ้านที่เคยสวยเมื่อเริ่มทำ ก็แย่ลงๆจนดูไม่ได้. ในที่สุดก็เทปูนไปพื้นหน้าบ้านไปเลย เปลี่ยนเป็นที่วางรถจักรยาน ถังขยะฯลฯ. สวนอุทยานขนาดใหญ่ๆ
ต้องเปิดบริการด้านอื่นๆด้วยเพื่อหารายได้มาทำนุบำรุงสถานที่ เช่นเปิดให้เป็นสถานทัศนศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนที่มากันเป็นกลุ่มใหญ่
เปิดให้เช่าแสดงดนตรี จัดงานเลี้ยงแบบต่างๆ รวมถึงการให้ยืมสถานที่เพื่อถ่ายทำภาพยนต์. ในปัจจุบันดูเหมือนว่า HatfieldHouse ได้ปรับเปลี่ยนใช้นโยบายแผนใหม่แล้ว แบบสวนส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิม
แต่ก็มีองค์ประกอบอื่นๆที่ยกออกไป. สวนในปัจจุบันยังดูดีและน่าทึ่งไม่น้อยเลย.
พื้นที่สวนติดอาคารวัง
อยู่ต่ำลงจากระดับพื้น มองจากระเบียง ได้ภาพรวมของทั้งอาคารและสวน. ภาพของ Allan Engelhardt, 1 January 2002. (Hatfield House) [CC BY-SA 2.0],
via Wikimedia Commons.
สวนบริเวณนี้คือ Old Palace Garden ดั้งเดิมมีกำแพงปิดล้อมทุกด้าน. แบ่งแปลงสวนใหญ่ๆเป็นสี่แปลงสี่ทิศ
มีสระน้ำพุตรงกลางพื้นที่. แปลงที่เห็นมุมซ้ายมือ
จัดเป็นสวนวงกตขนาดเล็ก ไม่ปลูกอะไรไว้ภายใน ผิดจากแปลงอื่นอีกสามแปลง. ภาพของ Starlingjon, 3 October 2007
at en.wikipedia (Transferred from en.wikipedia) [Public domain] to Wikimedia
Commons.
บริเวณ East Garden มีดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร จัดพุ่มไม้ตัดรูปทรงพิเศษ(ดูที่คำ topiary) ไปตั้งตรงกลางแปลงสี่เหลี่ยมจัตุรัสและแปลงสามเหลี่ยม. ผู้ออกแบบเจาะจงให้มองจากชั้นบนของอาคาร. สวน East Garden นี้ไม่เปิดให้เข้าทุกวัน
สัปดาห์ละวันเท่านั้น. ภาพลิขสิทธิ์ของ Hatfireld House (Photograph © Hatfield House).
ภาพมุมกว้างของพื้นที่สวน
เครดิตเจ้าของภาพ > Starlingjon, 19 April
2009 at English Wikipedia [CC BY-SA 3.0]
from Wikimedia Commons.
Japanese garden
สวนญี่ปุ่นหรือ NihonTeien (日本庭園). ศิลปะการสร้างสวนของชาวญี่ปุ่น เกี่ยวคล้องเป็นเกลียวแน่นกับศาสนา. ศาสนาชินโตและศาสนาพุทธเป็นสองศาสนาที่เป็นฐานของการพัฒนางานศิลป์ทุกชนิดในญี่ปุ่น. ทั้งสองลัทธิปลูกฝังอุดมการณ์ว่า คนควรใช้ชีวิต
หลอมตัวให้สอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ. ธรรมชาติคือจิตใต้สำนึก สรรพชีวิตมีศักยภาพ
มีญาณสำนึกพร้อมที่จะโอบรับ“ความเป็นธรรมชาติ”อยู่แล้ว.
การเนรมิตสวน ในนัยหนึ่ง เพื่อให้เป็นที่สถิตของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย
ให้เป็นที่ที่คนอาจ“สัมผัสสิ่งที่เหนือกว่าความเป็นคน”. ต้นไม้ น้ำและก้อนหิน มีศักดิ์ศรีของมันและถูกยกขึ้นไว้สูงสุดในสวนญี่ปุ่น. เกิดเป็นสวนเซน(禪 หรือ Zen พุทธศาสนานิกายมหายาน)
ที่รวมความเรียบง่ายกับความพอเหมาะพอดีเข้าด้วยกันอย่างสมดุล
บรรลุความงามสง่าและสงบ ที่เชื่อมธรรมชาติกับจิตวิญญาณขั้นสูงๆไว้. สวนญี่ปุ่นมิใช่เป็นเพียงการสร้างฉากที่สอดคล้องกับค่านิยมด้านสุนทรีย์ที่ประณีตเท่านั้น
แต่ยังเป็นกระจกส่องธรรมชาติและปรัชญาญี่ปุ่นที่แยกออกจากกันไม่ได้.
สรุปหลักการสำคัญๆเกี่ยวกับการเนรมิตสวนญี่ปุ่นคือ
๑. การถอดแบบธรรมชาติและย่อส่วน
เพื่อให้ได้เห็นภูมิประเทศหลายแบบภายในพื้นที่จำกัด เช่นภูเขา ทะเล ทะเลสาบหรือแม่น้ำ. การย่อส่วนย่อขนาดลงนั้น
ยังเอื้อให้ลดความยุ่งยากซับซ้อนในการนำเสนอด้วย. ความเรียบง่ายเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดในศิลปะญี่ปุ่นเกือบทุกแขนง.
๒. การเป็นสัญลักษณ์ ที่สืบเนื่องกับศาสนาและบทบาทของศาสนาในยุคเริ่มแรกของการรังสรรค์สวนญี่ปุ่น
ถ่ายทอดอุดมการณ์และปรัชญาศาสนาด้วยวิธีการที่เรียบง่ายและสัมผัสได้ด้วยสายตาเป็นต้น
(แทนการอธิบายด้วยภาษาพูดหรือเขียนที่ไม่เป็นที่เข้าใจกันนักเพราะขาดความรัดกุมและสามัญชนขาดความรู้เจาะลึกเกี่ยวกับอักษรจีนที่ใช้
ที่เพียบด้วยนัยซ้อนนัยและบริบทอ้างอิง). ระบบสัญลักษณ์ในสวนญี่ปุ่นยิ่งย่นย่อลงไปเรื่อยๆตามกาลเวลา
เช่นหินก้อนใหญ่ตั้งโดดเด่นโดดเดี่ยวแทนเขาพระสุเมรุในวัดพุทธ หรือ Hōrai (蓬莱) ภูเขาที่สถิตของเทพแปดองค์หรือโป๊ยเซียน(八仙) ในลัทธิเต๋า. หินสองก้อน ก้อนเล็กผิวหน้าราบกว่า ข้างหินก้อนใหญ่ตั้งสูงแหลมขึ้น
แทนเต่ากับนกกระสา. แล้วต้องโยงความคิดต่อไปอีกด้วยว่า
ทั้งเต่าและนกกระสาเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืน ของความสุข. ระบบสัญลักษณ์แบบนี้ของญี่ปุ่นยิ่งทียิ่งถูกย่อลง เหลือเพียงองค์ประกอบชิ้นเดียว
ให้เป็นสัญลักษณ์แทนระบบความคิดทั้งหมด.
