Sphinx
เป็นสัตว์ในเทพตำนานอีจิปต์ หน้าและหัวเป็นคน
ลำตัวเป็นสิงโต. สื่อนัยของ ผู้ที่เก็บความคิดความตั้งใจเกี่ยวกับปฏิบัติการอะไรสักอย่างไว้เป็นความลับปิดแน่นสนิท
หรือหมายถึงคนที่มีอะไรลึกลับ(น่าสงสัยและน่าเกรงขาม). รูปปั้นสฟิงซ์ เป็นแบบประดับสวนที่แพร่หลายมากแบบหนึ่ง
บางทีเจาะจงแกะสลักให้มีหน้าตาเหมือนบุคคลพิเศษที่ต้องการ หรือตกแต่งหัวสฟิงซ์ด้วยเครื่องประดับแบบต่างๆเป็นต้น.
รูปปั้นสฟิงซ์อุทยาน Belvedere
ที่กรุงเวียนนา ลำตัวใหญ่หนากว่าที่อื่นและมีปีกตั้งเด่นชัด (สฟิงซ์ที่อื่นไม่มีปีก). อุทยานที่นั่นมีรูปปั้นสฟิงซ์ประดับมากกว่าที่ใดที่เห็นมาในสวนยุโรป. สวนที่นั่นเนรมิตขึ้นในระหว่างปี
1700-1725.
สฟิงซ์ประดับสองข้างทางขึ้นลงตำหนักริมน้ำ (Wasserpalais) ที่ปราสาท Schloss Pillnitz ที่ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ Elbe สร้างขึ้นระหว่างปี 1720-1724. มีผมแผ่ลงเป็นปีกด้านหลังเหมือนวิกผมของชาวอีจิปต์โบราณดังที่เห็นคุ้นตาในภาพวาดบนปาปิรุส.
รูปปั้นสฟิงซ์สองตัวนี้
หน้าตาสะสวยผิดที่อื่นๆ จาก Anglesey Abbey ตั้งคู่กันสองข้างทางเข้าสวนมุมหนึ่ง มีเครื่องประดับกึ่งมงกุฎ(แบบ tiara) บนหัว.
อุทยานปราสาท Blenheim
มีสฟิงซ์ประดับใกล้บริเวณสระน้ำที่มีเสาโอเบลิซก์ตั้งเด่นกลางสระ
เชื่อมโยงสองรูปลักษณ์ของโลกอีจิปต์โบราณ และมีคอลัมน์แบบกรีกตั้งประดับใกล้ๆกัน.
ดูภาพและรายละเอียดต่อได้ในสวนอีจิปต์ตามลิงค์นี้. https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/03/e-1-egyptian-garden.html
Spring
ในบริบทของสวน
คำนี้หมายถึงต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงทะเลสาบ. มีตัวอย่างหลายกรณีที่ต้นน้ำเป็นสิ่งบันดาลใจให้สร้างสวน
รังสรรค์สถาปัตยกรรมที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ เช่นสร้างน้ำตก สร้างถ้ำใต้น้ำเป็นต้น.
ในยุคกลางคำนี้หมายถึงแปลงดินที่ใช้เพาะเลี้ยงต้นกล้า ต้นอ่อน.
Square
พื้นที่สี่เหลี่ยม
ไม่จำเป็นต้องเป็นสี่เหลี่ยมด้านเท่าเสมอไป
อาจแบ่งเป็นสี่ส่วนเพื่อทำแปลงดอกไม้ปาร์แตร์. ชาวสวนพูดกันว่าการปลูกดอกไม้ในพื้นที่สี่เหลี่ยมนั้นง่ายกว่า
เช่นแทรกแปลงดอกไม้สี่เหลี่ยมเข้าไปในจัตุรัสกลางเมือง ทำได้เสมอและให้ผลสวยงามทุกครั้ง.
ปาร์แตร์ภายในกรอบสนามสี่เหลี่ยมที่ตัดเรียบและตรงไม่มีที่ติ
จากสวน Pitmedden Garden ในสก็อตแลนด์. ประเทศอังกฤษมีสวนแบบแผนอย่างนี้เหลือน้อยแล้ว ส่วนใหญ่มุ่งทำสวนภูมิทัศน์มากกว่า.
ภาพจากสวน Sissinghurst
ถ่ายจากหอสูง
เห็นการจัดพื้นที่แบ่งเป็นแปลงสี่เหลี่ยม มีทางเดินคั่น.
Standard
ในบริบทสวน หมายถึงต้นไม้ขนาดใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาออกกว้าง
(ตรงข้ามกับคำ dwarf
species ซึ่งหมายถึงต้นไม้พันธุ์แคระ).
ในอีกความหมายหนึ่ง คือต้นไม้ที่ปล่อยให้เติบโตในป่า
ใต้ร่มของต้นไม้ใหญ่ๆโดยไม่มีร้านหรือสิ่งพยุงเข้าช่วยค้ำ
ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ขนาดเล็กปลูกเพื่อตัด เพื่อเก็บผลผลิตจากต้นไม้นั้นตามฤดูกาลเช่นต้นถั่ว.
Stank
เป็นคำในภาษาสก็อต หมายถึง คู ทางน้ำหรือแอ่งน้ำ. มักหมายถึงน้ำขังอยู่กับที่
ไม่มีการหมุนเวียนถ่ายเท นานปีเข้า น้ำในนั้นก็เน่าเหม็นได้.
Station
เป็นคำที่ใช้เรียกจุดมองทิวทัศน์ (เป็น viewing platform) บางคนไปนั่งสเก็ตช์หรือวาดภาพ.
Station ตรงนี้
เป็นจุดยืนชมวิวได้วิเศษมาก แม้จะเป็นหอคอยเล็กและแคบสำหรับหนึ่งถึงสองคนเท่านั้น มุมนี้อยู่ที่วิลลาเอฟรุสซี่ (Villa Ephrussi de Rothschild,
Saint-Jean-Cap-Ferrat, France).
Statuary
มาจากคำละติน statua ที่มาเป็นคำ statue ในภาษาอังกฤษ
(และในภาษาอื่นๆ) หมายถึงรูปปั้น. statuary หมายถึงผู้เนรมิตรูปปั้นโดยเฉพาะ.
คำนี้ยังหมายถึงศิลปะการเนรมิตรูปปั้นเหมือนของคนหรือสัตว์. คำ sculptor หรือประติมากร หมายถึงผู้เนรมิตประติมากรรม
รูปปั้นคนหรือรูปลักษณ์อื่นใดก็ได้. เช่นเดียวกัน sculpture หรือประติมากรรม
คือการเนรมิตรูปลักษณ์สามมิติแบบใดก็ตาม.
