T-1-Theatre

Tabernacle ในบริบทสวนหมายถึงกระท่อมหรืออาคารขนาดเล็ก ใช้เป็นที่นั่งพักและหากตั้งอยู่ริมน้ำ อาจใช้เป็นที่นั่งตกปลา.

Tapis vert [ตาปีแวรฺ] เป็นคำฝรั่งเศส แปลตามตัวว่า พรมสีเขียว ใช้เรียกสนามหญ้าผืนสี่เหลี่ยม หรือสนามที่เป็นด้านเป็นมุมอย่างสม่ำเสมอ. สนามหญ้าเป็นองค์ประกอบสำคัญของสวนแบบแผนฝรั่งเศส. ต่อมา ทุกประเทศ เจ้าของสวนหรืออุทยานต่างสร้างสนามหญ้าพรมเขียว ถือเป็นความงามสะอาดตา. แต่การมีสนามหญ้าสวยๆนั้น ดูแลยากมาก ใช้แรงคนจำนวนมาก โดยเฉพาะในยุคศตวรรษที่ 17 ต้องร่ำรวยจริงและมีคนงานเป็นจำนวนสิบขึ้นไป. เขาว่าปลูกไม้ดอกง่ายกว่า. ปัจจุบันเครื่องตัดหญ้าช่วยได้มาก แต่ก็มีข้อจำกัด. ต่อไปคงมีหุ่นยนต์มาช่วย.
สนามหญ้าเขียวหลายผืนที่อุทยาน Vaux-le-Vicomte ชานเมืองปารีส (Melun) ฝรั่งเศส. สภาพที่เห็นในปัจจุบัน ยังเป็นภาพลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ในความเรียบง่าย เป็นความสมดุลสมบูรณ์หาที่เปรียบมิได้. เป็นพยานของวิสัยทัศน์อันบรรเจิดและประณีตเกี่ยวกับภูมิทัศน์ของ Nicolas Fouquet และสองสถาปนิกฝรั่งเศสที่ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกไว้.
อุทยานที่นี่ Nicolas Fouquet หัวหน้าฝ่ายการเงินของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้สร้างขึ้นเป็นที่อยู่ส่วนตัว ระหว่างปี 1658-1661 โดยมีสถาปนิกคนสำคัญสองคนคือ Louis Le Vau และ André le Nôtre กับจิตรกรนักตกแต่ง Charles Le Brun. ทั้ง Fouquet และศิลปินทั้งสาม ร่วมกันทำให้ปราสาทและอุทยาน Vaux-le-Vicomte เป็นสุดยอดของศิลปะศตวรรษที่17. Fouquet ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ดูแลพระคลังได้อย่างดี ตัวเขาก็ร่ำรวยมหาศาลไปด้วย. (เล่าสั้นๆอย่างชาวบ้านๆว่า) Fouquet จัดตกแต่งห้องใหญ่ที่สุด ดีที่สุด อย่างหรูหราให้สมพระเกียรติเพื่อให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ ที่เขาทูลเชิญให้เสด็จไปพักผ่อนที่นั่น. วันที่พระเจ้าหลุยส์เสด็จไปถึง เห็นปราสาทของ Fouquet แล้ว ไม่อยู่ค้าง เสด็จกลับ. วันรุ่งขึ้นและวันต่อๆมา ทั้งปราสาทถูกยึด Fouquet ถูกจับไปขังคุกและตายในคุก (1661-1680) ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (lèse-majesté). พระเจ้าหลุยส์ให้ขนของสวยของงามทุกอย่าง รวมทั้งต้นไม้ไปหมด. ไม่นานต่อมา พระองค์ทรงให้สถาปนิกและจิตรกรทั้งสามร่วมกันวางผังสร้างพระราชวังและพระราชอุทยานแวร์ซายส์โดยที่พระองค์เองติดตามควบคุมการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด. ต้องให้รู้กันทั้งโลกว่า ใครจะเกินหน้าพระองค์นั้น ไม่ได้!

สนามหญ้าผืนยาวณอุทยานปราสาท Schwerin เยอรมนี. มีปราสาทที่นั่นตั้งแต่ราวปีคศ. 973. ต่อมาบูรณะและสร้างต่อเติมตามสถาปัตยกรรมเรอแนสซ็องส์ ระหว่างปี 1845-1857 จนเป็นแบบที่เห็นในปัจจุบัน. เคยเป็นตำหนักของราชตระกูล Mecklenburg. ปัจจุบันก็ยังเป็นที่ตั้งของรัฐสภาของมณฑลนั้น (Mecklenburg-Vorpommern state parliament).
สนามหญ้าเขียวเป็นพรมผืนยาวมากบนพื้นสวนสาธารณะที่สำคัญที่สุดชื่อ Parque del Buen Retiro กลางเมืองมาดริด ประเทศสเปน. เคยเป็นสวนหลวงของราชวงศ์สเปน จนถึงปลายศตวรรษที่19.
ห้องสวนหนึ่งที่เขาตั้งชื่อเรียกว่าห้อง Pillar Garden มีพรมเขียวสวยงามและเรียบร้อย แม้เป็นผืนเล็กสองผืนวางต่อกัน ก็สร้างทัศนมิติที่ตรึงตาตรึงใจ จนไม่กล้าเดินเหยียบไปบนสนาม. ภาพจากคฤหาสน์ Hidcote Manor Garden ใกล้เมือง Chipping Campden (Gloucestershire, UK).

Taxonomy  คือการจัดแยกประเภทพืชพันธุ์ (หรือสัตว์) บางทีรวมไปถึงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับต้นกำเนิดของพันธุ์แต่ละพันธุ์ด้วย.

Tazza [ตัซสะ] เป็นคำอิตาเลียน แปลว่า ถ้วย หมายถึงแอ่งทรงกลมเหมือนชามก้นกลมขนาดใหญ่บนพื้น สำหรับปลูกไม้ดอกไว้โชว์. นิยมใช้กันในยุควิคตอเรีย.
                                                  
Tea garden สวนน้ำชา นิยมกันมากในสมัยวิคตอเรีย. เหล่าสตรีแต่งตัวสวยงามไปเดินเล่นในสวน และดื่มน้ำชาในตอนบ่ายๆ เป็นงานสังคมแบบหนึ่ง. สวนน้ำชามักมีสวนวงกต (ดูที่คำ labyrinth, maze) ให้คนเข้าไปเดินเล่น พูดคุยสังสันทน์กัน. ในช่วงปี1920-1930 นิยมจัดโต๊ะเก้าอี้สำหรับดื่มน้ำชาและขนมในบริเวณสวนผลไม้หรือสวนดอกไม้. โต๊ะเก้าอี้หรือสิ่งอื่นๆที่ใช้เพื่อการนี้ มักเลือกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติเช่นต้นไม้ กิ่งไม้ หวาย เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศและวิถีชีวิตแบบชนบท. สวนน้ำชาในยุคนี้ ประเภท eco friendly นั้น ต้องไปตามต่างจังหวัดในอังกฤษเป็นต้น.