๓. การนำสภาพภูมิประเทศหรือสภาพแวดล้อมที่อยู่นอกพื้นที่สวนมาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการรังสรรค์สวนภูมิทัศน์แบบญี่ปุ่น
(เป็นทิวทัศน์องค์ประกอบสวนที่ยืมเข้ามาไว้ในสวน เรียกว่า borrowed
landscape หรือ shakkei 借景) เช่นอาคารวัด(หลังคาโบสถ์ที่อยู่ไกลออกไป)
เทือกเขาหรือภูเขาในถิ่นนั้น แม่น้ำหรือทะเล.
ระบบทัศนมิติของญี่ปุ่นไม่เหมือนกับทัศนมิติแบบตะวันตกที่มองจากแนวราบไปสู่จุดไกลออกไปณขอบฟ้าและองค์ประกอบเล็กลงๆ. ทัศนมิติแบบญี่ปุ่นคือแบบในจิตรกรรมจีน(จิตรกรรมฝาผนังของไทยก็เช่นกัน)
ตั้งอยู่บนความต่างกันใน“ความลึก” เป็นพื้นที่ตรงหน้า
พื้นที่ลึกเข้าไปตรงกลางและพื้นที่อยู่ไกลที่สุด.
ระหว่างพื้นที่สามระดับความลึกนี้ มีสายน้ำแทรกไว้ พื้นหญ้าหรือแนวทราย. (ขนาดของภาพที่นำเสนอ
ไม่ได้ลดลงเป็นสัดส่วนตามระยะทางดังในขนบทัศนมิติตะวันตก). ส่วนทิวทัศน์ที่ยืมเข้ามาไว้ในสวนอยู่ใน“ความลึก”ระดับที่สี่ของสวน.
หนังสือที่ต้องอ้างอิงถึงเป็นอันดับแรกเกี่ยวกับสวนญี่ปุ่น
คือเล่มที่ชื่อ Sakuteiki
作庭記 บันทึกการสร้างสวน ที่เป็นหนังสือญี่ปุ่นเล่มเก่าที่สุดที่พิมพ์ออกมาเกี่ยวกับสวน. เชื่อกันว่า Tachibana
Toshitsuna (橘俊綱, 1028-94) เป็นผู้ประพันธ์ขึ้นระหว่างกลางถึงปลายศตวรรษที่สิบเอ็ด(ในยุคเฮอัน Heian). เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะก่อนและพิมพ์เป็นเล่มในราวปี 1289. เป็นหนังสืออ้างอิงเล่มสำคัญเล่มเดียวที่ใช้กันมาหลายร้อยปี. ผู้ประพันธ์ได้เจาะจงว่า ศิลปะของการสร้างสวนภูมิทัศน์
คือการถ่ายทอดอารมณ์กวีของผู้ออกแบบที่มีต่อพื้นที่ที่จะกลายเป็นสวนในอุดมการณ์ของเขาในที่สุด. ตั้งแต่ต้นเรื่อง เขาให้ความสนใจสูงสุดกับการจัดวางก้อนหินในพื้นที่สวน และเน้นอย่างชัดเจนว่าการรู้จักจัดตำแหน่งที่ตั้งของก้อนหินในสวน(ตามสำนวนของเขาที่ว่า ishi wo tateru koto) คือศิลปะการสร้างสวนนั่นเอง. การรู้จักจัดวางหินนั้น คือ“การฟังและทำตามความต้องการของหินแต่ละก้อน”.
ภูมิประเทศแบบใดบ้างที่สมควรเอามาเป็นแบบในการสร้างสวน. ในหนังสือเล่มนี้ได้บอกเล่าไว้ห้าแบบและวิธีการจัดสวนที่สรุปมาให้คร่าวๆดังนี้
๑. สวนแบบทะเล taikai-no-yō (大海の樣) ตั้งหินให้ยื่นออกไป(เหมือนโขดหินริมฝั่งทะเล)
เอาหินที่มีขอบแหลมก้อนเด่นๆวางไว้บนเส้นขอบสระน้ำ(ที่แทนทะเล)
ให้มีหินก้อนเดี่ยวๆยื่นโผล่ออกจากบางจุดบนเส้นขอบสระ.
หินทั้งหลายนั้นควรหาที่ดูเหมือนถูกกัดเซาะด้วยคลื่นรุนแรงมาแล้ว. สวนแบบนี้จบลงกับหมู่ต้นสนบนแหลมทรายที่ยื่นลงสู่น้ำ. ในหนังสือเล่มนี้ยังเจาะจงพูดถึงสวนที่สร้างเลียนแบบชายฝั่งทะเลภาคเหนือของเกาะญี่ปุ่น
ที่เป็นโขดหินสูงชันที่ถูกทั้งลมและน้ำทะเลกัดเซาะ (แบบ araiso-no-oki 荒磯の沖) แต่ต่อมาได้ยกสวนแบบนี้ออกจากแบบสวน.
๒.
สวนแบบกระแสน้ำไหลเชี่ยวลงจากเขาสูง
yamakawa-no-yō (山河の様) สวนแบบนี้ใช้หินจำนวนมากก้อนใหญ่ก้อนเล็ก
จัดวางกระจายออก
ให้กระแสน้ำที่ไหลลงกระทบหินเหล่านี้แตกกระเซ็นไปรอบๆและแบ่งเป็นหลายสาย.
