E-1 Egyptian garden

Edging  หมายถึงการทำขอบ. ในบริบทของสวนนั้นอาจเป็นขอบทางเดินภายในสวน หรือขอบที่ล้อมรอบแปลงดอกไม้. ขอบนี้อาจเป็นแบบเปิดเช่นขอบเหล็กดัดเป็นลวดลาย ขอบลวดหรือขอบหวาย หรืออาจเป็นขอบทึบหนามั่นคงทำด้วยหินหรือไม้ก็ได้. ขอบยังอาจทำด้วยเชือก ไม้ไผ่ หรือท่อนไม้เรียงต่อๆกัน เป็นกระเบื้องเคลือบหรืออิฐเผา. เคยเห็นชาวดัตช์เอาขวดไวน์ บางทีกระป๋องเบียร์มาเรียงๆเป็นขอบ ก็ดูไม่เลว. ขอบของแปลงดอกไม้ในสวนใหญ่ๆ นิยมใช้ไม้พุ่มปลูกติดกันไป ตัดเล็มตอนบนให้เสมอกันและให้สูงไม่เกินหนึ่งฟุตเป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้ไม้พุ่มที่เขียวทั้งปี เช่นจำพวกต้น box (สกุล Buxus sempervirens) หรือ ต้น yew (สกุล Taxus baccata) ดังตัวอย่างภาพสวน Dutch style และตัวอย่างภาพอื่นข้างล่างนี้
ขอบติดทางเดินในสวน แบบเรียบจนไม่มีแบบ แต่สะอาดชัดเจนเป็นเส้นตรงเพะ  ยิ่งเน้นความงามของต้น cypress [ไซ้เพริซ] (สกุล Cupressus) ที่ปลูกห่างเป็นระยะให้ดูเด่นขึ้นอีก. ลำต้นที่ดูตันหนาของต้น cypress เมื่อต้องลม สั่นเทิ้ม เหมือนอะไรนิ่มๆและปุกปุย. ภาพจากพระราชอุทยาน Blenheim (Oxfordshire, UK)
ดูวิธีการจัดแบ่งพื้นที่สวนที่อุทยานปราสาท Château de Vaux-le-Vicomte [ชะโต้ เดอ โวเลอวีก๊งเตอะ] (Seine-et-Marne, France) สร้างขึ้นในระหว่างปี 1658-1661 เป็นอุทยานส่วนตัวของ Nicolas Fouquet รัฐมนตรีการคลังของพระเจ้าหลุยส์ที่14. เป็นต้นแบบสวนฝรั่งเศส ต้นแบบของการเนรมิตพระราชอุทยานแวร์ซายส์ที่ต้องใหญ่กว่าและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกให้สมฐานะของกษัตริย์สุริยะเทพเช่นพระเจ้าหลุยส์ที่14. วามอลังการและความงามสมดุลของอุทยานที่ Vaux-le-Vicomte เกินหน้าเกินตาที่อยู่ของพระเจ้าหลุยส์เองในยุคนั้น และกลายเป็นประเด็นที่พลิกผันชะตาชีวิตของ Nicolas Fouquet ผู้ถูกจับขังคุกตลอดชีวิต หลังจากที่เขาจัดงานต้อนรับพระเจ้าหลุยส์อย่างสุดหัวใจ เตรียมห้องพระบรรทม งานเลี้ยงและจัดงานแสดงดอกไม้ไฟ. พระเจ้าหลุยส์กลับรู้สึกเหมือนถูกตบหน้า. Fourquet โดนหลายข้อหา รวมข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (lèse-majesté) แทบจะวันรุ่งขึ้นเลย สมบัติทั้งหลายของเขาถูกริบไปเป็นของหลวงและไปประดับพระราชวังแวร์ซายส์แทนในเวลาต่อมา. (ดูที่ border )
ภาพจากพระราชอุทยาน Eremitage (Bayreuth, Germany) ปลูกไม้พันธุ์อุ้มน้ำเป็นขอบแปลง และภายในแปลงก็ปลูกไม้คลุมดินปิดพื้นสวนจนมิด เป็นวิธีช่วยกักความชื้นของพื้นสวนไว้.