การเนรมิตรูปปั้นคนเหมือนนั้นเริ่มมาแล้วตั้งแต่ยุคโรมัน จากการทำรูปปั้นของทวยเทพ ของจักรพรรดิและของวีรบุรุษของชาติ.
สวนอิตาเลียนในยุคเรอแนสซ็องส์มีรูปปั้นประดับเป็นจำนวนมาก. ฝีมือของศิลปินยุคนั้นเช่น
Donatello [โดหนะเต็ลโล],
Giambologna [จีอัมโบโลญา], Michelangelo [มิเกลอั๊นเจโล]เป็นต้น. เครือข่ายของการพัฒนารูปปั้นในฝรั่งเศส
สืบประเพณีและค่านิยมจากศิลปะกรีกโรมัน. กรณีรูปปั้นที่ประดับพระราชอุทยานแวร์ซายส์นั้น นับว่าพิเศษสุด
เพราะมีการวางแผนจัดเป็นโครงการสร้างรูปปั้นและประติมากรรมอย่างเฉพาะเจาะจง
(นอกจากรูปปั้นยังมีประติมากรรมอื่นๆเช่นแจกันขนาดมหึมา)
โดยให้มีเนื้อหาเป็นนัยสัญลักษณ์สื่อไปถึงกษัตริย์ “เจ้าสุริยะ” ผู้คือพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่. เพราะฉะนั้นการอ่านรูปปั้นจึงต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับชีวประวัติ
รสนิยม และอุดมการณ์ชีวิตของพระเจ้าหลุยส์องค์นั้นด้วย.
เมื่อดูการเลือกแสดงใครหรืออะไร เป็นรูปปั้นประดับสวนแวร์ซายส์ทั้งหมดแล้ว จะเข้าใจและเห็นชัดเจนว่า รูปปั้นทั้งหลายของแวร์ซายส์
เป็นต้นแบบของรูปปั้นทั้งหลายทั้งปวงที่สร้างขึ้นประดับสวนยุคเดียวกันหรือยุคต่อมาในประเทศยุโรปอื่นๆ. ในประเทศอังกฤษ
รูปปั้นเกือบทั้งหมด อยู่ในสวนแบบแผนที่เนรมิตขึ้นในศตวรรษที่16 เป็นส่วนใหญ่. ต่อมา เกิดปัญหากับรูปปั้นในสวนอังกฤษ
เพราะไม่มีใครเจาะจงได้ว่ารูปปั้นนั้นแทนใคร เป็นใคร ต้องการสื่ออะไร (เพราะช่างแกะสลักไม่นิยมทำตามแบบฝรั่งเศส และทำออกมาก็หาที่สวยๆน้อย). ยุคหลังๆ ประติมากรรมประดับสวนอังกฤษ
เป็นแบบเปิดให้ศิลปินคิดและจินตนาการเอง ไม่ตามขนบคลาซสิกหรือตามกระแสใด. ประติมากรรมยุครุ่งโรจน์ในอังกฤษ
อยู่ระหว่างปี 1680-1780
(โดยเฉพาะรูปปั้นทองสัมฤทธิ์). อาจมีรูปปั้นบางรูปต้องการสื่อนัยสัญลักษณ์หรือโยงไปถึงเนื้อหาเจาะจงเรื่องหนึ่ง
แต่โดยทั่วไปแล้ว รูปปั้นในสวนอังกฤษทำหน้าที่ประดับสวนเป็นสำคัญ(อาจเป็นเพราะไม่มีผู้ใดสนใจไต่ถามหรืออยากรู้
แบบดูแค่ดู). แต่ละประเทศพยายามเนรมิตรูปปั้นหรือประติมากรรมประดับสวน
ตามวิสัยทัศน์ของศิลปินเอง โดยไม่อิงขนบใด. สวนประติมากรรมสมัยใหม่ เป็นสวนแบบหนึ่ง เป็นที่แสดงผลงานของคนรุ่นใหม่
สวยหรือน่าสนใจไหม แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคน. สนใจดูประติมากรรมสมัยใหม่ของชาวอังกฤษ
ตามไปดูตัวอย่างได้จากบล็อกนี้ที่นี่. http://chotiroskovith.blogspot.com/2017/08/chester.html
Steps
ขั้นบันได staircase
บันได. บันไดเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสวนแบบอิตาเลียน
เนื่องจากสวนส่วนใหญ่ตั้งบนพื้นที่ลาด
หรือบนเนินตามสภาพภูมิประเทศของอิตาลี.
ขั้นบันไดเป็นทั้งแบบประดับสวนและองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่ขาดเสียมิได้. บันไดใช้ประโยชน์ได้มาก เชื่อมพื้นที่ต่างระดับ เชื่อมสวนหลายแบบ.
ขั้นบันไดอาจเป็นจุดดึงดูดสายตา หรือเป็นจุดรวมทัศนมิติของสวนได้เช่นกัน.
อาจเป็นบันไดตรงกว้างเสมอกันโดยตลอด
หรือเป็นบันไดสามเหลี่ยมฐานกว้างแล้วแคบลงเมื่อสูงขึ้น
หรือเป็นบันไดทรงกลมหรือครึ่งวงกลม. สวนในอิตาลีมีชื่อในด้านนี้.
บันไดกลางตรงกับจุดกลางของตำหนักไกลกังวล(Sanssouci)
ที่เมือง Potsdam เป็นเอกลักษณ์เด่นของพระราชวัง และโดยเฉพาะพื้นที่ในแต่ละระดับแผ่ออกตลอดความกว้างของสวน
ใช้ปลูกต้นองุ่นสลับกับต้นมะเดื่อและต้นสน.
ส่วนทางเดินสองข้างแม้จะต่างระดับ ก็ไม่ทำเป็นขั้นบันได เป็นพื้นราบและลาดลง
จึงทำให้สามารถขี่จักรยานหรือเข็นรถคนแก่ รถเด็กขึ้นลงได้สะดวก (ก่อนชาติอื่นใดและเรื่อยมาในการวางผังเมืองมาถึงทุกวันนี้
เยอรมนีให้ความสนใจด้านความสะดวกในการขึ้นลงของรถบริการขนาดเล็ก). อุทยาน Sanssouci นี้ครอบพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๓๐๐ เฮกตาร์
ภายในมีตำหนักมีวังหลายแห่ง ที่มิได้ตั้งติดๆกันไป.