Tea house
อาคารน้ำชา เป็นอาคารหนึ่งภายในบริเวณสวน ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ดื่มน้ำชา. ตัวอย่างของอาคารน้ำชาแบบจีน เช่นในสวนจีนที่ประเทศจีนไปสร้างให้ ณ เมืองซิดนีย์ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเป็นอนุสรณ์สัมพันธไมตรีระหว่างทั้งสองประเทศ หรืออาคารน้ำชาในพระราชวัง Sanssouci สร้างตามจินตนาการของคนยุโรปเกี่ยวกับค่านิยมและธรรมเนียมจีนในเรื่องการดื่มชา. เป็นจินตนาการที่ทำให้สถาปัตยกรรมที่นั่นเพี้ยนๆไป แต่ชี้ให้เห็นความสนใจ ความลุ่มหลงอารยธรรมจีนที่แพร่สะบัดไปทั่วทั้งยุโรปในศตวรรษที่18 อันเป็นผลอย่างหนึ่งจากการเดินเรือค้าขายกับประเทศจีนและตะวันออกไกล.
ดูรายละเอียดและภาพได้ที่ สวนจีน-Chinese garden >> https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/02/c-4-chinese-garden.html
และที่ศิลปะจีนพันทางในยุโรป-Chinoiserie >> https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/02/c-5-chinoiserie_26.html

Temperate House เป็นอาคารเรือนกระจกที่ปรับอุณหภูมิให้อบอุ่นแต่ไม่ถึงกับร้อน เพื่อเพาะเลี้ยงพืชพันธุ์ที่มาจากเขตภูมิอากาศอบอุ่น. ส่วนอาคารเรือนกระจกเพื่อพืชพรรณเมืองร้อน เรียกเป็น palm house หรือ tropical house หรือ hot house.
เรือนกระจกที่อภิบาลพรรณไม้จากเขตอบอุ่น-Temperate House ที่สวนคิว Kew Garden (London, UK). ภาพมุมสูงอย่างนี้ เห็นแล้วชื่นชมคนออกแบบ. ภาพจาก Geograph.org.uk

Tempietto [เต็มปีแย็ตโตะ] เป็นคำอิตาเลียน หมายถึงวัดขนาดเล็ก. คำนี้ใช้หมายถึง อาคารทรงกลม(แบบ rotunda) ที่เปิดโล่ง. แบบดังกล่าวนี้ สถาปนิก Bramante [บรามันเต้] เป็นผู้เนรมิตขึ้นประดับสวน Montorio [มนโตรีโย] ที่กรุงโรม. ดูตัวอย่างภาพได้ในคำ rotunda ในลิงค์นี้.

Temple วัดหรือวิหารในบริบทของสวน หมายถึงอาคารขนาดเล็กย่อส่วน เลียนแบบสถาปัตยกรรมบางส่วนของวัดหรือวิหารในคริสต์ศาสนา เช่นมีหน้าต่างทรงสูงปลายบนแหลมแบบกอติค หรือมีเสาและหน้าบันแบบวิหารกรีกโรมันคำนี้ในที่สุดอาจใช้เรียกอาคารหลายแบบที่สร้างประดับสวน ที่มีพื้นที่ภายในอาคารเพียงพอสำหรับนั่งหรือยืน อาจเป็นอาคารปิดหรือเปิดโล่งก็ได้. ค่านิยมที่สืบทอดมาจากยุคคลาซสิกนั้น วัดวิหารที่สร้างกัน อุทิศแด่เทวีแห่งความรักเช่นวีนัส หรือเทวีแห่งป่าเขาเช่นไดแอนนา หรืออุทิศให้แก่คุณงามความดีอย่างเฉพาะเจาะจง. จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อเรียกอาคารดังกล่าวในสวนหรืออุทยาน เป็นวิหารวีนัสบ้าง วิหารไดแอนนา วิหารอพอลโล วิหารฟลอราเป็นต้น. ต่อมาการตั้งชื่อเบนไปใช้คำนามที่ที่สื่อนามธรรมหรือคุณธรรมสากลเช่น วิหารแห่งคุณธรรมโบราณ วิหารแห่งมิตรภาพ. การตั้งชื่อเป็นนามธรรมต่างๆ เหมือนต้องการเทิดนามธรรมนั้น ว่าสำคัญเทียบเท่าเทพเจ้าเป็นต้น.
วิหารกรีกที่เรียกกันว่า Tempio di Esculapio ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบเล็กๆ ภายในอุทยานของ Villa Borghese. เป็นสวนสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงโรม. ภายในวิหาร มีรูปปั้นของเทพ Esculpio ตั้งเด่นอยู่ตรงกลาง. Esculpio ชื่อเทพโรมัน ตรงกับชื่อ Asclepio ในภาษากรีก. เป็นเทพเจ้าผู้เยียวยารักษาโรค(และเทพแห่งโหราศาสตร์ด้วย) มีคทาคู่มือที่มีงูเลื้อยพันอยู่ อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อการฟื้นฟูชีวิต ที่ได้กลายมาเป็นโลโก้ของการแพทย์ในเกือบทุกประเทศ. วิหารนี้สร้างในศตวรรษที่18 ให้เป็นองค์ประกอบ ประดับสวนอย่างเฉพาะเจาะจง สอดคล้องกับหลักการสร้างสวนภูมิทัศน์ที่เริ่มขึ้นในอังกฤษยุคนั้น. ในกรณีนี้ ได้เจาะจงเลียนแบบวิหารกรีกริมฝั่งน้ำในอุทยานภูมิทัศน์ Stourhead (Wiltshire, UK).
วิหารที่ใช้ชื่อเจาะจงว่า วิหารแห่งคุณค่าบริติช (ผู้มีความดี ผู้ทรงเกียรติในหมู่ชาวอังกฤษ) Temple of British Worthies อยู่ภายในอุทยาน Stowe (Buckinghamshire, UK). เป็นสิ่งก่อสร้างที่ตันเป็นกำแพงโค้งๆ มิได้มีพื้นที่ภายใน. บนกำแพง มีซุ้มลึกเพดานครึ่งวงกลม เป็นที่ตั้งของรูปปั้นครึ่งตัวของบุคคลมีชื่อที่ได้สร้างคุณงามความดีในประวัติศาสตร์อังกฤษสมัยใหม่ ทั้งหมดสิบหกรูปปั้น แบ่งออกเป็นปีกซ้ายและขวาของกำแพง โดยมีรูปปั้นครึ่งตัวของเทพ Mercury เทพแห่งการสื่อสาร ภายในซุ้มสามเหลี่ยมหน้าจั่วเหนือกำแพง. เขาจัดเรียงรูปปั้นเป็นแถวอย่างเฉพาะเจาะจง นั่นคือ รูปปั้นของกวี ปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์เรียงอยู่บนกำแพงด้านซ้าย และรูปปั้นกษัตริย์ นักการเมืองและนักรบ เรียงอยู่บนด้านขวา. มีคำจารึกสรุปความดีของแต่ละบุคคลเหนือรูปปั้น ซึ่งได้เลือนหายไปเกือบหมดแล้วตามกาลเวลา และมีรูปปั้นเพิ่มขึ้นด้านข้างที่เป็นส่วนหนาของกำแพง ข้างละหนึ่ง รวมทั้งหมด17 รูป (แต่นับไม่ได้ 17 ในภาพนี้).  บุคคลที่ได้รับยกย่องไว้ณที่นั้น เช่น William Shakespeare, Alexander Pope, Sir Thomass Gresham, John Locke, Sir Isaac Newton, Sir Walter Raleigh, King Alfred, Queen Elizabeth.
อ่านรายละเอียดพร้อมคำจารึกสรรเสริญแต่ละบุคคลได้ในอินเตอเน็ตที่   http://faculty.bsc.edu/jtatter/worscrip.html
วิหารนี้แนะให้เข้าใจจุดยืนและการยกย่องสรรเสริญของชาวอังกฤษต่อปราชญ์และคนดีในยุคต่างๆ. ในฤดูร้อน ยามอาทิตย์อัสดง ลำแสงอาทิตย์สุดท้าย ทอดไปยังอนุสาวรีย์นี้ เหนือพื้นที่ตรงนั้น ลำแสงส่องไปยังรูปปั้นที่อยู่บนกำแพงปีกขวา ผ่านรูปปั้นกษัตริย์ นักรบและนักการเมือง ไปยังรูปปั้นที่เรียงรายบนกำแพงปีกซ้ายที่เป็นรูปปั้นของนักวิทยาศาสตร์ ปราชญ์และกวี. John D.Tatter จากมหาวิทยาลัย Birmingham-Southern College สรุปไว้ว่า ราวกับว่าธรรมชาติได้ถ่ายทอดคำพูดของ Alexander Pope ว่า Art after Art goes out, and all is Night - The Dunciad  ในความหมายว่า เมื่อยามไร้แสงตะวันความงามในธรรมชาติสิ้นสุดลง งานศิลป์หรือสรรพสิ่งอื่นใดเป็นเพียงความมืด. หรือในความหมายอีกแง่มุมหนึ่ง อาจสื่อนัยว่า คุณงามความดีหรือผลงานใด หากไม่มีศิลปะมาค้ำจุน ก็เหมือนอยู่ในความมืด ไม่มีผู้ใดรู้เห็น.

