B-1 Balustrade

LETTER B
Back yard เป็นคำอเมริกันที่ใช้เรียก back garden (ดูที่คำนี้). ปกติสวนหลังบ้านเป็นพื้นที่ใช้สอยของครอบครัว เช่นเก็บของ หรือเป็นที่ตากเสื้อผ้าเป็นต้น. ความหมายของสวนหลังบ้านในบริบทอเมริกันเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน มากกว่าเพื่อทำสวนปลูกต้นไม้ประดับบ้านอย่างที่ชาวอังกฤษนิยมทำกัน.

Bagh เป็นคำในภาษาเปอเชียแปลว่าสวน”. สวนเปอเชียเป็นต้นแบบของสวนอาหรับที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วควบคู่กับการแผ่ศาสนาอิสลามตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา.  สวนเปอเชียเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัส มีรั้วล้อมทั้งสี่ด้าน มีธารน้ำไหลตัดพื้นที่สวนและแบ่งเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อย 4 สวน ตรงจุดกลางของสวนเป็นที่ตั้งของสระน้ำหรือประติมากรรมน้ำพุ. เรียกสวนเปอเชียนี้ว่า Chahar bagh [จาฮา บ๊าก] ถือว่าเป็นแบบสวนที่มั่นคง มีเอกภาพและเป็นภาพลักษณ์ของความเป็นระเบียบ สื่อความร่มเย็น  ชีวิตนิรันดร์และความอุดมสมบูรณ์ภายในรั้วรอบขอบชิด. สวนทุกแห่งไม่ว่าจะอยู่ภายในบ้าน วัง หรือเมือง เป็นแบบ Chahar bagh เสมอ (ดูที่คำ Arabian garden)
แผนผังพระราชอุทยาน Het Loo [เฮ็ดโล] ในประเทศเนเธอร์แลนด์.  แบบแปลนของสวนนี้ถือกันว่าเป็นแบบแปลนสวนดัตช์บาร็อคที่สวยงามสมดุลที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง. เห็นชัดเจนว่า รูปลักษณ์เรขาคณิตทั้งสี่เหลี่ยม วงกลม ครึ่งวงกลม เป็นพื้นฐานของสถาปัตยกรรมไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่. บ้างพูดว่า แบบแปลนเหมือนของพระราชอุทยานแวรซายส์ในฝรั่งเศส. แต่นักวิจารณ์กลับเน้นให้เห็นว่ามีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของสวนดัชแท้ๆ โดยเฉพาะในภาพรวมของสวน ที่คลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดเมื่อเทียบกับพระตำหนัก. แต่การเนรมิตสวนในแบบที่เห็นนี้ มิได้ทำให้รู้สึกว่า สวนข่มทัศนียภาพรอบข้าง แต่เป็นเพียงพื้นที่ปิดล้อมในอ้อมอกของป่าทึบ เหมือนเป็นที่หลบที่พักส่วนตัว, ตรงข้ามกับพระราชอุทยานแวรซายส์ที่คนเดินสวนถูกข่มเหลือเพียงอณูหนึ่งที่ไร้ความหมายภายใต้อานุภาพแสงอาทิตย์ที่มีพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่เป็นตัวแทน. ในศตวรรษที่สิบแปดสิบเก้า พระราชอุทยานถูกรื้อเปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็นสวนภูมิทัศน์ จนถึงปี1970 จึงได้เริ่มการบูรณะรื้อฟื้นปรับเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมดให้กลับสู่แบบแปลนสวนที่ Daniel Marot เป็นผู้ออกแบบในปี1684 ในสมัยของWilliam III เจ้าชายแห่งตระกูล Orange.  การบูรณะฟื้นฟูสวนที่นั่น เป็นพยานของความสนใจในประวัติศาสตร์สวนที่ไม่ถดถอยลงไปเลยในหมู่ชาวยุโรป. ภาพนี้จากเอกสารแผ่นพับที่แจกให้คนเข้าชมสวนที่นั่นภาพอุทยาน Het Loo เป็นตัวอย่างในหัวข้อนี้ ชี้ชัดถึงอิทธิพลแบบสวนเปอเชียในแบบสวนยุโรป.