ภาพจากพระราชอุทยาน Nymphenburg (München, Germany)  สนามหญ้าผืนใหญ่ ราบเรียบ ปลูกดอกไม้เป็นแถบยาว เหมือนเอาผ้ากุ๊นสีอื่นเย็บทาบลงบนขอบผ้าสีพื้น. ดูเรียบแต่เด่นไปอีกแบบหนึ่ง.
ตรงข้ามกับภาพบน การเกลี่ยพื้นที่ให้เหลือเป็นพื้นดินเป็นเส้นสม่ำเสมอและเมื่อทำต่อกันไป ก็เป็นลายที่สวยงามและเรียบเฉียบขาดจริงๆ ดังภาพสนามหญ้าข้างบนนี้ (ที่เป็นแบบ gazon coupé) ที่พระตำหนัก Belvedere กรุงเวียนนา. แนวเส้นสีพื้นดิน(น้ำตาลอ่อนๆ) ที่เหมือนตีขอบสนาม และขดวงต่อไปในกลางสนามหญ้า สวยไม่น้อยและต่อความกลมกลิ้งของน้ำในสระน้ำพุทรงกลม ในจินตนาการคนดูอีกด้วย.
การจัดขอบสวนอีกแบบหนึ่งที่อุทยานปราสาท Chenonceau [เชอนงโซ่] (Indre-et-Loire, France).
ในภาพนี้ เห็นอิฐรูปหัวใจเรียงกันเป็นขอบแปลงดอกไม้ 
(จาก Chelsea Flower Show 2009, UK)
ภาพจากบริเวณมหาวิหารที่เมือง  Melk ประเทศออสเตรีย ใช้ท่อนซุงสามท่อน วางซ้อนกันเป็นกำแพงยาว ได้ประโยชน์เพียงพอ.

Egyptian garden   ภาพสวนที่ตกทอดมาจากอารยธรรมอีจิปต์โบราณ เป็นหลักฐานเกี่ยวกับสวนที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ. อารยธรรมอีจิปต์ได้มอบการทำสวนไว้เป็นมรดกแก่โลก. หลักฐานต่างๆทำให้นักประวัติศาสตร์ยืนยันได้ว่า ในยุคโบราณ อีจิปต์มีทั้งสวนผลไม้ สวนผัก สวนครัวติดบ้าน สวนในวัง สวนในวิหาร สวนสุสาน สวนไม้ดอกและสวนสัตว์ และน่าจะมีตามลำดับก่อนหลังดังกล่าวด้วย เพราะฉะนั้นพื้นที่เขียวในอีจิปต์โบราณเป็นแหล่งผลิตไวน์ ผลไม้ ผัก เป็นแหล่งเสบียงสำหรับชาวเมืองและฝูงชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในทะเลทราย และเป็นแหล่งปลูกต้นกกปาปิรุซ (papyrus [เพอพ้ายเริส]) สำหรับทำกระดาษ. อาคารบ้านที่อาศัย พื้นที่สำหรับพักผ่อน กับพื้นที่วัดหรือวิหารอยู่แยกกันเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน.
   เมื่อชาวเมืองมีที่อยู่ที่กินเพียงพอ จึงเริ่มสร้างสวนตามวังใหญ่ๆ เกิดความต้องการเปลี่ยนแนวการทำสวนจากการทำสวนเชิงเกษตรเท่านั้น มาเป็นการเนรมิตสวนเพื่อให้เป็นที่พักผ่อนสำเริงสำราญใจ. เมื่อชาวเมืองอยู่เย็นเป็นสุข การเพาะปลูกได้ผลดี ผู้มีอันจะกินเริ่มสร้างบ้านพักชานเมือง ออกไปอยู่ไกลจากความวุ่นวายของสังคมในเมือง.
   แบบแปลนของสวนในยุคนั้นเป็นแบบง่ายๆ มีกำแพงสูงล้อมรอบเพื่อกันลมที่พัดหอบทรายเข้าสู่บริเวณสวนและบ้าน อีกทั้งป้องกันภัยจากน้ำท่วมเอ่อล้นแม่น้ำไนล์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และในที่สุดยังป้องกันการบุกรุกของโจรผู้ร้ายด้วย. แปลนสวนเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต้นไม้ต่างๆปลูกเป็นแนวตรง ห่างกันอย่างสม่ำเสมอ. แปลนสวนดังกล่าวนี้ กลายเป็นแบบถาวรของสวนที่สร้างสรรค์กันขึ้นตลอดหลายศตวรรษต่อมา.