ภาพ Gothic Temple อยู่ภายในอุทยาน Stowe (Buckinghamshire, UK) เป็นอาคารที่ตั้งใจสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมกอติคอย่างคร่าวๆ. Stowe (เคย)ได้ชื่อว่าเป็นอุทยานภูมิทัศน์ที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศอังกฤษ. อุทยานแห่งนี้ ใช้คำ temple เรียกทุกอาคารในสวน ทั้งๆที่ไม่ได้มีรูปลักษณ์เป็นวัดหรือวิหารนัก. ชวนให้คิดว่าทำไม? เจ้าของเป็นตระกูลมั่งคั่ง อาจต้องการเน้นความขลังของสถานที่ด้วยการโยงไปถึงค่านิยมคลาซสิก ในขณะเดียวกันก็จรรโลงชื่อตระกูลของเขาด้วย (เป็นตระกูล Temple นั่นเอง).

มองผ่านรูปปั้นนักรบโรมัน(แกลดีเอเทอ ที่เจาะจงในศิลปะว่า Borghese Gladiator) ไปยังวิหารลมสี่ทิศ-Temple of the Four Winds ที่ Castle Howard (Yorkshire, UK). วิหารลมสี่ทิศนี้เดิมเรียกว่าวิหารไดแอนนา. John Vanbrugh (1664?-1726) เป็นผู้ออกแบบ เขาตายก่อนที่วิหารจะสร้างเสร็จอีกสิบสองปีต่อมา. ห้องใต้ดินที่วิหารนี้เคยเป็นที่เหล่าผู้รับใช้ตระเตรียมอาหารเพื่อบริการแขกทั้งหลายของตระกูล Howard ที่ไปเยือนที่นั่นบ่อยๆ.
วิหารฟลอรา เทพธิดาแห่งดอกไม้และฤดูใบไม้ผลิ มือแตะตะกร้าดอกไม้เหนือศีรษะ Temple of Flora ที่ Chatsworth House (Derbyshire, UK)
วิหารแห่งมิตรภาพ-Temple of Friendship 
ที่อุทยาน Stowe House (Buckinghamshire, UK).

วิหารไดแอนนาภายในอุทยานปราสาท Blenheim (Oxfordshire, UK) มีแผ่นจารึกข้อมูลว่า ในวิหารนี้ Winston Churchill ขอแต่งงานกับ Clementine Hoziet เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมปี 1908.
วิหารในอุทยาน Charlottenhof (Potsdam, Germany) ประดับด้วยสฟิงค์หนึ่งตัว ใช้เป็นหน่วยบริการเครื่องดื่มและขนม.

Tender plant หมายถึงพืชพันธุ์(เปราะบาง) ที่คนสวนต้องคุ้มครองและดูแลมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในระหว่างฤดูหนาว หรือในยามอากาศแปรปรวน.

Term ดูที่คำว่า herm ในบล็อกนี้.

Terracotta มาจากคำละติน terra (ดิน) และคำ cotta (เผา) คือเครื่องปั้นดินเผา ที่ผ่านการอบในเตาเผาขนาดใหญ่(ดั้งเดิมเตาเผาที่มีลักษณะเหมือนถ้ำ). ดินเผาเป็นวัสดุที่ใช้ทำกระถางต้นไม้และแผ่นกระเบื้องเคลือบ. ภาชนะบรรุของเหลวทุกชนิดขนาดต่างๆ แจกันทรงสูงขนาดใหญ่ประดับสวน ผะอบหรือกระปุกสารพัดแบบ  รวมทั้งหม้อไหในครัวเรือน เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่คนทำกันมาแต่ยุคโบราณ.
ตัวอย่างที่น่าทึ่งไม่มีอะไรเหมือน คือกลุ่มประติมากรรมน้ำพุขนาดใหญ่ ตรงหน้า People’s Palace and Winter Palace เมืองกลาสโกว สก็อตแลนด์ ทำด้วยเครื่องปั้นดินเผา เป็นสีน้ำตาลแดงทั้งหมด เขาเรียกกันที่นั่นว่า Doulton Fountain.
The Doulton Fountain สถาปัตยกรรมน้ำพุทำด้วยดินเผา ที่เมืองกลาสโกว สก็อตแลนด์.
  