ถือเป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมที่มีเอกภาพสมบูรณ์ที่สุดของประเทศเยอรมนี ทั้งยังเป็นความสำเร็จของการจัดพื้นที่ให้เป็นอุทยานภูมิทัศน์ที่สวยงาม. อุทยานและพระราชวังทั้งกลุ่มที่ Potsdam สร้างในระหว่างปี 1774 ถึง 1860. เริ่มขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าเฟรเดริคมหาราช (Frederic II, 1712-1786). การสร้างยังสืบต่อมาในรัชสมัยของกษัตริย์(ล้วนชื่อเฟรเดริค)ผู้ครองปรัสเซียองค์ต่อมา.
อาคารนี้เรียกว่า Neue
Orangerie (ตามชื่อหมายถึงอาคารเลี้ยงและดูแลต้นส้ม)
ปัจจุบันใช้เป็นหอศิลป์.
เป็นอีกหนึ่งอาคารในกลุ่มพระราชวังที่ Potsdam ดังกล่าว
สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมอิตาเลียนยุคเรอแนสซ็องส์.
ระหว่างปี1851-1860 เคยเป็นที่ประทับของกษัตริย์รัสเซีย Tzar
Nicolas I และพระมเหสี. เป็นอาคารขนาดใหญ่ เห็นบันไดสองข้างขึ้นสู่ตัวตำหนัก. พื้นที่สูงขึ้นหลายระดับ
แต่ละระดับทำระเบียงประดับตามแบบอิตาเลียน เช่นสองภาพแรก มองจากระดับพื้น. พื้นที่ระหว่างบันไดสองข้าง มีสระน้ำพุเล็กๆ
ลึกเข้าไปทำคล้ายถ้ำ ผนังประดับด้วยเปลือกหอยเป็นต้น.
ภาพนี้อยู่ในระดับสูงขึ้นไปอีก
ยังมีถ้ำกับน้ำพุประดับด้วย อยู่ภายในกำแพงครึ่งวงกลมที่เห็นในภาพ. แต่ละระดับจึงมีพื้นที่คั่นกว้างทีเดียว. บันไดก็เชื่อมต่อๆขึ้นไปอีกระดับจนถึงชั้นบนสุด.
สองภาพนี้จากอุทยานปราสาท
Linderhof บันไดสองข้างเรียบ
แต่เด่นและเชิดชูความงามของทัศนมิติของสวนนี้.
มีระเบียงสำหรับเป็นที่หยุดชื่นชมธรรมชาติป่าเขารอบข้าง. ต้องสรรเสริญ
Karl von Effner สถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง
รวมทั้งเป็นผู้จัดเรื่องการปลูกต้นไม้ทั้งบริเวณอุทยาน.
บันได้โค้งมนๆสองข้างซุ้มน้ำพุเล็กๆ
ที่วิลลาเอฟรุสซี่
(Villa Ehrussi de Rothschild, Saint-Jean-Cap-Ferrat, France)
มุมนี้ มีเก้าอี้ให้นั่งชมวิวหรือถ่ายรูปตัวเอง.
บันไดหลายสิบขั้นในสมัยปัจจุบัน
ได้กลายเป็นพื้นที่แสดงจิตรกรรมไปด้วย เช่นบันไดขึ้นลงอาคารพิพิธภัณฑ์ Albertina Museum กรุงเวียนนา ออสเตรีย. พิพิธภัณฑ์นี้รวมภาพพิมพ์ไว้เป็นจำนวนมากที่สุดในโลก คือประมาณ 65,000 ภาพและภาพพิมพ์จากศิลปินชั้นครูอีกไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านภาพ
รวมทั้งภาพกราฟิกที่เป็น ภาพเขียนภาพวาดลายเส้น ภาพถ่ายและภาพวาดแปลนสถาปัตยกรรมต่างๆ. ยามมีนิทรรศการพิเศษ บันไดสูงนี้ก็เปลี่ยนไปเป็นภาพที่เกี่ยวกับนิทรรศการ
เหมือนเป็นแผ่นประกาศติดบอกรายการหน้าพิพิธภัณฑ์. ภาพนี้กรณีปี2011 บันไดประดับด้วยจิตรกรรมดอกบัวของโมเนต์
เพราะมีนิทรรศการเกี่ยวกับโมเนต์เป็นต้น.
Stewpond
เป็นสระเลี้ยงปลา (fishpond) ในสมัยกลางตามอารามนักบวชอาจมีสระเลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาหาร
แต่ในสมัยใหม่เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน สระเลี้ยงปลาในสวน เพื่อประดับสวนเท่านั้น.
Stonework
งานประดิษฐ์หรืองานก่อสร้างด้วยหิน.
สวนอิตาเลียนใช้หินเป็นจำนวนมาก. อิตาลีมีโชคอนันต์ที่มีแหล่งสะกัดหินอ่อนแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่งของโลก
อิตาลีจึงสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมทุกประเภทด้วยหิน. นอกจากอาคารทั้งหลัง ยังมีบันไดหินอ่อน
ระเบียงบนดาดฟ้า โถใหญ่ แจกันใหญ่ สถาปัตยกรรมน้ำพุ รูปปั้นทั้งหลาย. โดยทั่วไป ประเทศใดที่มีหินอะไรดีมีหินอะไรมาก
ก็ใช้หินนั้น.
ถ้าไม่มีก็อาจต้องสั่งซื้อในราคาแพงรวมทั้งเสียค่าขนย้ายด้วย. ในประเทศอังกฤษ
มีหินชื่อ Portland
stone จำนวนมาก นอกจากนี้ก็มีหินทราย (sandstone) มี Bath stone (เป็นหินที่ได้จากปริมณฑลเมือง
Bath).
สวนน้ำแบบล่าสุดที่สร้างให้เป็นอนุสรณ์แด่เจ้าหญิงไดแอนนา (Diana Princess of Wales' Memorial
Fountain และเปิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2004) ภายในสวน Hyde Park & Kensington
Gardens
ที่กรุงลอนดอน
ใช้หินแกรนิตที่สั่งเข้ามาจากประเทศไอรแลนด์ทั้งหมด. ดูภาพตัวอย่างสวนหินอนุสรณ์เจ้าหญิงไดแอนนาได้ตามลิงค์ที่ให้นี้.
Stove
ที่หมายถึงเตาไฟ. ในบริบทสวน คือเรือนร้อน อาจเป็นห้องหรืออาคารที่ปรับอุณหภูมิให้ร้อนระอุอยู่เสมอ. ชาวอังกฤษยังใช้คำ
hothouse ในความหมายเดียวกันนี้. ในยุคศตวรรษที่17 stove เป็นเตาทำความร้อนแบบดัตช์.