      มีจารึกระบุชื่อผลหมากรากไม้ต่างๆในอีจิปต์โบราณ บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณ ดังรายชื่อตัวอย่างที่นำมาลงต่อไปนี้
      ดอกไม้ที่เคยปลูกกันในสวนอีจิปต์ นอกจาก Papyrus กับ ดอกบัว ยังมีดอกไม้อื่นๆเช่น corn poppy, cornflower, Madonna lily, mallow, mandrake, papyrus, waterlily.
ส่วนไม้ผลเช่นแอปเปิล, อินทผาลัม, องุ่น, มะเดื่อ, พลัม, มะกอก, ทับทิม, แตงโม, ปิสตาชิโอ. ถั่วแขก(lentil), กระเทียม, หัวหอมใหญ่, ผักสลัด, ถั่ว(broad bean), แตงกวา. ยังมีต้นละหุ่ง(castor oil plant), ผักหัวรสเผ็ด (horseradish), หรือไม้ใหญ่เช่นต้นสน(junier), ต้นหลิว(willow), acacia, ส่วนพืชสมุนไพรเช่น chervil, coriander, peppermint, thyme. กำยาน (frankincense), myrrh (ยางไม้ชนิดหนึ่งทำน้ำหอม).
    ข้อมูลเกี่ยวกับสวนอีจิปต์มีมากกว่าสวนชนชาติใดในโลกโบราณ ทั้งนี้เพราะยังมีร่องรอยของพื้นที่สวนบนฝั่งแม่น้ำไนล์ นอกจากนี้ภาพวาดต่างๆที่พบในสุสานของกษัตริย์อีจิปต์ที่ Valley of the Kings (หุบเขาพระราชา) ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสวนอีจิปต์อย่างแจ่มชัด. การบันทึกภาพสวนในสุสานของกษัตริย์นั้น เป็นไปตามความเชื่อที่ว่า ชีวิตมิได้สิ้นสุดลงที่ความตาย. ในแง่ภูมิอากาศ อีจิปต์ในยุคโบราณนั้นเหมาะกับการทำสวนอย่างยิ่ง. ทรากเมืองเก่าบางส่วนในอีจิปต์ที่เหลือมาถึงปัจจุบัน แสดงว่าเป็นพื้นที่สวนส่วนตัว. สองสามแห่งชี้ชัดว่าเคยเป็นส่วนหนึ่งของสวนในวัง เช่นภายในอาณาบริเวณของมหาวิหารเมืองลุกซอร์ (Luxor). ชาวกรีกและชาวโรมันต่างทึ่งและสนใจอารยธรรมอีจิปต์.
ต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกรอบสระน้ำสี่เหลี่ยมในสวนอีจิปต์ เป็นไม้ผลมากกว่าพันธุ์ใด. ความจำเป็นอันดับแรกในการเพาะปลูก คือการมีอาหารกิน. สัตว์ในสระน้ำก็เป็นอาหารของคน.
ภาพลอกจากประติมากรรมจำหลักบนกำแพงสุสาน แสดงพื้นที่เพาะปลูกภายในกำแพงรั้ว พื้นที่ผืนใหญ่ตรงกลางเพาะปลูกองุ่น. ในสระน้ำมีฝูงเป็ดกับต้นปาปิรุส(และดอกบัว). มีต้นอินทผาลัมรอบๆสวนจำนวนมาก. ความกว้างของพื้นที่และการมีสระน้ำสี่แห่งภายใน ทำให้สรุปได้ว่าต้องเป็นสวนภายในพระราชวัง. ภาพจาก gettyimages.