Bailey เป็นพื้นที่เปิดโล่งภายในกำแพงของปราสาท บางทีก็เรียกว่าลานปราสาท  ในยุคกลาง พื้นที่โล่งบางส่วนใช้เป็นที่ปลูกไม้ดอกไม้ผล เป็นสวนภายในกำแพงปราสาท (castle garden)  คำที่ใช้คู่กับคำ bailey คือ motte-and-bailey ซึ่งหมายถึง ปราสาทแบบหนึ่ง ตั้งบนเนินดินสูง (motte) ที่อาจเป็นเนินดินธรรมชาติหรือเนินดินที่คนสร้างขึ้นด้วยการถมดินให้สูงเป็นเนิน. บนยอดเนินมีหอสูง สร้างจากไม้หรือหิน เรียกหอบนเนินดินนี้ว่า a keep เป็นจุดยุทธศาสตร์. ปกติมีกำแพงล้อมรอบบนเนิน พื้นที่โล่งว่างระหว่างกำแพงและหอคอยเรียกว่า ลานปราสาทด้านใน (bailey). ที่ดินโล่งว่างที่อยู่ใต้เนินและมีกำแพงไม้ปักเป็นแนวยาวโดยตลอด ก็เรียกว่า bailey เช่นกัน มักแบ่งทำเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าผู้รับใช้ รวมทั้งนายช่างประเภทต่างๆเช่นช่างเหล็ก ช่างโม่ ช่างไม้และช่างฝีมืออื่นๆที่จำเป็นในวิถีชีวิตของคนยุคกลาง. ปราสาทใหญ่หลังหนึ่งอาจมีพื้นที่ลานแบบนี้หลายแห่ง เช่นที่พระราชวัง Windsor Castle. ปราสาทแบบนี้ที่เหลือมาให้เห็นในปัจจุบัน สร้างขึ้นในต้นยุคกลาง (ศตวรรษที่ 11-12) เป็นสถาปัตยกรรมแบบง่าย สร้างได้เร็วและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการจู่โจมของข้าศึกกลุ่มเล็ก. 
ภาพแบบจำลองปราสาทแบบ motte-and-bailey ถ่ายมาจาก Musée de la Tapisserie de Bayeux ในมณฑล Basse Normandie ประเทศฝรั่งเศส. ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Motte-and-bailey  นำลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2005 ไม่ปรากฏนามเจ้าของภาพ. [Public domain].
แผนผังของปราสาท Windsor Castle ในประเทศอังกฤษที่ Batty Langley ทำขึ้นในปี 1743.  ตรงกลางของพื้นที่ปราสาท วงกลมใหญ่คือเนินดินทรงกลม(1)(motte) มีหอทรงกลมกลางเนินดินนั้น(2) (keep) มีลานปราสาทสองแห่งที่เห็นเป็นเส้นดำเข้มๆ(3). ด้านซ้ายเป็นพื้นที่กว้างใหญ่อยู่บนระดับพื้นเป็นที่ตั้งของวัดชื่อ St. George’s Chapel(4) และเป็นห้องอเนกประสงค์หรือห้องเฉพาะกิจรวมทั้งห้องพักอาศัยของบุคลากร. ด้านขวาเป็นลานแคบติดกำแพงที่ปิดล้อมเนินดิน. จากบันไดด้านหนึ่ง(5)ไปทางขวา พื้นที่ระดับพื้นที่อยู่ด้านขวาตอนบนของแผนผังนี้ เป็นที่ตั้งของห้องต่างๆที่เป็นพระตำหนักหลวง(6) ส่วนตอนล่างของผังด้านขวานี้เป็นห้องชุดส่วนตัว(7). ลานหรือสนามกว้างใหญ่(8)แบ่งอาคารสองส่วนนี้. แผนผังนี้มาจากอินเตอเน็ตดังรายละเอียดในวงเล็บ. ข้าพเจ้าเติมตัวเลขอธิบายให้เข้าใจดีขึ้น.