อากาศร้อนๆจากเตาไฟ พ่นไปยังกำแพงหรือผนังของห้องหรืออาคาร. ตั้งแต่ปี 1800 ระบบทำความร้อนที่พัฒนาขึ้น
ทำให้สร้างอากาศร้อน ไอร้อนและน้ำร้อนได้สะดวกขึ้น โดยให้ความร้อนแบบต่างๆ แผ่กระจายออกจากเพดาน อาคาร จากพื้น หรือจากกำแพง. การใช้เตาร้อนในยุคนั้นและเครื่องทำความร้อนแบบหลังๆ
ทำให้คนสร้างอากาศที่ร้อนชื้นแบบป่าดงดิบได้ภายในอาคารที่ปิด ทำให้คนเพาะปลูกพืชผลไม้จากเขตศูนย์สูตรได้
หรือเพาะพันธุ์พืชผลจากแดนไกลได้สำเร็จ. ห้องร้อนแบบนี้พัฒนาขยายเป็นเรือนกระจก ที่กลายเป็นอาคารที่ขาดเสียมิได้ตามสวนพฤกษศาสตร์ในยุโรป.
เรือนกระจกปรับอุณหภูมิ จึงเกิดขึ้นเพื่อพืชพันธุ์ต่างถิ่นต่างอากาศที่อังกฤษนำเข้าเป็นจำนวนมาก. ทั้งหมดเป็นผลพลอยได้หรือเป็นผลประโยชน์โดยตรงอย่างหนึ่ง จากการเดินเรือค้าขายและการแผ่อาณานิคม. พืชผลแปลกๆหลากหลายชนิด
กระตุ้นให้เกิดการศึกษาวิเคราะห์ด้านพฤกษศาสตร์อย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา.
คำ hothouse
กลายเป็นคำ Dutch House. ในศตวรรษที่18 ใช้คำนี้เรียกแบบสถาปัตยกรรมดัตช์ของพระตำหนัก. ต่อมาพระเจ้า George III ได้รับที่ดินผืนนั้นเป็นมรดกจากพระราชมารดา
(เรียกว่า Kew Palace สร้างแล้วเสร็จในปี1781)
และยังมีการขยับขยายออกไปอย่างกว้างขวาง. ในปี1840 ทางราชวงศ์อังกฤษมอบที่ดินทั้งหมดให้เป็นสมบัติของประเทศและที่กลายมาเป็นสวนคิวในปัจจุบัน
(Kew
gardens หรือชื่อเต็มว่า Royal Botanic
Gardens ). สวนคิวเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่มีพื้นที่(ตามที่เจาะจงไว้ใน www.kew.org) 121 เฮกตาร์เท่ากับ 1.21 ตารางกิโลเมตร หรือ 756.25 ไร่ และมีพื้นที่กันชนตามที่ UNESCO กำหนดไว้ รวมเป็น 350 เฮกตาร์หรือ 3.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 2187.5 ไร่. มีอาคารเรือนกระจกขนาดใหญ่สาม-สี่อาคาร และอาคารเรือนกระจกขนาดเล็กกว่าอีกสองอาคาร ที่ปัจจุบันใช้เป็นอาคารจัดนิทรรศการบ้าง
เป็นร้านอาหารบ้าง. แต่ละอาคาร ใช้เพาะปลูกพืชพรรณในเขตภูมิอากาศแบบหนึ่ง
เช่น อาคารต้นปาล์ม (Palm House) ที่สร้างขึ้นระหว่างปี 1844-48 เพื่อเป็นแหล่งสะสมและอภิบาลต้นปาล์มที่นำเข้าสู่ยุโรปต้นรัชสมัยวิคตอเรีย. อาคารต้นปาล์มนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของสวนคิว. นอกจากนี้มีอาคารพืชพรรณจากเขตอบอุ่นในโลก (Temperate
House),
อาคารพืชพรรณเขตศูนย์สูตรที่แห้งแล้งเช่นสายพันธุ์ตระบองเพชร
และจากเขตร้อนชื้น (Princess of
Wales Conservatory), หรืออาคารสำหรับการเพาะเลี้ยงพันธุ์บัวประเภทต่างๆ (Waterlily
House) เป็นต้น. สวนคิวเป็นทั้งสวนสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของทุกผู้ทุกนาม
และเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ผู้สนใจไปเรียนรู้เกี่ยวกับต้นไม้นานาพันธุ์ได้อย่างวิเศษที่สุด.
ถือเป็นสวนพฤกษศาสตร์อันดับหนึ่งของโลก และได้ขึ้นทะเบียนยูเนสโกเป็นมรดกโลกอันดับที่1084 ในปี2003.
Strapwork
เป็นแบบประดับสวน
เนรมิตด้วยพุ่มไม้ให้เป็นแถบยาวที่ไขว้เกี่ยวกันเป็นลวดลาย
มองดูเหมือนงานจักสานบนดิน.
Stumpery
คำศัพท์นี้เริ่มใช้ในยุควิคตอเรีย มาจากคำ stump หมายถึงโคนต้นและรากที่เหลือของต้นไม้ที่ถูกตัดหรือโค่นลง
(โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่เหลือเมื่อส่วนสำคัญที่สุดถูกตัดหายไปหรือหมดไป). คำ stumpery หมายถึงรูปลักษณ์ที่ประกอบด้วยรากต้นไม้และโคนต้นไม้ดังกล่าว
โดยที่ทั้งหมดถูกขุดยกขึ้นจากดิน แล้ววางหงายขึ้นบนสันดิน เพื่อให้เห็นส่วนของโคนและรากที่เคยฝังอยู่ใต้ดิน ที่ยังมีพืชพันธุ์ขนาดเล็กขนาดจิ๋วขึ้นเต็ม.
ดูเหมือนว่าชาวอังกฤษได้พยายามฟื้นฟูรากและโคนต้นไม้ขนาดใหญ่ๆด้วยวิธีนี้. ในหนังสือของ Michael Symes ยกตัวอย่างที่ Biddulph Grange (Staffordshire) และที่ Ickworth (Suffork).