Terrace เป็นพื้นที่ราบ ด้านหนึ่งติดกับอาคาร เป็นเฉลียงหรือระเบียงมีหลังคา อยู่หน้าบ้าน หลังบ้านหรือด้านข้างของบ้าน. ในชีวิตชาวเมืองปัจจุบันที่ต้องอยู่ตามห้องแถว หรือในตึกสูงหลายสิบชั้น ในแฟลต์หรือห้องชุด การมีเฉลียงหรือระเบียง ประดับด้วยกระถางต้นไม้ดอกไม้ อาจลดความแข็งกร้าวของกำแพงที่เป็นกรอบรอบตัวลงได้บ้าง. เคยเห็นในญี่ปุ่น เขาเอาดินไปถมระเบียงอพ้าร์ตเม้นต์ ปลูกสนามหญ้าประดับด้วยไม้ดอกตามฤดู สร้างสวนฉบับย่อและส่วนตัวบนระเบียง. สวนบนระเบียง พอจะเตือนให้คน“อยู่ติดดิน”ได้บ้าง.
บริเวณพื้นที่ราบบนหลังคาอาคาร ในปัจจุบันนิยมปล่อยให้ว่าง ให้คนไปสูบบุหรี่ เปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เขียวได้ไม่ยาก. อาจประดับด้วยกระถางต้นไม้ต่างๆ ลดความเย็นชาของอิฐปูน. ที่กรุงปารีส เขาเริ่มทำสวนผักสวนผลไม้ รวมถึงการเลี้ยงผึ้งบนหลังคา และในที่สุดเป็นที่พบปะระหว่างสมาชิกที่อยู่ในอาคารเดียวกัน ต่างมาช่วยกันดูแลสวนบนหลังคาของอาคารนั้น. พิสูจน์กันมาแล้วว่า การมีต้นไม้ปลูกบนหลังคา หรือแม้มีเพียงพื้นสนามหญ้าบนหลังคาช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในตึกนั้นได้มาก. (ดูที่ roof garden ในลิงค์นี้)

Terrace garden มิได้หมายถึงสวนบนเฉลียงหรือระเบียงดังที่กล่าวถึงในคำ terrace. แต่หมายถึงที่ดินพร้อมบ้านหรือคฤหาสน์หลังใหญ่กับสวน ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง. พื้นที่สวนโดยปกติอยู่ใกล้อาคารใหญ่ ปราบพื้นที่ให้ราบเป็นหลายระดับ. แต่ละระดับเป็นสวนหนึ่ง ปลูกไม้ต้นไม้ดอก มีทางเดินบนพื้นที่ระดับนั้นและบันไดเชื่อมกับพื้นที่ระดับอื่น. สวนแต่ละระดับอาจจัดไม่เหมือนกันเลยก็ได้. การจัดสวนหลายระดับแบบนี้ พบมากในอิตาลี เพราะพื้นที่บนคาบสมุทรอิตาลี โดยปริยายยาวมากกว่ากว้างและภูมิประเทศสูงๆต่ำๆ. พื้นที่ตั้งของสวนแบบแผนหลายแห่งในยุโรป ก็เอื้อให้มีการสร้างสวนหลายระดับ. จัดเส้นทางเดินใต้ร่มไม้ที่เชื่อมต่อกัน เลียบเลาะแปลงดอกไม้กับปาร์แตร์และชื่นชมประติมากรรมน้ำในรูปแบบต่างๆ สระน้ำ น้ำพุหรือน้ำตก.





ภาพทั้งหมดนี้จากสวนบนเกาะ Isola Bella (Stresa, Lago Maggiore, Italy) ที่ทำให้นึกจินตนาการไปถึง“สวนแขวนแห่งบาบีโลน”(The hanging gardens of Babylon) ในโลกยุคโบราณ.
เทอเรสหลายชั้นบนเกาะ Isola Bella นั้น แต่ละชั้นมีพื้นที่แคบๆ. ดูเทียบกับตัวอย่างอาคาร Orangerie ในหมู่สถาปัตยกรรมที่ Potsdam ข้างล่างนี้ >>

อาคาร Orangerie ในพระราชอุทยาน Sanssouci ที่ Potsdam เยอรมนี ตั้งอยู่บนเนินสูง ถ่ายภาพจากระดับต่ำสุดที่พื้น มีรูปปั้นสัมฤทธิ์ของคนขมังธนู. ระดับพื้นตรงนี้ มีสระน้ำพร้อมน้ำพุ ตรงหน้าซุ้มสามซุ้มที่จัดเหมือนถ้ำใต้บันได. บันไดสองข้าง นำขึ้นไปเทอเรสชั้นสอง.
ลานบนเทอเรสชั้นที่สองค่อนข้างกว้าง  กำแพงเกือบครึ่งวงกลมโอบพื้นที่ตรงกลาง (ระหว่างบันไดสองข้าง). มีเสาประดับบนกำแพงเป็นระยะ บนยอดเสาเป็นใบหน้าของเด็กหนุ่มสาว. กิ่งต้นองุ่นใบสีเขียวอ่อนๆทอดเชื่อมแต่ละเสา.
สระน้ำล้อมรอบกำแพง. บนกำแพงมีหน้าสิงโต อ้าปากกว้าง 
น้ำไหลออกจากปากสิงโตลงสู่สระ.
ภายในกำแพงครึ่งวงกลม มีซุ้มประดับด้วยน้ำพุ

เมื่อดูด้านหลังของเสาแต่ละต้น เห็นว่า เสานั้นบังลำต้นองุ่นไว้. เขาตัดเหลือไว้ต้นละสองกิ่ง จัดให้กิ่งองุ่น งอกยืดยาวออกไปสองข้าง ไปเกาะบนเสาถัดไป. พื้นที่ลานชั้นสองนี้กว้าง มองลงไปยังระดับพื้น มีทิวทัศน์ต่อออกไปไกล.

เทอเรสชั้นที่สาม เป็นชั้นบนสุด มีพานหินเป็นน้ำพุใหญ่ตรงกลางลานเทอเรสนี้ อีกด้านนี้มีรูปปั้นเทวดา ปีกตั้งตรง เหมือนเพิ่งร่อนลงมานั่งตรงนั้น มือขวาถือพวงมาลัย ในท่าพร้อมจะมอบให้แก่คนที่คู่ควร.
ชั้นสามนี้ เป็นทางเข้าสู่ Orangerie ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหอศิลป์. ชั้นบนนี้ เป็นเส้นทางเดินเชื่อมกับพระตำหนักใหญ่ Sanssouci และอาคารอื่นๆในบริเวณอันกว้างใหญ่ที่นั่น.

