Raised bed
คือแปลงดินที่ถูกยกให้สูงขึ้นกว่าระดับพื้นรอบข้าง. มักเป็นแปลงทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ด้านหนึ่ง(หรือหลายด้าน)อาจอยู่ติดรั้วแบบใดแบบหนึ่ง.
การยกระดับแปลงดินนี้
ช่วยให้น้ำไม่ขังอยู่กับที่และไหลซึมผ่านรากต้นไม้ได้สะดวกขึ้น
ซึ่งดีกับต้นไม้โดยเฉพาะในเขตหนาว เพราะน้ำที่ขังในดินทำให้อุณหภูมิในดินลดลงไปอีก
เหมือนอากาศที่หนาวและชื้นทำให้เรารู้สึกหนาวกว่าในอากาศแบบหนาวแห้งเป็นต้น.
การทำแปลงดินยกระดับขึ้นแบบนี้ ทำกันทั่วไป. สวนยุคกลางและยุคเรอแนสซ็องส์
ใช้เป็นที่ปลูกดอกไม้.
ทุกวันนี้ยิ่งมีตัวเลือกมากขึ้น
รวมทั้งยางรถยนต์เก่าก็นำมาเป็นแปลงปลูกไม้ดอกยกระดับขึ้นจากพื้น.
ภาพข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างจากเว็ปนี้
>> http://balconygardenweb.com/raised-bed-ideas-raised-bed-gardening/
ภาพจากนิทรรศการพืชสวนนานาชาติ
พื้นที่บริเวณนี้เป็นนิทรรศการของประเทศบัลกาเรีย (Bulgaria) จัดแปลงดอกไม้ในกรอบไม้ยกขึ้นเล็กน้อยจากพื้น เหมาะกับพื้นสวนที่ปูด้วยกรวดทั้งหมด. นิทรรศการปี 2012 ที่ Venlo เนเธอแลนด์.
Regency garden
เป็นแบบสวนที่นิยมกันมากในประเทศอังกฤษ (1810-1820) เป็นยุคที่มีผู้สำเร็จราชการ (the Regent) แทนพระมหากษัตริย์. คือ George Augustus Frederick ผู้เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้า
George III, ได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระราชบิดาผู้มีพระสติฟั่นเฟือนในช่วงปลายชีวิตของพระองค์
และเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้า George
IV ในปี1820. ในระหว่างที่ยังทรงเป็น Prince of Wales (ชื่อเรียกรัชทายาทผู้จะสืบบัลลังก์ของประเทศอังกฤษ) ได้แอบสมรสกับ Prinny
คาทอลิกสาวสวยสามัญชนจากเมือง Brighton
[บรัย-เทิ่น] (รู้จักและเรียกกันทั่วไปว่า Mrs. Fitzherbert) ที่เมืองไบรตัน.
เจ้าชายทรงให้สร้างขยับขยายพระราชฐาน(แบบพระตำหนักปลายนา)ให้กว้างใหญ่
และโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1815 ถึง 1824 ได้สถาปนิก John Nash [จอน แนฉฺ] มาช่วยสร้างและตกแต่งบริเวณพระราชฐานที่นั่นและโดยเฉพาะตำหนักใหญ่
the Royal
Pavilion [รอยัล เผอะวี้เลียน] ได้กลายเป็นวังใหญ่หรูหราตามสถาปัตยกรรมอินเดียอาหรับ
ประสมประสานกับศิลปะจีนที่เป็นแบบประดับภายใน. สถาปัตยกรรมนี้กลายเป็นเอกลักษณ์และแบบฉบับของยุค
รีเจนซี. (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คำ pavilion ตามลิงค์นี้)
ยุคนั้นอังกฤษและเกือบทุกประเทศในยุโรปกำลังหลงใหลศิลปวัตถุจากตะวันออก, จากอินเดียและจีน ที่เป็นผลพวงจากการเดินเรือค้าขายไปในตะวันออกและจากการล่าอาณานิคมในทวีปอื่น.
การแต่งงานลับๆของเจ้าชายถูกประกาศว่าเป็นโมฆะและพระองค์จำต้องอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง
Caroline of
Brunswick ในปี 1795. เมื่อได้ขึ้นครองราชย์ก็พยายามหย่าร้างกับพระชายา
โชคบันดาลให้พระนางสิ้นพระชนม์ลงในปี1821 เรื่องอื้อฉาวจึงค่อยสงบลง.
ส่วนแบบสวนนั้น ยังคงเป็นสวนอังกฤษแบบหนึ่ง
สวนแบบรีเจนซีนั้นใช้พุ่มไม้เตี้ยๆเป็นเอกลักษณ์เด่น. เช่นให้มวลไม้ดอกแผ่กระจายเต็มบนเกาะเล็กๆที่เหมือนปูพรมดอกไม้ไว้
หรือใช้แนวพุ่มไม้ที่ปลูกดอกไม้ไว้ เป็นรั้วเตี้ยๆแบ่งเขตระหว่างสวนสองบริเวณ.