Sublime หมายถึง“ความงามเลิศ”. ในศตวรรษที่18
ชนชั้นที่ได้รับการศึกษาสนใจใฝ่คิดวิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับปรัชญาและความสุนทรีย์. พวกเขาคิดว่าความงามสุนทรีย์เป็นสิ่งประเสริฐสุด ที่ดลใจสิ่งดีงามในสังคม
โดยเน้นว่า ต่างจากคำ Beautiful ที่เน้นลักษณะอ่อนโยน นุ่มนวลและลื่นไหลเหมือนเส้นลูกคลื่นที่ไม่ทำให้อารมณ์สะดุด. กระแสค่านิยมสิ่งที่เป็น sublime นี้กระตุ้นให้คิดวิจักษ์ในเรื่องของ“ความไม่รู้ตาย หรือไม่รู้สิ้นสุด”.
ภูมิทัศน์ที่เป็นสุดยอดที่“งามเลิศ”
และที่มีศักยภาพดังกล่าว คือขุนเขาสูงชัน หุบเหว และน้ำตก. เช่นนี้ในบริบทสวน เกิดความพยายามเนรมิตลักษณะภูมิประเทศดังกล่าวไว้(แบบย่อส่วน). คำที่ใช้เปรียบเทียบความงาม
ยังมีอีกคำ ที่อยู่ระหว่าง sublime และ beautiful คือ picturesque ที่แปลได้สั้นๆคร่าวๆว่า “งามดั่งภาพ” ดูที่คำนี้ในลิงค์ที่ให้.
Subtropical bedding เป็นการปลูกแปลงดอกไม้ด้วยไม้พันธุ์ไม่มีดอก
เป็นวิธีการปลูกสวนที่อังกฤษรับมาจากฝรั่งเศสและเยอรมนี. เป็นแบบที่นิยมแพร่หลายในระหว่างปี
1860-1890.
แปลงสวนแบบนี้ต้องการเน้นความงามของใบไม้ เพราะใบไม้หลายประเภทสวยงามน่าชม
จึงเป็นแบบประดับแทนดอกไม้ ที่ดูสวยงามมากเช่นกัน. มีไม้พันธุ์ที่ให้ใบขนาดใหญ่ หรือที่มีใบสีสวยสีอื่นที่ไม่ใช่เขียวเท่านั้น
หรือใบที่มีจุด มีลายหรือมีสีแก่อ่อนเป็นหย่อมๆเป็นต้น. ต้นไม้พวกนี้มักเลี้ยงภายในเรือนกระจก ก่อนนำไปลงดินในแปลงที่เตรียมไว้. (ต้นที่นิยมปลูกกันเช่น
canna, coleus, philodendron, kale, rhubarb บางทีก็ใช้ต้นกล้วย). แปลงสวนสำหรับโชว์ใบไม้ เน้นความไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นแบบเป็นแผน
แปลงดินก็ไม่ต้องเป็นสี่เหลี่ยมเสมอไป.
Sumer
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของดินแดนเมโสโปเตเมีย. ณวันนี้เชื่อกันว่า เป็นดินแดนที่มีอารยธรรมเป็นปึกแผ่นแห่งแรกสุดของมนุษยชาติ
อยู่ในระหว่างปี 3000BC-1900BC. ดินแดนแถบนี้ มีเมืองที่เป็นรัฐอิสระเจริญรุ่งเรืองถึงสิบสองเมือง.
Summerhouse เรือนพักร้อน
สร้างไว้ในบริเวณสวน สำหรับใช้ในหน้าร้อน
แต่ก็มีอาคารอื่นที่สร้างเพื่อใช้ในยามอากาศดีอีกหลายแบบ ที่ไม่เรียกว่า
เรือนพักร้อน เช่น billard Room (หรือห้องบิลเลียด)
หรือ museum. ในที่สุดจึงดูเหมือนว่า
ไม่มีอะไรเป็นข้อกำหนดอย่างแน่ชัด อาจเรียกตามประโยชน์ใช้สอย เช่นอาคารชา หรือตามสถาปัตยกรรมเช่นหอจีน.
Sundial หน้าปัดแดด
หรือนาฬิกาแดด.
นิยมกันแพร่หลายโดยเฉพาะในสวนอังกฤษ. ประกอบด้วยแผ่นกลมหน้าราบเหมือนหน้าปัดนาฬิกา
มีตัวเลข1-12 มี“เข็ม”ตั้งตรงและทำมุมประมาณ
45 กับหน้าปัด. เข็มนาฬิกาอาจเป็นทองเหลืองหรือโลหะผสมอื่นใด.
แสงแดดที่ตกต้องเข็ม ทำให้เกิดเป็นเงาทอดลงบนหน้าปัดและชี้ไปยังตัวเลข เท่ากับบอกเวลา.
นาฬิกาแสดงแดดมิได้ให้เวลาตรงตามเวลาของนาฬิกาที่เราใส่กันในปัจจุบัน
ทั้งนี้เพราะในทศวรรษที่ผ่านมา แกนโลกเปลี่ยนมุมไปจากเดิม
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่แต่ละครั้งยังส่งผลกระทบต่อเวลาของโลกด้วย คือทำให้เวลาโลกสั้งลงไป
แม้จะเป็นเพียงเสี้ยวของเสี้ยววินาที. แสงแดดณวินาทีเดียวกันของแต่ละวัน มิได้ทำมุม สร้างเงาแสงแดดตรงกันเสมอไป. นอกจากนี้ในยุโรป หลายสิบปีมาแล้ว
ที่มีการกำหนดเวลาฤดูร้อนและเวลาฤดูหนาว เพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้า.
เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนาฬิกาแดดที่ประดับในสวนมาตั้งแต่ศตวรรษที่19-20 นั้น สื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์มากกว่าการบอกเวลาจริง. อีกประการหนึ่ง วันไหนครึ้มฟ้าครึ้มฝนก็ใช้บอกเวลาอะไรไม่ได้ และก็ไม่มีใครสนใจดูเวลาจากนาฬิกาแดด.
ในประเทศอังกฤษ นาฬิกาแดดส่วนใหญ่
วางราบบนแท่นหรือฐานหิน. ตัวแท่นหรือฐาน บางทีก็มีประติมากรรมจำหลักนูนประดับอย่างสวยงาม. หน้าปัดนาฬิกาแดด มักมีคำขวัญหรือคำพังเพยจารึกไว้ด้วย
สื่อความคิดความรู้สึกของผู้ทำนาฬิกาแดดนั้น หรือของผู้เป็นเจ้าของ
หรือผู้สั่งให้ทำ หรือเพิ่มเข้าไปเพื่อเป็นสิ่งเตือนใจ. เนื้อหาในข้อความที่จำหลักไว้ เตือนว่า เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว, หรือให้ใช้เวลาทำสิ่งที่อยากทำเพราะเวลาผ่านไปแล้ว ไม่หวนกลับ, คำพูดที่เน้นความอนิจจัง ความไม่ยั่งยืน,
หรือสรรเสริญคุณงามความดี, เตือนการใช้ชีวิต, หรือกล่าวเป็นเชิงขบขันล้อเลียนเป็นต้น.