๓. สวนแบบแม่น้ำสายกว้างไหลเอื่อยๆ taiga-no- yō (大河の様) สร้างทางน้ำไหลให้เหมือนรอยบนพื้นเมื่องูเลื้อยผ่านไปแล้ว. นำหินก้อนใหญ่ที่สุด งามชัดเจนที่สุดไปตั้งตรงต้นกระแสน้ำ
ส่วนหินก้อนเล็กอื่นๆจัดตามกันลงไปในผืนน้ำที่สร้างมุมมองและบรรยากาศของสายน้ำที่ค่อยๆไหลเลี้ยวไปตามทาง. อีกวิธีหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน (ōkawa-no-yō (大河の様) คือวางก้อนหินในตำแหน่งที่กระแสน้ำเปลี่ยนมุมหรือทิศทาง ให้เห็นสายน้ำไหลเลี้ยวก้อนหินไป.
๔. สวนแบบหนองน้ำหรือบึง numaike-no-yō (沼池の樣) ปลูกไม้ดอกที่ชอบดินชื้นแฉะเช่นต้นไอริส.
น้ำในสระควรเต็มปริ่มๆรวมไว้เป็นผืนน้ำผืนเดียวกัน และควรบังช่องทางไหลเข้าออกของน้ำ
มิให้เห็นต้นตอที่มาของน้ำชัดเจนเกินไป.
๕. สวนแบบพงหญ้า ashide-no-yō (蘆手の様) มีเนินเขาไม่สูงมาก
หินสองสามก้อนจัดวางไว้ใกล้ทุ่งหญ้าหรือใกล้ผืนน้ำ. ปลูกไม้พันธุ์หญ้าแพรรี
(prairie). อาจปลูกต้นหลิวหรือต้นอื่นใดที่มองดูอ่อนโยนตามรสนิยมส่วนตัว.
เมื่อพิจารณาจากการประกอบสวนญี่ปุ่นเพื่อจุดมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงแบบหนึ่งแบบใด
อาจแบ่งสวนญี่ปุ่นออกเป็นสามสี่ประเภทใหญ่ๆ. อุทยานขนาดใหญ่
อาจแบ่งพื้นที่แยกกันและเนรมิตสวนสองหรือสามประเภท ภายในพื้นที่อุทยานเดียวกันได้.
ประเด็นที่สำคัญที่สุดของสวนทุกประเภทคือการสร้างบรรยากาศที่สงบและผ่อนคลายในสวน. และหินเป็นองค์ประกอบที่ขาดมิได้. หินที่นำไปปูพื้นเดินเชื่อมการก้าวของคน
หรือนำไปสร้างสะพานทำหน้าที่เชื่อมและแบ่งแยก. มีความหมายมากพอๆกัน. โชคดีสำหรับเกาะญี่ปุ่นเป็นเกาะภูเขาไฟ
จึงมีหินให้ใช้ไม่ขาดแคลน.
ก. สวนภูมิทัศน์ ประเภท Shizen fūkeishiki (自然風景式庭園 บางทีก็ใช้คำว่า tsukiyama 築山 ที่แปลว่า ธรรมชาติหรือโลกที่สร้างแบบย่อส่วน) คือสวนทิวทัศน์ตามธรรมชาติที่มีอยู่จริง. เป็นแบบสวนที่นำเสนอธรรมชาติในขนาดย่อส่วน
มักโยงไปถึงภูมิประเทศที่มีชื่อเสียงในประเทศจีนหรือในญี่ปุ่น. หิน(แทนเนินเขา) สายธารหรือบึงที่มีสะพาน ต้นไม้
พุ่มไม้และไม้ต้นไม้ดอกอื่นๆที่เลือกสรรอย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับสวนนั้น. ต้นไม้มักปลูกถอยไปด้านหลังเพื่อไม่ให้กิ่งก้านหรือใบบังภาพรวมของสวน. การตัดหรือดัดกิ่งและลำต้น เป็นไปเพื่อให้ต้นไม้เจริญเติบโตในรูปลักษณ์ที่ต้องการ. สวนประเภทนี้ให้คนชมสวนเหมือนชมจิตรกรรม (เรียกว่า chisen teien 池泉庭園) องค์ประกอบของสวนอ่อนโยนเหมือนคลื่นน้อยๆในบึง
รวมกันสร้างบรรยากาศที่สุขสบายและผ่อนคลาย. เป็นสวนที่คนนั่งมองจากอาคารใหญ่ในพื้นที่นั้น.
สวนประเภทนี้สร้างให้เดินเล่นก็ได้ (เรียกว่า chisen-kaiyū-shiki-teien 池泉回遊式庭園) และเมื่อออกเดินไป ก็พบมุมมองสวนที่ต่างกันไปบนเส้นทาง. การสร้างลอกเลียนภูมิประเทศนั้น
เหมือนจริงไหมนั้น
ไม่สำคัญเท่าการเนรมิตอุดมการณ์ภูมิทัศน์ภายในพื้นที่ที่จำกัดให้ได้งามที่สุด และที่เอื้อต่อการมองกลับเข้าสู่ตัวตนภายในตนเอง.
ข. สวนประเภท Chaniwa
(茶庭) หรือสวนบริเวณอาคารชาหรือเรือนประกอบพิธีชงชา. เส้นทางเดินในสวนจัดไว้อย่างมีนัยสำคัญ ที่กระตุ้นความสนใจให้อยู่ที่ก้อนหินที่ปูไปบนทางเดิน
การจัดวาง ช่วงห่างระหว่างก้อนหิน ให้สังเกตต้นไม้ที่ปลูกบนเส้นทาง. ทำให้การเดินที่มุ่งไปสู่อาคารชานั้น เป็นการเดินเพื่อปล่อยวางความหมกมุ่นใดๆ
หันไปพิจารณาทางเดิน เพ่งมองวิธีการจัดวางก้อนหินให้ก้าวเดินไป
ทำให้เกิดการสำรวมจิตใจและที่เอื้อต่อการสำรวจจิตสำนึกจนถึงการทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใสไร้อคติ
ก่อนเข้าไปในเรือนน้ำชา ไปร่วมพิธีชงชา. นอกจากนี้
มีหินขนาดใหญ่ที่เป็นแอ่งลึกลงใช้บรรจุน้ำ เคยใช้เพื่อให้เป็นที่ล้างมือ (เรียกว่า 蹲踞 Tsukubai มาจากคำกริยา 蹲うtsukubau ที่แปลว่า หมอบ ก้มลง เป็นอากัปกิริยาของความถ่อมตน. หินดังกล่าวอาจมีขนาดต่างๆกัน. แอ่งหินใหญ่ๆมักตั้งอยู่ใกล้ทางเข้าบริเวณศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ล้างมือ
อันเป็นวิธีย่นย่อของการชำระล้างตัวให้บริสุทธิ์ก่อนเข้าไปในศาสนสถาน). ปัจจุบัน แม้เรือนนำชายังคงอยู่
แต่การประกอบพิธีชงชานั้น ลดน้อยลงไปมาก
อาจต้องกำหนดนัดหมายไปกันเป็นกลุ่ม(เช่นกลุ่มสมาคมสตรี) และขอให้สวนจัดพิธีให้โดยเฉพาะกลุ่ม. ดังนั้นเรือนน้ำชา (และแอ่งน้ำลึกสำหรับล้าง) จึงไม่ได้ใช้จริงเหมือนในอดีต
แต่เปิดให้คนเข้าไปเดินหรือนั่งพักชมทิวทัศน์สวน.