ลานบ้านมักอยู่ในทิศเหนืออันเป็นบริเวณที่อาศัยจึงเป็นลานพักผ่อนใต้ร่มเงา. สระน้ำเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสิ่งแรกในพื้นที่นั้น มักเป็นสี่เหลี่ยมหรือแบบอักษรที(T).ฤหาสน์หลังใหญ่ๆ ยิ่งมีลานสวนแบบนี้กว้างใหญ่ อาจมีสระน้ำสองสามสระ มีสวน ไร่ผักผลไม้. สวนอีจิปต์เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและสตรี เป็นที่เรียนที่เล่นที่สำคัญที่สุด. สวนในวังไม่ว่ามีขนาดใหญ่เพียงใด มีประโยชน์ใช้สอยไม่ผิดจากสวนในบ้านของสามัญชน เป็นที่ตระเตรียมอาหาร ที่แต่งองค์ทรงเครื่องของเหล่าสตรี ที่ร้องรำทำเพลงและที่เล่านิทาน ทั้งยังเป็นแบบโรงเรียนที่สำคัญที่สุดในอีจิปต์ มีพระราชครูเป็นผู้สอนลูกหลานของแฟโร ของชนชั้นสูงและขุนนาง. (ลานสวนอีจิปต์แบบนี้เอง ที่ดลใจให้เปลโ้ไปสอนในสวน)
สวนปัจจุบันที่สร้างเลียนแบบสวนอีจิปต์โบราณ พอเพียงเต็มตามความต้องการและประโยชน์ใช้งานของคน. สวนอีจิปต์ไม่ใช่เพื่ออวดศักดาแบบสวนฝรั่งเศสที่แวร์ซายส์ภาพจาก GardenDrum.com
     อารยธรรมกรีกและโรมันได้แรงดลใจและพัฒนาขึ้นจากอารธรรมอีจิปต์ ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ศาสนาและกฎหมาย. จักรพรรดิโรมันหลายองค์ได้นำเสาสูงโอเบลิซก์เสาโบราณๆของอีจิปต์ออกไปยังกรุงโรม. เป็นที่รู้กันว่ากรุงโรมมีเสาโอเบลิซก์อีจิปต์มากกว่าประเทศอีจิปต์(ปัจจุบัน)เอง(!) และเมื่อจักรวรรดิโรมันสลายตัวลง เสาโอเบลิซก์ก็ทรุดล้มจมดิน คอยนักสำรวจเข้าไปขุดไปค้นและบูรณะยกให้ตั้งตรงขึ้นใหม่ในระหว่างยุคเรอแนสซ็องส์.
    ภาพวาดทั้งสามภาพต่อไปนี้ เป็นผลงานดั้งเดิมของจิตรกรชาวสก็อตชื่อ David Roberts ในต้นศวรรษที่19 ต่อมา Louis Haghe นำมาแกะและเผยแพร่เป็นภาพพิมพ์. ข้อมูลภาพระบุดังนี้ By David Roberts & Louis Haghe (Own work by the original uploader) [Public domain], via Wikimedia Commons.
ทะเลทรายที่กีซา(Giza) ตะวันตกของลุ่มแม่น้ำไนล์. ข้อมูลภาพเขียนไว้ว่า Approach of the Simoom-Desert of Gizeh. Lithograph by Louis Haghe, from an original by David Roberts.
วิหารเปิดโล่งแห่งหน่งที่เมืองฟีเล. ข้อมูลภาพเขียนไว้ว่า The Hypaethral Temple at Philae called the Bed of Pharoah. Lithograph by Louis Haghe, from an original by David Roberts.
เสาโอเบลิซก์ที่เมืองอเล็กซานเดรี เรีกกันสามัญว่า เข็มของคลีโอพัรา. ข้อมูลภาพเขียนไว้ว่า Obelisk at Alexandria Commonly Called Cleopatra's Needle. Lithograph by Louis Haghe from an original by David Roberts.