คำขวัญหรือคำพังเพยเท่าที่เห็นในประเทศอังกฤษ (ซึ่งมีนาฬิกาแดดมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในยุโรป)
เขียนเป็นภาษาอังกฤษก็มี เป็นภาษาละตินก็มี.
นาฬิกาแดดที่ Castle Howard (Yorkshire, UK)
แผ่นหน้าปัดที่มีตัวเลขที่เลือนลางมากแล้ว
หน้าปัดนาฬิกาแดดที่บอกเดือน, 16 ทิศ, เมืองใหญ่ในทิศสำคัญๆ. ส่วนข้อความที่เขียนว่า Figures are distance in miles as the crows flies. เจาะจงว่า ตัวเลขบอกระยะทางเป็นไมล์
โดยเลือกเส้นทางสายตรงที่เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดระหว่างตำแหน่งที่ตั้งสองแห่ง เทียบกับการบินของนกกา ที่ไม่แวะเวียนหรืออ้อมไปมา
แต่บินตรงไปยังที่หมาย. ยังมีข้อความสอนให้คิดหาเวลาของนิวซีแลนด์ว่าต้องบวกเข้าไปกี่นาทีเป็นต้น. เป็นนาฬิกาแดดที่ให้ข้อมูลและสอนให้รู้จักใช้ด้วย. จากสวนพฤกษศาสตร์เมือง Christchurch
นิวซีแลนด์.
นาฬิกาแดดที่สวนพฤกศาสตร์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
มีข้อความเขียนไว้(แกะรอยมาได้)ว่า All Time Is No Time When Time Is Past / Make Time Save
Time While Time Lasts. ในทำนองว่า
เวลาที่ผ่านไป ไม่ใช่เวลาแล้ว จงทำเวลา รักษาเวลาเมื่อยังมีเวลา.
นาฬิกาแดดแบบตั้งตรงเนรมิตติดลงบนกำแพงเลย
เช่นที่ Queen’s College ในเมือง Cambridge ประเทศอังกฤษ. มีรายละเอียดสัญลักษณ์ของจักรราศรีด้วย.
นาฬิกาแดดที่ดูเหมือนง่ายๆ
มีเส้นเพียงไม่กี่เส้น บนกำแพงอาคารที่อาศัยหลังหนึ่งบนเกาะ Reichenau ในทะเลสาบ Konstanz เยอรมนี. เป็นเกาะเล็กๆมีพื้นที่เพียง
4.3 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ตั้งอารามนักบวชเบเนดิคติน (Benedictin Abbey of Reichenau) ที่นักบุญ Pirmin
ได้สถาปนาขึ้นที่นั่นในราวปี 724. กลายเป็นศูนย์อบรมมัคนายกและบาทหลวงผู้จะไปรับใช้จักรพรรดิและศาลตุลาการของขุนนางต่อไป รวมทั้งเป็นศูนย์รวมหนังสือที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง. ชาวเมืองนี้จึงน่าจะยังมีสำนึกเกี่ยวกับศาสนาอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ที่นั่นจากรุ่นสู่รุ่น. เช่นนี้อธิบายภาพนาฬิกาแดดบนกำแพงว่า ใช้รูปบาทหลวงและวัด
บาทหลวงเหยียบบนงูตัวหนึ่ง งูอีกตัวกำลังมาพันที่ไม้เท้าคู่มือ
ถ้างูแทนซาตานหรือกิเลสตัณหา ซาตานก็ยังป้วนเปี้ยนคอยชักจูงไปในทางที่ผิดเสมอ. ข้อความละตินที่เขียนกำกับไว้ ORA ET LABORA ในความหมายตรงตัวว่า เวลาและการงาน.
ทำงานคือการใช้เวลา. งานรับใช้พระเจ้า งานสุจริตเพื่อการยังชีวิต
คือสิ่งที่ควรทำเพื่อให้ชีวิตนี้มีความหมาย.
การรู้จักใช้เวลาอย่างถูกต้อง คือการสรรเสริญพระเจ้า และทำงานที่ถูกต้อง (การมีสัมมาอาชีวะ) ก็เป็นการสั่งสมคุณงามความดี. ในคติศาสนา พระเจ้าคือเวลา เวลาคือพระเจ้า เพราะเป็นที่เริ่มต้นและที่สิ้นสุด
เป็นอัลฟา Alpha (Α or α) กับโอเมก้า Omega (Ω or ω). < อัลฟากับโอเมก้า> เป็นสำนวนที่ใช้เรียกพระผู้เป็นเจ้า
มาจากอักษรตัวแรกและตัวสุดท้ายในระบบอักขรวิธีกรีก
และกลายเป็นสัญลักษณ์ใช้ในศาสนาคริสต์.
มุมตึกที่เมืองเอดินเบิร์ก
มีนาฬิกาแดดสองด้าน ประดับอาคารเตือนใจคนที่เหลือบตาขึ้นมอง. นักบวชผู้มีเครายาว มีเมฆก้อนหนึ่งอยู่หลังหัว
คล้ายๆจะบอกว่า วิญญาณสำนึกของเขาอยู่นอกเหนือบริบทโลก(เพื่อเข้าถึงพระเจ้า). คุกเข่าบนฐานที่มีหน้าปัดนาฬิกาแดดสองหน้า มือซ้ายถือกระดาษหรือหนังสือ(หรือสิ่งจดบันทึกเช่นหนังสัตว์ในสมัยโบราณ) หน้าเงยไปตามมือขวาที่ยกขึ้นชี้ไปในทิศทางที่มีดวงอาทิตย์สีทองโผล่ออกจากกลุ่มเมฆ. ตรงกลางดวงอาทิตย์เขียนอักษรไว้สามตัว ตัวแรกเป็นภาษากรีก
ตัวที่สองภาษาละติน และตัวที่สามภาษาอังกฤษ ทั้งสามตัวคือคำเดียวกัน แปลว่าพระเจ้า. สรุปเป็นภาพที่น่ารักไม่น้อย. นักบวชสรรเสริญพระเจ้าผู้สร้างดวงอาทิตย์
และแสงอาทิตย์ชี้บอกเวลาแก่ชาวโลก. สิ่งประดับเล็กๆแบบนี้
มีความสำคัญ อย่างน้อยทำให้เข้าใจจิตสำนึกของคนทำ.
