Game Larder (บางทีก็เรียกกันว่า game house, game
pantry เป็นต้น) เป็นอาคารเล็กๆ
บางทีก็เป็นเพียงห้องใหญ่ห้องหนึ่งอยู่ในปีกอาคารที่ตระเตรียมอาหารสำหรับปราสาทหรือวิลลาใหญ่ๆ. กำแพงและพื้นภายในหากปูด้วยหินอ่อนหรือหินอื่นใดเช่นหินชนวน
ช่วยทำให้อุณหภูมิห้องเย็นอยู่เสมอ. อาคารเก็บเนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้ (รวมกวาง นกไก่ฟ้า
นก เป็ด กระต่ายป่า กระต่าย หมูป่า หมู) หากสร้างให้สวยงาม ก็อาจเชิดชูภาพรวมของปราสาทหลังนั้น.
อาคารหรือห้องแบบนี้จึงทำหน้าที่ของตู้เย็นในสมัยนั้น เป็นที่เก็บเนื้อสัตว์ ด้วยการแขวน(ไม่ห่อ)ภายในห้องนั้น. สัตว์ที่เก็บในนั้น
บางทีก็ถอนขนหรือถลกหนังสัตว์ออกเรียบร้อยแล้วโรยเกลือให้ทั่วทั้งตัว
ก่อนนำเข้าไปแขวน. การแขวนเนื้อสัตว์ไว้ในห้องเย็นๆแบบนี้เป็นการบ่มเนื้อให้พร้อมกิน
การอบแห้งในความเย็น เอ็นไซม์ธรรมชาติที่มีในตัวสัตว์ทำการย่อยเนื้อเยื่อให้อ่อนลง เหมือนบ่มผลไม้ให้สุกงอม รสชาติและเนื้อดีขึ้นมากกว่าการกินสดๆจากเนื้อที่เพิ่งถูกฆ่าตาย. ห้องแขวนสัตว์ที่เพิ่งตายนั้นมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 1-3 องศาเซนติเกรด ห้องต้องมีอากาศถ่ายเทดี ความชื้นของห้องก็อยู่ในราว 85% ไม่ร้อนเกินไปและไม่หนาวเกินไป
เพราะถ้าน้ำภายในเนื้อสัตว์แข็งตัว ทำให้การตากแห้งหยุดชะงักลง. ตัวเลขดังกล่าวนี้เพื่อกันมิให้แบ็คทีเรียขยายตัวในเนื้อ. การควบคุมสภาพของห้องแขวนเนื้อสัตว์จึงจำเป็นมาก.
สัตว์ตัวๆที่แขวนตากเย็นและตากแห้งแบบนี้ จะเก็บได้นานโดยเฉพาะในเขตอากาศหนาว.
ห้องหรืออาคารเพื่อการเก็บเนื้อเช่นนี้ สร้างกันแพร่หลายในต้นศตวรรษที่18 ถึงต้นศตวรรษที่20 จนเมื่อมีการประดิษฐ์ตู้เย็นและต่อมาห้องเย็นและห้องตากแข็ง). ตามปราสาทที่เคยมี ก็ปิดหมดแล้ว กลายเป็นห้องร้างหรือห้องว่างเปล่า. การตากเนื้อแห้งในห้องเย็นแบบนี้
ใช้เวลานานมาก แต่ยังคงทำกันบ้างและเนื้อที่ได้จากกระบวนการนี้แพงกว่าเนื้อที่เก็บโดยกรรมวิธีสมัยปัจจุบันมาก(เช่นแช่แข็ง
อบแห้งในเตา) ถือเป็นอาหารจานพิเศษทีเดียวสำหรับคนรู้คุณค่าและกระบวนการทำ.
ภาพตัวอย่างที่นำมาให้ดูนี้จากพระราชวัง
Hampton
Court (Richmond, SW London, UK) ไม่มีอาคารแยกเฉพาะสำหรับการเก็บรักษาสัตว์ที่ล่ามาได้ แต่เป็นห้องหนึ่งในจำนวนหลายสิบห้องในอาคารอาหารและครัว.
ห้องนี้ไม่เปิดให้เข้าไป จึงถ่ายผ่านช่องประตูได้มาดังที่เห็น.
ภาพจาก peartree-miniatures.co.uk
ภาพจาก Pinterest.com
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEgM1Zx_S47zMKqWggylKDmf_5BX4iIR2DZ5sJSJ0Aba3OWAfV-LmZFsWglaRrvoUKGJGcOIiHPkUn8OckF18wQus2sc6kM7Ntbzo24eYcVZMdw4JsFQfz2jV1IYRFxwejlCk-0BKNNYPmVx/s640/4-The-Game-Larder.jpg)
ภาพจาก fotahouse.com/the-fota-house-game-larder/
อาคารเก็บเนื้อสัตว์ที่
Farnborough
Hall (Warwickshire, UK) ภาพของ Nicholas Jackson, 8 June
2013. [CC BY-SA 3.0] via Wikimedia Commons.