แนวพุ่มไม้หรือแปลงดอกไม้ไม่กำหนดให้เป็นเส้นตรง ปลูกให้ลดเลี้ยวไปมา
และอาจปล่อยให้กิ่งจากพุ่มไม้ล้ำยื่นออกไปไกลจากกรอบได้ด้วย อาจเป็นพุ่มไม้ดอกหลากสี
หรือเป็นพุ่มไม้ผสมระหว่างไม้ใบเขียวไร้ดอกกับไม้ดอก.
สวนแบบนี้เหมือนจะสื่อความรักเสรีภาพ ความฝันเฟื่องที่ไม่ยอมอยู่ในกรอบกำหนดใด
ตรงกับอารมณ์หวั่นไหวของคนในยุคนั้น.
Renaissance
[เรอแนสซ็องส์] นิยมเขียนและอ่านตามแบบฝรั่งเศส แปลตามตัวว่า“การเกิดใหม่”.
คำนี้นำมาใช้เรียกศตวรรษที่15-16 เมื่อมีการฟื้นฟูศิลปวิทยาในยุโรป. การฟื้นฟูนั้นหมายถึงการนำวัฒนธรรมคลาซสิกกรีกและโรมัน
กลับมาศึกษาและปรับใช้ ให้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาศิลปวิทยาในยุคใหม่. เข้าใจกันว่า Donato Bramante (1444-1514 สถาปนิกชาวอิตาเลียน) เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาอุดมการณ์เรอแนสซ็องส์ดังกล่าว. สวนจึงสะท้อนค่านิยมแห่งยุคนั้นด้วย.
เอกลักษณ์ใหม่ของสวนคือการกำหนดจุดโฟกัสของสวนให้อยู่นอกพรมแดนสวน. นำสายตาออกไปสู่ทัศนมิติที่กว้างออกไปไกลพ้นอาณาเขตพื้นที่สวน
เหมือนที่สายตาของปัญญาชนยุคนั้นพุ่งออกไปในโลกกว้างข้างนอก พ้นพรมแดนประเทศบ้านเกิด. อุดมการณ์ยุคนี้กระตุ้นการค้นหาความจริงใหม่ๆ
และมองพินิจพิจารณามรดกจากโลกคลาซสิกกรีกและโรมันด้วยมุมมองและระบบวิเคราะห์วิจารณ์แนวใหม่.
Reserve
ใช้หมายถึงต้นไม้ที่ปลูกสำรองเผื่อใช้ในอนาคต(อันใกล้)
ส่วนใหญ่ปลูกลงกระถางไว้ภายในโรงอภิบาลพืชพันธุ์(ในเขตหนาว)หรือในบริเวณหลังสวน(ในเขตอบอุ่นกว่า). ในยุโรปโดยเฉพาะ
เมื่ออากาศดีคนไปเที่ยวสวนในฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วง.
ต้นไม้ดอกประจำฤดูกาลเหล่านี้ นำลงดินตามแปลงตามแบบเจาะจงที่คิดวางไว้แล้วล่วงหน้าสำหรับแต่ละฤดู. เมื่อเกิดอากาศแปรปรวน
ร้อนจัดหรือฝนตกชุกผิดฤดู
ต้นไม้ที่ปลูกโชว์ไว้เหี่ยวเฉาเร็วกว่าที่คาดไว้หรือตายลง ก็นำต้นไม้สำรองเข้าไปปลูกแทนที่เพื่อรักษาภาพรวมของสวนแต่ละฤดูให้นานที่สุด. ในญี่ปุ่นสวนดอกไม้ที่ปลูกไม้ดอกเป็นกอใหญ่หรือบนพื้นที่ผืนใหญ่พอสมควร
ไม้ดอกเหล่านั้นมิได้ปลูกลงดินเสมอไป
บางทีเป็นไม้ดอกที่ปลูกเตรียมไว้หรือสำรองในกระถาง(หรือภาชนะถุงปลูกต้นไม้แบบหนึ่ง)จำนวนมาก
พร้อมนำไปเปลี่ยนเข้าแทนที่กระถางดอกไม้ที่เหี่ยวทันที
เขาดูแลเปลี่ยนกระถางให้สวยเสมอๆทุกวันหรือทุกอาทิตย์
เพื่อให้ภาพรวมของกอดอกไม้นั้นสวยเสมอตลอดฤดู. คำ reserve นี้นอกจากจะหมายถึงต้นไม้สำรองแล้ว
ยังใช้หมายถึงบริเวณที่ปลูกต้นไม้สำรองอีกด้วย.