Terrace walk หมายถึงเส้นทางเดินสายยาวในอาณาบริเวณกว้างใหญ่ เช่นเส้นทางภายในเขตพระราชวัง. อาจเป็นทางตัดตรงจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง หรือเป็นทางเลียบฝั่งแม่น้ำ โค้งหรือวนไปตามสภาพพื้นที่ดินผืนนั้น. อาจเป็นทางที่อยู่ระดับเดียวกันหรือเป็นทางลาด. จุดสำคัญคือ บนทางเดินสายยาวนี้ คนเดินมองเห็นทัศนียภาพหลายแบบ สัมผัสอาณาบริเวณทั้งหมด ทั้งที่เห็นในระยะใกล้และมองเห็นไกลออกไป เช่นมองผ่านม่านกิ่งไม้ใบไม้ พบทิวทัศน์งามมุมหนึ่ง หรือมองลงหุบเหว ก็เห็นทิวทัศน์อีกแบบหนึ่ง หรือมองไกลออกไปถึงหมู่บ้าน เห็นหลังคาหอระฆังของวัด. เส้นทางแบบนี้มักตัดผ่านป่า อยู่ใกล้พรมแดนหรืออยู่สุดอาณาเขตของที่ดินผืนนั้น. สวนอังกฤษขนาดใหญ่ๆ มักมีเส้นทางเดินแบบนี้อย่างน้อยก็ด้านหนึ่งของที่ดิน โดยเฉพาะด้านที่ติดแม่น้ำ สร้างเป็นทางเดินสายยาวแบบนี้.

Thatch ฟางตากแห้ง อาจเป็นหญ้าประเภทกกหรือพันธุ์ที่มีลักษณะใกล้เคียง (ในญี่ปุ่นใช้ฟางข้าว) ที่ตัดมาตากแห้ง รวมและซ้อนทับกันให้เป็นแผ่นหรือผืนหนาๆและแน่นๆ เพื่อนำไปใช้คลุมเป็นหลังคา. หากทำถูกวิธีและหนาแน่นพอ น้ำฝนไม่รั่วหรือซึมผ่านแผ่นหรือผืนฟางแห้งๆลงไปได้. ถือเป็นวัสดุก่อสร้างอย่างหนึ่ง เรียกว่า thatched roof. บ้านชนบทแบบอังกฤษที่มุมหลังคาด้วยหญ้าแบบนี้ ที่รู้จักกันดีคือบ้านของ Anne Hathaway ภรรยาของเช้คสเปียร์.
บ้าน Anne Hathaway เป็นฟาร์มเฮาส์ขนาดใหญ่สิบสองห้องนอน หลังคามุงฟาง. เป็นที่เกิดของ Anne Hathaway ผู้ต่อมาเป็นภรรยาของมหากวีเช้คสเปียร์. บ้านหลังนี้อยู่ในหมู่บ้าน Shottery ไม่ไกลจากเมือง Stratford-upon-Avon ที่เป็นเมืองเกิดของเช้คสเปียร์. บ้านของนายแพทย์ John Hall ลูกเขยของเช้คสเปียร์ ก็อยู่ที่เมืองนี้. โรงละคร Royal Shakespears Theatre ที่ Stratford-upon-Avon เป็นโรงละครแบบ ‘one room’ theatre เหมือนในยุคแรกของการแสดงละครเช้คสเปียร์ คือผู้แสดงและคนดู แชร์พื้นที่เดียวกัน เพราะเวทียื่นออกในพื้นที่ของคนดูที่นั่งอยู่สามด้านของเวที.

Theatre ดั้งเดิมคือบริเวณพื้นที่แสดงละครกลางแจ้ง ตั้งอยู่กลางธรรมชาติ บนเนินเขาหรือริมฝั่งทะเลสาบ ตามขนบที่มีมาในวัฒนธรรมกรีก.
โรงละครกรีกโบราณที่เมือง Ephesus ในจังหวัด Izmir ตุรกี. สร้างในศตวรรษที่10BC ต่อมาตกอยู่ใต้การปกครองของโรมันรีพับลิกในปี 129BC. คาดกันว่าจุคนได้ถึง 25,000 คน. ปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญเมืองหนึ่งในตุรกี.
ในบริบทของสวน theatre เป็นพื้นที่รูปครึ่งวงกลมหรือวงกลม ปลูกต้นไม้โดยรอบพื้นที่ให้เป็นแนว เหมือนกรอบของโรงละคน. บางแห่งก็ไม่ปลูกต้นไม้เลย. ทำที่นั่งเป็นขั้นๆแบบอัฒจันทร์ อาจเป็นแนวหินหรือใช้เก้าอี้เรียงไปเป็นแถวเป็นแนวเหมือนอัฒจันทร์ในสนามกีฬา. การสร้างเวทีละครประดับสวนอีกแบบหนึ่ง แทรกเสาสูงๆเข้าไปในพื้นที่ ทำน้ำพุ ตกแต่งด้วยหอยแบบต่างๆและรูปปั้น. กลายเป็นเวทีละครที่สิ่งประดับในพื้นที่นั้นทำหน้าที่เหมือนตัวละคร. เวทีละครในสวน ส่วนใหญ่ไม่ใช้เล่นละคร เป็นเพียงสิ่งประดับสวนแบบหนึ่ง แต่สมัยหลังๆมา เมื่อมีการบูรณะเวทีละครประดับ ก็ขยับขยายและเปลี่ยนให้เป็นเวทีที่ใช้ได้จริง.