อาคารชาหรือเรือนน้ำชาเรียกว่า ฉะชิสึ
(Chashitsu 茶室) เป็นกระท่อมหลังคามุงด้วยฟางข้าว
หญ้าหรือเปลือกไม้แผ่นบางๆซ้อนเกยกันไป. เรือนน้ำชาตามขนบเคร่งครัดนั้น
มีลักษณะเรียบง่ายที่สุด ภายในก็เช่นกัน ยืนยันและเน้นหลักการของความสมถะ ถ่อมตน ให้เป็นที่ที่ปล่อยลาภ
ยศ สรรเสริญลง. ตั้งแต่ประตูทางเข้าที่เตี้ยกว่าความสูงโดยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่น. ผู้ที่จะเข้าไปต้องก้มตัวลงต่ำมาก เป็นก้าวแรกของการปล่อยวาง ปล่อยความถือตนลง.(ตามไปอ่านความสำคัญของกระท่อมชาในปรัชญาญี่ปุ่นได้ในวิถีชาที่อยู่ในบล็อกตามลิงค์นี้).
Tsukubai แบบนี้จำหลักตรงกลางเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส
มีตัวอักษร ตั้งแต่ตัวบนเวียนตามเข็มนาฬิกาสี่ตัวคือ五, 隹, 足 , 矢 (อักษร 足 ตัวนี้มากับสี่เหลี่ยมที่อยู่ตอนบน ตัดออกไปแล้ว ระบบเขียนให้ไม่ได้) เมื่อรวมอักษร 囗 ที่คือสี่เหลี่ยมจัตุรัสตรงกลางที่แปลว่า ปาก เข้าไปในทั้งสี่ตัวแล้ว เกิดเป็นคำที่มีความหมายชัดเจน เป็น 吾(ข้าพเจ้า), 唯 (เท่านั้น), 足(มีเต็ม), 知(รู้) อ่านในภาษาญี่ปุ่นว่า ware tada taru shiru แปลตามตัวว่า ข้าพเจ้าเท่านั้นที่รู้เต็มที่. นัยความหมายลึกซึ้งดังที่วิเคราะห์กันไว้คือ
“สิ่งที่คนรู้เพียงพอแล้ว” หรือ “จงพอใจในสิ่งที่มี”
การตีความดังนี้สอดคล้องกับพุทธธรรมที่สอนให้อยู่ในความพอดีพอเพียง
ไม่ใฝ่หาเพิ่มพูนสมบัตินอกกาย. ภาพอ่างหินนี้จากวัดเรียวอันจิ (Ryoanji 龍安寺) เมืองเกียวโต. เครดิตภาพของ MichaelMaggs, 17 January
2004.[CC BY-SA 2.5], from Wikimedia Commons.
อ่างหินอีกแบบหนึ่งที่สวนอิซุยเอ็ง
(Isuien 依水園) เมืองนารา.
(ไม่ใช้ล้างมือแล้ว เพราะไม่มีที่ตักน้ำ
กลายมาเป็นสิ่งประดับข้างเรือนน้ำชา)
อ่างน้ำหินที่มีตะไคร่น้ำเกาะเต็ม
อยู่ข้างตะเกียงหินบนพื้น.
เห็นทางเดินบริเวณนี้ที่อยู่ข้างเรือนน้ำชา.
ให้สังเกตว่า หินแต่ละก้อนนอกจากไม่เท่ากัน
ไม่เรียบนักและวางห่างกันในระยะที่ไม่เท่ากันเสมอไป.
ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นความจงใจในการสร้างสวนและเส้นทางเดินไปยังอาคารชา. ดึงความสนใจของผู้เดินให้มองลงบนพื้น ที่จะก้าวเหยียบลงไปทุกฝีก้าว
ยิ่งสตรีสวมเกือกไม้ญี่ปุ่นด้วยแล้ว ต้องเดินอย่างมีสติ. (ปัจจุบันการล้างมือจากน้ำในอ่างหินแบบนี้ไม่ทำกันแล้ว
และอาคารชาก็ขยายพื้นที่กว้างเพื่อจุคนจำนวนมากได้ ประตูเข้าออกก็ไม่เตี้ยแล้ว) ยังมีเรือนน้ำชาตามขนบเคร่งครัดยุคก่อนอยู่อีก
มักไว้โชว์เป็นข้อมูลสถาปัตยกรรมสมัยก่อนเป็นสำคัญ. ภาพจากวัด
Sesshuji
Teien (雪舟庭園) เมืองเกียวโต.
สตรีญี่ปุ่นรุ่นก่อน
นิยมสวมชุดกิโมโนเมื่อไปร่วมพิธีชงชา โดยเฉพาะหากเป็นวาระสำคัญ.
ให้สังเกตดูการขึ้นลงเรือน การก้าวและยืนบนก้อนหิน. ไม่ง่าย!
หากไม่ระวังล้มลง นอกจากเจ็บตัว ยังน่าอายด้วยในสายตาของคนญี่ปุ่น. ภาพจากสวนอิซุยเอ็ง (Isuien 依水園) เมืองนารา.
อ่างหินรูปยาวนอกชานที่วัด
Chishakuen (智積院) เกียวโต.
ในที่สุดอ่างหินใส่น้ำปริ่มๆเป็นองค์ประกอบสวนญี่ปุ่นไปด้วย ตั้งในมุมที่ดี
น้ำสะท้อนมุมมองอื่นเพิ่มขึ้นอีก.