RHS หรือ Royal
Horticultural Society (ในฝรั่งเศสใช้ชื่อว่า Société Nationale d’Horticulture de
France) คือราชสมาคมพืชสวนแห่งประเทศอังกฤษ ตั้งขึ้นในปี1804 โดย Sir Joseph Banks [โจเซฟ แบ๊งคฺ] และ John Wedgwood [จอน เว็จวูด]. ชื่อสมาคมแรกตั้งนั้นคือ The Horticultural
Society of London. มีจุดประสงค์เพื่อสะสมข้อมูลเกี่ยวกับพืชพรรณ
และพัฒนาปรับปรุงแนวการเพาะปลูกพืชสวน. สมาคมฯจัดนิทรรศการดอกไม้และเทศกาลดอกไม้หลายแบบหลายลักษณะ
บนพื้นที่กว้างขวางของท่าน Duke of Devonshire. ตั้งแต่ทศวรรษที่1820 เป็นต้นมา งานดอกไม้แบบนี้เป็นที่นิยมและรู้จักกันดีในหมู่ชาวอังกฤษ.
ในทศวรรษที่1850 สมาคมประสบปัญหาทางการเงินเพราะขาดเงินรายได้. เงินบริจาคอุดหนุนจากสมาชิกของสมาคมฯ มีไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย. รายได้จากสวนของสมาคมก็ลดน้อยลง ทำให้สมาคมฯต้องขายห้องสมุดไปเพื่อกู้สถานการณ์ทางการเงินของสมาคมฯไว้. เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักเพราะมีหนังสือหายากและภาพวาดต้นฉบับเกี่ยวกับพืชพรรณจำนวนมาก. เจ้าชายอัลเบริตผู้เป็นประธานสมาคมฯในตอนนั้น ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ในปี1861 พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อสมาคมฯเป็นราชสมาคมพืชสวน The Royal
Horticultural Society และเปิดสวนแห่งใหม่สำหรับประชาชนที่เค็นซิงตัน
(Kensington) กลางนครลอนดอน ที่กลายเป็นศูนย์บริหารราชสมาคมฯตั้งแต่นั้นจนถึงปี1888. พระบรมราชานุเคราะห์ดังกล่าว ทำให้จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น มีรายได้เข้าราชสมาคมฯเพียงพอจนสามารถดำเนินงานต่ออย่างอิสระเป็นเอกเทศเต็มตัวไม่ช้าไม่นานต่อมา. ในปี1866
ราชสมาคมฯได้เหมาซื้อหนังสือสะสมจาก John Lindley ซึ่งในปัจจุบันห้องสมุด Lindley Library มีหนังสือรวมกันมากกว่า 50,000 เล่ม สิ่งตีพิมพ์ประจำอีก1,500 ฉบับและภาพวาดพืชพรรณอีก18,000 ภาพ. จึงเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือเกี่ยวกับพืชสวนที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก. ห้องสมุดนี้เปิดให้ประชาชนเข้าอ่านหาข้อมูลได้
และสมาชิกราชสมาคมฯมีสิทธิ์ยืมหนังสือออกไปอ่านนอกสถานที่ได้.
ในปี 1903 Sir Thomas
Hanbury ได้ซื้อสวนส่วนตัวของ George Fergusson
Wilson
(ผู้เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารราชสมาคมฯ) ที่ Wisley [วิซลี] (Surrey, UK) และมอบสวนนี้ให้เป็นสวนทดลองแก่ราชสมาคมฯ. สวนที่ Wisley เป็นสวนทดลองแห่งเดียวของราชสมาคมฯติดต่อมาตลอดเวลา 80 ปีกว่าแล้ว.
ในปี 1987 ราชสมาคมฯได้รับบริจาคสวนแห่งที่สองจาก Lady Anne Palmer
ชื่อสวน Rosemoor [โรซ-มอรฺ] ที่เมือง Devon [เดฟเวิน]
ตามด้วยสวนแห่งที่สามในปี1993 ชื่อ Hyde Hall [ไฮด-ฮอล] ที่เมือง Essex จากนายและนาง Dick Robinson และในปี2001
ราชสมาคมฯได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกับสมาคมพืชสวนภาคเหนือ (the Northern
Horticultural Society) จึงกลายเป็นผู้บริหารสวน Harlow Carr [ฮารฺโลวฺ คารฺ]
ที่ตั้งอยู่ชานเมือง Harrogate [แฮ้เรอกิต] (North Yorkshire, UK).