นี่เป็นอาคารเก็บเนื้ออีกแบบหนึ่งสำหรับเก็นเนื้อสัตว์ที่สวนภูมิทัศน์
Studley Park (North Yorkshire, UK) ภาพของ Gordon Hatton (6 January
2008).
Garden
“สวน”ดั้งเดิมมาจากคำในภาษาถิ่นตอนเหนือของทวีปยุโรปว่า
garth ที่มีความหมายว่า
พื้นที่ที่มีรั้วล้อมรอบ.
ต่อมาเป็นคำในภาษากัลโลโรมัน (gallo-roman) ว่า gardinium และมาเป็นคำ Hortus gardinus ในศตวรรษที่10
แปลว่าสวนที่มีรั้วล้อมรอบ. สภาพปิดล้อมของพื้นที่สวนเป็นนัยสำคัญที่สุดของคำ “สวน” ในทุกภาษา.
แต่ที่ปรากฏชัดเจนที่สุด คงต้องยกให้ภาษาจีน. ในตัวอักษรจีนที่หมายถึงสวนคือ 園 yuán (ดูตัวประกอบที่เป็นรากของคำ
มีคำที่หมายถึงดิน ปากคือแอ่งน้ำ, ต้นไม้มีกิ่ง) ภายในพื้นที่ปิดล้อมดังกล่าว
ใช้เป็นที่เพาะปลูกดอกไม้ พุ่มไม้ ต้นไม้ และสนามหญ้า.
พืชพันธุ์ที่ปลูกอาจเป็นอาหาร สมุนไพร ยา, เป็นวัสดุใช้สอยหรือเป็นไม้ประดับ. สวนบางประเภทไม่มีต้นไม้ใดๆเลย
เช่นสวนหินของจีนหรือญี่ปุ่น.
ความสำคัญจึงอยู่ที่ “การเป็นที่ปิดล้อม”.
Garden archaeology เป็นโบราณคดีศึกษาที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับสวน
และทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสวน เช่นทรากต้นไม้ที่เคยมีในชั้นใต้ดินลึกๆ, ขุดหาต้นตอ แผนผังสวน พื้นที่
กำแพงปิดล้อมสวนที่ปรากฏในชั้นลึกๆลงไปในพื้นที่.
Garden of memory
สวนแห่งความทรงจำ. ปกติเป็นสวนหนึ่งในอุทยานใหญ่ เป็นมุมสงบร่มรื่น
เพื่อให้นั่งพักผ่อนปล่อยอารมณ์และระลึกถึงบุคคลผู้มีความหมายในชีวิตผู้ล่วงลับไปแล้ว.
อาจเป็นมุมที่บุคคลนั้นเคยชอบ หรือเป็นมุมต้นไม้ดอกไม้ที่บุคคลนั้นเคยโปรดปรานเป็นพิเศษ
และในที่สุดเมื่อเปิดให้บุคคลภายนอกคนอื่นได้มีโอกาสใช้สวนนั้นด้วย
จึงยิ่งสื่อความทรงจำเฉพาะนั้นออกไปให้ประจักษ์ในหมู่คน. อุดมการณ์สมัยใหม่คือให้สุสานเป็นสวนแห่งความทรงจำที่สวยงาม
เป็นสวนเพื่อคนที่ยังอยู่ มิใช่เป็นสถานที่รวมความโศกเศร้าเสียใจ. (ดูที่คำ Cemeterygarden)
Gardenesque คำนี้ J. C. Loudon (สถาปนิกสวนและนักเขียนชาวอังกฤษ, 1783-1843) คิดขึ้นใช้ในปี 1832. ความหมายเดิมนั้นหมายถึง
“มองดูเหมือนสวน” หรือ “
มองเป็นศิลปะแบบหนึ่ง แตกต่างจากความเป็นธรรมชาติดิบ”. เขาเน้นว่า
สวนต้องไม่เหมือนกับพื้นที่ป่า. แบบสวนที่เขาเสนอนั้น
ปล่อยให้ต้นไม้แต่ละต้นแต่ละพันธุ์ได้พัฒนาเติบโตตามธรรมชาติของมัน.
การจัดปลูกก็เลือกที่ที่เหมาะสมกับต้นไม้แต่ละต้นแต่ละพันธุ์ให้มากที่สุด. ตามหลักการนี้
ต้นไม้เป็นผู้กำหนดหรือเนรมิตภาพลักษณ์รวมของสวน
แทนที่คนจะเป็นผู้วางแปลนไว้ล่วงหน้า แล้วนำต้นไม้เข้าไปปลูกตามตำแหน่งที่ต้องการ.
ต่อมา Edward Kemp (1850) ได้นำคำนี้ไปใช้ในความหมายว่า
การแสวงหาความงามจากแนวเส้น จากรูปลักษณ์ของต้นไม้ และจากลักษณะของพันธุ์ไม้.
รูปลักษณ์ของต้นไม้อาจเป็นรูปแบบที่พัฒนาขึ้นตามธรรมชาติหรือตามจินตนาการ, หรือเป็นความงามที่คนตรึงไว้อย่างถาวร
เช่นการจัดและดัดต้นไม้ให้เป็นไปตามรูปทรงที่ต้องการ,
หรือเป็นความงามที่แปรรูปได้เป็นต้น.