     มรดกอารยธรรมอีจิปต์ประเภทอื่นๆก็มีชะตากรรมแบบเดียวกันนี้ เมื่อนโปเลียนไปเห็นอีจิปต์ในปี 1800  เมือง Luxor ยังคงถูกโคลนดินที่ทับถมกันอย่างต่อเนื่องจากการท่วมของแม่น้ำไนล์ตลอดระยะเวลาสองพันปี ปิดทับถมเหมือนต้องการปกป้องเมือง Luxor ไว้ด้วยความหวงแหน. บางส่วนของเสาสูงของวิหารเท่านั้นที่โผล่ให้เห็น. นักวิชาการในคณะของนโปเลียนได้บรรจงวาดภาพเมือง Luxor ที่ได้ไปเห็นไว้ ภาพเหล่านั้นได้กระตุ้นความสนใจในอีจิปต์อย่างยิ่งยวด. ฝรั่งเศสได้ส่งคณะโบราณคดีไปสำรวจและเริ่มการขุดค้นพื้นที่อย่างจริงจัง ความกระตือรือร้นทวีขึ้นในแต่ละปี. ในปีแรกๆนั้นจุดมุ่งหมายของการขุดค้น คือความต้องการค้นหาสมบัติเครื่องทองของกษัตริย์อีจิปต์เป็นสำคัญ. ตลาดค้าของเก่าในยุคนั้นขยายออกอย่างรวดเร็ว ผู้คนฝันใฝ่อยากได้รูปปั้นหรือทรัพย์สมบัติไม่ว่าอะไรก็ตามจากอีจิปต์ กลายเป็นความคลั่งสะสม. ในระยะหลังๆเท่านั้น ที่การขุดค้นด้านโบราณคดีเบนไปสู่การศึกษาวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ ทำให้การบูรณปฏิสังขรณ์เริ่มขึ้นอย่างมีระบบแบบแผน เพราะฉะนั้นความสนใจเกี่ยวกับอารยธรรมอีจิปต์โบราณในแง่ที่เป็นมรดกโลกนั้น จึงเพิ่งพัฒนาขึ้นในศตวรรษหลังๆนี่เอง. ปัจจุบันยังมีอะไรต้องทำอีกมากเพื่อกู้มรดกอันล้ำค่าจากอีจิปต์โบราณไว้ แต่การขยายตัวของประชาชนและการขยายตัวของเมืองต่างๆ ก็กลายเป็นอุปสรรคที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นเช่นกัน.   
    สังคมอีจิปต์โบราณเป็นสังคมหน่วยเดียวที่เป็นระเบียบในระบบที่เข้มงวดและชัดเจน โดยมีธรรมชาติเป็นกฎหมายและข้อบังคับ. เจ้าผู้ครองสูงสุดคือแฟโรผู้เป็นเหมือนเทพเจ้าที่มีชีวิตในร่างคน เป็นผู้รับผิดชอบในกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ. กฎของแฟโรปกป้องประชาชนจากการปล้นสะดมของเหล่าพเนจร และคุ้มครองการเพาะปลูกและการชลประทาน. หากมีผลผลิตที่เหลือใช้เหลือกิน ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ประชาชนเรียนหาความรู้และประสบการณ์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ. ความเชื่อ กฎหมาย ศิลปะและปรัชญาต่างเกี่ยวเนื่องกันเป็นหนึ่งเดียว. ทุกหน่วยรู้หน้าที่ รู้จักคารวะสถาบันและเป็นพลเมืองผู้สร้างสังคมที่เขาอยู่อย่างแท้จริง. 
    บริบทสังคมดังกล่าว ช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับโบราณสถานต่างๆที่เหลือให้เห็นในอีจิปต์ และโดยเฉพาะที่ Domain of Amun ที่เป็นอาณาจักรของเทพอามุน. เทพอามุนถือกันว่าเป็นเทพเหนือเทพทั้งปวงของอีจิปต์และเป็นเทพอุปถัมภ์ของเหล่ากษัตริย์อีจิปต์. อาณาจักรอามุนรวมวิหารต่างๆเป็นเครือข่าย มีพิธีกรรมเป็นตัวเชื่อมและผู้ประกอบพิธีกรรมศาสนาเป็นผู้นำการประพฤติปฏิบัติเช่นในวันขึ้นปีใหม่ ในพิธีฉลองการเก็บเกี่ยว. ขบวนหลวงเริ่มบนดินแดนของคน ที่อยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์ แล้วลงเรือหลวงข้ามแม่น้ำไปยังวิหารสุสานบนดินแดนของคนตายบนฝั่งตะวันตก. เส้นทางพิธีหลวงนี้รวมทางถนนที่มีกำแพงปิดสองข้าง. สองฝั่งลำคลองและทางเดินประดับด้วยต้นไม้หรือรูปปั้นสฟิงซ์ที่ตั้งเรียงรายเป็นแถวยาวขนานกันไป.