อ่างน้ำหินขนาดใหญ่สำหรับล้างมือก่อนเข้าสู่บริเวณศาลเจ้าโอ๊ยาหมะ (Oyama Jinja 尾山神社) เมือง Kanazawa.
ค. ประเภทสวนแห้งไม่มีน้ำเป็นองค์ประกอบเลย เรียกว่า Karesansui 枯山水[คาเร่ซังซุย](枯 แห้ง,山 ภูเขา,水 น้ำ). สวนเซนอาจมองได้จากจุดเฉพาะจุดหนึ่งหรือจากมุมมองหลายมุมที่ผู้สร้างกำหนดไว้แล้ว. เป็นสวนที่เดิมชมด้วยสายตาและความคิดกับความรู้สึก. ตากวาดพื้นที่ ความคิดเจาะนัยปรัชญาศาสนาและความรู้สึก(สงบหรือปิติ)ที่ได้สัมผัสสิ่งที่เห็นตรงหน้า. สวนเซนเป็นภาพลักษณ์ของจักรวาลดังที่พรรณนาไว้ในพุทธศาสนา. หินอาจวางเป็นกลุ่มสองหรือสามก้อนเพื่อสื่อเกาะแก่งและภูเขา
ในทะเลที่ทำด้วยทรายเต็มทั้งพื้นที่.
ผืนน้ำที่เป็นทรายถูกคราดให้เป็นคลื่นและเป็นวงๆเหมือนน้ำวนในทะเล. ไม่มีพืชพรรณมากนักนอกจากตะไคร่น้ำที่ขึ้นบนหินหรือเฟิร์นใกล้ๆหิน
บางแห่งอาจมีต้นไผ่ ต้นสนหรือต้นเมเปิลต้นใดต้นหนึ่งเพียงหนึ่งหรือสองต้นที่ตัดและดัดอย่างสวยงามและแฝงความหมาย. บางแห่งไม่มีต้นไม้เลย.
สวนเซนอาจจัดหินตั้งเป็นระบบดวงดาวบนพื้นทรายที่เป็นท้องฟ้าอันกว้างใหญ่เช่นที่วัด Tofukuji ในเกียวโต.
อีกแบบหนึ่งที่จัดพื้นดินคลุมหญ้ามอส
ฤาจะแนะว่าเป็นเกาะสวรรค์อุดมสมบูรณ์
ที่วัด Daitokuji เมืองเกียวโต
หรือบนขอบทางเดินแบบนี้ที่วัด
Daitokuji
เมืองเกียวโต
ปัจจุบัน มุมน้ำชาแบบง่าย
สะดวกและรวดเร็ว ไม่มีพิธีรีตองมาก แต่ยังมี a delicate touch of Japan พอให้ได้ปลื้ม ภาพจากวัด Shisendoo (詩仙堂) เมืองเกียวโต
ยังมีสวนที่สะท้อนจินตนาการของ แดนบริสุทธิ์ในพุทธภูมิ
(เรียกว่า Jōdoshiki
teien 浄土式庭園) โดยมีอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูป(Amida Hall) เป็นศูนย์กลาง
วัดทั้งหลังยังสะท้อนในบึงน้ำใหญ่หน้าอาคารด้วย. เป็นแบบสวนที่เป็นส่วนหนึ่งของวัดพุทธในยุคเฮอัน
(Heian, 794-1185AD) และต่อมาในยุคคามากุระ (Kamakura,
1185-1333AD).
ตัวอย่างต้นแบบที่สง่างาม
อยู่ที่วัดเบียวโดอิน (Byodo-In 平等院) ชานเมืองเกียวโต.
ที่นั่นเคยเป็นตั้งของอารามพระสงฆ์ตั้งแต่ปี 1052. มีพระพุทธรูปในท่าประทับเหนือดอกบัวบาน. เป็นพระพุทธรูปแกะสลักขนาดใหญ่สูง5.5เมตร (ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแห่งชาติ) ที่ขนานนามไว้ว่าพระอมิตาภะ
Amitabha ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานภายในอาคารใหญ่ที่เรียกว่าหอฟีนิกซ์-Phoenix Hall (มีนกฟีนิกซ์กระพือปีกกว้างประดับบนหลังคา) และมีรูปไม้แกะสลักเป็นพระโพธิสัตว์อีก52 รูป กำลังเล่นดนตีหรือรำฟ้อนในหมู่เมฆ(สรรเสริญพระอมิตาภะ)
ประดับบนกำแพงด้านหลังขององค์พระประธาน.
ตั้งแต่ศตวรรษที่17 เกิดสวนส่วนตัวของขุนนางศักดินา (daimyō teien 大名庭園)
ในยุคเอโดะ (Edo 江戸, 1608-1868). ขุนนางศักดินาหรือไดมิโย เป็นผู้มีอำนาจมาก รองจากโชกุนเท่านั้น ปกครองบริหารประเทศตั้งแต่ศตวรรษที่10 ถึงกลางศตวรรษที่19. พวกเขาเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนาและศิลปะ และเลี้ยงดูศิลปินผู้ทำงานให้เขาในด้านต่างๆ. สร้างคฤหาสน์เป็นนิวาสสถานอันใหญ่โต. การสร้างวิลลาบวกสวนขนาดใหญ่สืบต่อมาในยุคเมจิ
(Meiji 明治, 1868-1912) นักการเมืองและนักธุรกิจ ต่างสร้างสวนส่วนตัวให้เป็นรมณียสถานตามแบบสวนในยุคเอโดะ. สถานที่ทำการรัฐบาลหรือสถานเพื่อสาธารณประโยชน์เช่นพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ ตลอดจนโรงแรมใหญ่ๆ
ต่างพากันเนรมิตสวนภายในพื้นที่ด้วย. สวนมีชื่อที่ได้รับการจัดเป็นสวนดีเด่นสามสวนของญี่ปุ่น
(Nihon san meien日本三名園) เป็นแบบสวนที่เนรมิตขึ้นในยุคเอโดะทั้งสิ้น สวนสามนี้คือ สวนเก็งโรกึเอ็ง Kenrokuen (兼六園 เมือง Kanazawa), สวนโกระกึเอ็ง Kôrakuen (後楽園 เมือง Okayama) และสวนไคระกึเอ็ง Kairakuen (偕楽園
เมือง Mito).