เขาเสนอให้ใช้แนวเส้นที่ไม่สม่ำเสมอตามแบบของลักษณะ picturesque และใช้ต้นไม้จากต่างแดนทั้งหมด. (ดูที่คำ Picturesque)
Garten เป็นคำเยอรมันแปลว่า“สวน”ตรงกับคำอังกฤษว่า garden. ในบริบทของการสร้างสรรค์สวนในเยอรมนี
การที่เยอรมนีแบ่งเป็นแคว้นอิสระหลายแคว้น แต่ละแคว้นมีเจ้าผู้ครองเป็นอิสระ. ไม่มีราชตระกูลที่เข้มแข็งและมีอำนาจสูงสุดเพียงตระกูลเดียวที่ปกครองทั้งดินแดน
ทำให้เยอรมนีไร้ผู้นำที่เด็ดขาด
ไร้ทรัพยากรบุคคลและมีสินทรัพย์ไม่เพียงพอสำหรับการสร้างสรรค์สวนหรืออุทยานขนาดใหญ่ๆที่อาจเทียบเท่าพระราชอุทยานแวร์ซายส์ของฝรั่งเศสภายใต้การปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่องค์เดียว. แต่การเป็นแคว้นอิสระหลายๆแคว้น ก็มีข้อดี ในแง่ที่แต่ละแคว้นส่งเสริมให้สร้างสวนขนาดย่อมๆเป็นจำนวนมาก
ซึ่งมักมีเอกลักษณ์เฉพาะ น่าทึ่งและน่าสนใจมากทีเดียว. ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา
ประเทศเยอรมนีมีอุดมการณ์มั่งคงที่มุ่งสู่อนาคตและเจริญพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจนในที่สุดเป็นผู้นำการพัฒนาแนวการสร้างและปลูกสวน
ตลอดจนการกำหนดกฎหมายและมาตรการอนุรักษ์และปกป้องสภาพแวดล้อมที่เป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ
และกฎหมายนี้ก็ใช้ได้ผลที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป.
สวนและอุทยานส่วนใหญ่ในประเทศอยู่ในการดูแลและบูรณาการของรัฐ
จึงเป็นสวนสาธารณะเกือบทั้งหมด (ไม่คิดค่าผ่านประตู เคยเปิดตลอดเกือบ 24 ชั่วโมง). ในแง่นี้
การจัดนำนักท่องเที่ยวต่างชาติไปชมสวนสาธารณะในเยอรมนีจึงฟังดูไม่น่าสนใจ
ไม่เชิญชวนเมื่อเทียบกับการจัดนำคณะนักท่องเที่ยวไปชมสวนในปราสาทต่างๆของฝรั่งเศส
ซึ่งแน่นอนต้องเสียค่าผ่านประตูแพง.
อย่างไรก็ดีสวนสาธารณะในเยอรมนีมักอยู่ชานเมือง
มีเครือข่ายการคมนาคมและบริการสาธารณชนที่สะดวกสบาย เอื้อต่อการไปมาของชาวเมือง
เพราะฉะนั้นใครไปเที่ยวชมสวน ไปพักผ่อนตามลำพัง ก็ทำได้อย่างง่ายดาย ถือว่าสาธารณชนได้ใช้สวนตรงตามเป้าหมายของการสร้างสวนอย่างแท้จริง.
ในด้านการสร้างสรรค์สวนหรืออุทยานขนาดใหญ่
ประเทศเยอรมนีดูจะน้อยหน้ากว่าใครในยุโรปหรือไม่เป็นที่รู้จักกันนัก. ในความเป็นจริง เยอรมนีกลับเป็นผู้มอบศิลปะการออกแบบสวนโดยเฉพาะแบบสวนบาร็อค
ศิลปะร็อคโกโก และสวนแบบโรแมนติค เป็นมรดกสำคัญแก่โลก.
สวนทั้งหมดได้รับการดูแลอย่างดี แต่เนื่องจากอยู่ในความดูแลของรัฐ
จึงอาจไม่มีพันธุ์ไม้ดอกหลากหลายพันธุ์ให้ชื่นชมกันนัก. วงจรการปลูกดอกไม้ก็เปลี่ยนไปตามวงจรแห่งกาลเวลา ตามฤดูกาล. เมื่อเทียบกับสวนเอกชนที่เก็บค่าผ่านประตูแพงๆ เพราะเจตนาปลูกดอกไม้หลากสีหลากพันธุ์ในบริเวณกว้างใหญ่ให้ผู้ไปสวนตื่นตาตื่นใจ หรือสวนที่เพาะปลูกดอกไม้เฉพาะอย่างพันธุ์สองพันธุ์เท่านั้น(เช่นในญี่ปุ่น).
Gate ประตูสู่สวน สู่อาณาบริเวณกว้างใหญ่. อาจเป็นประตูไม้แบบเรียบ
ไปถึงประตูเหล็กดัดที่มีลวดลายงดงาม. ประตูแบบหลังนี้นิยมกันมากในศตวรรษที่17-18.