(http://en.wikipedia.org/wiki/File:Plan_of_Windsor_Castle_in_1743_by_Batty_Langley.jpg) 

Balustrade มาจากคำฝรั่งเศส balustre ที่มาจากคำอิตาเลียน balaustra (และมาเป็นคำ baluster ในภาษาอังกฤษ) แปลว่าเสาลูกกรง. balustrade หมายถึงราวระเบียงที่มีเสาลูกกรง หรือ บันไดลูกกรง. ระเบียงแบบนี้ปกติสูงไม่เกินหนึ่งเมตรครึ่ง  เสาลูกกรงอาจเป็นเสาไม้ หินหรือปูน ตรงกลางเสาป้อมๆ. เป็นราวระเบียงกั้นพื้นที่บนหลังคามิให้คนพลัดตก เหมือนรั้วเตี้ยๆบนอาคาร. อาจล้อมระเบียง เฉลียงหน้าบ้าน หลังบ้าน เป็นราวสะพาน ราวบันไดก็ได้เช่นกัน. เนื่องจากไม่สูงมาก คนจึงอาจชะโงกมองข้ามลงไปยังพื้นที่ข้างล่าง หรือมองไกลออกไป. เด็กๆมักมองลอดช่องว่างระหว่างเสาลูกกรงออกไปดูเหตุการณ์หรือพื้นที่ข้างนอก. หนุ่มสาวบางคนขึ้นไปนั่งถ่ายรูป. ราวลูกกรงเป็นองค์ประกอบประจำของสถาปัตยกรรมโรมัน-อิตาเลียน. 
ภาพถ่ายจากมุมหนึ่งของ Piazza del Popolo [ปิอั๊ดซา เด็ล โป๊ะโปะโล] ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี. ในระดับพื้นล่างสุดมีกลุ่มประติมากรรม สระน้ำพุ, เหนือขึ้นไปก็ยังเป็นสระน้ำ, เหนือขึ้นไปอีกเป็นอาคารมีประตูอาร์คครึ่งวงกลม มีประติมากรรมประดับอยู่ภายใน. บนพื้นระดับสูงสุดที่เห็นเหมือนดาดฟ้า เป็นราวระเบียงลูกกรง. เมื่อเดินขึ้นไปถึงข้างบน จึงเห็นเป็นลานกว้างใหญ่ เป็นสวนเป็นสนามเดินเล่นที่วิเศษร่มรื่นมาก คือสวนสาธารณะ Pincio [ปิ่นชี้โย] ที่เนรมิตขึ้นในศตวรรษที่ 19 และยังมีวิลลา Villa Borghese อยู่ใกล้ๆในอาณาบริเวณนั้นด้วย. จากระเบียงลูกกรงเราอาจมองกวาดสายตาชมทัศนียภาพของกรุงโรมได้ไม่ต่ำกว่า180 องศา. นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นไปยืนณจุดตรงนั้น. ความสูงจากระดับพื้นข้างล่างถึงระเบียงลูกกรงทำให้รู้ว่าเดิมคือทางลาดของเนินเขาชื่อ Pincio ตรงนี้จึงเป็นภูเขาลูกหนึ่ง และเป็นหนึ่งในเจ็ดภูเขาที่ล้อมรอบกรุงโรม. 
เมือง Dresden [ดฺริ๊ซเดิ่น] ประเทศเยอรมนี  มีจัตุรัสกลางเมืองชื่อว่า Zwinger [ซฺวิงเกอะ] ตั้งบนฝั่งแม่น้ำชื่อเดียวกัน. เดิมที่นั่นสร้างเป็นป้อมเมือง แล้วปรับเปลี่ยนให้กลายเป็น Orangery (โรงอภิบาลพืชพรรณและโดยเฉพาะต้นส้ม).  พื้นที่สี่เหลี่ยมผืนใหญ่ มีอาคารสำคัญๆตั้งอยู่สี่มุม. ปัจจุบันใช้เป็นหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และที่มีชื่อเสียงที่สุดคือพิพิธภัณฑ์ที่รวมเครื่องกระเบื้องเคลือบพอร์สเลนผลงานตัวอย่างที่สวยงามเด่นๆของประเทศโดยเฉพาะจากแหล่งผลิตที่ Meissen [มั้ยเสิ้น]. ตรงกลางลานกว้างภายในจัตุรัส มีสระน้ำพุสี่สระและมีพื้นสนามหญ้าที่จัดเป็นลวดลายสี่มุม(ดูที่คำ gazon coupé) เหมือนผ้าปักลายนูน.