ชมภาพตัวอย่างจากสามสวนชื่อดังของญี่ปุ่น
ข้างล่างนี้
** สวนเก็งโรกึเอ็ง Kenrokuen (兼六園 เมือง Kanazawa)
เอกลักษณ์พิเศษของที่นี่
คือการจัดทำ “เสื้อคลุม” ด้วยเชือกถักจากต้นข้าว(ฝีมือคนสวนที่นั่นเอง)
มารวมกันเป็นจุกเหนือต้นสนผู้เฒ่าและต้นเด็กอ่อน
เพื่อเป็นตัวรับน้ำหนักหิมะที่จะตกลงในฤดูหนาว ช่วยลดปริมาณหิมะมิให้ตกทับกิ่งสน. เขาเริ่มเตรียมคลุมต้นสนในสวนนั้นวันที่ ๑ พฤศจิกายนทุกปี. ตรงไปดูให้รู้ ยินดีกับต้นสนทั้งหลายที่มีผู้ดูแลดีเยี่ยม และคารวะคนสวนทุกคน. ตะเกียงหินบนขาสูงยาวๆก็เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของที่นั่น.
** สวนโกระกึเอ็ง Kôrakuen
(後楽園 เมือง Okayama)
สวนนี้จัดเหมือนสวนภูมิทัศน์
คือมีสวนหลายแบบ เป็นสวนผลไม้ สวนชา(ไร่ชา) สวนหิน สวนอายริซ สวนน้ำ และทุ่งหญ้าผืนใหญ่. เป็นสวนยอดนิยมสำหรับไปถ่ายรูปที่ระลึกเนื่องในวันมงคลสมรสเป็นต้น. ตะเกียงหินวงกลมแบบนี้ ก็มีที่นั่นเท่านั้น. เมืองนี้ขึ้นชื่อในเรื่องผลพีชสีขาว
รสอ่อนๆหวานละมุนละไม และหอมตรึงใจ.
** สวนไคระกึเอ็ง Kairakuen (偕楽園 เมือง Mito)
ภาพสวนนี้ที่เมือง Mito [หมิโต๊ะ] อาจดูโล้นๆ. ไปหลายครั้งเพื่อดูยามดอกบ้วยบาน (ume อือเมะ) ก็ไม่ได้เห็นนัก. ตั้งบนเนินสูงเหนือฝั่งแม่น้ำ ทัศนียภาพงดงาม
มีต้นสนชื่อดังจำนวนมาก(เพราะจักรพรรดิไปปลูกไว้เป็นต้น). พุ่มไม้ที่ตัดกลมๆนั้น เป็น Azelea
ยามบานคงสวยไม่น้อย. ยังมีสวนไผ่ที่น่าสนใจ. เป็นสวนที่ปลูกต้นบ้วยจำนวนมากบนเนินเขาอีกด้านหนึ่ง การตามดูดอกบ้วยบานนี่ ยากกว่าตามดูซากุระมาก ไปมาหลายแห่ง ไม่เคยสมใจ. ดอกบ๊วยหรืออือเมะ(ญ) เป็นหนึ่งในสามต้นไม้“ศักดิ์สิทธิ์” หรือมีศักดิ์ศรีเหนือต้นไม้อื่นใด ในศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น
อันมีต้นสน ต้นไผ่และต้นบ๊วย.
*****
รูปแบบของสวนญี่ปุ่นผนวกปรัชญาและแฝงนัยความหมายสัญลักษณ์ไว้ด้วยเสมอ จึงไม่ใช่แบบสวนที่โลกตะวันตกรับไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความคิดอ่านของพวกเขาได้ง่ายนัก. เช่นตำแหน่งที่ตั้งของหินก้อนใหญ่ภายในพื้นทรายที่คราดไว้อย่างเหมาะเจาะ
เพียบด้วยความหมาย. สวนญี่ปุ่นแบบนี้เป็นสวนเซน เป็นสวนทรายหรือสวนหิน
มักไม่ใช่แบบที่แพร่หลายในต่างประเทศ เพราะความจำเป็นในการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องมีการคราดทรายอย่างสม่ำเสมอ และการคราดทรายเป็นการทำสมาธิหรือการปฏิบัติธรรมแบบหนึ่งด้วย. หินที่ประดับสวนญี่ปุ่นนั้น
เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของสวนญี่ปุ่น (เลือกทั้งขนาด
รูปร่างทุกมุมมอง เนื้อหิน ลายในตัวหิน สีเป็นต้น).
การติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
ทำให้ชาวตะวันตกสนใจเนรมิตสวนญี่ปุ่นในอุทยานขนาดใหญ่ในตะวันตก
เพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นแง่คิด โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างดี
ทั้งในด้านการช่วยออกแบบวางแปลนสวนและในด้านการให้พรรณไม้ญี่ปุ่นไปประดับที่สวนนั้น. อย่างไรก็ดี
สวนญี่ปุ่นนอกพรมแดนอาทิตย์อุทัย
เป็นสวนญี่ปุ่นประเภทสวนเขียวสวนน้ำมากกว่าจะเป็นสวนเซน (แต่ก็มีในบางเมือง
บางประเทศ).
ต้นไม้ที่ปลูกในสวนญี่ปุ่นในยุคปัจจุบัน นิยมเป็นพันธุ์เดียวกันหมดในบริเวณกว้างบริเวณหนึ่ง
เพื่อสร้างเป็นฉากดอกไม้พันธุ์นั้นในฤดูใบไม้ผลิ หรือเป็นฉากสีแดงสีเหลืองและสีทองของใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วง.
ปัจจุบันการสร้างสวนขนาดใหญ่ด้วยพันธุ์ไม้ดอกพิเศษชนิดเดียว
นอกจากนำรายได้จากการท่องเที่ยวแล้ว ดอกไม้ที่ปลูกยังมีค่าทางเศรษฐกิจ เมื่อนำไปแปรรูปเป็นสินค้าประเภทต่างๆ
เช่นเครื่องสำอางค์ น้ำหอม น้ำอบ. ดอกไม้บางชนิดยังนำไปทำไวน์ได้ด้วย (เช่นดอกดาหลีญี่ปุ่น). สวนลาเวนเดอร์ที่เกาะฮ็อกไกโดเป็นตัวอย่างหนึ่ง. นอกจากนี้ มีค่านิยมว่าดอกไม้สื่อความหมายในหมู่คนญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
อาจตรงกันหรือต่างกันกับนัยที่เข้าใจกันในหมู่ชาวตะวันตก.