Gatehouse
เป็นส่วนหนึ่งสถาปัตยกรรมที่สร้างติดหรือใกล้ๆประตูใหญ่ของอาคาร คฤหาสน์หรือวังบนพื้นที่นั้น. อาจแยกออกห่างจากประตูแต่อยู่ใกล้ๆกัน. มีมาตั้งแต่ยุคกลางจนถึงศตวรรษที่16
พูดง่ายๆก็เหมือนป้อมยามที่อยู่ติดหรือใกล้ประตูใหญ่นั่นเอง. สำหรับพระราชฐานในสมัยก่อน
เมื่ออากาศหนาว
เป็นที่พักกำบังลมให้แก่ยามผู้ทำหน้าที่เฝ้าประตูใหญ่และสังเกตการณ์.
Gate pier
เป็นเสาสองข้างประตูทางเข้า
มักเป็นเสาที่ประดับตกแต่งสอดคล้องกับแบบสถาปัตยกรรมของบ้านหรืออาคารที่อยู่ตรงนั้น. บนยอดเสา
บางทีก็ยังมีสิ่งประดับตั้งเด่น อาจเป็นรูปปั้น เป็นแจกันหินจำหลักเป็นต้น.
ประตูทางเข้าออก Hofgarten
สวนนี้อยู่ติดปราสาท
Neues Schloss เมือง Bayreuth (Germany).
ประตูทางเข้าประกอบด้วยเหล็กดัดยึดติดกับเสาทรงสี่เหลี่ยม บนเสามีแจกันหินจำหลักเป็นช่อดอกไม้.
ประตูใหญ่สู่พระราชวัง Charlottenburg
กรุงแบร์ลิน เยอรมนี. ประตูรั้วเป็นเหล็กดัดโปร่ง มี gatehouse
ที่เคยมียามรักษาการณ์
เดี๋ยวนี้ไม่มียามแล้ว. ภาพนี้ gatehouse
เป็น gate
pier ด้วย. มีรูปปั้นประดับสองข้าง เรียกกันว่า
Fighting gladiators (นักรบนักสู้ สมัยจักรวรรดิโรมัน) จำหลักเลียนแบบรูปปั้นหินอ่อนที่
Villa Borghese (กรุงโรม).
รูปปั้นที่ Villa Borghese ต่อมาถูกย้ายไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์
Le Louvre กรุงปารีส. รูปปั้นนักสู้โรมันเป็นที่นิยมกันมาก เป็นแบบอย่างเพื่ออวดฝีมือการจำหลักหินด้วย เช่นที่พระราชอุทยาน Schönbrunn ก็มีแบบเดียวกัน.
สองนักสู้ที่ประตูทางเข้าออกสวน
Mirabell มองไกลออกไปเห็นโดมมหาวิหารของเมือง เหนือขึ้นไปบนเขาสูงสุดบนแกนเดียวกันนี้ คือปราสาทเมืองซัลส์บูร์ก ออสเตรีย ถือกันว่าเป็นผังเมืองที่โดดเด่นมาก. สองนักสู้ ไม่มีโล่หรืออาวุธใด เป็นท่าสู้ของนักกล้าม.
Gauls ชุมชนเกษตรกรชาวเคลต์ ที่เคยอาศัยอยู่บนดินแดนที่เป็นประเทศฝรั่งเศสและบางส่วนของประเทศเบลเยียมในปัจจุบัน. บรรพบุรุษของชาวฝรั่งเศสเป็นชาวเคลต์ที่พวกโรมันเรียกว่า Gaulois [โกลัว]. เมื่อจักรพรรดิโรมัน Julius Caesar
ได้เข้ายึดดินแดนชาวโกลในระหว่างปี 58-50 BC. ได้ผนึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน. จนถึงเมื่อสิ้นสมัยของจักรพรรดิ Carolus Magnus มีการแบ่งดินแดนเป็นสามส่วนให้พระโอรสสามคนไปปกครอง
โดยเฉพาะตั้งแต่ปี843.
ดินแดนตะวันตกคือดินแดนของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน. การแบ่งดินแดนนั้น ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทระหว่างเชื้อสายผู้ครองต่อๆมาไม่หยุดหย่อน
ต่างก็หวงแหนดินแดนของตนและไม่มีการรวมกันเป็นปึกแผ่นเดียวกันอีกเลย.
ฝรั่งเศสยืนหยัดตั้งตนเป็นเอกเทศตั้งแต่นั้น.
Gazebo
ดั้งเดิมเป็นอาคารสองชั้นขนาดเล็ก
ตั้งอยู่มุมของพื้นที่และจากที่นั่นเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของสวน.
คำศัพท์คำนี้มาจากคำละตินเดิม มีความหมายว่า “I shall gaze” (ข้าพเจ้าจะจ้องมองไป).