ปี1904 เป็นปีครบรอบร้อยปีของการสถาปนาราชสมาคมพืชสวน ทางราชสมาคมฯได้เปิดสถานที่ทำการแห่งใหม่ รวมทั้งศูนย์นิทรรศการที่
Vincent Square. ต่อมาในปี1928 ได้เปิดหอนิทรรศการแห่งใหม่อีกแห่งหนึ่งชื่อ
New Hall
ในบริเวณใกล้เคียงกัน. หอนิทรรศการทั้งสองแห่งนี้ เป็นที่จัดแสดงดอกไม้แห่งกรุงลอนดอน (London Flower Show). เมื่อราชสมาคมฯ ย้ายออกจาก Kensington ในปี1888 นั้น
งานแสดงดอกไม้ฤดูใบไม้ผลิ ย้ายไปจัดที่ Temple Garden และในปี1913 เป็นต้นมา
ย้ายไปจัดในพื้นที่ของโรงพยาบาลหลวงที่เช็ลซี (the Royal
Hospital at Chelsea) และจัดที่นั่นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่นั้นมา
เรียกว่า Chelsea Flower Show.
ราชสมาคมฯได้ส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าตามแนววิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาการเพาะปลูกพืชสวนให้มีประสิทธิภาพ
ตั้งแต่การวิเคราะห์วิจัยปุ๋ยในทศวรรษที่1840 จนถึงการศึกษาด้านพันธุกรรมพืชพรรณในปัจจุบัน
และการหาวิธีตั้งชื่อเรียกพืชพรรณใหม่ๆที่เพาะปลูกขึ้นได้.
เช่นนี้จึงเกิดการพิมพ์หนังสือว่าด้วยการจัดแบ่งเข้ากลุ่มชื่อของดอกพันธุ์แดฟฟอดิลอย่างเป็นระบบในปี1908. งานวิจัยอย่างต่อเนื่องในด้านนี้ ทำให้ราชสมาคมฯกลายเป็นผู้นำในการจัดระบบการลงทะเบียนชื่อพืชพรรณของโลก
(the International Registration Authority).
ปัจจุบัน ราชสมาคมฯยังคงเป็นองค์การกุศลที่เป็นผู้นำในด้านการพัฒนาพืชสวนและการส่งเสริมการปลูกสวนอย่างมีประสิทธิภาพ. มีกิจกรรมด้านวิทยาการวิเคราะห์และการศึกษาอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง. ราชสมาคมฯได้กำหนดยุทธศาสตร์สามปีเพื่อสร้างค่านิยมในการเพาะปลูกพืชสวนในวิถีชีวิตปัจจุบัน
และช่วยให้ประชาชนได้ผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากสวนและจากการลงมือทำสวน
โดยเริ่มตั้งแต่การสอนให้เด็กๆในราชอาณาจักร รักและดูแลต้นไม้ดอกจนลงมือทำสวน
การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อระบบนิเวศเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและเพื่อจรรโลงวัฒนธรรมการปลูกสวนของอังกฤษ
นอกจากนี้ก็มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนสมาชิกของราชสมาคมฯให้มากที่สุด ด้วยการเผยแพร่อุดมการณ์ของราชสมาคมฯ
รวมทุกคนเข้าด้วยกันในค่านิยมเดียวกัน.
Ride
เป็นเส้นทางที่ตัดผ่านป่า มีต้นไม้ขนาบสองข้าง.
ในสวนอังกฤษขนาดใหญ่ๆ
ride เป็นทางม้า สำหรับการขี่ม้าชมป่า
โดยปริยายป่านั้นจึงเป็นป่าที่คนบุกเบิกและปราบทางไว้แล้ว.
Riding
หมายถึงทางหรือถนนที่เตรียมสำหรับให้ม้าหรือรถเทียมม้าผ่านไปมา
มีต้นไม้ใหญ่ขนาบสองข้าง เป็นทาง ride ที่ร่มรื่น. เส้นทางสำหรับการขี่ม้าหรือสำหรับรถเทียมม้า มักเลียบไปตามพรมแดนที่ดิน
ที่อาจรวมไปถึงถนนนอกรั้วนอกที่ดินนั้นด้วย.
การทำทางแบบนี้เหมือนการขยายสวนออกไปสู่บริเวณใกล้เคียง
เป็นการจัดการถนนรอบนอกอาณาบริเวณให้เหมือนกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สวนด้วย.
Rill
หมายถึงธารน้ำเล็กๆที่คนสร้างขึ้นเป็นองค์ประกอบสวน.
อาจให้ไหลไปเป็นเส้นตรง หรือไหลคดเคี้ยวไปตามทางที่จัดไว้.