สี่ภาพนี้จากพระราชอุทยานแวร์ซายส์(ปารีส ฝรั่งเศส) เป็นห้องสวนที่เรียกว่าห้องเต้นรำ โดยมีพื้นที่วงกลมกลางห้องเป็นที่เต้นรำและแสดงดนตรี มีอัฒจรรย์รอบๆเป็นที่นั่งขั้นบันไดปูด้วยหญ้า. ในความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน เขาห้ามขึ้นลงบนอัฒจรรย์.
ถ้ำวีนัส (Venus grotto) ที่สร้างเป็นเวทีละครประกอบฉากหนึ่งในองก์ที่หนึ่งในอุปรากรเรื่อง Tannhäuser ของ Richard Wagner เพื่อสนองความฝันและเป็นความบันเทิงของพระเจ้า Ludwig II โดยเฉพาะพระองค์เดียว ในพระราชอุทยาน Schloss Linderhof (สร้างขึ้นระหว่างปี 1869-1879 อยู่ในหุบเขา Graswangtal, หมู่บ้าน Gemeinde Ettal, แคว้น Bavaria ประเทศเยอรมนี). ถ้ำนี้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ เมื่อเดินเข้าไปในถ้ำ ได้ยินดนตรีจากฉากนั้น ดังกระหึ่มขึ้น เป็นสุดยอดถ้ำจำลองแสนเพลินแบบเยอรมันที่ไม่มีที่ใดเหมือน. รู้กันว่าพระเจ้า Ludwig II ทรงหลงใหลดนตรีของ Wagner ยิ่งนัก ทรงให้สร้างปราสาทและจัดห้องต่างๆของพระตำหนักเกือบทุกแห่งของพระองค์ ให้เหมือนฉากในอุปรากรเรื่องต่างๆของ Wagner.
ภาพพิมพ์แสดงเวทีละครหิน (ที่นั่นศตวรรษก่อนๆ เคยจัดเป็นถ้ำคาลิปโซ (Calypso) ปัจจุบันเรียกว่า Ruinentheater) ที่ Sanspareil จากภาพแกะบนแผ่นทองแดงของ Johan Thomas Köppel ในปี 1748. การก่อสร้างตำหนักอาคารต่างๆใน Sanspareil เริ่มในปี 1745. ดูเทียบสภาพเวทีละครในปี 1748 กับภาพที่ไปถ่ายมาในปี 2014 นับว่าเขาบูรณะและดูแลอย่างดี.

ภาพปัจจุบันของเวทีละครในสวนป่าสวนหินที่ Sanspareil (Bayreuth-Wonsees, Germany) แต่ปัจจุบัน เหลือเพียงเวทีละครที่ได้รับการบูรณะขึ้น จนใช้เป็นที่แสดงละครหรือดนตรี(กลุ่มเล็ก)ได้. ดังที่เห็นในภาพ อาคารทั้งหมดสร้างด้วยหิน เจาะจงเลือกที่เป็นตะปุ่มตะป่ำเพื่อสร้างภาพมายาของถ้ำคาลิปโซ มีทางเข้าออกสองข้างเวที.
เวทีละคร-ดนตรี ทรงสี่เหลี่ยมดูหนาตัน ในสวนสาธารณะ West Princes Street Gardens กลางเมืองเอดินเบิร์ก ใต้หน้าผาสูงที่ตั้งของปราสาทเมืองเอดินเบิร์ก. บริเวณนี้น่าจะอบอวลด้วยกลิ่นกุหลาบ. เป็นที่แสดงดนตรี รวมชาวเมืองเข้าด้วยกันอย่างกันเอง.
ริมทะเลสาบใน Luisenpark เมือง Mannheim เขาสร้างโรงละครยุคใหม่แบบใหม่ไว้ ที่นั่งมีหลังคาเต๊นต์ขนาดใหญ่ แต่เวทีแสดงอยู่กลางแจ้ง บางทีก็มีเวทีลอยกลางน้ำด้วย. จุคนได้พันคน. ส่วนใหญ่ใช้แสดงคอนเสิร์ต โอเปร่า ละคร โชว์ดนตรีอย่างต่อเนื่องมาทุกปีตั้งแต่ปี 2006 (เป็นรายการนำเสนอที่เรียกว่า <Seebühnenzauber> concert series). เป็นที่ชื่นชอบของชาวเยอรมัน. การไปฟังดนตรีเป็นวิถีชีวิตแบบหนึ่งของชาวเยอรมัน.

มุมหนึ่งในสวน Herrenhäuser Gärten เมือง Hannover เยอรมนี, จัดเป็นเวทีแสดงคอนเสิร์ต ประดับด้วยรูปปั้นเคลือบสีทองอร่าม(เกินไป อาจเพื่อกลบความไม่งามของวัสดุด้อยที่ใช้ทำรูปปั้นเหล่านี้ เนื่องจากรูปปั้นเหล่านี้ตั้งอยู่กลางแจ้ง ต้องทนต่อสภาพอากาศทุกฤดูกาล) รูปปั้นสองรูปแรกทั้งซ้ายและขวา เป็นรูปปั้นนักรบกรีก (Borghese gladiators) ส่วนรูปปั้นอื่นๆนั้นอยู่ในท่าต่างๆ(อาจเป็นท่าเต้นรำหรือท่ากรีฑาแบบใด). อดยิ้มไม่ได้ว่า แม้ไม่ใช้วัสดุผู้ดีอย่างหินอ่อนมารังสรรค์รูปปั้นทั้งหลาย เขาก็ยังไม่ลืมเน้นต้นกำเนิดของศิลปะการละครและการดนตรีที่กรีซโบราณเป็นผู้นำในโลกตะวันตก. รูปปั้นผู้หญิงตรงกลางเหมือนลอยอยู่เหนือสระน้ำพุ อาจโยงไปถึงเทพธิดา Terpsichore (Muse of dance ปกติมักถือพิณในมือ แต่นี่อาจเป็นเพราะเธอกำลังทำมือเต้นรำหรือกำกับดนตรี) ผู้ดลใจให้เกิดการเริงระบำรำฟ้อน. ภาพของเทพธิดานี้ในสมัยปัจจุบัน เคยเห็นใช้ผู้หญิงในท่าเต้นบัลเลต์แทน.
ภาพถ่ายจากด้านหลังเวทีละคร บันไดสองข้างเป็นทางขึ้นลงจากเวที
ยังมีสระน้ำพุใต้บันไดด้วย.
สนามหญ้าที่กว้างพอ จัดให้เป็นที่แสดงดนตรีได้ไม่ยากเลย เอาพิณฝรั่งไปตั้ง เก้าอี้ไปเรียง ก็เป็นเวทีแล้ว. ภาพนี้ภายในสวน Le Clos Alexandre เป็นที่แสดงดนตรีวงเล็กภายในหมู่บ้าน เมืองอาเมียงส์ ฝรั่งเศส.

เวทีธรรมชาติในสวน Mirabell เมือง Salzburg ออสเตรีย ก็น่ารักไม่น้อย. ทั้งทีมนักร้องและทีมคนดู สร้างบรรยากาศเหมือนการมาชุมนุมอย่างกันเอง โดยไม่มีพิธีรีตอง. ข้าพเจ้ามีโอกาสฟังดนตรีในสวน หรือตามจัตุรัส หรือกลางตลาดแบบนี้บ่อยๆ โดยไม่คาดฝัน เห็นแล้วปลื้มปิติ. หน้าร้อน อากาศดี วันดีคืนดี ชาวเมืองชวนกันออกมาร้องรำทำเพลงด้วยกัน รวมรุ่นปู่ย่าจนถึงรุ่นหลานอย่างสนุกสนาน. โอกาสแบบนี้ ชาวออสเตรียและชาวเยอรมัน ชอบสวมชุดประจำชาติ ยิ่งกระชับอัตลักษณ์ของพวกเขา สร้างมิตรจิตมิตรใจต่อกันด้วยดนตรีและขนบธรรมเนียมที่ดีงาม อีกทั้งยังปลูกฝังวิญญาณสำนึกที่ดี ให้แก่อนุชนรุ่นต่อไป.