ในปัจจุบันความหมายของคำนี้ รวมไปถึงซุ้มไม้ที่นั่งพัก
ที่ที่เราหยุดชื่นชมทิวทัศน์หนึ่ง.
อาคารที่เห็นตรงมุมสวน Pitmedden Garden (ใน Aberdeenshire สก็อตแลนด์). สวนนี้เป็นสวนแบบแผน. อาคารสองชั้นตรงมุมเรียกว่า
gazebo ให้สังเกตด้วยว่าต้นไม้ (ต้นแอปเปิลหรือต้นแพร์)
ถูกจัดกิ่งให้แผ่ออกเกาะติดกำแพงเลย
บนพื้นติดกำแพงก็เป็นแปลงดอกไม้สีสันสวยงามเช่นกัน (ดูที่คำ
border และ espalier ประกอบด้วย).
อาคาร gazebo ในสวนนี้
ภายในจัดแสดงเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับตระกูล Pitmedden
ผู้เป็นเจ้าของ, เกี่ยวกับการเนรมิตสวน แบบแปลน ภาพเขียนแสดงลวดลายของปาร์แตร์ (parterre) ที่จัดทำที่นั่น และรายละเอียดอื่นๆ.
Gazon เป็นคำฝรั่งเศสอ่านว่า
[กาซง]
ความหมายปัจจุบันคือสนามหญ้า.
เดิมเป็นคำที่ใช้ในการซื้อขายที่ดิน. สมัยก่อนเมื่อตกลงซื้อขายกันแล้ว
เจ้าของที่ดินจะมอบดินก้อนหนึ่งที่ติดหญ้าเขียวๆแก่ผู้ซื้อ
เป็นสัญลักษณ์ว่ามอบที่ดินผืนนั้นให้เขาไป.
Gazon coupé เป็นคำฝรั่งเศสอ่านว่า [กาซง กุ๊ปเป้]
ที่ใช้กันตั้งแต่ศตวรรษที่ 17
หมายถึงพื้นสนามหญ้าที่ถูกตัดถูกเล็มให้เป็นรูปลักษณ์หนึ่ง เป็นต้นว่ารูปม้า หลังจากนั้นจะยกพื้นหญ้าสีเขียวภายในตัวม้าออก
แล้วเอาทราย ดินหรือกรวดสีๆ ใส่เข้าไปแทนบนตัวม้าจนเต็ม. เห็นเป็นตัวม้าเกลี้ยงสีทรายหรือสีกรวดบนพื้นสนามหญ้า. ในทางกลับกัน
เช่นบนพื้นทราย จัดวางภาพตัวม้าแล้วปลูกหญ้าลงในตัวม้า
ก็จะเห็นเป็นตัวม้าสีเขียวบนพื้นทราย. การทำ“กาซง กุ๊ปเป้” นิยมทำบนไหล่เขา
เห็นเด่นจากที่ไกลๆและกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของดินแดนแถบนั้น. อาจทำบนพื้นหญ้าหรือพื้นทรายในสวนได้
แต่ลักษณะเอียงลาดของพื้นที่ทำให้รูปลักษณ์เด่นชัดกว่าเมื่ออยู่ในระดับเดียวกับสายตา.
Genius of the place หรือ the spirit of the place มาจากคำอิตาเลียนว่า“genius locii”. เป็นคำที่ Alexander Pope (กวีและนักเขียนชาวอังกฤษ
1688-1744) เตือนนักออกแบบสวนให้รำลึกไว้เสมอว่า การออกแบบสวนต้องเข้าถึงลักษณะพื้นที่อย่างถูกต้อง นักออกแบบสวนต้องสามารถสื่อสารหรือ“สัมผัส”
ที่ดินผืนนั้นด้วยจิตวิญญาณ.
เทียบได้กับการต้องคำนึงถึงเจ้าที่เจ้าทางหรือต้องปรึกษาหารือกับเทพารักษ์ประจำที่ดินแถวนั้นด้วย หรือเทียบได้กับการดู “ฮวงจุ้ย”
ก่อนที่จะสร้างบ้านและสวน.
หากเข้าถึงสภาพพื้นที่อย่างแท้จริงทั้งในแนวกว้างและแนวลึก
ช่วยให้นักออกแบบสามารถเสริมลักษณะเด่นของพื้นที่
ปรับหรือแปลงลักษณะด้อยให้เอื้ออำนวยต่อการเนรมิตสวนได้.
เช่นในกรณีที่พื้นที่ดินราบแบนโดยตลอด เมื่ออยู่นานๆ อาจทำให้เกิดความรู้สึกอ้างว้าง
โดดเดี่ยว น่าเบื่อ.