นาฬิกาแสงแดดที่ประกอบด้วยหน้าปัดหลายด้านที่ประดับสวน
Pittmeddan (Aberdeenshire, Scotland) เขาอธิบายไว้ว่า
นาฬิกาแดดตรงนั้น (เคย)บอกเวลาที่อ่านจากแสงแดดและเวลาที่อ่านจากแสงจันทร์ด้วย. แน่นอน ไม่มีคำอธิบายว่าอ่านอย่างไร.
นาฬิกาแดดที่ Glamis Castle (Angus,
Scotland) ที่น่าจะเป็นนาฬิกาแดดหนึ่งเดียวที่ไม่เหมือนนาฬิกาใดในโลก. ติดคำอธิบายไว้ว่า ประดิษฐ์ขึ้นในปี 1671 สูงราว7เมตร เป็นนาฬิกาแดดที่ใหญ่ที่สุดในสก็อตแลนด์ยุคนั้น. ยืนยันด้วยว่า มันยังบอกเวลาได้อยู่ หากปรับมาตรการการตั้งเวลาใหม่
เพราะสร้างขึ้นในยุคใช้ปฏิทิน Gregorian calendar ที่สันตะปาปาเกรกอรีที่สิบสามเป็นผู้สถาปนาขึ้นใช้ในปี1582, ในยุคที่ไม่มีการปรับเวลาหน้าร้อนหน้าหนาว, ในยุคที่ยังไม่มีระบบ Greenwich Mean Time (GMT) ที่ตั้งให้เวลาที่เมืองกรีนิช Greenwich ประเทศอังกฤษ เป็นเวลามาตรฐานสากล เป็นเวลาอ้างอิงไปในทุกแห่งในโลก
ตามที่นักวิทยาศาสตร์-ดาราศาสตร์ได้ตกลงกัน(สมมุติร่วมกันและยอมรับกัน) ให้เส้นแวงลองจิจูดที่ 0 (เส้น Prime meridian) ตัดผ่านหอดูดาว (Royal Observatory เมือง Greenwich) และแบ่งโลกออกเป็นสองซีกตะวันออกตะวันตก
โดยมีเส้นแวงซีกละ 180º. คำอธิบายยังเจาะจงด้วยว่า
การสร้างนาฬิกาแดดเน้นความเก๋ความงามของสิ่งประดิษฐ์มากกว่าเน้นการทำงานของมัน (นั่นคือให้เป็นสิ่งสวยงามประดับสวนมากกว่าให้บอกเวลา). เครื่องนี้มีหน้าปัดแปดสิบหน้า กับหน้าปัดอีกสี่หน้าในอุ้งมือของสิงโต. ภาพที่เห็นนี้ เป็นสิ่งที่เหลือมาจากศตวรรษที่17 คู่กับต้นยู (yew) ต้นไม้สีเขียวกอสูงใหญ่บนสนาม
(เท่ากับว่าต้นนี้มีอายุสามร้อยกว่าปีแล้ว จึงมหัศจรรย์ยิ่งกว่านาฬิกาแดด).
หน้าปัดหน้าฬิกาแดดที่มีหลายหน้าปัดนั้น
แรกเริ่ม แต่ละหน้าปัดมีขีดบอกเวลาเมื่อแสงแดดส่องลงที่หน้าปัดนั้น
ดังรายละเอียดในภาพนี้จากเมืองเคมบริดจ์. หากมี
หน้าปัด 12 ด้านแต่ละด้านแทนชั่วโมงหนึ่งในสิบสองชั่วโมงของกลางวัน. แต่ละด้านสอดคล้องกับเส้นทางเดินของดวงอาทิตย์
ที่เปลี่ยนมุมไปตลอดเวลา. คนคิดทำนาฬิกาแดด
ได้จับเส้นทางแสงแดด(เมื่อมีแดด)ในแต่ละขณะแต่ละชั่วโมงของกลางวันแล้ว
จึงรู้วิธีจัดหน้าปัดให้สอดคล้องกับเส้นทางเดินของดวงอาทิตย์. ปกตินาฬิกามีเส้นมีขีดและตัวเลข
แต่เพราะตั้งอยู่กลางแดดและกลางฝนกับหิมะ ข้อมูลจึงถูกลบเลือนหายไปตามกาลเวลา.
นี่เป็นแบบนาฬิกาแดดบนกำแพงที่มีรายละเอียดมาก
หน้ากำแพงที่เป็นหน้าปัดนาฬิกาแดดเครื่องนี้ มีรูปปั้นของนักดาราศาสตร์ด็อกเตอร์ Milan Rastislav Štefánik
(1880-1919) ชาวสโลวัค. เขาเป็นนักคณิตศาสตร์
นักอุตุนิยมวิทยา นักฟิสิกส์ นักบินและนักการเมืองด้วย. มีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในฐานะนายพลประจำการในกองทัพฝรั่งเศสและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามของรัฐบาลเช็คโกสโลวาเกียยุคนั้น. มีส่วนช่วยปกป้องสถานภาพของรัฐาธิปัตย์ของเช้คโกสโลวาเกียไว้ได้. แต่ชื่อเสียงในฐานะนักดาราศาสตร์ยิ่งใหญ่กว่ามาก
ได้ปีนภูเขามงต์บล็องหลายครั้งเพื่อไปสังเกตดวงจันทร์และดาวพุธ. งานศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์
เป็นที่ยกย่องทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสและอังกฤษ
เขาได้รับรางวัลนานาชาติหลายครั้ง. (อ่านมาถึงตรงนี้
คงเข้าใจดีขึ้นว่า ทำไมมีรูปปั้นเขากับนาฬิกาแดดบนผนังกำแพงมุมนี้ในสวน
ใกล้ๆที่ตั้งอาคารท้องฟ้าจำลองบนเนินเขา Petřín กรุงปร้าก สาธารณรัฐเช้ค).
ในฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนีเป็นต้น ประติมากรรมประดับสวนที่เกี่ยวกับเวลา
ผิดไปจากการติดตั้งนาฬิกาแดดและค่านิยมแบบอังกฤษ.
เช่นเป็นรูปลักษณ์ของชายชราสื่อความหมายของบิดาแห่งกาลเวลา
มีปีกเพื่อสื่ออำนาจที่อยู่เหนือมนุษย์ นั่นคืออำนาจของเวลาที่บินผ่านไปอย่างรวดเร็ว
ที่เรียกกันว่า“Father Time”. หรือภาพชายชราประคองนาฬิกาแดด หน้าก้มต่ำอ่านเวลา, หรือยกหน้าปัทม์นาฬิกาไว้เหนือศีรษะ.