สวนหลายแห่งในอังกฤษ มี The Auricula theatre สร้างเวทีให้เป็นที่จัดวางกระถางต้นไม้ โชว์ดอกออริคิวลา auricula (Primula Auricula) อย่างเฉพาะเจาะจง. ดอกไม้นี้ มีขนาดจิ๋ว บอบบางมาก เรียกกันสามัญว่า bear’s ear (หูหมี!) ขึ้นในเขตเขาสูงภาคกลางของยุโรป. ชอบอากาศบริสุทธิ์กลางแจ้ง การต้องสร้างเวทีให้ดอกไม้นี้ เพื่อปกป้องมันจากแสงแดดและสายฝน. ชาวอังกฤษได้รวบรวมสะสมสายพันธุ์นี้มานานตลอดสามร้อยปีที่ผ่านมา ความงามอันเปราะบางของดอกไม้ทำให้มันมีค่าสูง. ในฤดูอื่น เวทีดอกออริคิวลานี้ เป็นที่วางโชว์ดอกไม้อื่นๆ.
ที่พระราชอุทยาน Hampton Court มีพื้นที่สำหรับดอกไม้นี้มากว่าสามร้อยปีแล้ว. มีเวทีดอกออริคิวลา คนสวนนำกระถางดอกออริคิวลาออกโชว์ในต้นฤดูร้อน. มีผู้กล่าวว่า สวนใดที่ไม่มีเวทีสำหรับความงามแสนละเอียดอ่อน(ของดอกออริคิวลา) ถือว่า สวนนั้นยังไม่สมบูรณ์.

เวทีดอกออริคิวลา(The Auricula Theatre) 
ที่พระราชอุทยาน Hampton Court Palace (London, UK)




นึกถึงเวทีหรือโรงละคร ย่อมนึกถึงละคร. นึกถึงละครคือการสำเหนียกถึงการมีชีวิตในสังคม. พูดได้สั้นๆว่า ละครคือชีวิต และชีวิตคือละคร ดังที่พูดติดปากกันมาหลายพันปีแล้ว. การคิดตามนี้ นำให้เข้าใจขนบและศิลปะในการจัดสวน ในการสร้างสรรค์องค์ประกอบสวนแบบต่างๆ เพราะในที่สุด สวนคืออะไร หากมิใช่ภาพลักษณ์ของชีวิต และชีวิตที่ผกผันเปลี่ยนไป วนไปเวียนมา ก็เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในสวน ที่รวมภาพของการหมุนเวียนเปลี่ยนไปของกาลเวลา ที่คนเห็นและสัมผัสได้อย่างแท้จริงจากมวลพืชพรรณทั้งหลายในสวน. คนตระหนักอย่างไม่มีข้อสงสัยถึงอิทธิพลของดินน้ำลมไฟ. ความไม่ยั่งยืนของสรรพชีวิตในสวน สะท้อนให้เห็นความไม่ยั่งยืนของชีวิตคน ของสังคมโรงละครในที่สุดเป็นองค์ประกอบที่สรุป ทุกความหมายของสวนไว้ด้วยนั่นเอง. สวนหรืออุทยานขนาดใหญ่ จึงเนรมิตโรงละครขึ้น(บางทีก็เป็นเพียงซากปรักหักพังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของโรงละคร) โดยที่จุดหมายดั้งเดิมมิใช่เพื่อจัดการแสดงละครที่นั่น แต่ให้เป็นสิ่งเตือนใจเกี่ยวกับความไม่ยั่งยืนของชีวิต ว่าชีวิตคือละคร ว่าโลกนี้คือละคร และปลูกฝังมรณานุสติไว้ในจิตใจคน เพื่อนำทางคนไปสู่การพัฒนาคุณธรรม เป็นเป้าหมายสุดท้าย.
มองในแง่นี้ การสร้างสรรค์สวนมีความหมายลึกล้ำที่มี a noble cause (ดังที่คนอังกฤษชอบพูดกัน) และเราไม่ควรหลงลืมหรือพอใจอยู่เพียงความสวยงามหลากสีสันของดอกไม้ต้นไม้เท่านั้น.


Thicket มาจากคำว่า thick ที่แปลว่าหนา หมายถึงกลุ่มต้นไม้ที่ปลูกด้วยกันจำนวนมากเพื่อให้เกิดความหนาและทึบตรงบริเวณนั้น เป็นวิธีการสร้างลักษณะของ ป่าดิบ วิธีหนึ่ง.

T’ing () มาจากคำจีนแปลว่า ที่พักหรือศาลาที่เปิดโล่ง. ตั้งแต่ศตวรรษที่18 เป็นต้นมา ชาวตะวันตกนิยมให้สร้างอาคารแบบจีนเข้าไปประดับสวนหรืออุทยาน แต่เหมือนแบบจีนหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง. คำเจดีย์ในภาษาจีน ไม่ใช่คำนี้ ใช้คำ แทน. อาคารแบบจีนที่รู้จักกันดีในประเทศอังกฤษคือ หอจีนหรือเจดีย์จีนในสวนหลวงคิว (เรียกกันที่นั่นว่า Pagoda, Kew gardens) เป็นผลงานของ Sir William Chambers สร้างขึ้นในทศวรรษที่1760. ความนิยมจนเป็นความหลงใหลศิลปะจีนแพร่ไปทั่วยุโรป แต่ละประเทศต้องสร้างอาคารแบบจีนหรือเจดีย์จีนไว้. หรืออย่างน้อยก็มีห้องจีนตามพระราชวัง ที่ประดับด้วยศิลปวัตถุจากจีนหรือแบบจีน (ต่อมาเพิ่มแบบญี่ปุ่น และบางทีก็รวมไปถึงแบบอินเดียด้วย). การสร้างและตกแต่งห้อง เป็นฝีมือและความคิดบวกจินตนาการของชาวยุโรปเอง เหมือนบ้างไม่เหมือนบ้าง. นวโน้มดังกล่าวเรียกว่ากระแส chinoiserie (ดูที่คำนี้) เช่นหน้าตาคนจีนในจินตนาการของชาวยุโรปผู้ไม่เคยเดินทางไปประเทศจีน ใบหน้าเหมือนอาหรับแต่มีตาหยี. สถาปัตยกรรมจีนในยุโรปเป็นแบบง่ายกว่า มักทาสีแดง สร้างให้เป็นอาคารประดับสวนมากกว่าเพื่อประโยชน์ใช้สอยใดอย่างแท้จริง. ยกเว้นกรณีของอาคารน้ำชา Chinesisches Teehaus (Chinese Tea House) ในราชอุทยาน Sanssouci หรือวังไกลกังวล ณ Potsdam (นอกกรุงแบร์ลิน เยอรมนี) ที่เคยใช้เป็นที่ดื่มน้ำชาและอาหารว่างในหมู่ราชนิกูลจริงๆ. ภายในประดับด้วยเครื่องลายครามชั้นดีทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ เป็นเครื่องลายครามจากประเทศจีนเกือบทั้งหมด เต็มหิ้งบนผนังทุกด้าน. (เขาห้ามถ่ายภาพภายใน).