นักออกแบบอาจคิดสร้างเนินดิน เพิ่มห้วงน้ำเข้าไปเป็นต้น. ในกรณีกลับกัน
หากพื้นที่เป็นเนินทั้งหมด ก็ขุดพื้นที่บางส่วนทำเป็นสนามหญ้าผืนใหญ่
หรือสร้างธารน้ำตกเข้าไปปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้แข็งกร้าวน้อยลงด้วยภาพและเสียงน้ำไหลเป็นต้น. การปรับแปลงที่ดินโดยยึดโครงสร้างภูมิธรณีเดิมไว้ แล้วเพิ่มสีสันให้กับภาพรวม
ชวนจินตนาการให้ล่องลอย ทำให้สวนน่าอภิรมย์ยิ่งขึ้น โดยมิได้ทำลายลักษณะพื้นที่ดั้งเดิมเสียสิ้น
ไม่เหมือนการโค่นป่าทิ้งเพื่อทำการเพาะปลูกพืชพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งพันธุ์เดียวเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า.
Geometrical layout แปลนสวนแบบเรขาคณิต
คือแบบแปลนหรือลวดลายประดับมาจากการใช้ลายเส้นแบบต่างๆมาผสมผสานกันเป็นรูปแบบใหม่ที่สวยงาม
สมดุลและเสมอกันโดยตลอด.
ภาพรวมของสวนแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเดิน แถวหรือแนวต้นไม้ การจัดเรียง
จัดตั้งประติมากรรม การจัดแปลงดินสำหรับปลูกต้นไม้ ตลอดจนการจัดระบบน้ำเช่นสระน้ำ
ทะเลสาบ คลองหรือน้ำพุ ล้วนเป็นเส้นตรง
วงกลมหรือรูปลักษณ์เรขาคณิตอย่างสม่ำเสมอและคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงและจะรักษาไว้ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดไป.
สวนเรขาคณิตนี้เป็นเอกลักษณ์ประจำของสวนในฝรั่งเศสและในอิตาลี. พระราชอุทยายแวร์ซายส์เป็นตัวอย่างของสวนแบบแผนแบบเรขาคณิตดังกล่าวนี้. อังกฤษเปลี่ยนแนวการปลูกสวนในต้นศตวรรษที่18
จากสวนแบบแผนแบบนี้สู่สวนภูมิทัศน์.
Georgian architecture หมายถึงสถาปัตยกรรมยุคของพระเจ้า George ที่ I, ที่ II และที่ III แห่งอังกฤษ
คือตั้งแต่ปีค.ศ.1714 ถึง 1811
เป็นแบบเรียบง่าย
ใช้สัดส่วนที่สมมาตรจากสถาปัตยกรรมคลาซสิกกรีกและโรมันเป็นฐาน. ไม่มีองค์ประกอบอื่นใดมาเพิ่มหรือประดับด้านนอกอาคาร. มองดูงามสง่า และขรึม.
ตัวอย่างสถาปัตยกรรมยุค Georgian. ภาพจากเมือง Bath เขตที่เรียกว่า
The
Circus (1754. Bath, England). ภาพของ Adrian Pingstone, 20 เมษายน 2005 กำกับไว้เป็น public domain.
Germanic peoples ชนเผ่าเยอเมนิค เป็นชนชาวอินโดยุโรเปียนยุคแรกๆกลุ่มต่างๆ. ในยุคสัมฤทธิ์ชนกลุ่มนี้ได้เข้าไปตั้งรกรากบนดินแดนที่เป็นประเทศสวีเดน
คาบสมุทรเดนมาร์กและภาคเหนือของเยอรมนีปัจจุบัน.
ในยุคเหล็กและต่อมาในยุคมืดของยุโรป
ชนชาตินี้ได้ขยายออกไปอยู่ตามที่ต่างๆทั่วไปในยุโรป. ชนชาตินี้รวมชาว Saxons, Angles,
Frisians, Lombards, Burgandians และ Goths.
Giardino แปลว่า “สวน” เป็นคำอิตาเลียน.
Giardino segreto แปลว่า“สวนลับ”หรือ secret garden ในภาษาอังกฤษ. ในยุคเรอแนสซ็องส์ คำนี้หมายถึง พื้นที่ปิดล้อมที่ลับสายตาคน
ตั้งอยู่ภายในสวนหรืออุทยาน.
(ใช้เป็นที่นัดพบกับคนพิเศษ)
Giochi d’acqua [จิอ้อกี ดั๊กกัว] เป็นคำอิตาเลียน หมายถึง“กลเม็ดตลกจากน้ำ” หรือ water joke หรือ trick fountains ในสวนอิตาเลียนยุคเรอแนสซ็องส์
มีการสร้างน้ำพุที่เชื่อมโยงกับกลไกสั่งงานอัตโนมัติ. กลไกนี้ปล่อยกระแสน้ำพุ่งขึ้นหรือฉีดออกเป็นจังหวะ. ผู้ไปชมสวนที่ไม่เคยรู้กลไกดังกล่าว กำลังเดินชมสวน เข้าไปใกล้ชิดน้ำพุที่ดูแน่นิ่งหยุดไหล
จู่ๆมีสายน้ำพุ่งออกฉีดเต็มหน้าหรือเต็มตัวคนนั้น. คนนั้นย่อมตกใจเอะอะ
เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูคนอื่นๆ. เกิดความทึ่งในประดิษฐ์กรรมแบบใหม่ที่เป็นน้ำพุอัตโนมัติ. การประดิษฐ์กลไกน้ำพุนี้ในยุคนั้น เป็นสิ่งอวดมั่งมี
อวดหน้าตาของผู้เป็นเจ้าของวิลลา
ผู้รู้จักสรรหาสิ่งแปลกใหม่มาบันเทิงเริงรมย์มิตรสหาย ในยุคที่คนเบื่อความจำเจ
ล้าต่อกฎระเบียบและขนบเดิมๆ.