  จากอาคารหนึ่งถึงอีกอาคารหนึ่ง มีอาคารทางเดินยาว ประตูหน้าต่างกระจกสูง บนหลังคาก็เป็นพื้นราบ ปิดกั้นด้วยระเบียงลูกกรงโดยตลอด. อาคารยาวเป็นทางเดินนี้ ยังทำหน้าที่เหมือนกำแพงล้อมรอบบริเวณจัตุรัสกลางเมือง เชื่อมหอคอยหรืออาคารพิพิธภัณฑ์ทั้งสี่มุม.  คนสามารถเดินบนหลังคาจากมุมหนึ่งถึงอีกมุมหนึ่งได้. สถาปัตยกรรมที่นั่นทั้งอาคารและรูปปั้นที่ประดับทั้งหมดเป็นแบบศิลปะบาร็อค รวมกันเป็นผลงานศิลปะที่มีเอกภาพสมบูรณ์. เมืองนี้ระหว่างสงครามถูกระเบิดถล่มเสียหายยับเยินมากและเป็นส่วนหนึ่งในเยอรมันตะวันออก. เมื่อเยอรมนีทั้งสองภาครวมกันเป็นประเทศหนึ่งเดียวกัน ได้เริ่มบูรณะและขัดเกลาอาคารกลุ่มนี้ (และทุกแห่งในเมือง Dresden) ทำให้ได้เห็นรายละเอียดของประติมากรรมต่างๆ รวมรูปลักษณ์หลากหลายแบบของศิลปะบาร็อคไว้ที่นั่น. ปัจจุบันเป็นหนึ่งในเมืองที่มีนักท่องเที่ยวไปมากที่สุดเมืองหนึ่งในเยอรมนี.
ภาพนี้ถ่ายจากทางเดินบนหลังคาที่มีราวระเบียงเป็นแนวไปโดยตลอด. บางตอนยังมีประติมากรรมรูปปั้นประดับเป็นระยะๆ เชื่อมต่อกับอาคารอื่นๆในบริเวญจัตุรัส Zwinger. ระเบียงบนหลังคาอาคารจึงเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่ดีที่สุดด้วย. ลานกว้างบริเวณนี้ ในฤดูร้อน มีการแสดงดนตรีกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอ. ในภาพมองไปไกลๆไปทางขวาของภาพ พื้นที่สีฟ้าๆที่เห็นคือเวทีการแสดง มีเก้าอี้เรียงรายเป็นแถวๆสำหรับคนฟัง. ชาวเยอรมันรักดนตรีและมอบดนตรีเป็นของกำนัลให้แก่กันเสมอ.
ด้านหนึ่งของระเบียงมีกลุ่มประติมากรรมน้ำตกน้ำพุตั้งแต่ระดับหลังคาต่อลงถึงระดับพื้น นับเป็นวิธีการออกแบบสวนภายในลานจัตุรัสที่ไม่มีที่ใดเหมือน.   
ระเบียงยิ่งอยู่สูงยิ่งเป็นจุดยืนชมทิวทัศน์ที่วิเศษ. การสร้างสรรค์สวนในวังต่างๆในเยอรมนี พื้นที่บนเนินเขาเอื้ออำนวยให้พัฒนาสถาปัตยกรรมหลากหลายแบบบนพื้นดินต่างระดับ เช่นภาพตัวอย่างนี้มีราวระเบียงและบันไดลูกกรงเป็นองค์ประกอบสำคัญ. ภาพนี้จากพระราชอุทยาน Linderhof [ลิ้นเดอฮ็อฟฺ] ในแคว้น Bayern ประเทศเยอรมนี. เมื่อขึ้นไปยืนบนระเบียงชั้นบนสุด จะเห็นแปลนการสร้างสรรค์สวน เส้นแกนสำคัญของพื้นที่และแบบสถาปัตยกรรมของตำหนักและอาคารอื่นๆได้ชัดเจน. 

Banqueting house อาคารสำหรับจัดงานเลี้ยงหรืองานรื่นเริง สำหรับคนกลุ่มเล็กตั้งแต่สามสี่คนถึงสิบคนเป็นต้น มักตั้งแยกออกจากอาคารบ้านหลังใหญ่ในอาณาบริเวณเดียวกัน. ปกติใช้เป็นที่รับประทานอาหารว่างหรืออาหารประเภทเบาๆ มากกว่าอาหารหนัก เพราะไม่มีครัวอยู่ในอาคารจัดงานแบบนี้. ในอังกฤษอาคารจัดงานเลี้ยงบางแห่ง สร้างโรงครัวและห้องโถงใหญ่สำหรับการบริการ ประกบติดด้านหลังเข้าไปด้วย จึงอาจใช้จัดงานเลี้ยงอาหารหนักได้. 