   ขนบการสร้างวิหารในอีจิปต์โบราณ คือ สร้างวิหารในตัวเมืองเพื่อบูชาเทพเจ้าที่มีชีวิตในร่างคน (นั่นคือกษัตริย์หรือแฟโรแต่ละคนของอีจิปต์) และสร้างวิหารเพื่อให้เป็นที่สถิตของเทพเจ้าที่สิ้นสุดชีวิตในร่างมนุษย์แล้ว บนพื้นที่เพาะปลูก(ที่เห็นเป็นดินดำอุดมสมบูรณ์บนฝั่งแม่น้ำไนล์) และบนพื้นที่ทะเลทราย(ที่เห็นเป็นพื้นที่สีแดง). ในหมู่วิหารดังกล่าว วิหารที่ชื่อว่า Temple of Metuhotpe II กับวิหารที่ชื่อว่า Temple of Hatshepsut ตั้งข้างเคียงกัน.
   วิหารแรกสร้างขึ้นในราวสองพันกว่าปีก่อนคริสตกาล ประกอบด้วยลานกว้างที่ทอดใต้หน้าผาที่ชื่อว่า Theban และมีทางลาดทอดไปสู่เส้นทางพิธีที่มุ่งลงสู่แม่น้ำไนล์ (พื้นที่ที่เห็นในปัจจุบัน มีบางส่วนที่สร้างขึ้นตามแบบเดิมเพื่อให้เห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณที่เคยมีที่นั่น). ภายในบริเวณวิหาร ยังมีซากเป็นหลุมๆเหลือให้เห็นบนพื้นอันเป็นตำแหน่งของต้นไม้ที่เคยปลูกในบริเวณนั้น.
   ส่วน Temple of  Hatshepsut สร้างขึ้นในราวปี 1470 BC. เป็นงานออกแบบของสถาปนิก Senenmut ที่รวมโครงสร้างน่าทึ่งหลายแบบหลายประเภท ทั้งวิธีการปลูกพืชพรรณ ระบบทางน้ำไหล การพัฒนารูปลักษณ์ของพื้นที่และภูมิอากาศ. Senenmut ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของภูมิสถาปัตย์และได้สมญานามว่า เป็นผู้เนรมิตอาณาจักรของเทพอามุน. มีสุสานของเขาตั้งอยู่ข้างๆวิหาร Temple of Hatshepsut ด้วย.
   สวนแบบอีจิปต์ในบริบทของสวนยุโรป คือการนำรูปลักษณ์จากอารยธรรมอีจิปต์โบราณมาประดับสวน เช่น สฟิงซ์ เสาโอเบลิซก์(เสาจริงจากอีจิปต์หรือสร้างจำลอง) อักษรอีจิปต์โบราณ (hieroglyphics) ต้นปาล์ม ต้นปาปีรุซ. ที่เห็นกันมากกว่าแบบประดับอื่นคือสฟิงซ์ (sphinx) และเสาโอเบลิซก์.
สฟิงซ์พิเศษที่มีปีกและสองขาหน้ายืน(โดยปกติเป็นท่าหมอบลงเสมอ เหมือนยอมสยบต่ออำนาจของผู้เป็นเจ้าของ) ประดับพระราชอุทยานที่ Belvedere กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย. หน้าตาของสฟิงซ์เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของผู้สลักเสลา ความคุ้นเคยกับใบหน้าของคนในประเทศใด มีส่วนทำให้หน้าตาสฟิงซ์เหมือนหรือมีอะไรคล้ายๆคนหรือผู้หญิงของประเทศนั้นด้วย. หน้าตาสฟิงซ์ในแต่ละชาติจึงไม่เหมือนกัน. โดยปริยายสร้างสฟิงซ์ใบหน้าผู้หญิงเท่านั้น.
สฟิงซ์ที่ปราสาท Pillnitz เมือง Dresden (Germany) สองข้างเหนือบันไดท่าเทียบเรือบนแม่น้ำ Elbe. เป็นปราสาทบาร็อคเยอรมัน สร้างและ่อเติมเรื่อยมาในศตวรรษที่18. ที่นั่นมีสวนแบบอังกฤษ สวนบาร็อคและสวนจีน(จีนสไตล์ยุโรป-chinoiserie ยุคนั้น ดูที่คำนี้).