Tomb garden สวนสุสาน. ในค่านิยมตะวันตก สวนสุสานเป็นที่ตั้งที่เก็บโลงศพรูปลักษณ์ต่างๆ ประเภทต่างๆ ขนาดต่างๆ ของบุคคลต่างๆ. โดยปกติสวนสุสานมีขนาดใหญ่ จึงมิได้เป็นสวนส่วนตัวของผู้ใดหรือของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ยกเว้นกรณีของสวนสุสาน Taj Mahal ในอินเดียที่สร้างแล้วเสร็จในปี1654 ที่มีพื้นที่โดยรอบกว้างใหญ่ เป็นสวนดอกไม้พร้อมแปลงดอกไม้และสระน้ำ ประดับข้างหน้าสุเหร่าหินอ่อนที่เป็นอาคารที่ตั้งสุสาน. สวนสุสานแบบดั้งเดิม มีเนินฝังศพแบบเรียบๆ ไร้สิ่งประดับใดๆ อาจมีเพียงหินตั้งจารึกชื่อและข้อความเพื่อระลึกถึงผู้ตาย เรียกว่าสวนมูกัล (Mughal garden) ที่เป็นสุสานแบบเดียวกับสุสานของพวกเจ้านายในเกาหลีสมัยก่อนด้วย แต่สุสานเจ้านายในเกาหลี ไม่มีหินจารึกบอกข้อมูลใดๆ.
    ในตะวันตก ภายในสวนสุสานมีเส้นทางเดิน จัดแบ่งพื้นที่เป็นหมวดเป็นหมู่. ต้นไม้ใหญ่ๆปลูกเป็นแถวเป็นแนว ให้ความร่มรื่นแก่สถานที่. สวนสุสานขนาดใหญ่ที่เป็นแบบฉบับของสุสานสมัยใหม่คือ Cimetière de Père-Lachaise [ซิมตีแยรฺ เดอ แปรฺลาแช้ซ] ที่กรุงปารีส และเริ่มใช้เป็นสุสานตั้งแต่ปี1804. ภายในมีวัดและอาคารสำหรับพิธีฌาปนกิจ. เป็นสุสานที่มีชื่อเสียงและที่มีผู้คนจากทุกมุมโลกไปเยือนมากที่สุด เพราะมีบุคคลสำคัญๆที่โลกรู้จัก ฝังอยู่ที่นั่น รวมทั้งเป็นที่รวมอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชนชาติฝรั่งเศสด้วย. สนใจอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสวนสุสานแปร์ลาแช้ส ตามไปได้ตามลิงค์นี้.
    ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ขนบการสร้างสุสานเพื่อเป็นที่พักแห่งสุดท้ายของผู้ตาย ตั้งแต่กษัตริย์ ชนชั้นสูง บุคคลชั้นนำ นักบวช จนถึงสามัญชน เป็นเนื้อหาศึกษาวิเคราะห์วิจักษ์อย่างต่อเนื่องตลอดมาในหมู่ชาวตะวันตก ในฐานะที่เป็นแหล่งรวมหลักฐานของสังคม ของวัฒนธรรมการดำรงชีวิตในแต่ละยุค. เช่นนี้ชาวตะวันตกจึงไม่รังเกียจหรือกลัว(เกินเหตุ) เกี่ยวกับทุกสิ่งที่สืบเนื่องกับความตาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างหรือประดิษฐ์กรรมอื่นใด กลับให้ความสนใจอย่างมาก ว่าเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้. ทำให้การศึกษาสุสาน เป็นทั้งโบราณคดีศึกษาและศิลปะศึกษาที่มีศักดิ์ศรีเต็มในตัวเอง. ความรักชื่นชมในศิลปะและความงามสุนทรีย์ ทำให้ชาวตะวันตกนำโลงศพสวยงามมาประดับเมืองหรือสวนด้วย.
ในบริบทของสวน มีการสร้างสุสานจำลอง ให้เป็นอาคารประดับสวนแบบหนึ่ง เพราะสวนเป็นภาพลักษณ์ที่แจ่มชัดที่สุดของการหมุนเวียนของกาลเวลา ของการตายและการเกิดใหม่ในธรรมชาติ ที่เตือนสติมนุษย์เดินดินว่า สมบัติพัสถานหรืออำนาจใดๆนั้นไม่ยั่งยืน.
อุทยานขนาดใหญ่บางแห่ง สร้าง mausoleum ประดับสวน และใช้เป็นที่เก็บอัฐิและอังคารของสมาชิกในวงศ์ตระกูล. เช่นที่อุทยาน Castle Howard (Yorkshire, UK).
อนุสรณ์สถานที่ฝังศพจริงของสมาชิกตระกูล Howard ที่ Castle Howard (Yorkshire, UK).
นอกจากหีบหรือโกศหินโบราณ (sarcophagus) อาคารอนุสรณ์ความทรงจำ ที่มักเป็นอาคารทรงกลมเปิดโล่ง สีขาว (rotunda) มองเห็นเด่นชัดในสวน เป็นจุดดึงความสนใจ สร้างภูมิทัศน์สวนที่น่าประทับใจ. เรียกอาคารแบบนี้ว่า monopteros.
ดูภาพตัวอย่างในคำ mausoleum และในคำ monopteros ในลิงค์นี้.
และติดตามอ่าน “สวนสุสาน” ได้ในบล็อกนี้ >> https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/01/c-3-cemetery-garden.html
---------------------------------- 
T-2 >> Tool shed, Topiarus, Topiary, Torii, Tower, Town garden, Tree, Tree house, Treillage (Treillis), Trompe l’oeil, Troy town, Tudor garden, Tufa, Tuin, Tunnel arbour, Turfed benches/seats, Turf work, Turkish tent.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/t-2-topiary.html
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html

Comments