     ตัวอย่างอาคารจัดงานเลี้ยงที่แปลกและพิสดารที่สุดในยุคศตวรรษที่18 อยู่ที่เมือง Potsdam ประเทศเยอรมนี (ประมาณ 24 กิโลเมตรจากกรุง Berlin). อาคารจัดงานเลี้ยงที่นั่น เรียกว่า อาคารน้ำชาแบบจีน ตามชื่อที่ตั้งไว้ว่า Chinesisches Teehaus. อาคารนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมนี ที่รวมพระราชวังหลายตำหนัก สวนและอุทยานต่างๆ รวมกันเป็นหมู่พระราชวังและพระราชอุทยานไกลกังวล ในภาษาเยอรมันเรียกว่า Schloss Sanssouci [ฉฺลอซ ซ็องซูซี] โดยออกเสียงคำที่สองตามแบบภาษาฝรั่งเศส เพราะมาจากคำฝรั่งเศสสองคำรวมกัน (sans + souci ที่แปลว่า ไม่มี หรือ ไร้ บวกกับคำ กังวล”). อาคารน้ำชานี้เนรมิตตามแบบสถาปัตยกรรมจีน. ปัจจุบันเปิดให้เข้าชม ภายในจัดนิทรรศการโต๊ะเสวย พร้อมเครื่องถ้วยชามเนื้อละเอียดฝีมือเยี่ยมทั้งจากจีนและที่ผลิตในเยอรมนี. บนผนังห้องตลอดความสูงและความกว้างเกือบไม่มีที่ว่างเหลือให้เห็นว่าผนังกำแพงสีอะไร เพราะมีเครื่องเคลือบดินเผาเครื่องลายครามจากจีนประดับเป็นจำนวนมาก. ด้านนอกของอาคารนี้มีรูปปั้นสีทองหน้าตาฝรั่งติดหนวดแบบจีน เสื้อผ้าก็เป็นแบบแขกมากกว่า. ในยุคศตวรรษที่ 18 ชาวยุโรปได้รู้ได้เห็นเกี่ยวกับประเทศจีนเป็นครั้งแรก พากันเคลิบเคลิ้มหลงใหลในศิลปะและวัฒนธรรมจีน. ศิลปินยุคนั้นจึงสร้างสรรค์เครื่องถ้วยชาม เครื่องปั้นดินเผา แบบสถาปัตยกรรม แบบประดับต่างๆตามจินตนาการและค่านิยมแห่งยุค ตามความรู้ผิวเผินเกี่ยวกับประเทศจีน กลายเป็นกระแสหลงใหลจีนที่เรียกกันว่า Chinoiserie[ชีนั้วเซอรี].(ดูที่คำ Chinoiserie)
อาคารน้ำชาแบบจีน(Chinesisches Teehaus) ภายในกลุ่มพระราชวังและพระราชอุทยาน Sanssouci ที่ Potsdam ประเทศเยอรมนี.  Johann Gottfried Büring เป็นผู้ออกแบบและสร้างในระหว่างปี 1755-1764. สถาปนิกต้องการให้เป็นแบบตะวันออก แต่ก็ไม่ทิ้งศิลปะแบบร็อคโกโก (ดูที่คำ rococo) ที่กำลังนิยมในสมัยนั้น. ด้านนอกอาคารมีรูปปั้นนักดนตรี ถือเครื่องดนตรีแบบหนึ่ง รูปปั้นทั้งหมดทาสีทอง. หน้าตาที่ตั้งใจให้เหมือนคนจีนนั้น ดูไม่เหมือน.
รูปปั้นนักดนตรี ที่มีทั้งเครื่องดนตรีแบบตวันออกและเครื่องดนตรีแบบตะวันตก.
บริเวณประตูด้านหน้าของอาคาร มีกลุ่มรูปปั้นกลุ่มใหญ่ สื่อการดื่มชา.