สฟิงซ์หินที่ปราสาท Fontainebleau (France) ให้ดูเทียบด้านหลังของสฟิงซ์ เ่นสิ่งประดับหัวด้านหลังที่มีรายละเอียดต่างกัน.
สฟิงซ์หมอบสองตัวตรงทางเข้าสู่วิหาร(ที่ใช้ต้นไม้ ตัดเป็นกำแพง เป็นพุ่มไม้ทรงปิรามิด) ที่สวนภูมิทัศน์ Biddulph Grange (ใกล้ Stoke-on-Trent, Staffordshire, UK) เขาเจาะจงว่าเป็นสวนแบบ Landscaped Victorian garden พร้อมเอกลักษณ์พิเศษและแปลกเช่นในสไตล์อีจิปต์และจีน เป็นสวนในเครือของ National Trust.
สฟิงซ์หน้าตาอ่อนโยนกว่าที่ใด แถมโพกผ้าในสไตล์อาหรับ เพราะชาวอาหรับมัวร์เคยครองสเปนกว่าแปดศตวรรษ สร้างความเจริญในแขนงวิชาต่างๆให้แก่สเปน ที่ชาวยุโรปชาติอื่นๆต้องเดินทางไปศึกษาที่นั่น ทั้งการแพทย์ ดาราศาสตร์ การเดินเรือ พฤกษศาสตร์เป็นต้น. ภาพนี้จากพระราชวัง La Granja [ลา- กรังฆา] ประเทศสเปน.
สฟิงซ์หน้าตาดีผิดจากที่เห็นในสวนอื่นๆในอังกฤษ
ตัวนี้จากอุทยาน Anglesey [แอ๊งเกิลสิ] (Wales, UK)
เนินดินทรงปิรามิดที่ปราสาท Schloss Branitz (Cottbus,Germany) มีสองเนินใหญ่ เนินที่ใหญ่กว่า ตั้งอยู่ริมทะเลสาบ สร้างภูมิทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะเมื่อหญ้าที่คลุมปิรามิดทั้งหมด เป็นสีน้ำตาลแดงในฤดูใบไม้ร่วง สะท้อนสีตัดกับสีน้ำในทะเลสาบและสีท้องฟ้า. ภาพนี้มาจากเพ็จ focus.de ใกล้ๆกัน มีเกาะเล็กๆที่เป็นสุสานของผู้เป็นเจ้าของปราสาท(Prince Puckler-Muskau) เห็นไม้กางเขนั้งบนหินสามเหลี่มปิรามิดเหนือหลุมฝังศพ บนหินมีชื่อเจ้าของปราสาททั้งสามีและภรรยาจำหลักไว้. ทั้งคู่เป็นผู้เนรมิตอุทยาน Branitz ที่แปลกไม่เหมือนที่ใด ยืนยันความสนใจในอารยธรรมอีจิปต์ของเจ้าของปราสาท.
ส่วนเนินที่เล็กกว่า อยู่ในสนามกว้างบนพื้นที่อุทยาน สร้างให้เป็นจุดชมวิว มีบันไดขึ้นไปถึงยอดปิรามิดได้.
เสาโอเบลิซก์สองเสาประดับอุทยาน Schloss Hellbrunn [ฉล็อซ เฮล-บรุ้น] ชานเมือง Salzburg ประเทศออสเรีย.

เสาโอเบลิซก์ที่สวนภูมิทัศน์ Stourhead [สต้าเฮด] (Wiltshire, UK) บนยอดประดับด้วยประติมากรรมโลหะรูปใบหน้าดวงอาทิตย์ มีรังสีแผ่ออกเป็นแฉกไปโดยรอบ รังสีตรงกับรังสีหยักๆ แสดงความร้อนแรงของแสงในสองสถานะ. ใบหน้าเครียด. สวนนี้เป็นแบบสวนภูมิทัศน์แห่งแรกๆของอังกฤษ และยังคงมีชื่อว่าเป็นสวนภูมิทัศน์ที่สวยงามน่าทึ่งมากที่สุดแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร.