สวนใหญ่ๆที่เป็นสวนญี่ปุ่นตามขนบแบบแผนโบราณ มักเป็นสวนภายในบริเวณวัด ศาลเจ้าหรือวัง. ในกรณีของวัดหรือศาลเจ้า
เท่ากับชักจูงคนไปสักการบูชาเทพเจ้าหรืออริยบุคคลประจำวัดนั้นด้วย.
รายได้จากการเข้าไปชมวัดชมสวนเป็นรายได้หลักของวัดและสวนนั้น
ทำให้สามารถดูแลรักษาสวนและวัด ได้อย่างมีประสิทธิผลเต็มที่.
มีวัดหลายแห่งในญี่ปุ่น ที่ปลูกต้นบ้วย (Ume, prunus mume, 梅)
นอกจากได้ชมดอกไม้แล้ว
ลูกบ๊วยเป็นอาหาร เป็นยาและนำมาทำเหล้าบ๊วยที่เป็นเหล้าช่วยย่อยอาหารมาแต่โบราณ. ต้นบ๊วยเป็นหนึ่งในต้นไม้สามชนิดที่จัดอยู่ในหมู่ต้นไม้สำคัญ(แบบมีศักดิ์ศรีจนศักดิ์สิทธิ์)
ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น อันมีต้นสน (matsu
松 มัตสึ), ต้นไผ่ (take
竹 ตาเกะ) และต้นบ๊วย (ume 梅
อือเมะ).
รายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมสวนและต้นไม้ของญี่ปุ่นนั้น
มีมากเกินกว่าจะนำมาลงในเนื้อหาทั่วไปเกี่ยวกับศัพท์สวนนี้ได้ ต้องแยกออกไปเป็นเล่มต่างหาก.
ในที่นี้ จึงเป็นเพียงการสรุปหลักการใหญ่ๆและแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเท่านั้น
แล้วเน้นการนำไปดูสวนญี่ปุ่นที่เนรมิตขึ้นนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นสำคัญ. สวนภายในญี่ปุ่นนั้น เข้าไปดูได้ในอินเตอเน็ตเกี่ยวกับญี่ปุ่นโดยเฉพาะที่มีจำนวนมากทั้งที่เป็นเว็ปของชาวญี่ปุ่นเองและเป็นเว็ปของชาวต่างชาติ. เว็ปต่างชาติที่ดีๆให้ความรู้พื้นฐานที่เจาะลึกกว่าภาพสวยๆในเว็ปญี่ปุ่นที่มีข้อมูลไม่มากไปกว่าที่ตั้งและสภาพสวน. ตัวอย่างสองเว็ปนี้ให้ข้อมูลความรู้ที่มีประโยชน์กว่ามาก.
สองภาพนี้เป็นสวนแบบญี่ปุ่นที่บรรจงเนรมิตขึ้นภายในบริเวณของสวนพฤกษศาสตร์ Kew Garden ประเทศอังกฤษ. ให้ภาพรวมของภูมิประเทศแบบญี่ปุ่นในยุคโมโมะยะมะ(Momoyama 桃山)ปลายศตวรรษที่16. จุดใจกลางของสวนนี้อยู่ที่ประตู Chokushi-Mon (直視) พร้อมหลังคาตามสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นในยุคนั้น. ประตูนี้จำลองย่อส่วนลงเป็นหนึ่งในสามของประตู Karamon (唐門) จากวัด Nishi Hongan-ji (西本願寺) ที่เมืองเกียวโต (ประตู Karamon ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติมีค่าของญี่ปุ่น). ประตูจำลองที่สวนคิวนั้น สร้างขึ้นสำหรับนิทรรศการญี่ปุ่น-อังกฤษที่จัดขึ้นเมื่อปี1910 ที่กรุงลอนดอน. หลังนิทรรศการ มีการถอดประตูนี้ลงแล้วนำไปประกอบขึ้นใหม่ ตั้งประดับในสวนคิวตั้งแต่นั้นมา.
หลายสวนในยุโรปพยายามสร้างมุมสวนญี่ปุ่นไว้
แต่ในความเป็นจริงด้านการสร้างสรรค์แบบสถาปัตยกรรมในสวน(ที่โดยปริยายต้องจำลองและย่อส่วนลงมาก)
กับในบรรยากาศของท้องที่ บวกขนาดของพื้นที่(ทั้งสภาพแวดล้อมนอกพื้นที่ด้วย) รวมกันไม่เอื้ออำนวยให้ถ่ายทอด“ความเป็นสวนญี่ปุ่น”
ได้ชัดเจนมากนัก นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การสร้างอาคารประดับสวน มิใช่เพียงการก่ออิฐถือปูนให้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบหนึ่งลงบนพื้นที่หนึ่ง
แต่คือการจัดที่สถิตของจิตวิญญาณของวัฒนธรรมหนึ่งบนพื้นที่หนึ่ง ให้เหมาะสม
สง่างามและดลใจ.
สวนญี่ปุ่นภายในสวน Planten un Blomen (ชื่อแปลว่าต้นไม้และดอกไม้) ที่เป็นสวนสาธารณะกลางเมืองฮัมบูร์ก อาจนับเป็นตัวอย่างแบบสวนญี่ปุ่นที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งนอกเกาะญี่ปุ่น.
ต้นไม้ในบริเวณสวนญี่ปุ่นนี้
เลือกสรรและดูแลให้มีความสูง
สมมาตรกับสวนญี่ปุ่นที่เป็นแบบสวนพื้นราบมากกว่า.