การจัดทำธารน้ำไหลนั้นอาจทำให้สายน้ำไหลเอื่อยๆหรือเร็วได้
ขึ้นอยู่กับการจัดพื้นที่ของท้องน้ำให้เป็นพื้นที่ราบเรียบเสมอกัน หรือให้เป็นพื้นขรุขระมีกรวดวางขวางเป็นระยะๆ
หรือทำเป็นขั้นบันไดเป็นต้น. สวนน้ำอนุสรณ์ Diana Memorial fountain ใน Kensington Gardens เป็นตัวอย่างที่ดี
น้ำไหลผ่านท้องน้ำที่มีลักษณะต่างๆกัน สร้างภาพไหลของน้ำแบบต่างๆกัน
สื่อนัยลึกซึ้งที่โยงไปถึงขั้นตอนชีวิตของเจ้าหญิงไดแอนา. สนใจตามไปดูภาพได้จากบล็อกเจ้าหญิงที่ลิงค์นี้.
สามภาพนี้จากสวนภายในราชอุทยาน Hofgarten
Eremitage เมือง Bayreuth ประเทศเยอรมนี.
ธารน้ำเล็กๆ ทอดจากบนเนินสูงสู่ที่ต่ำ โดยเริ่มด้วยการทำเป็นน้ำตกเล็กๆ
แล้วไหลลงตามธารแคบๆและยาวเป็นเส้นตรง พื้นที่จัดเป็นหลายระดับ แต่ละระดับจัดให้สายน้ำไหลผ่านลงสู่สระทรงกลม
แล้วจึงไหลต่อเป็นเส้นตรงลงไปเรื่อยๆ.
ภาพแรกถ่ายจากปลายเนินขึ้นสู่บนเนินสูงที่เห็นลิบๆ และไปต่อเป็นแนวเดียวกับสระน้ำตรงหน้าตำหนัก
Altes Schloss. นั่นคือน้ำจากสระตรงหน้าตำหนักดังกล่าว
ไหลลงเป็นทางยาวแคบๆสู่ที่ต่ำ ไปรวมกันที่อ่างเก็บน้ำ.
เส้นทางน้ำไหลมุมหนึ่งในเมือง
Ansbach
(Bavaria, Germany).
ทางน้ำไหลเล็กๆเชื่อมต่อสระสองแห่ง
ในอุทยานปราสาทแอ๊นนิก-Alnwich Castle (ปราสาทเก่าที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่11 ใน Northumberland, UK). ปราสาทนี้เป็นที่ถ่ายทำภาพยนต์เรื่อง Harry Potter หลายตอน รวมทั้งเป็นฉากในภาพยนตร์เรื่องอื่นๆอีกเช่นเรื่อง Elizabeth, เรื่อง Robinhood:Prince of Thieves.
River
แม่น้ำ. ในบริบทสวน แม่น้ำเป็นปัจจัยหลักที่สร้างภาพรวมของสวน เพื่อให้แม่น้ำเป็นไปตามที่สถาปนิกสวนต้องการ
อาจมีการปรับพื้นที่ เปลี่ยนกรอบทางไหลของแม่น้ำให้แคบเข้าหรือกว้างออก จนอาจเบนทิศทางการไหลของแม่น้ำ
โดยปริยายแม่น้ำหรือทางน้ำในสวนขนาดใหญ่ๆ
จึงเป็นผลงานเนรมิตอย่างหนึ่งของสถาปนิกสวน.
Rocaille
[เราะกาย] เป็นคำฝรั่งเศส มาจากคำว่า roc หมายถึงหิน ผาหิน
และพัฒนาขึ้นเป็นคำ roquailles ในศตวรรษที่15 และตั้งแต่ปี1658 สะกดเป็น rocaille ในความหมายที่สืบต่อมาถึงปัจจุบันว่า
หินที่คลุมบนพื้น หรือพื้นที่หนึ่งที่เต็มไปด้วยหิน. โดยปริยาย หมายรวมถึงงานเรียงหิน เรียงกรวดบนพื้นที่หนึ่ง
(ดูรายละเอียดที่คำ pebblework)
Rockery
เรียกพื้นที่ที่ประดับด้วยหินทั้งขนาดใหญ่และเล็ก เป็นการสร้างสภาพพื้นที่ให้เหมาะกับการเพาะปลูกไม้พันธุ์ที่ขึ้นแทรกในหมู่หินกรวดบนภูเขา
เช่นพืชพรรณที่ขึ้นบนเทือกเขา Alps และเทือกเขาหิมาลัยเป็นต้น. เรียกพรรณไม้จำพวกนี้ว่า rock plants.