รูปปั้นสีทองบนหลังคาทรงกลม มีร่มพร้อมชายครุยประดับอย่างเด่นชัด. ชาวยุโรปคิดว่าร่มแบบนี้เป็นเอกลักษณ์ของตะวันออก. นอกจากนี้ชาวตะวันออกอย่างพวกเราคงไม่คิดว่าหมวกแบบนี้เป็นแบบเอเชีย. เสื้อคลุมตัวยาวกรอมเท้า น่าจะเหมือนเสื้อคลุมตัวหลวมๆของเหล่านักบวชมากกว่า. รูปปั้นในท่านั่งบนถุงใหญ่ที่เราเห็นปากถุงถูกมัดปิด น่าจะเป็นถุงบรรจุอะไรสักอย่าง เมื่อคำนึงถึงชื่ออาคารนี้ ประกอบกับการมีกลุ่มประติมากรรมประดับรอบนอกของอาคาร ทำให้เราสรุปได้ว่าเป็นถุงบรรจุชาจีนที่บอกให้รู้ว่ายุคนั้นมีการนำเข้าชาจากประเทศจีน. รูปปั้นยังถืออะไรในมือ ดูเหมือนงูสองตัวไขว้กันหลวมๆ(ไม่มีคทาหรือไม้แกนกลาง) ที่ทำให้นึกถึงคทางูไขว้ของเทพกรีกเฮอมีซ(หรือเทพโรมันเมอคิวรี). แม้จะไม่เหมือนเลยทีเดียวแต่ก็อาจโยงไปถึงเทพดังกล่าวได้ มิใช่ในฐานะของเทพแห่งการสื่อสาร แต่ในฐานะของเทพผู้เยียวยา เพราะสัญลักษณ์คล้ายๆกันนี้(ปกติมีปีกติดสองข้าง เพื่อเจาะจงความเป็นเทพ) เป็นสัญลักษณ์ของการแพทย์เหมือนกันในเกือบทุกประเทศ. ภาพของงูยังเตือนให้ระลึกว่า งูมีบทบาทสำคัญในการธำรงสมดุลธรรมชาติ ทั้งพิษงูหรือเอ็นไซม (snake venom) ที่คนเพาะและสกัดเอาสารต้านพิษงูออกมาใช้. เอ็นไซมของงูแต่ละสายพันธุ์มีศักยภาพในการเยียวยาต่างกัน. ในโลกปัจจุบันนักวิจัยได้ศึกษาเกี่ยวกับพิษงูและเห็นประโยชน์ในเชิงรักษาเยียวยา เช่นฝรั่งเศสสกัดเอ็นไซมจากงูหัวแดงที่นักวิจัยเชื่อว่าอาจเป็นตัวยาช่วยรักษามะเร็งเต้านมได้.     
   ในโลกโบราณเช่นชาวอีจิปต์ใช้ไขงูผสมกับไขสิงโต ฮิปโป จระเข้ แมวตัวผู้และแพะป่าจากแดนนูเบีย มาผสมกันเป็นมวลไขหนึ่งเดียวกันแล้วใช้ทาบนศีรษะ(คนหัวล้าน) เชื่อกันว่าทำให้ผมขึ้นดกดำ. การแพทย์แผนโบราณของจีนมีน้ำมันงูรวมอยู่ด้วย ใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบเป็นต้น. ในแง่นี้ สิ่งประดับงูไขว้ที่ชายชราถือในมือจึงเพิ่มและแนะนัยของ ยาหรือการเยียวยารักษาได้. ส่วนเรื่องชานั้น ตั้งแต่สมัยก่อนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน การศึกษาวิเคราะห์วิจัยยืนยันแล้วว่า ชาและโดยเฉพาะชาเขียวเป็นยาประเภทหนึ่ง เป็นสมุนไพรดื่มร้อนๆ ช่วยธำรงสมดุลในร่างกายได้ดีที่สุด. 
เราจึงสรุปได้ว่า รูปปั้นนี้สถาปนิกเจาะจงเนรมิตเพื่อประดับบนยอดอาคาร เพื่อเผยบทบาทและความสำคัญของชา ในขณะเดียวกันก็เหมือนยืนยันประโยชน์ของการติดต่อหรือรับวัฒนธรรมจีนเข้าสู่ยุโรป. การสร้างอาคารน้ำชาเป็นการแสดงออกตามค่านิยมแนวนี้.
ภาพจาก Wilton House เมือง Salsbury ประเทศอังกฤษ. มีอาคารเล็กๆส่วนตัวของเจ้าของบ้านกับสวนส่วนตัว. ถือได้ว่าเป็นอาคารงานเลี้ยงสังสันทน์ บริเวณดังกล่าวปิดมิให้บุคคลภายนอกผ่าน.
---------------------------------------- 
B2 >> Baroque, Basin, Bath house, Battery.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/01/b-2-basin.html
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html


Comments