บางทีก็ถือนาฬิกาทรายไว้ในมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งถือเคียวด้ามยาว. นาฬิกาทรายต้องการสื่อการไหลผ่านไปของเวลา
เคียวเป็นสัญลักษณ์ของเวลาที่เก็บเกี่ยวตัดเวลานาทีของชีวิตคนออกไปทุกขณะ
เวลาที่ตัดไปแล้วก็หายวับไป.
เทวดาในท่าคุกเข่าข้างหนึ่ง
บนหลังมีรูปเหลี่ยมๆ(น่าจะสิบสองเหลี่ยม) ที่เป็นภาพย่อและรวบรัดของหน้าปัดนาฬิกาแดด. เทวดาดูเหมือนกำลังจะลุกขึ้นยืน. ฤาเวลานั้นหนักหน่วงสุดจะทานไหว เพราะต้องแบกไว้ตลอดไป. ไม่มีใครหรืออะไร หลุดออกไปจากเวลาได้หรือ? ภาพเวลาที่ชวนคิดและไม่เหมือนที่ใด จากวิลลา Villa Barbarigo (17thc.) เมือง Valsanzibio (Padova, Italy).
เทวดาผู้เฒ่ากำลังตัดปีกของเทวดาผู้น้อยที่ร้องจ้าเพราะถูกตัดปีก. กระบอกธนูที่เท้า บอกให้รู้ว่า เทวดาตัวน้อยนี้คือคิวปิด ถูก Father Time ตัดปีก. เวลาของแต่ละคนลดลงไปทุกขณะ (เวลาของเทวดาด้วยหรือ?). เป็นการเตือนสติเรื่องเวลาแบบหนึ่ง. ภาพนี้จากอุทยานปราสาท Veitshöchheim นอกเมือง Würzburg เยอรมนี.
ภาพลักษณ์ของเวลา
ที่พิพิธภัณฑ์แห่งเวลา (Palacio del Tiempo) เมือง Jerez de la Frontera ภาคใต้ของสเปน. ประติมากรรมเครื่องมือ
armillary sphere ที่ประกอบด้วยห่วงวงแหวนขนาดยักษ์
เป็นเครื่องมือดาราศาตร์รุ่นแรกๆ เชื่อกันว่า Eratosthenes เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นคนแรกในราวปี 190-120 BC. ห่วงวงแหวนต่างๆแทนสวรรค์ วงแหวนพัฒนารูปแบบละเอียดมากขึ้น แทนเส้นขอบฟ้า
เส้นแวงเมอริเดียน เส้นศูนย์สูตร เส้นทรอปิก วงแหวนขั้วโลกเป็นต้น. การใช้เครื่องมือดาราศาสตร์แบบนี้มาแทนความหมายของเวลานั้น
เป็นการกลับไปที่จุดเริ่มต้น เมื่อคนเริ่มสำนึกเกี่ยวกับเวลาและพยายามหาวิธีจับเวลา
รู้เวลาได้อย่างไร. ทั้งหมดเริ่มขึ้นในท้องฟ้า. พิพิธภัณฑ์ที่เมืองเฆเรธ-Jerez เป็นคลังสะสมเครื่องมือวัดเวลา
บอกเวลาที่น่าสนใจมากแห่งหนึ่ง.
เครื่องมือดาราศาสตร์แบบวงแหวน
เครื่องนี้ติดนาฬิกาดาราศาสตร์ด้วย. Joost Bürgi และ Antonius Eisenhoit ประดิษฐ์ขึ้นในปี 1585 (ที่เมือง
Kassel). ลูกโลกดาราศาสตร์นี้ถูกกองทหารสวีดิชปล้นไปในปี 1648. ปัจจุบันเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ Nordiska Museet กรุงสต็อกโฮม. มีเอกสารติดไว้กับลูกโลกดาราศาสตร์นี้ว่า
นักดาราศาสตร์ Johannes Kepler ใช้ลูกโลกดาราศาสตร์นี้ศึกษาดวงดาว. เจ้าของผู้ถ่ายภาพนี้คือ Chris Bainbridge เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2009 ลงใน Wikimedia.commons.
จบตัวอย่างเรื่องนาฬิกาแดด
ที่เป็นเครื่องมือแรกๆของการจับเวลา
สนใจอ่านวิวัฒนาการจากดาราศาสตร์สู่การประดิษฐ์นาฬิกา เชิญตามอ่านได้ในบล็อกนี้ >>
Sunken garden เป็นสวนที่เจาะจงสร้างให้อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นที่อยู่รอบข้าง
เพื่อให้คนมองแปลงสวนนั้นได้เด่นชัด หรือเชิดชูความงามของดอกไม้ในแปลงนั้น.
Sunken garden ภายในสวนของ Clare College เมือง Cambridge, UK.
Swiss garden สวนสวิส
หมายถึงสวนที่มีองค์ประกอบสวนตามแบบสวิสนิยม เช่น มีอาคารแบบ chalet [ชาเล่]. พืชพรรณที่ปลูกก็มีถิ่นกำเนิดในประเทศสวิตเซอแลนด์และนำมาอนุรักษ์ในสวน.
สวนสวิสเป็นแบบสวนที่ชาวอังกฤษนิยมเป็นพิเศษในศตวรรษที่19. หลังจากที่ชาวอังกฤษได้เห็นภาพสเก็ตช์ภูมิทัศน์แบบต่างๆในเทือกเขาแอลป์ของจิตรกรชาวอังกฤษ
William Turner
(1775-1851) สังคมตื่นตัว (เหมือนกบออกจากกะลาครอบ) ชาวอังกฤษเริ่มออกเดินทางไปพิชิตเทือกเขาแอลป์. ทั้งหมดนี้กระตุ้นให้สถาปนิกสวนจำลองภูมิประเทศอัลไพน์ไว้ในสวนด้วย.
-----------------------------------
Letter T
T-1 >> Tabernacle,
Talus, Tank, Tapis vert, Taxonomy, Tazza, Tea garden, Tea house, Temperate
house, Tempietto, Temple,
Tender plant, Term/Herm, Terra-cotta, Terrace, Terrace(d) garden, Terrace walk,
Thatch, Theatre.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/t-1-theatre.html
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/t-1-theatre.html
เมนูหนังสือ
ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html
Comments
Post a Comment