Rock garden
สวนหิน. ในบริบทสวนยุโรป คือสวนที่เพาะเลี้ยงและปลูกพืชพันธุ์ที่เกิดในภูเขาสูง. สถาปนิกสวนหิน เนรมิตพื้นที่สวนโดยเลียนแบบภูมิประเทศของหุบเขาสูงในธรรมชาติเช่นสร้างสภาพเทือกเขา
Alps. ผู้ดูแลสวนหินมีหน้าที่ถนอมอนุรักษ์พรรณไม้ดอกอันเปราะบางที่เกิดบนหุบเขาสูงด้วย. เกิดเป็นสวนอัลพายน์-Alpinegarden. (ดูที่คำนี้ตามลิงค์)
ความคิดในการเนรมิตสวนหินในยุโรปนั้น เริ่มขึ้นในยุควิคตอเรีย. ยุคนั้นมีการสร้างถ้ำจำลองเพื่อประดับสวน. ได้จุดประกายความคิดต่อไปถึงการสร้างสวนที่แสดงแบบภูมิประเทศในเขตต่างๆของโลก.
ประเทศที่อยู่ห่างไกลจากเทือกเขา Alps เช่นอังกฤษ
จึงเนรมิตสวนอัลพายน์ Alpine garden ประดับสวนอังกฤษบ้าง. เป็นที่ทราบกันดีว่า หุบเขาสูงในเทือกเขา Alps เป็นที่หลงใหลติดอกติดใจของจิตรกรยุโรป
รวมทั้ง
William Turner จิตรกรเอกของอังกฤษ
ผู้เดินทางผ่านเข้าไปในประเทศสวิสเซอแลนด์ สภาพธรรมชาติและพื้นที่ ได้ดลใจ W.Turner ยิ่งนัก เขาได้วาดภาพทิวทัศน์จากมุมมองต่างๆในสภาพอากาศแบบต่างๆตลอดเส้นทางเป็นจำนวนมาก.
ผลงานดังกล่าวเมื่อเผยแพร่สู่ปวงชนในอังกฤษ ทำให้ชาวอังกฤษยิ่งนิยมชมชื่นฝันใฝ่ไปเยือนลักษณะภูมิประเทศแบบขุนเขาสูง.
ผู้คนเริ่มเดินทางท่องเที่ยวไปในเทือกเขา Alps มากขึ้นๆ.
การสร้างสรรค์สวนหินแบบยุโรปขยายออกไปทั่วทั้งเกาะอังกฤษและยังคงนิยมกันเรื่อยมา.
สองภาพนี้จาก Rock garden ในสวนพฤกษศาสตร์เมืองเอดินเบิร์ก สก็อตแลนด์
สวนหินที่สวนพฤกษศาสตร์กรุงแบร์ลิน เยอรมนี
สวนหินสร้างภูมิประเทศแบบหนึ่ง
ในบริเวณสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่
ที่กรุงแบร์ลิน เยอรมนี
สวนหินที่ Kew Gardens (London)
พึงแยกแยะว่า
สวนหินยุโรปไม่มีอะไรเหมือนกับสวนหินจีนหรือญี่ปุ่น
นอกจากการมีหินเป็นองค์ประกอบเหมือนกันเท่านั้น. นอกจากจัดสวนให้เหมือนภูมิประเทศในแถบเทือกเขา Alps แล้ว ชาวยุโรปยังนำเข้าพันธุ์ไม้จากที่นั่นและจากแถบภูเขาสูง.
พันธุ์ไม้หลักคือจำพวก ferns
[เฟิน] ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในสวนหิน. ต่อมาในยุคหลังๆ เพิ่มไม้พันธุ์สนเข้าไปในสวนหินด้วย.
สนที่ปลูกนั้นส่วนใหญ่เป็นจำพวก dwarf
conifers คือพันธุ์เตี้ยเล็ก. conifers เป็นต้นไม้ที่ให้ผลที่มีรูปทรงเป็นโคนเรียกโคนสน(cone).
สนมีหลากหลายสายพันธุ์มาก. ต้นแปะก๊วยก็นับอยู่ในตระกูลนี้, ต้นซีดาร์ (cedar) ก็เช่นกัน.
ปกติต้นไม้ประเภทนี้สูงใหญ่และอายุยืนได้ถึงหลายร้อยปี.
ปัจจุบันมีการนำหินหลายแบบหลายลักษณะและหลายสีเข้าประดับในสวน
อีกทั้งมีวัสดุที่เกี่ยวเนื่องกับหินเพิ่มขึ้นอีกมากด้วย เช่นหินเทียม pulhamite. หินเทียมมีส่วนกระตุ้นการเนรมิตสวนหินให้แพร่หลายทั่วไปในยุโรป
จนดูเหมือนว่าสวนพฤกษศาสตร์ทุกแห่งของทุกประเทศในยุโรปต้องมีมุมสวนหิน. สนใจดูสวนหิน
(Sanspareil) ที่ไม่เหมือนใครในเยอรมนี
ตามไปดูได้ที่บล็อกนี้ >>
http://chotirosk.blogspot.com/2014/08/blog-post_29.html
Rockwork
คืองานที่ทำจากหิน เป็นผลงานรูปแบบต่างๆ.