Glade
เป็นบริเวณเปิดโล่งสว่าง (ในพื้นที่ป่าเป็นต้น) มีลำแสงขาวหรือสีเงินของแดดส่องผ่านกิ่งไม้ใบไม้ลงถึงพื้นป่า.
Glasshouse หรือ Greenhouse อาคารเรือนกระจก
ภายในปรับอุณหภูมิเพื่อให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศในถิ่นดั้งเดิมของพรรณไม้ที่ปลูกเลี้ยงไว้ภายใน
(ดูที่คำ Conservatory)
อาคารเรือนกระจกขนาดใหญ่ที่อุทยาน
Wisley (Surrey, UK). หนึ่งในอุทยานในเครือราชสมาคมพืชสวนแห่งประเทศอังกฤษ (Royal
Horticultural Society หรือใช้ชื่อย่อว่า RHS)
บ้านกระจกพิเศษสำหรับไม้ดอก
Victorian
Geraniums ภายในสวน Heligan (หรือที่เรียกกันว่า
The
Lost Garden of Heligan, Cornwall, England) ประเด็นเด่นที่สวนนี้คุยไว้
คือโครงสร้างของหลังคากระจกนี้มีอายุกว่าร้อยปีแล้ว ถอดและย้ายมาจาก Pencalenick School ในเมือง Truro ที่มอบให้แก่สวน Heligan และนำมาประกอบขึ้นใหม่ที่สวนนี้ ยังคงใช้การได้ดีและสวยงาม.
บ้านกระจกขนาดจิ๋ว
เพื่อเพาะพันธุ์เมล็ดบางชนิดที่คนสวนนำออกมาไว้ในสวนเมื่ออากาศอบอุ่น
เปิดให้ลมเข้าไปเล็กน้อย. (ที่สวน Heligan, Cornwall, UK)
Gloriette
[กลอรีแอ๊ต] ตามตัวอักษรหมายถึง“อาคารแห่งความรุ่งโรจน์” มาจากศัพท์คำว่า glory ที่หมายถึงความรุ่งโรจน์ ความประเสริฐหรือเกียรติยศ. การลงท้ายคำด้วย(-ette) ตามแบบในภาษาฝรั่งเศส
ให้นัยถ่อมตัวนิดๆว่า เป็นความรุ่งโรจน์เล็กๆน้อยๆ. คำนี้ในบริบทของสวนสมัยกลาง
หมายถึงบ้านพักร้อนในป่าละเมาะที่อยู่ติดปราสาท
อาจเป็นที่ที่สาวชาววังไปพักผ่อนปิกนิก ระหว่างคอยกลุ่มขุนนางที่ออกไปขี่ม้าล่าสัตว์. ต่อมาคำนี้ใช้หมายถึงอาคารที่เป็นจุดชมทิวทัศน์หรือชมสวนในมุมกว้าง
เพราะตั้งอยู่บนเนินที่สูงกว่า. ในความหมายนี้ ตรงกับคำว่า belvedere [เบ็ลเวเด๊เร่] ในภาษาอิตาเลียน (แต่คนนิยมอ่านออกเสียงตามแบบฝรั่งเศสว่า [เบ็ลเวแด-ร] ดูที่คำนี้)
ตัวอย่างของ Gloriette ที่เด่นที่สุด คงต้องยกให้อาคารชื่อ Gloriette ในพระราชอุทยาน Schönbrunn (Vienna, Austria) ที่ตั้งอยู่บนเนินสูง 60 เมตร. พระราชินี Maria Theresa มีพระประสงค์ให้อาคาร
Gloriette สื่ออำนาจและความยิ่งใหญ่ของราชตระกูล
Habsburg และยืนยัน ความจำเป็นของสงครามในฐานะที่นำไปสู่สันติภาพ. นั่นคือสงครามเพื่อธำรงความยุติธรรม (Monument to Just War). อาคารนี้สร้างขึ้นในปี1775 ด้วยหินที่ได้จาก Schloss Neugebäude ที่เสื่อมโทรมสุดที่จะบูรณะได้แล้ว
มวลหินที่ได้จากปราสาทดังกล่าวยังนำไปใช้สร้างทรากโบราณสถานแบบโรมัน (Roman ruin หรือที่เรียกกันแต่เดิมว่า the
Ruin of Carthage) ซึ่งเป็นอาคารประดับสวนแบบคลาซสิกที่นิยมกัน
โดยสร้างให้ดูเหมือนซากปรักหักพังดังที่เห็นในกรุงโรม(เตือนมรณานุสติ). เพราะฉะนั้น Gloriette ที่นั่นแม้จะเป็นจุดชมทิวทัศน์สวน
ก็ยังคงผนึกความหมายต้นศัพท์ของคำ glory ไว้ครบ. อาคารประดับด้วยสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับการทหาร การสงคราม และตราประจำราชตระกูล
Habsburg. จักรพรรดิ Franz
Joseph I ใช้เป็นห้องอาหาร ห้องจัดงานเลี้ยง
รวมทั้งห้องเสวยอาหารเช้า.