แนวหินริมฝั่งน้ำ จัดทำได้สวยงาม (แม้จะดูแข็งๆอยู่มาก)
แนวต้นไม้หลังฉากก็เลือกสรรมาปลูกอย่างเหมาะเจาะ
คลองยาวโค้งลดเลี้ยวนิดๆ
นำไปถึงที่ตั้งของ“อาคารน้ำชา”
(แบบเก่าสร้างใหม่) (Chashitsu 茶室)
เรือนญี่ปุ่น ยิ่งอยู่ริมน้ำ
เป็นที่นั่งชมวิว พร้อมๆกับการดื่มน้ำชา
อาจใช้เป็นที่ประกอบพิธีชา
หรือบริการชาตามแนวปัจจุบัน
โอ่งหินใส่น้ำเต็มปริ่ม
เป็นกระจกส่องท้องฟ้า ตั้งในหมู่ก้อนหินและมวลไม้
อาจต้องการโยงไปถึงอ่างหินล้างมือ (Tsukubai 蹲踞) ก่อนเข้าสู่บริเวณศักดิ์สิทธิ์
ทางเดินในสวน
ปูกรวดก้อนเล็กไว้ ให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์แบบหนึ่งของสวนญี่ปุ่นในญี่ปุ่น อาจเป็นทางเดินริมฝั่งน้ำ
ตะเกียงหินตั้งในมุมหนึ่งพร้อมแผ่นจารึกว่า
เนื่องในวาระครบสิบปีแห่งมิตรภาพ ระหว่างเมืองท่าโยโกฮามากับเมืองฮัมบูร์กที่นับเป็นเมืองพี่เมืองน้องกัน.
เมืองโยโกฮามามอบตะเกียงหินนี้ให้เป็นอนุสรณ์เมื่อเดือนตุลาคมปี2010.
และเมื่อก้าวออกจากสวน
ก็ก้าวไปตามหินก้อนกลมตัดเรียบขนาดเสมอกันที่วางในน้ำตื้นๆ
รับกับที่นั่งกลมๆสำหรับเด็กในบริเวณนี้ได้ดี. ส่วนหินสำหรับก้าวข้ามน้ำ (stepping stones) หรือก้าวขึ้นลงจากเรือนในสวนญี่ปุ่น เป็นหินธรรมชาติขนาดและรูปลักษณ์ตามธรรมชาติหิน
เลือกเอาด้านที่ยืนได้ไม่ล้มอยู่ด้านบน หินทุกก้อนต่างกัน.
สวนญี่ปุ่นที่ Washington Park เมือง Portland, รัฐ Oregon,
USA เรียกกันทั่วไปว่า Portland Japanese Garden มีชื่อเสียงว่าเป็นหนึ่งในสวนภูมิทัศน์ญี่ปุ่นที่โดดเด่นมาก. พื้นที่กว้าง ทำให้เนรมิตและจำลองมุมสวนหลากหลายแบบ โยงใยทั้งสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมสวนกับการชมสวน
ตามความคุ้นชินของชาวญี่ปุ่น.
สวนญี่ปุ่นที่นั่นประกอบด้วยสวยย่อยแปดสวนดังภาพพื้นที่ข้างล่างนี้.
ติดตามดูภาพและรายละเอียดของสวนนี้ได้ตามลิงค์ที่ให้นี้.
ติดตามดูภาพและรายละเอียดของสวนนี้ได้ตามลิงค์ที่ให้นี้.
Jardim เป็นคำในภาษาปอรตุเกส
แปลว่า “สวน” เขียนลงท้ายด้วย m ถ้าลงท้ายด้วยตัว n เป็น Jardin
กลายเป็นคำฝรั่งเศส และหากมีสัญลักษณ์ขีดเฉียงจากขวาไปซ้ายบนตัวสระไอเป็น jardín ก็กลายเป็นคำสเปน. ทั้งสามคำในสามภาษามีความหมายเดียวกัน.
Jardin anglais
เป็นคำฝรั่งเศส
ตรงกับคำที่ใช้กันทั่วไปในภาษาอังกฤษว่า English garden. ใช้เรียกสวนที่ไม่มีแบบแผนเจาะจง
ที่อังกฤษเนรมิตขึ้นจากอุดมการณ์แนวใหม่ ที่เรียกว่าสวนภูมิทัศน์. นั่นคือสวนที่จำลองภูมิประเทศบนเส้นทางขณะที่ผู้เดิน
ชม เห็นและค้นพบเหมือนเมื่อไปเดินป่า ค้นพบมุมมอง ทิวทัศน์ใหม่จากจุดหนึ่งบนเส้นทางเดินที่ก็อาจวกวนไปมาด้วย. คำนี้ยังอาจหมายถึงทัศนียภาพสวนที่มีอาคารสิ่งก่อสร้างเป็นองค์ประกอบ. ทัศนียภาพแบบนี้เป็นเนื้อหาในจิตรกรรมที่นิยมกันมากในประเทศอังกฤษตั้งแต่ศตวรรษที่17 เช่นจิตรกรรมของ Claude
«le Lorrain» (c.1604-1682).
ตัวอย่างภาพเมือง Delphi จิตรกรรมภูมิทัศน์ของ Claude Lorrain ให้รายละเอียดและการใช้แสงสี เสนอภาพธรรมชาติในชนบทที่อุดมสมบูรณ์
และบรรจงแทรกอาคารสถาปัตยกรรมคลาซสิกเป็นพื้นหลังทั้งในระยะใกล้และไกลออกไป. เป็นภูมิทัศน์ในจินตนาการอันสวยงามของจิตรกร ไม่มีจริง. หากมีบุคคลในภาพ
การตั้งชื่อโยงถึงกิริยาท่าทางของคนเหล่านั้น
สร้างความสมจริงอิงประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาจากคัมภีร์หรือประวัติศาสตร์โลกโบราณเป็นต้น. ในภาพนี้เห็นกลุ่มคนที่ผ่านไปบนสะพานกับวัวตัวหนึ่งที่พวกเขากำลังนำไปฆ่าสังเวย. Claude Lorrain สร้างแนวโน้มใหม่ในจิตรกรรมภูมิทัศน์ตั้งแต่นั้นมา.[Public domain], via
Wikimedia Commons.
Jericho [เจริโฆ] (อยู่ภาคเหนือของทะเลทรายในประเทศอิสราเอล)
เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเมืองที่เก่าที่สุดในโลก
ที่พัฒนาจากการตั้งรกรากของชนเผ่านักล่าสัตว์ในยุคเมโสลิติกราวปี 9000 BC. และมาเป็นเมืองที่มีกำแพงหินล้อมรอบในราวปี 8000 BC. ขนาดของเมืองเจริโคทำให้คาดจำนวนประชากรได้ว่า น่าจะมีประมาณสองถึงสามพันคน. การขุดพบทรากเมืองนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรและการชลประทานแบบแรกๆของมนุษยชาติ.
---------------------------
Letter
K >> Karesansui, Kennels, Kiosk, Kitchen garden,
Knoll, Knot garden.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/05/k-knot-garden.html
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/05/k-knot-garden.html
เมนูหนังสือ
ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html
Comments
Post a Comment