การใช้หินประดับตกแต่งสวนนิยมกันแพร่หลายโดยเฉพาะในศตวรรษที่18
คล้อยตามแนวโน้มของศิลปะแบบใหม่ที่เรียกว่า rococo [โร้โกโก].
การใช้หินวนเวียนอยู่กับการเนรมิตถ้ำ
น้ำตกเป็นสำคัญ.
บางทีก็รวมไปถึงการสร้างประตูอาร์ค (arch/arc) การสร้างอาคารสลักหักพังแบบคลาซสิกประดับสวน. ตั้งแต่ปี1750
เป็นต้นมาการใช้หินมาสร้างภูมิประเทศแบบย่อส่วนแบบต่างๆเพื่อประดับสวน เพิ่มมากขึ้น.
การใช้หินสิ้นเปลืองมากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่มีหินสวยๆ
ต้องนำเข้าจากประเทศอื่น ต้องเสียค่าขนย้ายและค่าแรงงานสูง.
Rococo
[โร้โกโก] เป็นคำฝรั่งเศส มาจากคำว่า rocaille
เป็นทัศนศิลป์แบบใหม่ที่มองว่าสวย เก๋ รูปลักษณ์ดูไม่สมดุล แต่ชวนหลงใหลชวนให้คล้อยตาม
ให้ความรู้สึกระรื่นเหมือนเมื่ออยู่ใกล้คนขี้เล่นที่ชอบหยอกชอบเย้า และบางทีก็ทำให้นึกรู้ว่า มีความตั้งใจจริงแฝงอยู่เบื้องหลังความขี้เล่น. สไตล์ร็อคโกโกเริ่มขึ้นกลางศตวรรษที่18
อาจนำรูปลักษณ์มาจากแบบสถาปัตยกรรมหลายแบบมาผสมผสานกัน เช่นจากแบบกอติค แบบจีน หรือแบบ“บ้านนอก”(rustic). ตัวอย่างเช่น แทนการเนรมิตสระน้ำทรงสี่เหลี่ยมหรือทรงกลมที่เห็นกันมา
กลับทำทรงหัวใจแทนเป็นต้น.
การออกแบบในยุคปัจจุบันได้หวนกลับไปสู่รูปลักษณ์แปลกๆของ rococo ในอดีต
เน้นความสะดุดตาที่ไปผลักดันวิสัยทัศน์ให้กว้างไกลและ กระตุ้นความฝัน.
ในวัฒนธรรมการสร้างสวนของเยอรมนี คำ rococo นี้เคยใช้หมายถึงสวนที่แบ่งย่อยเป็นหลายสวน
โดยที่แต่ละสวนมีผังที่ค่อนไปทางแบบแผน แต่สร้างอาคารสถาปัตยกรรมแบบ rococo
ภายในบริเวณสวนย่อยแต่ละแห่ง.
อาคารนั้นอาจเป็นอาคารแบบจีน เป็นซากสลักหักพังแบบโบราณ(ที่เนรมิตให้ดูคล้าย)
หรือมีรูปลักษณ์ของ grotesque ประดับเป็นต้น.
ในที่สุดสวนส่วนใหญ่ในเยอรมนี เรียกกันว่าเป็นสวนบาร็อค มีองค์ประกอบประดับในสไตล์ร็อคโกโก.
อาคาร Orangerie
(sic) ที่อุทยาน Eremitage
เมือง Bayreuth
เยอรมนีนี้ สร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมคลาซสิก แต่การตกแต่งประดับด้วยกรวดหินสีๆ
ตลอดจนการเคลือบสีทองรูปปั้นทั้งหลาย ห่างไกลจากความเรียบง่ายและงามสง่าของ“ความเป็นคลาซสิก”. เป็นศิลปะที่แปลกแหวกแนว เหมือนปฏิกิริยาต่อต้านอะไรที่เป็นกรอบเป็นแบบแผน. เป็นรสนิยมเฉพาะในยุคศตวรรษที่18-19 ในเยอรมนี(และบางประเทศในยุโรปตะวันออกเช่นอดีตประเทศเช้คโกสโลวาเกีย). ตัวอย่างอาคารในภาพข้างบนนี้ ไม่เป็นที่ชื่นชอบกันนัก ขัดกับรสนิยมของชาวยุโรปตะวันตกอื่นๆที่ชอบแบบเรียบ งามขรึมเป็นต้น.
ลวดลายประดับบนผนังห้องและเพดาน เคลือบสีทอง
มีตัวปุ๊ตติสีขาวๆประดับแบบนูนสูงบนเพดาน.