เป็นอาคารที่ใช้งานได้จริงจนถึงสิ้นสุดระบอบราชาธิปไตย(ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นสถานที่บริการขนมน้ำชากาแฟ). อาคาร Gloriette ถูกทำลายเสียหายระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
บูรณะขึ้นใหม่ในปี 1947 และบูรณะอีกครั้งในปี
1995.
อาคารบนยอดเนินชื่อ Gloriette [กลอรีแอ๊ต] เห็นแนวประตูแบบอาค(Arc)
ทางขึ้นลงสองข้างเนินสูงเป็นทางเดินซิกแซ็ก
ทางขึ้นลงสองข้างเนินสูงเป็นทางเดินซิกแซ็ก
ภาพถ่ายของ Thomas Wolf, เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2014. www.foto-tw.de [CC BY-SA 3.0 via Wikimedia Commons.
นกอินทรีคาบพวงมาลัยเหยียบเหนือลูกโลก
เท้ากำคทาและดาบ สื่ออำนาจและชัยชนะที่เด็ดขาดเหนือกว่าใครในโลก. สองข้างประดับด้วยเครื่องเกราะทหาร ยืนยันและสรรเสริญวีรกรรมเยี่ยงทหาร.
คำจารึกบนหน้าบันความว่า << Erected under the reign of Emperor Joseph II and Empress Maria Theresa, 1775.>> (สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิโจเซฟที่สองและจักรพรรดินีมาเรีย
เทเรซา,
1775). ให้สังเกตว่า
แทนคำ“จักรพรรดิ”ผู้สร้างเลือกใช้คำ Augusto ต่อท้ายชื่อโจเซฟที่สอง
และ Augusta ต่อท้ายชื่อมาเรีย เทเรซา เพื่อโยงไปถึงจักรพรรดิโรมันคนแรก (Augustus, ผู้ครองอาณาจักรโรมันตั้งแต่วันที่16 มกราคม27BC.-19
สิงหาคม14AD.) และโยงต่อมาถึงราชสกุลฮับสบูร์กผู้เป็นจักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย.
Greek garden สวนกรีก. ประเทศกรีซไม่มีขนบการทำสวนที่เป็นจุดยืนมั่นคง
ประวัติการทำสวนหรือการสร้างสรรค์สวนของกรีซก็ไม่มีคนรู้หรือกล่าวถึงนัก. อย่างไรก็ดี สวนยุโรปคงได้อิทธิพลจากสวนกรีกอย่างแน่นอน
แม้จะไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลใดยืนยัน
ทั้งนี้เพราะประเทศกรีซมีพรรณพฤกษชาติที่หลากหลายยิ่งนัก
อีกดอกไม้ป่าก็มีสีสันสดใสมากมายหลายพันธุ์มากกว่าประเทศใดในยุโรป
ทั้งภูมิประเทศก็มีหลายแบบหลายลักษณะโดยเฉพาะตามเกาะเล็กเกาะน้อยของกรีซ. ภูมิอากาศก็ทำให้ไม้ดอกเบิกบานได้เกือบตลอดทั้งปี.
ชาวยุโรปย่อมได้รู้ได้เห็นตลอดเวลาเมื่อไปกรีซ ดังที่ทราบกันดีว่า
ประเทศกรีซโบราณได้ทิ้งมรดกล้ำค่าแก่โลกนับไม่ถ้วนในทุกแขนง
ซึ่งรวมถึงสถาปัตยกรรมกรีกที่ชาวโรมันได้จรรโลงและพัฒนาขึ้นต่อมาและแพร่หลายไปทั่วทั้งยุโรป. แต่หากคิดจะเดินทางเพื่อไปเที่ยวชมสวนกรีก
คงต้องผิดหวัง เพราะซากสวนแบบกรีกโรมันที่เคยมี หาดูไม่ได้แล้ว. พันธุ์ไม้หลากหลาย
เห็นได้ทั่วไปในภูมิประเทศตามธรรมชาติของพื้นที่อยู่แล้ว
ไม่ต้องปลูกกันก็มีให้เห็น.
เช่นนี้อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่มีแบบสวนเฉพาะแบบฉบับของตัวเอง.
สวนที่มีให้เห็นในปัจจุบันคงต้องเป็นสวนภายในอาณาบริเวณของโรงแรมทันสมัยขนาดใหญ่
ที่เนรมิตสวนแบบเมดิเตอเรเนียนให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โรงแรม.
------------------------------
G-2
>> Greenman, Grotesque.
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/05/g-2-greenman.html
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/05/g-2-greenman.html
เมนูหนังสือ
ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html
Comments
Post a Comment