อุทยานที่พระราชวัง Blenheim (Oxfordshire, UK) เป็นที่อยู่ของตระกูลท่าน Duke of Marlborough เป็นที่อยู่แห่งเดียวในสหราชอาณาจักร ที่ผู้อาศัยไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์ในราชสกุลของอังกฤษ แต่มีสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายในการกำกับชื่อที่อยู่ว่าเป็น“พระราชวัง-palace จึงเป็น Blenheim Palace home ของดยุ๊คคนแรก John Churchill. พระราชวังนี้เป็นของขวัญตอบแทนความดีความชอบด้านการทหารของเขา สิทธินี้สืบทอดต่อมาถงลูกหลานด้วย. Winston Churchill ก็เกิดที่นั่น. ในฐานะที่อยู่ของตระกูลทหารชาติอาชาไนย จะไม่มีเสาโอเบลิซก์ประดับเป็นเกียรติ ก็คงไม่สมบูรณ์นัก. ดังในภาพข้างบนนี้ มีเสาหินแกรนิตสีแดงและสีขาวประดับกลางสระน้ำสี่เหลี่ยมสระละเสา.

น้ำพุเป็นลำสูงที่พุ่งขึ้นในอุทยาน Schloss Nymphenburg (München, Germany) ตั้งชื่อให้ฟังขลังๆว่า “คอลัมภ์น้ำปิรามิด”

กลางกรุงมาดริด มีวิหารอีจิปต์โบราณชื่อ Templo de Debod ที่ถูกถอดเป็นหินทีละก้อนๆและย้ายมาจากอีจิปต์ มาประกอบขึ้นใหม่ที่กรุงมาดริดประเทศสเปน (มีการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อยในการจัดวางลงบนพื้นที่ตรงนั้น). 

วิหารนี้เริ่มด้วยการเป็นวิหารบูชาเทพ Amun กับเทพ Isis ที่กษัตริย์ Adikhalamani ให้สร้างขึ้นราว 2000 ปีก่อน หลังจากนั้นตลอด150 ปีต่อมา มีการต่อเติมเพิ่มห้องอื่นๆเข้าไปในวิหารดั้งเดิมรวมทั้งลานกว้าง. เมื่ออีจิปต์ตกอยู่ในอำนาจของจักรวรรดิโรมันในปี 30BC จักรพรรดิ Augustus และจักรพรรดิ Tiberius ก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์เช่นกัน. ที่ตั้งของวิหาร Debod ดั้งเดิมอยู่ไม่ไกลจากเมือง Philae ที่เคยเป็นศูนย์บูชาเทพ Isis. เมื่อมีการสร้างเขื่อน Aswan High Dam ในปี1960 เกิดปัญหาต้องช่วยกู้โบราณสถานจำนวนมากจากน้ำท่วม องค์การ UNESCO ได้ขอให้นานาประเทศเข้าช่วยโครงการ. รัฐบาลอีจิปต์ได้มอบวิหาร Debod ให้แก่ประเทศสเปนเป็นของขวัญตอบแทนน้ำใจ. วิหารนี้จึงเป็นอนุสาวรีย์หนึ่งในไม่กี่แห่งที่ถูกย้ายทั้งพื้นที่ออกนอกดินแดนอีจิปต์และเป็นหนึ่งเดียวในสเปน.
ประตูสุดท้ายเข้าสู่ส่วนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของวิหาร ปัจจุบันใช้จัดนิทรรศการศิลปวัตถุโบราณจากอีจิปต์และมีการจำลองภูมิประเทศเป็นแผนภูมิสามมิติเกี่ยวกับวิหารสองฝั่งแม่น้ำไนล์ด้วย ดังสองภาพข้างล่างนี้

ภูมิประเทศจำลองสองฝั่งแม่น้ำไนล์บางส่วน แนะให้เห็นการก่อสร้างวิหารอีจิปต์ โบราณ. ในภาพนี้ เห็นวิหารของ Ramesses II และของ Nefertiti ตรงเลข 1 และ 2.
วิหารของ Ramesses II เครดิตภาพจากเพื่อน Nonglak Trepp.
วิหารของ Nefertiti ภาพของ Ben – Fotolia.com
สำหรับผู้สนใจอยากรู้เรื่อง อีจิปต์อู่ทองของเครื่องหอมในโลกโบราณ ตามลิงค์นี้ไป >>
------------------------------------------
E-2 >> Elysium, Embankment, Embroidery, Enclosure, English garden, Entrelacs, Espace vert.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/04/e-2-english-garden.html
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html

Comments