สไตล์แบบนี้คือเป็นแบบร็อคโกโก (rococo). ภาพจากปราสาท Altes Schloss (Eremitage), Bayreuth เยอรมนี.
กรอบรูปแบบคลาซสิกเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สามเหลี่ยม วงกลม วงรี, นั่นคือเป็นรูปลักษณ์เรขาคณิตแบบใดแบบหนึ่ง. กรอบรูปที่เห็นในภาพนี้เป็นแบบร็อคโกโก.
กรอบรูปแบบคลาซสิกเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สามเหลี่ยม วงกลม วงรี, นั่นคือเป็นรูปลักษณ์เรขาคณิตแบบใดแบบหนึ่ง. กรอบรูปที่เห็นในภาพนี้เป็นแบบร็อคโกโก.
สังเกตแถบลวดลายสีขาวขลิบทอง
เหมือนแถบเชื่อมพื้นที่ของผนังห้องกับเพดานที่ประดับด้วยจิตรกรรมเฟรสโก้. เฟรสโก้มีต่อไปทั้งเพดานในห้องนั้น(มองไม่เห็นในภาพนี้). ในศิลปะคลาซสิกหรือนีโอคลาซสิกหรือศิลปะยุคเรอแนสซ็องส์ กรอบเป็นเส้นตรงแบ่งส่วนแบ่งพื้นที่
ชัดเจน.
หากจะประดับขอบเพดาน สิ่งประดับก็อยู่ภายในพื้นที่ของขอบเพดาน. นี่เห็นชัดว่า ลวดลายขาวๆขลิบทองแทรกเข้าไปในพื้นที่ของเพดาน
ล้ำเข้าไปในพื้นที่ของจิตรกรรมเฟรสโก้. ตัวปุ๊ตติที่ประดับบนแถบลวดลายของขอบ
เป็นรูปจำหลักนูนสูง เหมือนจะกระโดดลอยตัวออกมาในนาทีใดนาทีหนึ่ง. นี่คือสไตล์ร็อคโกโก. สองภาพนี้จากภายในปราสาท Nymphenburg
เมืองมิวนิค เยอรมนี.
Roman Empire จักรวรรดิโรมันสถาปนาขึ้นแล้วอย่างมั่นคงในปลายศตวรรษที่1BC. มีอำนาจและอิทธิพลเหนือประเทศที่อยู่รอบฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียนเกือบทั้งหมด. ต่อมายังขยายขึ้นไปในภาคเหนือของยุโรป ไปถึงเกาะอังกฤษ. อาณาจักรโรมันเริ่มเสื่อมในศตวรรษที่3AD. และสลายตัวลง(โดยปริยาย)ในปี
395AD. เมื่อโรมถูกแบ่งแยกออกเป็นจักรวรรดิโรมันตะวันออก(มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอิสตันบูล)
และจักรวรรดิโรมันตะวันตก(มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม) แต่อะไรๆที่เป็นแบบโรมัน ยังคงเป็นที่อ้างอิงมาจนถึงทุกวันนี้.
Roman gardens
สวนโรมัน. การขุดค้นทางโบราณคดีศึกษา
ให้ความรู้เกี่ยวกับสวนโรมันว่ามีหลายแบบ เป็นสวนเฉพาะภายในแต่ละวิลลา(villa) มีรั้วล้อมปิดกั้นจากภายนอก.
มีอาคารที่อาศัยล้อมรอบสวน หรือมีเสาระเบียงเรียงรายล้อมรอบลานสวนในบ้าน (peristyle garden). สวนโรมันอีกแบบหนึ่งสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่เทพองค์ใดองค์หนึ่ง
เรียกว่าเป็นสวนศักดิ์สิทธิ์ (sacred
garden). สวนโรมันอีกแบบ เป็นพื้นที่โล่งกว้าง มีป่า มีหลายอาคารตั้งแยกย้ายกัน
และมีร้านต้นไม้เลื้อยที่สร้างขึ้นประดับตามจุดต่างๆในพื้นที่นั้น. เอกลักษณ์สำคัญของสวนโรมันทุกแบบคือ
การมีต้นไม้และรูปปั้นประดับจำนวนมาก มีถ้ำ
น้ำและสระน้ำเป็นองค์ประกอบที่ขาดเสียมิได้.
----------------------------------------
R-2 >> Ruins, Romantic, Rondpoint, Roof garden, Room,
Rosarium (rosary, rose garden), Root house, Rotunda, Royal park/garden, Rustic,
Rustification.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/r-2-roof-garden.html
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/r-2-roof-garden.html
เมนูหนังสือ
ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html
Comments
Post a Comment